อัจฉริยภาพที่ถูกลืมของท่านอาจารย์พุทธทาส

Share

งานจดหมายเหตุ,

Image00002 horz

หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านอาจารย์พุทธทาสในฐานะครูบาอาจารย์ผู้มีอัจฉริยภาพในการอธิบายธรรมะซึ่งเป็นเรื่องยากให้เป็นภาษาร่วมสมัยและถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญ ท่านยังเป็นแบบอย่างแห่งความเพียรและมุ่งมั่นรับใช้พุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด จนสร้างมรดกธรรมจำนวนมากทั้งในรูปแบบเสียงธรรม สื่อธรรมะในรูปแบบต่างๆ จนได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้ท่านเป็นบุคคลของโลก อย่างไรก็ดี อัจฉริยภาพของท่านมิได้จำกัดแค่งานด้านการรับใช้พุทธศาสนา แต่ท่านยังมีความรู้ด้านโบราณคดีมาก จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นคนไทยคนแรกที่เขียนและรวบรวมองค์ความรู้เรื่องอาณาจักรศรีวิชัยอย่างเป็นระบบไว้ในหนังสือเรื่อง “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” แต่น่าเสียดายที่น้อยคนจะรู้จักผลงานท่านในมุมนี้ จนอัจฉริยภาพของท่านอาจารย์ในด้านนี้แทบจะถูกลืมเลือน ในโอกาสวันล้ออายุ (ครบรอบวันเกิด) ๑๑๓ ปี ของท่าน สวนโมกข์กรุงเทพถือโอกาสนำบทสัมภาษณ์และสิ่งที่ท่านค้นพบ รวมถึงมุมมองของผู้รู้ต่อผลงานของท่านมาเล่าสู่กันฟัง

Image00004

จุดเริ่มต้นของความสนใจงานด้านโบราณคดี

Image00005

มูลเหตุมาจากการที่เมืองไชยาเต็มไปด้วยหลักฐานทางโบราณคดี ทางประวัติศาสตร์ มันก็อดสนใจด้วยไม่ได้ ... ผม (พุทธทาส) เข้ามาเกี่ยวข้องกับโบราณคดีสมัยที่มาเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาฯ เมื่อพรรษาที่ ๔ ปี ๒๔๗๓ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุฯ มีเจ้าหน้าที่โบราณคดีคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เขามาจัดทำพิพิธภัณฑ์ ... ผมก็ได้ยินได้ฟังเขาพูดกันเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องโน้น ฟังดูเรื่องมันก็น่าสนใจ จนในที่สุดจับเค้าเงื่อนเรื่อง  “ศรีวิชัย” อย่างใหญ่โต ... ก็เป็นธรรมดาอยู่นั่นเองที่จะต้องสนใจบ้าง เพราะว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ก็พลอยเข้าไปดูเข้าไปศึกษาสังเกต เข้าไปออกความคิดความเห็น มันเป็นเรื่องก่อหวอดตั้งแต่นั้นมา1 และ “เนื่องจาก (ผม) ได้สังเกตเห็นวิธีการของนักวิชาการโบราณคดี เป็นการคิดซอกแซกละเอียดละออ ใช้เหตุผลถี่ยิบ เพื่อวางสมมติฐาน ... อาจนำมาใช้ในการคิดธรรมะให้แตกฉานได้ จึงพอใจในการศึกษาวิชาโบราณคดี และอุทิศตนเป็น ‘นักโบราณคดีสมัครเล่น’ แต่ไม่ประสงค์จะเป็นนักโบราณคดีเลย เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินไป เวลาไม่พอ”2

Image00006

แนวทางการศึกษาโบราณคดีของท่านอาจารย์พุทธทาส

หนังสือเล่มแรกที่ผม (พุทธทาส) อ่านคือ “Towards Angkor in the Footsteps of the Indian Invaders” ของ ดร.ควอริทช์ เวลส์ (H.G.Quaritch Wales) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เป็นเรื่องการเดินทางจากอินเดียข้ามแหลมมลายูที่ตะกั่วป่า ผมก็เลยค้นหา สังเกตอะไรตามที่เขาเคยเขียนไว้ ซึ่งมันก็ไม่สมบูรณ์นักหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่มันก็มีส่วนมาก แล้วตอนที่เกี่ยวกับไชยานี้ เขาเขียนไว้วิจิตรพิสดาร ระบุเรื่องนั้นเรื่องนี้ในไชยามากก็เลยสนุก ผมก็เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แล้วแต่ความรู้สึก3 และเมื่อมีเวลาว่างเดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณคดีจริง

Image00007

สำหรับหนังสือในไทย ผมพยายามอ่านหนังสือทุกเล่มของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เกี่ยวกับโบราณคดี ในภาษาไทยไม่มีหนังสืออะไรจะน่าสนใจเท่าหนังสือของท่าน แต่ตอนนั้นหนังสือประเภทนี้ก็มีไม่กี่เล่ม จำได้ว่าเล่มแรกก็อ่าน “ตำนานพุทธเจดีย์” ในประเทศสยาม ... ต่อมาหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นผู้ประสานงานให้ผมได้เฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อหารือเรื่องโบราณคดีเมืองไชยา ... นอกจากท่านจะทรงประทานความเห็นที่เป็นประโยชน์แล้ว ท่านยังรับสั่งเป็นลายลักษณ์ตามมา4 เพื่อเกิดความเข้าใจที่ตรงกันและชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาจากจดหมายเหตุจีน จารึกอินเดียใต้ จดหมายเหตุอาหรับด้วย

คุณูปการของท่านอาจารย์พุทธทาสต่อวงการโบราณคดี

Image00008

แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะย้ำเสมอว่า ท่านเป็นนักโบราณคดีสมัครเล่น แต่สาระในหนังสือ “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” กลับเป็นที่ต้องการของนักศึกษาประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ที่สำคัญ หนังสือนี้ยังเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีวิชัย ที่เขียนเป็นเล่มโดยคนไทยคนแรก เพราะก่อนหน้านั้น เรื่องราวเกี่ยวกับศรีวิชัยในประเทศไทยเขียนโดยฝรั่งทั้งสิ้น5 ซึ่งสาระสำคัญ ประกอบด้วย ๒ ส่วน

ส่วนแรกว่าด้วยโบราณคดีของดินแดนรอบอ่าวบ้านดอน ประเด็นสำคัญที่ท่านอาจารย์บันทึกไว้คือ

ดินแดนรอบอ่านบ้านดอน ได้แก่  แผ่นดินในท้องที่อำเภอไชยา ท่าฉาง พุนพิน คีรีรัฐนคร (ท่าขนอน) อ.เมือง และกาญจนดิษฐ์ ซึ่งตั้งอยู่รอบอ่าวบ้านดอน เมื่อพิจารณาตามนัยแห่งธรณีวิทยา จะเห็นได้ว่า แผ่นดินรอบๆ อ่าวบ้านดอน เป็นแผ่นดินที่เพิ่งจะงอกออกมา และทั้งกำลังงอกอยู่เรื่อยๆ ในอัตราที่รวดเร็ว เพราะอำนาจของแม่น้ำตาปีที่พาเอาดินโคลนเลนดินทรายมาถมอ่าวให้ตื้นเขินออกไปอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อนนี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งน่าจะเข้าใจว่า แผ่นดินของโลก รอบอ่าวบ้านดอนลอยตัวขึ้น เช่นเดียวกับแถวอื่นของโลก สังเกตจากภูเขาต่างๆ รอบอ่าวบ้านดอน เอียงเฉเทไปทางทิศตะวันออกเสมอ ... ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า อ่าวบ้านดอนสมัยเมื่อสองพันปีมาแล้ว ทะเลกินลึกไปถึงเขตอำเภอท่าขนอนจริงๆ

การมีเครื่องมือหินของคนในสมัยอายุหินจำนวนมากรอบๆ อ่าวบ้านดอน โดยเฉพาะที่ตำบลเขาพัง อ.ท่าขนอน มีเป็นจำนวนมาก ย่อมแสดงว่า ดินแดนรอบอ่านบ้านดอนนี้มีอายุอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยยุคหินยิ่งเป็นการแสดงหรือเพิ่มน้ำหนักให้เหตุผลที่ว่า ทะเลสมัยโน้นได้ลึกเข้าไปถึงเขตอำเภอท่าขนอน เพราะมนุษย์ในสมัยอายุหินนั้น อาศัยริมทะเลซึ่งมีอาหารอุดมกว่าที่ไกลทะเล

ยุค ๒๐๐๐ ปีก่อน ชาวอินเดียได้มายังแหลมมลายูหรือดินแดนสุวรรณภูมิเพื่อประโยชน์แก่การค้า การเผยแพร่ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงแสวงหาดินแดนนอกมาตุภูมิ ได้ใช้ทางคมนาคมขนถ่ายข้ามแหลมที่ตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน จนเป็นเหตุให้ดินแดนส่วนนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมตามแบบอินเดียและศิลปวัตถุตามแบบอินเดีย เช่น พระพุทธรูปแบบอมราวดี หรือพระพุทธรูปสมัยคุปตะ  ซึ่งข้อนี้ยังผลให้คนไทยภาคใต้ มีลักษณะผิดกับไทยเดิมอย่างมากมาย เพราะเป็นเลือดผสมระหว่างเลือดมลายูเดิม เลือดอินเดีย เลือดไทยแท้ ๓ สายปนกัน

นอกจากนี้ ยังมีร่องรอยแสดงว่า เส้นทางตะกั่วป่า-รอบอ่าวบ้านดอนเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับข้ามแหลมมลายูไปยังเขมร และอินโดจีน เนื่องจากการขนถ่ายข้ามแหลมที่นี่สะดวกและรวดเร็วกว่า ทั้งไม่ต้องรับอันตรายจากการพลาดมรสุมหรือโจรสลัดเหมือนกับการใช้ช่องแคบมะละกา ... อาจมีผู้คิดว่า แม่น้ำตะกั่วป่าเล็กเกินไปกว่าที่จะสนองความสะดวกในการขนถ่ายข้ามแหลมดังกล่าวได้ ข้อนี้จะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำนั้นมีมากอย่างไม่น่าเชื่อ คลองไชยาเมื่อสัก ๕๐ ปีที่แล้ว (ปี ๒๔๔๓6) เรือสำเภาจีนขนาดสมุทรเข้ามาได้ บัดนี้แม้แต่เรือเล็กๆ นั่งกัน ๓-๔ คน ยังขึ้นลงลำบาก ... คลองตะกั่วป่าในปัจจุบันซึ่งเคยเป็นแม่น้ำตะกั่วป่า มีอายุตั้งสองพันปีขึ้นไป การตื้นเขินมิได้ด้วยอำนาจของกาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของธรรมชาติ รวมทั้งการทำเหมืองที่ปล่อยน้ำโคลนลงไปในคลองของมนุษย์ด้วยเอง ... ข้อพิสูจน์สำคัญคือ มีซากเรือเดินทะเลขนาดใหญ่หลายลำจมลึกอยู่ใต้โคลนก้นคลอง

ส่วนที่สองว่าด้วยดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนในสมัยศรีวิชัย ท่านอาจารย์บันทึกสาระสำคัญไว้ว่า

เรื่องราวของอาณาจักรศรีวิชัยนี้ไม่มีใครเคยทราบเลย จนกระทั่งปี ๒๔๖๑ จึงทราบว่า มีอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในโลก เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ หนังสือ หรือนิยายใดๆ คำว่า “ศรีวิชัย” มีเพียงในศิลาจารึก ๒-๓ แผ่นเท่านั้น จนกระทั่งศาสตราจารย์เซเดย์ ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ใหญ่หอสมุดแห่งชาติ ได้เก็บความจากศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ และ ๒๓ ก ซึ่งบันทึกด้วยภาษาสันสกฤตโบราณขึ้นเป็นเรื่องราวของกรุงศรีวิชัย และโฆษณาให้โลกทราบ ทำให้วงการศึกษาและวงการโบราณคดีตื่นเต้นกับเรื่องนี้ โดยไม่นึกฝันว่า จะมีอาณาจักรที่ใหญ่โตเช่นนี้ตั้งอยู่นานถึงหลายร้อยปี โดยไม่เคยปรากฏในตำราประวัติศาสตร์เล่มใดเลย

