พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระดุษฎี เมธังกุโร

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระดุษฎี เมธังกุโร

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓

1212

“ข้อดีอีกประการหนึ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านตอบปัญหาสังคมได้ก็คือว่า ธรรมะมันต้องแก้ปัญหาชีวิต ไม่ใช่ว่าพูดธรรมะแล้วไปปฏิบัติแบบเสื้อโหล คนสองคนมาถามว่า อาจารย์ครับผมจะบวชตลอดชีวิตดีไหมครับ ท่านตอบคนที่หนึ่งว่าดี บวชเลย การบวชนี่ประเสริฐที่สุด แต่คนที่สองท่านบอกว่า อย่าเลย ปฏิบัติธรรมเป็นฆราวาสไป ทำงานไปก็ปฏิบัติธรรมได้ สองคนนี้มาคุยกันทำไมท่านตอบไม่เหมือนกัน ก็คนแรกไม่มีภาระก็บวชได้ คนที่สองนี่แม่แก่ไม่มีใครเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงแม่จนแม่ตายก่อน หรือจนกระทั่งลูกโตก่อนค่อยบวช คือคนไม่เหมือนกันคุณจะไปเอาคำตอบแบบเดียวกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ปัญญาแบบนี้ถึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่ฟันธงแบบใช้มาตรฐานเดียวกันไปหมด มันก็จะเกิดความอึดอัดว่ามันไม่ตอบโจทย์” พระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จังหวัดชุมพร บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถในการประยุกต์หลักธรรมให้ตอบโจทย์การดำรงชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคลในสังคมร่วมสมัย

“อาตมาเคยอ่านงานอาจารย์พุทธทาสสมัยมัธยมต้น”

“อาตมาเดิมชื่อ กิมเฮง แซ่ตั้ง พ่อแม่เป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาจากประเทศจีน แต่อาตมาเกิดในเมืองไทย แล้วก็ได้เรียนหนังสือในจังหวัดนครสวรรค์ สิ่งที่พิเศษกว่าคนในบ้านก็คือ อาตมาชอบไปวัด ชอบไปคุยกับพระ ชอบอยู่กับครู ก็เลยทำให้ได้โอกาสศึกษาพุทธศาสนามากกว่าคนในบ้าน และมีนิสัยรักการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก” พระดุษฎี เมธังกุโร ย้อนประวัติวัยเด็กที่เผยให้เห็นเหตุปัจจัยที่อาจนำพาให้รู้จักกับชื่อเสียงของพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา

20201205 01

เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ เล่าต่อไปว่า “อาตมาเคยอ่านงานอาจารย์พุทธทาสสมัยมัธยมต้น ที่จังหวัดนครสวรรค์จะมีร้านหนังสือร้านหนึ่งชื่อวัฒนาพานิช โยมที่ร้านไปสวนโมกข์ เขาก็เอาหนังสือธรรมะมาวางจำหน่ายในตู้ เล่มแรกสุดก็คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร คือตอนเป็นเด็กเห็นชื่อนี้ก็ติดใจว่ามันน่าสนใจ แต่อ่านไม่รู้เรื่องนะ ก็ไม่เป็นไรยังไม่รู้เรื่อง แต่เราก็รู้จักคำนี้แล้ว ก็มาอ่านงานอาจารย์พันเอกปิ่น มุทุกันต์, อาจารย์วศิน อินทสระ, อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นพื้นไปก่อน...ทีนี้พอสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่กรุงเทพฯ ได้ ก็มีโอกาสได้เข้ามาพบอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รู้จักกลุ่มที่ทำงานหนังสือ แล้วเข้าชมรมพุทธศาสนา ก็เป็นเหตุให้ได้ไปสวนโมกข์

