บทนำ
ในการแสดงธรรมล้ออายุ ปี 2521 พุทธทาสภิกขุ
ได้กล่าวถึงปณิธานของตน 3 ประการ เพื่อพระศาสนา คือ การช่วยให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน, การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา และ
การพาคนออกจากวัตถุนิยม ท่านตระหนักดีว่าแต่และข้อนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็จำเป็น
อาตมามีปณิธานที่ตั้งไว้สำหรับชีวิตจิตใจ 3 ประการด้วยกันว่า จะพยายามให้เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายทุกคนนี้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วก็จะพยายามให้เขาออกมาเสียได้จากอำนาจของวัตถุนิยม แล้วก็จะพยายามทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้ นี่คือ หลัก 3 ประการที่ยึดถือเอาเป็นสิ่งสูงสุดในเรื่องที่จะต้องทำต่อไปข้างหน้าจนตลอด ชีวิตให้เป็นชีวิตที่มีผลคุ้มค่าหรือเกินค่า
สรุปใจความสำคัญ
ในการบรรยายธรรมนี้ พุทธทาสภิกขุได้กล่าวถึง ความสำคัญของการเข้าถึงหัวใจศาสนา และชี้ให้เห็นว่าหัวใจทุกศาสนานั้นเหมือนกัน คือ ไม่เห็นแก่ "ตัว" ซึ่งจะทำได้ก็ต้องสละความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวเรา" หรือ "ของเรา" การไม่เห็นแก่ "ตัว" นี้เป็นธรรมะที่แม้ฟังดูง่าย แต่มีความสำคัญในทุกระดับ เช่น ในระดับศีลธรรม คือ การไม่เบียดเบียนกัน ทางกาย วาจา ใจ (ฆ่า ลักขโมย ละเมิดของรัก โกหก ฯลฯ) ในระดับที่สูงขึ้นไป คือ การไม่มีความหมายแห่งตัวตนที่จะยึดถือได้ โดยท่านอธิบายโดยใช้หลัก ปฏิ จจสมุปบาท เพื่อให้เข้าใจมายาของตัวตน
เพื่อให้เข้าใจหัวใจของศาสนาคือเรื่องความยึดมั่นในตัวตนมากขึ้น อ.พุทธทาสได้อธิบาย
1. ตัวตนเกิดขึ้นเมื่อไร? และ เกิดได้อย่างไร? ในชีวิตของคนๆ หนึ่งและมีพัฒนาการอย่างไร - เดิมทีจิตของเด็กที่เกิดใหม่นั้น "ว่าง" จากความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ของเรา จนเมื่อได้สัมผัสกับรสเอร็ดอร่อยทางประสาทสัมผัสต่างๆ จะเกิดความอยากและสุดท้ายมีการปรุงแต่งเป็นความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเรา และเมื่อเด็กเติบโตขึ้นๆ ผ่านประสบการณ์ซ้ำๆ ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนก็แรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ผลอีกอย่างที่ตามมา คือ มีการสะสมของกิเลส ที่เรียกว่า อนุสัย (ความเคยชิน) ของกิเลสนั้นๆ ไว้ในสันดาน ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเชื้อที่ทำให้เกิดกิเลสได้ง่ายขึ้นๆ เช่น เป็นคนโกรธง่าย ทางแก้ คือ สวนกระแส โดยมีสติรู้ทันและคุมไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น เช่น คุมความโกรธ เมื่อทำได้จะลดอนุสัยของความโกรธและเพิ่มอุปนิสัยฝ่ายดี จนในที่สุดสามารถละความโกรธได้ การพยายามสวนกระแสกิเลสนี้ คือการสร้างบารมีใน พุทธศาสนา
2. กลไกทางจิตว่า ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยได้อธิบายเรื่องธาตุและเชื่อมโยงไปเรื่องขันธ์ 5 ซึ่งมีการเกิด-ดับตลอดเวลา จนไม่สามารถยึดเอามาเป็นตัวเรา-ของเราได้ แต่ด้วยความไม่รู้ธรรมชาติของการเกิด-ดับทำให้มนุษย์ยึดเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เช่น ร่างกายของเรา ความรู้สึกของเรา ความคิดของเรา และส่งผลต่อทำให้เกิด มายา ของตัวตน โดยกลไกทางจิตนั้น ตัวตนนั้นเกิดหลังความอยาก ความอยากเกิดก่อนจากนั้นความรู้สึกว่ามี "ผู้อยาก" หรือ "เจ้าของความอยาก" จึงเกิดขึ้นตามมา แต่คนส่วนมากไม่รู้เพราะไม่ได้ฝึกจิต
การอธิบายนี้ อ.พุทธทาส มีความมุ่งหมาย คือ เมื่อเข้าใจกลไกแล้วจะสามารถตัดตอนทำให้ไม่เกิดการยึดมั่นในตัวตนจนเป็นความเห็นแก่ ตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์
นี่คือตัวหัวใจของพุทธศาสนา (รู้ว่า)
ตัวกูของกูนี้เกิดขึ้นอย่างไร
ตัวกูของกูนี้ไม่อาจจะเกิดโดยวิธีใด
เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาก็สามารถที่จะดับทุกข์ได้
สามารถที่จะทำให้จิตใจอยู่ในสภาพที่ว่างจากความเห็นแก่ตัว
คือ ไม่มีความยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา
ก็ไม่มีความทุกข์
ในช่วงท้ายของการบรรยาย ท่านได้ใช้บทกลอนหลายบทกลอน
เพื่อที่จะย้ำว่า การศึกษาพุทธศาสนาให้เข้าถึงหัวใจ ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการศึกษาเชิงปรัญชา หรือ การใช้ความคิด การคำนวณ
การใช้ตรรกะ การเรียนศาสนาต้องเรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น อย่ามัวเรียนในกระดาษเลย อย่าคิดจนมองไม่เห็นความจริง
หัวใจทุกศาสนาคือไม่เห็นแก่ "ตัว"
สำหรับพุทธบริษัท ก็คือพุทธศาสนา หัวใจของพุทธ ศาสนา ก็คือ ความไม่เห็นแก่ตัว พูดภาษาธรรมะก็ต้องพูดว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อพูดว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ คือไม่ยึดมั่นว่า "เรา" ว่า "ของเรา" หรือที่หยาบคายที่ สุดก็ว่า ไม่ยึดมั่นว่าตัว "กู" ว่า "ของกู" เมื่อไม่ยึดมั่นว่ากูว่าของกูแล้วก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว มันจะเกิดความเห็นแก่ตัวไม่ได้ หัวใจของศาสนาอยู่ที่ตรงนี้
พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องเห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว
ศาสนาคริสเตียน อิสลามก็สอนความไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผู้อื่น คัมภีร์ของอิสลามจะมีเรื่องในทำนองบังคับไปตั้งแต่แรกที่จะไม่ให้เห็นแก่ตัว
