รถเมล์ขาว วิธีบริหารงานด้วยธรรมะ

Share

ปัญญานันทภิกขุ,

เมื่อวานนี้ไปที่รังสิต ถามคนคนหนึ่งเป็นผู้ชายว่าเธอทำงานอะไร บอกว่าทำงานที่โรงงานทอผ้า ถามว่าโรงงานนั้นมีกรรมกรสักเท่าไหร่ บอกว่ามีหมื่นนึง โอ ใหญ่โต กรรมกรตั้งหมื่นหนึ่งนี่มันไม่ใช่เล็กน้อย ทำให้คิดได้ว่าโรงงานไปอยู่ในที่ใด ทำให้คนได้มีงานทำเป็นจำนวนมาก และได้เงินใช้ บ้านเรือนดีขึ้น การเป็นอยู่ดีขึ้น การครองชีพก็สะดวกสบายขึ้นเพราะมีโรงงาน

กรรมกรกับเจ้าของโรงงานนี้ต้องอาศัยกันเป็นอยู่ แยกออกจากกันไม่ได้ เหมือนกันหัวแม่มือกับนิ้วชี้...ถ้าหากว่าหัวแม่มือกับนิ้วชี้ไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างงาน งานก็ไปไม่สำเร็จ นายทุนนี่จะต้องคิดว่าฉันมีเงิน ฉันมีโรงงาน แต่ลำพังตัวฉันหรือครอบครัวฉันนี้ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีคนอื่นมาร่วมแรงร่วมใจกันก็ทำอะไรไม่ได้ เปิดโรงงานแล้วไม่มีใครมาทำงาน โรงงานนั้นก็ล้มไม่มีค่า ไม่มีราคาอะไร โรงงานจะมีค่าขึ้นได้ก็เพราะมีคนมาทำงาน งานจึงจะก้าวหน้า สำเร็จประโยชน์จากการตั้งโรงงานได้ เพราะฉะนั้นนายทุนก็ต้องนึกถึงกรรมกรว่าเป็นผู้มีส่วนในการสร้างงาน แล้วก็ต้องอยู่กันด้วยน้ำใจ อย่าเอารัดเอาเปรียบกรรมกรมากเกินไป


ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้

เคยมีเจ้าของงาน คือ คุณหญิงสิน ภรรยาของพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือเรียกว่านายเลิศ นายเลิศนี่มีบริษัทนายเลิศ ตั้งโรงน้ำแข็ง แล้วก็มีรถขาวเมล์ขาว แล้วก็มีเรือขาว เมล์ขาวในรถสะอาด เรือก็สะอาดเพราะทาสีขาว ไม่ค่อยเปราะเปื้อน คนงานก็นุ่งด้วยเสื้อขาว กางเกงขาว เสื้อขาว หมวกขาว

ของขาวนี่คนที่สวมใส่มันระวัง ถ้าสวมเสื้อดำนี่ไม่ระวังนั่งตรงไหนก็ได้ คลุกอะไรก็ได้...ท่านจึงให้แต่งตัวเสื้อผ้าขาว เพื่อให้จิตใจคนมันขาวขึ้นหน่อยเพราะงั้นกรรมกรที่ทำงานในเรือในรถของนายเลิศเนี่ย เขาทำงานด้วยความระมัดระวัง รถขาวเป็นรถที่เรียบร้อยที่สุดในกรุงเทพ ไม่ค่อยมีเรื่องชนกับใคร ไม่มีเรื่องเบียดกับใคร

เขารักษารถของเขา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าคุณหญิงสินนี่ท่านทำกับกรรมกรของท่านเหมือนกับเป็นลูกของท่าน ท่านต้องไปเยี่ยมไปเยียน ไปถามข่าวสารทุกข์สุขดิบ รู้ว่าครอบครัวไหนไม่สบาย ก็จัดการ เวลานั้นยังไม่มีกฏหมายแรงงาน ยังไม่มีอะไรบังคับแต่ท่านทำอย่างนั้น รู้ว่าป่วยก็พาไปโรงพยาบาล ภรรยาจะคลอดบุตรก็พาไปโรงพยาบาล จัดการให้เรียบร้อยแล้วก็จ่ายเอง ไม่ต้องให้ครอบครัวเดือดร้อน ลูกป่วยก็พาไป ลูกคนไหนจะเข้าโรงเรียนจะทำอะไร ท่านรู้จักคนงานทุกคน รู้จักถึงลูกของคนงานด้วย

