พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ 

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๓ กันยายน ๒๕๖๓ 

 5566

“ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านสอนธรรมะผมตั้งแต่เจอกันครั้งแรกเลยครับ เจอกันครั้งแรกท่านให้ผมทานอาหารก้นบาตร ผมจำได้พ่อ (ศาสตราจารย์ (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์) พาไปที่โรงฉัน ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ตักอาหารเสร็จท่านก็ให้ผมทานอาหารก้นบาตร เรียกว่าอาหารก้นบาตรแต่จริงๆ ท่านให้ตักทานตั้งแต่ต้น ท่านให้ผมท่องกลอน

ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์

ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี

ยามจะตาย ตายให้เป็น เป็นสุดดี

ทำอย่างนี้ไ ม่มีทุกข์ ทุกวันเอย

ด้ เป็น ตาย ตั้งแต่ต้น”

เสี้ยวหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กของ นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาส สะท้อนให้เห็นความซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะที่มอบให้ผ่านสัจจะที่ว่าด้วย การได้ การเป็น และการตาย 

20200903 

พุทธทาสภิกขุ และสวนโมกข์ ในความทรงจำทายาท ศ. (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของมหาโพธิสมาคม (The MAHA Bodhi Society) เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาในโลกตะวันตก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๗๖ ซึ่ง ศ. (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักเรียนกฎหมายอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้เรียบเรียงเป็นบทความออกเผยแผ่ในหนังสือไทยเขษม อาจเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้หนึ่งบุรุษตุลาการ ได้โคจรมาพบกับหนึ่งสมณะในพุทธศาสนานาม อินทปัญโญภิกขุ ซึ่งต่อมาผู้คนทั่วไปจะเรียกขานกันในนาม พุทธทาส

จากสายสัมพันธ์ผ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ กระทั่งการพบปะกันครั้งแรก ณ มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งที่พระโลกนาถ (ซัลวา โตเล ซิโอฟฟี) ภิกษุชาวอิตาเลี่ยน มาแสดงปาฐกถาชักชวนภิกษุ และสามเณรในประเทศไทยร่วมออกเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทั่วโลก พ.ศ. ๒๔๗๖ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมสืบต่อมาตราบสิ้นลมหายใจ (ดู สมบัติ ทารัก, “กัลยาณมิตรทางธรรมของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” เข้าถึงได้จาก  http://www.bia.or.th/html_th/index.php/site-content/65-archives/583-กัลยาณมิตรทางธรรมของศาสตราจารย์สัญญา-ธรรมศักดิ์)

c00845

“ท่านรู้จักกันตั้งแต่อาจารย์สัญญาอยู่เมืองนอก ตั้งแต่คุณพ่อเป็นนักเรียนทุนกฎหมายอยู่ที่อังกฤษ แล้วกลับมาท่าน (ศ. (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์) ก็มาเผยแผ่ธรรมะในส่วนที่เป็นหน้าที่ของฆราวาส (หนึ่งในบุคคลที่ร่วมก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย) ท่านก็พึ่งพิงอาจารย์พุทธทาสตลอด” นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ในฐานะทายาทของ ศ. (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์ บอกเล่าจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธทาสภิกขุ และ ศ. (พิเศษ) สัญญา

เขาเล่าต่อไปว่า “พ่อผมไปสวนโมกข์ทุกปี พอพักร้อนจากหน้าที่ผู้พิพากษาพ่อก็จะไปสวนโมกข์ทุกปี ผมก็ตามพ่อไปตั้งแต่อายุ ๑๐ กว่าขวบ ตอนนั้นจำได้นั่งรถไฟไปลงที่ไชยาประมาณตีสามตีสี่ แล้วต้องไปนั่งกินกาแฟอยู่บ้านลุงละออง แสงเดช แล้วก็นั่งรถจี๊ปผ่านคันนาเข้าไป ไม่มีถนนแบบปัจจุบันนี้...ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านสอนธรรมะผมตั้งแต่เจอกันครั้งแรกเลยครับ เจอกันครั้งแรกท่านให้ผมทานอาหารก้นบาตร ผมจำได้พ่อพาไปที่โรงฉัน ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ตักอาหารเสร็จท่านก็ให้ผมทานอาหารก้นบาตร เรียกว่าอาหารก้นบาตรแต่จริงๆ ท่านให้ตักทานตั้งแต่ต้น

