โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการจดหมายเหตุไทย

Share

งานจดหมายเหตุ,

หลักคิดและความเป็นมา

การจดหมายเหตุ หมายรวมถึงการดำเนินการจัดเก็บรักษา อนุรักษ์ ทรัพยากรจดหมายเหตุทุกอย่างที่มีคุณค่าทั้งที่เป็นเอกสาร สื่อที่บันทึกข้อมูลและวัตถุสิ่งของที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันซึ่งทำให้เห็นมิติที่รอบด้าน เพื่อการเผยแพร่และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ นับตั้งแต่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เปิดดำเนินการในปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ได้พยายามพัฒนาระบบงานจดหมายเหตุให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและแสวงหาภาคีและความร่วมมือระหว่างองค์กรที่สนใจพัฒนางานจดหมายเหตุมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อการเป็น “หอจดหมายเหตุทางศาสนธรรมที่มุ่งหมายความเป็นสถานเสริมสร้างสติปัญญาและจิตใจให้เจริญงดงาม (Religious Archives for Spiritual Fitness & Edutainment Center) ที่สามารถจัดระบบงานจดหมายเหตุได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นหอจดหมายเหตุทางดิจิทัล (Digital Archives) และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานจดหมายเหตุ (Archival System Education Center) ตามมาตรฐานสากล”

หากแต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทั้งในระดับองค์กรที่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญชำนาญงานจดหมายเหตุ การดำเนินงานจึงทำไปได้อย่างไม่เป็นระบบที่สมบูรณ์ เมื่อมองไปยังระดับประเทศก็ยังขาดการส่งเสริม สนับสนุน การจดหมายเหตุอย่างจริงจัง ทั้งยังไม่มีการผลิตนักจดหมายเหตุเพื่อจัดการองค์ความรู้ที่เป็นมรดกภูมิปัญญาในสังคมไทย และขาดการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กรที่ทำงานด้านการจดหมายเหตุ แต่ในข้อจำกัดก็มีโอกาสที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังตื่นตัวพยายามจัดตั้งหอจดหมายเหตุ, หอเกียรติยศ, หอประวัติ, ห้องสมุด หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น และแม้กระทั่งบรรดาลูกศิษย์และผู้ศรัทธาในวัด สถานปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ที่มีคุณูปการทางด้านศาสนธรรมก็มีความพยายามที่จะรักษา สืบทอดมรดกธรรมให้สืบต่อแก่อนุชน โดยพยายามจะใช้กระบวนการทำงานทางจดหมายเหตุเข้ามาจัดการมรดกธรรมเหล่านั้น

 ด้วยเหตุดังกล่าวมาหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในเบื้องต้นจึงขออาสาเป็นผู้ประสานงานให้เกิดเครือข่ายเรียนรู้กระบวนการจดหมายเหตุไทย เพื่อเชื่อมโยง บุคคล กลุ่ม องค์กรที่สนใจทำงานด้านการจดหมายเหตุ ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งโจทย์ปัญหาสำหรับการทำงาน ถ่ายทอดประสบการณ์ เรียนรู้กระบวนการทำงาน หาประเด็นเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาและขยายผลทางด้านการจดหมายเหตุให้ก้าวหน้า จนก่อเกิดนักจดหมายเหตุที่เรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงาน พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนงานจดหมายเหตุให้ได้ตามมาตรฐานสากล

วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

  1. เพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้การจดหมายเหตุไทยที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กรที่เอาจริงกับงานจดหมายเหตุ
  2. เพื่อจัดการองค์ความรู้ พัฒนาชุดปฏิบัติการ คู่มือ หลักสูตร ที่จะขยายผลไปสู่ภาคีเป้าหมาย กระทั่งเกิดการยกระดับพัฒนาการจดหมายเหตุในระดับประเทศ
  3. เพื่อการจัดการงานจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่นำไปต่อยอดในการจัดนานากิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร และปัญญา

กระบวนการ

เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ถ่ายทอดจุดแข็งของงานจดหมายเหตุแต่ละแห่งให้แลกเปลี่ยน อภิปราย สร้างโจทย์ปัญหาร่วมกันเพื่อนำไปขบคิด สร้างปฏิบัติการ แล้วกลับมาพบปะแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์แก่กันและกัน