 20201205 03

“ปิดเทอมหนึ่งเดือนก็ไปกันทั้ง ๑ เดือน ตอนไปนั่งรถไฟชั้น ๓ ไปด้วยกันทั้งหมดพร้อมกัน ทีนี้คนไหนที่ติดเรียนหรือว่าต้องกลับบ้าน ก็ทยอยกลับ อาตมาไปเห็นสวนโมกข์ครั้งแรกก็ประทับใจ เพราะว่าที่นั่นร่มรื่นมาก ป่าสมบูรณ์ บางทีเราร้อนจะไปอาบน้ำ พอเดินกลับไปที่พัก เดินไปได้ประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร ความเย็นฉ่ำของป่า ทำให้เราไม่ต้องอาบก็ได้ เพราะว่าตอนนั้นน้ำในธารน้ำไหลยังเยอะ แล้วก็มีปลาดุก เรียกว่าปลามัด ซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองอยู่ ก็เลยประทับใจ แล้วก็ไปพักในป่า ที่กุฏิที่เป็นโรงทำงานก่อสร้าง ก็เลยทำให้ชอบชีวิตอย่างนั้น...

ช่วง ๔ ปีที่เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไปสวนโมกข์ทุกปี เพราะว่าเป็นประธานชมรมพุทธศาสนา ก็เลยคุ้นเคยกับท่านอาจารย์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน จบมาแล้วก็ทำงานเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) หรือมูลนิธิมาตลอด ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอีก เช่น คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อันนี้ก็เป็น ๓ ศาสนามาร่วมมือกัน ช่วยให้พระ บาทหลวง หรือผู้นำทางศาสนา ได้นำศาสนธรรมมาใช้ในงานพัฒนาสังคม ซึ่งงานอาจารย์พุทธทาสมีประโยชน์มาก” พระดุษฎี เมธังกุโร ให้ข้อมูลถึงช่วงชีวิตที่เติบโตขึ้นมาโดยมีผลงานของพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำ

20201205 04

“ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริงๆ ไม่ต้องกลัวอะไร”

หนึ่งความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุที่ พระดุษฎี ยังคงจดจำได้มาตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา คือการบรรยายธรรมในหัวข้อ สุญญตาแก้ปัญหาแม้ของสังคม (http://sound.bia.or.th/catalogue.php?item_code=2365190507040 ) ซึ่งเป็นการบรรยายเพื่ออบรมนักศึกษา พ.ศ.๒๕๑๙ ภายใต้สภาวการณ์ที่โลกและสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งจากการแบ่งกลุ่มคนออกเป็นสองขั้วอุดมการณ์ 

เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ บอกเล่าเนื้อหาบางส่วนว่า “สมัยที่อยู่เตรียมอุดมฯ เป็นช่วงที่เมืองไทยกำลังตื่นตัวเรื่องสังคมนิยม เพราะเป็นช่วงหลัง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ตอน ๖ ตุลาฯ ๑๙ อาตมาอยู่เตรียมอุดมฯ พอดี ก่อนเหตุการณ์นี้มันก็เกิดความตื่นตัว มีกลุ่มทุนศักดินา ซึ่งอาจารย์พุทธทาสท่านเรียกว่าบัวสีน้ำเงิน แล้วก็กลุ่มสังคมนิยมมาร์กซิสม์ ก็เรียกว่าบัวสีแดง ซึ่งบางทีก็โยงไปถึงพวกคอมมิวนิสต์ พวกใช้ความรุนแรงปฏิวัติอย่างรัสเซีย จีน อะไรอย่างนี้

20201205 05

ทีนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสก็มองว่า ทั้งบัวสีน้ำเงินและบัวสีแดงมันเกิดจากการขาดธรรมะ คือเรียนสูงก็เห็นแก่ตัว คนรวยไม่ช่วยคนจนก็ทำให้เกิดความเกลียดชัง อันนี้คือความโลภ ส่วนไอ้ฝั่งที่โกรธก็คือฝั่งที่ใช้การปฏิวัติเนี่ยก็ขาดธรรมะอีก ท่านก็เลยบอกว่าชาวพุทธเราใช้บัวสีเหลืองเป็นทางออกที่สาม พูดง่ายๆ ก็คือว่า เราไม่เอาทั้งขวา ไม่เอาทั้งซ้าย แต่เราขอเดินทางสายกลาง เดินแบบสังคมนิยมแบบพุทธ คือ เป็นสังคมนิยมเพราะว่า ธรรมชาติเป็นธัมมิกสังคมนิยมอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็มีแนวทางของพุทธศาสนาเป็นแนวทาง

