คณะหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เข้ากราบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)เพื่อถวายรายงานและขอพรในวาระครบรอบ ๑๒ ปี สวนโมกข์กรุงเทพ ณ ที่พักสงฆ์ในชนบท อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
วันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖
ขออนุโมทนาทางสวนโมกข์มากเข้มแข็งมาก แล้วงานเยอะ อาตมาจำไม่ไหวเลยเมื่อกี้นี้ ฟังแล้ว โอ้ เยอะเลยทีนี้ว่าเอายังไงก็ตามที่ว่า สวนโมกข์ทำงานมีการริเริ่มต่างๆ นี่ ขยายไปๆ อาตมาก็โมทนา ทางสวนโมกข์น่ะเข้มแข็ง แต่อาตมานั้นก็ต้องขออภัย ร่วมมือกับสวนโมกข์น้อยไปคือที่ผ่านมานี้ก็ให้ความร่วมมือบ้างแต่ว่าน้อย ทั้งนี้ก็ตอนนี้ก็พูดตรงๆ ก็แก่ลงๆ ร่างกายก็ย่อมแย่มลงไป มันไม่ใช่เฉพาะแค่ร่างกายภายนอก ความคิดสมองทำงานก็เปลี้ยวันนี้ก็คุยกันก็มานึกว่าสวนโมกข์กรุงเทพ ตั้งมา ก็เวลามันก็เดี๋ยวเดียว ๑๒ ปีแล้ว หลวงพ่อพุทธทาสก็จากเราไปก็ ๓๐ ปีแล้ว นี่เวลารวดเร็วในแง่หนึ่งก็เป็นการเตือนเราให้ไม่ประมาทเร่งทำสิ่งที่ควรทำด้วยความเพียรพยายาม มีสติปัญญาเป็นตัวที่ดำเนินการให้มันสำเร็จลุผล
ทีนี้ว่าปีนี้ที่สวนโมกข์กรุงเทพอายุครบ ๑๒ ปี ๑ รอบนักษัตร ก็มาจัดรายการนี้ที่เรียกว่า สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ก็เป็นการเดินหน้าไปอีกอันหนึ่ง คือนอกเหนือหรือต่อจากอนุรักษ์รมณีย์ของธรรมชาติแล้ว ก็มาสร้างสังคมให้เป็นรมณีย์ ไม่เอาแค่สิ่งแวดล้อม ทีนี้เอาตัวสังคมนี้เลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันอย่างสำคัญทีเดียวสร้างสังคมรมณีย์นี่อาจจะยากกว่าอนุรักษ์รมณีย์ของธรรมชาติอีก แค่อนุรักษ์รมณีย์ของธรรมชาตินี่... ตามปกตินี้ธรรมชาติเขาก็มีความเป็นรมณีย์ของเขาอยู่เยอะแล้วเป็นพื้น เรายังรักษาไม่อยู่เลยอันนี้จะมาทำสังคมให้เป็นรมณีย์อีกก็เรียกว่ากล้าหาญมากทีเดียว ก็จะต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังเยอะ
ทีนี้เรื่องของการสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ที่ว่าเหมือนกับต่อจากการอนุรักษ์รมณีย์ของธรรมชาตินี้เหมือนจะมาเข้าคาถาของพระพุทธเจ้าคาถาหนึ่งที่คงจะได้ยินกันมาแล้วว่า
คาเม วา ยทิ วา รญฺเ นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ [i]
คาถานี้บอกว่า ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหนที่นั้นไซร้เป็นถิ่นสถานอันรมณีย์
นี่ละนะก็หมายความว่า ที่ว่ารมณีย์ๆ นี่ มันไปๆ มาๆ มันอยู่ที่คนเป็นสำคัญนะ มันมาเชื่อมกับสังคมรมณีย์ บอกว่าที่ไหนๆ เราพูดกันถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอะไรต่ออะไรมันเป็นรมณีย์สวยงาม มีดินน้ำลมไฟดี ฟ้าอากาศดี อะไรต่างๆ แต่ว่าถ้ามีคนไกลกิเลส กิเลสน้อย คนดีนั่นเอง อยู่ที่ไหนก็ที่นั้นก็เป็นถิ่นสถานที่รมณีย์ ท่านเอาที่คนที่ไกลจากกิเลสจริงๆ ก็พระอรหันต์เลยนะ ถ้าพระอรหันต์อยู่ที่ไหนที่นั้นก็เป็นรมณีย์ เพราะว่ารมณีย์ของธรรมชาติมันจะมาเองเลย มันจะตามมาเพราะว่าไม่ทำลาย เมื่อธรรมชาติเราไม่ไปทำลายมันก็รมณีย์มันก็อยู่แล้วท่านก็ช่วยให้รมณีย์เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นที่จะมาสร้างสรรค์สังคมรมณีย์นี้อาตมาว่าเข้าคาถานี้ด้วย
ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสไว้อีกนะไม่ใช่แค่นั้น คือตรัสไว้แห่งหนึ่งบอกว่าจะเป็นสวนรมณีย์ก็ตาม จะเป็นป่ารมณีย์ก็ตามตลอดจนมีสระโบกขรณีเป็นรมณีย์ อย่างกับแดนเนรมิต แต่ทั้งหมดนั้นก็มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของความมีมนุษย์รมณีย์ เออ อันนี้สำคัญนะ
ก็ที่เราต้องการน่ะเราบอกว่าสร้างรมณีย์ ก็สวนบ้าง ป่าบ้าง สระน้ำ สมัยก่อนเขาเรียกสระโบกขรณีนี่สระนี้สำคัญมากเลยเป็นที่งดงามอย่างกับแดนเนรมิตสร้างกันขึ้นมา แต่ก็มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันนี้เป็นสำนวนบาลี ก็ถ้าเทียบไทยก็คือไม่ถึง ๑ ใน ๑๐๐ส่วนของการมีมนุษย์รมณีย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่แค่มีสวนรมณีย์ มีป่ารมณีย์ มีสระโบกขรณีรมณีย์ เป็นต้น แต่มันต้องมีมนุษย์รมณีย์ก็คือคนรมณีย์ ถ้ามีคนรมณีย์นะ นี่แหละรมณีย์อื่นมันจะพลอยมาด้วยและรักษาไว้ได้ ทีนี้ที่ทางสวนโมกข์ว่าจะสร้างสังคมรมณีย์ก็คือ ก็ต้องสร้างคนนะ สร้างมนุษย์รมณีย์ขึ้นมา แล้วมนุษย์รมณีย์ก็รวมกันเป็นสังคมรมณีย์อันนี้ก็เข้าคติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นสุดยอดของรมณีย์ ใช่ไหม เพราะว่าเป็นมนุษย์รมณีย์แล้ว เอาละตอนนี้เราจะต้องสร้างมนุษย์รมณีย์
ทีนี้เรื่องสร้างมนุษย์รมณีย์ให้มารวมเป็นสังคมรมณีย์นี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก นี่มันเข้าคติพุทธศาสนาไปถึงขั้นจุดหมายสูงสุดเลย เพราะอะไรเรื่องรมณีย์นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ คงจะเคยได้อ่านแหละ อาตมาก็ย้ำบ่อยๆ บอกพระพุทธเจ้าตรัส ทรงอุปมาตรัสเทียบนิพพานนี่เป็นถิ่นรมณีย์ เอ้าเอามาทวนกันหน่อยก็ได้พระพุทธเจ้าตรัสไว้แห่งหนึ่งท่านตรัสถึงว่า เหมือนการไปนิพพานนี้เหมือนกับคนเดินทาง เลือกทางเดินให้ถูก ไปทางเดินที่ถูก แล้วก็ไป แล้วก็ไปถูกทาง แล้วเจออะไรเจออะไรนี่ ต้องปฏิบัติต่อเรื่องนั้นให้ถูก แล้วก็ในที่สุดจะไปถึงถิ่นที่เรียกว่า สโม ภูมิภาโค รมณีโยติ โข ติสฺส นิพฺพานสฺเสตํ อธิวจนํ[ii] บอกว่า ดูก่อนติสสะ นี่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระภิกษุชื่อติสสะ ภูมิภาคคือดินแดนหรือถิ่น ภูมิสถานถิ่น ถิ่นดินแดนที่เรียบรื่นเป็นรมณีย์นี้แล เป็นชื่อของนิพพาน นี่แหละ เพราะฉะนั้นที่ว่ารมณีย์นี้คือถึงนิพพานเลยนะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดินแดนรมณีย์นั้นเป็นชื่อของนิพพาน เพราะฉะนั้นเราสร้างสังคมรมณีย์ก็เป็นสังคมที่มีคติแห่งนิพพาน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ
เพราะฉะนั้นตอนนี้จะมาถึงจุดหมายของพุทธศาสนาเลย เราก็พูดกันถึงนิพพาน นิพพาน ใช่ไหม ว่าเป็นจุดหมายพุทธศาสนาแล้วก็บอกกัน ถามกันว่านิพพานคืออะไรนิพพานคือดับกิเลสดับกองทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ ดับไฟโลภะ ดับไฟโทสะ ดับไฟโมหะ ว่ากันไปเยอะแยะ แต่รู้สึกมันยาก คนได้ยินดับๆ อะไรบางทีก็ไม่ค่อยชอบเท่าไร ทีนี้ให้เรานึกว่าคำที่จะเรียกนิพพานให้มันดีนี่มีเยอะแยะเราอย่ามามัวติดอยู่กับแค่ดับๆๆ อันนั้นท่านต้องการพูดฝ่ายเสีย ให้รู้ว่ามนุษย์อยู่กันนี่มีกิเลสมีอะไร มีทุกข์ที่มันเรื่องไม่ดีเยอะมันจะหมดไปก็ถึงนิพพานเพราะมันดับสิ่งเหล่านี้หมด แต่ทีนี้ดับแล้วเป็นยังไง นี่แหละเราไม่ค่อยพูด พระพุทธเจ้าตรัสถึงนิพพานนี่ตรัสเรียกหลายอย่าง เรานี่บางทีไม่ค่อยนึก เวลาพูดถึงนิพพานเอาชุดนี่ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้พอแล้ว อาตมาพูดไว้ก่อนเลยง่ายๆ บอกว่า
วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ จบ นี่คือชื่อนิพพาน
เอานะ มีกี่คำนี่ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ นี่คือชื่อนิพพาน ถ้าบอกว่านิพพานคืออะไร บอกตัวนี้จบ
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกนิพพานนี้ใช้คำเหล่านี้เรื่อย
วิมุตติ เช่นคำว่าอะไร สีลํ สมาธิ ปญฺา จ วิมุตฺติ จ อนุตฺตรา[iii] นี่คือพุทธศาสนาทั้งหมด ใช่ไหม
สีลํ สมาธิ ปญฺา จ –ศีล สมาธิ ปัญญา
วิมุตฺติ จ อนุตฺตรา –และวิมุตติอันยอดเยี่ยม นี่วิมุตติคือนิพพาน นี่นะหนึ่ง