และให้เห็นแก่ผู้อื่น
พุทธศาสนาเราก็มีคำสอนที่ไม่ให้เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่นนี้อยู่อย่างเรียกว่าครบถ้วนบริบูรณ์ด้วยเหมือนกันและที่ไม่ให้
เห็นแก่ตัวยิ่งไปกว่านั้น ก็คือไม่เห็นแก่ตัวอย่างสูงสุด จนไม่มีอนุสัยที่สำคัญว่า "เรา" ว่า "ของเรา" คือ ละอหังการ มมังการ
มานานุสัยเสียได้แล้วก็เป็นพระอรหันต์
ประโยชน์ของความไม่เห็นแก่ตัวหรือไม่มีตัวนั้นมันเป็นได้ถึงเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้ยังไม่พูดถึงระดับนั้น พูดถึงระดับว่า อยู่กันในโลกนี้ก็
อย่าเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็จะเป็นหัวใจของธรรมะ
ไม่เห็นแก่ตัวคือธรรมะในระดับพื้นฐานและระดับสูง
หัวใจของธรรมะในระดับศีลธรรมสอนไม่ให้เห็นแก่ตัว
ในระดับปรมัตถธรรมเรียก อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ก็ชี้แจงเปิดเผยจำแนกออกไปจนไม่มี "ตัว" เหลืออยู่ที่ตรงไหน
เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่มีตัวเหลืออยู่ที่ตรงไหน
นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
บางคนก็ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็รีบได้ยินได้ฟังเสีย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นจนไม่มีตัวเหลืออยู่ เห็นเป็นกระแส แห่งอวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นี้เรียกว่า ไม่มีตัวที่ตรงไหน
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม
เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ จริง จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง และจะมีพระธรรมจริง จะมีพระสงฆ์จริง จิตที่เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้เรียกว่า เห็นธรรม เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ตัวกระแสแห่งความเกิดและดับทุกข์นั้นเป็นตัวพระธรรมจริง ตัวผู้ปฏิบัติอย่างนั้นอยู่ก็เป็นพระสงฆ์จริง
เพราะฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงอยู่ที่ตัวการเห็นและปฏิบัติสำเร็จในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท พระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงอยู่ที่นี่ มันไม่อาจจะจริงได้เพียงแต่ว่าพุทธังสรณังคัจฉามิ นี่เรามันตั้งต้นด้วยพิธีรีตองมากเกินไปแล้วก็ไปติดตันอยู่ที่นั่น ไม่เข้าไปถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ เรื่องพระธรรมและเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งสรุปความว่าหมดตัว หมดความเห็น แก่ตัว ไม่มีตัว ถ้าว่าเข้ามาถึงความจริงอันนี้ก็เรียกว่า ถึงหัวใจของพุทธศาสนาและทุกศาสนาด้วย แม้ว่าเราจะมีวิธีต่างๆ กันแต่ผลมันก็จะต้องมาสู่ที่อันเดียวกัน คือ ความไม่เห็นแก่ตัว
ความเห็นแก่ตัวเกิดเมื่อไร
ทีนี้เรามันมามีความเห็นแก่ตัว
มันควรจะถูกล้อหรือควรจะถูกด่า หรือว่าควรจะถูกทำอะไรให้มากไปกว่านั้น อาตมาเอาแบบแต่เพียงว่าควรจะถูกล้อ ใครเห็นแก่ตัว คนนั้นควรจะถูกล้อ
ใครจะล้อที่ดีที่สุด ก็ตัวเองนั่นควรจะล้อ ตัวเองมันโง่มันเป็นกิเลสเสีย มันก็ไม่ล้อ เมื่อไม่ล้อ มันก็เห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ
จนเต็มไปด้วยตัวอย่างที่อยู่กันในเวลานี้ ฉะนั้น ขอให้ถือเป็นเรื่องสำคัญว่ามันเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมาเท่าไรก็ควรจะล้อหรือ
จะตี จะด่า จะแช่ง จะทุบหัวมันเข้าไปสักทีหนึ่งก็ยังยังน้อยไป นี่เรามาล้อความเห็นแก่ตัวหรือของผู้เห็นแก่ตัวอยู่เสมอๆ เถิด
จะเป็นการปฏิบัติที่ก้าวหน้าไปสู่พระนิพพาน
ที่เอาเรื่องนี้มาพูดมาล้อก็ คือว่าเมื่อเราเกิด
มาจากท้องแม่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี้เพิ่งมาริเริ่ม สร้างขึ้นและสะสมไว้มากขึ้นๆ จนเป็นคนผู้ใหญ่จึงจะเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
บางคนก็อาจจะพูดว่า ความเห็นแก่ตัวนี้หรือกิเลสตัวนี้
มันติดมาแล้วแต่ในกำเนิด แต่ในพืชพันธุ์สายโลหิต เขาพูดอย่างนั้นก็ตามใจเขา เขาก็พูดได้ แล้วมันก็ไม่ให้โทษอะไร มันจะได้กลัวมากขึ้น
แต่โดยแท้จริงแล้วอยากจะพูดว่า มันยังไม่มีความเห็นแก่ตัว กิเลสทั้งหลายเพิ่งเกิด พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า แม้แต่อวิชชามันก็เพิ่งเกิด
อวิชชามันเพิ่งเกิดต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยให้มันเกิด นี่ล้วนแต่เป็นเรื่องทีหลังจากการเกิดจากท้องแม่ทั้งนั้น
คำสอนบางพวกเขาสอนให้ศึกษาจิตของเด็กที่อยู่ในท้องแม่ว่ามันมีอะไรบ้าง คือ จะเห็นว่ามันคิดไม่เป็น มันปรุงแต่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีกิเลส จิต
ของเด็กที่อยู่ในท้องแม่ มันมีกิเลสไม่ได้
มันยังไม่ถึงระดับที่มันจะคิดได้จนมีตัณหามีอุปาทานได้ จึงถือว่าจิตของเด็กในท้องแม่นั้นยังว่างอยู่ ยังปราศจากกิเลส
ปราศจากความเห็นแก่ตัว
ทีนี้เราเอากันตรงที่ว่าพอคลอดมาจากท้องแม่แล้วดีกว่า เกิดมาจากท้อง คลอดมาจากท้องแม่เดี๋ยวนั้นก็ยังไม่มีกิเลส
ยังไม่มีความเห็นแก่ตัว
อย่าไปเชื่อตามพวกที่ว่ามันหาบหามเอาอวิชชาเอากิเลสตัณหามาแต่ชาติก่อนโน้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันก็เพิ่งเกิด อวิชชามันก็เพิ่งเกิด
ต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะแล้วไปหลงใหลในความเอร็ดอร่อยที่เป็นผลของการกระทบทาง อายตนะ มันเพิ่งเกิด ทีนี้เราจะถือว่า เด็กพอคลอดออกมาจากท้องแม่
