มาฆบูชา

Share

พุทธทาส,

ความเป็นมาและความสำคัญ

วันมาฆปุณณมี คือ วันพระจันทร์เต็มดวงในมาฆฤกษ์ คือเรื่องทางปฏิทิน ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง แต่มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาได้เกิดขึ้น วันนี้ก็เลยกลายเป็นวันสำคัญทางศาสนา จนเรียกกันว่า "วันมาฆบูชา"

3 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น คือ 

1. เป็นวันที่พระอรหันตสาวกประชุมกัน 1,250 รูป
2. มีพระพุทธเจ้าเป็นพระประมุข
3. มีการแสดงธรรมที่เป็นหลัก เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา 

แล้วน่าอัศจรรย์ก็ตรงที่ว่าไม่ได้นัดหมายกัน และทุกองค์เป็นพระอรหันต์ ชนิด เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าประทานบวชให้)

วันที่มีพระรัตนตรัยครบ

เป็นวันพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาพร้อมกัน - พระพุทธเจ้าก็อยู่ พระธรรมที่ทรงแสดงก็อยู่ พระสงฆ์ทั้งหมดก็อยู่ มันก็เลยกลายเป็นวันพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

อ.พุทธทาสอธิบายว่า "ขอให้สังเกตดูให้ดี วันตรัสรู้ ก็อยู่แต่พระพุทธเจ้า (วันที่)ท่านแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร (อาสาฬหบูชา) ก็มีพระธรรมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก พระสงฆ์ก็ยังไม่ครบที่จะเรียกว่าคณะสงฆ์ มีองค์เดียวเท่านั้น ผู้เป็นผู้ได้ฟังและได้รู้ตาม แต่วันนี้ (มาฆบูชา) มีอยู่พร้อมหน้าทั้งพระพุทธ ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์"

เนื่องจากเป็นวันที่มีความพิเศษ อ.พุทธทาสจึงเสนอหลักการไว้ว่า "ขอให้ท่านคิดดู ตามที่จะพูดให้ฟัง มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระสงฆ์ครบหน้าอย่างนี้ เราก็จะมีหลักการ หลักเกณฑ์ที่จะถือเป็นหลักการว่า เราจะมีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อ จะมีพระธรรมเป็นแม่ มีพระสงฆ์เป็นพี่"

ซึ่งมีความหมายว่า "พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรม เปิดเผยธรรม ทำให้ธรรมะเข้ามาสู่จิตใจของเรา เหมือนกับหยอดเชื้อธรรมะลงไปในจิตใจ แล้วคนธรรมดาสามัญก็ได้กลายเป็นมนุษย์ คือ มีธรรมะ เหมือนกับเกิดใหม่โดยพระธรรมนั่นเอง มีพระธรรมเป็นแม่ ก็หมายความว่าอย่างนี้ ทีนี้มีพระสงฆ์เป็นพี่ ก็เพราะเกิดก่อน ได้ก่อน ได้สูงกว่า เราเกิดทีหลังเลยได้น้อยกว่า เหมือนกับเป็นน้องรอง ๆ ลงมา"


ประธานแห่งธรรม

พระธรรมที่แสดงในวันมาฆบูชา เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ คือ ประธานแห่งธรรมทั้งหลาย แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน 

- ขั้นตอนแรก ไม่ทำความชั่วทั้งปวง สัพพปปัสสะ อกรณัง 
- ขั้นที่สอง ทำความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อม กุลัสสูปสัมปทา
- ขั้นที่สาม ทำจิตให้ผ่องแผ้ว ปราศจากสิ่งรบกวน หุ้มห่อพัวพันใด ๆ ให้เป็นจิตสะอาดบริสุทธิ์ เรียกว่า สจิตตปริโยทปนัง ( สจิตฺตปริโยทปนํ ) 

สามอย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ผู้รู้ทั้งหลาย เอตัง พุทธานสาสนัง (เอตํ พุทฺธาน สาสนํ)

