พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ สัมพันธ์ ก้องสมุทร

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ สัมพันธ์ ก้องสมุทร 

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย 
สัมภาษณ์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

 1230big cr horz

ชมคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=K-s_N5kMKWY

“...เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เกิดขึ้นแพล็บเดียวครบทั้งรอบ ครบทั้ง ๑๑ อาการ; แล้ววันหนึ่งๆ เกิดขึ้นไม่รู้กี่ร้อยรอบก็ได้. ไม่ใช่ว่ารอบเดียวแบ่งไว้ ๓ ชาติ : ชาติในอดีตครึ่งท่อน, ชาติปัจจุบันท่อนหนึ่ง, ชาติอนาคตอีกท่อนหนึ่ง; ไม่ใช่อย่างนั้น!”(พุทธทาสภิกขุ, ปฏิจจสมุปบาท, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, มปป. ๓๑) 

บางคำอธิบายเกี่ยวกับ ปฏิจจสมุปบาท แบบ พุทธทาสภิกขุ ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น แม้ด้านหนึ่งจะฟังดูเข้าใจได้ไม่ยากภายใต้ระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์ในสังคมร่วมสมัย แต่หากย้อนกลับไป นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้ภิกษุนามพุทธทาสถูกกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวางทั้งในนามของ ความรัก และ ความชัง

5646ำ

“ผมเคยถามท่านว่า อาจารย์ลูกศิษย์ท่านก็เยอะ ทำไมถึงมาเอาผม ผมแค่นักวาดการ์ตูนธรรมดาไม่ใช่ศิลปินใหญ่โตอะไร...ท่านบอกเราอยากได้ช่างเขียนบ้านนอก ท่านใช้คำว่า ช่างเขียนบ้านนอกนะ ท่านไม่ต้องการเรียกศิลปงศิลปินอะไรท่านไม่พูดถึง เราอยากได้ช่างเขียนบ้านนอก...ท่านพูดให้ฟังเป็นลักษณะว่า ท่านต้องการให้เข้าใจหลัก แก่นของมันคือหลักธรรมของพระพุทธเจ้า หัวใจของมันอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่ารูปจะสวยวิจิตรพิสดารหรือไม่ ไอ้สิ่งนั้นถ้าลึกเข้าไปยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแก่น อันนี้สำคัญ

2020 10 25 234709

แก่นของมันอยู่ที่เนื้อหาปฏิจจสมุปบาท รูปนี้สามารถอธิบายให้คนพื้นๆ ธรรมดาที่เขาไม่ได้เรียนศิลปะเข้าใจได้ง่าย ในชีวิตผมถ้าไม่ได้บวชที่นั่นผมก็คงไม่ได้รู้เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องศาสนา” สัมพันธ์ ก้องสมุทร นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ วสี ครีเอชั่น ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับภาพปฏิจจสมุปบาทขนาดใหญ่ในโรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของ “ช่างเขียนบ้านนอก” ซึ่งเป็นสรรพนามที่เขาถูกเรียกขานอย่างภาคภูมิ 

จากเกาะสมุย ถึง เพาะช่าง

“ผมเกิดปีขาล พ.ศ.๒๔๘๑ ที่บ้านไสยอ ตำบลเฉวง (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ปัจจุบันนี้เป็นตำบลบ่อผุด บิดาชื่อนายเปลื้อง ก้องสมุทร มารดา นางอ๋อ ก้องสมุทร มีอาชีพเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ทำสวนมะพร้าว สมุยสมัยก่อนเป็นสวนมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ผู้คนมีอาชีพทำไร่ ทำนา” สัมพันธ์ ก้องสมุทร บอกเล่าภูมิหลังของครอบครัว ก่อนฉายภาพเกาะสมุยที่ห่างไกลจากสาธารณูปโภคผ่านความทรงจำวัยเด็กต่อไปว่า