จิตของมันยังบริสุทธิ์อยู่ ยังไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน
มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดว่า เด็กๆ นี้ยังไม่มีอุปาทาน
ยังไม่มีตัณหา ยังไม่มีกิเลส ยังไม่มีอาสวะ จนกว่าเด็กน้อยนี้เติบโต
ขึ้นมา รู้จักความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังเป็นต้น พอเขารู้จักความเอร็ดอร่อยแล้วก็จะยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับความเอร็ดอร่อย
นั้น กิเลสจึงจะค่อยตั้งต้นและเจริญงอกงาม
พอถึงระดับวิ่งได้เดินได้ มันก็ตั้งต้นมีกิเลส มีตัณหาอุปาทานถึงระดับที่เป็นหนุ่มเป็นสาว
มันก็เจริญเต็มที่ด้วยเรื่องของกิเลสตัณหาอุปาทาน
ฉะนั้น เราย้อนไปดูเด็กเพิ่งคลอด มันมีหัวใจของพุทธศาสนาอยู่แล้ว เด็กที่เพิ่งคลอดอาตมาพูดว่า
มันมีหัวใจของพุทธศาสนาอยู่แล้วในจิตใจของเด็กที่เพิ่งคลอด ในจิตใจของเด็กที่เพิ่งคลอดนั้นปราศจากความเห็นแก่ตัว
มันไม่ได้อยากอะไรด้วยตัณหา มันไม่มีอุปาทานยึดมั่นในสิ่งนั้นก่อน
ทีนี้พอมันเติบโตมันรู้จักอร่อย แม้แต่นมของแม่
แม้แต่ข้าวปลาอาหาร แม้แต่สัมผัสผิวหนังความอบอุ่นพ่อแม่พี่เลี้ยงเขากกเขากอดอะไรเป็นต้นก็ตาม
พอรู้สึกอัสสาทะ ความเอร็ดอร่อยของสัมผัสเหล่านั้น มันจึงเริ่มรู้จักอยาก แล้วจิตมันก็มีความรู้สึกว่า เราเป็นผู้อยาก ฉันอยาก ฉันต้องการ นี้เรียกว่า
เกิดตัณหาอุปาทาน หลังจากการรู้รสอร่อยทางอายตนะแล้ว
เพราะฉะนั้นเราจึงมองเห็นกันว่า เด็กเพิ่งคลอดนั้นมันมีหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ
คือความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู ทีนี้มันค่อยๆ เกิดมาตามลำดับจนหนาแน่น นี่เรียกว่ามันใหม่ มันใหม่แล้ว
มันมาเป็นเรื่องใหม่แล้ว เกิดตัณหาอุปาทานเพิ่มขึ้นๆ เป็นสิ่งที่ควรจะเอามาล้อว่า มันเลวร้ายอะไรเช่นนั้น
เกิดมาไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทาน แล้วทำไมมันมาสร้างสมขึ้นจนหนาแน่น ข้อนี้ต้องพูดกันให้เป็นที่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ฉะนั้นก็จะล้อไม่สำเร็จว่า เราเกิดมาด้วยหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
แล้วเราก็ค่อยๆ มีความยึดมั่นถือมั่น คือ เราละทิ้งหัวใจของพุทธศาสนาออกไปทุกทีๆ จนไม่มีเหลือ นี่เป็นสิ่ง
ที่ต้องเข้าใจว่า จะจัดการกันอย่างไรต่อไป อย่าทิ้งไว้ให้เป็นของน่าเกลียดน่าชังน่าล้อกันอีกต่อไปเลย
ตัวกู ของกูเกิดได้อย่างไร
นี่เราเกิดมาด้วยจิตใจที่มีหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ความว่างจากตัวกูของกู แล้วก็มาเพิ่มให้มันเป็นมี วุ่นด้วยตัวกูของกูมากขึ้นๆ ข้อนี้มันมีพฤติการณ์ของมันอย่างไรก็ควรจะสนใจอย่างยิ่ง และควรจะตั้งต้นการศึกษากันที่ตรงนี้ มันจึงจะทันแก่เวลา
ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนา ก็ตั้งต้น ก ข ก กากันที่ตรงนี้ ตรงที่ว่า จิต เดิมคลอดออกมาจากท้องแม่ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วมันมีขึ้นมาได้อย่างไร ขอถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพูดจาในวันนี้ซึ่งเป็นวันเสาร์ที่จะพูด ว่าอะไรเป็นอะไร ว่าหัวใจของพุทธศาสนานั่นอย่างไร
เด็กเกิดมาด้วยจิตใจที่ว่างเปล่าจากความรู้สึกชนิดที่เป็นกิเลส ตัณหา นี่อาศัยพระบาลีพูดอย่างนี้ แล้วจิตของเด็กนั้นถูกแวดล้อมด้วยความรู้สึกเอร็ดอร่อยทางอายตนะ จึงรู้จักมีตัณหา คือ ความอยากโดยสมควรแก่เวทนานั้น มีตัณหา คือ ความอยาก แล้วก็มีอุปาทานคือ ความรู้สึกถัดมาว่า ฉันอยาก ฉันต้องการนั่นนี่มาเป็นของฉัน มีตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นก็เกิดกิเลสที่เรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ มันเห็นแก่ตัว มันก็โลภหรือมันมีราคะ นี้ได้กิเลสชนิดที่หนึ่ง ทีนี้มันไม่ได้ตามที่มันต้องการด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็เกิดโทสะหรือโกธะ กิเลสประเภทที่ 2 แล้วมันไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้น มันก็เป็นโมหะ คือ ความโง่ต่อสิ่งเหล่านั้น มันรู้สึกอยู่ อร่อยอยู่ หลงใหลอยู่ มันก็ไม่รู้ว่า นั่นเป็นอะไร
ความไม่รู้นั้นเป็นความโง่เรียกว่า โมหะ เด็กๆ จึงค่อยสะสม สร้างสม โลภะโทสะโมหะขึ้นมา จะเกิดได้กี่วันกี่เดือนก็เอาแน่ไม่ได้ เอาแน่ได้แต่เพียงว่า เด็กพอโตขึ้นมาก็รู้จักที่จะทำความรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบเป็นความเอร็ดอร่อยบ้าง เป็นความไม่เอร็ดอร่อยบ้าง เป็นความพอใจบ้าง เป็นความไม่พอใจบ้าง มันจึงมีตัณหาไปตามรูปแบบ ถ้าพอใจก็มีตัณหาที่อยากได้ ไม่พอใจก็มีตัณหาในทางที่อยากจะทำลาย ถ้ามันไม่แน่ว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่มันก็ยังยึดถือในคุณค่าหรือความหมายอยู่ มันก็มีความสงสัยและมีความหวัง นี้คือ กิเลสที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน มันได้มีขึ้นแล้ว เด็กทารกนั้นก็ได้สูญเสียภาวะแห่งความว่างจากตัวตนนั่นเสียแล้ว มันก็เริ่มมีความรู้สึกประเภทตัวตนและความเห็นแก่ตน
อนุสัย
ทีนี้พอเขาเกิดโลภะ รู้จักเกิดโลภะ รู้จักเกิดโทสะ รู้จักเกิดโมหะแล้ว พอเขาเกิดโลภะขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า อนุสัยเพื่อโลภะขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ถือว่าหน่วยหนึ่งก็แล้วกัน เมื่อเกิดโลภะแล้ว เกิดกิเลสชื่อว่าโลภะแล้ว ก็เกิดอนุสัยสำหรับโลภะ เรียกว่า ราคานุสัย ความเคยชินที่จะโลภจะรักขึ้นมาครั้งหนึ่ง คือ หน่วยหนึ่งเรียกว่า อนุสัย นี่จำไว้ให้ดีๆ ว่าเราเกิดกิเลสตัวไหนขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว จะเกิดอนุสัย ในเมื่อสะสมความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นขึ้นมาครั้งหนึ่ง