วัน เวลา สถานที่ 

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุต่างๆ และพื้นที่ของภาคีเครือข่ายอื่นๆ
ระยะเวลาดำเนินการ เมษายน – สิงหาคม 2559

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เกิดเครือข่ายเรียนรู้การจดหมายเหตุไทยที่ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเป็นขบวน
  2. เกิดองค์ความรู้ ชุดปฏิบัติการ คู่มือ หลักสูตร ที่จะขยายผลไปสู่ภาคีเป้าหมาย จนยกระดับพัฒนาการจดหมายเหตุในระดับประเทศ
  3. มีการจัดการงานจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่นำไปต่อยอดในการจัดนานากิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร และปัญญา


สรุปการประชุม เครือข่ายเรียนรู้การจดหมายเหตุไทย (18 มี.ค. 59)

เนื่องด้วยการจดหมายเหตุในประเทศไทยเท่าที่เป็นมายังขาดการส่งเสริม สนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งยังขาดบุคลากรทางจดหมายเหตุเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรจดหมายเหตุอย่างเป็นระบบ การดำเนินการเกี่ยวกับจดหมายเหตุในประเทศไทยจึงขับเคลื่อนไปอย่างไร้พลังและทิศทางที่ชัดเจน ด้วยตระหนักในปัญหาดังกล่าวภาคีเครือข่ายที่ทำงานและสนใจพัฒนาด้านการจดหมายเหตุร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จึงได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการจัดตั้งเครือข่ายเรียนรู้การจดหมายเหตุไทย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญจทัศ จตุจักร กรุงเทพมหานคร เบื้องต้นมีผู้แทนจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร สมาคมจดหมายเหตุไทยและผู้แทนจากองค์กรที่สนใจด้านการจดหมายเหตุ ดังปรากฏตามรายชื่อนี้

ภาคีที่เชิญร่วมหารือ (เรียงตามตัวอักษร)

  1. กลุ่มจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ สำนักหอสมุดกฎหมายมหาชน สำนักงานศาลปกครอง  ชรินรัตน์ อุ้มเมือง เจ้าหน้าที่ศาลปกครองปฏิบัติการ กลุ่มจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
  2. กองทุนสืบธรรม-สืบไท / มูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก  นฤมล นพรัตน์ ผู้ประสานงาน/กรรมการ (ร่วมสังเกตการณ์)
  3. โครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุศาสตราจารย์ระพี สาคริก  กลศ หิรัญบูรณะ เลขานุการ ศ.ระพี สาคริก
  4. สมาคมจดหมายเหตุไทย  ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นายกสมาคมฯ / ศิริเพ็ญ น้าสกุล กรรมการวิชาการ
  5. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร จุฑาทิพย์ อังศุสิงห์ หัวหน้ากลุ่มบริหารเอกสาร
  6. หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ  นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ / กิตติศักดิ์ รุ่งเรืองวัฒนชัย ผู้จัดการ  สมบัติ ทารัก / จุฬารัตน์ นิ่มดวง เจ้าหน้าที่งานจดหมายเหตุ กลุ่มงานจดหมายเหตุ  ปิยะรัตน์ โกมลวาณิชกิจ เจ้าหน้าที่งานจัดการเอกสารและข้อมูล กลุ่มงานจดหมายเหตุ  ณฐภัทร อ่ำพันธุ์ เจ้าหน้าที่งานต่างประเทศ กลุ่มงานจดหมายเหตุ
  7. หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย วรรณวิภา สอาดจิตร์ เจ้าหน้าที่จดหมายเหตุ
  8. หอสมุด จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ณัฐยา อรพินธ์พิศุทธ์ บรรณารักษ์อาวุโส / พรรณิการ์ เกียรติกุล บรรณารักษ์อาวุโส

ภาคีที่เชิญร่วมหารือ แต่ติดภารกิจ ไม่สามารถเข้าร่วมได้

  1. บ้านพิพิธภัณฑ์
  2. ายบริการความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  3. พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์