จุดเด่นในการสื่อสางานธรรมของพุทธทาสภิกขุที่ไม่เหมือนพระรูปใดๆ ในยุคสมัยของท่าน คือ การไม่ติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ การตั้งคำถามกับคำสอนต่างๆ ที่เชื่อกันมา ทำการตรวจสอบโดยละเอียด หรือทดลองหาคำตอบด้วยตัวเอง นอกจากเรื่องคำสอนแล้ว วิธีการสื่อสารของท่านก็ไม่ติดในกรอบ อ.พุทธทาสได้ริเริ่มทดลองใช้เครื่องมือและเทคโนโยลีใหม่ๆ (ในสมัยนั้น) เช่น การถ่ายภาพ ท่านมีกล้องที่ทันสมัย สามารถล้างรูป อัดรูปเองได้ภายในวัด ๆ โดยท่านอธิบายว่าเป็นการทดลองเล่น
“สมัยหนึ่งเคยเล่นชนิดที่ที่มีประโยชน์ทางวัตถุ เคยเล่นหีบเสียง เรียนภาษา เล่นพิมพ์ดีดเพื่อพิมพ์หนังสือ เล่นกล้องถ่ายรูปเพื่อรวบรวมรูป และอะไรๆ ที่มันคล้ายๆ อย่างนี้ ก็เป็นส่วนแห่งการเล่น… ผมเคยเล่นเกือบทุกอย่างตามความเหมาะสม ตามโอกาส จะจัดลำดับไม่ค่อยได้ แต่มันก็มีลำดับอยู่ในตัว ตามที่อายุมันมากเข้า สถานะของตนมันเปลี่ยนไป เรื่องเล่นก็ต้องเปลี่ยนไปพอเหมาะพอสม” (เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา, 2535 หน้า 286)
การทดลองเล่นๆ ของท่านเกิดผลเป็น ผลงานชุด ‘บทพระธรรมประจำภาพ’ ที่เป็นภาพถ่ายและกลอนธรรมะกว่า 423 บท ที่น่าสนใจ ชวนติดตาม มีการใช้เทคนิคอัดภาพสมัยใหม่ เช่น การใช้ภาพซ้อน (Double or triple prints) เพื่อสร้างสรรค์ภาพปริศนาธรรม โดยภาพส่วนใหญ่ถ่ายโดย พระสมเณรบุญชู พระช่างภาพคู่บุญ ซึ่งท่านพุทธทาสที่วางมือจากการจับกล้องเป็นผู้กำกับไอเดียในแต่ละภาพ โดยอาศัยฉากสถานที่ภายในบริเวณวัดสวนโมกขพลาราม(วัดธารน้ำไหล) จ.สุราษฏร์ธานี และใช้สัญลักษณ์ที่มีอยู่โดยรอบ เช่น รูปปั้นพระโพธิสัตว์ศรีวิชัย, ดอกบัว, กองดิน, แท่นหิน แม้แต่สัตว์เลี้ยงในวัด มาเป็นองค์ประกอบภาพ การเผยแพร่ธรรมะด้วยกลวิธีการดังกล่าว โดดเด่นแตกต่างจากพระสงฆ์องค์อื่นๆ ในยุคสมัยนั้นอย่างมาก