- ถ้าเกิดโลภะ คือ ความอยากครั้งหนึ่งจะเกิดราคานุสัย ความเคยชินสำหรับที่จะเกิดโลภะนั้นเอาไว้ครั้งหนึ่ง
- ถ้าเราเกิดโทสะ โกรธขัดเคืองขึ้นมาครั้งหนึ่งก็จะสะสมอนุสัยที่เรียกว่า ปฏิฆานุสัย เพิ่มขึ้นมาครั้งหนึ่ง
- ถ้าเราเกิดโมหะ คือ ความโง่มันก็เกิดอวิชชานุสัย ความเคยชินสำหรับจะโง่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเราเกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลงอยู่ตลอดเวลา
แล้วก็สร้างความเคยชินที่จะโง่ จะโลภ จะโกรธ จะหลงอยู่ตลอดเวลา คือ สะสมราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยเพิ่มขึ้นๆ
เด็กก็โตขึ้นมาด้วยการสะสมสิ่งที่เรียกว่า อนุสัย จนกว่าจะเป็นเด็กวิ่งได้ จนกว่าจะเป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว นี่มันจะสะสมกันกี่มากน้อย ขอให้ลองคิดดู เรื่อง
กิเลสเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วดับไปนั้น มันไม่ใช่มีเรื่องดับไปหมด มันทิ้งอนุสัย คือ ความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นไว้ในสันดาน
สันดาน
ฉะนั้น ขอให้ทุกคนมองดูเข้าไปในสันดานของตนว่าได้สะสมอนุสัยเหล่านั้น ไว้อย่างไรบ้าง มากน้อยเท่าไรกี่อย่างๆ นี่คือ สิ่งที่น่าละอาย นี่คือสิ่งที่ควรจะเอามาล้อให้มันหายกระจัดกระจายไป
จำไว้ให้ดีว่าตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา เราก็มีกิเลสครั้งหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยครั้งหนึ่ง มีกิเลสครั้งหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยครั้งหนึ่ง ตามชื่อของกิเลสนั้นๆ เราจึงมีอนุสัย คือ ความเคยชินที่จะโลภ จะโกรธ จะหลงอยู่เต็มปรี่อยู่ในสันดาน นี่พูดอย่างภาษาคนว่า เต็มปรี่อยู่ในสันดาน ที่จริงถ้าตามหลักธรรมะนั้นมันไวที่จะเกิด มันพร้อมที่จะเกิด ไม่มีอะไรที่จะนิ่งอยู่ได้ เที่ยงแท้อยู่ได้ มันผิดหลักพระพุทธศาสนา ที่พูดว่ามีอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดานตลอดเวลานั้น มันผิดหลักของพระพุทธศาสนา แต่คำพูดของชาวบ้าน มันต้องพูดอย่างนั้น เมื่อมีอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดานตลอดเวลานั้น มันไม่ถูก มันมีแต่ความเคยชินและความเร็วที่จะเกิดนั้นมากขึ้นๆ ในสันดาน นี่คือ สิ่งที่เราสะสมไว้ในสันดานเรียกว่าอนุสัย ทุกคนมีปัญหาอย่างนี้
เมื่ออนุสัยมากขึ้นเท่าไร
ภาวะที่ว่างจากตัวกูของกูมันก็ลดลงหายไป
ช่วยทำความเข้าใจตอนนี้ให้มากว่า รสอร่อยที่เข้ามาสัมผัสกับอายตนะ ทำให้เกิดกิเลส เมื่อเกิดกิเลสแล้วก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าอนุสัย คือ
ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสต่อไปขึ้นมา ทีนี้เมื่ออนุสัยมากเข้าเต็ม
สันดานมากเข้า ความดันออกที่จะไหลออกมันก็มีมากขึ้น ส่วนที่ไหลออกมานี้เรียกว่า “อาสวะ” เหมือนเอาน้ำใส่ลงไปในตุ่ม
เติมลงไปในตุ่มๆ ใหญ่ๆ จนเต็ม ความดันที่มันจะปรี่ออกมาจากตุ่ม มีรูเล็กรูน้อยที่ไหนมันจะดันออกมานี้มันก็มีมากขึ้น อนุสัยมากเท่าไร
ความดันที่จะไหลออกมาเป็นอาสวะ มันก็มากขึ้น เพราะความเคยชินแห่งอนุสัย
ฉะนั้นพออารมณ์สำหรับจะโลภ จะโกรธ จะหลงผ่านมา
มันก็กระโจนออกมาทันที มันจึงเกิดกิเลสนั้นเร็วมากยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ จึงโลภ จึงโกรธ จึงหลงได้เร็วมากเหมือนกับสายฟ้าแลบ
เพราะอนุสัยสะสมมากอยู่ในสันดาน การไหลออก คือ อาสวะก็มีได้ง่าย
เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตอยู่อย่างนี้ รู้หรือเปล่า รู้หรือยังว่าเรามีชีวิตในประจำวันนั่นเป็นอย่างนี้ มีอนุสัยสะสมไว้มากพร้อมที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสคืออาสวะ นั่นมันหนัก มันจึงเกิดกิเลสเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ
ทางแก้
เมื่อปัญหามันมีอยู่อย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ทางแก้ของมัน ก็คือว่าจะต้องทำในลักษณะที่ตรงกันข้าม พอมันจะโลภก็อย่าโลภ บังคับไว้ให้ได้อย่าให้โลภ อนุสัยก็ไม่เกิด กลับลดลงไปเสียทีหนึ่ง มันก็เกิดสิ่งตรงกันข้ามซึ่งจะ เรียกว่าอุปนิสัยแห่งความไม่โลภ ก็จะตั้งขึ้นมาหน่วยหนึ่ง เมื่อไม่โกรธได้ทีหนึ่ง อนุสัยที่จะโกรธก็ลดลงไปหน่วยหนึ่ง แต่อุปนิสัยที่จะไม่โกรธก็จะเพิ่มขึ้นมาหน่วยหนึ่ง หรือว่าเมื่อไม่โง่ไม่หลงทีหนึ่ง อนุสัยสำหรับจะโง่มันก็ลดไปเสียหน่วยหนึ่ง อุปนิสัยที่จะไม่โง่มันก็เพิ่มขึ้นมาหน่วยหนึ่ง
นี่เราบังคับไม่โลภไม่โกรธ
ไม่หลงได้มากขึ้นๆ เราก็มีอุปนิสัยที่จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงมากขึ้น การ
ที่เราพยายามกระทำอยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสร้างบารมี คนไหน
บ้างกำลังสร้างบารมีอยู่อย่างนี้ ในท่านทั้งหลายที่นั่งกันอยู่ที่นี่ คนไหนรู้สึกตัวและพยายามสร้างบารมีกันอยู่ในรูปอย่างนี้ กลัวว่า
จะไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเสียเลยตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้มันก็ได้เปรียบข้างกิเลสตัณหา คือ
ฝ่ายที่จะสะสมอนุสัยเพื่อกิเลสตัณหาหนาแน่นอยู่ด้วยอาสวะ
ฉะนั้น ขอให้มีสติสัมปชัญญะบังคับเมื่อมันจะโลภ
จะโกรธ จะหลง บังคับให้ได้ทุกทีไป อนุสัยจะไม่เพิ่มขึ้น แล้วอุปนิสัยฝ่ายที่จะไม่เกิดกิเลสนี้ก็จะเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นอนุสัยและอาสวะ มันจะลดกำลังลงไป อุปนิสัยบารมีฝ่ายที่จะไม่เกิดกิเลส คือ ฝ่ายที่จะเป็นไปเพื่อนิพพานนี้ มันก็จะเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นขอให้เพิ่มบารมีด้วยการบังคับไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลงทุกๆ คราว ทุกๆ ทีที่สิ่งเหล่านี้มันผ่านเข้ามาในชีวิตจิตใจของเรา
เราอยู่อย่างไรเป็นชาวบ้านก็ดี ชาววัดก็ดี ล้วนแต่มีอารมณ์ที่จะผ่านเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
แล้วเราก็ไม่รู้ เราก็ปล่อยไปตามเรื่อง มันก็เป็นไปในฝ่ายกิเลส เกิดกิเลสแล้วเกิดอนุสัยแล้วก็มีอาสวะมาก
มันก็ดันออกมาเป็นกิเลสได้เหมือนกับสายฟ้าแลบทุกคราวที่อารมณ์ของกิเลสมันผ่านมา เดี๋ยวนี้ทวนกระแสกลับหลังเป็นว่า ไม่ บังคับไว้ได้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
ลดอนุสัยเพิ่มบารมีฝ่ายที่จะไม่เกิดกิเลสยิ่งขึ้นทุกที นี่คือ ตัวเรื่องที่เกี่ยวกับหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็น ก ข ก
กาที่ควรจะตั้งต้นกันที่ตรงนี้
ที่แล้วมาไม่เคยสนใจที่จะเรียนกันอย่างนี้หรือจะตั้งต้นกันที่ตรงนี้ มันก็เป็นก็ไปกันเสียคนละทิศคนละทาง อาตมาเห็นว่า ครบรอบปีหนึ่ง
มาดูกันที่ตรงนี้สักทีหนึ่ง มันน่าล้อหรือมันน่าปีติพอใจ ถ้าเห็นว่า มันยังไม่ดีขึ้นก็ควรจะล้อ ก็ช่างกระไรปีหนึ่งก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
หรือว่าปีหนึ่งมันกลับจะเลวลงไปอีกชั้นหนึ่ง ปีหนึ่งมันกลับจะเลวลงไปอีกชั้นหนึ่ง ก็เรียกว่า
ยิ่งโตยิ่งอายุมากมันยิ่งเต็มไปด้วยกิเลสและอนุสัย ควรจะละอายแล้วก็ควรจะล้อกันอย่างยิ่ง
นีคือหัวใจของพุทธศาสนา เป็นภาวะที่มันมีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คลอดออกมาจากท้องแม่ไม่มีกิเลส
ไม่มีตัวกูของกู แล้วก็มาสร้างสม สะสมให้มากขึ้นๆ ทุกวันๆ จนเต็มไปด้วยอนุสัย จนเต็มไปด้วยอาสวะ คิดดูแล้วมันน่าสังเวชสักกี่มากน้อย
ขอให้พยายามที่จะดึงกลับมา ภาวะที่ว่าไม่มีตัวกู ไม่มีของกูให้กลับมาๆ เหมือนตั้งแต่แรกเกิดเถิด
อาตมาจึงยกเอาเรื่องแรกเกิดนี้มาเป็นเรื่องตั้งต้นกันใหม่ วันนั้นไม่ได้กินอาหารเลย มันก็อยู่ได้ มันก็เจริญขึ้นมาได้
เราก็ไม่กินอาหารหรือว่าอะไรๆ ที่มันเคยเป็นอยู่ได้ในวันแรกเกิดนั้น มันก็ควรจะเป็นอยู่ได้ในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
อย่าให้มันหมุนไปในทางตรงกันข้าม คือเกิดกิเลสและเกิดความทุกข์ เดี๋ยวนี้ก็มาหยุดอยู่ที่ว่า มาหยุดเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ที่ว่า
หัวใจของพุทธศาสนา คือ ความว่างจากกิเลสว่า ตัวกูว่าของกู มีอยู่เป็นของเดิม เป็นของแท้ในจิตใจของเด็ก แล้วเราก็มา
แล้วเด็กนั้นมันก็ได้เริ่มพอกพูนสิ่งใหม่ คือ ความมีตัวกู มีของกูมากขึ้นๆ แล้วก็หนาแน่นไปด้วยความรู้สึกอันนี้ได้แก่ พวกเราทุกคนที่มานั่งอยู่ที่นี่
มีอนุสัยแห่งตัวกูของกูเต็มปรี่อยู่ แล้วก็จะออกมาเป็นกิเลสแล้วก็จะทำลายตัวตน ทำลายตัวเอง ทำลายผู้อื่น
ทำให้เดือดร้อนกันทั้งตนเองและผู้อื่น ควรเอามาพูดกันในวันนี้
การเกิด-ดับ และความชั่วคราว
ทีนี้เพื่อจะให้รู้เรื่องที่มันเป็นความลับเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นไปอีกหน่อย หนึ่งก็คือ เรื่องว่าเรามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณที่ธรรมชาติมอบให้มา เรียกว่าเป็นต้นทุนหรือเดิมพันที่ธรรมชาติมอบให้มา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำให้มีวิวัฒนาการไปในทางที่ถูกต้อง แต่แล้วเราจะด้วยเหตุอะไรก็ยากที่จะพูด มันก็ต้องพูดว่าด้วยเหตุที่ยังมีอยู่แต่อวิชชา ปัญญายังไม่เกิด มันก็พัฒนาการไปแต่ในทางที่จะให้เกิดกิเลสและความทุกข์
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ 6 อย่างนี้ได้โอกาสเมื่อไรมันก็ทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่เขาเรียกว่า มันเกิดในทางพระพุทธศาสนาชั้นสูงสุด ถือว่ามันเกิดและมันดับอยู่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นี้มันเกิดดับๆๆ อยู่ ฉะนั้นท่านหมายความว่า เมื่อใดมันทำหน้าที่ เมื่อนั้นมันเกิด พอเสร็จหน้าที่มันก็ดับ ความรู้สึกของผู้ไม่รู้ก็คิดว่า มันมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณอยู่ตลอดเวลา พูดอย่างชาวบ้านพูดในภาษาคนมันก็จริงเหมือนกันมีอยู่ตลอดเวลา ในฐานะที่เป็นธาตุ แต่ถ้าธรรมะสูงสุดเขาไม่ได้ถือว่ามันเกิดอยู่ตลอด เวลา มันเกิดต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็ดับ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ได้โอกาสเมื่อไรก็เกิดขึ้นทำหน้าที่เป็นความรู้สึกคิดนึก ในชั้นแรกเรียกว่า อายตนะ ก่อน ธาตุทั้ง 6 นี้เมื่อลุกขึ้นมาทำหน้าที่ก็เป็นอายตนะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อทำหน้าที่ทางตาก็เรียกว่าอายตนะตาเกิดหรือตาเกิด เสร็จแล้วก็ตาก็ดับ เดี๋ยวหูก็เกิดแล้วหูก็ดับ จมูกเกิดจมูกดับ คือ เมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อธาตุเหล่านั้นทำหน้าที่มันก็กลายตัวเป็น อายตนะ เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะแล้วมันก็ทำหน้าที่อย่างอายตนะ มันรับอารมณ์ พอ มันทำหน้าที่ตามที่มันจะทำแล้วมันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์