และวิสุทธิ วิสุทธิก็เช่นว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา[iv]
บอกแค่นี้ บอกว่า เมื่อใดมองเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง คงทนอยู่ไม่ได้ มองเห็นรู้เข้าใจว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นจะเกิดนิพพิทาในทุกข์นั่นแหละ เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา นั่นคือหนทางแห่งวิสุทธิ ทางนิพพาน นี่วิสุทธิ
แล้วอะไร แล้วก็สุข สุขเราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ นิพพานํ ปรมํ สุขํ –นิพพานเป็นบรมสุข เป็นสุขสูงสุดใช่ไหม แต่ว่าเป็นสุขอิสระ เป็นสุขนิรามิส เป็นสุขที่ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งเสพไม่ต้องขึ้นต่ออามิส เป็นนิรามิสสุข เป็นสุขอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด แล้วก็ต่อไปนี้สุข สุขแล้วอะไรล่ะ
สุขแล้วก็เกษม เกษมคำบาลีว่า เขม ก็พูดบ่อยๆ อันนี้ตัวสำคัญที่ต้องย้ำ พระพุทธเจ้าตรัสหน้าที่ของศาสดาที่พระองค์ตรัสลงท้ายปีที่แล้วก็พูดเรื่องนี้
ปามุชฺชพหุลา โหถ เขมํ ปตฺเถถ ภิกฺขโว[v] –ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ ว่างั้นนะ มากด้วยปราโมทย์ ตัวนี้สำคัญปราโมทย์ นี้ปราโมทย์เป็นพื้นใจ
เขมํ ปตฺเถถ ภิกฺขโว –พึงปรึกษาพึงปรารถนาความเกษมเถิด นี่เกษมตัวนี้คือชื่อของนิพพาน นี่พระพุทธเจ้าใช้คำ นิพพานต่างๆ เยอะ
เอ้า แล้วสันติล่ะ ศานต์ก็คือสันติใช่ไหม เจริญพร ที่ว่าเกษมศานต์ ศานต์ก็คือสันติ สันตินั้นก็เช่นคำว่า ทฬฺหํ สิกฺขถ สนฺติยา[vi] –เธอทั้งหลายจงลุกขึ้น จงศึกษาเอาจริงเอาจังให้หนักแน่นเพื่อสันติ ว่างั้นนะจงศึกษาเอาจริงเอาจังให้ถึงสันติ ว่างั้นนะ สันติตัวนี้คือนิพพาน
เพราะฉะนั้นชื่อเหล่านี้เป็นศัพท์สำคัญทั้งสิ้น เราต้องนึกถึงความหมายของนิพพานในแง่เหล่านี้ ก็เอาที่อาตมาว่าเมื่อกี้พอพูดถึงนิพพานก็อะไร วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ แค่นี้จบเลย ได้ทุก... นี่คัมภีร์อะไรวิสุทธิมรรคก็หยุดแค่วิสุทธิใช่ไหม แล้วก็เขามีวิมุตติมรรคที่หายไปแล้วไปอยู่ที่มหายานวิมุตติมรรคเกิดก่อนวิสุทธิมรรคอีก บางท่านก็ว่า ท่านพระพุทธโฆษาจารย์นี้แต่งวิสุทธิมรรคได้แบบแผนจากวิมุตติมรรคหรือได้แนวเอามา วิมุตติมรรคนี่ก็วิมุตติอีก วิสุทธิใช่ไหม นี่เป็นศัพท์สำคัญทั้งนั้นเลย นี้คือนิพพานทั้งนั้นเพราะฉะนั้นเอาล่ะทีนี้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานเปรียบเทียบเป็นแดนรมณีย์ แดนรมณีย์ก็คำที่พูดเมื่อกี้ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ ก็เป็นไวพจน์ของนิพพานเป็นคำเรียกแทนนิพพานได้จะพูดในแง่หนึ่งก็เป็นลักษณะของนิพพานนั่นเอง แต่ลักษณะของนิพพานก็คือเป็นลักษณะของรมณีย์ สภาพที่จะเป็นรมณีย์ให้มีลักษณะนี้ดีไหมนี่โยมลองคิดดู ว่าให้ลักษณะรมณีย์ออกมาเป็นอย่างนี้ มีลักษณะออกมาเป็นวิชชา ออกมาเป็นวิมุตติ ออกมาเป็นวิสุทธิ ออกมาเป็นสุข ออกมาเป็นเกษม แล้วก็สันติ
วิชชานี่อะไร ทำไมเอามาเข้าชุดนี้ วิชชาไม่ใช่ตัวนิพพานแต่ว่าขาดวิชชาไม่ได้ วิชชานี่เหมือนกับเราอยู่ในแดนหนึ่งใช่ไหม แล้วมันมีขอบเขต สมมติว่ามีธรณีประตูหรือมีประตูก็แล้วกันวิชชานี้เป็นตัวข้ามธรณีประตู มันเป็นตัวผลักเปิดประตูออกไป ถ้าเราไม่ผ่านอันนี้ไปนิพพานไม่ได้ วิชชานี้เป็นตัวสำคัญเลยที่จะนำให้เข้าถึงนิพพาน เพราะฉะนั้นขาดไม่ได้ เป็นตัวเริ่มเป็นตัวเปิดประตูเข้านิพพาน เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยวิชชาวิชชาก็คืออะไร วิชชาก็ปัญญาใช่ไหม ปัญญานี่ก็ความรู้ รู้อะไร รู้ความจริง แต่ว่าทำไมต้องเรียกวิชชาล่ะ คือคำสามัญที่กว้างที่สุดสำหรับปัญญารู้ความจริง ก็คือปัญญานี้แหละเป็นคำกลางและเป็นคำกว้างรู้ความจริงก็ปัญญา แต่ว่าทำไมตอนนี้ต้องบอกวิชชา รู้ความจริงมันไม่เหมือนกันนะ
เอ้าโยม เช่นอย่างนี้ เอ้าลองว่าโยมมีน้ำอยู่บนโต๊ะนี่ขวดหนึ่งตั้งอยู่ เราก็มองเห็นขวดน้ำตั้งอยู่บนโต๊ะ รู้ว่าอ๋อนี่เป็นขวด ในขวดนี้มีน้ำ น้ำนี้กินได้เป็นประโยชน์แล้วตั้งอยู่ได้เพราะมีโต๊ะรองอะไรนี่ อันนี้คือรู้ความจริงใช่ไหม นี่แค่นี้ก็รู้ความจริงแล้ว เออนี้เป็นปัญญา เท่ากับปัญญามันก็ต้องพัฒนาไปจนถึงวิชชาแล้วความรู้จริงมันไม่ใช่แค่นี้ ความจริงมันยังรู้กว่านี้อีก เอ๊ะขวดนี้ที่มันมาตั้งอยู่นี้ มันมาตั้งอยู่ได้เพราะอะไร เอ้อมันมีคนเอามาหรือมันมาได้อย่างไรมันตั้งได้อย่างนี้ มันตั้งได้อย่างนี้แล้วเพื่ออะไร อ๋อเขาคงจะเลี้ยงจะกินข้าวกันจะกินโต๊ะกัน ก็มาตั้งไว้เตรียมอะไรอย่างนี้ เพราะอะไรเพื่ออะไรเป็นต้น ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นหรือระบบเหตุปัจจัยนี่คือรู้ต่อไปอีกใช่ไหม นี่อย่างนี้รู้ระบบความสัมพันธ์ รู้ความสัมพันธ์เหตุปัจจัยอะไรต่างๆ อย่างนี้ก็จึงเป็นรู้แจ่มแจ้งเป็นวิชชา หมายความว่าปัญญามันมีหลายระดับ เพราะฉะนั้นที่ว่ารู้ความจริงมันต้องแค่ไหนด้วย ทำไมท่านจึงต้องใช้ว่าวิชชา
ทีนี้วิชชานี้ก็คือ รู้ถึงขั้นที่ว่ามันแจ่มแจ้ง เปิดประตูผ่านด่านข้ามธรณีประตูเข้าแดนรมณีย์เป็นนิพพานไปได้ ตอนนี้ไม่มีที่สิ้นสุดแต่ก่อนนี้อยู่ในเขตที่มีขอบเขตกั้น แคบ ทีนี้ออกไปสู่แดนรมณีย์นิพพาน เอาละนะก็เป็นอันว่า เอานี่ วิชชาตัวสำคัญไม่ใช่ตัวนิพพาน แต่เป็นตัวพาเข้านิพพานใช่ไหมแต่ว่าตัวที่สำคัญอย่างยิ่งเลยคือวิชชาความรู้ความเข้าใจ ปัญญา
แล้วก็ วิมุตติคืออะไร พอออกประตูไปได้หลุดพ้นใช่ไหม หลุดพ้นก็เป็นอิสระเสรีแล้วทีนี้ไปไหนก็ได้แล้ววิมุตติ วิมุตติอย่างสวนโมกข์นี่ก็เป็นสวนวิมุตตินี่เองหลุดพ้นเป็นอิสระ
ทีนี้ก็วิสุทธิ วิสุทธิก็สะอาดหมดจดอะไรต่ออะไรนี่ ตอนอยู่ในที่เก็บกักกันมันมีอะไรพะรุงพะรัง หลุด สะอาด ปลอดโปร่งโล่งหมด วิสุทธิ
แล้วก็สุข ก็มีความสุขตอนนี้ แต่ก่อนนี้สุขเพราะอาศัยสิ่งเสพเรียกว่าอามิสสุข ตอนนี้เป็นสุขอยู่ในตัวเองเป็นคุณภาพของชีวิตจิตใจเลย เป็นความสุขที่อยู่ในตัวเองเป็นสุขอิสระ
แล้วก็เมื่อกี้อะไรอีก สุข เกษม เกษมก็เขมะ เขมะที่แปลว่าความเกษมคืออะไร คือความมั่นคงปลอดภัยปลอดทุกข์ ปลอดภัย ปลอดโปร่ง โล่งใจไร้กังวล นี่เรียกว่าเกษม เกษมนี่สำคัญอย่างยิ่งเลย นิพพานถึงเรียกว่าแดนเกษมนะ เหมือนอย่างคนนี้อยู่ในน้ำ ว่ายวนอยู่นี่ถึงจะว่ายเก่งยังไงก็ไม่เกษม ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่มั่นคง ยังไม่ไร้กังวลใช่ไหม ยังมีกังวลนะ แต่พอขึ้นฝั่งได้ยืนบนฝั่ง มองไปโล่ง เห็นฟ้าเห็นน้ำเลย ตอนนี้เรียกว่าเกษมแล้วขึ้นแดนเกษมก็เหมือนคนที่ถึงความเกษมนี้เหมือนคนที่ว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้เรียบร้อย
แล้วก็ศานต์ ก็สันติ ความสงบก็หมายความ หายเหน็ดหายเหนื่อย หายเร่าร้อนกระวนกระวายอะไรต่ออะไรหมด สงบ อยู่ตัว เข้าที่เรียบร้อย
เอานะนี่คือลักษณะเป็นชื่อเรียกนิพพาน แต่ว่าเราเรียกได้ว่าเป็นลักษณะของนิพพาน ก็เป็นลักษณะของรมณีย์ โยมจะสร้างสังคมให้เป็นรมณีย์ก็ต้องทำให้คนนี่ได้สิ่งเหล่านี้สภาพเหล่านี้เป็นลักษณะที่สบายเลย
ทีนี้เวลานี้ก็เป็นนิมิตดีที่ว่าทางสวนโมกข์คิดจะสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ เราก็อยู่ในสังคมที่เวลานี้มักจะมองดูอารยธรรมว่ามันเจริญเป็นยังไงสังคมที่เจริญยังไงเราก็มองไปว่า โอ้ สังคมที่เจริญจะเรียกว่าเป็นแบบแผนเลยก็ได้นะ เป็นต้นแบบ ใครๆ อยากเอาอย่างนั้น ก็คือสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมใช่ไหม สังคมมั่งคั่งพรั่งพร้อม มีกินมีใช้ เศรษฐกิจดีเรียกง่ายๆ แหละ สังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม โดยมากจะเน้นไปทางเศรษฐกิจ ก็มีสิ่งเสพบริโภคอุดมสมบูรณ์หาความสุขสนุกสนานได้เต็มที่ นี่สังคมอย่างนี้เวลานี้กำลังมองกันว่าเอาเป็นต้นแบบ แล้วก็พยายามทะเยอทะยานกันนักที่จะเป็นสังคมแบบนี้ก็เรียกว่าเป็นสังคมอะไรล่ะ เป็นสังคมที่มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมมีสิ่งเสพบริบูรณ์นี่ ก็เป็นสังคมที่เอาสวรรค์เป็นแบบ เอาสวรรค์เป็นอุดมคติก็ได้ จะเรียกว่าเอาเป็นต้นแบบก็ได้เอาเป็นอุดมคติก็ได้นะ