ความหมายของ "ทำใจให้ผ่องแผ้ว" คือไม่ยึดอะไรทั้งดีและชั่ว

" ดูให้ดี ฟังดูให้ดี มันมีความสำคัญเป็นพิเศษอยู่ในข้อที่สาม ที่ว่าทำใจให้ผ่องแผ้วนั่นน่ะ อย่าทำชั่วนี่เขาก็สอนกันมานมนานก่อนพระพุทธเจ้า ทำดีให้มากให้พร้อม เขาก็สอนกันอยู่มานมนานก่อนพระพุทธเจ้า นี่ว่าในหลักศาสนาไหนมันก็มี แต่ข้อที่ว่าทำใจให้ขาวรอบ ให้ผ่องแผ้วนี่ ในความหมายนี้ถึงจะมีแต่ในพระพุทธศาสนา หมายความว่าผ่องแผ้วจากการรบกวนของความชั่ว และความดี #ไม่ใช่มาติดอยู่ที่ความดีเหมือนบางศาสนา ถือเอาความดีเป็นสิ่งสูงสุด มีความดีสูงสุดเป็นยอดของศาสนา หรือเป็นพระเจ้าไปเลย"

"ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ทำจิตให้ผ่องแผ้วจากการผูกพัน จากอิทธิพลของความรู้สึกทั้งหมดทั้งสิ้น ทั้งดี ทั้งชั่วทั้งดี ทั้งบุญทั้งบาป ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งอะไรทุก ๆ อย่างที่มันเบียดเบียนหัวใจ"

แค่ทำดียังไม่พอ 

ทำไมทำความดีจึงไม่พอที่จะพ้นทุกข์ได้ อ.พุทธทาสอธิบายว่า "ถ้าว่าจะเอากันเพียงดี ๆ อย่างนี้มันก็สอนกันอยู่แล้ว มันไม่พอ เพราะปรากฏว่ามันมีการบ้าดี หลงดี เมาดี จมปลักดี แล้วก็ได้บ้าจริง แม้บุญก็เหมือนกัน ระวังให้ดี ๆ มันมีบุญชนิดที่บ้าได้ เมาได้ หลงได้ จมอยู่ได้ ถ้าบ้าบุญชนิดนี้มันก็ไม่ใช่พุทธศาสนาแล้ว เพราะมันมีความบ้าเสียแล้ว มันต้องเป็นบุญชนิดที่บ้าไม่ได้ ต้องเป็นความดีชนิดที่บ้าไม่ได้ มิฉะนั้นมันจะมีความทุกข์อันใหม่เกิดขึ้นมา เพราะบ้าดี เพราะบ้าบุญ เพราะบ้าสุข หลงสุข สิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลบีบคั้นจิตใจ ไม่มีความสงบสุข"

ชั่วและดีอัปรีย์พอกัน

คนสมัยก่อนเห็นความจริงเรื่องนี้ ดังที่ อ.พุทธทาสเล่าว่า  "คนโบราณปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของเรา มองเห็นความจริงข้อนี้นะ ฉลาดกว่าเรานะ อย่าดูถูกปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว เพราะเขาได้พูดไว้ว่า ทั้งบ้า ทั้งชั่วทั้งดี ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ มันหมายถึงว่า มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ...แล้วมันก็บ้า มันก็กัดเอา เพราะบ้าชั่วบ้าดี ไปยึดถือเข้าแล้วมันหนักอกหนักใจ ใจคอวิปริต ในที่สุดก็เป็นบ้า จึงสอนในทางที่ว่าไม่ต้องยึดถือดีโดยไม่ต้องยึดถือ ถ้าไปยึดถือแล้ว แม้แต่ความดีนั้นมันจะกัดเอา ๆ เหมือนกับให้เป็นบ้าบ้าง หรือให้ทนทุกข์ทรมานนอนไม่หลับบ้าง เป็นโรคประสาทอยู่ด้วยกันเป็นอันมาก"


ไม่ยึดเรื่องชั่วเรื่องดี ให้ยึดความถูกต้อง

ถ้าไม่ยึดมั่นในความดีแล้ว ควรยึดหลักอะไร อ.พุทธทาสอธิบายว่า ให้ยึดเรื่องความถูกต้อง หรือ "สัมมา"

