12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ (ข่าวจากสื่อ)

Share

มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดกิจกรรม “12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ” และครบรอบการมรณภาพ 30 ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส เชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมสร้าง “สังคมรมณีย์” ขับเคลื่อนงานธรรมให้กว้างไกล เริ่มสะสมบุญได้แล้ววันนี้ - 28 พ.ค. 2566

เนื่องในปี 2566 เป็นโอกาสครบรอบ 12 ปีของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และครบรอบการมรณภาพ 30 ปี ของท่านอาจารย์พุทธทาส  อินทปัญโญ ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดกิจกรรม “สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ 12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ อาจารยบูชา 30 ปี พุทธทาสละสังขาร” ระหว่างวันที่ 20 - 28 พฤษภาคม 2566 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส  อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อมุ่งเป็นหอจดหมายเหตุทางศาสนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามมาตรฐานสากล มุ่งหมายนำพาผู้คนให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ให้เกิดความร่วมมือกันกับพุทธศาสนิกชน ในการนำพาสันติสุขและการหลุดพ้นจากอำนาจแห่งวัตถุบริโภคนิยม ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถูกต้องตามหลักพุทธธรรม และสร้างสานเครือข่ายภาคีทางธรรม




สำหรับกิจกรรมในวันแรก (20 พฤษภาคม 2566) เป็นการร่วมทำบุญ ณ ลานหินโค้ง โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธม̣มธโช) กล่าวสัมโมทนียกถา มอบเครื่องระลึกแด่ผู้มีส่วนร่วมสนับสนุน และดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้ถ่ายทอดความเป็นมา 12 ปีสวนโมกข์์กรุงเทพฯ โดยมี อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโพชฌงค์ และคุณอ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ ศิลปิน/ดีเจ/อาสาสมัครหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมในพิธีครั้งนี้

ด้านนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้กล่าวเชิญชวนทุกท่านมาร่วมธรรมสังสรรค์ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ 12 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ” ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาวัดด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ตลอดจนภาคีขับเคลื่อนงานด้านธรรมะ ฝ่ายฆราวาส สตรี และผู้คนในแวดวงใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญกับพระพุทธศาสนา รวมถึงองค์กรการบริหารต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อาทิ กลุ่มงานวัดวิถีใหม่ เครือข่ายการเรียนรู้สู่ธรรมวาที เครือข่ายขับเคลื่อนองค์กรรมณีย์ กลุ่มงานธรรมมาตา และสมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ตื่นตาตื่นใจไปกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและกลยุทธ์ดิจิทัล (Digital Transformation) มาปรับใช้ในงานบุญ เพื่อสนับสนุนงานด้านพระพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบไป



โดยกิจกรรมตลอดทั้ง 9 วัน ประกอบด้วย ธรรมพร เพื่อการสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ พระธรรมเทศนา “ธรรมะบำบัดความป่วยจริงหรือ ครั้งที่ 47” การบรรยายธรรม “ทำอะไรก็ธรรม รอบพิเศษ” การรับฟังธรรมบรรยาย “ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ วิสาขบูชา 2566” ตอน “รมณีย์ต้องกลับมา” กิจกรรมฟังธรรมตามกาล กิจกรรมจากพระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรม การเสวนา “การใช้ไอทีในการจัดตั้งวางระบบสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล” และกิจกรรม The Last Moment  เปิดตัวสารคดีชุดใหม่ “กว่าพุทธทาสจะได้ละสังขาร เมื่อ 30 ปีที่แล้ว” การสวดมนต์ทำวัตรเช้า ฟังธรรม สมาธิภาวนารับอรุณ เปิดบันทึกสุดท้ายก่อนเส้นเลือดในสมองแตก และการร่วมกันสร้างธรรมบันดาลใจให้กับสตรีและปฏิบัติบูชา นอกจากนี้ จะมีการจัดงานขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ขอบคุณข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า