มีอะไรในสวนโมกข์กรุงเทพ

Share




เมื่อเราเลือกที่จะมีชีวิตในกรุงเทพฯ ความวุ่นวาย เหนื่อยล้า และรีบเร่ง จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปด้วยโดยปริยาย ยังโชคดีที่ในบริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร มีสถานที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘โอเอซิสทางใจ’ ของคนเมืองซ่อนอยู่ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือที่คนมักจะเรียกกันตามชื่อเล่นว่า ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ นั่นเอง


“เรากำหนดกันตั้งแต่เริ่มเลยนะครับว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือคนที่ผ่านชีวิต ผ่านงานมาสักระยะหนึ่ง หรือยังไม่ผ่านแต่ตั้งคำถามกับชีวิต หรือเพราะสนใจพระพุทธศาสนา คืออยากได้อะไรบางอย่างไปใช้ในชีวิตเพื่อไม่ให้บ้า เพื่อไม่ให้เอาไม่อยู่ ผมใช้คำนี้ เพื่อไม่ให้เอาไม่อยู่ในโลกนี้ เพราะโลกนี้มันเอาไม่อยู่เยอะมาก เพราะฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายของเรา พอเราโฟกัสกลุ่มเป้าหมายอย่างนั้นเสร็จนะครับ เราก็พัฒนานานากิจกรรมเพื่อ serve กลุ่มนี้”






นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ บอกเราว่า ด้วยแนวคิดที่ไม่ยึดติดอยู่กับหลักการของสถานปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาแบบเดิมๆ ทำให้จุดยืนของสวนโมกข์กรุงเทพนั้นมีความแตกต่าง เน้นการเข้าถึงผู้คนที่ต่างจริตต่างวัย โดยใช้หลักคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นสื่อหลัก


ตลอดชีวิต 86 ปีของคนคนหนึ่งที่…พอโตถึงวัยบวชก็บวชตามประเพณี…แต่แล้ว บวชไปบวชมา เอนจอย! ท่านก็เรียนไปเรื่อยๆ ค้นไปเรื่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ทำให้ 86 ปีของท่านได้ทำสิ่งที่เหลือเชื่อจนยูเนสโกบรรจุให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก มิหนำซ้ำ สิ่งที่ท่านคิด ท่านทำ ท่านจดไว้หมด แล้วเก็บรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ ก็นำมาสู่หน้าที่เบื้องต้นของเราคือเก็บของพวกนี้ไว้ ก็คล้ายๆ มิวเซียมนะครับ แต่เนื่องจากว่าของเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ในวิชาสากล เขาบอกว่าอย่างนี้เรียกว่าจดหมายเหตุ เรียกว่าหอจดหมายเหตุ”