สังคมเวลานี้กำลังเอาสวรรค์เป็นต้นแบบ จริงไม่จริงขอให้ดู สังคมที่สวรรค์คืออะไร สวรรค์แปลว่าอะไร สวรรค์แปลว่ามีอารมณ์สุดยอดหรือเป็นเลิศ สคฺค น่ะ ส แปลว่าประกอบด้วย และ อคฺค อัคคะแปลว่ายอด เลิศ อัคร มหาเสนาบดี อัครอะไรต่างๆ อคฺค –ยอด ทีนี้ อัคคะในที่นี้หมายถึงอารมณ์ อารมณ์คืออะไร อารมณ์คือสิ่งเสพของจิต เดี๋ยวจะบอกอีกทีหนึ่ง สวรรค์คือดินแดนที่ก็คือสังคมนี้แหละเพราะสวรรค์ก็เป็นสังคมของเทวดานะ สังคมที่มีอารมณ์เป็นเลิศ อารมณ์สุดยอด อารมณ์ก็คือสิ่งเสพของจิต จิตสิ่งเสพอะไรบ้าง เสพทางตา เสพทางหู เสพทางจมูก เสพทางลิ้นเสพทางกาย เสพก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย ที่ซาบซ่าน หวาน เปรี้ยว เปรี้ยวหวานมันเค็ม เอร็ดอร่อย นี่คืออารมณ์ อารมณ์ที่เป็นสิ่งเสพของจิต ก็เป็นสิ่งเสพเราก็นึกถึงกายก่อนแหละแต่ที่จริงมันไปถึงจิตหมดอันนี้ก็คือสวรรค์ สวรรค์ก็คือมุ่งการเสพสิ่งเสพบริโภคทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่มันเอร็ดอร่อยต่างๆ แล้วนี่สังคมปัจจุบันนี้มันเป็นลักษณะนี้ไหม เอาสวรรค์เป็นแบบ มุ่งสวรรค์จะให้สังคมมนุษย์นี่สังคมไทยอะไรต่ออะไรมุ่งจะไปสวรรค์กันจะไปสวรรค์ก็ต้องเศรษฐกิจดีมีกินมีใช้พรั่งพร้อมทุกอย่างใช่ไหม
เสร็จแล้วเป็นยังไงล่ะเวลานี้ กินเสพไป เอ้าดูจิตใจ สังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม จิตใจเครียด จิตใจเร่าร้อนกระวนกระวายจิตใจกลุ้มกังวลเบื่อหน่ายเก่ง เอ๊ะ ทำไมมีความสุขกินเสพมากมายทำไมเบื่อหน่าย เอ๊ะ ไม่มีความสุขเลย แล้วทางสังคมก็มีความหวาดระแวง กลัวคนนั้นจะขึ้นหน้าเด่นกว่ากันอะไรต่ออะไรแย่งชิงแข่งดีแข่งอะไรกันนี่ เอ๊ะ ดูสังคมที่เอาสวรรค์เป็นแบบนี้ มั่งคั่งพรั่งพร้อมไปดูสิสังคมไหน มีความสุขไหม มันยุ่งพิลึกนะ หนึ่ง) ทางด้านจิตใจแย่อย่างที่บอกเมื่อกี้มีเครียด กระวนกระวาย เบื่อหน่าย กลุ้มกังวลอะไรต่ออะไร ขุ่นมัวเศร้าหมองอะไรสารพัด ใช่ไหม แล้วออกมาทางร่างกาย โรค ไขมันในเส้นโลหิต โรคหัวใจ โรคอะไร โรคเบาหวาน โรคความดันโรคมะเร็ง โรคอะไรต่ออะไรนี่มาจากเรื่องกินเสพบริโภคสวรรค์มากไปใช่ไหม อันนี้ก็เมืองฝรั่งนี้อาการหนักเพราะไอ้เรื่องนี้แหละ เมืองไทยก็ไม่ใช่เบานี่ก็สวรรค์เหมือนกันนะ แล้วอะไรอีกอันนี้ทางด้านชีวิตตัวเองจิตใจร่างกายก็ไม่ดีแล้วสังคมเป็นยังไง แย่งชิงกันแข่งขันกัน มีทุกข์ในการแข่งขันแล้วก็เบียดเบียนกัน มีความแปลกแยกจากกัน มิตรไมตรีไม่ถึงใจไม่ทราบซึ้งใจจริงๆ ไมตรีมันไม่จริงจัง มันผิวเผินและก็มีความหวาดระแวงอะไรต่ออะไรเยอะแยะปัญหาเรื่องมนุษย์น่ะ จนกระทั่งว่าแตกแยกกันเพราะว่าต้องข่มเหงกันแย่งชิงกัน ไปๆ มาๆ ยกทัพทำสงครามกัน เบียดเบียนกัน รบราฆ่าฟัน เหมือนกับเทวดา เทวดาก็อิจฉากันใช่ไหม แย่งชิงกันตกลงเทวดาไปๆ มาๆ ก็ทำสงครามกัน ยกทัพกันเป็นเทวาสุรสงคราม สงครามระหว่างเทวดากับอสูร และคือสงครามระหว่างเทวดาเก่ากับเทวดาใหม่ เทวดาเก่าเขาเรียกว่าบุพพเทวดาได้แก่อสูร และเทวดาใหม่ได้แก่ พวกเทวดาพวกพระอินทร์
เอาละนะนี่ ก็จนกระทั่งสงครามนี่ก็สังคมแบบที่เอาสวรรค์เป็นต้นแบบ แล้วก็ไปๆ มาๆ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติหมดรมณีย์ กินกันไปบริโภคกันไป เบียดเบียนทำลายธรรมชาติแล้วทำลายธรรมชาตินี่ธรรมชาติทรุดโทรมไม่พอนะ มันยังเอาสิ่งสกปรกรุงรังไปใส่ธรรมชาติอีก มีขยะมาก มีมลภาวะอากาศ ดินน้ำ ดินเสียน้ำเสียอากาศเสีย แล้วก็เกิดภูมิอากาศผันแปรแปรปรวนวิปริตเกิดความร้อนเกินไป น้ำในทะเลน้ำในมหาสมุทรจะท่วมโลกหรือเปล่า ปัญหาเยอะแยะหมด อากาศเดี๋ยวนี้ก็ยุ่งพิลึก ตกลงว่านี่คือสังคมที่เอาสวรรค์เป็นแบบนี่ก็คือสังคมที่มุ่งเศรษฐกิจเป็นใหญ่ มั่งคั่งพรั่งพร้อมมุ่งเสพนั่นเองแหละ สังคมที่เป็นสวรรค์ก็เสพอารมณ์ชั้นเลิศใช่ไหม มีความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย นี่คืออย่างนั้น
ทีนี้พอมาสังคมนี้สวนโมกข์จะเปลี่ยนแล้วนะ สวนโมกข์ไม่เอาแล้ว จะไม่เอาสวรรค์เป็นแบบ ไม่ใช่สังคมที่มีสวรรค์เป็นแบบจะเอาสังคมที่มีนิพพานเป็นแบบ เอาสังคมที่มีนิพพานเป็นต้นแบบ ก็คือนิพพานนั้นก็คือรมณีย์ จึงบอกว่าให้เป็นสังคมรมณีย์ สังคมรมณีย์ก็คือสังคมที่มีนิพพานเป็นต้นแบบ นิพพานเป็นต้นแบบสังคมนั้นก็จะมีลักษณะที่ว่า ก็คือ มี หนึ่ง วิชชา สอง วิมุตติ ความหลุดพ้นเป็นอิสระเสรีวิสุทธิ ความสะอาดหมดจด แล้วก็มีสุข ความสุขที่เป็นอิสระไม่ต้องขึ้นต่ออามิส แล้วก็เกษม ความปลอดภัยไร้ทุกข์ไร้กังวลอะไรต่างๆ ความมั่นคงอะไรต่างๆ แล้วก็สันติที่ว่าความสงบอันนี้ก็คือ สังคมที่จะมีลักษณะอย่างนี้ถ้าทำได้ ถ้าหากว่าสวนโมกข์คิดอย่างนี้ จะสร้างสังคมรมณีย์ก็คือสังคมที่เอานิพพานเป็นต้นแบบอย่างนี้เรียกว่าเป็นสวนโมกข์อะไรนะ สวนโมกข์สร้างสังคมรมณีย์ manifesto เลยนะนี่ใช่ไหม เป็น manifesto เลยนะ เออกำลังประกาศใหญ่เลยนี่ ไหวไหม เรื่องใหญ่นะ จะทำสังคมรมณีย์นี่มันฝืนกระแส สู้กระแสของมนุษยโลกเวลานี้ที่เขาจะต้องเอาสังคมสวรรค์เป็นต้นแบบใช่ไหม เวลานี้แต่เราก็เห็นพิษแล้วความเลวร้ายของสังคมที่เอาสวรรค์เป็นแบบนี้มันยุ่งแค่ไหน ที่เรากำลังเดือดร้อนอะไรกันอยู่นี่มันก็เพราะเอาสังคมสวรรค์เป็นต้นแบบ เพราะฉะนั้นก็ ในแง่หนึ่งก็น่าโมทนานะที่ว่าจะเอาสังคมรมณีย์ก็คือสังคมมีนิพพานเป็นต้นแบบแต่มันไม่ใช่ง่ายต้องบอกไว้ก่อน
นี้ทำไงจะสร้างสังคมอย่างนี้ได้ ก็กลับไปสู่ที่บอกเมื่อกี้ไง พระพุทธเจ้าตรัสว่าไง มันก็ประสานสังคมที่มีธรรมชาติรมณีย์กับมนุษย์รมณีย์มาถึงกันที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อกี้บอกว่า มีสวนอันรมณีย์ มีป่าอันรมณีย์ มีสระโบกขรณีที่เป็นรมณีย์งามอย่างเนรมิตอย่างดีแล้ว ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการมีมนุษย์รมณีย์ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็คือว่า จากสภาพแวดล้อมธรรมชาติรมณีย์นี้ก็จะต้องสร้างมนุษย์รมณีย์มนุษย์รมณีย์จะเกิดขึ้นได้ยังไง นี่ก็คือว่ามาเข้าทางละ จะต้องสร้างตอนนี้ เมื่อกี้นี่ทำความเข้าใจกันเรื่องของสังคมรมณีย์เป็นอย่างไร ก็เอาละตกลงว่าสังคมรมณีย์ถ้าตกลงตามนี้ก็นิพพานนั้นแหละเป็นแดนรมณีย์ ก็คือเอาเป็นสังคมที่มีนิพพานเป็นต้นแบบ หรือเป็นอุดมคติ โดยมีลักษณะสำคัญที่ว่ามีวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ ถ้าได้ลักษณะอย่างนี้ล่ะก็เป็นอันว่าเป็นสังคมรมณีย์แน่เราตอบได้เลย รมณีย์เป็นยังไงบอกเลย วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ แล้วก็เศรษฐกิจไม่ใช่ไม่สำคัญ เศรษฐกิจเดี๋ยวนี้เขามุ่งเศรษฐกิจเป็นสุดยอด คล้ายๆ เศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายเลยใช่ไหม มีเศรษฐกิจ มีกินมีใช้มีสิ่งเสพบริบูรณ์มั่งคั่งพรั่งพร้อมมันคล้ายๆ เอาเศรษฐกิจบริบูรณ์นี้เป็นจุดหมาย
