“รูปแบบสวนโมกข์สมัยนั้นท่านไม่จัดนะ...ท่านบอกยังไม่จำเป็นหรอก”
พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระสมุห์ดาวเรือง มหาปุญโญ
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/eam-ZvovpSg
ท่ามกลางระลอกคลื่นแห่งสัจธรรมที่สาดซัด รูปแบบของพิธีกรรมมากมายได้ถูกสร้างและผลิตซ้ำเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงในการเชื่อมโยงผู้ศรัทธาให้เข้าหา ปรมัตถ์ บ้างหลุดพ้น บ้างยึดติด บ้างหลงคิดว่า รูปแบบของการปฏิบัติ และ ปรมัตถ์ นั้นคือสิ่งเดียวกัน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ในความทรงจำของ พระสมุห์ดาวเรือง มหาปุญโญ กลับชี้ชวนให้ผู้ศรัทธาได้ตั้งคำถามถึงหนทางที่ธรรมะดำรงอยู่ และเป็นการดำรงอยู่แบบที่ไม่จำเป็นต้องหลีกเร้น บีบเค้น เคร่งครัด แต่ผลคือความสงบ สงัด งดงาม ในแบบที่หลากชีวิตสามารถค้นพบได้ด้วยปัญญา
“รูปแบบ (การปฏิบัติวิปัสสนา) สวนโมกข์สมัยนั้นท่านไม่จัดนะ สมัยหลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ (สำนักสงฆ์เขาสันติ) ไปปรึกษาท่าน ท่านบอกยังไม่จำเป็นหรอก ถ้าเรารวมกลุ่มกันแล้วคุยกันให้เข้าใจ ธรรมะถ้าเราเข้าใจแล้วจะไปอยู่ไหนก็สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้...ถ้ามาถึงมาจับให้นั่งเลย เดินเลย เราศรัทธาแล้วทำมากไป บ้า บ้าเพราะว่าไอ้คำว่าบรรลุๆ เราต้องรู้ก่อนว่าไอ้สิ่งที่เราจะบรรลุหรือทำให้เห็นแจ้งมันอยู่ที่ไหน เราต้องรู้ว่าขันธ์ ๕ นี่แหละ เราต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน...พอเราเห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงได้เร็วเท่าไหร่ มันก็บรรลุธรรมได้เร็วมากเท่านั้น ถ้าเห็นรางๆ ก็เรียกว่าพระโสดาบัน ถ้าเห็นอย่างแจ่มแจ้งเขาเรียกว่าเป็นพระอรหันต์...มันเหมือนกับผลไม้ที่ยังไม่สุกเราไปบีบไปเค้นมันไม่ได้หรอก เราต้องบ่มสติปัญญาของเราไปเรื่อยๆ” พระสมุห์ดาวเรือง มหาปุญโญ แห่งสำนักสงฆ์เขาสันติ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกเล่าความทรงจำเมื่อแรกครั้งจำพรรษาในสวนโมกข์
“ถ้าเรามาอยู่สวนโมกข์แล้วบ้าคงจะอายเขา”
เมื่อเส้นทางแห่งการปฏิบัติวิปัสสนาแบบยุบหนอพองหนอ อาจยังไม่เพียงพอที่จะเป็นคำตอบของธรรมที่ค้นหา พระสมุห์ดาวเรือง มหาปุญโญ จึงเดินทางจากจังหวัดระยองบ้านเกิด สู่สวนโมกข์ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี “จริงๆ หลวงพ่อได้เรียนแค่ ป.