พุทธทาสในความทรงจำ - นิคม เจตน์เจริญรักษ์

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ นิคม เจตน์เจริญรักษ์

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ 29 พฤศจิกายน 2561




    “ได้มีโอกาสเข้าไปเฝ้าท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ในห้องหลังจากท่านสิ้นแล้ว ก็เดินไปในห้องนั้นอยู่คนเดียว ก็จับเท้าท่านบ้าง จับมือท่านบ้าง ดูท่านบ้าง ความรู้สึกเหมือนกับท่านมาสอนอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมะก็คือความเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมดาก็คือธรรมะ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ก็เห็นความเป็นธรรมดาของวิถีชีวิตว่าใครก็ต้องเป็นอย่างนี้” นิคม เจตน์เจริญรักษ์ กรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เล่าถึงสัจธรรมครั้งสุดท้ายที่ ‘พุทธทาสภิกขุ’ ภิกษุธรรมดาๆ ได้จัดแสดงผ่านสังขารที่ปราศจากลมหายใจ บทเรียนที่ควรค่าแก่โลกร่วมสมัยที่ปรารถนาความยิ่งใหญ่จนเกินกว่าจะแสวงหาอะไรที่เป็นธรรมดา

แก่นพุทธศาสน์ ในตู้พระไตรปิฎกเก่าๆ

    เหตุที่เกิดและเติบโตมาในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงเวลาที่การเดินทางจากบ้านมายังสถานศึกษาที่อยู่ในตัวเมืองเป็นเรื่องลำบาก นิคม เจตน์เจริญรักษ์ จึงต้องอาศัยวัดชีสระอินทร์ที่อยู่ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่พักพิงเมื่อครั้งเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น มศ.๔-มศ.๕ ณ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาคุ้นเคยกับวิถีของเด็กวัดที่ต้องปรนนิบัติดูแลครูบาอาจารย์แล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ยังทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับชื่อของ ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นครั้งแรกผ่านงานเขียนที่ถูกเก็บไว้ในตู้พระไตรปิฎกเก่าๆ

    “ที่วัดมีตู้พระไตรปิฎกเก่าๆ แบบโบราณ ไปทำความสะอาดเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ ‘แก่นพุทธศาสน์’ เป็นหนังสือปกเหลืองๆ เก่าๆ ปลวกกินแล้วล่ะ ก็ได้มีโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เดิมก็ไม่เคยรู้จักท่านอาจารย์พุทธทาสนะ หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน โอ้...มันอ่านแล้ว มันดีแฮะ มันให้ความเข้าใจบางอย่าง ถึงแม้จะไม่ได้ทั้งหมดแต่จับความได้ว่าหนังสือเล่มนี้ใจความมีอยู่ 9 คำ ‘ทุกสิ่งไม่เที่ยง อย่ายึดมั่นถือมั่น’ อันนี้เป็นช่วงที่เราจดไว้ในบันทึกว่าเนี่ย มีคำคำนี้อยู่ ตอนนั้นอายุน่าจะประมาณซัก 16-17 ปี ก็ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แต่ก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด” นิคม ในวัย 70 ปี บอกเล่าความทรงจำเมื่อแรกรู้จักชื่อพุทธทาสภิกขุ ก่อนกล่าวต่อไปว่า

    “เสร็จแล้วมีวันหนึ่งเดินกลับบ้านที่อำเภอบ้านแหลม เขามีป้ายประกาศตั้งคำถามในงานศพ หัวใจพุทธศาสนาคืออะไร ใครตอบได้มีรางวัล เราก็เขียนตอบไปว่า ‘สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ –สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น’ ตอบไปแค่นี้ก็ปรากฏว่าได้รางวัล ความรู้สึกมันก็ดีตรงที่ว่า เราได้อ่านหนังสือ ได้เห็นคุณค่าว่า ทำไมถึงได้รางวัลอันนี้ อย่างน้อยมันก็เป็นพื้นในการที่จะเดินต่อไป” กรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ อธิบาย

“นิพพานของเขากับนิพพานที่เราเข้าใจต่างกันมากเลย”

    หลังจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นิคม ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และสอบเข้าเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกอยากแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับธรรมะ “ก็ไปแสวงหาที่วัดมหาธาตุ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) ไปฟังท่านกิตติวุฑโฒภิกขุพูด ท่านพูดเรื่องนิพพานเรื่องอะไรต่างๆ ตามความหมายของทั่วๆ ไป ซึ่ง โอ้...นิพพานนี่เป็นเรื่องยากมากนะ กว่าจะไปถึงนิพพานเมื่อไหร่ล่ะ นานทีเดียว ตายแล้วตายอีก เกิดแล้วเกิดอีก เมื่อไหร่จะได้ไปนิพพาน ต้องสะสมบารมีอะไรต่างๆ เยอะแยะ”

    นิคม เล่าต่อไปว่า “วันหนึ่งได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนชื่อคุณปราโมทย์ เขาเคยไปสวนโมกข์ ไชยา สุราษฎร์ธานี มาแล้ว เขามาคุยเรื่องนิพพาน โต้กัน คุยกันสองคน นิพพานของเขากับนิพพานที่เราเข้าใจต่างกันมากเลย เขาบอกว่า ถ้าคุณสบายใจอยู่ในขณะนี้คุยกับผมไม่มีอารมณ์โกรธ ไม่มีอารมณ์โลภ ไม่มีอารมณ์หลง จิตคุณเป็นนิพพานแล้ว จิตคุณสงบเย็นแล้ว เอ๊...อะไรวะ? เราไม่เคยได้ยินอย่างนี้ เสร็จแล้วก็แนะนำไปที่ร้านหนังสือธรรมบูชาซึ่งอยู่ใกล้ๆ ศาลฎีกา ริมคลองหลอด ของคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ก็ไปหาหนังสือมองด้านในอ่าน ไปขอเทปมาฟัง ก็เริ่มมีพื้น เริ่มเข้าใจว่า ทำบุญ ๓ แบบมันเป็นอย่างไร รบไปพลางศึกษาธรรมไปพลางเป็นยังไง มันมีหลายๆ เล่ม หลังจากนั้น ตอนเรียนอยู่ปี ๓ เพื่อนที่อยู่สุราษฎร์ธานีก็ชวนกันไป 4 คน เพื่อจะไปเที่ยวที่เกาะสมุย แต่ก่อนจะไปถึงเกาะสมุย ต้องแวะที่ไชยาก่อน ก็ไปรถไฟไปแวะที่ไชยา”



ครั้งแรกในสวนโมกข์ “พวกเพื่อนๆ น่าจะได้รู้ในสิ่งที่เราได้รับ”

    “ลงรถไฟประมาณตีสี่ตีห้า เดินเข้าไป (สวนโมกข์ ไชยา สุราษฎร์ธานี) โอ๊ย...ทำไมมันเงียบสงบอย่างนี้ แล้วพระก็ทำวัตรสวดมนต์ มีไฟส่องอยู่ที่ลานหินโค้ง ความรู้สึกจินตนาการว่า โอ้โห...ทำไมมันเหมือนกับสมัยพุทธกาลน่าจะเป็นอย่างนั้น มีความสงบ จิตมันสัมผัสได้ถึงความเยือกเย็นบริเวณนั้น แต่ว่าค่อนข้างจะเงียบเหงา เพราะว่าไม่มีใครมาต้อนรับ พระท่านก็เดินไปเดินมาไม่ได้มีการคุยอะไร จนกระทั่งไปนั่งอยู่หน้าโรงมหรสพทางวิญญาณ ไม่รู้จะไปไหนยังไม่รู้จักท่านอาจารย์พุทธทาสด้วย ก็มีพระองค์หนึ่งมาถาม ชื่อพระอาจารย์วรศักดิ์ วรธัมโม ท่านก็ถามว่า มาทำไม มีธุระอะไรกัน ก็ตอบว่าอยากมาศึกษาธรรมะ อยากจะมาพบท่านอาจารย์พุทธทาสด้วย เสร็จแล้วหลังจากนั้นสายๆ หน่อยท่านก็พามาพบท่านอาจารย์พุทธทาสที่กุฏิท่าน” กรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เผยความทรงจำเมื่อแรกครั้งได้สัมผัสกับสวนโมกข์ และให้ข้อมูลต่อไปว่า

