พระประชา ปสนฺนธมฺโม มือจดหมายเหตุพุทธทาสคนแรกๆ

Share

เล่าไว้ ...ฝากไปให้ประชา ... มือจดหมายเหตุพุทธทาสคนแรกๆ กับ ชีวันตาภิบาลกับสวนโมกข์กรุงเทพ
เมื่อสาย ๆ ของวันนี้ ผมได้รับข้อความจากพี่สันติสุข โสภณสิริและนายหนุ่ย Sombat Tharak บอกว่าพี่ประชาผ่านภพแล้ว พี่สันติสุขบอกว่า ขอบคุณพวกเราที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ ทุกคนมาก ๆ เพราะ
" ...เมื่อวานนี้ ประชาได้นอนฟังที่พวกเราเล่ากันตลอดรายการ มีการยิ้มรับเป็นระยะ ๆ จนเมื่อเช้าท่านไพศาลได้โทรไปทักทาย จากนั้นไม่นาน ก็จากไปโดยสงบ... "
พี่สันติสุขและอีกหลาย ๆ คนบอกมาว่า นับเป็นอีกนิมิตหมุดหมายสำคัญของการจัดการเรื่องของชีวิตที่พวกเราได้ทำกันขึ้นทันกาลอย่างพอดิบพอดี
ผมได้โทรเรียน อ.หมอประเวศ ว่าที่เราจัดกันวานนี้และมีอาจารย์ด้วยนั้น

" ... พี่ประชาได้ฟังตลอดเลยครับ มียิ้มอิ่มใจรับเป็นระยะ ๆ ด้วย ... "
" ... ดีเลยนะบัญชา ที่เราทำการอย่างนี้กันออกมาได้ ผมขอเสนอให้เรียกกิจกรรมเชิงพิธีกรรมการดูแลและส่งมิตรระยะสุดท้ายอย่างนี้ ว่า #ชีวันตาภิบาลอันตะ มาจากคำว่าที่สุด ตามที่ทรงแสดงในปฐมเทศนา นี้เป็นการดูแลชีวิตขั้นสุดท้ายที่น่านิยมมากและส่งเสริมให้ทำกันมากๆ แถมเริ่มขึ้นที่สวนโมกข์ด้วย ยิ่งมีความหมายมาก อย่างที่พวกเราทำกัน มีการอธิษฐานสวดมนต์ส่งพลังใจให้กัน แล้วพูดคุยเล่าเรื่องคุณูปการณ์ของชีวิตของผู้นั้น พร้อมกับ สนทนาหารือถึงการสานต่อขยายผลงานกันให้ต่อเนื่อง กิจกรรมนี้น่าจะส่งเสริมสนับสนุนให้ทำกันให้มาก ฝากชื่อนี้ไว้กับสวนโมกข์กรุงเทพด้วยเลยนะ ... "



วานนี้ อ.หมอประเวศ กล่าวถึงพี่ประชาในสองมิติ ไม่ว่าจะอยู่หรือว่าจะไป คือชีวิตที่มีค่าในงานศาสนา กับงานสร้างสังคมลดเหลื่อมล้ำ
พี่สันติสุขที่เป็นเพื่อนเรียนมาแต่มัธยม เล่าถึงที่พี่ทำมาสารพัด เน้นที่การพระศาสนาและท่านอาจารย์พุทธทาสและสวนโมกข์
ท่านไพศาลว่ายาวมาก แบบควรไปตามฟังย้อนหลังกันหลายครั้ง แต่ส่งท้ายว่าพี่ประชายังมีอะไรอีกหลายยังทำไม่เสร็จ อย่างเพิ่งไป
อาจารย์อรศรีมาแบบตรง ๆ ว่า ตอนนี้ขอให้สบายใจและเมื่อจะไป ก็ไปได้เลย โดยพี่ประชามีอนุสาวรีย์ไว้ให้พวกเราแล้ว คือ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา
ส่วนท่านอาจารย์สุลักษณ์ เขียนส่งมาให้ Prasit Vitayasamrit อ่าน ๔ หน้า ไว้ตามไปหาอ่านหรือฟังย้อนหลังกันเองครับ (ลิงค์บันทึกกิจกรรม)
สำหรับผมนั้น ทั้งที่เล่าไปเมื่อวานอย่างกระชับสั้น เพราะตัวผมนั้นไม่ได้ใกล้ชิดกับพี่ประชาเท่าทุกท่าน แต่ที่เข้ามาสัมพันธ์และเจ้ากี้เจ้าการจนจัดนี้เมื่อวานนี้นั้น ด้วยผมรู้จักชื่อ Pracha Hutanuwatr นี้ และติดตามงานมานานมาก ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ มช.โน้น
จนจบ มช.มาเป็นหมอ ก็ยังเข้าไปหามูลนิธิโกมลคีมทอง เพื่อขอร่วมแนวงาน จากนั้นมาเจออีกครั้งตอนผมมาบวชที่สวนโมกข์ เมื่อปี ๒๕๒๗ ผมเห็น พระประชา ปสฺนธมฺโม วนเวียนเข้าออกกุฏิท่านอาจารย์เสมอ ๆ แต่ไม่ค่อย/เคยได้สนทนาวิสาสะอะไรด้วย ด้วยเจียมจนเสมอมาว่าเรานี้ไม่เท่าไหน จนได้อ่านผลงาน เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสุดยอดงานเลยครับ



โดยมีจังหวะหนึ่งที่อาจารย์อรศรีให้ช่วยทำหนังสือภาพ ๖๐ ปีสวนโมกข์เมื่อปี ๒๕๓๕ จึงได้มีโอกาสเข้าไปค้นคว้าในกุฏิท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วพบว่ามีการจัดระบบเอกสารของท่านอาจารย์พุทธทาสไว้อย่างดีเยี่ยม
ถามท่านอาจารย์พุทธทาสและอาจารย์โพธิ์ ได้ความว่า

" ...คุณประชาเป็นคนจัดไว้ ... "
โดยในครั้งนั้น ได้กราบเรียนท่านอาจารย์ว่างานระดับนี้ของท่านอาจารย์

" ... ต้องทำเป็นจดหมายเหตุขอรับ ... "

" ... ก็เห็นว่าอย่างนั้น แต่ไม่รู้ว่าใครจะทำ ... " ท่านเอ่ยตอบ

จากนั้นได้คุยกับ ท่านสันติกโร ก็บอกทำนองเดียวกันว่า

" ... อาตมาก็เห็นอย่างนั้น ได้ยกร่างโครงการไว้ด้วย ... "
โดยผมเอง ก็กลับมายกร่างเป็นแนวงานการจดหมายเหตุท่านอาจารย์เช่นกัน ครั้นปี ๓๖ เมื่อท่านอาจารย์สิ้น รัฐบาลถามว่าจะทำอะไรบ้าง ท่านอาจารย์โพธิ์ กับคุณเมตตา ให้ผมรีบส่งร่างการจดหมายเหตุท่านอาจารย์ ไปเพื่อรัฐบาลพิจารณา แต่ต่อมาท่านอาจารย์โพธิ์บอกว่า อย่าไปเอางบประมาณราชการมาเลย จึงระงับพักไว้แต่นั้น



จนกระทั่ง วาระ ๑๐๐ ปี ชาตกาลท่านอาจารย์ ปี ๒๕๔๙ อาจารย์สุลักษณ์ ทักมาถึงผมว่า ควรเสนอยูเนสโกเรื่องบุคคลสำคัญของโลก ผมหารือกันแล้ว กะว่าจะขอมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้เสนอ แต่พบว่าพวกเรานี้ไม่ถนัด จึงโทรเรียนขอ อ.สุลักษณ์ ที่ถนัดสันทันทำเถิด ท่านจึงให้ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป เป็นหน่วยเสนอ จนเกิดผล
จังหวะนั้นท่านอาจารย์โพธิ์กับคุณเมตตา เรียกผมไปหาเห็นว่าลาออกจากวลัยลักษณ์แล้ว ให้มาทำการจดหมายเหตุท่านอาจารย์ด้วย
ผมก็เลยรับหน้าที่นี้มาแต่นั้น โดยรับรู้และตระหนักเสมอมาว่าคนแรกคนหนึ่งที่เข้าถึงจะทำจดหมายเหตุท่านอาจารย์ ออกมาได้อย่างวิเศษสุด คือพี่ Pracha Hutanuwatr คนนี้ ไม่ว่าจะ อนุทินปฏิบัติธรรม เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา และล่าสุดเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ยังทำ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยาสำหรับหนุ่มสาว ออกมาอีก
กล่าวคือคุณสมบัติสำคัญของงานจดหมายเหตุคือ การเห็นคุณค่า แล้วทำการถนอมรักษา พร้อมกับการ นำออกมาเผยแผ่ให้ผู้คนได้ร่วมรู้แล้วเอาไปใช้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เพียงเอาไปเก็บไว้ ฯลฯ
อันที่จริงแล้วพี่ประชากับผมนั้นมีเหล่ๆ กันอยู่ เท่าที่รู้ เนื่องจากจริต วิถีคิดและแนวการขับเคลื่อนเหมือนจะคนละแนวกัน แบบว่าผมนี้ออกจะหน่อมแน้มไม่ได้ห้าวหาญอย่างพี่เขา แต่พี่ประชาต้องการอะไรในคลังจดหมายเหตุท่านอาจารย์ พวกเราทำให้พี่ประชาทุกอย่างอย่างเต็มที่เสมอมา แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อพวกเราบอกพี่ประชาว่า
" ... ต้นฉบับอนุทินปฏิบัติธรรม ของท่านอาจารย์ ที่พี่เอาออกไปตีพิมพ์นั้น เราไม่พบอยู่ในคลังของหอฯ ที่รับมาจากสวนโมกข์นะครับ !!! ... "
พี่ประชาไม่รั้งรอที่จะกลับไปสืบค้นว่าหายไปอยู่เสียที่ไหน เพราะพี่ประชายืนยันว่า " ... ฝากส่งคืนไปนานมากแล้ว ... "
จนในที่สุดเราก็ค้นพบตกค้างอยู่ในอีกคลังหนึ่ง และได้นำมารวบรวมไว้เป็นที่เรียบร้อย