ของพุทธศาสนาที่จะเอานิพพานเป็นต้นแบบ เอาเศรษฐกิจเป็นปัจจัย หลักพุทธศาสนานี่บอกไว้นานแล้ว พอพระบวชก็บอกเลยนิสสัย ๔ พวกวัตถุสิ่งเสพบริโภคนี่เป็นนิสสัยคำว่านิสสัยนี่แปลว่าที่อาศัย เป็นคำเดียวกับ บางทีก็ใช้แทนคำว่าปัจจัยนะ เป็นที่อาศัย นิสสัยเป็นที่อาศัย เราอาศัยมันขาดมันไม่ได้เหมือนกันนะ ต้องอาศัยแต่ว่ามันไม่ใช่จุดหมายเศรษฐกิจทำให้ดีและให้มันเป็นฐานให้เราขึ้นไปสู่การสร้างวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ อันนั้นคือต่อไป เอาเศรษฐกิจเป็นฐานสร้างไอ้ตัวพวกนี้นะ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจเป็นปัจจัยนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นมันจึงมีหลักพระพุทธเจ้าว่าเรื่องการกินเสพมีมัตตัญญุตา เศรษฐกิจก็คือเศรษฐกิจมัตตัญญุตาใช่ไหม
พระพุทธเจ้าตรัสย้ำบ่อย หลักในพระพุทธศาสนานี่เริ่มต้น ๓ อันนี้ต้องได้ ๑) อินทรียสังวร การใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่การรับรู้นี้ต้องเริ่มต้นการศึกษาที่ตาหูจมูกลิ้นกายถ้าใช้ไม่เป็นการศึกษาเริ่มไม่ได้ อินทรียสังวรนี้ตัวที่หนึ่ง แล้วก็แล้วอะไร เอ้า ๒) โภชเนมัตตัญญุตา เสพบริโภคอย่างรู้จักประมาณพอดี มัตตัญญุตาความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือรู้จักพอดีในการกินใช้เสพบริโภค ในการบริโภคนั่นเองอันนี้เป็นตัวสำคัญเลย กินเสพบริโภคเราต้องอาศัยเศรษฐกิจแต่ว่าต้องพอดี มัตตัญญุตา ให้รู้จุดหมายว่าเพื่อเราจะได้มีกำลังร่างกายเป็นต้น ที่จะได้ไปทำงานทำอะไรได้ แล้วก็ไปถึง ๓) ชาคาริยานุโยค มีความเพียรในการทำกิจหน้าที่ของผู้ตื่นอยู่ ผู้มีสติตื่นอยู่ ตื่นอยู่ในการที่จะทำกิจทำหน้าที่ทำการงานนี่คือฐานเริ่มต้นของพุทธศาสนาเวลาสอน จะไปสู่ดินแดนที่ว่าเป็นสังคมรมณีย์คุณต้องสร้างคนให้ทำ ๓ อย่างนี้ได้
อินทรียสังวร หนึ่ง รู้จักปกครองอินทรีย์ของตัวเองได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการที่ไม่ใช่จะมุ่งแต่เสพนะ ไอ้พวกหนึ่งนี่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายเพื่อเสพเสพรูป เสพเสียง เสพอะไรสวยงามอะไรๆ หาความสุขเช่นนี้ ไอ้พวกหนึ่งใช้อินทรีย์ตาหูจมูกลิ้นกายเพื่อเรียนรู้เพื่อศึกษา นี่อินทรีย์ตาหูจมูกลิ้นกาย มันเป็นทาง ๒ แพร่ง ใช้เพื่อด้านหนึ่งคือเสพ ใช้ด้านหนึ่งเพื่อศึกษา อันนี้คนโดยมากนี่ใช้เพื่อเสพใช่ไหม จะดูรูปสวย จะดูอะไรต่ออะไรไปอย่างนั้น หูก็จะฟังอะไรต่ออะไร แต่ว่าพอมาเข้าทางพุทธศาสนาเริ่มต้นคุณต้องใช้อินทรีย์เป็น ใช้อินทรีย์เพื่อศึกษาเริ่มเลยใช่ไหม สติปัญญาต้องมาเลย จิตต้องอยู่ในอุเบกขาเป็นดุลจิตอยู่ในดุลยภาพอย่าไปข้างยินดียินร้าย เสร็จแล้วศึกษาว่าอะไรเป็นอะไร นี่อย่างนี้คืออินทรียสังวร แล้วนี่ โภชเนมัตตัญญุตา ต้องรู้จักประมาณพอดีในการเสพบริโภคให้มันรู้ว่ากินเพื่ออะไร กินเพื่อวัตถุประสงค์นั้นแล้วกินเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์นั้น อย่าไปกินหลงตามรสตามอะไรอร่อยไปเป็นเสพใช่ไหม ก็โภชเนมัตตัญญุตานี่ก็คือหลักเศรษฐกิจเลยเพราะฉะนั้นการที่จะเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ มันต้องเน้นไปทางการศึกษาแล้วก็รู้จักพอดีรู้จักประมาณ
เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจมันก็เป็นเศรษฐกิจมัตตัญญุตา เศรษฐกิจมัตตัญญุตา มัตตัญญุตาแปลว่าอะไร แปลว่าความรู้จักประมาณ รู้จักประมาณก็คือรู้จักพอดีรู้จักพอดีเกิดมาเป็นเศรษฐกิจพอดี เศรษฐกิจพอดีก็เกิดเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เอ้ากลายไปๆ มาๆ กลายเป็นเข้าเศรษฐกิจพอดี เศรษฐกิจพอเพียงอันเดียวกัน ก็คือบาลีเป็นมัตตัญญุตารู้จักประมาณรู้จักพอดี คำว่ามัตตัญญุตา รู้จักพอดี พอดีก็คือการกินเสพใช่ไหม ก็คือว่าให้มีกินมีเสพแล้วก็รู้จักให้มันพอดี อย่าไปละโมบโลภมากเห็นแก่รสแก่อะไร ความเสพนั่นแหละถ้าไปมุ่งกินเสพให้เอร็ดอร่อยก็เป็นสังคมสวรรค์ ถ้ากินเสพด้วยปัญญารู้พอดีแล้วก็เป็นการเดินทางไปสู่สังคมรมณีย์แห่งนิพพานนี่ แล้วก็พอเราได้อินทรียสังวร รู้จักใช้อินทรีย์เพื่อการศึกษาแล้วก็มาโภชเนมัตตัญญุตา มีเศรษฐกิจพอดีพอเพียง กินเสพพอประมาณแล้วก็ให้มันเป็นไปเพื่อเป็นปัจจัย แล้วทีนี้เราก็ได้ปัจจัยเศรษฐกิจมาก็เดินหน้าไปในการที่ก็ทำชาคริยานุโยค ทำความเพียร เพียรทำกิจ ของผู้มีสติตื่นอยู่ เอาละทีนี้ก็เดินหน้าแล้วสติมันก็กำกับจุดหมายของเราเพื่ออะไร เพื่อสร้างสังคมที่เป็นวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ ใช่ไหม เอาเลย เพราะฉะนั้นก็ได้ความแล้วได้ ๓ ตัวนี้ก็ได้ แต่ว่ามันไม่ใช่แค่นั้นมันต้องสร้างคุณสมบัติในตัวคน
ทีนี้หันมาพูดถึงคุณสมบัติในตัวคนที่ว่าจะสร้างมนุษย์รมณีย์ มนุษย์รมณีย์ คนยังไงล่ะ มันก็ง่ายๆ หลักพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมเอาแค่ชั้นมูลวันนี้พูดถึงหลักธรรมชั้นมูลเท่านั้นเอง หลักธรรมชั้นมูล มูลแปลว่าอะไรล่ะ มูลแปลว่าราก มูลแปลว่าต้นกำเนิด มูลแปลว่าพื้นฐานใช่ไหมล่ะแค่พื้นฐาน ต้นกำเนิด อะไรบ้างที่เป็นต้นกำเนิด เป็นธรรมะขั้นต้นเหลือเกิน เริ่มต้นดูที่ใจดูที่ตัวคนก่อน ในใจคุณน่ะทำได้ไหม ใจคุณนี่ที่เป็นตัวหลักยืนอยู่ก็คือใจ ตัวคนนี่เริ่มที่ใจใช่ไหม ที่เรารู้ตัวอยู่ที่เราพากายไปไหนทำอะไรมันก็ใจนี้แหละ ใจอยู่ในสภาพอะไร พระพุทธเจ้าเอานี้เลย หนึ่ง) ให้มีคุณสมบัติประจำใจคือ ปราโมทย์ ใจผ่องใจผ่อง ใจผ่องก็คือใจสดชื่น เบิกบาน แจ่มใส ปลอดโปร่ง โล่งเบา ใจคล่อง คือใจที่มันปราโมทย์มันผ่อง แล้วมันไม่มีอะไรกดบีบ ไม่มีอะไรรบกวนนั่นมันก็โล่งโปร่งสดชื่นเบิกบาน เวลาใช้ปัญญานี่ พุทธศาสนานี่เน้นปัญญาใช่ไหม มันใช้ปัญญามันก็เดินหน้าได้ แล้วตัวคนเองในสภาพที่ปราโมทย์นี่ชีวิตมันอยู่ดีมันอยู่เฉยๆ จิตมันทำงานนี่มันก็ใช้พลังงานนะ เจริญพร สมอง พอจิตปราโมทย์นี่มันก็ต้องใช้พลังงาน คือจิตมัน มันอะไร เหมือนกับพักหรือมันอะไร มันอยู่เฉยสบายของมันน่ะ มันโล่งมันโปร่งมันไม่มีอะไรมาทำให้มันมีภาระ ปราโมทย์นี่ เพราะฉะนั้นตัวแรกพระพุทธเจ้าเน้นอยู่เสมอ จิตทำให้ปราโมทย์ไว้ นี่คือตัวหนึ่งเลยปราโมทย์เป็นตัวมูลที่หนึ่งนะ เพราะฉะนั้นจำไว้เลย จิตเป็นอยู่กลางตัวเราใช่ไหม เพราะฉะนั้นทำจิตปราโมทย์เป็นเสมอ พระพุทธเจ้าจะตรัสบ่อย ปาโมชฺชพหุโล ภิกขุก็มี แต่ที่อาตมาเอามายกอ้างบ่อยก็คือ ปามุชฺชพหุลา โหถ เขมํ ปตฺเถถ ภิกฺขโว อันนี้จำกันให้แม่นเลย ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ ใช่ไหม ไอ้ใจผ่อง ใจปราโมทย์ใจสดชื่น ร่าเริงเบิกบานแจ่มใสปลอดโปร่งโล่งเบา อะไรต่ออะไรคล่องเวลาจะคิดจะทำงานอะไรใจมันก็ไปง่ายหมดเลยมันโล่ง มันไม่มีอะไรกวนมันไม่มีอะไรเกะกะขวางทาง แล้วตัวปราโมทย์นี้ ชุดที่เคยบอกแล้วจะไปสมาธิมันเริ่มด้วยปราโมทย์ ปราโมทย์ ปีติปัสสัทธิ สุข สมาธิใช่ไหม พระพุทธเจ้าตรัส อาตมาลองนับดูในพระไตรปิฎกชุดนี้ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ในพระไตรปิฎกนี้ประมาณ ๕๒ แห่ง พระพุทธเจ้าตรัสนะพอเริ่มก็ปราโมทย์ พอมีปราโมทย์ แล้วก็ปีติตามมา ปีติดตามมาเสร็จ เป็นปัสสัทธิ ปัสสัทธิก็ผ่อนคลาย ทั้งกายใจปัสสัทธิ สุขมาละ สมาธิมา เพราะฉะนั้นปราโมทย์เป็นตัวมูลตัวที่หนึ่งนะ เอาละจิตใจเรานี่ปราโมทย์ก่อน พอมันปราโมทย์ตัวเองแล้วมันก็ดีต่อคนอื่นด้วยนะ เจอใครก็ยิ้มได้ แจ่มใส มันก็สร้างไมตรีได้ สร้างปฏิสันถารได้ มันดีหมดเลยสภาพจิตพื้นฐานพระพุทธเจ้าให้มีปราโมทย์ไว้
ทีนี้พอได้ปราโมทย์แล้วต่อไปอะไร ต่อไปก็ย้ำอีกที ฉันทะใช่ไหม ปราโมทย์ก็คือสภาพพื้นฐาน จิตเป็นปราโมทย์เป็นสภาพของมัน ทีนี้จะทำงานแล้ว คนเรามันต้องทำงานต้องมีกิจกรรม ตั้งแต่กิจกรรมในการคิดเลยใช่ไหม คิดก็เป็นกรรมแล้วนี่เป็นกิจกรรม พูด ทำ อะไรต่างๆ นี่ หมด ไอ้ตัวนี้มันจะไปได้ถ้าหากว่าไม่มีฉันทะนะไปละโมหะ ตัณหาอะไรต่ออะไรมาเป็นตัวขับละยุ่งเลย ท่านเลยให้ปูพื้นมีฉันทะเป็นพื้นใจขึ้นมาเป็นตัวมูลนะ ฉันทะเคยย้ำแล้ว ฉนฺทมูลกา สพฺเพ ธมฺมา –ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล พระพุทธเจ้าตรัสไว้อันนี้เป็นหลักสำคัญอย่างยิ่ง ธรรมะทั้งหลายไปถึงนิพพานไปไม่ได้ถ้าไม่มีฉันทะ ฉันทะเป็นมูล
ฉันทะคืออะไรล่ะ คือความปรารถนาที่เป็นกุศลใช่ไหม ความอยากนั่นเองแหละ คนไทยนี่มารังเกียจความอยาก ต้องกำราบคนไทย ขออภัย ไปทำให้เขว ไปบอกอยากไม่ได้ อยากเสียหมดเลย อยากมันมี ๒ อย่าง พระท่านแยกไว้ชัด ความอยากมี ๒ อย่าง มี ๑) ตัณหาปัตถนา๒) ฉันทปัตถนา ความอยาก ไอ้ปัตถนาก็ภาษาบาลีก็คือความอยาก ความอยากที่เป็นตัณหากับความอยากที่เป็นฉันทะ ฉันทะนี่แหละเป็นตัวมูลเป็นตัวราก จะเป็นพระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าไม่มีทางได้ถ้าไม่มีฉันทะโดยเฉพาะพระโพธิสัตว์นี่ต้องมีฉันทะแรงกล้า ฉันทะเป็นคุณสมบัติสำคัญของพระโพธิสัตว์ มีฉันทะแรงขนาดที่ว่าอยากจะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ คนเขาติดไฟอยู่นี่ต้องมีแรงขนาดที่ฝ่าเพลิงไปช่วยคนในไฟได้คนตกน้ำอยู่ที่ไกลต้องมีฉันทะแรงอยากจะช่วยให้คนนี่พ้นจากความทุกข์พ้นความตาย มีฉันทะแรงขนาดนั้น พอฉันทะเกิดมันจะตามมาด้วยวิริยะ คือความเพียรความเพียรก็ออกเลย เพียรพยายามที่จะว่ายน้ำไปช่วยคนนั้นให้พ้นทุกข์พ้นการจมน้ำให้ได้ นี่ฉันทะตัวนี้ต้องมี นี้ฉันทะเราต้องปลุกให้ได้นะ ตั้งแต่เด็กเกิดมานี่ถ้าปลุกตัวนี้ไม่ได้เมืองไทยไม่มีทางฟื้นเมืองไทยเวลานี้ขาดฉันทะอย่างยิ่ง อย่าว่าแต่ขาดเลยรู้จักก็ยังไม่รู้จัก ใช่ไหม เจริญพร เพราะฉะนั้นต้องเอาจริงนะ พระพุทธเจ้าย้ำไว้ขนาดไหนแล้วมองข้ามไปได้ยังไง ใช่ไหม ฉันทะอะไร เลิกพูดตัณหาไม่ต้องไปเกี่ยว พอฉันทะมาแล้วตัณหามันถูกดันไปเอง ฉันทะคืออะไรชื่นชม ความสะอาดหมดจดเรียบร้อย งดงามดีงามสดใสเต็มเปี่ยมเอี่ยมอ่องสมบูรณ์ อันนี้ก็คือชื่นชมมัน เห็นต้นไม้มีใบเขียวขจีมีดอกสวยงาม มีผลดกอะไรต่ออะไรใช่ไหม ก็ชื่นชมยินดีกับต้นไม้นี้แต่ถ้าเกิดว่าไอ้นี่น่าอร่อยดีจะกินมันคว้ามันอย่างนี้เรียกตัณหา คือจะเอาเพื่อตัว แต่ถ้าชื่นชมว่านี่มันดีเหลือเกินอยากให้ต้นไม้นี้งามอย่างนี้อยู่ต่อไป หรืองามยิ่งขึ้นไปอย่างนี้เรียกฉันทะ เห็นคนก็อยากให้เขาแข็งแรงสดชื่นเบิกบาน เห็นคนงามก็อยากให้เขางามอยู่อย่างนั้นอะไรอย่างนี้ อยากเห็นบ้านก็อยากให้พื้นมันสะอาดหมดจดเรียบร้อยอยากให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพที่ดีงามสมบูรณ์อะไรอย่างนี้ เรียกว่าฉันทะ เริ่มต้นก็ฉันทะก็ชื่นชม ชื่นชมความเรียบร้อยสะอาดหมดจดงดงามดีงาม เรียบร้อยอะไรที่ว่าเมื่อกี้นี้ ชื่นชมแล้วก็อยากให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็อยากทำให้มันเป็นอย่างนั้นถ้ามันไม่เป็นก็อยากทำให้มันเป็น เพราะฉะนั้นคนไหนร่างกายพิกลพิการอ่อนแอก็อยากทำให้มันแข็งแรงสมบูรณ์ใช่ไหม ไอ้อย่างนี้เรียกว่าฉันทะ
ท่านบอกไว้เสร็จฉันทะเป็นต้นกำเนิดสำหรับมนุษย์ก็ออกมาเป็นเมตตา เห็นคนอยู่เป็นปกติอยากให้เขามีสุขฉันทะนั่นแหละออกมาเป็นเมตตา ถ้าเห็นคนมีความทุกข์ฉันทะอยากให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นเรียกว่าเป็นกรุณา เห็นคนมีความสุขทำความสำเร็จแล้ว ฉันทะก็อยากให้เขาทำดีให้ยิ่งขึ้นไปอีก อันนี้ฉันทะตัวนี้เรียกว่ามุทิตา ทีนี้ฉันทะเห็นคนที่ทำอะไรผิดๆ พลาดๆ ไม่เป็นธรรมอะไรต่ออะไรนี่ทำแต่สิ่งที่เสียหายทำอาชญากรรม ก็อยากให้เขาเลิกละสิ่งที่เป็นความผิดเสียหายมาอยู่ในความถูกต้อง อยากให้เขามาอยู่ในความถูกต้อง อยากให้เขามาอยู่ในธรรมนั่นเอง พูดง่ายๆ อยากให้เขาทำอะไรให้ถูกธรรมอยู่ในธรรม อยากตัวนี้เรียกว่าอุเบกขา ไม่ใช่ไปเฉยไม่เอาเรื่องเอาราวนะ เพราะเราอยากให้เขาไม่ทำความผิด อยากให้เขาอยู่ในความถูกต้อง อยากให้เขาอยู่ในธรรมเราจึงต้องเฉยดู แล้วก็ปฏิบัติการต่างๆ เพื่อที่จะทำกับเขายังไงหรือจะให้เขาทำยังไง ตอนนี้ไม่ใช่ต้องทำให้เขาแล้ว ถ้าเมตตา กรุณา มุทิตา นี้ต้องทำให้เขา
เหมือนพ่อแม่นี่มีเมตตา กรุณา มุทิตา รักลูกอยากให้ลูกเจริญก็ทำให้เลี้ยงให้ทำให้เขาทั้งนั้นเลย ทีนี้ทำให้เขา เมตตา กรุณามุทิตา ไปๆ มันเอียง มันมีแต่ทำให้ลูกเสียคนเลย ทีนี้พออุเบกขาดูให้เขาทำ คราวนี้ละได้ความเลย เด็กจะพัฒนาเพราะเขาอุเบกขา อุเบกขาคือดูให้ลูกทำ แล้วก็เป็นที่ปรึกษาให้ลูกว่าลูกถามว่าจะทำยังไงอันนี้ถ้าพ่อแม่มีครบนะถ้าถึงอุเบกขาแล้วลูกเจริญแน่นอน ถ้าพ่อแม่อยู่ที่เมตตา กรุณา มุทิตา แย่มีหวังแย่ เพราะฉะนั้นนี่เดี๋ยวนี้ไม่รู้เรื่องอุเบกขา ไปนึกว่าเฉยไม่เอาเรื่องเอาราวเฉย เฉยดูนะท่านบอก เฉยดู อุเบกขา เฉยดูโดยมีปัญญาเพื่อให้เห็นความจริงถูกต้อง แล้วก็พิจารณาด้วยปัญญาว่าจะต้องทำอย่างไร ทีนี้แหละที่ว่าเมตตา กรุณา มุทิตา ทำให้เขาหมดพอถึงอุเบกขาดูให้เขาทำ ต่อไปลูกจะต้องเก่งอะไร จะต้องทำอะไรเป็น จะต้องรับผิดชอบอะไร ดูพร้อมไว้แล้วบอกให้ลูกทำ ใช่ไหม ดูให้เขาทำว่าเขาทำได้ไหม ต่อไปเขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ไหมเขาจะเก่งไหม มันก็ดูอยู่ที่อุเบกขานี้แหละ เอ้า เดี๋ยวจะนอกเรื่องไป
อันนี้ก็เรื่องฉันทะ เป็นว่าต้องมีฉันทะ เจริญพร ฉันทะก็คืออยากทำให้มันดี คือตัณหามันอยากเสพ อยากได้อยากเอาอยากเสพ แต่ฉันทะมันอยากทำ อยากทำให้มันดี อะไรมันยังไม่ดีทำให้มันดี นี่แหละตัวนี้เพราะงั้นอยากมันก็ไปถึงปฏิบัติด้วยที่จะไปนิพพานก็ไม่ปฏิบัติไม่ทำมันจะไปยังไง เพราะฉะนั้นฉันทะเป็นตัวสำคัญ มันก็มากับฉันทะมันก็มากับปราโมทย์ ตัวนี้คู่กัน คู่กันยังไง พอเห็นรมณีย์นะ เจริญพร ฉันทะก็ชื่นชมใช่ไหม ชื่นชมรมณีย์โอ้โหนี่มันสภาพแวดล้อมธรรมชาติต้นไม้ มันงามสมบูรณ์ดีแล้ว ชื่นชมด้วยฉันทะ ปราโมทย์จิตก็เกิด จิตก็ปราโมทย์ผ่องใสชื่นบานสดใส ฉันทะกับปราโมทย์มาด้วยกัน แล้วมันก็มากับรมณีย์ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าชุดรมณีย์เองน่ะมันมีฉันทะกับปราโมทย์อยู่ในใจคนนะ ถ้าหากว่ามันไม่มีฉันทะกับปราโมทย์ รมณีย์มันก็ไม่รู้จักใช่ไหม เจริญพรเพราะฉะนั้นที่มันรมณีย์ได้เพราะมันมีฉันทะกับปราโมทย์อยู่ในใจคน แล้วธรรมชาติมันก็รมณีย์ เพราะตัวข้างนอกมันอยู่ในสภาพที่ดีใช่ไหม มันเรียบร้อยสมบูรณ์ดีของมันจิตใจคนที่มันดีเป็นจิตใจที่สมบูรณ์มันก็มีฉันทะรับปราโมทย์เกิดขึ้น แล้วฉันทะปราโมทย์มันเป็นตัวไปทำให้ข้างนอกถ้ามันยังไม่รมณีย์ก็ทำให้รมณีย์ใช่ไหม เจริญพรเพราะฉะนั้นมันเข้าชุดกันเลย เพราะฉะนั้นฉันทะกับปราโมทย์นี่ตัวหลักสำคัญเลยนะที่จะมาทำให้รมณีย์อยู่ได้แล้วเกิดขึ้นมีอยู่ แล้วปราโมทย์มันไม่ขึ้นต่ออามิสใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เรานี้สร้างพื้นฐานของจิตที่จะมีสุขที่เป็นนิรามิสสุขที่ไม่ต้องอาศัยการเสพ มิฉะนั้นแล้วเราไม่มีจิตปราโมทย์นี้เราจะต้องไปอาศัยพึ่งพาหาความสุขจากสิ่งเสพ ถ้าไม่มีสิ่งเสพไม่มีสิ่งเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช่ไหม เสร็จเลย เรามีความสุขไม่ได้ เพราะจิตมันแย่ มันเป็นจิตที่อ่อนแอ
