พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ณรงค์ เสมียนเพชร
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓
“คิดถึงท่านอาจารย์เหมือนกับเราคิดถึงพ่อแม่ ตอนมีทุกข์ก็ไปหาท่านอาจารย์ ก็มาอยู่ตรงนี้มีที่ที่พ่อตาให้แปลงหนึ่ง ๑๐ ไร่ (ฝั่งตรงข้ามกับสวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ก็ไปหาท่านอาจารย์บอกว่า อาจารย์ครับ ผมไม่ไหวแล้วจะมาอยู่ใกล้อาจารย์ ท่านก็ไม่ว่าอะไร ก็มาอยู่ตรงนี้ เพราะว่าพอมันเหนื่อย พอมันไปไม่ถูก พอมันเหนื่อยก็เดินเข้าวัด เห็นอาจารย์ เห็นต้นไม้ เห็นอะไร ก็กลับมาสบายใจขึ้น...
เคยคิดจะหนีไปต่างประเทศ ก็เกือบจะทิ้งลูกทิ้งเมียไปแล้ว ก็นึกถึงคำอาจารย์ อาจารย์บอกว่า “คนเรานี่ ถ้าอยู่แบบไม่รับความจริงมันอยู่ไม่ได้” ท่านสอนคนอื่นเขานะ ไม่ได้สอนผมหรอก เราฟังอยู่กับคนอื่น ท่านพูดกับคนอื่น ท่านบอกว่า “ให้ยอมรับความจริง ไม่นิ่งอยู่กับที่ มองโลกในแง่ดี มีชีวีทางสายกลาง”...เราก็นึกถึงความจริงวันนั้น ที่ท่านสอนคนอื่นเราก็อยู่ด้วย เราก็ได้เอามาปฏิบัติตัว คือจนแล้วมันก็ต้องจน ทำอะไรได้ ผมเป็นหนี้เขา เขามาเอาค่าหนี้มอเตอร์ไซค์ที่ผมส่งลูกไปโรงเรียน ผมขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ ผมก็ต้องให้มอเตอร์ไซค์เขาไป ผมเดิน ทำอะไรไม่ได้ เดินจะถึงชั่วโมงหนึ่ง ๓-๔ ชั่วโมง เราก็ต้องยอมรับ ผมก็ได้ธรรมะของท่าน” ณรงค์ เสมียนเพชร เจ้าของร้านอาหารเพื่อนเดินทาง และนายกพุทธสมาคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกเล่าความทรงจำที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ ในฐานะอดีตเด็กวัดผู้เคยติดตามและดูแลงานก่อสร้างภายในสวนโมกข์
ณรงค์ เสมียนเพชร กับหลักสูตรก่อสร้างในสวนโมกข์ไชยา
เหตุที่เกิดและเติบโตในจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งยังเป็นเด็กวัดชยาราม ภายใต้การปกครองของ พระครูสุธนธรรมสาร (ธน จนฺทโชโต) สหายธรรมของพุทธทาสภิกขุ อาจเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ ณรงค์ เสมียนเพชร มีโอกาสรับใช้กิจการในสวนโมกข์ ไชยา มาแต่ครั้งยังเด็ก จวบจนกระทั่งเมื่อเขาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนพุทธนิคม สวนโมกข์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยชีวิตที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่รักจากการลงมือปฏิบัติจริง
“ผมจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ จริงๆ แล้วหลังจากจบมัธยมอยากเรียนก่อสร้างอุเทนถวาย อยากเรียนมากเลย ชอบก่อสร้างเป็นอันดับหนึ่งของชีวิต ขณะเรียนอยู่วัดก็ชอบทำช่างไม้ แต่ว่าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเรียน เพราะว่าพ่อเป็นช่างไม้ตามหมู่บ้านเก่า บอกแม่ว่า แม่จะไปเรียนก่อสร้างนะแม่นะ แม่บอกอย่าไปเลย ถ้าไปเรียนก่อสร้างก็เหนื่อยเหมือนพ่อมึงนี่ล่ะ ก็เลยไม่เรียน บังเอิญพ่อเดินมาตลาดไชยาแวะที่วัดธารน้ำไหล เดิมทีลุงรู้จักอาจารย์พุทธทาสมาก่อนหน้านั้นสมัยเรียนหนังสืออยู่ อาจารย์พุทธทาสก็ถามพ่อว่า ลูกชายของพ่อที่อยู่วัดชยารามกับพระอาจารย์สุธนไปเรียนต่อที่ไหน พ่อก็บอกว่าไม่ได้เรียนต่ออยู่ที่บ้าน ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่า อย่างนั้นพามาอยู่กับเรา ผมก็เลยมาอยู่กับอาจารย์พุทธทาส”
ณรงค์ อธิบายถึงจุดเริ่มต้นการเรียนรู้และความรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการก่อสร้างภายในสวนโมกข์ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ใกล้ชิดกับภิกษุนามพุทธทาส ต่อไปว่า “หลังจากมาทำงานกับท่านอาจารย์พุทธทาส ครั้งแรกมาสร้างกุฏิที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์อยู่ หลังที่รับแขกเดี๋ยวนี้ ที่นั่นทำให้ผมได้ความคิด แต่ยังไม่เข้าใจว่าอาจารย์พูดธรรมะครั้งแรกกับผม
มีอยู่วันหนึ่งคนงานทั้งหมดหยุดหมด เหลือแต่ผมกับนายช่างสร้างตึก ๒ คน ฉาบปูนด้านทิศเหนือของอาคารอยู่ ฉาบที่สูงผมกำลังผสมปูนอยู่ยังไม่เสร็จเลย นายช่างที่อยู่ข้างบนให้ผมส่งไม้นั่งร้านขึ้นให้ ผมก็ไปส่งไม้นั่งร้าน พอผมส่งไม้นั่งร้านเสร็จท่านก็ขอน้ำ ผมก็ไปตักน้ำให้ พอขอน้ำได้น้ำเสร็จเขาก็ขอปูนที่จะฉาบ ผมผสมปูนยังไม่เสร็จ นึกออกไหมครับ เมื่อผมผสมปูนไม่เสร็จ เขาให้ผมไปส่งไม้ แล้วตักน้ำให้ แล้วเขาจะเอาปูนทันทีก็ไม่ได้ตามต้องการ เขาก็ด่าผมว่า ไอ้ห่า ผมร้องไห้ ในชีวิตผมที่เกิดมาไม่เคยมีใครด่าอย่างนี้...
