พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ เดโช สวนานนท์
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
“พุทธทาส...นามนี้แหละครับที่เป็นจิตวิญญาณของเมืองไชยา”
ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/IzAGleGEpwQ
“...ปกติเราลูกศิษย์วัดก็เรียกว่า อาจารย์มหา เนื่องจากทางธรรมะท่าน (พุทธทาสภิกขุ) จบเปรียญ ๓ ประโยค ก็เรียกมหาเงื่อมกัน ตอนหลังท่านก็เป็นเจ้าคุณ ก็เรียกเจ้าคุณพุทธทาส แต่ฉายาท่านที่ติดตาตรึงใจแล้วก็จดจำได้ก็คือ พุทธทาส แล้วก็นามนี้แหละครับที่เป็นจิตวิญญาณของเมืองไชยา เป็นคนที่คนไชยากลัวครับ ไม่ใช่เคารพอย่างเดียวนะ กลัว แล้วก็เข้าถึงท่าน แล้วก็เข้าใจ ฟัง ท่านสั่งก็ไม่ต้องสงสัย ทุกคนก็เชื่อฟังทุกอย่าง แล้วท่านเข้าถึงคนตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตของท่าน...” เดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ย้อนความหลังในฐานะเด็กวัดพระบรมธาตุไชยา ที่ทำให้นามของ ‘พุทธทาสภิกขุ’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ
“พุทธทาส นามนี้แหละครับที่เป็นจิตวิญญาณของเมืองไชยา”
ความสะดวกของเส้นทางการคมนาคมในศตวรรษที่ ๒๑ อาจลบภาพเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่แสนห่างไกลไปจากความทรงจำ แต่หากใครมีโอกาสอ่านและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไชยาเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน เราจะพบข้อมูลที่ค่อนข้างตรงกันว่า การเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองไชยาใช่ว่าจะเป็นไปได้ง่ายนัก สวนโมกขพลารามที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยภิกษุหนุ่มนามพุทธทาส จึงเปรียบเสมือนดินแดนอีกซีกโลกที่ผู้คนจากทั่วสารทิศจำต้องใช้ความอุตสาหะในการเดินทางไปถึง
เดโช สวนานนท์ บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับเมืองไชยาในฐานะบ้านเกิดของเขาว่า “เมืองไชยาเป็นเมืองที่มันไม่พัฒนาตามสมัยสักเท่าไหร่ ยังรักษาสภาพความเก่าแก่ของเมือง บ้านผมเป็นเรือนไม้ บ้านเกิดเป็นเรือนไม้อยู่ที่ริมทางรถไฟ ข้างหลังก็เป็นหนองน้ำ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ครับ เขารักษาไว้อย่างดี เป็นห้องแถว ตัวตึกอาคารไม่มีปูนซีเมนต์หรอก ไม่เหมือนตึกรามบ้านช่องของประเทศที่เขาพัฒนากันไปตามสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นก็ยังคงรักษาสภาพความเป็นเมืองเก่าที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ทีเดียวครับ”