    “ท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งอยู่ที่พื้น ท่านถามว่า พวกคุณมาทำไม มาทำอะไร ก็บอกว่าพวกผมเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์อยากจะมาศึกษาธรรม ท่านบอกว่า เออ งั้นไปหาที่พักก่อน ให้พระไปจัดหาที่พักที่โรงธรรม ก็ไปนอนที่โรงธรรมซึ่งมีโครงกระดูกอะไรต่างๆ ด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตอนเช้าๆ ท่านอาจารย์ท่านอบรมนักศึกษาภาคฤดูร้อนอยู่ด้วย เราก็ได้มีโอกาสมาฟัง มาทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ความรู้สึกยิ่งพองโตใหญ่ โอ๊ย...มาฟังท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วก็ได้ฟังธรรมะ โอ้โห...คือมีพื้นอยู่บ้าง ยิ่งมาฟังในสถานที่ที่หินโค้ง เรายิ่งจิตใจมันพองโต มีแต่ความผาสุก ความสงบ

    อยู่ที่สวนโมกข์ 3 วัน โอ้...มันมีความสุขมากต่างจากชีวิตข้างนอก มีความสุขเหลือเกิน หลังจากนั้นมีความประทับใจมาก ไปเที่ยวสมุยไม่ค่อยสนุกแล้วล่ะ กลับมามีความรู้สึกว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ได้พบได้เห็นที่สวนโมกข์ พวกเพื่อนๆ น่าจะได้รู้ในสิ่งที่เราได้รับ มันเป็นความสุขอย่างมาก เพื่อนๆ น่าจะได้รู้นะ” นิคม เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อสวนโมกข์ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาและเพื่อนๆ จัดกิจกรรมการบวชนักศึกษาในเวลาต่อมา


การเดินทางของ ‘ธรรมศาสตรา’

    จากความประทับใจเมื่อแรกครั้งไปเยือนสวนโมกข์ นิคม ในฐานะนักศึกษาธรรมศาสตร์จึงตัดสินใจปรึกษากับ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ขณะนั้น เพื่อจัดกิจกรรมบวชนักศึกษาเพื่อไปจำพรรษาที่สวนโมกข์ “ไปสวนโมกข์ครั้งแรกปี 2514 แล้วมาจัดกิจกรรมปี 2515 แล้วก็จัดบวชปี 2516 ก็รับสมัครบวชในนามชุมนุมพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ หลวงพ่อปัญญา (พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)) จัดการให้เรียบร้อย ผมเองไปบวชก่อนที่บ้านแหลม เพชรบุรี ที่วัดต้นสน ไปบวชเสร็จแล้วก็กลับมาที่วัดชลประทานฯ ไปช่วยหลวงพ่อปัญญา พอหลวงพ่อบวชให้เสร็จก็นั่งรถไฟไปที่ไชยา

    ช่วงนั้นเข้าใจว่าเป็นช่วงปลายเดือนเมษายนต่อพฤษภาคมของปี 2516 ท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ท่านก็พูดเรื่องธรรมศาสตรา ที่พิมพ์หนังสือเนี่ย ท่านชมผู้ที่ให้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าให้ชื่อดี เดิมมันชื่อธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านบอกว่า ธรรมศาสตร์ มีความหมาย ธรรมะ ศาสตรา คือมีธรรมะเป็นศาสตราวุธ ในการบดขยี้กิเลส บดขยี้ปัญหา บดขยี้สิ่งทั้งปวงที่เป็นอุปสรรคในชีวิต ต้องใช้ธรรมะ ท่านก็เทศน์ประมาณเดือนเศษๆ ได้หนังสือเล่มหนึ่ง ก็รวบรวมและจัดพิมพ์หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เรื่อง ธรรมศาสตรา เล่ม 1 โดยร่วมกับทางสวนอุศมมูลนิธิ ทางสวนอุศมมูลนิธิเป็นผู้จัดพิมพ์” กรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมบวชนักศึกษาในนามชุมนุมพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เรื่องธรรมศาสตรา เล่ม 1 ในเวลาต่อมา



“คุณออกไปทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุดก่อน”

    ความสงบ เย็น เป็นสุข เมื่อครั้งดำรงสมณเพศในสวนโมกข์ ทำให้ นิคม มีความคิดไม่อยากจะลาสิกขา “ช่วงบวชไม่อยากจะสึก เพราะว่ามันอยากมีความสุข ตอนนั้นยังไม่ได้รับปริญญาเลย โยมแม่ก็บอกว่าอย่างน้อยก็ออกมารับปริญญาก่อน อาจารย์วรศักดิ์ (วรศักดิ์ วรธัมโม) ก็พาไปพบท่านอาจารย์พุทธทาส ก็เรียนท่านว่าเราก็ไม่อยากจะสึก ท่านอาจารย์ท่านพูดอยู่คำหนึ่งว่า คุณออกไปทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุดก่อน แล้วหลังจากนั้นหากใจอยากจะบวชอีกจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างนั้นก็ถือว่าท่านอนุญาต หลังจากนั้นก็ไปลาสิกขามาหางานทำ” นิคม เล่าถึงบทสนทนาเมื่อครั้งต้องลาสิกขาจากเพศสมณะ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกทำงานที่จะทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางมาสวนโมกข์ทุกสุดสัปดาห์ว่า



    “หลังจากจบมาก็ไปช่วยงานอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในที่สุดท่านก็แนะนำให้ไปทำงานที่สำนักงานทนายความ ฝึกงานอยู่ซักพักหนึ่งทางธนาคารกรุงไทยเขาเปิดสอบก็มาสอบ ปรากฏว่าสอบได้ที่ 1 ไปทำงานที่ธนาคารกรุงไทยอยู่ฝ่ายกฎหมาย ทำงานที่นั่นก็สนุกเพราะว่าได้ไปทางใต้แวะสวนโมกข์ ไปทุกอาทิตย์ เดินทางวันพฤหัสบดี ทำงานวันศุกร์ เย็นวันศุกร์มาถึงที่สวนโมกข์ไชยา นอนสวนโมกข์ไชยาวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ตอนเย็นกลับมาทำงานวันจันทร์ แล้วก็พยายามหาเรื่องไปทำงานทางใต้ คืองานก็ไม่ได้เสียแล้วเราก็มีความสุขด้วย ก็ได้มีความคุ้นเคยกับท่านอาจารย์ว่า ไอ้หมอนี่มาอีกแล้ว จนกระทั่งท่านอาจารย์รู้จักชื่อนายนิคม รู้จักเลยว่าเป็นอย่างนี้เคยบวชอยู่ที่นี่ด้วย” กรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ให้ข้อมูล

    จากการที่ได้แวะเวียนไปสวนโมกข์อยู่บ่อยครั้งจนก่อเป็นความคุ้นเคย นิคม เล่าถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิตของพุทธทาสภิกขุว่า “ช่วงหนึ่งที่ท่านอาจารย์ป่วย ก็ได้มีโอกาสเข็นรถให้ท่านนั่งไปโรงพยาบาลไชยาบ้าง ได้ขับรถให้ท่านนั่ง บางทีไปสวนโมกข์ช่วงที่ท่านอยากจะออกไปข้างนอก ท่านก็ชวนคุณนิคมขับรถไป ก็ไปตามเนินต่างๆ แล้วท่านก็เล่าอะไรต่างๆ ให้ฟัง ไปตามชายทะเล วันหนึ่งเราไม่ได้เอารถไปก็ไปรถสองแถว ท่านก็นั่งเราก็นั่งไป ก็ไปที่นั่นที่นี่ บางทีอยากจะไปโล่งๆ บ้างล่ะนะ ตอนที่ลงจากรถท่านก็บอกคุณนิคมจ่ายสตางค์ไป จ่ายสตางค์ค่ารถ อุ๊ย...เราดีใจจังแค่ได้จ่ายค่ารถให้คนขับ ดีใจมาก” ความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุในครานั้นผุดขึ้นเป็นรอยยิ้มบนใบหน้าของ นิคม

ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือความเป็นธรรมดา

    แม้จะชี้แจงว่าไม่ได้ใกล้ชิดกับพุทธทาสภิกขุมากไปกว่าอีกหลายๆ บุคคล แต่ในช่วงท้ายของชีวิตของพุทธทาสภิกขุ นิคม เจตน์เจริญรักษ์ ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีโอกาสเข้าไปติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ  “ความจริงไม่ได้คิดว่าท่านจะไปเร็วขนาดนี้นะ ปี 2536 ตามปกติช่วงพฤษภาคมผมก็ไป (สวนโมกข์) อยู่แล้ว แล้ววันที่ 25 พฤษภาคมก็ไป รู้ว่าท่านไปโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานีแล้วก็ตามไป ไปพบอาจารย์หมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) หมอเสริมทรัพย์ (พญ.เสริมทรัพย์ ดำรงรัตน์) ฝ่ายอะไรต่างๆ ก็คุยกันปรึกษากันว่าจะนำท่านกลับมาที่ไชยา ก็คิดว่าไม่มีอะไรแล้ว คิดว่าถ้าท่านไม่ฟื้นขึ้นมาก็คงจะสิ้นในช่วงนั้นเพราะว่าจะตรงกับวันเกิดของท่านพอดี (27 พฤษภาคม) ทีนี้บังเอิญว่ามีลูกศิษย์ลูกหาหลายๆ คน ด้วยความห่วงใยท่านอาจารย์พุทธทาส อยากจะให้เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้มีโอกาสเข้าไปดูท่านอาจารย์ทุกวัน ผมก็ทำงานด้วยนะแต่ไปทุกวัน”



    นิคม ให้ข้อมูลต่อไปว่า “ตั้งแต่วันที่เข้าศิริราช ท่านก็ไม่ได้มีอาการตอบสนองในลักษณะนั้นแล้ว ก็เพียงแต่ว่าเขาก็ช่วยให้หายใจไปอย่างนั้น ได้ดูอาการของท่านอาจารย์แล้ว ท่านอาจารย์คงไม่ลุกขึ้นมาอีกหรอก จากการที่ได้ไปทุกวันก็บอกกับพระไว้ว่าจะกลับสวนโมกข์เมื่อไหร่ก็ต้องโทรบอกกันนะ ท่านพรเทพ (พระพรเทพ ฐิตปัญโญ) โทรไปตอนประมาณตีสาม (วันที่ 8 กรกฎาคม 2536) ‘คุณนิคมเตรียม’ เราก็รู้แล้ว เราก็มาที่ศิริราช” จากนั้น นิคม ก็ได้ร่วมโดยสารเครื่องบินไปพร้อมกับท่านพุทธทาสภิกขุและลูกศิษย์ลูกหาอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางสู่สวนโมกข์ ไชยา สุราษฎร์ธานี

    “กลับมาอยู่ไม่นานท่านก็สิ้น ก็ได้มีโอกาสเข้าไปเฝ้าท่านในห้องหลังจากที่ท่านสิ้นแล้ว เดินไปในห้องนั้นอยู่คนเดียว ก็จับเท้าท่านบ้าง จับมือท่านบ้าง ดูท่านบ้าง ความรู้สึกเหมือนกับท่านมาสอนอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมะก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมดาก็คือธรรมะ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ก็เห็นความธรรมดาของวิถีชีวิตว่าใครก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นช่วงที่ถ่ายรูปกับท่านใบหน้าผมยังยิ้มด้วยซ้ำไป ไม่ร้อง เพราะว่าท่านให้เห็นความเป็นธรรมดาอยู่แล้ว” กรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ บอกเล่าความทรงจำช่วงสุดท้ายของพุทธทาสภิกขุผ่านการสิ้นสุดของลมหายใจแบบภิกษุธรรมดา