2475 กำเนิดสวนโมกขพลาราม "รมณียสถาน" ที่เป็นกำลังเพื่อความหลุดพ้น

Share

วันที่ 12 พฤษภาคม 2475 กำเนิด "รมณียสถาน" ที่เป็นกำลังเพื่อความหลุดพ้น ในชื่อ #สวนโมกขพลาราม โดย พุทธทาสภิกขุ ซึ่งได้หลายเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนปัจจุบัน
สวนโมกขพลารามตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดร้างนาม "ตระพังจิก" ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยพุทธทาสภิกขุ ตั้งใจหาสถานที่เพื่อศึกษาและปฏิบัติตามรอยพระอรหันต์ และได้พบวัดร้างแห่งนี้ มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติ จึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่นั่น


คณะอุบาสกในนาม “คณะธรรมทาน” ประกอบด้วยนายธรรมทาส โยมน้องชาย และเพื่อนอีก 4-5 คน ช่วยกันสร้างเพิงที่พัก โดยมุงและกั้นด้วยจาก ต่อออกไปจากด้านหลังพระพุทธรูปในซากอุโบสถเก่า ต่อมาจึงได้สร้างที่พักหลังที่ ๒ ขึ้นเมื่อพุทธทาสภิกขุเริ่มทำงานหนังสืออย่างจริงจัง และอยู่ที่นี่เกือบ 10 ปี

"ฉันพักอยู่ในวัดตระพังจิก พุมเรียง อันเป็นวัดที่เคยอยู่มาแต่แรกราวเดือนเศษก็หาสถานที่ได้ ชนิดที่ในถิ่นนั้นจะหาได้ดีไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว พวกเราเองที่เป็นมิตรสหาย ๔ - ๕ คน ช่วยกันไปจัดทำที่พักว่าฉันจะได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น ก็ตกเดือนพฤษภาคม ซึ่งฉันจำได้เพียงว่าดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๑๒ ต่อมาในเดือนมิถุนายนประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) เพราะฉะนั้นปฏิทินของสวนโมกข์จึงเป็นสิ่งที่จะจดจำได้ง่ายที่สุด โดยแฝงประโยคสั้นๆ ว่า “ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ข้อนี้ พวกเราถือว่ามันเป็นนิมิตแห่งการเปลี่ยนยุคใหม่ เพื่อการแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเท่าที่เราจะพึงทำได้”



วัดร้างนี้ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า "สวนโมกขพลาราม" อันหมายถึง สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์ เพราะบริเวณใกล้ที่พักนั้น มีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไปท่านจึงนำคำทั้งสองมาต่อเติมขึ้นใหม่ให้มีความหมายในทางธรรม



“เอาโมกกับพลามาต่อกันเข้า มันก็ได้ความเต็มว่ากำลังแห่งความหลุดพ้น พลังแห่งความหลุดพ้น ส่วนคำว่าอารามย่อมธรรมดา แปลว่า ที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ เมื่อมันฟลุคอย่างนี้มันก็ออกมาจริงจัง ตรงกับความหมายแท้จริงของธรรมะวัตถุประสงค์ก็คือโมกข์ สถานที่อันเป็นพลังเพื่อโมกขะ... มีความหลุดพ้นเป็นวัตถุที่พึงประสงค์ จึงเกิดวัดชนิดที่ส่งเสริมให้เกิดความหลุดพ้น เรียกว่า โมกขพลาราม”

ต่อมาสวนโมกขพลารามได้ย้ายเข้ามาสร้างใหม่ที่เขาพุทธทอง วัดแห่งนี้ผู้คนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่าสวนโมกข์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดธารน้ำไหล ตั้งอยู่ที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยภายในสวนโมกขพลารามมีบริเวณที่น่าสนใจหลายจุด อาทิ
กุฎิอาจริยบูชาท่านพุทธทาส หรือเรียกว่ากุฎท่านอาจารย์ ปัจจุบันเป็นหลังที่ 3 มีรูปหล่อพุทธทาสภิกขุให้ผู้ศรัทธาได้เคารพระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านมีต่อพุทธศาสนา
รูปปั้นพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ประดิษฐานหน้าลานหญ้า “พระพุทธทาสได้จัดสร้างจากต้นแบบที่เป็นรูปปั้นสัมฤทธิ์เก่าแก่ ซึ่งพบที่เมืองไชยา เป็นสัญลักษณ์ของสุทธิ ปัญญา เมตตาและขันติ
ลานหินโค้ง เป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัด ที่ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์และผู้มาปฏิบัติธรรม สะท้อนแนวคิดของพุทธทาสภิกขุว่า มาสวนโมกข์ต้องได้พูดคุยกับต้นไม้ ก้อนหิน และได้เรียนรู้เรื่องธรรมะที่ปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง ปัจจุบันเป็นที่ตักบาตรสาธิต ทำวัตรสวดมนต์ แสดงธรรม วิปัสสนา
โรงมหรสพทางวิญญาณ ภายในมีสองชั้น กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 100 เมตร ภายนอกอาคารเป็นภาพแกะสลักชุดพุทธประวัติรอบอาคาร บริเวณด้านข้างอาคารมีก้อนหินวางเป็นระยะ บนผนังและเสาของอาคารมีภาพปริศนาธรรมมากมาย
สระนาฬิเกร์ และธารน้ำไหล บนเกาะกลางสระน้ำภายในวัด ที่แห่งนี้เป็นสระน้ำขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 100 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร กลางสระเป็นเกาะเล็กๆ เนื้อที่ประมาณ 5 ตารางเมตร มีต้นมะพร้าวเล็กๆ ปลูกอยู่หนึ่งต้น ท่านพุทธทาสตั้งใจให้สระนาฬิเกร์นี้ เป็นสื่อในการสอนธรรมะเรื่องนิพพาน
โบสถ์บนเขาพุทธทอง เป็นที่ตั้งอุโบสถแบบสวนโมกข์ เป็นโบสถ์พื้นดินตามธรรมชาติอย่างที่เคยมีในครั้งพุทธกาล ธรรมชาติที่มีอยู่โดยรอบบริเวณ เปรียบเสมือนอาคารของโบสถ์ มีเสาปักไว้โดยรอบกำหนดเขต เพื่อใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม
“สวนโมกขพลาราม” ถือเป็นสถานปฏิบัติธรรมชั้นแนวหน้าของเมืองไทยเป็นแหล่งบ่มเพาะเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่มีผู้ศรัทธาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยภายในอาณาบริเวณของสวนโมกข์ มีความรมณีย์ ร่มรืน สงบ เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม กล่อมเกลาจิตใจและศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง