ทำสังคมให้รมณีย์ผ่านการสร้าง "บุคคลรมณีย์"

Share

    เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2566 คณะจากสวนโมกข์กรุงเทพได้เดินทางไปกราบของคำชี้แนะจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ณ ที่พักสงฆ์ในชนบท อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ในวาระครบรอบ 12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ ในประเด็นการสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ โดยได้มีการบันทึกเทปที่จะนำมาให้ชมกันใน งานบุญ 12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ วันที่ 20 พ.ค. 2566 นี้ (รายละเอียดกิจกรรม คลิกที่นี่) และนี่คือบันทึกของบรรยากาศของการเดินทางและการเข้าพบพร้อมคำชี้แนะของท่านเจ้าประคุณประยุทธ์ ที่มีบทสรุปว่าการทำสังคมให้รมณีย์ต้องผ่านการสร้างบุคคลรมณีย์ (อ่านคำถอดความทั้งหมด)

"ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน ผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้เป็นถิ่นสถานอันรมณีย์"




บันทึก

    ที่พำนักของพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าประคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต หรือ 'เจ้าประคุณอาจารย์' นั้น ปัจจุบันอยู่ที่สุพรรณ แต่เป็นสุพรรณระยะสุดท้าย ใกล้จะกลายเป็นกาญจนบุรีเต็มที ขนาดคณะหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ แล่นออกจากกรุงเทพแต่ช่วงสาย กว่าจะถึงสำนักของเจ้าประคุณอาจารย์เอาก็เมื่อใกล้บ่ายสองแล้ว และด้วยความใกล้กาญจนบุรี บวกกับความหน้าร้อนแบบมหันตฤดูนี้ ทำให้แม้จะได้โดยสารอยู่ในเบนซ์แอร์เย็นฉ่ำ แต่เมื่อทอดตาดูความเจิดจ้าของดินที่สะท้อนแดดเที่ยงวันสองฟากถนนแล้ว กลับชวนให้ประหวัดนึกถึงการขึ้นรถบัสพัดลมของกรมการรักษาดินแดน ไปเข้าค่ายฝึกรด. ที่เขาชนไก่ตั้งแต่เมื่อสิบยี่สิบปีมาแล้วมากกว่า

    ความรู้สึกถึงขอบหน้าต่างรถทัวร์ที่แดดเที่ยงเผาจนทำเอาสะดุ้งยามเผลอเอาศอกไปเท้าในครั้งกระนั้น ยังดูสมจริงสมจังในความทรงจำเสียยิ่งกว่าประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา

    เมื่อไปถึงสำนักของเจ้าประคุณอาจารย์ แดดกำลังเปรี้ยงได้ที่ คณะหอจดหมายเหตุฯ เดินหยีตาเข้าไปที่กุฏิไม้เรียบง่ายที่เจ้าประคุณพำนักและใช้รับแขก ชายทุ่งอันเป็นที่ตั้งกุฏิ โล่งแห้งไม่แพ้เขาชนไก่จริงๆ เฟื่องฟ้าใกล้ๆ กุฏิถึงได้ออกดอกงามนัก ทีนี่ไม่มีร่มเงาจากไม้ใหญ่บดบังแผ่น 'ฟ้า' ดอกจึง 'เฟื่อง' กันได้สมชื่อ

    ด้วยสุขภาพของเจ้าประคุณอาจารย์ที่เคยป่วยด้วยวัณโรคถึงกับไอเป็นเลือด และใช้งานปอดได้เพียงข้างเดียว จนแม้ก่อนโควิดท่านก็ระบมเจ็บปอดหรือไอกำเริบได้จากเพียงการพูดสนทนาจนต้องหลบมาอยู่เงียบในที่ห่างไกลเช่นนี้ ประกอบกับภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้ท่านไม่อาจฉีดวัคซีนโควิดได้ ทางสำนักของท่านจึงลาดเสื่อไว้ใต้ร่มผ้าสแลนหน้ากุฎิไว้ให้เป็นที่นั่งของแขก เพื่อให้พอมีระยะห่างจากท่านเจ้าประคุณที่นั่งอยู่บริเวณนอกชานของกุฏิ เป็นมาตรการสร้างระยะลดความเสี่ยง




    ใต้ร่มสแลนที่อุ่นด้วยความร้อนจนผู้มาเยือนเหงื่อไหลเป็นสายตามแนวสันหลังแม้เพียงนั่งอยู่เฉยๆ เราได้นั่งดูความน้อยของกุฏิเจ้าประคุณอาจารย์ด้วยความประหลาดใจ