“เราคิดมากร้องไห้ไปหาท่านอาจารย์ ยกมือไหว้แล้วบอกอาจารย์ครับผมกลับบ้านแล้วไม่ทำแล้วงาน “อ้าว...เป็นอะไรล่ะ” อาจารย์ถามอย่างนี้ ผมบอกนายช่างด่าผมครับ “อ้าวด่าเธอว่ายังไง” ด่าว่าไอ้ห่า “โอ๊ย...จะเจ็บอะไรไอ้ห่า กับเรามันยังด่าแม่เลย” นี่คือธรรมะข้อแรก ตั้งแต่มาทำครั้งนั้นเลย “โอ๊ย...ไอ้ห่านี่เจ็บไรหวา กับเรามันยังด่าแม่เลย
”อาจารย์เป็นบุคคลที่คนเคารพนับถือ ตอนนั้นยังไม่ทั่วประเทศ ใช้คำว่าทั่วอำเภอ ทั่วอำเภอรู้จักอาจารย์เคารพนอบน้อม แม้แต่พระผู้ใหญ่ก็ยังเคารพอาจารย์ ช่างคนนี้มันถึงขนาดนี้เชียวหรือ เราคิดอย่างนั้น แล้วเราจะอะไรไป ก็หายโกรธแล้วก็มาทำงานต่อ นี่คือสิ่งแรกที่เจอ ตอนนั้นอายุ ๑๗ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ มาทำงานครั้งแรก เราคิดว่านั่นล่ะท่านให้ธรรมะข้อแรก” นายกพุทธสมาคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกเล่าความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นความสามารถในการเผยแผ่ธรรมะชนิดที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวันตามแบบฉบับของพุทธทาสภิกขุ
“เอ้า...เงิน เธอทำงานดีเทียบเท่าช่างบางกอก”
อีกหนึ่งบทบาทที่สัมผัสได้ผ่านเรื่องเล่าในความทรงจำของผู้คนในท้องถิ่นเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาส นั่นคือความเป็นครูที่มีเมตตาต่อบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแล แม้บ่อยครั้งจะปราศจากคำชื่นชมออกจากปาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลที่หลายคนเรียกขานว่า “ท่านอาจารย์” จะไม่ได้ให้ความสนใจต่อผู้คนที่อยู่ใกล้ชิด และเมื่อถึงคราวที่บุคคลใดต้องการความช่วยเหลือ ท่านก็พร้อมที่จะสนับสนุนไปตามเหตุและปัจจัย
“หลังจากทำงานอยู่สักประมาณ ๒ ปี มีอยู่วันหนึ่งต้องไปส่งน้องสาวเรียนต่อที่เชียงใหม่ ผมก็ไปบอกท่านอาจารย์ว่า อาจารย์ครับ ผมต้องหยุดงานหลายวัน ท่านว่า “อ้าว...เธอจะไปไหนล่ะ” ผมบอก พาน้องสาวไปเชียงใหม่ ท่านบอก “วันไหนไปมาบอกเราอีกทีหนึ่ง” พอถึงเวลาผมก็ไปบอกท่านว่า อาจารย์ผมจะไปพรุ่งนี้ ท่านก็ขึ้นไปข้างบนถือซองยาวๆ มา ๒ ซอง อีกซองหนึ่งท่านทิ้งให้ ผมนั่งต่อหน้า ท่านโยนมาอย่างนี้ “เอ้า...เงิน เธอทำงานดีเทียบเท่าช่างบางกอก” กรุงเทพฯ ท่านเรียกบางกอก
ตอนนั้นวันหนึ่ง ๑๕ บาท ช่างบางกอกได้วันละ ๒๕ บาท ต่ำสุด ๒๕ บาท ท่านก็ใส่ให้อีก ๑๐ บาทเป็นปี ได้ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท ดีใจเกือบตาย ท่านบอก “เธอทำงานดีเทียบเท่าช่างบางกอกแล้ว เลยเก็บเงินไว้ให้ เราเก็บไว้ให้ทุกวันวันละ ๑๐ บาท” นี่คือการทำงานของท่าน โดยผมไม่รู้ตัวหรอก แล้วท่านก็บอกว่า “เอ้า...เงินนี้เธออย่าเอาไปใช้อื่นนะ ให้น้องได้เรียนหนังสือ” บางมิติของพุทธทาสภิกขุที่อาจตกหล่นจากสื่อธรรมปรากฏผ่านรอยยิ้มและคราบน้ำตาของ ณรงค์
นายกพุทธสมาคมจังหวัดสุราษฎรานี เล่าถึงช่วงเวลาการเรียนรู้งานก่อสร้างภายในสวนโมกข์ ต่อไปว่า “ตอนหลังท่านเรียกไปพบ ท่านบอกว่า เธอนี่ทำงานเป็นแล้ว” ใช้คำว่า เป็น ท่านบอกว่า “เธอทำงานเป็นแล้ว ก่อสร้าง ตอนนี้เราจะหัดให้เป็นผู้รับเหมา” ตอนแรกรับเหมาค่าแรงก่อน บ้านรับรอง หลังใหญ่ที่พอขึ้นทางโรงครัว (ภายในสวนโมกข์ ไชยา) อยู่ขวามือ เขียนกับปูนฉาบว่าบ้านรับรอง หลังนั้นหลังแรก ก็ไปทำ ท่านตีราคาให้เสร็จ ผมไม่ถามเรื่องขาดทุนกำไร ผมชอบนี่ ผมชอบทำ ข้าวก็ข้าววัด นอนก็นอนวัด ขาดทุนอะไร ก็มีลูกน้อง ๓-๔ คนก็ทำกัน ท่านบอกให้ทำ ทำอะไรทำได้หมดทั้งที่ไม่เคยทำ
หลังจากทำได้ ๒ หลัง ท่านก็เรียกไปพบอีก “ทีนี้ให้เป็นผู้รับเหมาเต็มตัวแล้วนะ” ทำทั้งหลังเลย ทั้งของทั้งอะไรเสร็จ แต่ทั้งหมดท่านตีราคาให้เอง เราก็ทำ คิดอย่างเดียวว่าไม่ขาดทุน กินนอนในวัด เราก็ไม่รู้ว่าบ้านใคร แต่ท่านบอก “ทำระวังหน่อยนี่เป็นบ้านผู้ใหญ่นะ” ท่านว่าอย่างนี้นะ บ้านผู้ใหญ่ อยู่ข้างบนค่ายลูกเสือ ขึ้นไปทำ ๒๗,๐๐๐ บาท ท่านตีราคาให้สมัยนั้น เราไปทำตาม...ผลสุดท้ายเวลาเจ้าของบ้านมาท่านให้ไปรับที่ตลาดไชยา ผมก็ไม่รู้ว่าใคร ท่านให้ไปรับ พอผมไปรับที่ไหนได้ เป็นอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ บ้านสุญญตาที่ข้างบนนั่นล่ะ...
“ผมทำงานในวัดพูดได้เต็มปากว่า ยุคนั้นที่ทำงานปูน ทำตึก ไม่มีใครเกินผม คือวิชาที่ได้จากในวัด บังเอิญช่างที่ พันเอกสาลี่ ปาละกูล พามา นายสุรเดช จันทร์เรือง ท่านจบก่อสร้างมา กลับบ้านก็เอาหนังสือเรียนก่อสร้างด้วยตนเองมาให้ผมอ่าน ผมก็มีความสนิท ท่านรักผมมาก คือผมเป็นลูกศิษย์เขา ทำได้ทุกอย่าง ท่านก็ซื้อหนังสือตำรามาให้อ่าน เพื่อให้อ่านด้วยตนเอง จำได้ว่าแบบก่อสร้างด้วยตนเอง อ่านเองก่อสร้างเอง” ณรงค์ อธิบายถึงเส้นทางการเติบโตในสายงานก่อสร้างผ่านการเรียนรู้ในสวนโมกข์
“เธอทำก่อสร้าง จอบ พลั่ว ทุ่ง บุ้งกี๋ ต้องกตัญญู...”
หลังเรียนรู้งานก่อสร้างภายในสวนโมกข์อยู่หลายปี ณรงค์ เสมียนเพชร ก็ตัดสินใจที่จะนำวิชาความรู้ที่ได้รับจากการสนับสนุนของพุทธทาสภิกขุ ออกไปใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างจริงจัง “คนเราทุกคนล่ะ นักมวยอะไรก็แล้วแต่ ถ้าชกเก่งอยากเป็นแชมป์ เราก็เหมือนกันวิชามันร้อน อยากออกไปข้างนอก แต่ด้วยเกรงใจอาจารย์ไม่กล้าออก บังเอิญมีศึกษาธิการอำเภอไชยาสมัยนั้นมาดูว่าเราทำได้แน่นอน ทำงานแน่นอน ก็อยากให้เราออกไปข้างนอก ผมบอกผมไม่กล้าไป แกมา ๓-๔ ครั้ง เรียกไป ผมตัดสินใจผมก็อยากออกอยู่แล้วล่ะ อยากออกไปข้างนอกแต่ว่าไม่กล้า กลัวอาจารย์
สุดท้ายจำเป็นต้องเข้าไปหาอาจารย์ เข้าไปถึงก้มกราบ ผมบอกอาจารย์ครับ ผมอยากไปทำงานข้างนอกสักพัก “ไปสิ” ท่านไม่พูดอะไรเลยบอกว่า “ไป...ข้างนอกมันสนุกกว่าในวัดนะ” บอกกับผมอย่างนี้นะ “เธออยู่กับเรานาน คนอย่างเธอไม่มีธรรมะอะไรหรอก” ท่านว่าผมอย่างนี้นะ ก็จริงของท่านนั่นล่ะ “ไม่มีธรรมะหรอก แต่ไม่เสียทีอยู่กับเรานาน เอาไปสักอย่าง เอากตัญญูกตเวที เพื่อเอาตัวรอด ความกตัญญูกตเวทีไม่ใช่ใช้เฉพาะสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องกตัญญู เธอทำงานก่อสร้าง จอบ พลั่ว ถังปูน” ภาษาใต้เรียกทุ่ง ถังหิ้วปูน ภาษาใต้เรียกว่า ทุ่ง (พูดเป็นสำเนียงภาคใต้) “เธออยู่กับเรานาน ต้องกตัญญู เธอทำก่อสร้าง จอบ พลั่ว ทุ่ง บุ้งกี๋ ต้องกตัญญู ถ้าไม่กตัญญูเธอซื้อตายล่ะ” นั่นล่ะท่านสอนอย่างนั้น” ณรงค์ เล่าถึงข้อคิดที่พุทธทาสภิกขุได้มอบให้ในวันที่เขาตัดสินใจรับงานนอกรั้วสวนโมกข์
“คนเรานี่ ถ้าอยู่แบบไม่รับความจริงมันอยู่ไม่ได้”
เมื่อชีวิตจริงไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ อาชีพรับเหมาก่อสร้างกว่า ๒ ทศวรรษ ทำให้ ณรงค์ ต้องประสบกับภาวะหนี้สินถึง ๔๐ ล้านบาท และจบลงด้วยคำตัดสินล้มละลาย และเป็นเหตุผลที่ธรรมะของพุทธทาสภิกขุได้เรียกเขาให้กลับคืนสู่สวนโมกข์อีกครั้ง ณรงค์ เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า “ก็คิดถึงท่านอาจารย์เหมือนกับเราคิดถึงพ่อแม่ ตอนมีทุกข์ก็ไปหาท่านอาจารย์ ก็มาอยู่ตรงนี้มีที่ที่พ่อตาให้แปลงหนึ่ง ๑๐ ไร่ (ฝั่งตรงข้ามกับสวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ก็ไปหาท่านอาจารย์บอกว่า อาจารย์ครับ ผมไม่ไหวแล้วจะมาอยู่ใกล้อาจารย์ ท่านก็ไม่ว่าอะไร ก็มาอยู่ตรงนี้ เพราะว่าพอมันเหนื่อย พอมันไปไม่ถูก พอมันเหนื่อยก็เดินเข้าวัด เห็นอาจารย์ เห็นต้นไม้ เห็นอะไร ก็กลับมาสบายใจขึ้น...
เคยคิดจะหนีไปต่างประเทศ ก็เกือบจะทิ้งลูกทิ้งเมียไปแล้ว ก็นึกถึงคำอาจารย์ อาจารย์บอกว่า “คนเรานี่ ถ้าอยู่แบบไม่รับความจริงมันอยู่ไม่ได้” ท่านสอนคนอื่นเขานะ ไม่ได้สอนผมหรอก เราฟังอยู่กับคนอื่น ท่านพูดกับคนอื่น ท่านบอกว่า “ให้ยอมรับความจริง ไม่นิ่งอยู่กับที่ มองโลกในแง่ดี มีชีวีทางสายกลาง”...เราก็นึกถึงความจริงวันนั้น ที่ท่านสอนคนอื่นเราก็อยู่ด้วย เราก็ได้เอามาปฏิบัติตัว คือจนแล้วมันก็ต้องจน ทำอะไรได้ ผมเป็นหนี้เขา เขามาเอาค่าหนี้มอเตอร์ไซค์ที่ผมส่งลูกไปโรงเรียน ผมขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ ผมก็ต้องให้มอเตอร์ไซค์เขาไป ผมเดิน ทำอะไรไม่ได้ เดินจะถึงชั่วโมงหนึ่ง ๓-๔ ชั่วโมง เราก็ต้องยอมรับ ผมก็ได้ธรรมะของท่าน...