พอเรามีปราโมทย์แล้ว เอ๊ยมีก็ได้ กินก็ได้ ไม่ต้องอะไร ฉันมีความสุขอยู่ในตัว ปราโมทย์มันเป็นตัวที่พาเอาไปในทางของความสุขเป็นอิสระได้ง่ายเลยมีความสุขอยู่กับตัวเกิดเป็นอิสระ สุขที่ไปกินไปเสพเป็นแถม เราต้องเป็นอันนั้นถ้าเป็นชาวพุทธต้องมีความสุขจากการเสพนี่เป็นสุขแถม ไม่ใช่เราเป็นสุขไปขึ้นกับมันใช่ไหม เป็นสุขไม่เป็นอิสระ ต้องมีกินมีเสพทางตา หู จมูกลิ้น แล้วจึงจะมีสุขได้อย่างนี้ตายแน่ เพราะฉะนั้นสังคมที่มีสวรรค์เป็นแบบ มันก็เลยแย่อย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นมันจะสุขมากขึ้นมันก็ต้องกินๆ เสพมากขึ้นก็แย่งชิงกันก็ทำลายกันทุกข์มันก็เกิดขึ้นกับคนอื่นไปแย่งเขาทำร้ายเขา ตัวเองเขาก็ทำบ้าง ก็ทุกข์ มันก็ไปทำลายธรรมชาติอะไรวุ่นวายไปหมด มันก็ปัจจยาการปฏิจจสมุปบาทในทางร้ายก็เกิดขึ้น ก็เสียหมดน่ะ เพราะฉะนั้นพอเราเริ่มฉันทะปราโมทย์ใช่ไหมปัจจยาการทางดีมันก็เกิดขึ้น มันก็สร้างรมณีย์อะไรต่ออะไรมันก็ดีไปหมด เศรษฐกิจเป็นปัจจัยก็มาได้แล้ว ไปสู่สังคมรมณีย์ไปได้หมดแล้ว เอาแล้วนะ เจริญพร ฉันทะปราโมทย์นะเป็นตัวสำคัญรมณีย์ถ้าไม่มี๒ ตัวนี้ ยากจะหวังแล้วใช่ไหม สร้างเป็นพื้นจิตเลย เด็กเกิดมารีบทำซะ ให้เด็กมีฉันทะกับปราโมทย์ ถ้ามี ๒ อันนี้นะสบายได้แล้วมีหวัง พ้นทางเสื่อมเยอะเลย
เอาละทีนี้เดี๋ยวเวลามันน้อยต่อไปอันที่ ๓ ทีนี้ขออันที่ ๓ ชีวิตเราอยู่ด้วยอะไรนี่ โบราณเขาถือกันมาถึงกับเกิดลัทธิโยคะคนไทยก็พลอยไปนิยมตามอินเดียด้วยใช่ไหม มีการฝึกโยคะอะไรต่ออะไรกัน โยคะนี่ก็คือพวกคนสมัยเก่ารวมทั้งมาถึงพุทธศาสนาด้วยนะ มองเห็นลมปราณ ปราณ ปราณคือลมหายใจใช่ไหมเจริญพร เอาปราณคือลมหายใจนี้เป็นชีวิตเลยนะ ใช่ไหม ปาณาติบาต ปาณะตัวนั้น ลมปราณนะ ลมปาณะเป็นชีวิตเลย เรานี่หายใจขาดกี่นาทีไม่มีชีวิตแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นลมหายใจที่ออกซิเจนหรืออะไรก็แล้วแต่ลมปราณลมหายใจนี่เป็นชีวิตเราเลยนะ และเป็นตัวแหล่งต้นของพลังงานใช่ไหม พลังงานชีวิตคือลมหายใจ เพราะฉะนั้นคุณใช้ลมหายใจให้เป็น ไม่ใช่ว่าอาศัยลมหายใจมีชีวิตอย่างเดียว แล้วเราก็มองในแง่เจริญพัฒนาขึ้นว่าเราต้องให้มีออกซิเจนอากาศดีบริสุทธิ์ ก็ขยับไปขั้นหนึ่งใช่ไหม ได้อากาศดีก็ได้ทางวัตถุได้ทางรูปธรรม แต่ทีนี้ว่าจะหายใจอย่างไรเล่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจนี้สิใช่ไหม มันต้องได้ทั้งสองอย่าง ลมปราณลมปาณะลมหายใจที่เป็นเหมือนชีวิตของเรานี่ที่ขาดไม่ได้นี้ ใช้ให้เป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตด้านกายและด้านใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรมรูปธรรมก็อากาศดีบริสุทธิ์ออกซิเจนอะไรก็ว่าไปนะซึ่งตอนนี้ก็ย้ำกันก็ดีแล้ว ทีนี้ว่า อย่างลัทธิโยคะอย่างที่บอกเมื่อกี้นี่ โยคะนี่เขาเน้นอะไร หนึ่ง) เรื่องฝึกลมปราณการหายใจ สอง) ก็เรื่องท่าบริหาร อย่างฤาษีดัดตนอะไรพวกนี้ใช่ไหม อันนั้นเป็นเรื่องของการบริหารกายก็ว่าไป
แต่ว่าลมหายใจนี่พุทธศาสนานี่เน้นมาก พระพุทธเจ้าตรัสเลย อานาปานสตินี่แหละมาถึงลมหายใจ สติกำหนดลมหายใจ โยมจะบอกว่าเอาสตินี่นะสติมันมาเริ่มที่นี่เลย สติมาเริ่มที่ใช้กับลมหายใจของเรานี่แหละ พระพุทธเจ้าบอกว่า อานาปานสติคือสติ เราแปลกันตามแบบโบราณว่า สติกำหนดลมหายใจใช่ไหมลมหายใจยาว หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจเข้ายาวออกยาวก็รู้อย่างนั้นแหละ อย่างนี้ก็หมายความว่ามีสติอยู่กับลมหายใจใช่ไหม อันนี้หายใจอย่างสบายๆ ทีนี้พอเรามีสติ แล้วเราเห็นคุณค่าประโยชน์ของลมหายใจ แล้วเราหายใจอย่างสบายแล้วยาวให้พอเลย เอาละทีนี้มันจะได้ประโยชน์จากลมหายใจมากขึ้นแล้วก็จิตมันก็จะเกิดสภาวะที่มีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิได้ง่าย ทีนี้ท่านก็ให้ฝึก อย่างในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคตอนหนึ่งท่านบอกอย่างนี้นะเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว เราก็สบายใช่ไหม เพราะว่าลมหายใจมันเป็นชีวิตเรานี้ ตอนนี้เราได้ลมหายใจ แล้วก็เราหายใจในท่าที่สบาย ทีนี้ท่านก็เหมือนกับบอกว่าเราให้รู้เราตระหนักในคุณค่าประโยชน์ของลมหายใจนะ มันเกื้อกูลเป็นพลังงานชีวิตหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา แล้วเราหายใจด้วยฉันทะที่เห็นคุณค่าความดีงามของเจ้าลมหายใจนี้ พอหายใจด้วยความคิดความเข้าใจตระหนักคุณค่าอย่างนี้นะ ฉันทะมันเกิดขึ้น ฉันทะก็คือความพอใจใช่ไหม ก็คือชื่นชม ชื่นชมพอใจในการที่เราได้หายใจได้ลมหายใจอย่างดีอย่างพอสมควรเพียงพอ หายใจเรียกว่าหายใจด้วยฉันทะ พอหายใจด้วยฉันทะ มีฉันทะหายใจด้วยความพอใจมีฉันทะก็เกิดปราโมทย์ เพราะฉะนั้นแค่อยู่กับลมหายใจนี้ท่านก็จะพักผ่อนได้แล้วก็มีความสุขอยู่กับลมหายใจเท่านั้นเอง เพียงอยู่กับชีวิตของตัวเองที่มีลมหายใจแล้วก็หายใจให้ดี หายใจอย่างมีความสุข
อย่างเป็นคุณแม่นี่มีท้องอย่างนี้ก็นั่งทำอานาปานสตินะ หายใจเข้ายาว แล้วก็สติตามลมหายใจ หายใจด้วยฉันทะมีจิตปราโมทย์ จิตใจสดชื่นเบิกบานแจ่มใสหายใจเข้าชื่นบานหายใจออกชื่นบานสดใสมีปราโมทย์ ก็เรียกว่า หายใจเข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น โดยรู้ตระหนักด้วยฉันทะพอใจชื่นชม แล้วมีปราโมทย์อย่างนี้ นี่คือปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานเอาล่ะนะนี่คืออานาปานสติ เอาละ สติฝึกได้อย่างนี้เลย เจริญพร แล้วก็ใช้ลมหายใจ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นมูลอันหนึ่งนะ คือการปฏิบัติต่อลมหายใจให้ถูกต้อง
แล้วพอมันอยู่ในสภาพรมณีย์นะ การหายใจนี้ก็จะประสานกับรมณีย์ใช่ไหม ได้ลมหายใจที่ดีแล้วก็ทำให้ได้ปราโมทย์มีฉันทะผสานหมดเลยถูกไหม ฉันทะ ปราโมทย์ รมณีย์ อานาปานะ การหายใจ ชีวิตได้แค่นี้ก็สบายไปเยอะแยะพื้นฐานนี้ มนุษย์รมณีย์เตรียมเกิดได้แล้วนะ แล้วก็ต่อไปพอได้อานาปานสติใช่ไหม เป็นอันว่าใช้ลมหายใจอะไรนี้ให้ดีแล้วก็เป็นการเตือนตัวเราอยู่ด้วย ที่เราจะได้มีสติ
สตินี้เป็นตัวสำคัญมาก เวลาเราเกิดอะไรขึ้นมานี้ให้เตือนตัวเองแล้วหันมามีสติหายใจ อย่างคนเกิดความกลัวตระหนกตกใจ ไม่รู้ตัวว่าหายใจผิดปกติแล้ว บางคนหายใจแทบไม่หายใจเลยบางคนกลัวแล้วกลั้นหายใจเลย พอรู้ตัวมีสติก็หายใจซะ หายใจเข้ายาวออกยาวความกลัวนั้นก็เบา แล้วก็สติมา แล้วก็จะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นสติเสียไป หมดสติ กลายเป็นคนทำอะไรผิดพลาดไปหมดเลย โกรธขึ้นมาก็เหมือนกันนะ คนโกรธนี้ลมหายใจฟืดฟาดๆ หายใจผิดปกติ พอรู้ตัวนี่หายใจยาวๆ สบายๆความโกรธเองก็ลดลง แล้วมีสติเกิดขึ้นใช่ไหม ใช้ลมหายใจให้เป็นนะไม่ว่าโกรธว่ากลัวว่าอะไร ประหม่าอีกอย่าง คนประหม่าจะพูดประหม่าไม่รู้ตัวหรอกว่าจะหยุดหายใจแล้ว พอรู้ตัวหายใจซะหายใจยาวๆ เข้ายาวออกยาว ไอ้ความประหม่าจะค่อยๆ เบาหรือหายไปเลย แล้วก็จะทำอะไรมีสติขึ้น อันนั้นเอาอานาปานสติมาช่วย แล้วอยู่ไม่มีอะไรทำก็อานาปานสติสบายบอกว่าชาวพุทธนี่แค่อยู่กับตัวเองแค่มีลมหายใจก็มีความสุขได้แล้ว มีชีวิตที่ดี
เอาละก็เป็นอันว่าผสานกันหมดละนะ มีฉันทะ มีปราโมทย์ มีอานาปานสติ ก็มีรมณีย์ สภาพรมณีย์นี้ ก็มีรมณีย์แล้ว ทีนี้ก็ต่อไปอะไรต่อไปก็นี่แหละจะมาถึงสังคมแล้ว แต่ละคนมันได้อย่างนี้ก่อน ก่อนจะไปเป็นสังคมแต่ละคนมันต้องดีใช่ไหม เป็นสังคมดีแต่ละคนต้องดี ทีนี้เมื่อกี้บอกแล้วว่ารมณีย์น่ะ สุดยอดของรมณีย์ก็คือมนุสสรมณีย์ มนุสสรมณีย์ ตอนนี้ก็มาถึงแล้วก็คือว่า เรากำลังสร้างมนุษย์รมณีย์ขึ้นมา คือมนุษย์ที่มีความเป็นที่น่ารื่นรมย์ หมายความมนุษย์อย่างนี้เป็นคนที่มีคุณภาพอย่างนี้แล้วใครมาอยู่ด้วย ใครมาคบหา ใครมาใกล้ ใครมาเห็นอะไรนี่ ก็มีความรู้สึกสบาย มีความรื่นรมย์ มีความสดชื่นเบิกบาน มนุษย์หรือคนที่มีคุณสมบัติดีอย่างนี้นะเจริญพร พอว่าใครมาอยู่ใกล้...
