พุทธทาสภิกขุ และหัจญีประยูร มิตรภาพในความทรงจำ ประภากร วทานยกุล

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ และหัจญีประยูร มิตรภาพในความทรงจำ ประภากร วทานยกุล

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

 c00235 cr horz

 ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/-M74FZdY854

“...ทุกวันนี้ บางโอกาสผมก็ต้องขอยืมชื่อท่านอาจารย์มาทำประโยชน์ มิใช่เพื่อจะแสดงตัวว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหาท่านพุทธทาสภิกขุ แต่เพื่อให้มีการเข้าใจว่า ระหว่างท่านอาจารย์กับผม ไม่มีพุทธทาสภิกขุ ไม่มีหัจญีประยูร ไม่มีพุทธ ไม่มีอิสลาม มีแต่ความบริสุทธิ์ใจซึ่งกัน อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ถือศาสนา มันจะได้ซึ้งถึงใจกันเสียที...” ส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายจาก หัจญีประยูร วทานยกุล สหายธรรมมุสลิม ถึงพุทธทาสภิกขุ ลงวันที่ ๗ พ.ย. ๒๕๑๗ (ดู http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=5541&main_level=2&main_refcode=BIA07010005-0132-0413-00-0000) เผยให้เห็นความงดงามของมิตรภาพที่เกิดจากการมุ่งแสวงหา สัจธรรม บนเส้นทางที่อาจแตกต่างในวิถี แต่มีเป้าหมายที่เป็นหนึ่ง และถึงแม้ในปัจจุบันสังขารของทั้ง ๒ ท่านจะไม่ได้ดำรงอยู่ในโลกทางกายภาพ แต่สำหรับสัจธรรมและมิตรภาพก็ยังดำรงอยู่ในความทรงจำ

20190623a

“ผมว่าสิ่งที่ได้รับจากท่านอาจารย์พุทธทาสและรับจากคุณพ่อ คือสิ่งเดียวกัน เพราะทั้งสองรวมเป็นหนึ่ง อะไรที่รับจากพ่อก็คือรับจากท่านอาจารย์” ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ในฐานะทายาทของหัจญีประยูร บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธทาสภิกขุ ภิกษุในพุทธศาสนา และหัจญีประยูร วทานยกุล สหายธรรมมุสลิม

“คุณพ่อเป็นคนแสดงตัวตนเป็นชนในศาสนาไหน...ไม่เคยปิดบัง”

“หัจญี คือคนมุสลิมซึ่งตามหลักศาสนาเราจะต้องไปที่เมกกะ (มักกะห์–Makkah) มุสลิมจะต้องไปแสวงบุญ ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้ามีโอกาสไปก็ถือว่าต้องไป เป็นข้อบัญญัติ ใครที่ไปมาแล้วศาสนาอิสลามไม่ได้มีพระ ถือว่าทุกคนเป็นพระ พอไปแล้วกลับมาก็ถือว่าเป็น อิหม่าม เป็น หัจญี อิหม่ามก็นำสวดนำละหมาดในสุเหร่าได้ นั่นเป็นที่มา คุณพ่อก็ใช้คำว่า หัจญี มาตลอด คุณพ่อเป็นคนแสดงตัวตนเป็นชนในศาสนาไหน เป็นศาสนิกของใคร คุณพ่อจะแสดงตัวตนเสมอ ไม่เคยปิดบัง ไม่เคยกระมิดกระเมี้ยนใดๆ ทั้งสิ้น” ประภากร วทานยกุล ทายาทของหัจญีประยูร ให้ข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับที่มาของการใช้คำนำหน้าว่า หัจญี ก่อนบอกเล่าถึงประวัติและอุปนิสัยส่วนตัวของหัจญีประยูรต่อไปว่า

