ทำดีไม่พอ ต้องทำใจให้ดีด้วย

Share

ในชั่วชีวิตของเราไม่ว่าสั้นหรือยาว มีอะไรที่ต้องทำมากมายหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การทำดี การทำดีเป็นพื้นฐานของทุกชีวิตที่เป็นมนุษย์ เป็นตัวชี้วัดความเป็นมนุษย์ของคนเราก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่สติปัญญา เทคโนโลยี ภาษาที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งนั้นคือการทำดีต่างหาก การทำดีเป็นพื้นฐานของทางพระพุทธศาสนา แต่ถ้าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทำดี ก็คงไม่ต่างจากศาสนาอีกมากมาย และที่จริงแล้ว ถ้าหากว่าสาระสำคัญมันอยู่ที่การทำดี ไม่มีศาสนาก็ได้น่ะ คนที่ไม่มีศาสนาไม่นับถือศาสนาจำนวนไม่น้อยก็เป็นผู้ที่ทำความดี แล้วก็เรียกว่าอุทิศตนเสียสละเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม บางทีเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ 

  • ไม่มีศาสนาก็ทำดีได้

    เดี๋ยวนี้มีปรัชญาจำนวนไม่น้อยเลยที่ชักชวนให้คนทำความดี ซึ่งในบางเรื่องก็มันสอดคล้องกับยุคสมัยด้วย เช่นแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาหลายสำนัก อย่างที่โดดเด่นคือนิเวศวิทยาแนวลึก เขาก็มีแรงบันดาลใจมากในการชักชวนให้คนเสียสละ อุทิศตนเพื่อรักษาธรรมชาติ คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเร่งให้แก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในขณะนี้ หลายคนเขาก็ไม่มีศาสนา แต่เขาทุ่มเทมาก อุทิศตัวมาก เพราะเขาเห็นว่านี่คือจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่คนเราต้องมี

    บางคนก็เสียสละ ยอมติดคุกในการประท้วงโครงการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น มีการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลซึ่งทำให้โลกร้อนมากขึ้น บางพวกก็อุทิศตัวเพื่อการปกป้องรักษาสิทธิของสัตว์ สัตว์ถูกทรมานในฟาร์มที่ทำเป็นอุตสาหกรรมก็ดี ที่ถูกทำร้ายในการทดลองวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ก็ดี คนจำนวนไม่น้อยก็ไปช่วยสัตว์พวกนี้ออกมา ยอมติดคุกเพื่อช่วยสัตว์เหล่านี้ให้ได้รับการปกป้อง บางคนก็ไม่ได้นับถือศาสนา แต่เขาเห็นว่านี่คือความดีที่มนุษย์เราควรจะมีและกระทำต่อสัตว์หรือชีวิตร่วมโลก
     
    บางคนก็ถึงกับเอาตัวเองไปขวางการตัดไม้ กอดต้นไม้เอาไว้ ต้นไม้ขนาดใหญ่เพราะถ้าใครจะมาตัดต้นไม้ ก็จะต้องฆ่าคนที่กอดต้นไม้ด้วย บางทีไม่ได้กอดต้นไม้ ไปแขวนตัวเองอยู่บนต้นไม้ อยู่บนคาคบกิ่งไม้สูงๆ กินนอนตรงนั้นเลย เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้ตัดต้นไม้  เพราะตัดต้นไม้ ต้นไม้โค่นล้มลงมา คนที่อยู่บนต้นไม้ก็ต้องตกลงมาตาย พอตกมาตายก็กลายเป็นข่าวคราวดังไปทั่วโลก ก็ทำให้การตัดต้นไม้หยุดชะงักหรือว่ากลายเป็นคดี ต้องมีการฟ้องร้องกัน ขึ้นโรงขึ้นศาล บริษัททำไม้ก็ต้องเดือดร้อนเสียเงินเสียทองมาก เขาก็เลยไม่กล้าตัด แต่ก็ไม่แน่น่ะ บางทีเขาก็กล้าตัดขึ้นมา ซึ่งก็หมายความว่า    คนที่อยู่บนคาคบบนต้นไม้ก็ต้องตกมาตาย พวกนี้ก็เรียกว่าทำความดีเสียสละเพื่อรักษาป่า เพื่ออนุชนคนรุ่นหลัง คนเหล่านี้จำนวนมากก็ไม่มีศาสนา แต่เขามีความเชื่อเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือว่าสิทธิของต้นไม้ สิทธิของสัตว์
     
    อันนี้ก็คือปรัชญาหรืออุดมการณ์สมัยใหม่ที่สามารถบันดาลใจให้คนทำความดีได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยศาสนา 

    การทำดี และ การทำใจให้ดี

    ฉะนั้นถ้าศาสนาพุทธมีแต่เรื่องสอนให้คนทำความดี ก็อาจจะไม่มีความสำคัญมาก ไม่ได้แตกต่างไปจากศาสนาอื่นหรือว่าปรัชญาอุดมการณ์อื่นๆในทางโลก แต่ที่จริงถ้าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทำความดี คำสอนในพระพุทธศาสนาก็มีแค่ศีลก็พอ ส่วนสมาธิ ปัญญาก็ไม่จำเป็น ไตรสิกขาก็ไม่จำเป็น สอนแค่ศีลก็พอ แต่พระพุทธศาสนาท่านสอนเรื่องไตรสิกขา มีศีล สมาธิ และปัญญา สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องที่มากไปกว่า การทำความดี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่ามันเป็นเรื่องของการทำใจให้ดี
     
    ทำดี ถ้าหากว่าจำกัดอยู่แค่ศีล มันก็ไม่พอน่ะที่จะช่วยทำให้คนเราพ้นทุกข์ได้ ทำดีแล้วมันต้องมีอีกประการหนึ่งก็คือทำใจให้ดีด้วย ถ้ามีแต่ทำดีไม่ต้องมีศีล ไม่ต้องมีไตรสิกขา หรือมีแค่ศีลก็พอ สมาธิภาวนาก็ตัดทิ้งไปนั้น หรือว่าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทำดีละชั่ว โอวาทปาติโมกข์ก็มีแค่ 2 ประการก็พอ ไม่ต้องมีข้อที่ 3 คือว่าทำจิตใจให้ผ่องใส หรือบุญกิริยาวัตถุก็มีแค่สองคือทาน ศีล ไม่ต้องมีภาวนา
     
    แต่เราก็ทราบน่ะว่านอกจากทาน ศีลแล้ว ก็ต้องมีภาวนาด้วย นอกจากศีลก็ต้องมีสมาธิและปัญญาด้วยน่ะ ถึงจะเป็นพระพุทธศาสนา หรือเป็นพุทธธรรมที่ครบถ้วน นอกจากทำดีละชั่วหรือเว้นชั่วแล้ว ก็ต้องทำจิตให้ผ่องใสบริสุทธิ์ด้วย มันจึงจะเป็นพระพุทธศาสนาที่ครบถ้วนเพราะฉะนั้นทำดีก็ดีแล้วแต่ไม่พอ มันต้องทำใจให้ดีด้วย และถ้าหากว่าเราทำใจให้ดี มันก็จะไปช่วยขยายหรือกำกับการทำดีให้เป็นการดีอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำดีเอาหน้า หรือไม่ใช่คำดีเฉพาะแค่ไม่เอาเปรียบเบียดเบียน แต่มีความหมายกว้างไปถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย
     
    เดี๋ยวนี้ทำดี คนจำนวนไม่น้อยก็ไปเข้าใจว่าหมายถึงเฉพาะการรักษาศีล หรือการมีศีล 5 ครบถ้วน ซึ่งก็ดีน่ะ แต่มันไม่พอ ศีล 5 มันเป็นเพียงแค่การไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้วก็ไม่เบียดเบียนในบางเรื่องด้วยน่ะ ไม่ใช่ว่าไม่ได้เบียดเบียนแบบเบ็ดเสร็จ แต่ไม่  เบียดเบียนในเรื่องที่มันร้ายแรง บางเรื่องที่มันอาจจะร้ายแรงน้อยกว่าแต่ก็ไม่ได้อยู่ศีล 5 ก็มีเยอะ

