ความเป็นมา
ในอดีตพระภิกษุสามเณร ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนลูกศิษย์จากแดนไกลจะเดินทางมาที่ สวนโมกขพลาราม เพื่อแสดงความกตัญญู กล่าวขมาและขอพรในทุกวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เป็นวันที่เรียกว่า "วันทำวัตรท่านอาจารย์พุทธทาส" ต่อมาท่านอาจารย์พุทธทาสขอปรับวันนี้เป็น "วันเยี่ยมสวนโมกข์" เพื่อให้คนที่เดินทางมาได้มาเรียนรู้ธรรมะและกิจการงานธรรมต่างๆ ของสวนโมกขพลาราม
งานวันเยี่ยมสวนโมกข์จัดเป็นประจำทุกปี ตลอดช่วงชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส และจนวาระสุดท้าย โดยวันฌาปนกิจสรีระสังขารท่านอาจารย์พุทธทาส เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 ก็ตรงกับวันเยี่ยมสวนโมกข์ แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขารไปแล้ว ก็ยังมีการจัดกิจกรรมวันเยี่ยมสวนโมกข์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สวนโมกขพลารามและสวนโมกข์กรุงเทพ
ในวันนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสมักพูดซ้ำอยู่ในสองเรื่อง เรื่องแรก คือ ขอร้องให้ทุกคน ทั้งพระและฆราวาสได้ช่วยกันบำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
"ขอให้ช่วยกันจนสุดความสามารถ ในการที่จะสั่งสอน ประกาศ ปฏิบัติธรรมะ อันจำเป็นที่สุดข้อหนึ่งในปัจจุบันนี้ คือ ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวนั้นเป็นหัวใจของธรรมะ"
"จึงขอ ขอวิงวอน ขอความร่วมมือ ขอความร่วมมือ ว่าจงช่วยกันศึกษาและปฏิบัติ และเผยแผ่หลักพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักสำคัญนี้ และช่วยกันเผยแผ่ต่อไป ต่อไปให้เพื่อนมนุษย์ของเราลด ลดความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัว และก็ช่วยอบรมลูกเด็ก ๆ ลูกหลานเหลนนี้ให้มันลดความเห็นแก่ตัว และอย่าให้เกิดความเห็นแก่ตัวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา ให้ชื่อว่าได้ทำตามพระพุทธประสงค์ในชั้นลึก ในชั้นหัวใจ ตรงตามพระพุทธประสงค์อย่างยิ่ง"
ความหมาย 3 ประการของการทำวัตร
แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นวันเยี่ยมสวนโมกข์ แต่ท่านอาจารย์ก็ยึดหลักของการอธิบายธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำวัตรแบบโบราณว่า มีอย่างน้อยสามประการ คือ เรื่องการเคารพ, การขอโทย - การให้อภัย และ การยินดีในความดีของบุคคลอื่น เรื่องนี้ท่านกล่าวซ้ำ ๆ ในทุกๆ ปีเช่นกัน
"ขอร้องวิงวอนท่านทั้งหลายที่มาเยี่ยมสวนโมกข์เป็นประจำปี ทุกปี ๆ ให้เป็นโอกาสที่อาตมาขอร้องว่าจงใช้หลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ เป็นเครื่องดำเนินชีวิตกันทุก ๆ คน ในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว ในระดับบ้านเมือง ในระดับประเทศชาติ ในระดับโลกเลย"
