ครุ่นคิดถึงพุทธทาสภิกขุ กับ ประชา หุตานุวัตร
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
“ผมก็แสวงหาไปที่ต่างๆ หลายที่ ในที่สุดหาคนคุยรู้เรื่องไม่ได้
ผมก็มาจบที่สวนโมกข์...คือท่านอาจารย์ผมเถียงได้ เถียงถึงที่สุดได้
เถียงจนเราพอใจได้ แล้วท่านก็ไม่ว่า ท่านก็คุยด้วย
ซึ่งครูบาอาจารย์แบบนี้หายาก...” ประชา หุตานุวัตร หรืออดีตพระประชา
ปสนฺนธมฺโม ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงหนังสือ ‘เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา :
อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ’ เล่าถึงความทรงจำที่เขามีต่อภิกษุนาม
‘พุทธทาส’
ผู้ที่เขาสามารถแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นทางความคิดได้ด้วยความเคารพ
พุทธทาสภิกขุ กับการรื้อความฝันแบบกระแสหลัก
ในโลกที่ยกย่องเชิดชูกระบวนการค้นหาคำตอบแบบวัตถุนิยม (Materialism) ภายใต้กรอบคิดวิทยาศาสตร์ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนทุนนิยมทางเศรษฐกิจ บ่อยครั้งความเป็นภิกษุแบบ ‘พุทธทาส’ มักได้รับการจัดจำแนกให้อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ซึ่งมีนัยยะที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ในความทรงจำแรกรุ่นของ ประชา หุตานุวัตร หนังสือธรรมะของพุทธทาสภิกขุกลับมีความหมายที่ต่างออกไป
“ผมโตมาในครอบครัวจีนโพ้นทะเลผสมไทย ในครอบครัวก็จะมีบรรยากาศแบบ
เราต้องเก่ง ประสบความสำเร็จในชีวิต
ความฝันแบบอเมริกันดรีมเข้าในครอบครัวผมเยอะ ผมมาเปลี่ยนตอนที่ผมอยู่ มศ.๔
มศ.๕ ผมอ่านหนังสืออาจารย์พุทธทาส
มีอิทธิพลกับผมมหาศาลในการรื้อความฝันแบบกระแสหลัก ครั้งแรกอ่านหนังสือที่
คุณปุ่น จงประเสริฐ ย่อมา เรื่องจิตว่าง
ผมอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเท่าไหร่หรอก แต่รู้สึกมีอะไรแปลก
มีอะไรที่ไม่เหมือนศาสนาพุทธที่เราเบื่อๆ
เรียนศาสนาพุทธในโรงเรียนแล้วมันเบื่อมาก ท่องนั่นท่องนี่ไปสอบ
แต่ไม่มีความหมายอะไรกับเรา แต่ท่านพูดอะไรบางอย่างที่เรารู้สึก เฮ้ย
มันน่าสนใจอยากรู้อยากเห็น ผมก็ขวนขวายหาหนังสือของท่านมาอ่าน
ผมจำได้ผมอ่านทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในตลาด”
เรียนศาสนาพุทธในโรงเรียนแล้วมันเบื่อมาก ท่องนั่นท่องนี่ไปสอบ แต่ไม่มีความหมายอะไรกับเรา แต่ท่านพูดอะไรบางอย่างที่เรารู้สึก
ประชา เล่าถึงความหลังเมื่อแรกครั้งรู้จักหนังสือของพุทธทาสภิกขุที่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการถ่ายทอดพุทธศาสนาแบบประเพณี แต่ยังถอดรื้อคุณค่าความสำเร็จในระบบทุนนิยมที่เริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน แต่ถึงกระนั้นการถอดรื้อความฝันแบบทุนนิยมด้วยพุทธศาสนาก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบต่อสังคมที่ดีกว่าสำหรับ ประชา ในเวลานั้น เส้นทางของฝ่ายซ้าย หรือสังคมนิยม (Socialism) จึงดูจะเป็นหนทางที่นักแสวงหาอย่างเขาต้องเลือกเดิน
“ผมเข้าไปอยู่กับสันนิบาตเยาวชนรักชาติแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นปีกเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาเรียกเป็น ย ผมเป็น ย ก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖...ผมอยู่จัดตั้งก่อนหลายคนที่มีชื่อเสียงในทางสังคม ผมเห็นเรื่องภายในมาก การเห็นเรื่องภายในมาก ก็เลยทำให้ผมเห็นว่า ระบบนี้ไม่สามารถสร้างสังคมอุดมคติได้ เพราะมันตรวจสอบผู้มีอำนาจข้างบนไม่ได้เลย มันเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ คือข้างล่างตรวจข้างบนไม่ได้