2020 10 25 234839

“เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนวัดเฉวง เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสว่างอารมณ์ วัดเฉวงอยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะสมุย อยู่ระหว่างภูเขาสองลูก ห่างไกลความเจริญ ห่างอำเภอ เขาเรียกคนหลังเขา คนก็ไม่ค่อยส่งเสียลูกเรียนเท่าไร มีไม่กี่คนที่จะรักให้ลูกเรียนหนังสือ น้อยคนมาก เพราะว่ามันลำบาก การเดินทางจากสมุยมาเรียนที่ตลาดตัวอำเภอลำบาก ต้องเดิน ถนนสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้ มีภูเขาขวางกั้น ขี่จักรยานยังไม่ได้เลย ต้องเดินข้ามเขา บังเอิญผมมีคุณยายอยู่ที่ตลาด ผมมาอยู่กับคุณยายที่บ้านหมื่นประคองธุระราษฎร์...แล้วก็เรียนมัธยม ๑-๓ ที่โรงเรียนเกาะสมุย เป็นโรงเรียนประจำอำเภอ เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรก คติประจำโรงเรียน สุวิชาโน ภวํ โหติ แบบเดียวกับสวนกุหลาบนี่ล่ะ เพราะว่าคนสมุยมาเรียนสวนกุหลาบหลายคน มาเรียนที่สวนกุหลาบแล้วก็กลับไปเป็นครู ตอนหลังก็ตั้งโรงเรียนหลวงก็ใช้คำขวัญเดียวกับสวนกุหลาบ จบ ม.๓ แล้วผมก็มาต่อกรุงเทพฯ ม.๔ ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย” สัมพันธ์ อธิบายถึงช่วงชีวิตในวัยเรียนบนดินแดนที่แวดล้อมไปด้วยสายลมและเกลียวคลื่น

2020 10 25 234943

ความชื่นชอบในการวาดเขียนมาแต่ครั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบนเกาะสมุย เป็นแรงบันดาลใจให้ สัมพันธ์ ตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่าง (วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลายจากสวนกุหลาบวิทยาลัย “ผมรักวาดเขียนตั้งแต่ตอนอยู่ที่บ้าน รักวาดเขียน ชอบวาดรูป เลยคิดตั้งใจว่าจะต้องเรียนเพาะช่าง มาเรียนสวนกุหลาบก็ไปเรียนวาดเขียนที่เพาะช่าง มันก็ผูกพันอยู่...มาสอบเข้าเพาะช่างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ สมัยนั้นไม่มีเงินเรียนก็อาศัยมีเพื่อนที่เขาเขียนการ์ตูน ๒-๓ คน มี ราช เลอสรวง (นิวัฒน์ ธาราพรรค์) จุก เบี้ยวสกุล (จุลศักดิ์ อมรเวช) เขาวาดรูปการ์ตูนมาตั้งแต่เรียน ม.๖ เอ๊ะ...เราก็อยากวาดบ้าง มันมีรายได้ดีด้วยตอนนั้น ก็ไปวาดการ์ตูน เรียนแผนกวิจิตรศิลป์...จบปี ๓ เพื่อนก็ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยศิลปากรหมด เราไม่มีเงินเรียน ผมมาสอบเทียบเอาวิชาชีพครู คือเราไม่ได้เรียนแผนกฝึกหัดครู ก็ต้องไปสอบเทียบจากกรมอาชีวะ เพื่อจะได้มีวิชาครูที่จะไปสอนโรงเรียนระดับชั้นมัธยม ๑-๘ สอนศิลปะ” 

 2020 10 25 235642

สัมพันธ์ เล่าถึงช่วงชีวิตหลังจบการศึกษา และเหตุปัจจัยที่นำพาให้เขาได้มีโอกาสเดินทางสู่สวนโมกข์ว่า “ทำงานอยู่เป็นครูด้วย เขียนการ์ตูนด้วย มันก็มีความสุขแล้วล่ะ...ทีนี้เราอยู่ในวงการนักเขียนการ์ตูน พบนักเขียนรุ่นพี่ เราก็กินเหล้า...ในที่สุดพ่อก็บอกว่า อายุก็มากแล้ว รู้ข่าวว่าค่อนข้างดื่มหนัก หยุดพักสักทีได้ไหม ไปบวชสักพรรษา ขอให้บวชให้ที่บ้าน ก็จะบวชสักพรรษา ผมก็บอกกับพ่อว่า ถ้าจะบวชก็ต้องขอบวชที่สวนโมกข์” 