เพราะลูกเป็นที่รักยิ่งของพ่อแม่ และถ้าใครมาสนใจลูกของตัว เขาก็รู้สึกว่า โอ คนคนนี้เป็นเทพเจ้า เป็นพระแม่เจ้าที่เข้ามาในบ้านของเรา มาช่วยเหลือพวกเรา เขาก็มีความสบายใจ เกิดความรักความเคารพต่อบุคคลผู้นั้น แล้วเขาก็ทำงานเรียบร้อยไม่มีความเสียหาย

คนงานไม่เคยสไตรค์ ที่เขาสไตร์คกันทั่วบ้านทั่วเมือง เรือ รถขาวนี่ไม่สไตรค์กับเขาเลย คือ มันหยุดงานไม่ได้ มันคิดถึงบุญคุณของนายที่ได้ทำไว้กับตนมากมาย นี่เรียกว่า นายประพฤติธรรม เอาธรรมะไปใช้ในชีวิต ในการงาน ก็เป็นเครื่องสมานมิตรไมตรีกับคนที่ทำงานไว้ได้ เป็นวิธีการที่ถูกต้อง

หากคนเราที่เป็นเจ้าของงานมักจะเหินห่างจากกรรมกร ไม่ค่อยเอาใจใส่ได้ดูแล เจ็บไข้ได้ป่วยไม่รู้ไม่ชี้ ใครจะเป็นยังไงไม่รู้ ที่อยู่ที่อาศัยก็ให้อยู่กันอย่างลำบาก คับๆ แคบแล้วก็ไม่มีบริเวณให้เด็กเล่น ไม่มีการสงเคราะห์อะไร อย่างนี่ความรักจะเกิดได้อย่างไรเพราะไม่มีการให้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ, ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ แปลว่า ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ถ้าเราให้เราได้มิตร ถ้าเราไม่ให้จะได้มิตรอย่างไร

ให้เขาบ่อยๆ ความมิตร เป็นมิตรมันก็มั่นคงขึ้น เป็นการกระชับเกลียวแห่งความเป็นมิตร เราต้องเอาชนะคนอื่นด้วยการให้ ชนะด้วยกำลังนี่มันใช้ไม่ได้ ไม่ชนะแล้วก็จะมีการต่อสู้กันในภายหลัง สร้างปัญหาขึ้นในสังคม

แต่ถ้าเราชนะด้วยการให้สบายมาก เท่ากับเป็นการชนะที่ถาวร ไม่มีความยุ่งยากอะไร

คนที่เขาปฏิบัติตามหลักธรรมะจึงทำอย่างนั้น จิตใจเขาสบายเวลาให้ และก็มีความสุขใจเมื่อได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร่วมงาน คนร่วมงานทุกคนก็มีความสุขใจสบายใจ เรียกคุณหญิงว่าคุณแม่ทั้งนั้น ไม่ว่าใครเรียกคุณแม่ คุณแม่ทั้งนั้น

ถ้ามาถึงโอ้คุณแม่มา มักจะมีของเล็กๆ น้อยๆ มาแจก แจกเด็กๆ ลูกหลานของพวกกรรมกรเหล่านั้น ลงทุนนิดหน่อยแต่กำไรมันล้นเหลือ เพราะได้กำไรจากน้ำใจของคนเหล่านั้น

คนอย่างนี้เขาเรียกว่า คนเข้าถึงธรรมมะ เอาธรรมะไปใช้ในครอบครัว ในโรงงาน การงานมันก็ดีขึ้นไม่มีปัญหาอะไร

ปัญญานันทภิกขุ

ที่มา https://pagoda.or.th/lp-panya/2019-05-24-13-37-04-2.html