เขาเล่าต่อไปว่า “ผมอายุ ๓ ขวบก็เข้าวัด บังเอิญว่าพี่ชายของผู้เป็นแม่ของผม เป็นสมภารวัด เป็นพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม นามธมฺโม) นามของท่าน คอยดูแลรักษาวัดเป็นนักพัฒนา เป็นผู้เริ่มต้นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เก็บรวบรวมโบราณวัตถุอะไรต่างๆ เป็นสหายธรรมของอาจารย์พุทธทาส ซึ่งตอนนั้นท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) ปกติเราลูกศิษย์วัดก็เรียกว่า อาจารย์มหา เนื่องจากทางธรรมะท่านจบเปรียญ ๓ ประโยค ก็เรียกมหาเงื่อมกัน ตอนหลังท่านก็เป็นเจ้าคุณ ก็เรียกเจ้าคุณพุทธทาส แต่ฉายาท่านที่ติดตาตรึงใจแล้วก็จดจำได้ก็คือ พุทธทาส แล้วก็นามนี้แหละครับที่เป็นจิตวิญญาณของเมืองไชยา เป็นคนที่คนไชยากลัวครับ ไม่ใช่เคารพอย่างเดียวนะ กลัว แล้วก็เข้าถึงท่าน แล้วก็เข้าใจ ฟัง ท่านสั่งก็ไม่ต้องสงสัย ทุกคนก็เชื่อฟังทุกอย่าง แล้วท่านเข้าถึงคนตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตของท่าน”
วัยเด็กในสวนโมกข์ และโรงเรียนพุทธนิคม
อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงชีวิตในวัยเด็กที่ทำให้เขาได้เข้าไปเป็นสวนหนึ่งของสวนโมกข์ไชยา และพุทธทาสภิกขุ ว่า “ตอนแรกอายุ ๓-๔ ขวบยังไม่ได้ไปหรอกสวนโมกข์ มาเดินตามท่าน (พุทธทาสภิกขุ) เมื่อหลังจากที่ลุงผมสิ้นชีวิต ผมจำปีไม่ชัด แต่ยังเด็กมาก อย่างที่เล่าให้ฟังท่านเป็นสหายธรรมกัน แล้วท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ต้องมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา เพราะท่านมีสมณศักดิ์และมีคุณวุฒิที่ทางคณะสงฆ์เห็นว่าปกครองวัดที่มีความสำคัญได้ ก็มีการฝากฝังกันอยู่ระหว่างญาติ ก็ฝากเหมือนลูกหลาน ส่งเด็กวัดจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ก็เดินตาม คราวนี้ก็เริ่มไปสวนโมกข์ เมื่อก่อนท่านเองก็อยู่สวนโมกข์บ้างอยู่ที่วัดพระธาตุไชยาบ้าง ส่วนใหญ่จะอยู่สวนโมกข์ ตัวผมเองยังอยู่วัดพระธาตุไชยา ไม่ได้เป็นเด็กวัดสวนโมกข์ แต่ว่าข้ามไปวัดสวนโมกข์เป็นลูกศิษย์เดินติดสอยห้อยตามอยู่เป็นประจำ”
เดโช เล่าต่อไปว่า “เมื่อมาอยู่มัธยม (โรงเรียนพุทธนิคม) ก็มีเด็กซึ่งเป็นเด็กเส้นเหมือนกันในกลุ่ม ครูสิริ พานิช นี่พวกเด็กเส้น พวกลูกหลานพุทธทาสจริงๆ นอกจากนั้นก็ยังมีเพื่อนอื่นอีกอย่าง ยู่เหี้ยน (สุเกียรติ จิยางกูร) สิน พวกนี้เด็กตลาดไชยา เด็กมีเส้นทั้งนั้นพวกนี้ คือมีโอกาสไปสวนโมกข์ เป็นลูกศิษย์ท่าน ก็คือลูกศิษย์ไปปรนนิบัติ ถามว่าไปทำอะไร ขนทราย ขนอิฐ เรียงอิฐ แล้วแต่ท่านจะใช้สอยอย่างไร ใครมีวาสนาดีก็มีโอกาสได้ตามท่าน ท่านไม่รับนิมนต์ไปที่ไหน ปกติไม่นะ แต่มีโอกาสได้ตามไปบรรยายไปสอนหนังสืออะไรก็ทำไป โอกาสมีอย่างอื่นเต็มไปหมดเลยในวัด ได้เห็นวัตรปฏิบัติของท่านก็พอแล้วไม่ต้องฟังคำสอนอื่น เดินเข้าไปในสวนโมกข์น่ะเต็มไปด้วยบทเรียนทั้งนั้น”