    ทำดีกับคนที่ไม่ดี

    ศีล 5 เป็นเพียงแค่การทำดีเบื้องต้นหรือการทำดีขั้นต่ำ มากไปกว่านั้นก็คือการเอื้อเฟื้อ และที่จริงไม่ต้องเอื้อเฟื้อไกลหรอกแค่เอื้อเฟื้อคนที่อยู่ใกล้ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ที่ไม่ได้ทำดีกับเรา เวลาพูดถึงการทำดี คนจำนวนไม่น้อยก็นึกถึงทำดีกับคนที่เขาทำดีกับเรา ใครดีกับเราเราก็ดีด้วย ใครไม่ดีกับเราเราก็ไม่ดีด้วย อันนั้นมันไม่ถูกต้อง แม้กระทั่งคนทำไม่ดีกับเราเราก็ควรจะทำดีด้วย แล้วคนที่ทำไม่ดีทำดีกับเราก็ไม่ใช่ใคร ก็เป็นคนที่ใกล้ตัว แต่ครั้นจะทำดีกับเขา ใจก็ไม่กว้างพอ อันนี้เป็นเพราะว่าไม่ได้ทำดีที่ใจด้วย เพราะว่าถ้าหากทำใจให้ดีแม้คนที่ทำไม่ดีกับเราเราก็ทำดีกับเขา และที่จริงมันก็อย่างที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนไกลตัวหรอก คนที่ใกล้ตัวนี้แหละ ทำดีกับเขาทั้งที่เขาไม่ได้ทำดีกับเราก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
     
    มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า สามีชอบกระแนะกระแหนตัวเธอเพราะว่าเธอสนใจธรรมะ ชอบไปวัด ชอบไปทำบุญ บางทีก็ไปปฏิบัติธรรม แต่สามีก็คอยกระแนะกระแหน เธอก็ขุ่นเคือง วันหนึ่งก็ไปเล่าเรื่องนี้ให้เจ้าอาวาสในสำนักที่ตัวเองไปทำบุญเป็นประจำ เจ้าอาวาสท่านก็บอกว่าก็ทำดีกับเขาสิ เวลาเขากลับบ้านมาจากที่ทำงาน ก็หาน้ำเย็นๆมาต้อนรับเขา พูดดีกับเขา ไต่ถามทุกข์สุขเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยไหม ผู้หญิงคนนั้นก็ถามกลับไปว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร อันนี้ขนาดพูดถึงสามีไม่ใช่ใครเลย พระท่านก็ตอบดีว่า ก็เหมือนกับโยมว่ามาทำบุญที่วัดโยมก็ไม่ได้หวังอะไรเลยไม่ใช่หรือ ก็ทำอย่างนั้นกับสามีสิ ไม่ต้องหวังอะไรเหมือนกับที่ทำกับอาตมา
     
    เธอก็ใจไม่ค่อยคล้อยตาม แต่นับถือครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอกลับไปบ้าน เวลาสามีกลับจากที่ทำงาน เธอก็เอาน้ำเย็นๆมาต้อนรับ เอาของขบเคี้ยวมาให้ แล้วก็พูดจายิ้มแย้มแจ่มใสไต่ถามว่าเหนื่อยไหม ในใจจริงก็ไม่ได้มีความศรัทธาในสิ่งที่ทำหรอก แต่ว่าครูบา อาจารย์แนะนำ ก็ต้องลองทำดู ปรากฏว่าไม่นานท่าทีของสามีก็เปลี่ยนไปเลย จากเดิมที่สามีคอยกระแนะกระแหนก็เริ่มที่จะมาพูดดีด้วยแล้วก็ชื่นชมเธอ บอกว่าไปวัดนี่ก็ดีเหมือนกัน ท่าทีสามีก็ค่อยๆเปลี่ยนไปจนกระทั่งเลิกกะแนะกะแหน
     