    รูปพรรณของกุฏินี้แม้จะทำจากไม้จริง แต่เมื่อเทียบกับบ้านของชาวบ้านทั่วไปก็นับว่าไม่ได้หรูหรากว่ามากนัก  และหากเทียบกับของชนชั้นกลางก็เรียกได้ว่าดูน้อยจนควรต้องเรียกว่าขาดแคลน  เพราะทอดตาไปทั้งกุฏิ นอกจากหนังสือกองสองกองแล้วก็ไม่เห็นอะไรอีกมากนัก ไม่มีโต๊ะหรือตั่งมุก ไม่มีโซฟาหลุยส์ แบบที่เคยเห็นจากกุฏิเกจิบุญหนักศักดิ์ใหญ่  เราไม่เห็นแม้แต่แอร์บนผนัง 




    เก้าอี้ของตัวอาจารย์เองเป็นเพียงเก้าอี้พลาสติกสวดอภิธรรมแบบที่ซ้อนเป็นแถวๆ ตามศาลาวัดหรือโต๊ะจีน ต่างก็แต่ว่าของที่วัดหรือโต๊ะจีนนั้นบางทียังอาจมีผ้าขาวคลุม กระทั่งรอบกุฏิก็ไม่ได้มีแนวไม้ร่มครึ้มสวยๆ แบบวัดป่า 

    ในคัมภีร์มักมีกล่าวถึง 'สุญญาคารานิ' หรือเรือนว่างที่พระพุทธเจ้าชี้ให้พระภิกษุไปสู่เพื่อบำเพ็ญความเพียร

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเพ่ง อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นอนุศาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย"

กุฏิของอาจารย์ก็ดูจะว่างขั้นนั้น




    เอาเป็นว่านอกจากความเคารพอันสูงสุดที่ผู้มาเยือนมีให้ต่อพระสงฆ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็น 'เพชรน้ำเอกแห่งพุทธจักรโลก' และหนึ่งในเก้าสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สูงสุดในสยามประเทศรองจากสมเด็จพระสังฆราช  ไม่มีสิ่งอื่นใดที่บ่งบอกความเป็น 'สมเด็จ' ของเจ้าประคุณประยุทธ์อีก 'ยศช้าง-ขุนนางพระ' ที่แท้ก็เห็นจะเป็นเช่นนี้ สมมติที่มีความหมายกับคนทั่วแผ่นดิน ไม่มีน้ำหนักอะไรกับเจ้าตัว  ยศไม่อาจเปลี่ยนช้างให้ลืมสัญชาตญาณ ตำแหน่งขุนนางก็ย่อมไม่เปลี่ยนพระให้ลืมสมณวิสัยของการเป็นผู้มักน้อย สันโดษเช่นกัน ว่าไปแล้ว อย่าว่าแต่ตำแหน่งในสุพรรณบัฏเลย กระทั่งของจริงแท้อย่างอาการอาพาธยังดูเหมือนจะเปลี่ยนเจ้าประคุณอาจารย์ไม่ได้

    อย่างที่บอกแล้วใครก็รู้ว่าเจ้าประคุณประยุทธ์ป่วยด้วยโรครุมเร้ามากมาย จนต้องเร้นกายมาอยู่ห่างไกล และพบแขกแต่น้อยเพื่อถนอมสุขภาพให้ยืนระยะได้โดยไม่เสื่อมเร็วไปนัก แต่ด้วยคราวนี้ครบโอกาสครบรอบ 12 ปี คณะหอจดหมายเหตุฯ จึงได้ขอเข้าพบเป็นกรณีพิเศษเพื่อขอแนวทางสำหรับการดำเนินการหอในระยะต่อไป เจ้าประคุณอาจารย์ออกตัวว่าด้วยอาการป่วย ความคิดของท่านเริ่มไม่ปะติดปะต่อ บางทีนึกประเด็นจะพูดแล้วก็ลืม ทำให้ไม่ราบรื่น แต่ใครจะคิดว่าหลังจากทางหอจดหมายเหตุฯ รายงานให้ทราบถึงสิ่งที่ได้ทำและจะทำ




    สิ่งที่เกิดก็คือเจ้าประคุณไม่ได้แค่รับทราบผ่านๆ แต่ได้ไล่เรียงถึงแนวคิดของท่านเกี่ยวกับการทำงานหอจดหมายเหตุ อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยง เป็นระบบ ร้อยรัดอยู่ด้วยพุทธพจน์สนับสนุนเหมาะเจาะ อย่างที่ใครที่เคยได้อ่านงานเขียนของท่านย่อมนึกออกเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 80 นาที ไม่ปรากฏเค้าของความป่วยอย่างที่ท่านออกตัว

    เจ้าประคุณผู้ถูกรุมเร้าด้วยโรคปอด โรคมะเร็ง โรคสมอง และอีกนานนาประการ จนทราบกันว่าท่านมักจะต้องทนไอยาวนานหรือ 'หนุ่ย' สมองจนไม่อาจหลับนอนได้เป็นเวลาหลายวัน หลังจากการพูดยาวๆ ดูจะบันเทิงในธรรม เปล่งเสียงเสนาะชัดถ้อย เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อธรรมและภารกิจของหออย่างกระจ่าง สง่างาม สมกับภารกิจที่พระพุทธเจ้ามอบให้แก่พระสงฆ์สาวก

"แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศแบบการครองชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด"




    คงไม่ผิดหากจะเข้าใจว่านี่คือกำลังของสมาธิและความตั้งใจอุปการะหอจดหมายเหตุฯ ของเจ้าประคุณอาจารย์ เพราะทันทีที่สิ้นสุดธรรมสาธยาย ท่านก็ดูจะหมดแรงไปในทันตา ถึงขนาดนั่งนิ่งไปพักหนึ่งบอกว่ารู้สึก 'หวิว' ขึ้นมา ในขณะลูกศิษย์ผู้ดูแลต้องให้สัญญาณแก่พวกเราว่าน่าจะพอสมควรแก่เวลาและกำลังของอาจารย์แล้ว

    เรื่องที่เจ้าประคุณประยุทธ์พูดและฝากฝังแก่หอจดหมายเหตุฯ นั้นมีหลายเรื่องและรายละเอียด แต่เรื่องหนึ่งก็คือการสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ ท่านบอกว่าธรรมชาตินั้นเป็นรมณีย์ในตัวอยู่แล้ว เพียงคนไม่ไปทำลายก็ปรากฏเป็นรมณีย์ตามสภาพ แต่เหนือไปกว่าความรมณีย์ของสิ่งแวดล้อมก็คือรมณีย์แห่งบุคคล

"ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน ผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้เป็นถิ่นสถานอันรมณีย์" ท่านยกพุทธพจน์

    ดังนั้น หอจดหมายเหตุพุทธทาสหรือ 'สวนโมกข์กรุงเทพ' ในบริเวณสวนรถไฟที่สิบสองปีนับแต่ก่อตั้งในวันนี้ อาจเรียกได้ว่าสำเร็จขั้นต้นของการเป็นสร้างสวนที่รื่นรมย์ทั้งตาและใจแล้ว เป้าต่อไปควรเป็นการทำสังคมให้รมณีย์ผ่านการสร้างบุคคลรมณีย์

    ในบริบทอื่น ประโยคนี้อาจฟังเป็นเหมือนการเล่นสำนวนงามๆ แต่ไม่มีความหมายจริงแท้อะไร แต่เมื่อได้ฟังประโยคนี้ขณะนั่งบนเสื่อที่ปูบนพื้นดินแข็งๆ ในร่มผ้าสแลนที่ผะผ่าวไปด้วยไอแดดจนแม้มองไกลออกไปนอกร่มยังแสบตาด้วยความจ้าของเวลาบ่าย ห่างไกลจากความรู้สึกรมณีย์ใดๆ ของธรรมชาติ แล้วหันกลับมามองท่านเจ้าประคุณประยุทธ์ ก็จะพบว่าประโยคนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สำนวน

    เพราะภิกษุวัย 85 ที่นั่งอยู่ในสภาพแวดล้อมระอุเดียวกันกับเรา แถมยังอาจจะระอุเสียกว่าเพราะท่านต้องนุ่งห่มเป็นปริมณฑลเรียบร้อยด้วยจีวรหลายชั้น สีหน้ากลับมีแต่ความผ่องใสอิ่มเอิบเหมือนคนอาบน้ำมาใหม่ๆ  ไม่ร้อนด้วยอากาศภายนอก และไม่ลนด้วยความเร่งรีบภายใน 

    กระแสความเมตตาของท่านเอ่ออยู่ในทั้งธรรมบรรยายหรือคำถามไถ่อนุโมทนา สำนวนของท่านอย่าง "เอ้อ เอาละนะๆ เราได้รู้แล้วว่า...ทีนี้ลำดับต่อไป..." ที่ 'รีแคป' หรือสรุปประเด็นกลั้วไปการหัวเราะในลำคอน้อยๆ ทำให้คนที่นั่งอยู่ได้ประจักษ์ว่าบุคคลรมณีย์นั้น เป็นสารตั้งต้นของแดนดินที่รมณีย์ได้เช่นไร

    ตราบที่มีบุคคลเช่นนี้ ดินแดนแห้งแล้งก็ยังสดชื่นขึ้นมาได้ ในขณะที่แดนสวรรค์เพียงใด หากไม่มีคนแบบนี้ก็คงสวยงามแต่แร้นแค้นไม่รื่นรมย์ จะบอกว่าเราอุปาทานไปเองด้วยศรัทธาส่วนตนก็ตามที แต่เท่าที่เห็น' บุคคลรมณีย์' หรือคนที่ดูเย็นโดยไม่ต้องใช้แอร์หรือร่มไม้นั้นมีอยู่และเป็นไปได้จริง

    บางทีในโลกที่เราพยายามจะทำให้หายร้อนกันให้ได้ สิ่งที่เราต้องการอาจเป็นคนเย็นๆ อย่างที่ท่านเจ้าประคุณอาจารย์ทำให้เห็นนี่เอง

ที่มา บันทึกโดย ธนกร จ๋วงพานิช