นอกจากการช่วยเหลืองานเล็กๆ น้อยๆ ตามคำสั่งในฐานะเด็กวัด เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ในโรงเรียนพุทธนิคม ภายใต้การดูแลของธรรมทานมูลนิธิ อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครูยังได้มีโอกาสทำงานรับใช้พุทธทาสภิกขุในอีกหลายบทบาทและหน้าที่
“เป็นเด็กรับใช้ ภารโรง ได้เงินค่าเล่าเรียนช่วยเหลือ ความจริงเป็นญาติๆ กันด้วยนะครับ เราไปนับถือท่าน (พุทธทาสภิกขุ) เป็นญาติ ผู้ใหญ่เขาเอ็นดูปรานีให้มีโอกาสได้มีขนมนมเนยกินบ้าง ก็ให้เป็นเด็กดูแลปิดประตูโรงเรียน (โรงเรียนพุทธนิคม) เก็บทำความสะอาดบ้าง แล้วก็เป็นเด็กประจำที่โรงพิมพ์ (โรงพิมพ์ธรรมทาน) เพื่อที่จะช่วยตรวจปรู๊ฟ เป็น proofreader (ผู้พิสูจน์อักษร) ไม่ใช่ยิ่งใหญ่อะไร ตรวจคำผิดอะไรต่างๆ นานานิดหน่อยเพื่อให้ทันพิมพ์ ห่อ จ่าหน้าซอง ส่งถึงผู้ที่รับหนังสือพิมพ์ ห่อพับส่งไปรษณีย์ไป นั่นคือหน้าที่ที่ทำ ไม่ได้พิมพ์กับเขาหรอก แต่ได้ตรวจ ก็ได้อ่านบทความของท่าน ไม่ใช่เพื่อศึกษาหรอก เพื่อตรวจคำถูกผิดแบบนั้นล่ะนะครับ แต่มันก็คงซึมๆ ซับๆ ไป...” เดโช ย้อนความหลังเกี่ยวกับหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบเมื่อครั้งเรียนอยู่ในโรงเรียนพุทธนิคม
แม้เมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครูก็ยังถือโอกาสช่วงปิดเทอมแวะเวียนกลับไปเยี่ยมเยียนสวนโมกข์อยู่เสมอ “ไปเป็นประจำ ทุกเทอมก็ต้องกลับไปหาแม่ ไปวัด ไปหาอาจารย์ มีอะไรก็ไปขอข้าวก้นบาตรกิน ตามเรื่องตามราว ไปรับใช้ท่าน ทุกปิดเทอมก็เป็นอย่างนั้น ก็มีเพื่อนในรุ่นที่เกาะติดกัน เกาะกลุ่มกันอยู่ ๓-๔ คน แล้วยังมีอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนสำคัญอย่าลืมคนนี้ ท่านเสียชีวิตไปแล้ว นายอำเภอจาด ตอนนั้นเป็นหัวหน้าใหญ่ นายอำเภอจาด อุรัสยะนันทน์ ซึ่งตอนหลังท่านเป็นปลัดกระทรวง และตอนหลังเข้ารับใช้ในวัง ยิ่งใหญ่มาก เราก็เด็กเส้น ลองคิดสิเด็กตลาดโก้เก๋จะตายใกล้ชิดนายอำเภอ อาจารย์พุทธทาสท่านเป็นบุคคลที่คนเคารพนับถือ ใหญ่นะ นักเลงพอสมควรนะ (หัวเราะ)” อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู กล่าวถึงความทรงจำเกี่ยวกับสวนโมกข์และพุทธทาสภิกขุอย่างอารมณ์ดี
“เราบูรณะไม่ได้หรอกถ้าชาวบ้านเขาไม่เอาด้วย” พุทธทาสภิกขุ กับการบูรณะพระบรมธาตุไชยา
ในช่วงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เดโช สวนานนท์ ได้มีโอกาสรับผิดชอบโครงการบูรณะพระบรมธาตุไชยา และเป็นอีกครั้งที่เขาตระหนักถึงบทบาทของพุทธทาสภิกขุที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อจิตวิญญาณของผู้คนในท้องถิ่น