เอาล่ะนะ เจริญพร ทีนี้ก็ว่าถึงมนุษย์รมณีย์ต่อก็คือคนนั้นแหละ ทีนี้แต่ละคนละคนเราสร้างคนให้เป็นมนุษย์รมณีย์เป็นคนที่ว่า เมื่อมีคุณภาพดีแล้วมันเป็นรมณีย์ในตัวเหมือนกับต้นไม้ที่มันสมบูรณ์ใช่ไหม สวยสดงดงามมันก็เป็นรมณีย์ ทีนี้คนที่เป็นรมณีย์มีคุณภาพ มันไม่มีภัยอันตรายแก่ใครแล้วแถมเป็นคนที่มีคุณประโยชน์อะไรนี้ ใครมาเห็นมาพบมันก็สดชื่นร่าเริงเบิกบานแจ่มใสสบายใจอะไรต่ออะไรนี้ก็เลยเป็นมนุษย์รมณีย์
ทีนี้เมื่อกี้บอกแล้วบอกว่าถึงจะมีสวนรมณีย์ ป่ารมณีย์ สระโบกขรณี รมณีย์อย่างเนรมิตอะไรต่ออะไรก็ไม่ได้เศษเสี้ยวของมนุษย์รมณีย์ก็สร้างมนุษย์รมณีย์ขึ้นมา มนุษย์รมณีย์ก็เมื่อกี้เราพูดไปแล้วก็แค่ได้พื้นฐานมีปราโมทย์ มีฉันทะ มีสติ ที่เริ่มด้วยลมหายใจ ใช้ลมหายใจในการที่จะทำให้ชีวิตอยู่ดี แล้วก็มีความสุขด้วยแล้วก็สภาพสิ่งทั้งหลายที่มันเป็นรมณีย์ก็เอารมณีย์นี้ขึ้น ทีนี้พอได้คนอย่างนั้นมาเป็นมนุษย์รมณีย์ ก็สร้างมนุษย์รมณีย์ก็คือคนที่มีคุณสมบัติที่ดี มนุษย์รมณีย์นี้ก็จะมารวมกันเป็นสังคมก็เป็นสังคมแห่งกัลยาณมิตรใช่ไหม นี่หลักนี้เป็นหลักพื้นฐานของพุทธศาสนา กัลป์ยาณมิตตตา เป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาเลย ความมีกัลยาณมิตร จะเรียกว่าความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันก็ได้ก็ท่านให้มีกัลยาณมิตรก็คือเราต้องสร้างสังคมที่คนเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน หรือเป็นสังคมที่มีกัลยาณมิตรนี้ให้ได้ ก็คือคนที่เป็นรมณีย์นี่จะเป็นประกอบกันขึ้นเป็นสังคมแห่งกัลยาณมิตร เป็นคนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย แล้วแต่ว่าไม่ใช่แค่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่มีแง่ลบแต่มีแง่บวกก็คือจะมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยเฉพาะทางแง่ความดีงามเกื้อกูลประโยชน์ความสุข แล้วก็ปัญญานี่สำคัญที่สุด ก็คือมาช่วยเกื้อหนุนกันทางปัญญา
กัลยาณมิตตตานี้หลักสำคัญก็คือ มันเป็นตัวที่ชักพาให้คน เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ พระพุทธเจ้านี้ตรัสว่าพระพุทธเจ้าเราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นกัลยาณมิตรก็คือพระองค์มาสอนทำให้คนเกิดปัญญาแล้วเขาก็จะพ้นทุกข์ไปนิพพานอะไรต่ออะไรได้ ปฏิบัติถูกปฏิบัติชอบ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรนี้มีความหมายมากถึงขั้นที่ว่ามีคนอย่างพระพุทธเจ้า ก็มีคนที่ดีทุกอย่างทุกระดับนั่นเองเพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างสังคมแบบนี้ขึ้น ทีนี้คนที่เป็นมนุษย์รมณีย์นั่นแหละจะไปเป็นกัลยาณมิตร ก็เท่ากับจุดตัวนี้ก็คือว่าตอนนี้จะมาถึงตอนที่จะรวมเป็นสังคมแล้ว ก็คือสร้างมนุษย์รมณีย์มีคุณสมบัติและมาเป็นกัลยาณมิตรกันแล้วก็มาประกอบเป็นสังคมที่เป็นรมณีย์
แล้วก็ตอนนี้อาตมาว่าเราไม่สามารถที่จะพูดไปถึงคุณธรรมอะไรต่ออะไรอีกที่จะมาสร้างมนุษย์รมณีย์ มันมีหลักเยอะแยะแล้วเราไปว่ากันเอง เช่นอย่างวินัยเป็นต้นวินัยนี้ก็เป็นเครื่องสำคัญนะ จะสร้างสังคมที่ดีนี่สังคมที่มันเป็นรมณีย์ได้ ไม่มีวินัย ทางพระเรียกว่าศีลน่ะมันไปไม่รอด ใช่ไหม แต่ทีนี้เราพูดถึงฉันทะแล้วถ้ามีฉันทะแล้ว ก็เลยในที่นี้มีเวลาน้อยก็ไม่ต้องพูดถึงวินัย เพราะถ้ามีฉันทะแล้ว วินัยมาได้ ฉันทะมันอยากให้ทุกอย่างดี เรียบร้อยสะอาดหมดจดงดงาม วินัยมาเองไม่ต้องกลัวเพราะฉะนั้นเราเน้นว่าวินัยสำคัญ คือศีล แต่ถ้าฉันทะมีแล้วเราก็ถือว่าเอาตัวฐานนั้นมา
แล้วก็ต่อไปทีนี้ในสังคมกัลยาณมิตรน่ะ แต่ละคนมันก็ต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ท่านเรียกว่าพึ่งตนได้นะ ไม่ใช่ว่ามันเป็นสังคมกัลยาณมิตรแล้วมีแต่คนช่วยทั้งนั้นเลย อย่างนั้นไม่ได้ความแล้วใช่ไหม มันต้องพึ่งตัวเองได้แต่ละคนนี้ แทนที่จะมุ่งไปพึ่งให้คนอื่นมาเป็นที่พึ่งคอยพึ่งเขาก็พึ่งตนเองได้ ท่านไม่ได้เอาแค่ว่าพึ่งตน จงพึ่งตนนะ แต่ท่านว่าจงมีตนที่พึ่งได้ ใช่ไหม ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ นั่นแหละเรียกว่า จึงเป็นผู้มีที่พึ่งที่เลิศประเสริฐสุดอย่าไปติดแค่จงพึ่งตน ไม่ใช่แค่จงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีตนที่พึ่งได้นะ ก่อนที่จะมีตนที่พึ่งได้ ก็คือต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตรงนี้แหละที่เป็นหลักสำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ว่า สมัยหนึ่งบางคนนี้เป็นนักพุทธศาสนานี้ไม่ให้ช่วยกัน มีเคยออกวิทยุเลยนะ เป็นดอกเตอร์ด้วย บอกพุทธศาสนานี้สอน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน คนก็ไปเจอกันก็เธอก็พึ่งตัวเองสิ ไปเห็นคนจนไปเห็นคนทำอะไรอ่อนแอก็บอกจงไปพึ่งตัวสิ ใช่ไหม อัตตา หิ อัตตโน นาโถ คนก็เลยไม่ต้องพึ่งกันสังคมอย่างนี้แย่ นี่ติเตียนพุทธศาสนาใช่ไหม เขาไม่เข้าใจ นี่มันหน้าที่ของตัวเรา ท่านบอกขั้นที่หนึ่ง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ที่จริงแล้ว หิ แปลว่าที่จริงแล้ว หิ จริงแล้วที่จริงแล้ว อัตตา ตนนี้แหละตัวนี้แหละ อัตตโน นาโถ เป็นที่พึ่งตนเอง ถูกไหม ที่จริงนั้น ตัวเองนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตนเอง เอาเข้าจริงแล้วในที่สุดตัวเองต้องเป็นที่พึ่งคนอื่นเป็นที่พึ่งไม่ได้ โก หิ นาโถ ปโร สิยา คนอื่นใครจะเป็นที่พึ่งได้จริงได้ จริงไหม อันนี้ท่านบอกความจริง ท่านไม่ได้บอกว่าเธอจงพึ่งตน ท่านบอกว่า ที่จริงนั้น หิ ตนนั้นแหละเป็นที่พึ่งของตน เธอไปตกน้ำถ้าเกิดไม่มีใครแล้วทำไง ตนเป็นที่พึ่งของตนเองใช่ไหม ตัวเป็นที่พึ่งตนเองทำไงได้ล่ะในที่สุดตกน้ำไม่มีคนอื่น คนอื่นมันเป็นที่พึ่งแท้จริงไม่ได้ มันจะตายพ่อแม่อยากจะช่วยแต่ว่าตามตลอดเวลาไม่ได้ใช่ไหมนะ ตนเป็นที่พึ่งของตน ปัญญา ไม่เรียนไม่รู้เขามาสอนมาสั่งมาช่วยยังไงมันก็ปัญญามันก็ไม่เกิดไม่คิดไม่ฟังไม่เอาใจใส่ มันคือในที่สุดตนเป็นที่พึ่งของตน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาสอนจงทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตรงนี้มันสำคัญ คำสอนที่แท้มันอยู่ที่นี่ จงทำตนให้เป็นที่พึ่งได้มีตนที่พึ่งได้นั้นแหละ มีตนที่ที่พึ่งได้แล้วนั่นแหละ มีที่พึ่งที่ประเสริฐสุด มีที่พึ่งที่ประเสริฐสุดใครจะมาเป็นที่พึ่งที่อะไรให้ประเสริฐไม่เท่ามีตนที่พึ่งได้ มีตนที่พึ่งได้นี้ โอ้เราเก่งเราทำอะไรได้หมดพึ่งตัวเองได้ มีตนที่พึ่งได้แล้วก็คือมีที่พึ่งอันประเสริฐ