20190623c

 “คุณพ่อเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด เรียนอยู่อัสสัมชัญ แล้วก็ชอบภาษา นักเรียนอัสสัมชัญสมัยก่อนถ้าคุณเรียนจบ ม.๖ ก็พูดภาษาอังกฤษป๋อแล้ว เพราะว่าเรียนทุกอย่างตำราเป็นภาษาอังกฤษหมด Algebra (พีชคณิต) หรือตรีโกณ หรืออะไรก็ตาม พอเสร็จแล้วก็สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ก็เรียนอยู่คณะอักษรฯ ภาษาเก่งมาก ไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษแต่ยังลงไปรากของภาษาที่เชื่อมสัมพันธ์กับละติน พอมาปลูกต้นไม้คุณพ่อจะใช้ Scientific Names (ชื่อทางวิทยาศาสตร์) รู้ภาษาพื้นเมือง ชื่อทางพฤกษศาสตร์ แล้วก็ชื่อทาง Scientific ซึ่งสัมพันธ์ทั้งอังกฤษทั้งละติน” ประภากร อธิบายถึงความสนใจและความสามารถทางภาษาของหัจญีประยูร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านสามารถอ่านค้นคว้าหลักธรรมทางศาสนาต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง จนสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งที่ขีดคั่นด้วยอัตตา ดังตัวอย่างข้อความในจดหมายที่ หัจญีประยูร มีถึง พุทธทาสภิกขุ ความตอนหนึ่งว่า

20190623e

ประภากร วทานยกุล วัยเด็ก (เสื้อสีน้ำเงิน)

 “ในโศลกแรกของบทอัลฟาติฮาในกุรอานซึ่งถือเสมือนเป็นแม่บท มีข้อความว่า ‘มวลสรรเสริญเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮ’ นั่นก็คืออย่าได้เอาเรื่องเกียรติมาครอบหัวเลย ยกให้เป็นของพระเจ้าไปเสีย เมื่อตัวตนมันพ้นไปจากคนแล้ว มันก็เสร็จสิ้นกัน ชาวมุสลิมเมื่อผู้ใดตายจากไป เขาจะใช้คำอุทานว่า ‘เรามาจากอัลลอฮและเราจะไปสู่อัลลอฮ’ ประโยคนี้ถ้าเข้าใจตามภาษาคน มันก็เกิดไทมและสเพซระหว่างคนกับพระเจ้าไป แต่ถ้าจะมองทะลุเข้าไป มันจะหมายสั้นๆ ว่า มีตัวเรา พระเจ้าสูญ หมดตัวเรา พระเจ้ามี...” (http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=5541&main_level=2&main_refcode=BIA07010005-0132-0413-00-0000)

จากข้อความในจดหมายที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนิกต่างศาสนาแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังแสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริง ความเป็นศาสนิกที่เคร่งครัดต่อหลักธรรมในศาสนาของตน ย่อมไม่ใช่อุปสรรคต่อการทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาจึงไม่น่าแปลกใจที่ในความทรงจำของประภากร จะพบว่า “ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้สอนอะไรคุณพ่อ คุณพ่อก็ให้ความคิดอะไรเป็นการแลกเปลี่ยน ท่านอาจารย์ถึงได้พูดว่าหัจญีประยูรเป็นสหายธรรม คำว่า สหายธรรม คือความเข้าใจซึ่งกันและกัน ความเข้าใจตรงนี้ จริงๆ มันก็คือความเข้าใจในศาสนานั่นแหละ”

20190623b

ประภากร วทานยกุล วัยเด็ก (เสื้อสีน้ำเงิน)

“กลัวก้างปลาทูไหม” ว่าด้วยเรื่องผีและธรรมะดีๆ ที่สวนโมกข์

ความสัมพันธ์ของสหายธรรมต่างศาสนาระหว่างพุทธทาสภิกขุ และหัจญีประยูร มีจุดเริ่มต้นใน พ.ศ.๒๔๙๘ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง ๒ ท่านก็ได้ถูกส่งต่อผ่านความทรงจำของทายาทในเวลาต่อมา ดังที่ประภากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความประทับใจเมื่อแรกครั้งไปเยือนสวนโมกข์ว่า “ประมาณ ๙ ขวบมั้ง เวลาเข้าไปแล้วด้วยความสนิทระหว่างท่านอาจารย์กับคุณพ่อ ท่านอาจารย์ก็เลยบอก เช้านี้เดี๋ยวอาตมาพาเดินไปบนเขานางเอเพื่อไปเก็บผักเก็บต้นไม้ทั้งหลาย ครอบครัวผม ๕ คน แล้วก็ท่านอาจารย์เป็น ๖ คนที่เดินไป ท่านก็จะมีไม้เท้า ท่านจะชี้ไม้เท้าบอก ไอ้ลูกเด็กปีนไปเก็บอันนี้มา เก็บมาให้แม่ไว้ เอ้า, เก็บอันนี้มาให้แม่ไว้ พอไปถึงโรงทานก็เอาผักทั้งหลายไปทำกับข้าว... ตอนที่หลวงตาพาเราเดินก็อธิบายไปเรื่อย เข้าไปในป่า นั่นคือสิ่งที่ผมจำได้”

20190623l

ประภากรเล่าต่อไปว่า “ผมกลัวผีจะตายไปนอนที่โรงธรรม มีโครงกระดูกแขวนอยู่ เพราะต้องแยกชายหญิง คุณแม่กับพี่สาวต้องไปนอนอีกที่หนึ่ง ผมก็ต้องไปนอนที่โรงธรรมที่สวนโมกข์ กลางคืนก็กลัวผี ผมเป็นคนกลัวผีมากจนคุณพ่อรำคาญก็เอามาฟ้องหลวงตา (พุทธทาสภิกขุ) มาฟ้องท่านอาจารย์ว่า ตอนดึกไอ้ลูกเด็กนี่กลัวผีมากเลยนอนไม่ได้ เดินไม่ได้ ท่านอาจารย์ก็ถามผมสมัยนั้นนะ เคยกินปลาทูไหมไอ้ลูกเด็ก ผมก็บอกเคยทานครับ แล้วเจอก้างปลาทูไหม ก็เจอ กลัวก้างปลาทูไหม บอกก็ไม่ได้กลัวก้างปลาทู อ้าว แล้วทำไมกลัวก้างคน ท่านพูดอย่างนี้แล้วทำไมกลัวก้างคนล่ะ ผมก็เด็ก ก็ยังกลัวอยู่นั่นแหละ แต่จริงๆ แล้วมันคือคำพูดที่พูดถึงว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นนั่นแหละ ธรรมชาติมันบอกให้ก้างมันคือ skeleton (โครงกระดูก) ของเรา มันจะต้องให้ตัวเราเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ ธรรมชาติคือกฎ กฎคือ God คือพระเจ้า ทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะหมดเลย นั่นคือความเข้าใจ

20190623d

“จนโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เตรียมจะสอบ สอบไม่ได้ ผิดหวัง สุดท้ายผมก็แบกเป้เกาะรถไฟไปคนเดียว ไปหาหลวงตา (พุทธทาสภิกขุ) ท่านให้ขึ้นไปอยู่กุฏิเขานางเอคนเดียว ขึ้นไปนั่งสงบ นั่งดูหนังสือเพื่อจะสอบตอนนั้นท่านโกวิท (โกวิท เขมานันทะ) ก็อยู่ พระพยอม กัลยาโณ อยู่เป็นพระบวชใหม่ เป็นช่างไม้ ทำโรงมหรสพทางวิญญาณกันอยู่ เราก็ไปช่วยทำอะไรได้ก็ทำ แบกนั่นแบกนี่ ตอนหลังผมโตแล้วก็ยังไปมาหาสู่กับท่าน... บรรยากาศในสวนโมกข์นี่คือสุดยอดจริงๆ ในความรู้สึกตอนนั้นนะ เป็นธรรมชาติไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรจริงๆ มาถึงกุฏิหลวงตาก็มีแต่หนังสือหนังหา ผมก็นั่งฟังท่านที่พื้นนั่นแหละ คุณพ่อนั่งบนเก้าอี้ หลวงตาก็นั่งอยู่ข้างบน นั่นคือความทรงจำของผม” ประภากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับบรรยากาศของสวนโมกข์ที่ผันแปรไปตามความทรงจำของช่วงวัย

