พุทธทาสในความทรงจำ - สันติกโร

Share

ประวัติศาสตร์บอกเล่า, งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ สันติกโร

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑



ถ้าเรากระทำกับคนที่มาเรียนธรรมะเหมือนเขาเป็นเด็ก เขาก็จะประพฤติตัวเป็นเด็ก แล้วเขาก็ไม่เติบโต ไม่กล้าดูเอาเอง...ท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ให้เป็นหน้าที่เราที่จะเรียนรู้เอง ถ้าท่านมาแทรกแซงโดยห้าม เราก็ไม่เรียนรู้ มันกลายเป็นเพียงเรื่องเชื่อฟังไม่เชื่อฟัง ดื้อหรือเชื่อฟัง มันยังเด็กอยู่ ซึ่งในทางธรรมยากที่จะเจริญ เรื่องอย่างนี้ท่านไม่ยอม” บางบทสนทนาเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากความทรงจำของ โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน (Robert David Larson) หรือ อดีตพระสันติกโร ผู้เคยบวชจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง ๑๔ พรรษา อาจช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’ ที่ก้าวไปไกลเกินกว่าอัตบุคคล

9999

 สัจธรรมคืออะไร? การเดินทางของคำตอบผ่านชีวิต โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน

“ชื่อตามพาสปอร์ต โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน (Robert David Larson) แต่ผมใช้ชื่อ สันติกโร เหมือนเดิม อายุ ๖๑ ปี เกิด พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ในสหรัฐอเมริกา...ตอนผมอายุประมาณ ๑๒-๑๓ ปี ผมเริ่มตั้งคำถามกับชีวิต ซึ่งอาจจะแปลกจากเด็กทั่วไป เช่น อะไรเป็นสัจธรรม แล้วผมไม่มีคำตอบ เพราะว่าประเด็นนี้ โบสถ์ที่ผมไปไม่ได้เน้นเรื่องนี้ ผมเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า สัจธรรมคืออะไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือ สัจธรรม เพราะพวกนี้ พวกโน้น เขาก็เสนอสัจธรรมแบบของเขา ผมจำได้ตอนผมอายุประมาณ ๑๓ ผมก็จะนอนเฉยๆ แล้วดูร่างกายว่ามันคืออะไร มันเพื่ออะไร นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มรู้ตัวกับความอยากรู้ในบางสิ่งที่จะเป็นแนวธรรมะ” สันติกโร บอกเล่าความทรงจำในวัยเด็กที่อาจเป็นแรงจูงใจให้ออกเดินทางแสวงหาบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใน ก่อนอธิบายถึงกระบวนการในการค้นหาคำตอบผ่านสิ่งที่เรียกว่า วรรณคดี

santikaro 04

“พอไปมหาวิทยาลัย ผมสนใจวรรณคดีส่วนหนึ่งเพราะนวนิยายที่ดีๆ มันช่วยเราดูใจมนุษย์ เรื่องข้างในของมนุษย์มันเป็นยังไง เพราะดูภายนอกมนุษย์มันทำอะไรน่าสงสารเยอะ เช่น ผมโตสมัยสงครามเวียดนาม ทำไมเราทำเรื่องแบบนี้ขึ้นมา ทำไมมีคนยากจน ทำไม ทำไม ผมมีคำถามประเภทนี้ แล้วข้างในมนุษย์มันมีอะไรจึงออกมาแบบนี้ ผมหาความรู้จากวรรณคดี แล้วก็มีปรัชญา จิตวิทยาบ้าง แล้วที่หลังเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลแบบวิเคราะห์เอง ไม่ใช่แค่ให้คนอื่นบอกว่า สัจธรรม อย่างนี้ๆ มึงต้องเชื่อ” สันติกโร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงชีวิตเมื่อครั้งเติบโตในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา

Peace Corps กับพุทธศาสนาในเมืองไทย

หลังเรียนจบจาก University of Illinois ในสาขาวิชาเอกวรรณคดี ก็เป็นเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องอัตราการว่างงาน “พอดีตอนจะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย เป็นยุคที่คนตกงานเยอะ ถ้าผมจบวิศวะหางานง่าย แต่นี่จบวรรณคดี (หัวเราะ) ก็รู้ว่าบางทีหางานลำบากหน่อย ก็เลยถามในใจว่าจะทำยังไงต่อไป เลยนึกถึง Peace Corps (U.S. Peace Corps : หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา) Peace Corps เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช้ความรุนแรงเหมือนทหาร มันมีอุดมคติระดับหนึ่ง ส่งคนอเมริกันไปในทางสร้างสรรค์ ผมว่าส่วนหนึ่งมันจริงใจ ส่วนหนึ่งคล้ายกับสร้างภาพที่ดีให้กับสหรัฐอเมริกา” สันติกโร อธิบายถึงเส้นทางอาสาสมัครเพื่อสันติภาพสหรัฐอเมริกา และเล่าถึงความสนใจในพุทธศาสนาเมื่อครั้งยังเป็นอาสาสมัครสันติภาพ ต่อไปว่า

santikaro 1

“ผมเลือกมาเมืองไทย เพราะว่าอยากรู้เรื่องศาสนาของเอเชียเป็นยังไง พอลงมาที่นี่เป็นพุทธ ผมก็เลยอยากรู้เรื่องพุทธ และตั้งแต่มาใหม่ๆ พยายามหาหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่นานก็มีหนังสืออาจารย์พุทธทาส กับอาจารย์ชา (พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)) หนังสืออื่นก็มีแต่ผมจำไม่ได้ว่าใครเขียน แล้วเป็นภาษาอังกฤษ สมัยนั้นยังอ่านไทยไม่ค่อยออก งูๆ ปลาๆ ชอบ (ผลงานของพุทธทาสภิกขุ) เพราะว่าหนังสือแรกๆ ที่อ่านตอนเป็น Peace Corps เต็มไปด้วยเรื่องเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ ผมมีภูมิหลังด้านวิทยาศาสตร์เยอะ ตอนอ่านวรรณกรรมของคริสต์ เขาก็มีนรก สวรรค์ แบบเขา พอมาเจอแบบพุทธ ผมก็รู้สึกธรรมดามาก ไม่ใช่แรงจูงใจ ผมเลยไม่ประทับใจ แต่การอธิบายธรรมะ แบบท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ไม่ได้เน้นตายแล้วไปเกิดที่ไหน เป็นชีวิตนี้มากกว่า อันนี้ประเด็นหนึ่ง

1230big

สันติกโร กล่าวต่อไปว่า “แล้วอีกประเด็นหนึ่ง การนำเสนอของท่าน (พุทธทาสภิกขุ) วิธีการนำเสนอคล้ายกับว่ามีเหตุมีผล ไม่ได้เน้นความเชื่อ เพราะว่าคนรุ่นผมที่อเมริกาเบื่อศาสนาที่บอกว่าต้องเชื่ออย่างนี้เชื่ออย่างนั้น จนทุกวันนี้ถ้าผมเจออาจารย์ฝ่ายพุทธศาสนาไม่ว่าเป็นพระ เป็นฆราวาส ที่เน้นว่าต้องเชื่อ ผมเลิกสนใจ ผมว่าไม่ใช่พุทธแท้ พุทธแท้มันแล้วแต่เราจะพิจารณา ซึ่งตอนหลังผมเรียนรู้ว่า พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างเดียวไม่พอ ต้องพิจารณาด้วยกระบวนการภายใน แต่ตอนนั้นสมัยนั้นผมยังไม่เข้าใจมากนัก”

การเดินทางสู่สวนโมกข์

ในช่วงท้ายของการทำงานอาสาสมัครเพื่อสันติภาพ โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน มีความคิดที่อยากจะบวชเป็นพระในพุทธศาสนาด้วยเล็งเห็นว่านอกจากจะทำให้เขาได้เรียนรู้พุทธศาสนามากขึ้นแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง “อาจเป็นข้ออ้างในการได้ทุน” เพื่อเข้าเรียนต่อทางด้านศาสนาเปรียบเทียบ ในมหาวิทยาลัยดีๆ ในสหรัฐอเมริกา และนั่นเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เขาได้มีโอกาสพบกับพุทธทาสภิกขุเป็นครั้งแรก

“ผมไปสวนโมกข์เมื่อยังทำงาน Peace Corps ผมบอกอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร)) ว่ามีความประสงค์จะบวชพระ พอจบธุระกับ Peace Corps ปลายปี ๒๕๒๗ ก็จะขอบวช อาจารย์โพธิ์บอกว่าบวชที่นี่ไม่ได้ แต่ใครอยากไปอยู่สวนโมกข์ไปบวชกับหลวงพ่อปัญญา (พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)) ผมก็เลยขอเพื่อนคนไทยช่วยพาไปกราบหลวงพ่อปัญญา ก็ไปบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์” สันติกโร ย้อนความทรงจำเมื่อแรกครั้งเดินทางสู่สวนโมกข์ ก่อนบอกเล่าความประทับใจเมื่อแรกพบพุทธทาสภิกขุเคล้าเสียงหัวเราะว่า

1182big

“ไปสวนโมกข์ครั้งแรก อยู่แค่ ๑ อาทิตย์ ได้พบท่านอาจารย์พุทธทาสตอนวันสุดท้าย ตอนจะกลับ จะไปขึ้นรถไฟ ผมเลยไปกราบ แล้วท่านก็ถามผมว่ามาทำไม (ทำท่ายืดตัวขึ้น พร้อมทำเสียงต่ำ เลียนแบบท่าทางของท่านอาจารย์พุทธทาสในวันนั้น) มาทำไม (หัวเราะกับความทรงจำด้วยความสนุกสนาน) ผมงงๆ ผมบอกว่า ผมอยากบวชครับ ท่านก็ถามว่าอยากบวชทำไม ผมไม่รู้จะตอบยังไงคิดแบบภาษาฝรั่งที่จะบวชเพื่อฝึกกัมมัฏฐาน ผมก็เลย ผมอยากฝึกกัมมัฏฐานครับ ท่านเงียบพักหนึ่ง มองผม ผมก็ (ทำท่ากลัว) มันขำดี แต่ตอนนั้นข้างในมันปั่นป่วน ตอบถูกตอบผิดไม่รู้ ไม่อยากให้ท่านมองว่าเราโง่  เราโง่ แต่ตอนนั้นไม่อยากให้มองอย่างนั้น ท่านเงียบพักหนึ่งท่านพูดว่า เราไม่บวชเพื่อกัมมัฏฐาน ผมรู้สึกแย่ (ทำท่าถอนใจ) ผมงง...ท่านบอกว่าบวชเพื่อศึกษาธรรมทางสายกลาง ผมก็เลย (ทำท่ายกมือประนมเหนือหัว) ครับๆ กราบ แล้วหนีไปขึ้นรถไฟ แต่เรื่องนี้อยู่ในใจตลอด” สันติกโร บอกเล่าความทรงจำเมื่อแรกพบพุทธทาสภิกขุผ่านรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ฉายภาพความงดงามจากความรู้สึก

 “อย่าเป็นกระบอกเสียงที่โง่เกินไป” สันติกโรภิกขุในสวนโมกข์

หลังกลับไปบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ และจำพรรษาที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานีระยะหนึ่ง สันติกโรภิกขุ ก็เดินทางสู่สวนโมกข์ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ และค่อยๆ มีโอกาสใกล้ชิดกับพุทธทาสภิกขุมากขึ้น เมื่อพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร) ได้เสนอหน้าที่ในการตรวจทานงานแปลหนังสือของพุทธทาสภิกขุเป็นภาษาอังกฤษ

santikaro 05

“หลังพรรษาแรกมีหนังสือเล่มเล็กๆ ที่อาจารย์โพธิ์ให้คนไทยที่เป็นนักข่าวบางกอกโพสต์แล้วมาบวชพระช่วงหนึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่พอดีออกพรรษาคนนี้สึก เลยทิ้งหนังสือไว้ อาจารย์โพธิ์ให้ผมตรวจทานภาษา เพราะว่าอาจารย์โพธิ์ท่านอยากจะให้มีหนังสือภาษาอังกฤษ ผมเลยเอาเป็นข้ออ้าง ผมจะทำครับ แต่ผมมีเงื่อนไขคือ ถ้าจะให้ผมตรวจ ถ้ามีข้อสงสัยขอให้ผมมีโอกาสถามท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) อาจารย์โพธิ์ก็ขออนุญาตอาจารย์พุทธทาส อาจารย์พุทธทาสก็ยินดี ก็เลยเริ่มเป็นโอกาส มีคำถามก็ไปถามท่านได้ พอไม่นานท่านเห็นว่าผมฉลาดระดับหนึ่ง แล้วผมมีความจริงใจในความอยากเข้าใจธรรมะ อีกส่วนหนึ่งออกพรรษาพระชาวฝรั่งเศสไปศรีลังกา คอร์สต่างชาติอาจารย์โพธิ์เลยให้ผมทำ ผมเลยต้องพยายามสอนธรรมะโดยความรู้ไม่พอ อาจารย์พุทธทาสท่านเลยให้โอกาส เมื่อผมสงสัยอะไรให้มาปรึกษาได้ ตั้งแต่นั้นผมมีโอกาสเข้าไปกราบ มีปัญหาธรรมะ มีข้อสงสัยก็ไปถามท่านได้ บางอาทิตย์ไป ๓-๔ วัน ท่านให้มาตอน ๕ โมงเย็น แต่ถ้าไม่ว่างผมก็ไม่ได้โอกาส ถ้าท่านว่างท่านก็ให้ผมเข้ามาคุย” สันติกโร อธิบายและเล่าต่อไปว่า