เพราะฉะนั้นก็ต้องในที่สุดแต่ละคนนี้ต้องพึ่งตนได้ ก็มาเป็นสังคมกัลยาณมิตร อันนี้ก็เป็นที่ตัวที่จะพึ่งตนเองได้นี่ศัพท์สำคัญมีอันหนึ่งอันนี้เป็นตัวแกนนะ ท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิด รู้จักคิดเป็น คิดโดยแยบคาย มนสิการคือแยบคาย อันนี้จะมากับสติ ถ้าไม่มีสติ โยนิโสมนสิการมาไม่ได้ พอมีสติแล้วก็คิด คิด ตัวโยนิโสมนสิการไม่ใช่ปัญญาเป็นตัวทำงานของจิตที่ทำให้เกิดปัญญา โยนิโสมนสิการทำให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดปัญญาอะไร หนึ่ง) โยนิโสมนสิการ รู้จักคิด คิดเป็น ทำให้เกิดปัญญารู้ความจริงคิดสืบสาวเหตุปัจจัยอะไรเป็นมายังไง หาความจริงสืบสาวสืบค้น วิเคราะห์แยกแยะอันนี้เกิดจากอะไรประกอบด้วยอะไร จะประกอบขึ้นเอาอะไรอันนี้มาผสมอันนี้จะเกิดอะไรขึ้น อะไรอย่างนี้ ระบบสัมพันธ์สิ่งทั้งหลายมันเป็นยังไงกันอันนี้นี่ก็หนึ่ง คิด รู้จักคิดเป็น ให้เข้าถึงความจริงได้หนึ่ง สอง) คิดให้แก้ปัญหาได้ พอคิดค้นว่าอะไรเป็นอะไร เหตุปัจจัยมันเป็นยังไงๆ จะรู้จักคิดแก้ปัญหา แล้วคิดสร้างสรรค์ทำประโยชน์ได้คิดในทางที่ทำให้เกิดประโยชน์ คิดในทางทำให้เกิดประโยชน์ มันเริ่มเช่นว่า เห็นคนนั้น อย่างพยาบาลเห็นคนไข้มาหน้าบึ้ง พูดด้วยทักทายอุตส่าห์พูดอย่างอ่อนหวาน แหมแกมันพูดมาไม่ดีเลย เขาเรียกว่าเป็นมะนาวไม่มีน้ำ พยาบาลก็ชักโกรธเหมือนกันใช่ไหม ทำหน้าที่อย่างดีแล้วทำหน้าพูดอย่างอ่อนหวานแกก็พูดมาอย่างก้าวร้าวหรือว่าอะไรดุเดือดอะไรก็ไม่รู้ พูดคำไม่ไพเราะ มันน่าโกรธตอบ เกิดมีโยนิโสมนสิการ โอ้ คนนี้หน้าตาไม่ดีแล้วพูดไม่เพราะ เขาใจไม่ดีนี่ บางทีที่บ้านเขากำลังทุกข์มากนะเขากำลังคิดว่าเป็นโรคอะไรไม่รู้ ตัวเรานี้จะเป็นยังไง แล้วลูกเรานี้ เราจะเกิดหยุดไม่ได้ไปทำงานนี่ แล้วก็ลูกเราจะมีเงินส่งให้เรียนยังไง โอ้แย่แล้วนี่ คิดถึงลูก แค่นี้ก็ใจก็เป็นทุกข์ไม่สบายใจก็พูดไม่ดี พอพยาบาลคิดว่า เออ เขาอาจจะมีทุกข์มีเดือดร้อน คราวนี้แทนที่จะโกรธใช่ไหม ก็เกิดสงสารปลอบใจว่า ลุงไม่เป็นไรหรอกอย่าไปคิดอะไรมากนี้นะก็ว่าไปใช่ไหม อย่างนี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการเปลี่ยนสถานการณ์เลย พลิกสถานการณ์ร้ายเป็นดีนี่โยนิโสมนสิการ แล้วก็คิด เออสิ่งนี้มันไม่ดีอะไรนี้ คนอื่นดูไม่เป็น ไอ้สิ่งที่ไม่ดีอันนี้นะเอาไปใช้เป็นทำประโยชน์ได้ อย่างนี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ รู้จักคิด หนึ่ง) เข้าถึงความจริงได้ สอง) แก้ปัญหาได้ สาม) หาทางทำประโยชน์ได้ เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี ปรับสถานการณ์ได้หมด โยนิโสมนสิการนี้เป็นตัวแกนของคนต้องฝึกให้มีให้ได้ อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งในการที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ดีโดยที่มีมนุษย์ที่เป็นสมาชิกแต่ละคนที่ดี
อาตมาว่าวันนี้ก็พูดมาเยอะแล้ว คิดว่าคงเกินเวลา เพราะฉะนั้นเอาล่ะ มนุษย์รมณีย์นี่โยมไปคิดกันก็แล้วกันมันมีเยอะแยะแต่ได้แค่นี้อาตมาว่า มั่นใจได้นะ ว่าจะได้มนุษย์รมณีย์ แล้วก็จะสร้างสังคมรมณีย์ได้ แต่ก็เอาอย่างที่ว่าเป็นการย้ำ ว่าสวนโมกข์คิดนี่ ก้าวอีกขั้นหนึ่งแล้ว จากการอนุรักษ์รมณีย์ของธรรมชาติหรือของสิ่งแวดล้อม มาสู่การสร้างสังคมให้รมณีย์ ก็เลยจึงบอกว่า ก็คือการที่เราต้องมาชัดเจนกับตัวเอง ว่าเราจะเอาสังคมอุดมคติกันยังไง สังคมต้นแบบ จะเอาสังคมสวรรค์ เอาสวรรค์เป็นต้นแบบหรือเอานิพพานเป็นต้นแบบ ทีนี้ในที่นี้เราบอกว่าสังคมรมณีย์ก็คือสังคมที่เอานิพพานเป็นต้นแบบ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า สโม ภูมิภาโค รมณีโยติ โข ติสฺส นิพฺพานสฺเสตํ อธิวจนํ[vii] บอกว่า ภูมิภาค ถิ่นหรือดินแดน ที่เรียบรื่นรมณีย์นี้แหละเป็นชื่อของนิพพาน เป็นอันว่านิพพานเป็นรมณีย์ เป็นแดนรมณีย์ ก็เอาสังคมนี้จะเอานิพพานเป็นต้นแบบ ก็จึงเป็นสังคมรมณีย์แล้วก็สังคมรมณีย์จะเป็นรมณีย์ก็มีลักษณะที่ว่า วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สุข เกษม ศานต์ แล้วก็มีองค์ประกอบเช่น เศรษฐกิจเป็นปัจจัย เป็นเศรษฐกิจมัตตัญญุตา เป็นต้น
เอาละคิดว่าพอสมควร ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่าขออนุโมทนาทางสวนโมกข์กรุงเทพ ที่จะจัดงานสำคัญครั้งนี้ ก็เรียกว่าสวนโมกข์กรุงเทพ ๑๒ ปี เรียกชื่องานว่ายังไงนะสวนโมกข์กรุงเทพ ๑๒ ปีใช่ไหม ย้ำอีกทีสิ สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ ๑๒ ปี สวนโมกข์กรุงเทพ
เอาละนะ อันนี้ก็เป็นสวนโมกข์สังคมรมณีย์ manifesto เอาให้ได้นะ เจริญพร ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ง่ายนะ นี่สวนโมกข์เริ่มแล้วนะ ถ้าทำได้ยอดเยี่ยมเลย สังคมรมณีย์ สังคมที่เอานิพพานเป็นต้นแบบที่บอกแล้วว่าสวนโมกข์นั้นก็บอกชื่อนี้อยู่แล้วนะว่า สวนโมกข์ โมกข์นี้ก็บอกแล้วสวนโมกข์ โมกข์ ตัวนี้แปลว่าวิมุตติ โมกข์นี้เป็นไวพจน์ของคำว่าวิมุตติที่อยู่ในชื่อที่เป็นรมณีย์ของนิพพาน โมกข์ ความหลุดพ้นเป็นอิสระ ใช่ไหม แล้วโมกข์ตัวนี้แปลอีกอย่างว่า ประมุข แปลว่าหัวหน้า แปลว่ายอดเยี่ยม ได้ทั้งนั้น ก็สวนโมกข์สวนแห่งความเป็นอิสระหลุดพ้นก็ได้สวนที่เป็นยอดเยี่ยมสูงสุดเป็นประมุขหัวหน้าก็ได้ แล้วตอนนี้เป็นสวนโมกข์รมณีย์ ก็เป็นสวนนิพพานรมณีย์นั่นเองใช่ไหม เพราะว่าสวนโมกข์ก็คือสวนนิพพาน พอสวนนิพพานก็คือสวนนิพพานรมณีย์เพราะฉะนั้นสวนโมกข์ก็คือสวนนิพพานรมณีย์ ก็ต้องทำรมณีย์ให้ได้ แล้วก็ที่ว่านี้ก็ได้หมดแล้วกว่าจะได้สังคมรมณีย์นี่ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็ต้องรมณีย์หมดด้วย
เพราะฉะนั้นอาตมาก็ขออนุโมทนา ก็ขอให้ความมุ่งหวังจุดมุ่งหมายอันสำคัญดีงามอันประเสริฐนี้ ได้สัมฤทธิ์ผลด้วยความมีกุศลเจตนาอันเป็นพื้นฐานนี้ประกอบด้วยฉันทะและปราโมทย์เป็นต้นขอจงสัมฤทธิ์ผลสมความมุ่งมาดปรารถนาโดยสมประสงค์ทุกประการเทอญ
[i] https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=17&p=9
[ii] https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=17&A=2626
[iii] https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=23&A=2162
[iv] https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30&p=2
[v] https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=388&items=4
[vi] https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=25&A=8077
[vii] https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=17&A=2626