ท่านให้ผมท่องกลอน ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์, ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี, ยามจะตาย ตายให้เป็น เป็นสุดดี, ทำอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอยฯ ได้ เป็น ตาย ตั้งแต่ต้น” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบายถึงความประทับใจเมื่อแรกครั้งเยือนสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 26623

“เกิดมาทำไม” ธรรมะสำหรับนักเรียน นักศึกษา

แม้จะออกตัวว่า “ผมไม่ค่อยได้สนทนากับท่านเลยครับ เพราะว่าผมตามพ่อไป ไปฟังพ่อท่านคุยกับท่านอาจารย์พุทธทาสมากกว่า” แต่ นพ.จักรธรรม ซึ่ง พุทธทาสภิกขุ มักเรียกขานว่า “เจ้าแดง” ก็มีโอกาสเขียนจดหมายติดต่อกับภิกษุนามพุทธทาสอยู่หลายฉบับมาตั้งแต่วัยเยาว์ 

ครั้งหนึ่งเมื่อถึงคราวใกล้สอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาและเพื่อนร่วมรุ่นรวมทั้งหมด ๗ คนก็ได้มีโอกาสเดินทางไปสวนโมกข์เพื่อพบพุทธทาสภิกขุ ด้วยประสงค์จะปรึกษาว่า “ธรรมะข้อใดช่วยให้เรียนดีและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ” แต่ผลที่ได้รับกลับมีคุณค่าเกินกว่าเป้าหมายในระยะสั้นๆ ของชีวิต เมื่อภิกษุนามพุทธทาสได้ชี้ชวนให้เหล่าเด็กหนุ่มคิดตั้งคำถามไปไกลเกินกว่าเรื่องความสำเร็จของการศึกษาเฉพาะปัจเจกบุคคล โดย นพ.จักรธรรม ได้ถอดเทปบันทึกเสียง เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งพุทธทาสภิกขุได้กล่าวแก่เหล่าศิษย์หนุ่ม และมีใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า

2020 10 11 212108

“...วันนี้อย่าเพิ่งตอบปัญหาเกี่ยวกับการเล่าเรียน การไม่ได้ตามต้องการที่จะบังคับตัวเองให้เรียน เอาไว้พรุ่งนี้ก็ได้ มันเป็นเรื่องปลีกย่อยออกไป เราพูดกันถึงเรื่องใหญ่ เรื่องที่เป็นประธานก่อนดีกว่า แล้วก็จะถึงปัญหาปลีกย่อยเหล่านั้นเอง....ปัญหาที่สรุปลงไปว่า “เกิดมาทำไม” นี่ เป็นปัญหาใหญ่ก่อน...ถ้าเราไม่รู้ในส่วนใหญ่ ไอ้การเรียน การอะไรของเรา อาจจะไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นไปนักก็ได้...” (ดูรายละเอียดในหน้า ๑๓๘ http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=4872&main_level=2&main_refcode=BIA07010001-0031-0135-00-0000)

2020 10 11 213007

แม้ธรรมบรรยายในวันนั้นจะไม่ใช่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า เด็กหนุ่มทั้ง ๗ คนที่ได้รับฟังคำบรรยายจากภิกษุนามพุทธทาสในวันนั้น สามารถสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด ดังข้อความในจดหมายของ นพ.จักรธรรม ถึงพุทธทาสภิกขุ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ความตอนหนึ่งว่า 

เพื่อนๆ ของกระผมทุกคนไม่มีใครเข็ดต่อชีวิตในสวนโมกข์เลยครับ พวกเขาประทับใจที่ได้ไปเห็นที่นั่น และได้ฟังโอวาทจากท่านอาจารย์ซึ่งก็คงจะเป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เขาทุกคน ประสบความสำเร็จในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วยดี...” (ดูรายละเอียดใน  http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=4872&main_level=2&main_refcode=BIA07010001-0031-0135-00-0000)

อ.จ พทธทาส 149

จดหมายถึงพุทธทาสภิกขุ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

หากใครเป็นคอประวัติศาสตร์การเมืองไทย คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญของเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งตลอดมาได้มีผู้นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มารวบรวมและเรียบเรียงไปตามทิศทางของอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่เนื้อความในจดหมายของ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ในฐานะทายาทของ ศ. (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่จะต้องเข้ามารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ที่มีไปถึงพุทธทาสภิกขุ ฉบับลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ กลับช่วยเติมเต็มความรู้สึกอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาฯ...” (ดูรายละเอียดใน  http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=4872&main_level=2&main_refcode=BIA07010001-0031-0135-00-0000)

4589656a

“คือ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ มันเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ใหญ่โตมากสำหรับประเทศไทยนะ พ่อผมหายไปจากบ้าน ๗ – ๑๐ วัน ไม่กลับบ้านเลย ผมอยู่กับแม่ที่นี่ แล้วก็ดูในโทรทัศน์เห็นพ่อได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดความกังวล ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาอยู่ ก็เกิดความกังวล ก็ไปเล่าให้หลวงพ่อ (พุทธทาสภิกขุ) ฟังว่า หลวงพ่อครับ พ่อผมจะมีทุกข์อะไรไหม หลวงพ่อช่วยให้พรพ่อผมด้วยนะ ทำนองนี้ล่ะครับ” ทายาท ศ. (พิเศษ) สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้ข้อมูลถึงช่วงเวลาที่หัวหน้าครอบครัวจะต้องไปรับหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ก่อนชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของกัลยาณมิตรในทางธรรมที่ช่วยให้ อดีตนายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ด้วยดี

“ท่านใช้ธรรมะตลอด ท่านเคยเขียนเองว่า พอท่านกลับมาถึงบ้านท่านหลับสบายดี เพราะท่านนึกถึงท่านพุทธทาสก่อนนอนทุกคืน” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุและบิดาผ่านเสียงหัวเราะ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายถึงความประทับใจที่เขามีต่อภิกษุนามพุทธทาสว่า

4555423

“ผมคิดว่าท่านเป็นพระที่เจริญรอยตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้จริง ท่านสอนให้คนพ้นทุกข์ ท่านไม่ได้สะสมอะไรเลย ปริญญาท่านได้เยอะแยะเลยนะ ท่านไม่เคยไปรับเลยครับ พัดยศได้เยอะแยะเลย ท่านไม่เคยไปรับเลยครับ ท่านแสดงออกถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรในเรื่องทางโลกเลยครับ ทางโลกท่านไม่มีเลย” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แสดงความเห็น 

2020 10 11 213221

แม้สังขารของหนึ่งบุรุษตุลาการที่ได้รับการยกย่องเรื่องความซื่อสัตย์ และหนึ่งสมณะในพุทธศาสนาที่ได้รับการกล่าวขานทั้งด้านบวกและลบอย่างกว้างขวางจะล่วงเลยลาลับ แต่ประจักษ์พยานแห่งความเป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมก็ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของทายาท เช่นเดียวกับหลักฐานเอกสารอีกจำนวนมากที่ยังรอการค้นคว้าและนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเกื้อกูลต่อโลกด้วยมิตรภาพและความเมตตา (สนใจค้นคว้าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพุทธทาสภิกขุและศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ใน http://archives.bia.or.th/front-description_bak.php?refcode=BIA07010010-0244-0610-00-0000&pdfid=6457&main_level=2 )