ท่านก็เคยบรรยายว่า หากเราถือพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ต้องกลัวอะไร ทุนนิยมก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ถูกเขาลวงเพราะเรามีเรื่องสันโดษ คอมมิวนิสต์มีเรื่องคอมมูนใช่ไหม เราก็มีเรื่องสังฆะ ซึ่งก็เป็นเรื่องชุมชนเหมือนกัน ท่านก็เลยบรรยายว่า คอมมิวนิสต์เข้ามาพุทธศาสนาก็ยังอยู่ได้” พระดุษฎี บอกเล่าหนึ่งในหัวข้อบรรยายธรรมของพุทธทาสภิกขุที่ยังคงเป็นประโยชน์แม้ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยในปัจจุบัน

งานหนังสือในสวนโมกข์

หลังตัดสินใจละบทบาทจากองค์กรพัฒนาเอกชน และหันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ จนกระทั่งในพรรษาที่ ๓ พระดุษฎีจึงตัดสินใจเดินทางไปจำพรรษาที่สวนโมกข์ และมีโอกาสได้ช่วยงานจัดพิมพ์หนังสือในช่วงบั้นปลายชีวิตของพุทธทาสภิกขุ 

พระดุษฎี เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในงานจัดพิมพ์หนังสือว่า “สวนโมกข์ที่เราคุ้นเคยว่ามีพระเยอะ มีโยมเยอะ พระอยู่ประจำจริงๆ ที่ทำงานมีไม่ถึง ๒๐ รูป เลยรู้สึกว่า โห...พระที่นี่งานล้นมือ ที่เราเห็นว่ามีพระเยอะ เป็นพระนวกะ วัดชลประทานรังสฤษดิ์อบรมเสร็จก็ส่งมา เป็นพระที่บวชในพรรษาบ้าง เพราะฉะนั้นพอออกพรรษาแล้วพระเหล่านี้ลาสิกขาไปทำงาน พระที่อยู่จริงๆ ประมาณแค่ ๒๐ รูป ทีนี้งานสวนโมกข์มีทั้งงานสอนชาวบ้านที่มา งานอบรมนักเรียนที่มาเป็นค่าย งานที่ไปสงเคราะห์ชาวบ้าน เช่น กิจนิมนต์ต่างๆ บิณฑบาต งานศพต้องไปเทศน์ งานพิมพ์หนังสือ งานก่อสร้าง ดูแลความสะอาด

20201205 06

ทีนี้งานพิมพ์หนังสือธรรมะกับงานสอนกัมมัฏฐานมันหาคนทำยาก เพราะว่ามันต้องมีพื้นฐานความรู้ อาตมาก็ทำงานพิมพ์หนังสือให้กลุ่มศึกษาปฏิบัติธรรมตอนเป็นฆราวาสอยู่แล้ว ก็เอาหนังสือธรรมโฆษณ์มาดูเล่มไหน บทไหน น่าสนใจก็เอามาพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค คำบรรยายไหนที่ดีก็มาถอดเทปแล้วก็พิมพ์ พิมพ์ออกมาหลายสิบเล่ม จนกระทั่งอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ต่อไปหนังสือธรรมะไม่ขาดตลาด ไม่ขาดแคลนแล้ว แต่ก่อนนี้ต้องรอหนังสืองานศพถึงจะมีหนังสือธรรมะอ่าน เพราะว่ามันขายไม่ได้ ปรากฏว่าหนังสือก็แพร่หลายขึ้น”

เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ เล่าถึงขั้นตอนในการขออนุญาตจัดพิมพ์ และแนวทางในการเลือกจัดพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มต่อไปว่า “เราก็ไปเรียนท่านด้วยตัวเองเลย ถ้าเป็นสำนักพิมพ์อื่นก็ต้องทำเป็นจดหมายไป แล้วท่านอาจารย์บางทีจะเซ็นข้างล่างว่าอนุญาตให้พิมพ์ได้ ท่านก็อาจจะเก็บสำเนาไว้ แต่ท่านไม่ได้เก็บต้นฉบับไว้นะ ส่งต้นฉบับคืนมาเลย มันก็เป็นวิธีที่เร็วที่สุด ไม่ต้องมาพิมพ์จดหมายฉบับใหม่ แต่ของเรานี่เราพานักเรียนไป แล้วก็ไปกราบเรียนท่านเลยว่าเล่มนี้เราจะพิมพ์ท่านก็อนุญาตทุกเจ้า

คู่มือมนุษย์ โดย พุทธทาสภิกขุ – Kru Patchrapha

อย่างคู่มือมนุษย์มีคนขออนุญาตประมาณสัก ๑๐ สำนักพิมพ์ได้นะ ท่านอาจารย์บอกว่า เล่มที่ขายดีคนสนใจเยอะใครๆ ก็อยากพิมพ์เพราะมันเดินดี เราไปห้ามเขาไม่ได้ เราจะเลือกให้เจ้านี้พิมพ์แล้วเจ้าอื่นอย่าพิมพ์เพราะจะซ้อนกัน มันยาก เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะพิมพ์ก็ตามประสงค์ เพียงแต่ว่าถ้าพิมพ์ขายอย่าให้มันแพงนัก แล้วก็ส่งลิขสิทธิ์ที่เป็นหนังสือไปถวายท่านบ้าง ท่านไม่หวงลิขสิทธิ์แล้วก็เน้นความถูกต้อง การตรวจปรู๊ฟท่านก็ไม่ตรวจนะ เพราะท่านบอกว่า ผู้จัดพิมพ์ต้องรับผิดชอบเอง ถ้าท่านทำงานอะไรท่านต้องทำให้ดี ถ้าทำแล้วต้องอย่าผิดพลาด แต่ถ้าทำไม่ได้เพราะเวลาไม่พอก็ต้องหาคนมาดูแลหน้าที่นั้นเลย แล้วก็ให้เกียรติเขาว่าเขาเป็นคนดูแล รับผิด แล้วก็รับชอบไป

“อาตมาก็จะดูว่าในท้องตลาดขาดอะไร แล้วอีกอันหนึ่งมีบางสำนักพิมพ์ตั้งราคาหนังสือแพงมากเล่มละร้อยกว่าบาท เราก็เอาโครงการหนังสือราคาถูกถ่วงราคาลงมา พอเราพิมพ์ถูกแล้วเขาพิมพ์ ๑๕๐ บาท เราพิมพ์ ๑๐๐ บาทอย่างนี้ ราคาก็ต้องลงมาที่สัก ๑๒๐ บาท มันจะต่างกันมากไม่ได้ เพราะเดี๋ยวของเขามันจะขายไม่ได้ เราก็ใช้วิธีว่าพิมพ์หนังสือที่ตลาดต้องการออกมาเยอะๆ และอีกอันหนึ่งที่เป็นงานสำคัญก็คือว่า เราไปเลือกพิมพ์งานที่คนอื่นไม่พิมพ์ เช่น หินสลักพุทธประวัติรอบโรงหนัง เล่มนี้มันขายไม่ได้หรอก เพราะว่าเป็นหนังสือโบราณคดี ท่านอาจารย์บอกว่ารวบรวมปีหนึ่งสัก ๒ เล่ม เป็นหนังสือวิชาการ หนังสือหายาก แล้วก็พิมพ์ออกมา” พระดุษฎี อธิบายกระบวนการในการทำงานจัดพิมพ์หนังสือ ก่อนบอกเล่าถึงอีกหนึ่งหน้าที่ที่ได้รับเมื่อครั้งจำพรรษาในสวนโมกข์นั่นคือการอบรมธรรมะให้แก่นักเรียน นักศึกษา