    เธอดีใจมาก ตอนหลังเธอก็ได้ไปกราบเจ้าอาวาสแล้วก็เล่าให้ฟัง เรื่องที่สามีมีท่าทีเปลี่ยนไป แล้วก็พูดกับเจ้าอาวาสว่า รู้อย่างนี้ทำไปนานแล้ว นี้เป็นตัวอย่างของคนที่สนใจธรรมะเข้าวัดบางทีการทำความดีของเขา มันก็ยังคับแคบ ก็คือว่าทำดีเฉพาะกับคนที่ดีกับเรา ถ้าไม่ดีกับเรา ก็ไม่ทำดีด้วยหรือไม่อยากทำดีด้วย ทั้งที่คนนั้นก็ไม่ใช่ใคร ก็คนในบ้านนั้นแหละ แม้กระทั่งพระแนะนำให้ทำความดีกับเขา ก็ ยังเถียงนึกในใจว่าทำแล้วได้อะไร แต่ด้วยความศรัทธาเจ้าอาวาสนับถือเป็นครูบาอาจารย์ก็เลยลองทำดู แล้วพอทำแล้วเห็นผล ก็รู้เลย รู้อย่างนี้ทำไปนานแล้ว
    แต่ว่าทำดีกับคนใกล้ตัวก็ยังไม่พอ ก็ต้องทำกับคนที่ไกลตัวออกไปแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำดีกับเรา อันนี้ก็ต้องอาศัยใจ ใจที่ฝึกให้มีศรัทธาในความดี ใจที่มีเมตตา เพราะฉะนั้นการทำใจให้ดี มันจึงเป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน และมันไม่ได้แค่ช่วยทำให้การทำความดีของเราแผ่กระจายขยายไปสู่คนที่ไกลออกไปหรือคนสู่คนที่เขาไม่ได้ทำดีกับเรา มันยังช่วยทำให้เราสามารถจะรักษาใจให้ปกติได้เวลามีอะไรมากระทบ เวลามีความเจ็บป่วย เวลาโดนต่อว่าด่าทอ เวลาเจออุปสรรคการงาน เจอความยากลำบากถ้าเรารู้จักทำใจให้ดีมันก็ช่วยทำให้ใจไม่เป็นทุกข์ มีคนที่ทำดีหลายคนแม้ว่าจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบใคร รวมทั้งมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็มีความทุกข์ ทุกข์เพราะเรื่องงาน ทุกข์เพราะเรื่องครอบครัว หรือว่าทุกข์เพราะเหตุการณ์บ้านเมือง หรือทุกข์เพราะวิตกกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอน 

    ทำไมทำความดีแล้วถึงทุกข์

    หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมฉันทำดีแล้วฉันก็ยังมีความทุกข์ อันนี้คือคำถามที่เกิดขึ้นกับหลายคนรวมทั้งคนที่ทำดีในลักษณะของการไปวัดทำบุญทำกุศลถวายสังฆทาน รวมทั้งรักษาศีล 5 แต่พอเจ็บป่วยขึ้นมาก็ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ฉันทำดีแล้วทำไมจะต้องมา เจอแบบนี้ อันนี้ก็เป็นเพราะว่าขาดสิ่งหนึ่งไปคือการรู้จักฝึก หรือทำใจให้ดี
     
    การทำความดีอย่างเดียวไม่พอ มันต้องรู้จักฝึกใจหรือว่าทำใจให้ดีด้วย ทำใจให้ดีนั้นก็ต้องอาศัยสมาธิอาศัยปัญญาหรือการฝึกจิตให้เกิดปัญญาขึ้นมา และการฝึกมันก็ต้องเอาตัวเข้าไปฝึก เข้าไปกระทำด้วย ซึ่งหลายคนบางทีก็สนใจธรรมะ ฟังธรรมะอยู่เป็นประจำ แต่ว่าหลายคนมักจะสงสัยว่า ทำไมฟังธรรมะ มันก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือบางทีไม่ได้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นมาเลยกับชีวิตกับเหตุการณ์ต่างๆ
     
    บางคนก็ฟังธรรมะมามากมายแต่ก็ยังเป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนมักโกรธ บางคนก็ยังเป็นคนตระหนี่ บางคนก็ยังเป็นคนขี้วิตกกังวล อันนี้แทบจะร้อยทั้งร้อยก็เป็นเพราะว่าไม่ปฏิบัติ ได้แต่ฟัง การฟังแต่ว่าไม่ปฏิบัติ มันไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตจิตใจของตัวเองเท่าไร ซึ่งเจ้าตัวอาจจะไม่ได้สังเกตแต่ว่าคนที่อยู่รอบข้างสังเกตได้ ฟังธรรมะทุกวันเช้าเย็นก็ยังขี้โกรธ ยังเป็นคนขี้หงุดหงิดเจ้าอารมณ์บ่นนั้นบ่นนี่กระเปาะกระแปะ หลายคนฟังก็ทั้งที่เห็นดีด้วยแต่ที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่าไม่มีการปฏิบัติ

