"จิตว่าง" ไม่ใช่จิตที่ว่างเปล่า

Share

เข้าใจให้ถูก, พุทธทาส,

โลกนี้ว่าง

สุญญตา แปลว่า ความว่าง แต่คนทั้งหลายซึ่งเคยชินกันแต่เรื่องทางวัตถุ เมื่อได้ยินคำว่า "ความว่าง" ก็เข้าใจไปว่า ความไม่มีอะไร ดังนั้นควรจะต้องเข้าใจกันเสียใหม่ว่า คำว่าความว่างในพระพุทธศาสนานี้ เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะต่างหาก มิได้หมายถึง ว่าง อย่างไม่มีอะไรเลย มีหลักอยู่ว่า ถ้าจะกล่าวว่าโลกว่าง เราก็ควรจะนึกดูว่า ทำไมจึงกล่าวว่าโลกนี้ว่าง ทั้งๆ ที่โลกนี้มีอะไรเต็มไปหมดทั้งโลก แต่ทำไมพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า โลกนี้ว่าง ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสถูกต้อง ก็ต้องหมายความว่า คำว่า ว่าง นั้นมีความหมายเป็นอย่างอื่น มิได้มีความหมายว่าไม่มีอะไรเสียเลย เพราะฉะนั้น จึงมีกล่าวไว้ว่า คำที่กล่าวว่าโลกว่างนั้น ก็เพราะว่าว่างจากตัวตนและว่างจากของตน

เกี่ยวข้องแต่ไม่ยึด

ในโลกนี้จะมีอะไรมากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีความหมายที่จะเป็นตัวตนที่แท้จริงได้ ไม่มีความหมายที่จะเป็นของ ๆ ตน หรือของใครโดยแท้จริงได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ใครจะไปนึกว่าเป็นของตนก็นึกได้ แต่ความจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ มีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้นนั่นเอง เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกว่าง นั้นก็เพราะว่างจากสาระ หรือจากความหมายที่ใคร ๆ ควรจะไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน หรือของตน

แต่ทีนี้มิได้หมายความว่า คนทุกคนจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น หมายความว่า ใครจะเกี่ยวข้องกับสิ่งอะไรตามที่ควรจะเกี่ยวข้องก็ได้ทั้งนั้น แต่อย่าได้ไปเกี่ยวข้องด้วยจิตใจที่ไปยึดมั่น สำคัญมั่นหมายเอาว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของตน เพราะว่าพอไปยึดมั่นถือมั่นเข้าเท่านั้น ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที ไม่จำเป็นจะต้องยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านั้น ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นได้ จะแสวงหาก็ได้ จะบริโภคใช้สอยก็ได้ จะเก็บไว้ก็ได้ จะทำให้มากขึ้นไปก็ได้ ขอแต่อย่าได้เข้าใจผิดไปว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน เมื่อไม่มีความยึดถือว่า ตัวตน หรือของตน ก็ไม่มีความทุกข์เลย

ดังนั้น คนเราอาจจะเสาะแสวงหาทรัพย์สมบัติ หรือสิ่งใดก็ได้ มีไว้ก็ได้ ใช้จ่ายก็ได้ ทำอะไรได้ทุกอย่างโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี้คือ ประโยชน์อันใหญ่หลวงของคำสอนของพระพุทธเจ้า คือทรง พระพุทธองค์ทรงหวังว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นอยู่โดยไม่ต้องมีความทุกข์ จะทำอะไรทุก ๆ อย่างได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ จะอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องมีการถูกเสียบแทงให้เจ็บปวดด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเพราะไม่ยึดถือ สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลย

เช่นเดียวกับว่าเราจะบริโภคปลา เราก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้โดยไม่บริโภคก้างปลา แต่บริโภคส่วนที่ไม่เป็นอันตรายแก่เรา ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีความรู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว อาจจะอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องไปผูกเข้ากับส่วนที่เป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์แต่ประการใด ก็อาจจะเอาชนะโลกนี้ได้ เอาชนะโลกอื่นได้ กระทั่งอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวงได้ นี้คือข้อที่มีความรู้เรื่องโลกถูกต้องว่า โลกนี้เป็นของว่าง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านผู้ใดได้ฟังว่า โลกว่าง ก็จงเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายอย่างนี้ ไม่ได้ทรงมุ่งหมายว่า โลกนี้ไม่มีอะไร

