“อาตมากับท่านเจ้าคุณ เรียกว่ามีความสัมพันธ์ทางใจกันมานาน มีอยู่ด้วยกัน ๓ รูป คือ ท่านเจ้าคุณพุทธทาส, พระราชญาณกวี แต่รู้จักกันในนาม บ.ช. เขมาภิรัต… ก็เคยได้อยู่ร่วมกันที่สวนโมกข์เก่า แล้วย้ายมาอยู่ที่สวนโมกข์ใหม่ ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ อาตมาได้ไปอยู่เชียงใหม่ ก็เพราะท่านเจ้าคุณพุทธทาสให้ไป ความจริงเวลานั้นไปอยู่ที่มาเลเซีย แต่ท่านส่งจดหมายไป บอกให้กลับมาไว ๆ จะให้ไปอยู่ที่เชียงใหม่ ก็เลยต้องกลับ แล้วก็มาพักเดือนหนึ่งที่ไชยา แล้วก็ไปอยู่ที่เชียงใหม่ ก็ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ทำงานร่วมกันในการเผยแผ่ธรรมะ ในการประกาศธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้คนได้รู้ ได้เข้าใจ จึงถือว่าเป็นพี่น้องกันโดยธรรม โดยหน้าที่ที่เราปฏิบัติ เพื่อพระศาสนา มีอะไรก็ไปปรึกษาหารือกันอยู่สม่ำเสมอตลอดมา”
(ปัญญานันทภิกขุ ปาฐกถาที่วัดชลฯ วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑)
“การร่วมใจเพื่อประกาศธรรม แม้กายอยู่ไกล แต่ใจมุ่งมั่น เพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาของความเป็นพี่น้อง ไม่ใช่เพียงสมมติ แต่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติตามที่พี่น้องพึงมีต่อกัน
ประการแรก เปลี่ยนชื่อ นำสู่อุดมการณ์
หลวงพ่อพุทธทาส เดิมชื่อเงื่อม นามสกุล พานิช ฉายา อินทปัญโญ ปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น พุทธทาส ด้วยความมุ่งมั่นถึงอุดมการณ์สูงสุด
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ นามเดิมชื่อ ปั่น นามสกุล เสน่ห์เจริญ ฉายา ปทุมุตฺตโร ปีพ.ศ. ๒๔๙๒ เปลี่ยนชื่อเป็น ภิกขุ ปัญญานันทะ เพื่อเผยแผ่พระศาสนา ต่อมาใช้นาม ปัญญานันทภิกขุ แสดงถึงอุดมการณ์ รักษา และรับใช้พระศาสนา
ประการที่สอง แม่ทัพธรรมแม่ทัพโลก การได้ร่วมงานและสนองงานหลวงพ่อพุทธทาสท่านได้ส่งพระน้องชายไปประกาศธรรมที่เชียงใหม่ ได้มีคณะพุทธบริษัทร่วมอุดมการณ์เป็นคณะเรียกว่า กองทัพธรรม โดยมีหลวงพ่อปัญญาฯ เป็นแม่ทัพธรรม มีเจ้าชื่น สิโรรส อุบาสกอุปถัมภ์...
หลวงพ่อพุทธทาส ได้ถวายของขวัญในโอกาสสำคัญยิ่งยวดคือ ถวายตำแหน่ง “แม่ทัพโลก” แก่หลวงพ่อปัญญาฯเพื่อให้ทำสงครามกับโลกแห่งความเห็นแก่ตัว...
ประการที่สาม ร่วมสนับสนุนส่งเสริมเพื่อพระศาสนา เช่น เกิดพระธรรมทายาทตามหลักพระธรรมทายาทสูตร รับเป็นธุระจัดซื้อที่สร้างสวนโมกข์นานาชาติ ให้ชาวต่างชาติได้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม…”
(ส่วนหนึ่งจากคำน้อมรำลึกโดย พระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ใน หนังสือ “พุทธทาส - ปัญญา จดหมายเหตุสองพี่น้องแห่งกองทัพธรรมฝ)
อ่านจดหมายติดต่อระหว่างพุทธทาสภิกขุและปัญญานันทภิกขุ ได้ที่ https://bit.ly/3uc8t6a