20190623f

ประภากร วทานยกุล วัยเด็ก (เสื้อสีน้ำเงิน)

“ถ้าเป็นมุสลิมที่ดี ก็เป็นพุทธที่ดี เป็นพุทธที่ดีก็เป็นมุสลิมและเป็นคาทอลิกที่ดี”

แม้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างหัจญีประยูร กับสหายธรรมต่างศาสนาอาจจะถูกตีความผิดไปจากเจตจำนงโดยกลุ่มบุคคลบางส่วน แต่สำหรับทายาทอย่างประภากร สิ่งที่จดจำได้เกี่ยวกับหัจญีประยูร ก็คือความเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลาม “ต้องเรียกว่าคุณพ่อนี่เคร่งมาก แต่เป็นการเคร่งอย่างมีเหตุมีผล คุณพ่อละหมาด ๕ เวลาครบตามหลักการของอิสลามที่ดี ถือศีลอดครบทุกปีไม่เคยขาด ถือว่าเคร่งมาก อะไรที่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างมีเหตุผล คุณพ่อจะปฏิบัติ เราเป็นมุสลิมซึ่งถูกอบรมมาให้อยู่บนเหตุและบนผลมากกว่าที่จะเชื่อหรือทำตามอะไรไปโดยไม่มีเหตุมีผล” และหนึ่งในความเป็นเหตุเป็นผลที่แสดงออกผ่านวิถีทางศาสนาซึ่งประภากรให้ข้อมูลเอาไว้อย่างน่าสนใจก็คือเรื่องของ การทำละหมาด

20190623h

ประภากรอธิบายว่า “ละหมาด ๕ เวลาของมุสลิมนี่คืออะไร ผมถามคุณพ่อว่าคืออะไร พ่อบอกว่าสมองเรามันคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มันมีความยุ่งเหยิงถ้าไม่จัดระเบียบแรงดึงดูดมันจะน้อย เวลาเราตื่นเช้าขึ้นมาก่อนที่จะปฏิบัติอะไรก็ตาม เราจะต้องจัดระเบียบความนึกคิดของเราก่อน นั่นคือละหมาดครั้งแรกก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบความคิดของเราให้รู้ตัวว่าเรากำลังจะทำอะไร ทำงานไปครึ่งวันยุ่งมากมีเรื่องเข้ามาเยอะแยะ ค้าขายก็ต้องวุ่นวายเต็มไปหมด สมองเราแม่เหล็กในนี้เริ่มสะเปะสะปะไปหมด ต้องละหมาดตอนกลางวัน จัดระเบียบความคิดในสมอง จัดระเบียบสมาธิ ทำงานไปอีกครึ่งวัน ๔–๕ โมงต้องละหมาดอีกเพราะชีวิตเราเริ่มเขวต้องละหมาด ก่อนทานอาหารเย็นก็ละหมาดเพื่อทุกอย่างสงบ ละหมาดก่อนนอนสำคัญที่สุด คือคุณต้อง die down หมายความว่าทุกอย่างต้องโยนทิ้งหมดแล้ว คุณพ่อผมนี่หัวถึงหมอนปิด switch off หมดเลย หลับจบแล้วกลางคืนก็นอนไป เพราะฉะนั้นหลักการละหมาด ๕ เวลา ถ้าเข้าใจใน activity (กิจกรรม) ของมุสลิมคุณจะรู้ว่ามีเหตุมีผล”

20190623j

ขณะที่โลกร่วมสมัยกำลังนิยามสภาวะความเคร่งครัดในหลักการทางศาสนาด้วยวิถีที่แบ่งแยกพวกเรา–พวกเขา แต่ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่าง หัจญีประยูร กับ พุทธทาสภิกขุ กลับชี้ชวนให้เรามองเห็นแง่งามจากวิถีที่แตกต่างแต่อาจแฝงไว้ด้วยหลักการที่เป็นหนึ่ง ซึ่งอาจนำพามนุษย์ให้ก้าวพ้นทุกเส้นแบ่งเพื่อเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า สัจธรรม