ช่างเขียนบ้านนอก กับ ภาพปฏิจจสมุปบาทในสวนโมกข์

จากความต้องการของพ่อที่อยากให้ลูกชายได้บวชตามประเพณีไปพร้อมๆ กับเป็นหนทางในการห่างไกลจากสุราชั่วระยะ ทำให้ สัมพันธ์ มีโอกาสได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติแบบสมณะในสวนโมกข์ “บังเอิญคุณพ่อ ครอบครัวผมเป็นญาติกับอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร))...โชคดีว่าอาจารย์โพธิ์มาอยู่ที่นั่น (สวนโมกข์ ไชยา สุราษฎร์ธานี) แล้วก็จองกุฏิ สมัยก่อนนี้ถ้าไม่ได้จองกุฏิ พระราชภัฏบวชไม่ได้ กุฏิจำกัด ก็เป็นว่าตัดสินใจบวชสวนโมกข์เพื่อจะศึกษาธรรมะกับท่าน (พุทธทาสภิกขุ)...บวชก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ที่สมุย เพราะว่าปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้องอยากจะทำบุญ แล้วอาจารย์โพธิ์ก็ไปรับมาอยู่ที่สวนโมกข์ พ.ศ.๒๕๐๙ ได้อยู่กุฏิหัวมุมใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้า ก็ได้ศึกษางานของท่าน สมัยนั้นถนนหน้าวัดก็ไม่มี มันจะเป็นถนนเล็กๆ สำหรับเดินไปบิณฑบาต ธรรมชาติร่มเย็น เรารู้สึกมันสงบ”

2020 10 25 235757

สัมพันธ์ เล่าต่อไปว่า “...มีอยู่วันหนึ่ง มหาเอี้ยน ชื่อมหาทรงศักดิ์ (พระครูวินัยธรทรงศักดิ์ วิโนทโก) ท่านทำหน้าที่ดูแลโรงมหรสพทางวิญญาณ เป็นคนพัทลุง เก่งทางด้านบาลี ท่านรู้ว่าผมเรียนจบเพาะช่างมา อยากให้วาดรูปพระพุทธเจ้าสมัยที่อยู่ในราชสมบัติ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในราชสมบัติ ๑ ภาพ ภาพที่สองขอเป็นภาพกำลังระเริงอยู่กับบรรดาพระสนมอะไรอย่างนี้ อันสุดท้ายเป็นภาพออกบวช ผมก็เขียนให้ เขียนเป็นสีโปสเตอร์รูปเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก...เมื่อเสร็จแล้ว วันหนึ่งท่านมหาเอี้ยนหรือท่านทรงศักดิ์ก็หนีบภาพเดินผ่านหน้ากุฏิท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ท่านก็ถามว่า ‘มหาเอี้ยน นั่นหนีบอะไรมา ถืออะไรมา’ มหาเอี้ยนบอกว่า ‘รูปภาพครับ’ ท่านบอก ‘มาดูสิ’ ท่านก็มาดู รูปภาพที่ผมวาดจะเป็นรูปพระพุทธเจ้ายืนอยู่ แต่งตัวเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็มีหนามพันตั้งแต่เท้า เหมือนเป็นความเจ็บปวด เหมือนโดนร้อยรัด อีกภาพเป็นภาพกำลังระเริงกับหมู่สนมในสระน้ำ ก็เป็นเรื่องโลกีย์ กิเลสทางโลก แล้วก็ออกบวช ท่านก็ถามความหมายผม ผมอธิบายให้ฟัง ท่านพูดไม่มาก ท่านบอกว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้แวะมาหาเราหน่อย” สัมพันธ์ ย้อนความทรงจำถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีโอกาสวาดภาพปฏิจจสมุปบาทขนาดใหญ่ในโรงมหรสพทางวิญญาณ 

เขาให้รายละเอียดต่อไปว่า “แล้วท่านก็เรียกมา ท่านบอกว่า คุณระบิล บุนนาค มีภาพอยู่ภาพหนึ่ง อยากให้วาดดูสิวาดไหวไหม ภาพที่ได้มาเป็นรูปจตุรัสประมาณ ๒๔ นิ้ว ท่านก็อธิบาย ชื่อภาพ Wheel of Becoming. ภาษาอังกฤษเขียนไว้ ท่านบอกว่ามันเป็นภาพปฏิจจสมุปบาท อย่างบ้านเราเขาเรียกว่า เวียน ว่าย ตาย เกิด ท่านบอกว่า ไม่ใช่...ท่านอธิบายว่าไอ้นี่เกิดจากอะไร อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไล่ไปเรื่อยจนรอบวงกลมข้างนอก ข้างใน ผมบอกมันละเอียด ภพภูมิมัน ๕ ภพภูมิ แต่ละภพภูมิมันละเอียดยิบเลย ผมบอกว่าก็ลองดูครับอาจารย์ ผมก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร ขอศึกษาก่อนว่ามันเป็นอย่างไร แวะมาหาท่านท่านก็อธิบายให้ฟัง...  

2020 10 25 235108

“...พอได้รู้เรื่องว่าเรื่องนี้มันสำคัญ ท่านบอกว่าเป็นหัวใจเป็นแก่นของพุทธศาสนาเลย ที่ทำให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พูดง่ายๆ แต่มันเป็นภาพของทิเบต คนที่เอาภาพมาให้คือ จอห์น โบลเฟลด์ (John Blofeld) เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ เคยมาอยู่ในจีนแดง เป็นภาพปฏิจจสมุปบาท...เราเรียนด้านนี้มา แล้วรู้ว่างานศิลปะเพื่อพุทธศาสนา มันเป็นงานของจิตวิญญาณที่จะต้องรักผู้อื่น เพื่อให้คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย เป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราทำไปแล้วท่านบอกว่า ถ้าคุณเขียนได้ คนจะได้ศึกษา พระจะได้ศึกษา พระที่เขามาชมสวนโมกข์เขาจะได้ศึกษาเรื่องนี้ แล้วเป็นประโยชน์แก่ศาสนาถ้าคุณทำได้ มันเกิดพลังว่า เอ่อ...ลองดูอาจารย์ คือทั้งๆ ที่ยังไม่รู้นะว่าเอาจริงๆ จะทำสำเร็จไหม ยังไม่รู้หรอก ในที่สุดผมก็ตัดสินใจบอกท่านว่า โอเค” สัมพันธ์ เล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในการทำงานเพื่อรับใช้พุทธศาสนาที่ปรากฏเป็นหลักฐานขนาดใหญ่บนผนังของโรงมหรสพทางวิญญาณ

2020 10 25 235431

เขา อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานต่อไปว่า “ตอนนั้นอุปกรณ์มีพร้อมแล้ว ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) สังเกตดูว่าผมจะทำอย่างไรกับศูนย์ที่จะวาดภาพวงกลมทั้งหลาย ไม้ฉากมันก็ไม่มีที่จะขึ้นตั้ง ผมก็วัด ใช้ดินสอช่างไม้วัดซ้ายขวา ให้ซ้ายขวาและด้านบนโอเค ให้มหาเอี้ยน ให้เณรช่วยหาเส้นผ่านศูนย์กลางได้แล้ว ทีนี้จะเขียนวงกลมอย่างไร วงเวียนใหญ่ขนาดนี้ไม่มี ท่านยืนดูผมอยู่ตลอด หมายถึงว่า สมองคุณจะทำอย่างไร ผมก็บอกเณรไปที่มหาเอี้ยนไปช่วยหาเชือกปอที่โรงครัวของแม่ชี มันมีกระสอบข้าวสารนึกออกไหม ไปหามา เอามาเท่าที่หาได้พอสมควร ผมก็ใช้เชือกนั่น หาจุดศูนย์กลางได้แล้วนี่ ผมก็ใช้ดินสอที่ช่างไม้ใช้ เขียนทีละครึ่ง...ผมเขียนทีละครึ่งให้จับจุดศูนย์กลางไว้ แล้วผมก็เขียนเส้นแบบวิชาเรขาคณิต ผมก็ใช้เชือกนั่นแหละแทนวงเวียน ผูกปลายเข้าอะไรเข้า พอทำได้เสร็จเป็นรูปวงกลม เรื่องเขียนมันไม่ยากอยู่แล้ว ท่านบอก ‘เออ...ช่างบ้านนอกเนี่ยนะ มันไม่เห็นต้องใช้อะไรเลย’ ท่านนึกถึงช่างสมัยก่อนไม่มีอะไร นอกจากใช้สมองคิดแล้วก็เอาอะไรที่ใกล้ตัวเอามาใช้ ท่านก็พูด อาจารย์โพธิ์ก็ยืนอยู่ ท่านพูดกับอาจารย์โพธิ์บอก ‘คุณโพธิ์ดูสิ ช่างบ้านนอกสมัยก่อนมันก็ไม่ต้องใช้อะไรเท่าไรเลย’ พูดง่ายๆ เป็นเรื่องใช้ปฏิภาณของช่างที่จะต้องเอาอะไรใกล้ตัวเข้ามาช่วย บางแห่งไม่มีเชือกปอด้วยซ้ำไป ก็ต้องคิดหาอย่างอื่น เสร็จแล้วก็โล่งอกไปขั้นหนึ่ง”