๔ เท่านั้น พออายุครบบวชก็บวชที่วัดเภตราสุขารมย์ ที่ตำบลเพ ก็คิดว่าจะบวชตามประเพณี พอบวชแล้วเขามีสอนกัมมัฏฐานแบบยุบหนอพองหนอ เราก็นึกว่าไหนๆ บวชแล้วก็ลองไปปฏิบัติดู เอาจริงเอาจังนะ ทำจนกระทั่งมันก็เกิดปรุงแต่ง เราก็อยากจะหาอาจารย์ที่ไหนสักคนที่สามารถสอนธรรมะให้เราเข้าใจได้มากกว่าที่กำลังทำอยู่ เพราะที่สอนได้แต่รูปแบบ แต่ทฤษฎีไม่ได้ พอดีเพื่อนเขาได้หนังสือคู่มือมนุษย์ (ผลงานของพุทธทาสภิกขุ) มา...คู่มือมนุษย์นี่ไม่ธรรมดานะ ทำให้เราเกิดศรัทธา คิดว่าเราจะต้องไปอยู่กับท่าน (พุทธทาสภิกขุ) แล้วตั้งใจว่า ถ้าไปอยู่กับท่านเราต้องไม่สึก หลวงพ่อบวช พ.ศ.๒๕๐๒ พอ พ.ศ.๒๕๐๓ หลวงพ่อก็ไปอยู่สวนโมกข์” พระสมุห์ดาวเรือง ย้อนถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องออกเดินทางจากบ้านเกิดสู่สวนโมกข์ไชยา ก่อนให้ข้อมูลต่อไปว่า
“ไปอยู่ทีแรก พูดตรงๆ ว่าผิดหวังอยู่บ้างเหมือนกัน นึกว่าไปถึงสวนโมกข์ก็ลุยกันใหญ่ เอาเป็นสำเร็จเลยแหละ ลุยกันใหญ่เลย เดิน นั่ง เดิน นั่ง ไปถึงนี่ ต้องทำงานเพื่องาน ต้องทำงานเพื่อจิตว่างอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้รูปแบบ (วิปัสสนา) ที่เราทำเนี่ย ไม่เป็นอย่างนั้นซะแล้ว แต่ก็เอา ไหนๆ มาแล้วก็ไม่รู้จะไปไหนแล้วก็ต้องศึกษาอยู่กับท่านที่นี่แหละ ก็ศึกษาไปเรื่อย อะไรไปเรื่อย เราก็ค่อยเข้าใจขึ้นๆ อย่าลืมนะคนที่ศรัทธาแล้วอยากจะสำเร็จเร็วๆ น่ะ อยู่สวนโมกข์ก็เห็นบ้ากันไปซะเยอะเลยเหมือนกัน เพราะไอ้สิ่งที่เราต้องทำให้เห็นแจ้งเราไม่รู้ไง...ไปถึงเราก็นึกว่าลุยสักพักเดียวก็สำเร็จแล้ว ทีนี้ไม่เป็นอย่างนั้นสิ ชักเครียดมากขึ้นๆ ก็เลยนึกว่า เอ...ถ้าเรามาอยู่สวนโมกข์แล้วบ้านี่คงจะอายเขา พี่น้องเราก็พลอยอายไปด้วยนะ ก็เลยอยู่แล้วก็ฟังท่านเทศน์ไป สอนไป อะไรไป อย่าลืมว่าเรื่องขันธ์ ๕ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้เห็นแจ้ง เราต้องเข้าใจมันให้ได้ก่อน พอเราเข้าใจแล้วเราถึงเอาไปเจริญภาวนา ทีนี้มันจะเห็นเร็ว เห็นช้า เห็นยาก เห็นง่าย มันขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเราแล้ว อันนี้ต้องอาศัยเวลา เราก็ฟังไปเรื่อย อะไรไปเรื่อย ก็ค่อยเข้าใจเพิ่มขี้นๆๆ” พระสมุห์ดาวเรือง บอกเล่าช่วงชีวิตเมื่อแรกจำพรรษาในสวนโมกข์
วิถีปฏิบัติในโรงปั้น
หลังจาก พระสมุห์ดาวเรือง จำพรรษาอยู่ในสวนโมกข์ได้ ๓ ปี โครงการก่อสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ หรือ โรงหนัง ในสวนโมกข์ไชยาจึงเริ่มต้นขึ้นภายใต้การดำริของพุทธทาสภิกขุ และการสนับสนุนหลักด้านการก่อสร้างจาก พันเอกสาลี่ ปาละกูล (อดีตหัวหน้ากองการวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น หรือ วปถ.) เมื่อโรงมหรสพทางวิญญาณเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง พุทธทาสภิกขุ จึงมีความคิดที่จะให้พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาในสวนโมกข์ช่วยกันปั้นภาพพุทธประวัติที่ใช้สัญลักษณ์แทนภาพพระพุทธเจ้า ตามแบบภาพพุทธประวัติที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย เพื่อนำมาประดับรอบโรงมหรสพทางวิญญาณ