คู่มือมนุษย์

“นอกจากพิมพ์หนังสือแล้วอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง กับท่านสันติกโร ช่วยงานอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)) อบรมฝรั่งเดือนละ ๑ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๑๐ วันต้นเดือน เป็นเหตุให้อาจารย์พุทธทาสไปสร้างสวนโมกข์นานาชาติขึ้นที่ดอนเคี่ยม ก็เลยทำให้เรามีงานอบรมนักเรียนนักศึกษาบรรยายภาษาไทยแทนท่านอาจารย์เป็นบางครั้ง ท่านอาจารย์ท่านก็ฟังแล้วท่านก็อาจจะแนะนำอะไรบางอย่างที่เราอาจจะต้องปรับปรุง แล้วต้นเดือนก็ไปช่วยอาจารย์รัญจวนกับพระสันติกโรสอนฝรั่ง” เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ ให้ข้อมูล

พยายามอยู่ให้เป็นธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ และดูกฎธรรมชาติเป็นหลัก 

ท่ามกลางสภาวการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยที่เหตุปัจจัยนำพาให้ซับซ้อนไปตามกฎอิทัปปัจจยตา หนึ่งคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับความทรงจำที่มีต่อภิกษุนามพุทธทาสก็คือ สังคมไทยควรเรียนรู้สิ่งใดจากพุทธทาสภิกขุ

20201205 07

พระดุษฎี แสดงความเห็นว่า “อันที่หนึ่งอาตมามองว่าเรื่องวัดก่อนนะ วัดแบบอารามที่เป็นสวนธรรมยังน้อยไป อันนี้ก็ต้องถือว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสริเริ่มไว้เป็นแบบอย่างที่ดีมีคนทำตามน้อยมาก เช่น โบสถ์ธรรมชาติ วัดที่ไม่มีการก่อสร้างมาก เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นว่าไปติดเรื่องวัตถุนิยม เรื่องสิ่งก่อสร้าง แต่งานด้านการสร้างคน การสอนมันอ่อนลงไป 

“ข้อที่สอง การประยุกต์ประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นของชาวพุทธที่แท้จริงมันหายไป ของเรานี่การบวชก็ไปเน้นมหรสพ ไปเน้นหน้าตา พอลงทุนมากมันก็ต้องมีการถอนทุน เช่นว่า คนนี้เขาเคยทำบุญมากับเราเขาจะบวชลูกเขาก็ต้องจัดใหญ่เหมือนกัน เพราะเขาเสียเงินมาแล้วเขาก็ต้องจัดเป็นพิธีเพื่อให้เขาได้เงินกลับไป เพราะฉะนั้นทุกคนก็ลงทุนสูงหมดเลย เราก็ต้องไปจ่ายกลับให้เขา เหมือนกับชวนทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เขาแจกซองมากี่ซอง เราจัดบ้างเราก็ต้องไปให้เขาทำบุญกลับมา มันก็เลยกลายเป็นว่าเกิดการสิ้นเปลือง มันไม่ตรงกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านคิดว่า ทำให้มันเรียบง่าย ประโยชน์สูง ประหยัดสุด แล้วก็ได้แก่นธรรมะ” เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ อธิบาย และแสดงความเห็นต่อไปว่า

20201205 08

“เรื่องที่สามคือเรื่องเราต้องใจกว้าง ต้องมองว่าทุกศาสนามีเป้าหมายดี แล้ววิธีสอนแต่ละสำนักมันเหมาะกับคนแต่ละระดับ อาจจะด้วยปัญญาบ้าง เศรษฐกิจบ้าง ก็ให้เขามีแนวทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ควรจะไปโจมตีกัน ไม่ควรจะเป็นศัตรูกัน แล้วก็ต้องรู้เท่าทันด้วยนะ อยากจะให้เราสอนธรรมะให้มันตอบโจทย์ของชีวิตแล้วก็ประยุกต์ใช้ธรรมะในการทำงานหรือการปฏิบัติธรรม แล้วก็ความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก รู้หน้าที่ของตน เป็นครูเป็นลูกศิษย์ก็รู้หน้าที่ของตน ธรรมะคือหน้าที่ที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา

พระประชา ปสันนธัมโม (ประชา หุตานุวัตร) เคยไปสัมภาษณ์ท่านนะ บอกว่า เอ๊ะ! กรุงเทพฯ เนี่ย เณรทำงานหนัก พระทำงานน้อย พระได้ปัจจัยมาก แม่ชี เณรไม่มีคนทำบุญ ท่านก็บอกมันก็ต้องอย่างนั้นล่ะ คือว่าธรรมเนียมมันเป็นอย่างนั้น เพราะพระท่านดูแลวัดดูแลเณร เพราะฉะนั้นจะให้พระเท่ากับเณรไม่ได้ ศีลก็ไม่เท่าอยู่แล้ว ภาระกิจหน้าที่ก็ไม่เท่าอยู่แล้ว

20201205 09

 

ท่านบอกการอยู่ร่วมกันแล้วอยู่อย่างเสมอกันเป็นทุกข์ในโลก มันต้องมี hierarchy (ลำดับชั้น) เพียงแต่ว่าทำหน้าที่หรือเปล่า พระราชาต้องเป็นธรรมราชา เราเป็นพสกนิกร ทำหน้าที่ของพสกนิกรมีธรรมะของตัวเองอยู่ ทีนี้ถ้าคนมาเท่ากันหมด เป็นเสรีภาพหมด ไปไม่รอดหรอก ร่างกายคนเราต้องมีระบบที่ต่างกัน แต่ว่าให้เกียรติว่า ทุกอวัยวะสำคัญหมด ถ้าเกิดไม่ทำงานนิดเดียวก็กระทบกระเทือนอวัยวะอื่น...เพราะฉะนั้นพยายามอยู่ให้เป็นธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ และดูกฎธรรมชาติเป็นหลัก อย่าไปสร้างเครื่องมืออะไรที่มันแทรกแซงธรรมชาติมากเกินไป เดี๋ยวก็เป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ปัญหาของพระเจ้า เป็นปัญหาของมนุษย์...

20201205 10

“ข้อดีอีกประการหนึ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านตอบปัญหาสังคมได้ก็คือว่า ธรรมะมันต้องแก้ปัญหาชีวิต ไม่ใช่ว่าพูดธรรมะแล้วไปปฏิบัติแบบเสื้อโหล คนสองคนมาถามว่า อาจารย์ครับผมจะบวชตลอดชีวิตดีไหมครับ ท่านตอบคนที่หนึ่งว่าดี บวชเลย การบวชนี่ประเสริฐที่สุด แต่คนที่สองท่านบอกว่า อย่าเลย ปฏิบัติธรรมเป็นฆราวาสไป ทำงานไปก็ปฏิบัติธรรมได้ สองคนนี้มาคุยกันทำไมท่านตอบไม่เหมือนกัน ก็คนแรกไม่มีภาระก็บวชได้ คนที่สองนี่แม่แก่ไม่มีใครเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงแม่จนแม่ตายก่อน หรือจนกระทั่งลูกโตก่อนค่อยบวช คือคนไม่เหมือนกันคุณจะไปเอาคำตอบแบบเดียวกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ปัญญาแบบนี้ถึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่ฟันธงแบบใช้มาตรฐานเดียวกันไปหมด มันก็จะเกิดความอึดอัดว่ามันไม่ตอบโจทย์” เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ ให้ข้อมูล

20201205 02

ขณะที่การวัดผลความสำเร็จ ความพึงพอใจในชีวิต กำลังถูกชี้วัดด้วยความสามารถในการครอบครองวัตถุ ธรรมะในศาสนากลับถูกผลักไสให้เป็นเพียงความงมงายและล้าหลัง เรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากความทรงจำของพระดุษฎี เมธังกุโร กลับเผยให้เห็นแง่งามของทางเลือกในการใช้ชีวิตในแบบพุทธทาส ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ และดูกฎธรรมชาติเป็นหลัก ชีวิตที่ หากเราถือพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ต้องกลัวอะไร ชีวิตที่อาจดูไม่ยิ่งใหญ่ในทางโลก แต่งดงามยิ่งในทางธรรม