"ดังนั้นอย่าบ้าชั่วบ้าดี ให้อยู่เหนือนั่น เหนือนั่น อย่าไปหลงกับมัน มีจิตใจบริสุทธิ์หมดจดผ่องแผ้ว ไม่มีความยึดถือใด ๆ มีจิตว่างจากตัวกูของกู ไม่มีเอาความรู้สึกว่าตัวกูของกูมาสุมอยู่ในใจ หันไปยึดถือหลักว่า ถูกต้องๆ พุทธศาสนาไม่ได้เน้นตรงที่ว่าดี ๆๆ แต่ไปเน้นที่คำว่าถูกต้อง ถูกต้อง คือ คำว่า สัมมา

หลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ สัมมา สัมมาแปดประการ 

สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้อง รวมทั้งความเชื่อความเข้าใจ ความคิดเห็นอะไรมันถูกต้องเป็นสัมมา และ สัมมาสังกัปโป ความดำริใฝ่ฝันปรารถนามุ่งหมายนี่ก็ถูกต้อง แล้วก็ สัมมาวาจา วาจาถูกต้อง สัมมากัมมันโต การงานถูกต้อง สัมมาอาชีโว ดำเนินชีวิต ดำรงชีวิตถูกต้อง สัมมาวายาโม พากเพียรพยายามถูกต้อง สัมมาสติ ระลึกประจำอยู่อย่างถูกต้อง สัมมาสมาธิ มีจิตตั้งมั่น หมายมั่นอยู่อย่างถูกต้อง"

นี่คือความถูกต้องแปดประการที่เป็นส่วนของเหตุ เมื่อทำแล้วจะได้ผลที่ถูกต้อง 2 ประการ

"ครั้นแล้วก็เกิดผลขึ้นมาเป็น สัมมาญาณะ มีความรู้เห็นตามที่เป็นจริง มี สัมมาวิมุติ คือ หลุดพ้นอย่างถูกต้อง"

อะไรคือความหลุดพ้นที่ถูกต้อง

 
"ถ้าหลุดพ้นอย่างไม่ถูกต้อง โดยเข้าใจว่าหลุดพ้นโดยมิจฉาทิฐินี้มันก็ยังมี ต้องหลุดพ้นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลุดพ้นจากสิ่งที่เหนียวแน่นคือความดี ขึ้นมาอยู่เหนือความดี ความชั่วความดี อยู่เหนือความชั่วความดีเป็นปลอดภัย ที่พูดว่าอยู่ในระหว่างความชั่วความดีนี้ก็ยังไม่แน่ ยังไม่ปลอดภัย อยู่เหนือดีกว่า อยู่ระหว่างความชั่วความดีนี่เดี๋ยวก็หันไปหาชั่ว หรือดีก็ไม่ทันรู้ อยู่เหนือชั่วเหนือดีนี่มันเป็นนิพพาน


นิพพานคือชีวิตเย็นไม่ใช่ตาย

อ.พุทธทาส เป็นพระไม่กี่รูปที่พยายามอธิบายความหมายของนิพพานเสียใหม่ ให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าถึงได้ในเวลานี้ (แม้จะชั่วขณะสั้นๆ) ไม่ต้องรอให้ตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สอนและรับรู้กันมาอย่างผิดๆ ทำให้คิดว่านิพพานต้องตายและต้องเกิดและตายหลายร้อยชาติถึงบรรลุนิพพานได้

"นิพพานที่นั่นแหละ เย็นใจ เย็นใจ นิพพาน แปลว่า เย็น ขอร้องท่านทั้งหลายว่า เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้อง นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย เพราะว่าเมื่อเป็นเด็กนักเรียน ครูอาจจะสอนมาว่า นิพพาน แปลว่าตายของพระอรหันต์ นั่นมันคำสอน มันเข้าใจผิด"

"นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย นิพพานแปลว่าเย็น ชีวิตเย็น เยือกเย็น ไม่ร้อนเลยได้ในปัจจุบันนี้ คือ ไม่ต้องตาย ยังไม่ทันจะตายแต่เย็น ๆๆ ไม่มีไฟ คือ กิเลสรบกวนนั่น คือ นิพพาน ถ้าตายเขามีคำพูดอีกคำว่าปรินิพพาน เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่าปรินิพพานจักมีสามเดือนต่อจากนี้"

