๙ วัน ๙ เรื่อง ก้าวสู่ความเป็นพุทธทาส
ภิกษุเงื่อม เพื่อน และการ Add Friend (เรื่องที่ (๖/๙)
แม้ทาง social ภิกษุเงื่อมจะ distancing ไปอยู่ป่าตามลำพัง ทั้งยัง work from forest แต่การงานและความสัมพันธ์ต่อสังคมก็มิได้หย่อน ผลิตงานหนังสือ หนังสือพิมพ์ บทความ จุดชนวนให้สังคมหันมาสนใจพุทธศาสนาชั้นลึกได้เกินคาด มีผู้ตามอ่านและขอ add friend มาทั้งทางจดหมาย เดินทางมาหา กระทั่งขอมาปฏิบัติด้วยเพิ่มขึ้นๆ
วันนี้เราจะมาดูบรรยากาศป่าตระพังจิกหลังพ้นผ่าน ๒ ปีแห่งการอยู่คนเดียว ปีที่สามเป็นอย่างไร
เพื่อนคนแรก
"ในปีที่สาม ฉันเริ่มมีเพื่อนที่อยู่ร่วมจำพรรษาด้วยหนึ่งรูป ชื่อ ไหม ฉายา สาสนปโชโต นามสกุล ทุมสท้าน เป็นชาวภาคอีสาน จังหวัดชัยภูมิ"
"เมื่อมาอยู่สวนโมกข์ได้เดินเท้าธุดงค์มาตลอดทาง มีความเข้มแข็งอดทนผิดคนธรรมดา ซื่อตรง เปิดเผย เหมาะสมแก่การเป็นนักปฏิบัติธรรมทุกประการ"
"ไม่เป็นเปรียญ ไม่เป็นนักธรรมเอก แต่ฉันรับเอาไว้เป็นพิเศษด้วยความเลื่อมใส และปรากฏว่าทุกคนก็เลื่อมใส และทำให้ฉันเข้าใจได้ดีในข้อที่ว่า พวกที่รอบรู้กระทั่งจบพระไตรปิฎกในกาลก่อนๆ กลับมาเลื่อมใสในพระบางรูปที่ไม่มีความรู้ปริยัติเลยนั้น หมายความว่าอย่างไรกัน"
"คนพวกนี้มึนชาต่ออารมณ์สม่ำเสมอ ตรงและจริงทุกประการ เมื่อมีภูมิทางปริยัติน้อยก็ขยันศึกษาไต่ถาม อดทนต่อคำสั่งสอน นานเข้ารู้อะไรที่ต้องการอย่างพอตัวเหมือนกัน สงบเสงี่ยมไม่พูดหรือพูดน้อย เทศน์ไม่เป็น แต่น่าฟังมากที่สุด ยิ่งอยู่ด้วยกันนานยิ่งเห็นว่ามีศีลเป็นที่ไว้ใจ ซึ่งทำให้นึกว่าคุณธรรมชนิดนี้เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วแม้สำหรับที่จะให้เทวดาบูชา
"ฉันเองรู้สึกว่า มีคนชนิดนี้เพียงคนเดียวก็พอแล้วสำหรับสวนโมกข์ ที่จะมีนามว่าเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ทำให้นึกต่อไปว่าเป็นโชคดีมากที่พอมีเพื่อนเป็นคนแรก ก็เป็นที่พอใจถึงเพียงนี้"
การรับเพื่อนสู่สำนักฯ
"ข้อที่ท่านกล่าวไว้ว่าต้องอยู่ร่วมกันนานๆ จึงจะรู้ว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ นั้นเป็นความจริงยิ่งนัก"
"และอันนี้เองเป็นความยุ่งยากลำบากสำหรับการวางกฎเกณฑ์และการตัดสินใจว่าควรรับไว้เป็นพิเศษหรือไม่ ฉะนั้นถ้าทำได้และเป็นทางดีที่สุดก็จงเลือกรับแต่ผู้ที่เคยพบเคยเห็นกันมานานแล้ว หรือเป็นศิษย์ที่เติบโตขึ้นมาในสำนักของตนเอง หรือของเพื่อนฝูงที่ไว้ใจได้ในความคิดความเห็น"
"แต่ถ้าไม่ต้องการบุญกุศลอันกว้างขวาง ฉันขอแนะนำว่า มีเพื่อนดีๆ สัก ๓-๔ คน ก็พอแล้ว สำหรับที่จะหาความสุขกันไปจนตาย ไม่ต้องเปิดรับใครที่ไหน"
"ในปีต่อๆ มา มีภิกษุและสามเณรมาขออยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คราวละรูปสองรูป บางปีอยู่จำพรรษากันตั้ง ๑๐ รูป บางรูปที่มารู้สึกว่าท่านได้รับผลเป็นที่พอใจ เป็นกัลยาณมิตรที่ดี, มีบางรูปตรงกันข้าม กลับออกไปป่าวข่าวอกุศล"
"เมื่อมีปัญหาเช่นว่า เท่าไรเรียกว่าสันโดษหรือเลี้ยงง่าย ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นตรงกันว่ากินอยู่อย่างต่ำคือการเลี้ยงง่าย แต่บางพวกเห็นว่านั่นแร้นแค้นรุนแรง เป็นอัตตกิลมถานุโยค"
เรื่องนานาจิตตังนี้ ท่านเล่าตัวอย่างไว้พอควร เช่น "บางพวกก็ถือเคร่งไปในทางตามตัวหนังสือ ใครไม่ทำก็ตั้งข้อรังเกียจ, พวกที่ตรงกันข้ามก็คิดว่าพวกนั้นครึไป, แต่ก็มีอีกพวก ซึ่งเป็นส่วนมาก เอาใจใส่แต่เรื่องของตัว เห็นการที่ถือยิ่งหย่อนกว่ากันบ้างนั้นเป็นของส่วนตัว ไม่รังเกียจฝ่ายไหนทั้งหมด เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ซึ่งนับได้ว่าเป็น นักปฏิบัติธรรมแท้"
"ภิกษุเงื่อมแนะนำไว้ว่า "เมื่ออยู่ในสถานที่เช่นนี้ ในส่วนตัวจะต้องขยันคิดนึกศึกษา ในส่วนการสมาคมต้องมีใจกว้างพอที่จะไม่รังเกียจผู้ที่มีอะไรไม่ลงรอยกับตน และในส่วนการสั่งสอนผู้อื่นให้พยายามทำตามความสามารถ บริสุทธิ์ตรงไปตรงมาจริงๆ โดยไม่เห็นแก่ของตอบแทน
"เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมก็ก้าวหน้า และศาสนาจะรุ่งเรืองโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไรของมหาชนหรือชาติประเทศมากมายนัก"
ความสัมพันธ์ และการเผชิญกับความนานาจิตตังนี้สากลเหลือเกิน เราอาจพบความลงตัว-ไม่ลงตัว, like-unlike, add friend - unfriend ฯลฯ ได้เสมอกัน
หากหันซ้ายแลขวาหากัลยาณมิตรไม่พบ ฉันคิดว่าเราน่าจะเริ่มจาก `ส่องกระจก' และทำคนในกระจกคนนั้นให้เป็นกัลยาณมิตรของใครสักคน บางทีคนด้านซ้ายด้านขวาเมื่อครู่ ก็อาจกำลังหาอยู่เหมือนเรา
อ้างอิง : สิบปีในสวนโมกข์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา