ช่างหัวมัน! หยุดยุ่งเรื่องคนอื่นจะทุกข์น้อยลง

Share

พระไพศาล วิสาโล,

    เพื่อนบ้านแต่งตัวดูไม่น่ามอง ดูชะเวิบชะวาบ ก็อดรนทนไม่ได้ที่จะไปพูดไปยุ่งกับการแต่งตัวของเขา หรือบางทีเขาอาจจะชอบกินเหล้า สูบบุหรี่ คบผู้หญิงมากหน้าหลายตา ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย แต่อดไม่ได้ที่จะเข้าไปยุ่ง อาจจะไม่ได้ยุ่งด้วยการไปจัดการให้เขาเป็นไปอย่างที่เราเห็นว่าถูกต้อง แต่ไปยุ่งด้วยสายตา ไปยุ่งด้วยสายตา หรือไปยุ่งด้วยหู ยุ่งด้วยสายตาก็หมายความว่าไปสอดส่ายดูว่าเขาทำอะไร และจับจ้องมองเห็นแต่ความไม่ถูกต้อง ความผิดพลาดของเขา ความไม่เข้าท่าของเขา แล้วเป็นอย่างไร ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา บางทีก็อดรนทนไม่ได้ พูดตำหนิเขา พูดวิจารณ์เขา ทั้งที่มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย

     หรือว่าเห็นคนบนท้องถนนหรือว่าคนที่เรารู้จักพบปะทั้งที่ไม่ได้ทำงานด้วยกัน แต่ก็อดยุ่งกับเขาไม่ได้เพราะเห็นเขาทำอะไรไม่เข้าท่า แม้กระทั่งอยู่ในวัดเห็นบางคนเขาไม่ปฏิบัติหรือไม่ขยันปฏิบัติเหมือนเรา ก็อดไม่ได้ที่จะพูดตำหนิ ไปยุ่งกับเขา ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเลย เขาจะปฏิบัติหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าเราก็อดยุ่งไม่ได้ อาจจะไม่ได้ยุ่งด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ แต่ไปยุ่งด้วยสายตา หรือไม่ก็ยุ่งด้วยใจก็คือบ่น วิพากษ์วิจารณ์

     ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นผลดีกับเราเลย เพราะว่ามันทำให้เราทุกข์ ทำให้เราหงุดหงิด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มันหล่อหลอมนิสัยที่ชอบไปยุ่ง ชอบไปจัดการกับอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้งที่มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ที่ไม่เกี่ยวข้องก็มี ที่เกี่ยวข้องก็มี แต่ที่ไม่เกี่ยวข้องก็อดไปยุ่งไม่ได้ ยุ่งแล้วก็ทุกข์ แต่มันก็มีเหตุผลที่มักจะมีข้ออ้างว่า ก็เขาทำไม่ถูก ก็ต้องคิดก่อนว่าเขาทำไม่ถูกต้องหรือว่าเขาทำไม่ถูกใจเรากันแน่ เรามักจะมีข้ออ้างว่าที่เราบ่นหรือว่าที่เราไปวุ่นวายกับเขาทั้งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ก็เพราะเขาทำอะไรไม่ถูกต้อง เพื่อนบ้านเขาคบผู้หญิงมากหน้าหลายตา มันจะดีได้อย่างไร มันถูกต้องได้อย่างไร อดบ่นไม่ได้ อดโวยวายไม่ได้

    เรายุ่งกับอะไรต่ออะไรมากมาย กับผู้คน โดยอ้างว่าเพราะมันไม่ถูกต้อง แต่บางทีมันเป็นเพราะไม่ถูกใจเราต่างหาก แล้วบางครั้งในความไม่ถูกต้องกับความไม่ถูกใจ เส้นแบ่งมันก็บางมาก เวลาเห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้องในแบบของเรา ตามความคิดของเรา มันก็กลายเป็นไม่ถูกใจไปทันที หรือถึงแม้ว่ามันจะเป็นความไม่ถูกต้อง จริง ๆ ล้วน ๆ แต่ว่าเราก็มักจะลืมไปว่าเราทำใจให้ถูกต้องหรือเปล่า หากผู้คนทุกวันนี้ไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ เพราะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ลืมดูแลใจของตัวเองให้ถูกต้องหรือว่าดูแลตนให้ถูกต้อง

    ลืมดูแลใจของตัวให้ถูกต้องหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ปล่อยให้ใจมันเต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ความเครียด เห็นแต่ความไม่ถูกต้องของคนนั้นคนนี้รอบตัว แต่ลืมมามองตนว่า ใจของเรามันกำลังจะไม่ถูกต้องแล้ว พอใจไม่ถูกต้องมันก็เผลอพูด แล้วทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น โวยวาย ต่อว่า ด่าทอเขา บางทีก็กลายเป็นว่าทำความไม่ถูกต้องยิ่งกว่า

    พอเรามีนิสัยแบบนี้ สะสมแบบนี้มากขึ้น ๆ การที่จะมาปฏิบัติแล้วก็ไม่ไปยุ่งอะไรกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงกลายเป็นเรื่องยาก เพราะเราหล่อหลอมตัวเองหรือสร้างนิสัยในการไปยุ่งไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากมาย

     เมื่อเป็นเช่นนั้น ครั้นจะไม่ไปจัดการอะไรกับความคิด อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในใจมันก็อดไม่ได้ บ่อยครั้งก็รู้สึกว่ามันคิดไม่ถูก ความคิดแบบนี้มันไม่ดี หรือบางทีก็คิดว่าไม่ควรจะคิดเพราะว่าเรามาปฏิบัติ มันไม่ถูกต้อง หรือบางทีก็ไปให้ค่ากับความคิดต่าง ๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ความฟุ้งซ่านไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องไปจัดการกับมัน

    จัดการกับมันอย่างไร ก็คือว่าไปกดข่มมัน ก็เลยกลายเป็นว่า ที่หลวงพ่อบอกว่าอย่าไปยุ่งกับมัน นักปฏิบัติหลายคนก็เลยบอกว่ามันทำยากที่บอกว่าไม่น่าที่จะเข้าไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ถ้าไม่ไปจัดการกับความคิดและอารมณ์ด้วยการกดข่ม ผลักไสมัน ก็ไปพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด บังคับจิตไม่ให้มีอารมณ์ต่าง ๆ พอไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ แล้วก็ไปยุ่งกับจิต ไปบังคับจิต ก็เลยเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เกิดความเครียด เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคืองคับแค้น สุดท้ายการปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า

     ฉะนั้นถ้าเราจะปฏิบัติ แล้วทำตามที่หลวงพ่อคำเขียนท่านแนะนำ คือว่าอย่าไปยุ่งกับมัน ตราบใดที่เราชอบไปยุ่งไปจัดการกับสิ่งต่าง ๆ นอกตัว บางทีก็ไม่ได้ยุ่งด้วยการกระทำ แต่ไปยุ่งด้วยสายตา ไปยุ่งด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ในใจบ้าง มันก็ทำให้กลายเป็นเรื่องยาก

     เราจะแค่รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ เวลามันมีความคิดมีอารมณ์เกิดขึ้น บางทีเราก็ต้องหัดสร้างนิสัยที่จะไม่ไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แค่ดูมันเฉย ๆ ถ้าเราฝึกแบบนี้บ้างหรือทำแบบนี้บ้างกับสิ่งรอบตัว มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย ถ้าหากว่าเราจะทำอย่างนั้นบ้างกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจหรือกับใจของเรา

     ฉะนั้นการปฏิบัติที่หลวงพ่อเทียนหลวงพ่อคำเขียนท่านสอน พื้นฐานคือการที่เราอนุญาตให้ความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นได้ ไม่ได้ไปกีดขวาง ไม่ได้ไปห้ามมัน แล้วก็ไม่ได้ไปตัดสินว่าอย่างนี้ดีอย่างนี้ไม่ดี คิดดีเอาคิดชั่วหรือคิดไม่ดี ไม่เอา อย่างนั้นไม่ใช่

     หลวงพ่อคำเขียนบอก "คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง" คือไม่ไปยุ่งกับมัน คิดดีก็ไม่ได้ไปหลงใหลเคลิ้มคล้อยกับมัน คิดไม่ดีก็ไม่ไปราวีกับมัน หรือไม่ไปเสียอกเสียใจว่า ทำไมเราถึงคิดไม่ดีแบบนั้น ช่างมันไปเลย อันนี้ก็เป็นวิธีที่จะทำให้เราไม่ไปยุ่งกับความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแค่เฝ้าดูหรือว่ารู้ซื่อ ๆ อย่างที่มันเป็น โดยที่ไม่คิดที่จะไปบังคับให้มันเป็นอย่างที่ควรจะเป็น