พระสมุห์ดาวเรือง เล่าถึงความทรงจำในช่วงเวลานั้นว่า “อาจารย์ทองสุข ธัมมวโร เตรียมจะออกจากสวนโมกข์แล้ว ออกพรรษาท่านเตรียมจะออก นี่ได้ยินกับหู ท่านอาจารย์ขอร้องว่าให้อยู่ช่วยปั้นภาพสักปีหนึ่งก็คงจะเสร็จ อาจารย์ทองสุขถึงได้อยู่...ความที่เรามีพื้นฐานความรู้น้อยก็อยากรู้ทุกเรื่อง นึกว่าไปปั้นภาพสัก ๑๕ วันก็เอาละรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร...คนที่เขาทำอยู่ก่อนรูปสองรูปเขาก็ถอนตัวออกไปหมด ก็เหลือหลวงพ่อกับอาจารย์ทองสุขปั้นกัน หลวงตาไสว สิวญาโณ เมื่อก่อนก็มาช่วยปั้น ตอนหลังก็ไปเขียน หลวงตาไสวเป็นคนที่มีคุณูปการกับสวนโมกข์นะ ท่านช่วยสวนโมกข์เยอะ...ถ้าไม่ได้ท่านทำงานจะสำเร็จกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ล่ะ เพราะว่าท่านเป็นคนที่ไม่หงุดหงิดไม่อะไร ใครจะคุยอะไรท่านก็ไม่หงุดหงิด ท่านทำงานตลอดเวลา เราก็เริ่มปั้น ๒ ปี ยังไม่ได้เรื่องราวตัวละครเลย เป็นพุทธประวัตินั่นแหละ แต่ว่าแสดงสัญลักษณ์ด้วยหม้อบ้าง ด้วยดอกบัวบ้าง ทำอยู่ ๒ ปี หลังจากนั้นเริ่มต้นมีตัวละครเพิ่มขึ้นๆๆ...แหม...ไอ้คำว่าทำงานเพื่องาน ตอนนั้นเวลาไม่พอทำงานนะ พอทำแล้วมันเกิดปีติเกิดอะไร ใบโพธิ์อย่างนี้ บางทีชั่วโมงยังไม่ได้ใบ ใบแค่นี้ (ชูนิ้วโป้งเพื่อบ่งชี้ถึงขนาด) พอมันได้ขึ้นมามันเกิดปีติ อิ่มใจ สุขใจ เรียกว่าวันๆ ไม่พอทำงาน บางทีมืดแล้วก็ยังย่องมาทำ ตอนนั้นไฟฟ้าก็ไม่มี ความรู้สึกว่า ๑๕ วันจะเลิก มันเป็นไปไม่ได้แล้วก็นึกว่า เออ ต้องตอบแทนบุญคุณท่าน เพราะว่าเราไปอยู่กับท่านเราก็ได้รับความรู้จากท่าน
“พอครบ ๑๐ ปี ภาพสุดท้ายพอทำเสร็จก็ล้างเครื่องมือเสร็จก็ไปกราบลาท่าน คิดว่าจะกลับระยอง แต่ว่าก่อนกลับก็แวะมาดูตรงนี้ (สำนักสงฆ์เขาสันติ) ว่าว่างไหม พอมันว่างพอดีเราก็คิดว่าจะอยู่ที่นี่สัก ๑๐ ปีแล้วก็จะกลับระยอง...ทีนี้ไม่ได้ตามที่กำหนดซะแล้ว ๔๐ ปีแล้วนะ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒ นี่ พ.ศ.๒๕๖๒ แล้ว ก็อยู่สะดวกสบาย ใครเขามาเห็นที่นี่ไม่ต้องเรี่ยไร อะไรขาดเขาก็ทำให้ ตราบใดที่หลวงพ่ออยู่ที่นี่ซองผ้าป่าต้องไม่ออกจากที่นี่ คือเราอยู่กับอาจารย์พุทธทาสท่านไม่ทำไง แล้วท่านก็คอยเตือนอยู่เรื่อยนะ เรื่องนี้ท่านเตือนว่า เออ...