- รูปเมื่อทำหน้าที่ก็เป็นรูปขันธ์ โดยอาศัยอายตนะทำหน้าที่ได้ก็เป็นรูปขันธ์
- เกิดความรู้สึกเวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์
- เกิดความรู้สึกเป็นสัญญาเรียกว่า สัญญาขันธ์
- เกิดความรู้สึกเป็นสังขารเรียกว่าสังขารขันธ์
- วิญญาณได้ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาเป็นวิญญาณขันธ์
เดี๋ยวนี้มันก็มีขันธ์เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมา
เป็นของมายาที่สุดเพราะมิได้มีอยู่จริง เพียงแต่ปรุงแต่งกันขึ้นชั่วขณะชั่วเรื่องชั่วราวเอาเฉพาะเรื่องเฉพาะราวแล้วก็ดับไป
ดังนั้น จึงถือว่าอายตนะก็เกิดและดับ
ขันธ์ก็เกิดแล้วก็ดับ ก็เกิดแล้วก็ดับ รูปขันธ์เกิดแล้วเวทนาดับไป
เวทนาขันธ์เกิดขึ้นเวทนาขันธ์เกิดขึ้นแล้วดับไป สัญญาขันธ์ก็เกิดขึ้น สัญญาขันธ์ปรุงแต่งสังขารขันธ์แล้วก็ดับไป สังขารขันธ์ก็เกิดขึ้น
วิญญาณขันธ์ทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็ดับไป อยู่ในรูปของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ แต่ละขันธ์มันก็เกิดขึ้นและดับไปอย่างนี้ จะเอาอะไรมาเป็นตัวกู
จะเอาอะไรมาเป็นของกู ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้วความเข้าใจว่า
ตัวกูของกูมันก็หายไป มิจฉาทิฐิก็หายไป อุปาทานก็หายไป แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นไปเสียในทางตรงกันข้าม
- พอเกิดรูปขันธ์ก็เกิดความสำคัญผิดเป็นรูปของเรา รูปเป็นเราหรือรูปเป็นของเรา
- พอเกิดเวทนาขันธ์ก็เวทนาขันธ์เป็นของเรา หรือบางทีก็เอาเป็นเราเสียเอง
- สัญญาขันธ์ก็เหมือนกันถูกยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา
- สังขารขันธ์โดยเฉพาะความคิดนี่ถูกยึดถือเป็นตัวเราได้ง่ายที่สุด เพราะมันคิดได้ สัญญา สังขารขันธ์ก็ถูกยึดถือเป็นตัวเรา ก็มีตัวเราขึ้นมาในความยึดถือ เป็นมายาเท่านั้น ไม่ใช่มีจริง
- วิญญาณขันธ์ก็ถูกยึดเป็นตัวเราได้ง่ายที่สุดเพราะว่าเห็นได้ด้วยวิญญาณ ขันธ์ ได้ยินด้วยวิญญาณขันธ์ ได้กลิ่นด้วยวิญญาณขันธ์อย่างนี้ มันก็ยิ่งเห็นยิ่งสำคัญผิดเป็นตัวตนได้มากขึ้น
มารู้เสียว่านี่เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเท่านั้น มันเกิดขึ้นในฝ่ายนี้ก็เป็นความทุกข์ ถ้าดับลงก็เป็นฝ่ายดับทุกข์ มีสติสัมปชัญญะเมื่อเกิดอายตนะและกระทบรูปแล้วมันก็ดับความคิดที่เป็นตัณหาเป็น อุปาทานได้ความทุกข์ก็ไม่เกิด ความจริงข้อนี้มันก็ปรากฏออกมาแก่ผู้ที่มีปัญญามองเห็นว่า ความทุกข์เกิดไม่ได้เพราะเหตุอย่างนี้ๆ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ มันก็ไม่มีความทุกข์
นี่คือตัวหัวใจของพุทธศาสนาว่า (รู้ว่า)ตัวกูของกูนี้เกิดขึ้นอย่างไร ตัวกูของกูนี้ไม่อาจจะเกิดโดยวิธีใด เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาก็สามารถที่จะดับทุกข์ได้ สามารถที่จะทำให้จิตใจอยู่ในสภาพที่ว่างจากความเห็นแก่ตัว คือ ไม่มีความยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเราก็ไม่มีความทุกข์ กลับไปมีจิตใจเหมือนกับลูกเด็กอ่อนที่พึ่งคลอด ว่างจากความยึดถือว่า ตัวกูว่าของกู จิตใจของลูกเด็กๆ นั้นไม่มีอะไรควบคุมไว้ได้ มันก็เปลี่ยนไปในทางที่จะให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู
เดี๋ยวนี้มันเป็นจิตใจของคนแก่หัวหงอกแล้วจะเข้าโลงแล้วมันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นจิตใจที่รู้จัก รู้สึกสามารถควบคุมความรู้สึกป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูของกูขึ้นมาใน จิตใจ มันก็เป็นจิตใจอันใหม่ เป็นจิตใจที่ว่างแล้วก็ว่างอยู่ได้จริง รักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้ตลอดกาล กิเลสทั้งหลายไม่อาจจะครอบงำจิตใจชนิดนี้ได้อีก นี่มันต่างกับประภัสสรตามธรรมชาติ ซึ่งมันเปิดโอกาสให้กิเลสครอบงำได้ เดี๋ยวนี้ด้วยอำนาจของธรรมะที่ศึกษาและปฏิบัติจนถึงระดับสูงสุดแล้วก็ควบคุมความเป็น ประภัสสรแห่งจิตใจไว้ได้ กิเลสไม่อาจจะครอบงำได้ ความเป็นประภัสสรนั้น มันก็ถาวร นี่เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนี้ นี่คือ หัวใจของพุทธ ศาสนา มันมีเท่านี้ว่าอย่าให้ตัวกูของกูมันเกิดขึ้นมา ว่างหรือเดิมๆ อยู่อย่างก่อนแต่ที่มันจะเกิดกิเลสตัณหา
นี่เรามันก็หลับตาตลอดเวลาไม่ได้ รู้สึก ไม่รู้วิธีที่จะป้องกัน มันก็เกิดกิเลสและก็สะสมอนิสัย อนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลส มีอาสวะพร้อมที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำลายอนุสัยเสียได้ มันก็ไม่มีอาสวะอันไหนจะออกมา มันก็หมดทั้งกิเลส หมดทั้งอาสวะเพราะเหตุนั้น นี่หัวใจของพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ที่เอามาพูดในวันนี้ก็เอามาล้อเล่น เพราะที่จริงก็เกิดมาโดยไม่มีกิเลสตัณหาเลย แล้วทำไมจึงฉลาดไปในทางที่ให้เกิดกิเลสตัณหาสะสมมากขึ้น มันโง่หรือฉลาด ช่วยกันคิดดูให้ดี
มายาของตัวตน
เพราะฉะนั้นต้องเรียนให้รู้สำหรับที่จะทำลาย
ตัณหา คือ ความอยาก ถ้าความอยากไม่เกิดแล้ว
ตัวกูก็ไม่เกิดได้ ความอยากเกิดก่อนแล้วความรู้สึกว่าตัวผู้อยากนั้นจะเกิดทีหลัง นี่คือ
ความเป็นมายาของสังขาร เรามันรู้แต่เพียงว่ามันต้องตัว
ผู้อยากเสียก่อนแล้วจึงจะมีความอยาก นั่นมันพูดอย่างมีตัวตน แต่ความจริงนั้นมันไม่เป็นอย่างนั้น
กระแสในจิตนั้นมันปรุงแต่งเกิดความรู้สึกเวทนาก่อน ก็เกิดตัณหาคือ ความอยากตามสมควรแก่เวทนา แล้วความรู้สึกว่า ตัวกูผู้อยาก