Image00009

นักโบราณคดีจึงถกเรื่องศรีวิชัยกันมาก หลักๆ แบ่งเป็น ๒ ค่าย

ค่ายแรก ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ (George Cœdès) ผู้อ่านและแปลศิลาจารึกได้พิมพ์โฆษณาเรื่องศรีวิชัยเป็นคนแรก (ปี ๒๔๖๑) กล่าวว่า “ราชธานีของกรุงศรีวิชัย อยู่ในเกาะสุมาตรา แถวเมืองปาเล็มบัง แล้วครอบครองดินแดนขึ้นมาถึงบนแหลมมลายู ถึงไชยา เพราะที่ไชยามีสิ่งก่อสร้างและอื่นๆ ในสมัยศรีวิชัยจำนวนมาก”

ค่ายที่สอง (ปี ๒๔๗๘) ดร.ควอริทช์ เวลส์ ได้สำรวจเส้นทางจากตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอน เวียงสระ นครศรีธรรมราช พัทลุง และอื่นๆ เพื่อค้นหารอยทางของวัฒนธรรมอินเดียที่ผ่านมา และพิมพ์โฆษณาว่า อาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่ก่อนแล้วบนแหลมมลายู ... และที่ไชยามีร่องรอยแห่งความเป็นนครหลวงของอาณาจักร คือ โบราณวัตถุ และโบราณสถานสมัยศรีวิชัยจำนวนมาก และสูงถึงขั้นราชสำนัก สุมาตราไม่มีสิ่งเหล่านี้ ที่มีบ้างเป็นประเภทที่เพิ่งเกิดตอนหลัง ต่อมาเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรนี้เคยตั้งอยู่ดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนเป็นระยะยาว ระยะหนึ่งแน่นอน มีร่องรอยโบราณสถาน เจดีย์ และศิลปะให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ เช่น ปฏิมารูปอวโลกิเตศวร ทั้งที่เป็นสำริดและศิลาหลายรูปแบบ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในสมัยปี ๑๗๐๐ ไชยาหมดความเป็นศูนย์กลางอำนาจของศรีวิชัย

Image00010

เสน่ห์ในงานศึกษาโบราณคดีของท่านอาจารย์พุทธทาส

ผู้รู้ให้ความเห็นว่า วิธีการศึกษาโบราณคดีของท่านพุทธทาสนั้น นับว่ามีความก้าวหน้ามากทีเดียวในยุคนั้น มีลักษณะเป็น Cultural history (ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม) กล่าวคือ การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นจากอดีตที่เก่าที่สุดจนถึงปัจจุบัน ที่ก้าวหน้าอีกอย่าง คือ การใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์และการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรเพื่ออธิบายการก่อกำเนิดรัฐศรีวิชัยที่ไชยา ซึ่งนับเป็นความรู้ใหม่มากในยุคนั้น ...

และกว่าจะมาเป็นหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ท่านไม่เพียงศึกษาข้อมูลเอกสาร หลักฐาน หนังสือเท่านั้น แต่ท่านได้ลงพื้นที่ภาคสนามสำรวจแหล่งโบราณคดีต่างๆ ด้วยตนเอง มีการจดบันทึกไว้อย่างละเอียด โดยบางแห่งจะพบว่านอกจากให้ข้อมูลของแหล่งโบราณคดีเบื้องต้นแล้ว ยังมีการวัดขนาดของโบราณสถานที่พบ การวิเคราะห์โบราณวัตถุและการกำหนดอายุที่แสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้ด้านโบราณคดีอย่างแท้จริงคนหนึ่ง7 ขณะที่การนำเสนอข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างระมัดระวังการด่วนตัดสินและให้เกียรติผู้ทำการศึกษามาก่อนหน้ามาก ซึ่งท่านก็พูดไว้อย่างถ่อมตัวว่า “เรา ‘นักโบราณคดีเด็กอมมือ’ ดังนั้น ข้อเขียนจึงอยู่เหนือความผิดและความถูก, มีอะไรก็พูดไปตามความรู้สึก, เลยสบายใจตรงนี้เองว่าพูดไปตามสามัญสำนึกให้ทุกแง่ทุกมุม…”8