เมื่อไม่ยึดอะไรจิตก็ว่าง

"ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักชีวิตที่เย็น ๆ พ้นจากการบีบคั้นของความชั่ว และความดี ความชั่วบีบคั้นอย่างเจ็บปวด ความดีบีบคั้นอย่างไม่ค่อยรู้สึกตัว แต่แล้วก็นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาทกันเป็นอันมาก เพราะความดีนั่นแหละมันบีบคั้น ขอให้รู้จักความถูกต้อง ๆๆ ไม่หลงชั่วหลงดี ไม่บ้าชั่วบ้าดี ไม่เมาชั่วไม่เมาดี ขึ้นอยู่เหนือความชั่วและความดี"

"ขอให้สนใจคำว่าเหนือดีเหนือชั่ว คือว่าเหนืออิทธิพลของความดี และความชั่ว ความชั่ว และความดีอย่ามาครอบงำบังคับจิตใจเราเลย เราจะมีจิตอิสระ ว่าง ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ มันก็สงบเย็นเป็นนิพพาน"

อย่าเป็นทาสสิ่งที่มากระทบ

"เวลาที่จิตไม่วุ่นวาย ไม่ต้องการอะไร ว่างจากความปรารถนาใด ๆ ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเอง"

"เดี๋ยวนี้คนเรามันไม่เป็นอย่างนั้น อะไรเข้ามาทางตา มันก็กระดุกกระดิก ชอบหรือไม่ชอบขึ้นมา อะไรเข้ามาทางหู มันก็กระดุกกระดิก ชอบหรือไม่ชอบขึ้นมา เข้ามาทางจมูกก็เหมือนกัน มันก็ชอบหรือไม่ชอบ ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน นั่นเป็นความที่ไม่เป็นอิสระ มันต้องเป็นไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบ เลยเป็น #ทาส #เป็นขี้ข้าของสิ่งที่เข้ามากระทบ ต้องหวั่นไหว ต้องโยกโคลงไปตามสิ่งนั้น ไม่อิสระ อย่างนี้เรียกว่าอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งนั้น จิตมันจึงไม่ผ่องแผ้ว จิตมันจึงไม่ขาวรอบ"

"ขอให้ระลึกนึกถึงคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ทำความชั่วทุกอย่าง ทำความดีให้ครบถ้วน ทำจิตให้ผ่องแผ้ว ทำจิตให้ผ่องแผ้ว ตัวหนังสือว่า ปริโยทปนํ แปลว่าขาวรอบ ผ่องแผ้วไม่มีจุดดำ ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง"

"นี่เราไม่ค่อยสนใจ เรามันชอบไม่ผ่องแผ้ว ชอบอร่อย ชอบสนุกสนาน ชอบล้มลุกคลุกคลาน ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงนั่นมันไม่มีกิเลสรบกวน ไม่ล้มลุกคลุกคลาน มันพอใจ เพราะถูกต้อง ไม่ได้พอใจ เพราะดี เพราะเด่น เพราะดัง เพราะอะไรหรอก มันพอใจ เพราะถูกต้อง"

ส่งท้าย

วันนี้เป็นวันของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ขอให้หมายมั่น ตั้งใจมั่นในการที่จะปฏิบัติอย่างนี้ ให้สมกับที่ว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อ มีพระธรรมเป็นแม่ มีพระสงฆ์เป็นพี่ แล้วก็จะเอาตัวรอดได้โดยประการทั้งปวง

วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ระลึกถึงการทำจิตให้ผ่องแผ้วเป็นเบื้องหน้ากันด้วยกันจงทุก ๆ คนเถิด อย่ามามัวบ้าดี เมาดี หลงดี จมดีกันอยู่เลย จงเป็นอิสระหลุดพ้นจากความมัวเมาเหล่านี้ ไปวัด ไปเวียนเทียน ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ด้วยจิตที่ผ่องแผ้ว ทำจิตให้ผ่องแผ้ว แล้วจะมีการรวมเข้าไปในพระสงฆ์ที่เป็นพี่อย่างแนบสนิท เป็นพระสงฆ์ เป็นพระสงฆ์อยู่ในกลุ่มแห่งพระสงฆ์ มากหรือน้อยตามสถานะแห่งตน แห่งตน

พุทธทาสภิกขุ

เรียบเรียงจาก ปาฐกถาธรรมทางโทรทัศน์วันมาฆบูชา ปี 2530

ฟังทั้งหมดได้ที่ ฐานข้อมูลเสียงธรรม http://sound.bia.or.th/catalogue.php?item_code=6615300212000