“เราบูรณะไม่ได้หรอกถ้าชาวบ้านเขาไม่เอาด้วย คนที่จะทำได้ตอนนั้นก็ต้องอาจารย์พุทธทาสเท่านั้น ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาส ทำหลายอย่างนะครับ ขยายฐาน เมื่อก่อนแคบ จะมีน้ำผุดออกมาจากใต้ฐาน เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำมุรธาภิเษกต้องมาจากที่นี่ อันนั้นอันตรายมากนะเพราะทำให้ฐานเจดีย์ทรุดได้ เราต้องบูรณะ ไม่บูรณะไม่ได้เลย ไม่อย่างนั้นองค์เจดีย์พัง อันตรายมาก เพราะฉะนั้นต้องบูรณะใหญ่ไม่ใช่เล็ก...แต่ไม่ใช่ทำใหญ่โบกซีเมนต์อะไรทำไม่ได้ ต้องทำตามหลักอนุรักษ์ ทิ้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นยากมาก ถูกต่อต้านมาก คนที่จะช่วยได้ก็คือท่านอาจารย์เท่านั้น อาจารย์พูดคำไหนก็ต้องเป็นคำนั้น พวกเราทำไม่ได้หรอก ต้องไปกราบท่าน ท่านเข้าใจ อาจารย์ท่านรู้เรื่องดี ไม่ต้องสงสัย ก็ทำจนสำเร็จทุกอย่าง...ทุกอย่างต้องปรึกษาอาจารย์ ทำอะไรขาดอาจารย์ไม่ได้ ช่างประมุขเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ป.ประมุขก่อสร้างซึ่งเป็นช่างประจำในวังด้วย เขาเชี่ยวชาญมากในด้านนี้ก็เป็นที่รับรองว่าเป็นช่างไทยจริงๆ ช่างโบราณจริงๆ แล้วก็ไปรับใช้ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ไปอยู่กับท่าน ไม่มีที่จะไปทำตามลำพังเอง ทำไม่ได้” อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงเบื้องหลังเหตุการณ์การบูรณะพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีภิกษุนามพุทธทาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
เมื่อถามถึงความประทับใจที่ อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร มีต่อพุทธทาสภิกขุ เดโช สวนานนท์ กล่าวอย่างสั้นๆ ว่า “มันบอกไม่ถูก ก็คืออาจารย์ ก็เคารพอย่างนี้ มีโอกาสก็ไปนั่งรำลึกอยู่ ไปดูหุ่นท่าน ที่บ้านก็มี ก็กราบทุกคืน อยู่หัวนอน อ่านหนังสือนึกถึงท่าน รำลึกถึงเหมือนญาติผู้ใหญ่ ท่านไปสบาย ท่านไปดีแล้ว ท่านบรรลุแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไรท่าน ยูเนสโกยังยกย่อง โลกยกย่องแล้ว เราได้แต่ตามท่าน ตามบุญบารมีไป ยังนับถือ ยังนึกว่าท่านยังคุ้มครองอยู่ ก็เท่านั้น ยึดถือว่าท่านคุ้มครอง”
“ผมเชื่อว่าสวนโมกข์มีแห่งเดียว”
ในส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เดโช สวนานนท์ แสดงความคิดเห็นในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งว่า “ผมว่าขณะนี้ทำดีนะ เมื่อก่อนผมสงสัยผมเคลือบแคลงพูดจริงๆ ผมมีความเคลือบแคลงในใจ ผมเป็นคนที่ในใจตอนแรกไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เป็นคนที่ค่อนข้างจะคัคค้านด้วยซ้ำไป เพราะผมเชื่อว่าสวนโมกข์มีแห่งเดียว ไม่มีทางที่จะย้ายสวนโมกข์ไปที่ไหนได้ โดยเฉพาะของทุกอย่างที่เป็นของสวนโมกข์ ต้องอยู่ที่สวนโมกข์ มันถึงจะทำให้สวนโมกข์เดิม ยังเป็นสวนโมกข์อยู่ มันลามไปถึงหลักการของกรมศิลปากร เช่น โบราณวัตถุสำคัญของชาติของจังหวัดนั้นๆ ไม่ให้อยู่ที่จังหวัด เอามาไว้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ หมด มันทำให้จังหวัดนั้นหมดความหมาย...”
เดโช กล่าวต่อไปว่า “หลักการของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็เช่นกัน หนังสือเล่มแรกของท่าน ก็ควรอยู่สวนโมกข์ สมบัติอย่างนี้ต้องอยู่สวนโมกข์ ทำให้สวนโมกข์นั้นมีความหมาย มีค่า แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าที่นี่ทำได้ดี มั่นใจดีก็ไม่เสียหายอะไร แต่ต้องมั่นใจว่าดีนะ แต่ชั้นแรกเรายังบอกไม่ได้ ยังสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะต้องไม่นำมาทั้งหมด ถ้าเอามาทั้งหมดจะทำให้ตัวของเดิมแท้ๆ ไร้ความหมาย ถามว่าต่อไปใครอยากไปสวนโมกข์บ้าง คนก็มาที่นี่แทน ซึ่งไม่ผิดอะไร อำนวยความสะดวกให้ผู้คน แต่สวนโมกข์จริงก็กลายเป็นที่ร้าง หรือกลายเป็นที่ทำอย่างอื่นไป พอเป็นที่ทำอย่างอื่นมันผิดวัตถุประสงค์สวนโมกข์ นี่คือที่ลูกศิษย์สวนโมกข์จริงๆ เสียใจในตอนแรก
“...ที่คุณจำลองกุฏิเดิมของท่านมาอยู่ในอาคารแบบนี้มันไม่เหมือนกับอยู่กลางป่า มันไม่เหมือนกัน ความศักดิ์สิทธิ์มันไม่เหมือนกัน คนเดินขึ้นไปก็เห็นเป็นของเล่น ไม่ได้เห็นเป็นที่พักอาศัย เป็นที่พักของอาจารย์ ใช่ไหม ถ้าอยู่สวนโมกข์เป็นของศักดิ์สิทธิ์นะ คนไหว้ อาจารย์เคยนอนอยู่ เป็นพื้นที่เก่า กราบ แต่ที่นี่ไม่ใช่ นี่ของในพิพิธภัณฑ์ ของสร้างขึ้นมาใหม่ จะให้ผมยกมือไหว้นี่ที่อยู่อาจารย์ ผมไม่ไหว้ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะอาจารย์ไม่เคยนอน ถูกไหม ถ้าอาจารย์เคยนอนสิครับ เพราะฉะนั้นถึงอย่าเอามา ก็เท่านั้น ถ้าพิพิธภัณฑ์จริงๆ มีแต่ของจำลองเหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคนก็ไม่เข้าถูกหรือเปล่า เอาเขามาหมดที่ของจริงคนก็ไม่ไป” อดีตอธิบดีกรมศิลปากร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ที่ควรคำนึงถึงบางบริบทที่อาจหล่นหายไประหว่างเส้นทางจากสวนโมกข์สู่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
แม้แก่นสารสาระของพุทธทาสภิกขุจะอยู่ที่ธรรมะในพุทธศาสนาซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านคำบรรยายและงานเขียนที่เผยแผ่ออกไปเป็นวงกว้าง แต่นี่เป็นอีกครั้งที่ความทรงจำของ เดโช สวนานนท์ ได้เติมเต็มภาพความเป็นมนุษย์ของภิกษุนามพุทธทาสที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนมากมายในท้องถิ่น การดำรงอยู่ของสวนโมกขพลารามในช่วงชีวิตของพุทธทาสภิกขุจึงไม่ใช่เรื่องของการแยกขาดจากบริบทของพื้นที่ที่รายล้อม แต่คือความสามารถในการจัดวางบทบาทของภิกษุในพุทธศาสนาให้เข้ากับผู้คน ชุมชน ได้อย่างเหมาะสมและลงตัว
...นี่เป็นอีกครั้งที่ความทรงจำได้นำพาให้เราค้นพบบางบริบทของพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ที่อาจตกหล่นไปตามระยะทางและกาลเวลา...