    คนสอนยาก

    ในวงการธรรมะบางทีเราจะเจอคำว่า คนที่สอนยาก คนที่สอนยากไม่ได้หมายถึงคนที่ไม่ฟังธรรมะไม่สนใจธรรมะ แต่ยังรวมถึงคนที่ฟังธรรมะสนใจธรรมะแต่ว่าไม่ปฏิบัติ บางทีก็ใช้เหตุใช้ผลมากกว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าเพียงแค่มีเหตุมีผลก็พอแล้ว เพียงแค่รู้ผิดชอบชั่วดีก็พอแล้ว แต่ความจริงก็มีอยู่ว่าแค่มีเหตุมีผล มันยังไม่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตจิตใจมากเท่าไร และบ่อยครั้งก็ช่วยแก้ทุกข์ไม่ได้ด้วย เพราะบางคนก็ยังเครียด บางคนก็ยังไม่ วิตกกังวล บางคนก็ยังจมอยู่กับเหตุการณ์เก่าๆในอดีต หรือความรู้สึกผิดที่ติดค้างคาใจ เหตุผลไม่ได้ช่วยเลยเพราะมันมีข้อจำกัดและแม้เหตุผลจะเห็นให้คล้อยตาม ที่ฟังที่บรรยายธรรมะเห็นด้วยถูกต้อง แต่พอไม่ปฏิบัติหรือถ้าไม่ปฏิบัติมันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา การปฏิบัติหมายถึงอะไร หมายถึงการมองตน กลับมามองตน คนเราถ้าไม่รู้จักมองตน มันก็จะไม่รู้ว่าความทุกข์ สาเหตุของมันอยู่ที่ไหน
     
    ถ้าเราไม่มองตน เหตุผลที่มีอยู่ก็จะชักพาเราไปโทษคนอื่นว่า คนอื่นทำให้เราทุกข์ หรือโทษดินฟ้าอากาศทำให้เราทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเราจะรู้จักมองตัวแล้วก็จะเห็นว่ามันใช่แน่หรือว่าคนอื่นทำให้เราทุกข์ใจ ความทุกข์ใจ มันไม่ได้อยู่ที่ใจของเราหรือ และสาเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจเราหรือเปล่า บางทีคนก็มองไม่เห็น 
     
    อย่างคนที่แบกหินแล้วก็บ่นว่ามันหนักๆ แต่พอถามว่าหนักหรือทุกข์เพราะอะไร คนจำนวนไม่น้อยก็จะบอกว่าเพราะหินมันหนัก แต่น้อยคนที่จะตอบว่าเป็นเพราะว่าเราแบกมัน ไปโทษว่าหินหนัก แต่ไม่ได้โทษว่าเป็นเพราะว่าเราแบกมัน
     

    ถ้าหากว่า หันมามองตน แล้วรู้ว่า ที่ทุกข์นั้นเป็นเพราะแบก คำตอบก็จะเฉลยเลย ก็ปล่อย ก็วางสิ เพราะฉะนั้นคนเราจะเห็นตรงนี้ได้ มันต้องมองตน ถ้าไม่รู้จักมองตน มันก็ไม่เห็น แล้วคนที่ฟังธรรมะมากๆบางทีฟังแล้วก็เห็นด้วยแต่ว่าพอถึงเวลาจริงๆ พอเขามีความทุกข์ ก็ไปโทษข้างนอกตลอดเวลา ไม่ได้หันมามองตนเท่าไร หรือว่าบางทีพระท่านก็สอนว่าให้รู้จักหาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ เวลามันเจอความยากลำบาก เจออุปสรรค เจอคนที่ทำไม่ถูกใจ หรือว่าเจอปัญหาต่างๆเช่น ความเจ็บความป่วย ให้รู้จักหาประโยชน์จากมันว่ามันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
     