จิตว่าง

คำว่า จิตว่าง มีคำอธิบายว่า ราคโทสโมเหหิ สุญฺญตตฺตา สุญฺญโต เป็นของว่าง เพราะว่าว่างจากราคะ โทสะ โมหะ จิตนี้เป็นจิตว่าง เพราะว่าว่างจากราคะ โทสะ โมหะ สรุปใจความข้อนี้ก็ว่า ถ้าเมื่อใดจิตไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นเรียกว่า จิตว่าง ทำไมจึงเรียกจิตชนิดนั้นว่าจิตว่าง เพราะว่าจิตในขณะที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะนั้น เป็นจิตที่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของ ๆ ตน คือ จิตในขณะนั้นจะไม่ไปสำคัญเอาอะไรว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นของตน จิตนั้นจึงว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตน หรือของตน แต่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า จิตว่าง คือ จิตที่ประกอบอยู่ด้วยความว่าง...เราสังเกตดูเอาเองว่า ในขณะใดที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะรบกวนจิตใจ ขณะนั้นเรามีความเป็น มีความว่าง คือ เป็นสุขที่สุดนั่นเอง

จิตไม่ว่าง

ขณะใดมีราคะ หรือโทสะ หรือโมหะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจ เป็นจิตวุ่นวายแล้ว ขณะนั้นเราก็มีทุกข์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นอบายขึ้นมาทีเดียว เช่นว่า

เป็นอบายข้อแรก เรียกว่า นิริยะ หรือนรก ก็คือ ความร้อนใจ

หรือว่าเป็นอบายข้อถัดไป คือ เป็น ติรัจฉานโยนิ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็คือ ขณะที่มีความโง่

ในขณะใดมีความหิวไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะนั้นก็เป็น เปรตวิสัย เรียกกันสั้น ๆ ว่า เป็นเปรต

ขณะใดมีความขลาดจนทรมานจิตใจ ขณะนั้นเรียกว่า เป็นอสุรกาย

นี่ก็คือ ความที่จิตไม่ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ จึงมีความวุ่นวาย เป็นการตกอบายไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

อบาย 4 เกิดที่นี่เดี๋ยวนี้ภายในใจ

แม้ในเรื่องอบายทั้ง 4 นี้ก็เหมือนกัน ขอให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องกันเสียก่อนว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายใจความสำคัญอย่างนี้ คือ นรก หมายถึง ความร้อนใจ เดรัจฉาน หมายถึง ความโง่ เปรต หมายถึง ความทะเยอทะยานไม่มีหยุด ไม่มีที่สิ้นสุด อสุรกาย หมายถึง ความขี้ขลาด เมื่อใดมีความร้อนใจ เมื่อนั้นเป็นนรก เวลาใดมีความโง่เขลา เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เวลาใดหิวกระหายวุ่นวายในทางจิตใจ เมื่อนั้นเป็นเปรต และเมื่อใดมีความขลาดไม่มีเหตุผล เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง ๆ ก็เกิดจมลงไปในอบายได้หลายครั้ง ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี

สำหรับอบายที่จะถึงต่อเมื่อตายแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ศาสนาอื่นก็ได้กล่าวไว้ และกล่าวก่อนแต่พระพุทธเจ้ากล่าวเสียด้วยซ้ำไป ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องกล่าวเหมือนกันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายสิ่งที่เป็นใจความ หรือเป็นสาระสำคัญ จึงไม่ได้กำหนดว่าที่ไหน หรือเมื่อไร หรือหลังจากตายแล้ว เป็นต้น แต่กำหนดว่าเมื่อใดก็ตามถ้ามีความร้อนใจแล้วก็เป็นนรก มีความโง่เขลาแล้วก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน มีความทะเยอทะยานไม่สิ้นสุดแล้วก็เป็นเปรต มีความขี้ขลาดแล้วก็เป็นอสุรกาย และหมายความว่า ถ้าผู้ใดไม่ตกอบาย 4 อย่างนี้ ในที่ ในโลกนี้ ในขณะนี้ ในเวลานี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวได้ว่า แม้จะตายไปอีกสักกี่ครั้ง ก็ไม่ต้องตกอบายเป็นแน่นอน คือ อบายในโลกหน้า หรือชาติหน้านั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเลย ถ้าไม่ตกอบายที่นี่ ในชาตินี้ ดังที่กล่าวมาแล้ว

จิตว่างทำการงานได้หรือไม่?

อาจจะมีผู้สงสัยว่าจิตที่เรียกว่าจิตว่างนี้จะทำอะไรไม่ได้ หรือคิดอะไรไม่ได้เสียแล้วกระมัง ข้อนี้ต้องสังเกตดูให้ดี ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ว่าจิตว่างนี้ หมายถึง ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เมื่อว่างจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว มันจะเป็นอย่างไร มันก็จะต้องสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา ไม่มีความโง่ความเขลาเหลืออยู่เลย จิตที่สมบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญานี้ ทำไมจะคิดอะไรไม่ได้ หรือทำไมจะทำอะไรไม่ได้ในทางจิต กลับจะทำได้ดีกว่าเสียอีก