นี่มันเพิ่งเกิดหลังจากนั้น มันแปลกอยู่ที่ว่า ความอยากเกิดก่อนตัวผู้อยาก มันเป็นอย่างนั้นเพราะว่ามันเป็นเพียงมายา
ฉะนั้น อย่าให้ความอยากเกิดได้ ความรู้สึกยึดถือว่ากูผู้อยากมันก็ไม่เกิด อย่าให้เกิดตัณหา
มันก็ไม่เกิดอุปาทาน ระวังเวทนาให้ดีๆ มันก็ไม่เกิดตัณหา ตอนที่ผัสสะนั้นสำคัญมากมีสติสัมปชัญญะให้พอ นี้เรียกว่า
เรียนธรรมะชนิดที่จะรักษาหัวใจของพุทธศาสนาไว้ได้ในจิตใจ คือ ไม่เกิดผู้อยาก นี้เรียนธรรมะเรียนอย่างนี้
เรียนให้รู้ตามจริง
ขอให้เราเรียนๆ ในทางที่จะให้รู้ความจริงข้อนี้
อย่าให้เรียนชนิดที่ยิ่งเรียนแล้วยิ่งโง่ ยิ่งเรียนแล้วยิ่งส่งเสริมการเกิดแห่งกิเลสตัณหา
ขอให้มีการปฏิบัติชนิดที่ปฏิบัติแล้วมันก็ป้องกันการเกิดแห่งกิเลสตัณหา ให้เห็นแจ้งอยู่ในวิถีทางที่จะไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา
เรามาพูดถึงวิธีป้องกันการเกิดกิเลสตัณหาด้วยการเรียนกันอีกสักนิดหนึ่ง เรียนธรรมะนั้น มันเรียนเพื่อให้รู้ว่ากิเลสเกิดอย่างไร อนุสัยเกิดอย่างไร
จะสร้างอุปนิสัยสร้างบารมีกันอย่างไร และก็ทำให้ได้ตามนั้น เดี๋ยวนี้เราไปเรียนโดยความมุ่งหมายอย่างอื่น
ไม่ได้เรียนด้วยความมุ่งหมายที่จะควบคุมกิเลส ไม่ได้เรียนเพื่อจะควบคุมการเกิดแห่งกิเลส ตัณหา แต่มันเรียนด้วยกิเลส ตัณหา
เรียนด้วยกิเลส ตัณหาแล้วมันจะได้อะไร มันก็จะได้เรื่องที่เป็นประโยชน์แก่กิเลส ตัณหาขึ้นมา อาตมาเขียนไว้ว่า
เรียนธรรมะ อย่าตะกละ ให้เกินเหตุ
จะเป็นเปรต หิวปราชญ์ เกินคาดหวัง
อย่าเรียนอย่าง ปรัชญา มัวบ้าดัง
เรียนกระทั่ง ตายเปล่า ไม่เข้ารอย
เรียนธรรมะ ต้องเรียน อย่างธรรมะ
เรียนเพื่อละ ทุกข์ใหญ่ ไม่ท้อถอย
เรียนที่ทุกข์ ที่มีจริง ยิ่งเข้ารอย
ไม่เลื่อนลอย มองให้เห็น ตามเป็นจริง
ต้องตั้งต้น การเรียนที่หู ตา
สัมผัสแล้ว เกิดเวทนา ตัณหาวิ่ง
ขึ้นมาอยาก เกิดผู้อยาก เป็นปากปลิง
เรียนรู้ยิง ตัณหาดับ นับว่าพอ
นี่หมายความว่า เรียนธรรมะเดี๋ยวนี้ไม่ได้เรียนอย่างนี้ มันเรียนเพราะตะกละความเป็นนักปราชญ์ เรียนเพราะอยากจะดัง
นี่ถ้าเรียนอย่างนี้เรียนจนตายก็ไม่เข้ารอยทางของธรรมะที่จะดับกิเลสได้ เรียนธรรมะอย่าเรียนอย่างปรัชญา เรียนธรรมะต้องเรียนอย่างธรรมะ
มุ่งหมายจะละความทุกข์ตะพึดไป ถ้าเรียนอย่างนี้มันจะเข้ารอยของธรรมะ แล้วการเรียนอย่างนี้ต้องตั้งต้นการเรียนที่ของจริง เมื่อตาเห็นรูป
เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เป็นต้น แล้วมันเกิดเวทนาขึ้นมาอย่างไร เมื่อเกิดเวทนาขึ้นในความรู้สึกแล้วมันเกิดตัณหา คือ
ความอยากโดยสมควรแก่เวทนานั้นอย่างไร ครั้นเกิดความอยากแล้วความรู้สึกถัดมา ก็คือ ความรู้สึกว่ากูอยาก กูต้องการ นี้เรียกว่า อุปาทาน เกิดมาทีหลังตัณหา
เกิดแล้วก็ยึดติดแน่นยิ่งกว่าปากปลิง อุปมาว่ายิ่งกว่าปากปลิง
อย่าเรียนธรรมะอย่างปรัชญา
เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียนกันอย่างนี้ เขาเรียนอย่างปรัชญา
อยากบ้าดัง อย่างพูดเก่ง อย่างนักปรัชญา ถ้าเรียนอย่างปรัชญา มันก็ไม่พบธรรมะ มันก็พบแต่ปรัชญาแล้วก็ได้เป็นคนบ้าดัง อาตมาเขียนไว้ว่า
เกี่ยวกับเรียนปรัชญานั้นเขียนไว้ว่า
เรียน อะไรถ้าเรียนอย่าง ปรัชญา
ที่เทียบกับ คำว่า ฟิโลโซฝี (Philosophy)
เรียนจนตาย ก็ไม่ได้พบ วิธี
ที่อาจขยี้ ทุกข์ดับ ไปกับกร
เพราะมันเรียน เพื่อมิให้ รู้อะไร
ชัดลงไป ตามที่ธรรม ชาติสอน
มัวแต่โยก โย้ไปให้ สั่นคลอน
สร้างคำถาม ป้อนต้อน รอบรอบวง
ไม่อาจจะ มีวิมุติ เป็นจุดจบ
ยิ่งเรียนยิ่ง ไม่ครบ ตามประสงค์
เป็นเฮโรอีน สำหรับปราชญ์ ที่อาจอง
อยู่ในกรง ปรัชญา น่าเอ็นดู
สมัยนี้เขาเรียนอย่างปรัชญา เรียนอย่างนักปรัชญา เพื่อเป็นนักปรัชญา แล้วมันก็ได้ผลอย่างนี้ มันไม่เป็นธรรมะ
มันไม่อาจจะดับทุกข์ มันก็ได้แต่เป็นนักปรัชญา ทำให้เรื่องมาก พูดได้มาก พูดจนตายก็ไม่จบ วนไปวนมาอยู่แต่ที่ตรงนี้ ไม่ตรงตามพระพุทธประสงค์
หนักเข้ามันก็เป็นยาเสพติดสำหรับนักปรัชญาเหล่านั้น ทีนี้จะเทียบ เปรียบเทียบกันดูว่ามันไม่เหมือนกันระหว่างเรียนธรรมะกับเรียนปรัชญา
เรียนอะไร ถ้าเรียนอย่างปรัชญา
ที่เทียบกับ คำว่า ฟิโลโซฝี
ยิ่งพลาดจาก ธรรมะ ที่ควรมี
เพราะว่าเหตุ ที่ยิ่งเรียน ไปยิ่งไม่ซึม
เพราะเรียนอย่าง คำนวณสิ่ง ไม่มีตัว
สมมติฐาน เอาในหัว อย่างครึ้มครึ้ม
อุปมาน อนุมาน ซ่านทึมทึม
ผลออกมา งึมงึม งับเอาไป
นี่มันเรียนปรัชญา
เรีย ธรรมะ มีวิถี วิทยาศาสตร์
มีตัวธรรม ที่สามารถ เห็นชัดใส
ไม่คำนวณ หากแต่มอง
ลงด้วยใจ
ส่องลงได้ ตามที่อาจ ฉลาดมอง
จะส่วนเหตุ หรือส่วนผล ยลประจักษ์
เห็นตระหนัก ว่าอะไร อย่างไรสนอง
แก่คำถาม แจ้งถนัด ชัดทำนอง
ตามที่ต้อง ปฏิบัติ ชัดลงไป
ถ้าเราอย่าเรียนอย่างปรัชญา เราเรียนอย่างธรรมะ
เรียนอย่างศาสนา เราจะพบของจริง อย่างน้อยก็เป็นความจริงที่เป็นความรู้สำหรับการปฏิบัติที่จะดับความทุกข์ได้
เดี๋ยวนี้เรามันไม่เรียนอย่างเรียนธรรมะที่จะได้ความรู้
ที่จะปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์ได้ เราไปเรียนอย่างเรียนหนังสือ เรียนวรรณคดี เรียนภาษา อย่างที่เรียนคันถธุระนั่น ระวังให้ดี
มันจะเหมือนกับว่าขุดหลุมฝังตัวเอง สำหรับเรียนคันถธุระ อาตมาเขียนไว้ตามความรู้สึกอย่างนี้
คันถธุระ คือเรียนร่ำ พระคัมภีร์
ถี่ร้อยกรอง กันเต็มที่ ยุคทีหลัง
เป็นมัดมัด ตู้ตู้ ดูมากจัง
เรียนจนคลั่ง เคลิ้มคล้าย ไปก็มี (อาตมาเคย)
ภาวนา ว่านางฟ้า ปิฎกไตร
จงผูกใจ ข้าไว้ ให้ถนัดถนี่
จะตายไป กี่ชาติ กี่ภพมี
ขอสมรส ด้วยวาณี ตลอดไป
เป็นการสืบ ศาสนา ปริยัติ
จะได้มี ปฏิบัติ ที่แจ่มใส
แต่ดูดู คล้ายจะมุด คุดอยู่ใน
ไม่อยากได้ พระนิพพาน สักท่านเดียว
นี่เรียนคันถธุระอย่างมหาศาล เรียนเสร็จยิ่งเกลียดพระนิพพาน อยากจะไปหากินอย่างนักปราชญ์
ก็เลยเรียนคันถธุระที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ทีนี้เรียนอย่างไรจะเรียนให้ถูกตัวพระศาสนาที่เรียกว่า เรียนศาสนา
เรียนศาสนา คำนี้ ฟังวนเวียน
เรียนศาสนา ไม่แน่ว่า เรียนอะไร ทำไมหนอ
เรียนนักธรรม เรียนบาลี ยังมิ พอ
ก็เรียนต่อ กัมมัฏฐาน การปัสสนา
เรียนเรียนไป ก็ได้ แต่ว่าเรียน
บ้างก็เปลี่ยน เป็นอาพาธ บ้าศาสนา
มีหลายอย่าง บ้าระห่ำ เกินธรรมดา
กระทั่งบ้า ลาภยศ อดนิพพาน
เรียนศาสนา นั้นต้องมี ที่ตาหู
เมื่อให้เกิด ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้ ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด อาการ มารรบกวน
เรียนตรงตรง ลงไปที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก กรรมวิธี ที่กระสวน
สกัดกั้น การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน สงบได้ ทุกข์หายไป
ที่เรียกว่าเรียนศาสนาต้องเรียนที่ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ใจ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น
อย่ามัวเรียนในกระดาษเลย เรียนในกระดาษนั้นเป็นเพียงเรียนวิธีที่จะไปเรียนจากตัวธรรมชาติ คือ
ตัวความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันเรียนแต่เรื่องในกระดาษอย่างเดียว
ไม่ไปเรียนที่ตัวธรรมชาติที่ตัวทุกข์ ฉะนั้นถ้าใครจะเรียนศาสนา มันไม่ใช่เรียนอย่างเรียนนักธรรมเรียนบาลี
หรือเรียนกัมมัฏฐานชนิดที่ไม่เรียนลงไปที่ตัวความทุกข์ เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจต้องเรียนที่ตรงนั้น
กัมมัฏฐาน ส่วนมากไม่เรียนกันที่ตรงนั้น มันก็ไม่เกิดผลตามที่ควรจะเกิด
ทีนี้จะพูดให้ชัดก็ต้องเรียกว่า เรียนที่ตัว
ชีวิตกันจะดีกว่า เพราะปัญหามันมีอยู่ว่าเรามีชีวิตเป็นเดิมพัน
ถ้าเราเรียนไม่ถูกวิธี มันก็ไม่เป็นผลเกิดขึ้นตามที่ควรจะมีจะได้ ขอให้เรียนวิปัสสนานั้นที่ชีวิตโดยตรง เขียน ข้อนี้ได้เขียนไว้ว่า
เรียนชีวิต อย่าแสวง จากแหล่งนอก
อย่าเข้าไป ในคอก แห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิด ยุ่งยาก ให้ผากใจ
อย่าพิจารณา จาระไน ให้นุงนัง
อย่ายึดมั่น นั่นนี่ ที่เรียกกฎ
มันตรงตรง คดคด อย่างหมดหวัง
จงมองตรง ลงไปที่ ชีวิตัง
ดูแล้วหยั่ง ลึกลงไป ในชีวิต
ให้รู้รส หมดทุกด้าน ที่ผ่านมา
ให้ซึมซาบ วิญญา อย่างวิสิทธิ์
ประจักษ์ทุกข์ ทุกระดับ กระชับทิศ
ปัญหาชีวิต จะเผยออก บอกตัวเอง
อย่าคิดเก่งจนดูไม่เห็น
เรียนวิปัสสนาจริงๆ ต้องเรียนที่ชีวิต และต้องใช้คำว่าดู
ปัสสนา แปลว่า ดูแล้วเห็น ปัสสี นุปัสสีก็แปลว่า
ดูแล้วเห็น ไม่ใช่คิดคำนวณตามเหตุผล คิดคำนวณตามเหตุผลโดยนัยยะ
โดยตรรกะนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสห้ามไว้โดยบาลีกาลามสูตร เรื่องคิดตามเหตุผลใช้ไม่ได้ เป็นอุปสรรคพาออกไปลงเหวแห่งความคิด
แห่งความเพ้อเจ้อ ต้องดูแล้วเห็นเป็นผลของการเห็น เรียกว่า ความเห็นแจ้ง ถ้าคิดคำนวณแล้วเห็น เห็นด้วยการคิดคำนวณไม่ได้เห็นตรงๆ ลงไปอย่างนี้
มันไม่ใช่ความรู้อย่างพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ที่นำไปสู่ทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสัจจาภินิเวส เดี๋ยว
นี้มันเรียนอย่างนี้กันเสียหมด ขอให้เรียนวิปัสสนาด้วยการกระทำที่ตรงตามความหมายของคำว่าวิปัสสนา คือ
ดูแล้วเห็น อย่าใช้หลับตาคำนวณ ซึ่งเป็นการคำนึงคำนวณด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่การดูแล้วเห็น
พุทธศาสนานี้ต้องดูแล้วก็เห็น เดี๋ยวนี้คนไม่ใช้วิธีนี้แม้เป็นอาจารย์วิปัสสนา ก็มิใช่ ก็ไม่ใช้วิธีนี้
ใช้วิธีคิดวิธีคำนวณ มันก็เพ้อเจ้อ ขอให้เปลี่ยนใหม่
อย่าคิดเก่งจนดูไม่เป็น
เดี๋ยวนี้มันเรียนกันไปแต่ในทางคิดเก่งและดูไม่เป็น คนโง่ คิดเก่งแต่ดูไม่เป็นและก็ไม่ได้ดูและก็ไม่ได้เห็น
มันมีแต่คิด มีแต่คำนวณ ฉะนั้นขอให้ตั้งสำนักวิปัสสนากันเสียใหม่ให้ถูกต้อง คือ ดูและเห็น อย่าคิด อย่าคำนวณ
อย่าจูงจมูกกันไปด้วยการคิดการคำนวณด้วยการเชื่อผู้อื่น เชื่ออาจารย์นั่นเอง มันก็ไม่มีโอกาสที่จะดูและเห็น จะพูดถึงวิปัสสนาอีกสักนิดหนึ่ง
อาตมาเขียนไว้ว่า
เรียนวิปัสสนา เพิ่งมีมา ต่อภายหลัง
ไม่เคยฟัง ในบาลี ที่ตถา
ไม่แยกเป็น คันถะ วิปัสสนา
มีแต่ว่า ตั้งหน้า บำเพ็ญธรรม
เพราะทนอยู่ ไม่ได้ ในกองทุกข์
จึงได้ลุก จากเรือนอยู่ สู่เนกขัม
จัดชีวิต เหมาะแท้ แก่กิจกรรม
เพื่อกระทำ ให้แจ้ง แห่งนิพพาน
ในบัดนี้ มีสำนัก วิปัสสนา
เกิดขึ้นมา เป็นพิเศษ เขตสถาน
ดูเอาจริง ยิ่งกว่าครั้ง พุทธกาล
ขอให้ท่าน จริงดี มีปัสสนา
ทีนี้คำว่า ทำวิปัสสนา นี้มันเพิ่งมี เพิ่งพูดเพิ่งใช้ ครั้งพุทธกาลใช้คำอย่างอื่น แม้ว่าจะมีคำว่าวิปัสสนา ก็ท่านหมายถึง
การดูแล้วเห็น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูแล้วเห็น ดูลงไปสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา
ไม่ใช่มาสอนด้วยวิธีคำนวณอย่างในโรงเรียนที่สอนกันอยู่อย่างนั้น เหตุผลอย่างนี้ เหตุผลอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอนิจจัง
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกขัง นี้มันเป็นเรื่องคำนวณ ไม่ใช่ดูแล้วเห็น เพราะฉะนั้นขอให้มีการเรียนวิปัสสนาชนิดที่ว่า ดูลงไปจริงๆ
แล้วก็เห็นให้สมกับคำว่าวิปัสสนา
เรียงเรียงจาก แสดงธรรมล้ออายุ ปี 2521 ครั้ง 1 ภาคเช้า