    พระพุทธเจ้าก็สอน ครูบาอาจารย์ก็สอน แต่พอเวลาเจออนิฏฐารมณ์ เจอความสูญเสีย เจอคำต่อว่าด่าทอ เจออุปสรรค ก็เอาแต่บ่นโวยวายตีโพยตีพาย บางทีก็ว่าทำไมต้องเป็นฉัน ๆ อันนี้เป็นเพราะว่าไม่ปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วจะเห็นเลยว่าเราต้องรู้จักหาประโยชน์จากมันให้ได้ เวลาเจอมัน เจออุปสรรค เจออนิฏฐารมณ์ เจอโลกธรรมฝ่ายลบ เสื่อมลาภเสื่อมยศ หรือว่าเจอสุข เจอนินทาว่าร้าย แทนที่จะบ่นโวยวายตีโพยตีพาย ก็ลองดูสิว่ามันจะให้ประโยชน์กับเราอย่างไร เอามาใช้เป็นเครื่องฝึกสติ เอามาใช้เป็นเครื่องฝึกขันติ
     
    เหมือนอย่างที่เคยเล่าเวลาโจนจันไดโดนเจ้านายด่าว่า แกพนมมือเลยว่าขอบคุณครับ ขอบคุณเพราะอะไร ขอบคุณที่ช่วยเตือนให้ผมเห็นว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน ขอบคุณที่ช่วยเตือนให้ผมกลับมามองตน ขอบคุณที่ช่วยเตือนให้ผมกลับมาจัดการความโกรธในใจตน อันนี้คือประโยชน์จากการหาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ หรืออย่างน้อยๆก็เรียนรู้ที่จะยอมรับมัน ทำอย่างไรที่เราจะยอมรับมันโดยไม่บ่นไม่โวยวายตีโพยตีพาย
     
    เรื่องพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน ฟังแล้วแต่ว่าพอถึงเวลาก็จมอยู่ในความทุกข์ อันนี้เพราะว่าไม่ปฏิบัติ ก็จัดว่าเป็นการสอนยากแบบหนึ่ง สอนยากไม่ใช่แปลว่า ไม่ฟัง ปิดหู บางทีมันหมายถึงว่าฟังแล้วแต่ก็ฟังแบบเพลินๆ แต่ไม่ได้ นำไปปฏิบัติเพราะคิดว่าฉันรู้แล้ว บางทีฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะว่ามันฟังจนเคยชินแล้วก็เลยคิดว่าไม่ต้องปฏิบัติเลยก็ได้ แต่ของพวกนี้ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ บางทีใช้เหตุใช้ผลอย่างเดียวไม่พอ ก็เหมือนกับผู้หญิงคนที่อาจารย์แนะนำว่าให้ทำดีกับสามี ใช้เหตุใช้ผลมันก็อาจจะได้ข้อสรุปว่าทำไปแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมา ยิ่งทำให้เขาได้ใจ แต่พอปฏิบัติจริงๆมันให้ผลตรงข้ามกับที่คิด
     
    เหตุผลมีข้อจำกัดจนกว่าเราจะปฏิบัติ แม้กระทั่งการมาอยู่ในที่ๆมันไม่คุ้นเคย อย่างบางคนติดโทรศัพท์ติดความสะดวกสบาย พอบอกว่าให้ลองมาอยู่ในที่ที่ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หลายคนจะบอกว่าอยู่ไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร อันนี้เพราะใช้เหตุใช้ผล รู้สึกว่ามันลำบาก ฉันอยู่ก็ทุกข์สิ แต่พออยู่จริงๆกลับรู้สึกสบาย ไม่เป็นทาสของโทรศัพท์ มีเวลาว่างเป็นของตัวเองมากขึ้น ได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิตที่เนิบช้ามากขึ้น ต่อเมื่อได้เจอเองหรือได้ลองปฏิบัติ ได้สัมผัสของจริงมันถึงจะเห็น แต่ว่าถ้าใช้แต่เหตุใช้ผลอย่างเดียวบางทีมันได้ข้อสรุปตรงข้ามว่า อยู่แล้วมาแล้วได้อะไร ไม่มีประโยชน์ อันนี้เป็นเพราะว่าคนเราไปเชื่อเหตุเชื่อผลมากไป เพราะคิดว่าใช้เหตุผลอย่างเดียวก็เชื่อว่าฉันนำพาชีวิตได้ไปในทางที่ผาสุกแล้ว แต่ที่จริงแล้วการปฏิบัติต่างหากที่จะทำให้เราได้พบกับสิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อน แล้วพอได้ปฏิบัติจริงๆก็อาจจะอุทานเหมือนอย่างที่ผู้หญิงคนนั้นบอกว่ารู้อย่างนี้ทำไปนานแล้ว
     
    พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 31 ตุลาคม 2565