ความอยากไม่ใช่กิเลสเสมอไป

ความเป็นไปของจิตของคนเรานี้ มีอยู่ 2 สายด้วยกัน คือ สายหนึ่งเป็นไปด้วยอำนาจของอวิชชา คือ ความโง่ ความหลง สายหนึ่ง เป็นไปด้วยอำนาจของวิชชา คือ ความรู้ ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องทำอะไร ต้องคิดอะไร ต้องพูดอะไรก็ตาม เราจะต้องทำด้วยความรู้ ความเข้าใจที่เป็นสติปัญญาเสมอไป เราจะต้องเข้าใจไว้ด้วยว่า ในปัจจุบันนี้มีคำสอนที่สอนกันผิด ๆ ตัวอย่างเช่นสอนว่า ถ้ามีความอยากความต้องการอะไรแล้ว ก็เป็นกิเลสไปทั้งนั้น นี้เป็นคำสอนที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอน คือ พระพุทธเจ้าท่านมีหลักว่า คนเราจะต้อง ต้องการด้วยวิชชา หรือด้วยสติปัญญา อย่าไปต้องการด้วยอวิชชา หรือกิเลสตัณหา เช่นว่า เราอยากจะได้อะไร ก็ต้องให้ความอยากนั้นเป็นความอยากที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาหรือวิชชา ความอยากอย่างนี้ไม่เป็นกิเลสตัณหา

เช่นว่า ต้องการจะพ้นจากความทุกข์ มีความต้องการอย่างยิ่ง ก็ให้ประกอบอยู่ด้วยปัญญา ด้วยวิชชา คือ รู้ว่าความพ้นทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ความทุกข์เกิดมาจากอะไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไรให้รู้แจ้ง แล้วก็อยากจะพ้นทุกข์ แล้วก็พยายามไป ความอยากความต้องการอย่างนี้ไม่เป็นกิเลสตัณหา แต่ถ้าอยากจะดับทุกข์โดยไม่รู้ว่าทุกข์เป็นอะไร ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำตามเขาเพ้อ ๆ ไป เห่อทำตามกันไปทั้งที่ไม่รู้ เป็นความต้องการที่เกิดมาจากความไม่รู้อย่างนี้แล้ว แม้แต่ความอยากจะดับทุกข์นั้นก็ต้องเป็นกิเลสตัณหาโดยแน่นอน ซึ่งจะทำความทุกข์ให้แก่บุคคลนั้นเอง

อยากได้ทรัพย์สมบัติเป็นกิเลสหรือไม่?

ความอยากที่จะหาทรัพย์สมบัติ มีความต้องการที่จะได้ทรัพย์สมบัติ อย่างนี้เราจะต้องพิจารณาดูก่อนว่า ความต้องการนั้นเกิดมาจากสติปัญญาหรือว่าเกิดมาจากอวิชชา ความโง่ ความหลง ถ้าความต้องการจะได้ทรัพย์สมบัติเกิดมาจากอวิชชา ความโง่ ความหลงแล้ว จะต้องเป็นกิเลสตัณหาโดยแน่นอน และจะต้องสุมเผาบุคคลนั้นให้เร่าร้อนตั้งแต่ต้นไปทีเดียว เป็นการตกนรกทั้งเป็นจนตลอดเวลา แต่ถ้าหากว่าบุคคลมีความต้องการด้วยอำนาจของวิชชา คือ ความรู้แจ้งตามที่เป็นจริงแล้ว ความต้องการอันนั้นไม่เป็นกิเลสตัณหา แต่กลายเป็นการปฏิบัติธรรมะไปทันที

ความรู้แจ้งในเรื่องนี้ ก็หมายความว่า เป็นผู้รู้แจ้งอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าคนเรานี้เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาทำไม เป็นผู้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในข้อนี้เสียก่อน จึงจะเข้าใจถูกต้องในข้ออื่น ๆ อีกต่อไป จนมีความเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งหมด ว่าคนเราเกิดมานี้เพื่ออะไร และจะต้องทำอย่างไร ในที่สุดก็จะรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งว่า คนเราเกิดมาเพื่อจะต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ให้สมบูรณ์ การหาทรัพย์สมบัตินี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของสัตว์ที่มีชีวิต เพราะว่าเราจะต้องการให้ชีวิตเป็นอยู่ เราจึงต้องหาปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิตนั้น

เมื่อมีปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิตนั้นแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป ก็คือ มีชีวิตอยู่เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็ลองคิดดูกันไปตามลำพังตน แต่ละคน ๆ เพราะว่าจิตใจยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อได้รับความสุขจากทรัพย์สมบัติแล้ว ก็แสวงหาความสุขอันอื่นที่สูงไปกว่าทรัพย์สมบัติ เมื่อได้รับความสุขจากเกียรติยศชื่อเสียงแล้ว ก็แสวงหาความสุขอย่างอื่นซึ่งสูงไปกว่า ความสุขชั้นสูงสุดนั้น ก็คือ ความสุขที่ไม่มีความเร่าร้อนเจืออยู่ ไม่แผดเผาบุคคลใด ก็คือ ความสุขที่เกิดมาจากการมีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นเอง

เรียบเรียงจาก เทศน์งานศพ มารดา คุณเรียม โดย พุทธทาสภิกขุ