“ผมว่านี่คือความเข้าใจที่ผมได้มาจากครอบครัว ได้มาจากคุณพ่อ ได้มาจากการที่อยู่กับท่านอาจารย์ ผมหมด barrier (สิ่งกีดขวาง, อุปสรรค) ของศาสนา ผมละหมาดในวัดยังได้ ซึ่งมุสลิมหรือพระทางภาคใต้เราเข้าใจดีมาก เวลาทำบุญที่วัดมุสลิมก็จะไปช่วยกันกับเจ้าอาวาส เวลามีงานที่สุเหร่าเจ้าอาวาสก็มาช่วยกันทำบุญ มันคือความน่ารักของชีวิตใช่หรือเปล่า มันคือความน่ารักของสังคม นี่คือความเข้าใจ ถ้าทุกคนเข้าใจแบบนี้มันก็จะไม่เกิดบ้าบอคอแตก ไม่เกิดรบราฆ่าฟันกัน จะฆ่ากันทำไม ผมว่ามันไร้สาระจริงๆ ผมถึงบอกว่า ถ้าเป็นมุสลิมที่ดี ก็เป็นพุทธที่ดี เป็นพุทธที่ดีก็เป็นมุสลิมและเป็นคาทอลิกที่ดี นั่นคือสิ่งที่ผมได้รับการถ่ายทอดมา” ประภากร วทานยกุล กล่าวถึงมรดกทางความคิดและทางธรรมที่ได้รับสืบทอดมาจาก ๒ สหายธรรมต่างศาสนา

20160623i

ในส่วนของข้อแนะนำที่มีต่อ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ แม้ทายาทของหัจญีประยูร จะออกตัวว่ามีโอกาสสัมผัสกับหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ค่อนข้างน้อย แต่ก็มีข้อแนะนำในเชิงตัวอย่างที่น่ารับฟังและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง “ตอนนี้ที่ดูข่าวจะเห็นโป๊ป (สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก) ไปอาบูดาบี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เป็น breakthrough (ความก้าวหน้า) เลยนะ การที่องค์ประมุขของคริสตจักรไปเหยียบดินแดนคาบสมุทรอาระเบียเป็นอะไรที่ผมว่าสุดยอด ผมเก็บรูปถ่ายไว้เยอะพระซ้อนมอเตอร์ไซค์อิหม่ามทางปัตตานี อันนี้เป็นอะไรที่ทำตรงนี้เถอะ เข้าใจตรงนี้เถอะ พอเข้าใจตรงนี้ก็จะหลุดหมด เหมือนกับที่ผมพูดไว้เสมอ ถ้าผมเป็นมุสลิมที่ดี ผมก็ต้องเป็นพุทธที่ดี ผมก็ต้องรักศาสนาพุทธ เหมือนที่รักความเป็นอิสลาม เพราะว่ามันเป็น universal (สากล)” ประภากรให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

20190623g

หากจะมีบทลงท้ายที่เหมาะสมที่สุดที่จะบรรยายถึงมิตรภาพบนเส้นทาง สัจธรรม ข้อความที่ว่า “ระหว่างท่านอาจารย์กับผม ไม่มีพุทธทาสภิกขุ ไม่มีหัจญีประยูร ไม่มีพุทธ ไม่มีอิสลาม มีแต่ความบริสุทธิ์ใจซึ่งกันและกัน อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ถือศาสนา...” คงจะเพียงพอที่จะเป็นคำตอบสำหรับความสัมพันธ์ที่อยู่เหนือเงื่อนไขของความแตกต่างและกาลเวลา “ถ้าจะมองทะลุเข้าไป มันจะหมายสั้นๆ ว่า มีตัวเรา พระเจ้าสูญ หมดตัวเราพระเจ้ามี

แด่มิตรภาพและสัจจะอันนิรันดร์