Image00011 horz

การสืบค้นหลังหนังสือเผยแพร่

ความจริงแล้ว หลังจากหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอนได้ตีพิมพ์ไปแล้วในปี ๒๔๙๓ ท่านยังคงทำงานสำรวจแหล่งโบราณคดีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๑๔ หรือหลังจากนั้น เพราะเกิดคำถามตามมามากมายอันเป็นผลมาจากการค้นพบหลักฐานใหม่เรื่อยๆ ดังเห็นได้ว่ามีบันทึกอยู่จำนวนหนึ่งที่เขียนหัวกระดาษว่า เพิ่ม “รอบอ่าวบ้านดอน” โดยมีทั้งหมดราว ๕๐ หัวข้อย่อย เช่น เพิ่มเติมเรื่อง “ปัญหา : ปฏิมากรรมสำคัญ–ศรีวิชัย–ที่ไชยา เป็นของทำที่นี่ หรือจนมาจากอินเดีย (ควรตรวจกระทั่งเนื้อหินและโลหะที่ใช้ต่อไป)”, “คำว่ารอบอ่าวบ้านดอนขยายวงออกไปได้ถึง นคร–เวียงสระ–คีรีรัฐ–ตะกั่วป่า–คันธุลี” เป็นต้น9

Image00014 horz

ท่านเล่าว่า แม้ว่าถ้าจะเขียน (หนังสือ) ก็เขียนได้อีกมากเท่าตัว รูปภาพต่างๆ ก็สะสมไว้ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ... พวกที่เล่นกันมามารบเร้าขอให้เขียนต่อ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี มาทุกปี ถามทุกปี ยุให้เขียนต่อ พยายามเขียนต่อ ผมก็ไม่อยากให้เขาผิดหวัง หรือว่ามีความรู้สึกไปในทางเป็นทุกข์ ก็บอกแกว่า “ยัง”ยังไม่กล้าบอกว่า เดี๋ยวนี้ไม่ชอบเสียแล้ว

การยุติงานโบราณคดี

การติดตาม (งานด้านโบราณคดี) เสียเวลามาก ต้องใช้เวลาพอๆ กับศึกษาพระไตรปิฎกทั้งหมด ... ไม่คุ้มค่าเวลา แต่ก็เสียดายวิชาความรู้ที่รวบรวมเป็นประโยชน์แก่คนพวกนี้แหละ แต่เกรงว่า คนชั้นหลังมันจะมายึดถือ เสียเวลา พลอยเสียเวลาเหมือนอย่างเราอีก เราก็จะต้องรับบาปในส่วนนี้ ... สรุปว่า โบราณคดี ไม่มีประโยชน์สำหรับความดับทุกข์ ... เราเลยเลิก10

และนี่คืออัจฉริยภาพด้านโบราณคดีที่ถูกลืมของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่สำหรับนักโบราณคดีและคนท้องถิ่นแล้ว หนังสือ “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” เป็นตำราเล่มแรกของคนไทยที่ชุบชีวิต “อาณาจักรศรีวิชัย” ให้อยู่ในความสนใจของผู้เกี่ยวข้องจวบจนทุกวันนี้


 

อ้างอิง

1 พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, หน้า 393.

2 ทำไมจึงอุตริเป็นนักโบราณคดี? เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, โบราณคดี ไชยา ศรีวิชัย. (2493-2514).

3 เรียบเรียงจาก พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, หน้า 394.

4 พุทธทาสภิกขุ, “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน”, 10 มีนาคม 2545, หน้า 55

5 คุณอรุณ เวชสุวรรณ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์อรุณวิทยา กล่าวไว้ในคำนำในการนำกลับมาพิมพ์หนังสือ “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” ในปี 2529

6 ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนหนังสือนี้ในปี 2493 ย้อนกลับไป 50 ปี คือปี 2443

7 เรียบเรียงจาก พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, พุทธทาสอยากเป็นนักโบราณคดีสมัครเล่น, ศิลปวัฒนธรรม, 16 กรกฎาคม พ.ศ.2560.

8 พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, “เมื่อพระพุทธทาส ‘อุตริ’ อยากเป็นนักโบราณคดี พระสงฆ์ผู้ท้าทายเซเดส์”, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2546

9 พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, “เมื่อพระพุทธทาส ‘อุตริ’ อยากเป็นนักโบราณคดี พระสงฆ์ผู้ท้าทายเซเดส์”, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2546

10 เรียบเรียงจาก พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, หน้า 331 และ 507.