อีกอย่างหนึ่งต้นฉบับเล่าไว้เมื่อวัยสนธยาที่ผมทราบว่าพี่ประชาทำร่วมกับอาจารย์อรศรีที่เป็นเสมือน บก.ตัวจริง พี่ประชาเป็นผู้สัมภาษณ์ส่งมาให้อาจารย์อรศรีทำบรรณาธิการกิจคือสัมภาษณ์สอบถามท่านอาจารย์ตามหัวข้อที่อาจารย์อรศรีจัดให้ แล้วส่งแถบบันทึกเสียงกลับไปที่มูลนิธิโกมลเพื่อถอดเทปและ ฯลฯ เชื่อไหมครับว่าขณะนี้ต้นฉบับทั้งหมด คือ เสียงและ ฯลฯ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ ได้รับมอบจาก มูลนิธิโกมลคีมทอง มาเก็บรักษาไว้เป็นที่เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว
เรียกว่าหากจะทำเล่าไว้เมื่อวัยสนธยาฉบับเสียงก็ทำกันได้เลย แถมยังจะได้เรียนรู้อีกหลายข้อมูลที่มิได้ตีพิมพ์ในหนังสืออีกด้วย วานนี้ อาจารย์อรศรีบอกว่า

" ... มีหลายคำตอบที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ขอไว้ว่าอย่าเพิ่งเปิดเผยตีพิมพ์ จนกว่าท่านจะสิ้นแล้ว ... "
ผมส่งท้ายบอกพี่ประชาว่า

" พี่ไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว งานท่านอาจารย์ทางนี้ พวกเรารักษาและสานต่อกันอย่างดีที่สุดแล้ว ถ้าพี่จะไป ไปได้ให้สบายเลยนะครับ ... "
นี้ ๓๐ ปีแล้วที่ท่านอาจารย์สิ้น เช้านี้ พี่ประชาก็ไปแล้ว
เมื่อวานนี้ ผมบอกอาจารย์อรศรีว่า มาคิดทำกันอีกครั้งไหม ?

ใครสนใจร่วมด้วยช่วยกันงานนี้ มีไหมครับผม ?
สำหรับการจัดกิจกรรม เล่าไว้ ... ฝากไปให้ประชา เมื่อบ่ายวานนี้นั้น

ผมเองก็ไม่ได้ทำอะไรครับ
เริ่มจากพี่จ๋า Sanitsuda Ekachai ส่งข้อความมาบอกว่า

" ... หมอรู้ไหมว่าพี่ประชาป่วยหนัก เห็นมีการชวนกันช่วยในกลุ่ม ... "

ผมก็เลยถามไปที่กระรอก Weerapong Kriengsinyos แห่งมูลนิธิโกมลว่าอย่างไรแน่ ต่อมาได้ความจากพี่สันติสุข บอกว่าพี่ประชาไม่รู้เรื่องนี้ ได้ขอให้ระงับแล้ว เพราะพี่ประชามีกงสีพี่น้องดูแลกันอยู่แล้ว เงินที่มีคนมอบมา จะเอาไว้ใช้ช่วยคนอื่นที่ลำบาก
จากนั้นก็เริ่มได้ข้อมูลตาม ๆ มาว่า พี่ประชาป่วยเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ผ่านการรักษา ผ่าตัด คีโม ฯลฯ มาเป็นระยะ ๆ และรอบนี้ เกิดการแพร่กระจายและพี่ประชาเลือกการรักษาแบบประคับประคอง กับมีภาวะติดเชื้ออักเสบมากที่ภายในช่องท้องจนแทบจะผ่านภพไปแล้วหนหนึ่ง
ผมจึงเอะใจว่าระดับกับพี่ประชา พวกเราน่าคิดทำอะไรสักอย่างกันก่อนไหม ไม่ต้องรอส่งกันด้วยญาณวิถีที่ไม่อาจจะรู้ได้ ก็เลยถามไปที่พี่สันติสุขที่ถือว่าเป็นเกลอ จากนั้นก็เกิดการนัดหมายได้ภายใน ๖ วัน คือเมื่อวานนี้ ที่ทราบมาจากข้างเตียงว่าพี่ประชาได้นอนฟังตลอดรายการ
สวัสดีครับพี่ประชา พรุ่งนี้ผมต้องลงไปเลือกตั้งที่เมืองนคร แล้วน่าจะขึ้นมาทันไปร่วมส่งพี่ที่วัดทองนพคุณสักคืนครับ ส่วนวันเผาที่นครปฐม ผมก็ไม่น่าได้ไป เพราะที่สวนโมกข์มีงาน ๑๒ ปีกันพอดีครับ ถ้าไง พี่แวะมานะครับ

๑๓ พฤษภา ๖๖ ๑๖๕๕ น.
บ้านท่าวัง สะพานควาย กทม.