2020 10 25 235542

สัมพันธ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า “ท่านก็มาดูตลอดตอนร่าง ตอนเริ่มวาดท่านก็มาดู ผมเริ่มวาดตั้งแต่ กิเลส กรรม วิบาก ตรงกลาง ๓ ตัว กิเลส กรรม วิบาก เป็นจุดๆ ไป เพราะท่านอธิบายให้ฟังหมดแล้ว เรื่องราวทั้งหมดของปฏิจจสมุปบาทรู้หมดแล้ว...ผมไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย อยู่ทางโลก เรียนศาสนาพุทธ สอนธรรมะของอาจารย์แปลก สนธิรักษ์ ให้นักเรียน หรือว่าข้างนอกฟังพระเทศน์ก็ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย นี่เป็นภาพปฏิจจสมุปบาทภาพแรกในประเทศไทยนะ วันหลังเขาก็เขียนดัดแปลงกันไปอะไรต่ออะไรเยอะแยะ ของผมเป็นภาพต้นฉบับแรกที่เอามาจากของทิเบต หมายความว่าท่านเลือกมาจากแบบของในหนังสือ ท่านมีครบทุกอย่าง ของจีนก็มี ของอะไรก็มี แต่ว่าท่านเลือกเอาภาพนี้ ภาพที่ จอห์น โบลเฟลด์ ถ่ายก๊อบปี้มาจากของทิเบต

2020 10 26 000107 

“ผมก็วาดไปๆ บางครั้งมาดูแล้วอธิบายแต่ละส่วน สีฉัพพรรณรังสี (สีทั้ง ๖ ที่เชื่อกันว่าเป็นรังสีที่แผ่ออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า) ในธรรมะล่ะนะ จะมีด้านซ้ายด้านขวาพุทธสาวก พระพุทธเจ้าชี้ไปที่ธรรมจักรแบบของทิเบตด้านซ้ายมือ มีเมฆอะไรตามในรูป ความหมายก็คือให้หักวงล้อนี้เสีย ตัวยักษ์ก็คือตัวอำนาจกิเลสที่ครองโลกทั้งหลายแหล่ ที่มันกัดหัวใจคนอยู่ ท่านอธิบายเป็น ๒ ความหมายทั้งด้านธรรมาธิษฐาน และบุคลาธิษฐาน บุคลาธิษฐานหมายถึง มีนรก สวรรค์ จริงๆ ตามความเชื่อที่เขาอธิบายมาก่อน แต่ของท่านไม่ใช่แค่นั้น ท่านนี่ตรงนี้ (ชี้นิ้วเข้าหาตัวเน้นไปที่หน้าอก) อยู่ในหัวใจมนุษย์นี่ ปฏิจจสมุปบาทที่ว่ามันอยู่ในนี้ กิเลสที่มันวิ่งวนในแต่ละวัน ทำลายเราอยู่ทุกวันเหล่านี้ นี่มันก็เลยทำให้เรา เอ๊ะ...ทำไมเราไม่เคยศึกษา พระไม่เคยสอนเรื่องเหล่านี้...ท่านก็มาดูทุกขั้นตอน