"ถ้าฆราวาสถือหลักสามประการนี้ คือการเคารพในฐานะ ตามฐานะ ที่ควรเคารพ แล้วก็ให้อภัยโทษ อดโทษ ขอโทษ และให้อดโทษ แล้วก็แลกเปลี่ยนส่วนบุญ ครอบครัวนั้นจะเจริญ วงศ์สกุลนั้นจะเจริญ จะท้าทาย ไม่จริงค่อยมาต่อว่า"
หลักธรรม 3 ประการ จากวันเยี่ยมสวนโมกข์
1. การเคารพกันและกันตามสมควร
▪ "มีการเคารพแก่กันและกันตามสมควรแก่ฐานะ อยู่สูงกว่าก็เคารพอย่าง อยู่เสมอกันก็เคารพอย่าง ต่ำกว่าก็เคารพอย่าง ตามแบบวิธีของการเคารพ"
▪ "เคารพในที่ที่ควรเคารพ ขอให้ทุกคนถือหลักเคารพ จะเป็นเณรเป็นเด็กไรก็ตาม มันก็มีฐานะเป็นคนคนหนึ่ง มีอะไรตามสมควรก็ต้องเคารพว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง ไม่ดูถูกดูหมิ่น"
▪ "การอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ เป็นพวกเป็นหมู่ ตั้งแต่สังคมน้อยๆจนถึงสังคมใหญ่ๆ นี่เราจำเป็นที่จะต้องอยู่ด้วยความรักกัน เข้าใจดีในระหว่างกัน ด้วยความเคารพนับถือกัน ใครผู้ที่อยู่ในฐานะที่สูงกว่าเรา โดยทางใดทางหนึ่งโดยทางอายุ หรือว่าโดยทางฐานะ ฐานันดร์ศักดิ์ หรือว่าตามวิทยาการใดต่างๆ"
2. การขอโทษ - อดโทษ (ให้อภัย)
▪ "เป็นธรรมดาเรา ย่อมมีโทสะ นึกประทุษร้าย หรือคิด เพียงแต่คิด หรือบางทีก็ได้พูด พูดเลย พูดประทุษร้าย หรือบางทีก็ได้ทำเลย ถ้าโทษมีอยู่ มันเหมือนกับบาปติดตัว ช่วยกัน มีธรรมเนียมประเพณีขอโทษ ก็จะเป็นผู้ที่อยู่โดยไม่มีโทษติดตัว ให้อยู่กันอย่างผาสุก ขอโทษนี่อย่าไปถือว่าเราใหญ่ เราเล็ก ถ้าผิดก็ต้องขอโทษ ขอโทษแม้แต่เด็กๆ ถ้าเราเป็นฝ่ายผิด เมื่อได้รับการขอโทษแล้ว ก็ต้องให้อภัยโทษ อย่าถือเอาไว้ ถือเป็นนิสัยไปเลย"
▪ "ให้อภัยในธรรมวินัยนี้ถือกันว่า เป็นการล้างจิตใจให้หมดไปจากมลทิน เพราะว่าอาจจะล่วงเกินผู้ใดโดยไม่เจตนาก็ยังมี ด้วยความสะเพร่าก็ยังมี ยังมีการไม่สะอาดติดอยู่ในจิตใจ ฉะนั้นจึงขอขมา ขออภัย มันก็ไปล้างความไม่สะอาด"
▪ "เมื่อมีผู้มาขอ(โทษ)ต้องให้(อภัย) อย่าได้เกี่ยงงอนเอาไว้โดยประการใด ๆ จะได้หมดโทษด้วยกันและกันทั้งสองฝ่าย เมื่อมีความสะอาดไม่มีมลทินด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว การสังคมสมาคมนั้นจะแน่นแฟ้นยั่งยืนและมีประโยชน์ นี่เป็นเรื่องของการขอโทษและให้อภัยโทษ"
3. แลกเปลี่ยนส่วนบุญ
▪ "เรามีความดีอะไรก็แบ่งปันให้เพื่อน เพื่อนให้ส่วนบุญ เราก็อนุโมทนา ป้องกันไม่ให้เกิดความอิจฉาริษยา ต้องการให้เกิดความสามัคคี อยู่กันผาสุก"
▪ "ผู้ที่ต่างฝ่ายต่างมีส่วนบุญแล้วก็ไม่ริษยา ให้ส่วนบุญแก่กันและกัน ยิ่งให้ยิ่งมาก บุญนี้เป็นของประหลาด ยิ่งให้ออกไปกลับยิ่งมากขึ้น เพราะว่าการให้ออกไปนั้นมันเป็นการทำบุญอย่างสูงสุด คือเสียสละความเห็นแก่ตัวหรือความมีตัว เลยได้บุญใหม่กลับมามากกว่าเก่า บุญที่ให้ออกไปมันกลับมามากกว่าเก่า ยิ่งให้ยิ่งมาก"