“ผมคิดว่าโดยส่วนตัวผมจริงๆ แล้ว ถ้าผมไม่ได้ใกล้ชิดกับพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ ผมคงเอาตัวไม่รอด เราไม่มีอะไรสักอย่าง เพื่อนมีหม้อข้าวหม้อแกงหลายๆ ลูก เรามีหม้อข้าวหม้อแกง ๒ ลูกเราก็อยู่ได้ในชีวิตครอบครัว เพื่อนมีหม้อแกงจืด แกงเผ็ด แกงผัด เรามี ๒ ลูก หม้อข้าวกับหม้อแกงเราก็อยู่ได้ ทำให้เราอยู่ได้ นี่คือเรายอมรับความจริง ไม่นิ่งอยู่กับที่ หมายความว่าไม่ใช่เราไปโวยวาย ไประราน ไปลักขโมย เราก็คิดไปในทางที่ดีคิดเอาตัวรอด โชคดีที่ผมไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่อยู่วัดมานานสิ่งที่ได้จาก อาจารย์ที่วัดที่อยู่ตอนเด็ก ถ้าใครไปสูบบุหรี่เขาไล่ออกจากวัด เราเลยได้ตัวนั้นมา พอยิ่งมาอยู่กับอาจารย์พุทธทาสท่านก็ไม่สนับสนุนเรื่องอย่างนี้ เราก็เลยรอดตัวไป
ผลสุดท้ายก็ใช้ธรรมะ คือตอนนี้เราเริ่มรู้แล้วว่าธรรมะคืออะไรเรารู้ว่าธรรมะนี่มาสอนให้เราใช้หนี้ ๔๐ ล้านหมด เขาให้เวลา ๕ ปี เราทำ ๔ ปีกว่าก็หลุดภาระ สิ่งที่เราได้ทั้งที่เราไม่รู้ตัว ดูพระเดชพระคุณท่านอาจารย์สอนคนอื่น เราก็จำ ตอนนั้นเราไม่คิดอะไรหรอก แต่ว่าพอมาประสบปัญหากับตัวเอง สิ่งนี้คือใช่ ถ้าไม่อยู่ใกล้ชิดท่านก็คงเอาตัวไม่รอด” ณรงค์ ย้อนความทรงจำถึงช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ โดยมีธรรมะจากพุทธทาสภิกขุเป็นเครื่องปลอบประโลม
ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยยังคงตีความธรรมะไปในทางสิ่งฟุ่มเฟือยที่อยู่นอกเหนือชีวิตประจำวันตามจริตวัตถุนิยม ประสบการณ์ของ ณรงค์ เสมียนเพชร เกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ ไม่ว่าจะเป็นการวางเฉยต่อคำด่า การกตัญญูต่อสรรพสิ่งแม้กระทั่งเครื่องมือประกอบอาชีพ ตลอดจนการยอมรับความจริง กลับทำให้เรามองเห็นแง่งามของธรรมะที่โดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้แยกขาดจากชีวิตประจำวัน และการมีชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยธรรมะก็ไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ หากแต่เป็นเรื่องของชีวิตที่ควรอยู่รอดได้อย่างเรียบง่ายอย่างคนที่ “ยอมรับความจริง ไม่นิ่งอยู่กับที่ มองโลกในแง่ดี มีชีวีทางสายกลาง"