2020 10 26 000403

ผมสงสัยก็ถามท่าน อย่างภพเทวดา ทำไมมันฟันกันเลือดโชกเลยอาจารย์ ทางนั้นก็มีเทวดา ฝั่งนี้ก็มีอสูรพวกยักษ์ ท่านบอกนั่นคุณดูสิ สวรรค์ที่เราอยากไป คุณดูสิ นั่นแหละสวรรค์ล่ะ มันรบกันตลอดเวลา มันรบกันทุกนาทีระหว่าง ๒ พวกนี้ เพื่อแย่งนางฟ้า กามคุณไง กามคุณคือยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เอาชนะยาก มันจะมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ตัวหลักธรรมที่เป็นบาลีอะไรเยอะแยะไปหมด แต่ผมไม่ได้เรียนบาลีมา แต่ว่าผมก็เข้าใจความหมายของมันว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้เอาชนะโลก ๕ ภพภูมิ ท่านสามารถหักวงล้อนี้ได้สำเร็จ มันไม่ใช่หักง่ายๆ” สัมพันธ์ บอกเล่าถึงธรรมะในพุทธศาสนาที่เขาสามารถเรียนรู้ผ่านการเขียนภาพปฏิจจสมุปบาทในโรงมหรสพทางวิญญาณ

2020 10 26 000216

เขา อธิบายถึงช่วงท้ายของการทำงาน ต่อไปว่า “ตอนหลังท่านบอกว่า คุณไม่ต้องบิณฑบาตแล้ว เดี๋ยวออกพรรษากลัวไม่เสร็จ...เพราะว่าผมก็ต้องสึก ทีนี้พอไม่บิณฑบาตท่านก็เทศน์วันพระ ‘ไปดูพระที่ทำงานในโรงมหรสพทางวิญญาณ โรงหนังบ้างนะ’ พวกแม่ชีเขาก็เอาอาหารไปถวาย โอ๊ย...เรียกว่าต้องชวนพระมาช่วยฉัน ท่านกลัวเสียเวลา ไม่ต้องไปโรงฉันแล้ว ไปทำงาน ผมก็ทำจนนาทีสุดท้ายของวันก่อนจะสึก จนรูปปฏิจจสมุปบาทเสร็จ...

2020 10 25 235259

“ผมเคยถามท่านว่า อาจารย์ลูกศิษย์ท่านก็เยอะ ทำไมถึงมาเอาผม ผมแค่นักวาดการ์ตูนธรรมดาไม่ใช่ศิลปินใหญ่โตอะไร...ท่านบอกเราอยากได้ช่างเขียนบ้านนอก ท่านใช้คำว่า ช่างเขียนบ้านนอกนะ ท่านไม่ต้องการเรียกศิลปงศิลปินอะไร ท่านไม่พูดถึง เราอยากได้ช่างเขียนบ้านนอก...ท่านพูดให้ฟังเป็นลักษณะว่า ท่านต้องการให้เข้าใจหลัก แก่นของมันคือหลักธรรมของพระพุทธเจ้า หัวใจของมันอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่ารูปจะสวยวิจิตรพิสดารหรือไม่ ไอ้สิ่งนั้นถ้าลึกเข้าไปยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแก่น อันนี้สำคัญ แก่นของมันอยู่ที่เนื้อหาปฏิจจสมุปบาท รูปนี้สามารถอธิบายให้คนพื้นๆ ธรรมดาที่เขาไม่ได้เรียนศิลปะเข้าใจได้ง่าย ในชีวิตผมถ้าไม่ได้บวชที่นั่นผมก็คงไม่ได้รู้เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องศาสนา...

2020 10 25 235925

หลังจากสึกมาแล้วมีชีวิตทางโลกก็ไม่เคยลืมสวนโมกข์ ไม่เคยลืมท่านอาจารย์ ทุกวันเกิดที่เขาเรียกวันล้ออายุ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันล้ออายุท่าน ก็กลับไปฟังธรรมของท่าน เตือนสติตนเองที่อยู่ในกระแสโลกแล้วมันถูกลบเลือนไป เหมือนไปสำรวจตัวเอง ส่วนมากก็อย่างนั้น ไประลึกถึงท่าน ระลึกถึงธรรมะของท่าน ไม่ใช่ตัวท่าน เพราะว่าเราก็ได้หลักหลายๆ อย่างจากท่าน” สัมพันธ์ ก้องสมุทร บอกเล่าความทรงจำที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ ผ่านเส้น สี แสง เงา ที่ครั้งหนึ่งเขาบรรจงแต่งแต้มลงบนภาพปฏิจจสมุปบาทขนาดใหญ่ในโรงมหรสพทางวิญญาณ