santikaro 03IMG 7285

 “แรกๆ คิดว่าออกพรรษาจะสึกไปเรียนต่อ แต่ตัดสินใจไม่เอาอยู่อีกซัก ๑ ปี แล้วก็อยู่มาเรื่อยๆ แรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เราอยู่แบบนี้มีโอกาสใกล้ชิดท่าน เพราะว่าเรื่องสอนชาวต่างประเทศ เรื่องเป็นล่าม เป็นผู้แปล อีกอย่างหนึ่ง ธาตุเข้ากัน (ยิ้ม) สนใจภาษา ท่านก็ละเอียดเรื่องภาษา ผมไม่ละเอียดเท่าท่าน แต่ผมสนใจที่มาของคำแต่ละคำ เช่น คำว่าทุกข์ รากศัพท์ยังไง ผมสนใจ เพื่อจะหาคำแปลที่เหมาะ เป็นต้น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีเรื่องที่สนใจร่วมกัน สอง คล้ายกับว่าท่านฝึกผมเพื่อสอนคนอื่นต่อไป ท่านไม่มีแรงจะไปสอนฝรั่งโดยตรงมากนัก เลยฝึกผมทำตรงนั้น แล้วผมก็ยินดี ยินดีเป็นเครื่องมือของท่าน ทีหลังท่านเคยแซวผมว่าเป็นกระบอกเสียง ครั้งหนึ่งผมไปกราบท่าน ท่านบอกท่านสันติกโรท่านเข้าใจคำว่ากระบอกเสียงไหม ผมไม่เข้าใจคำนี้ ท่านก็เลย microphone สมัยก่อนเรียก megaphone (โทรโข่ง) ท่านบอกว่า ตัวเอง (พุทธทาสภิกขุ) เป็นกระบอกเสียงให้พระพุทธเจ้า แล้วผมเป็นกระบอกเสียงให้ท่าน (หัวเราะ) แต่ท่านทิ้งท้ายทำนองว่าอย่าเป็นกระบอกเสียงที่โง่เกินไป คือถ้าแค่พูดตามอาจารย์มันโง่ ถ้าอาจารย์ว่ายังไงเราท่องแล้วไปว่าตาม มันขาดปัญญา” สันติกโร เล่าความประทับใจในฐานะกระบอกเสียงของพุทธทาสภิกขุที่ตระหนักรู้ในปัญญา

santikaro 02

 “ถ้าเรากระทำกับคนที่มาเรียนธรรมะเหมือนเขาเป็นเด็ก เขาก็จะประพฤติตัวเป็นเด็ก”

ขณะที่ใครหลายคนอาจมุ่งความสนใจในพุทธทาสภิกขุไปที่ข้อความ หรือตัวหนังสือที่ถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่บทสนทนาจากความทรงจำของสันติกโร กลับทำให้เรารับรู้ถึงความน่าประทับใจในกระบวนการถ่ายทอดบางสิ่งบางอย่างที่อาจดูไม่เป็นทางการ แต่มีผลอย่างสำคัญต่อกระบวนการการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ดังตัวอย่างเรื่องเล่าเกี่ยวกับ กาแฟ ของสันติกโร ความว่า

 “ผมชอบกาแฟ ชอบชาด้วย ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็รู้ว่าผมกินกาแฟ ผมคิดในใจผมชอบกินกาแฟ แต่มาดูสมควรไม่สมควร อยากกินแต่กลัวว่าไม่ถูก ก็เสียเวลากลับการคิดแบบนี้เลยไปปรึกษากับท่านอาจารย์ คล้ายกับว่าอยากให้ท่านชี้ว่าถูก-ผิด ท่านไม่เอา ทีหลังผมก็ไม่ถามว่าถูกหรือผิด แต่ท่านมีความคิดเห็นยังไง ท่านพูดถึงสมัยท่านยังเป็นพระหนุ่ม สมัยบวชไม่นาน อาจอยู่กรุงเทพฯ โยมถวายเนสที (ชาสำเร็จรูป) ที่เป็นผง ท่านเล่าให้ฟังว่า พอคนถวาย ท่านไปชงแล้วอาจจะใส่มากไปหรืออะไร ท่านบอกว่านอนไม่หลับทั้งคืน ท่านบอกว่าต่อจากนั้นไม่กล้า ท่านบอกแค่นี้ ไม่ได้บอกว่าดี ไม่ดี ถูกผิด ท่านแค่เล่าว่า ผมเคยลองครั้งนี้นอนไม่หลับทั้งคืน ก็เลยไม่กิน”