อย่ามายุ่งกับเรื่องการก่อสร้างมากนัก แต่ว่าการศึกษาธรรมะท่านให้ศึกษาอยู่เรื่อยๆ คนมาเราก็จะได้สนทนากับเขาอะไรกับเขา ก่อสร้างก็ให้มันค่อยเป็นค่อยไป ที่นี่ก็เกิดขึ้นมาเพราะเหตุนี้” พระสมุห์ดาวเรือง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาการทำงานในโรงปั้น จนกระทั่งเมื่อครั้งตัดสินใจเดินทางมาจำพรรษาในสำนักสงฆ์เขาสันติ
“มีเรื่องร้ายๆ ท่านหัวเราะ หึหึ เท่านั้นแหละ”
แม้จะออกตัวว่าไม่ได้ใกล้ชิดกับ พุทธทาสภิกขุ เหมือนกับพระรูปอื่นๆ อีกหลายรูป แต่ พระสมุห์ดาวเรือง ก็มีความทรงจำที่น่าสนใจอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับท่านอาจารย์ “ท่านมีลักษณะเหมือนกับว่า ถ้าคนดีจะไปไหนท่านก็ไม่ห้าม แต่ถ้าคนไม่ดีจะไปประท้วงให้ท่านเอาออกท่านก็ไม่ทำ มันเหมือนกับนิกายเซน อาจารย์องค์หนึ่ง เขาประท้วงว่า ถ้าไม่ไล่คนคนนี้ออก เขาก็จะออกไปกันเอง อาจารย์ก็บอกว่าพวกเธอไปเถอะ พวกเธอเป็นคนดีไปอยู่ที่ไหนก็จะไม่ไปทำความเดือดร้อนให้กับใคร แต่ว่าคนคนนี้จะเอามันไปไหน ถ้ามันไปก็มีแต่ไปทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่นๆ เขา มันก็เหมือนคำพูดอย่างนี้มันกลับใจคนได้ อาจารย์พุทธทาสจะไล่ลูกศิษย์ออก ไม่มี ไม่เคย มีเรื่องร้ายๆ ท่านหัวเราะ หึหึ เท่านั้นแหละ ฉันสอนแล้วเธอไม่เชื่อกันเอง (หัวเราะ) ท่านไม่ไล่หรอก สังเกตบางทีเรื่องร้ายๆ ถ้าที่อื่น โอ๊ย...ไม่ได้ต้องไล่ออกจากวัด วัดจะเสียชื่อ ท่านไม่ ฉันสอนแล้วพวกเธอไม่เชื่อเอง ท่านไม่ไล่ มันมีคนคนหนึ่งพระจะประท้วงออก แต่ว่าเรื่องนี้คงยังไม่ถึงหูท่านอาจารย์หรอก ตกลงก็เงียบกันไป การปกครองท่านอาศัยความเมตตา ตรงนี้ล่ะ เราเรียกว่าท่านเป็นเถระที่มั่นคง ไม่ถือเอาเรื่องอย่างนี้ว่ามันทำให้ฉันเสียชื่อ ท่านไม่บอก ท่านก็พูดแค่ว่า ฉันสอนแล้วเธอไม่เชื่อ ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนด้วยอะไรด้วย”
พระสมุห์ดาวเรือง เล่าถึงช่วงชีวิตที่ได้สัมผัสกับพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ ต่อไปว่า “ที่นั่นถ้าอยู่อย่าไปรับรู้เรื่องราวของคนอื่นเขามากนัก อยู่สบายนะ อิสระ ท่านเป็นพระที่ใช้เหตุผล ก็อยู่กันอย่างอิสระ พอคุ้นๆ ก็เดินตามหลังท่านคุยไปอะไรไป ท่านบอกว่าที่ผมต้องจัดสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เพื่อต้องการเลือกพระไปในตัวด้วย เวลาไปท่านไม่สอบประวัติเป็นลูกเต้าเหล่าใครอะไรอย่างไรไม่ถาม แต่ว่าให้อยู่แล้วท่านก็คอยดูพฤติกรรมที่เราอยู่นั่นแหละ เหมือนกับว่าอยู่แล้วเป็นประโยชน์กับสวนโมกข์ไหม
