การบรรยายในหัวข้อ “การภาวนาและภาวะวิกฤตทางจิตใจในปัจจุบัน” โดยท่านมินจูร์ รินโปเช
วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 เวลา 18.00-20.00 น. ณ สวนโมกข์ กรุงเทพ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ)
Public Talks “Meditation and Modern Mental Crisis” by Mingyur Rinpoche
Sep 25 (Mon) 18:00-20:00 At Suan Mokkh Bangkok (Buddhadasa Inthapanyo Archives-BIA), Bangkok, Thailand
. . . .
มิงยูร์ ริมโปเช (Mingyur Rinpoche) เป็นมู่ธรรมาจารย์สายทิเบต นอกเหนือจากความเป็นเลิศในสายปริยัติ ท่านยังผ่านการฝึกปฏิบัติมาอย่างเข้มข้น เริ่มเข้าจำศีลปลีกวิเวกสามปีตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี นอกจากนี้ยังสนใจเรียนรู้แนวคิดและทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง ทั้งทางด้านจิตวิทยา ฟิสิกส์ และจักรวาลวิทยา ธรรมบรรยายของท่านจึงมักหลอมรวมปรัชญาพุทธศาสนาสายทิเบตกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน ในแบบที่คนต่างสายความคิดและวัฒนธรรมเข้าถึงได้ และนำไปปฏิบัติได้หากต้องการ
มิงยูร์ ริมโปเช ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นธรรมาจารย์ทิเบตรุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงพุทธธรรมอันเก่าแก่ของทิเบตกับโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างน่ามหัศจรรย์ ในหนังสือ The Joy of Living: Unlocking the Secret & Science of Happiness (ชีวิตที่เบิกบาน ไขรหัสสู่ศาสตร์แห่งความสุข เขียนร่วมกับ อีริค สแวนสัน แปลโดย พินทุสร ติวุตานนท์) ที่เชื่อมโยงประสาทวิทยากับพุทธธรรมและการปฏิบัติสมาธิเข้าด้วยกัน ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2008 ยองเก มิงยูร์ ริมโปเชกล่าวว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการอธิบายพุทธธรรมให้คนตะวันตกเข้าใจ ตามความสนใจของท่าน
ยองเจ มิงยูร์ เกิดเมื่อปี 1975 ในเมืองนูบรี ประเทศเนปาล เป็นบุตรของตุลกู อูร์กเยน ริมโปเช ธรรมาจารย์สายปฏิบัติ เมื่ออายุได้สามขวบ ท่านถูกระบุตัวอย่างเป็นทางการว่าเป็นยองเจ มิงยูร์ รินโปเช ที่ 7 พุทธบัณฑิตสายกรรมฐานจากศตวรรษที่ 17 กลับชาติมาเกิด (ตามขนบพุทธทิเบต ธรรมาจารย์ผู้บรรลุความรู้แจ้งสูงสุดจะกลับมาเกิดใหม่เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น)
เมื่อไตสิตู ริมโปเช เจ้าอาวาสอารามเชรับลิงในอินเดีย ยอมอนุญาตให้ท่านเข้าจำศีลปลีกวิเวกสามปี ยองเจ มิงยูร์ถือเป็นหนึ่งในศิษย์อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์พุทธทิเบตที่เข้าฝึกปฏิบัติแบบเข้มข้นเช่นนั้น หลังออกจากการจำศีลปลีกวิเวก ท่านยังได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ดูแลการปลีกวิเวกครั้งต่อไปทันทีทั้งที่มีอายุเพียง 17 ปี ต่อมา ยองเจ มิงยูร์เข้าศึกษาพุทธธรรมที่วิทยาลัยสงฆ์ซองซาและเป็นครูสอนที่อารามเชรับลิงไปพร้อมกัน
ด้วยความสนใจในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่จุดประกายขึ้นจากการพูดคุยกับนักประสาทวิทยาชาวชิลี ฟรานซิสโก วาเรลา ผู้เป็นศิษย์ของบิดา ในปี 2000 มิงยูร์ ริมโปเชได้เข้าร่วมการประชุมของสถาบันจิตและชีวิต ที่จัดขึ้นที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย และที่สถาบันเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ในปี 2003
ในปี 2002 เมื่อมีการศึกษาทดลองที่ห้องปฏิบัติการไวส์แมน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มิงยูร์ ริมโปเชเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนามายาวนาน 8 คนที่เข้าร่วมการทดสอบตรวจวัดกิจกรรมทางไฟฟ้าในสมองด้วยเครื่อง fMRI (จับภาพการทำงาน ต่างจาก MRI ทั่วไปที่จับภาพเชิงกายวิภาค) และ EEG ริชาร์ด เดวิดสัน ผู้อำนวยการสถาบันทดลองไวส์แมน ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ไทม์ ถึงผลการทดสอบด้วยคำพูดที่ระมัดระวังว่า “มันน่าตื่นเต้น…เราไม่ได้คาดคิดว่าจะเห็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อเช่นนั้นเลย”
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ยองเจ มิงยูร์ ริมโปเช เดินทางแสดงธรรมไปทั่วโลก พร้อมกับดูแลกิจกรรมของอาราม Terger ในพุทธคยา ประเทศอินเดีย และ Terger Osel Ling ในกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล
หนังสือของท่านที่เขียนร่วมกับอีริค สแวนสัน ชื่อ ชีวิตที่เบิกบาน ไขรหัสสู่ศาสตร์แห่งความสุข (The Joy of Living – Unlocking the Secret & Science of Happiness) กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของ นิวยอร์ก ไทม์ส และมีลิสต์คำนิยมที่น่าประทับใจจาก โชเกียล รินโปเช ริชาร์ด เจ. เดวิดสัน ริชาร์ด เกียร์ รวมทั้ง ลู รีด อดีตนักร้องนักแต่งเพลงวง Velvet Underground
ขอบคุณข้อมูลจาก https://themomentum.co/interview-yongey-mingyur-rinpoche/
https://ngthai.com/cultures/14320/yongey_mingyur_rinpoche/