9oo0

สันติกโร ยกตัวอย่างต่อไปว่า “มีประเด็นอื่นๆ ที่ผมไปถามท่าน ท่านก็จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ผม เรื่องของคุณคุณต้องพิจารณาเอง ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับเรื่องฝรั่งมาสวนโมกข์ ผมอยากให้มีระเบียบบอกฝรั่งว่า แต่งตัวอย่างนี้ไม่ถูก ทำอย่างนี้ไม่ถูก ต้องเคารพวัฒนธรรมไทย อยากจะบังคับ ท่านอาจารย์ไม่ยอม และเหตุผลของท่านคือ ถ้าเราไปบังคับ ถ้าท่านบังคับผม หรือชี้ถูกชี้ผิด แทนที่ผมจะพิจารณาเอง ผมจะมอบความรับผิดชอบอยู่กับท่าน ผมจะเติบโตได้ยังไง ในกรณีที่ผมจะออกระเบียบให้ฝรั่งท่านไม่เห็นด้วย โดยเหตุผลท่าน ถ้าเขามีความละเอียด มีสติ มี maturity วุฒิภาวะ เขาก็ตระหนักเอง ไม่ต้องบังคับ ถ้าเขาไม่มีวุฒิภาวะมากพอแล้วเราไปบังคับ เขาก็โมโหเรา ไม่มีประโยชน์อะไรจะไปบังคับเขา ยกเว้นเขาทำให้ใครเสียหายจริงๆ ฝรั่งแต่งตัวไม่สุภาพใครเดือดร้อนเป็นปัญหาของคนที่เดือดร้อน มันกระทบอัตตา ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมาดูที่ใจตัวเอง

 “บทเรียนของผม เออ ใช่ ถ้าเรากระทำกับคนที่มาเรียนธรรมะเหมือนเขาเป็นเด็ก เขาก็จะประพฤติตัวเป็นเด็ก แล้วเขาก็ไม่เติบโต ขออภัยนี่สภาพทั่วไปของพุทธศาสนาในประเทศไทย ไม่กล้าดูเอาเอง...ท่านอาจารย์ให้เป็นหน้าที่เราที่จะเรียนรู้เอง ถ้าท่านมาแทรกแซงโดยห้าม เราก็ไม่เรียนรู้ มันกลายเป็นเพียงเรื่องเชื่อฟังไม่เชื่อฟัง ดื้อหรือเชื่อฟัง มันยังเด็กอยู่ ซึ่งในทางธรรมยากที่จะเจริญ เรื่องอย่างนี้ท่านไม่ยอม” สันติกโร บอกเล่าความประทับใจในกระบวนการสอนแบบพุทธทาสภิกขุที่ปฏิเสธการแทรกแซงความเจริญทางปัญญา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อเส้นทางการเรียนรู้ธรรมในสังคมร่วมสมัย

2019 03 10 044247

Liberation Park

แม้ปัจจุบัน สันติกโรจะเลือกดำเนินชีวิตแบบฆราวาส แต่ประสบการณ์ทางธรรมจากสวนโมกข์และพุทธทาสภิกขุก็ยังคงเรียกร้องให้เขาเดินทางด้านใน การก่อตั้ง Liberation Park ในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Kevala Retreat (https://www.liberationpark.org/) เพื่อเป็นสถานที่ที่ “คนจะมาอยู่แบบวิเวก อยู่อย่างสงบ ถอนตัวออกจากโลกวุ่นวาย เพื่อทำงานภายใน” เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานความสัมพันธ์ระหว่างสวนโมกข์ พุทธทาสภิกขุ และสันติกโร ภายใต้บริบทที่สอดรับกับสังคมอเมริกัน ซึ่งในฐานะกระบอกเสียงที่ไม่ขาดปัญญา สันติกโร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบของการปฏิบัติธรรมเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “แต่ละชีวิตแทนที่จะติดรูปแบบ ทุกวันนี้รูปแบบมันพาเราเป็นทุกข์ก็ได้ ช่วยเราหลุดจากทุกข์ก็ได้ สมควรที่เราจะเลือกรูปแบบไหน วิธีการยังไงที่เหมาะ ไม่มีรูปแบบไหนที่รับรองได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์”