“ท่านอาจารย์พุทธทาสจะทำอะไร ท่านต้องอธิบายให้เราเข้าใจก่อน เหมือนจะให้เราทำงานท่านจะอธิบายว่า ทำไมเราถึงต้องทำงาน ท่านก็บอกว่าพลังงานวันนี้เราได้มาจากชาวบ้าน ได้มาจากญาติโยม ถ้าเราไม่ใช้มันก็จะหมดไปเปล่าๆ ก่อนที่พลังงานวันนี้จะหมดไปเราก็ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรก็ไปกวาดขยะ คนเขามาเห็น โอ้โห วัดนี้สะอาด ก็ทำให้เขาพออกพอใจแล้ว ท่านก็พูดแค่นี้ ก็กระตุ้นเราเหมือนกัน ยังไงก็ต้องไปกวาดขยะหน่อยอะไรแบบนี้ล่ะนะ ท่านก็อธิบายจนกระทั่งพระที่ไชยาเขาหาว่าพระที่อยู่สวนโมกข์ถูกท่านอาจารย์พุทธทาสหลอกไง (หัวเราะ) จริงๆ ท่านมีเหตุผล มีเหตุผลเราก็ไปค้านท่านไม่ได้ เราจะกินอิ่มยังไงก็ตาม ถ้าวันนี้เราไม่ไปทำอะไรแรงงานก็หมดไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้นก่อนที่มันจะหมดไปเราก็ทำอะไรสักอย่างให้มันเกิดประโยชน์กับสังคมนั่นแหละ เรียกว่าทำให้โลกมันสวยงาม เพราะว่าตรงนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกนะ ถ้ามีคนรับผิดชอบตรงนี้ตรงนี้ก็สวยงาม...หรือว่าท่านพูดเรื่องศีล ศีลทุกข้อต้องศึกษาให้รู้ความมุ่งหมาย และปฏิบัติให้เต็มตามความมุ่งหมาย ไม่ใช่เคร่งตามตัวหนังสือแล้วจะกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไปอีก กลายเป็นเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์อะไรไป ศีลทุกข้อมีความมุ่งหมายอยู่ทั้งนั้น เราก็ศึกษาให้รู้ความมุ่งหมายและพยายามทำให้เต็มตามความมุ่งหมาย มันอวดเคร่งหรืออวดหย่อนไม่ได้หรอก” พระสมุห์ดาวเรือง อธิบายถึงแนวทางในการปฏิบัติแบบพุทธทาสภิกขุที่ต้องดำรงอยู่บนหลักการของเหตุและผล
“เรามีหน้าที่อะไรทำให้เต็มศักยภาพของเราก็แล้วกัน”
๑๐ ปีในสวนโมกข์ และอีก ๔๐ พรรษาในสำนักสงฆ์เขาสันติ เมื่อถามถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระดาวเรือง ยังคงยืนหยัดที่จะเผยแผ่ธรรมะตามหลักการของเหตุและผลโดยไม่ยึดติดในรูปแบบของการปฏิบัติและไม่โน้มนำไปตามกระแสบริโภคนิยม ท่านได้ให้ข้อมูลเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ที่หลวงพ่อยืนหยัดได้อย่างนี้ก็เพราะแรงบันดาลใจของท่าน (พุทธทาสภิกขุ) เต็มร้อย คือหมายความว่า เราจะไม่ทำให้ครูบาอาจารย์ของเราเสียชื่อเสียง แต่ว่าเราไม่ได้อวดดี มีความสามารถแค่ไหนก็ทำแค่นั้น เราต้องมีจุดยืนไว้ เรื่องชาวบ้านเขาชอบรดน้ำมนต์หลวงพ่อก็รู้นะ แต่ว่าให้เขามาแล้วยัดเยียดความเชื่อความเห็นที่ผิดไปมันไม่ถูกต้อง ที่นี่เขารู้จักหลวงพ่อปากต่อปากนะ คนกรุงเทพฯ น่ะ ถ้าคุณถูกใจก็ไปบอกไปหาหลวงพ่อสิอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่มาก็จบกันก็ดีเหมือนกัน หลวงพ่อไม่เชื่อว่าชาวบ้านเป็นคนโง่ เดี๋ยวนี้ก็มีมงคล ๓๘ เป็นแนวทาง ถ้าเราต้องการความก้าวหน้าในชีวิตก็ต้องทำงาน งานกับชีวิตคู่กัน
ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเน้นเรื่องนี้ตลอด ธรรมะคือหน้าที่ ท่านพูดถึงว่า พระพุทธเจ้าเคารพธรรมคือเคารพหน้าที่ ท่านทำงานจนวินาทีสุดท้ายเพราะว่า ท่านทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า คือการอบรมสั่งสอน เรามีหน้าที่อะไรทำให้เต็มศักยภาพของเราก็แล้วกัน แล้วผลงานเราออกมามันก็เกิดปีติ เกิดอะไรขึ้นมา เมื่อเราทำงานเรามีความสุขแล้ว เลิกงานเราก็กลับไปอยู่กับครอบครัวได้ ไม่ต้องไปแวะกินเหล้าสักเป๊กหนึ่งแล้วค่อยกลับบ้าน เพราะว่าเวลาทำงานก็มีความสุขอยู่แล้วไง” พระสมุห์ดาวเรือง มหาปุญโญ ให้ข้อคิดเกี่ยวกับหลักธรรมและแนวทางในการปฏิบัติที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
บทสนทนากับ พระสมุห์ดาวเรือง มหาปุญโญ จบลงเคล้ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะแบบพอดีในธรรม ภายใต้บรรยากาศเงียบสงบของสำนักสงฆ์เขาสันติ...ไม่มีการปฏิบัติที่คร่ำเคร่ง ไม่มีการบีบเค้นให้เข้าถึง...ชายแปลกหน้ายกขวดน้ำขึ้นดื่มบรรเทาความกระหายจากหน้าที่ นึกถึงบางข้อความใน วัตถูปมสูตร ที่กล่าวถึง สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ปรารถนาจะเชิญพระพุทธเจ้าไปสรงน้ำในแม่น้ำพาหุกา ด้วยเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนต่างพากันไปชำระบาป พระพุทธองค์จึงตรัสอธิบายว่า
“คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา...แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้...ผัคคุณฤกษ์ (ฤกษ์ดี) ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาดย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้” (อ้างอิง)
ในโลกที่เปลี่ยวเหงาและเปราะบาง มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ทอดทิ้งหน้าที่เพื่อออกมุ่งหน้าจาริกสู่แม่น้ำพาหุกาด้วยหวังว่าน้ำและพิธีกรรมในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นจะสามารถดับความหิวกระหายทางจิตวิญญาณ ขณะที่หลักธรรมของพระพุทธองค์และแนวทางปฏิบัติของพุทธทาสภิกขุกับชี้ชวนให้เราตระหนักถึง การงานอันสะอาด ที่เปรียบประดุจน้ำบริสุทธิ์ที่จะช่วยชำระล้างความกระหายอยากหลังจากการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน
...บางทีรูปแบบอาจเจือด้วยปรมัตถ์ แต่ปรมัตถ์ไร้รูปแบบ...