พุทธทาสในความทรงจำ - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

Share

ประวัติศาสตร์บอกเล่า, งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ 26 ธันวาคม 2561


    “พุทธ (พุทธะ) ไม่ได้หมายถึงบุคคล พุทธทาสก็ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาวะอันหนึ่ง สภาวะของพุทธะ คือ ผู้รู้ ตื่น แล้วก็เบิกบานอยู่ด้วยธรรม สะอาด สว่าง สงบ” บางบทสนทนากับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2536 นาม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นำพาชายแปลกหน้าให้เดินทางกลับเข้าสู่ด้านในเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’

จาก ก ไก่ ของพ่อ ถึงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    “ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่พ่อรักการศึกษา เป็นคนอ่านหนังสือมีหนังสืออยู่เต็มบ้าน แม่ผมอ่านหนังสือไม่ออก พ่อก็สอนให้อ่านเขียนได้ พวกเราทุกคนโตขึ้นมาจาก ก ไก่ ของพ่อ เพราะพ่อจะแต่ง ก ไก่ ให้เราท่องตั้งแต่เด็ก น้องผมทุกคนก็โตมากับ ก ไก่ ผมอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ก่อนเข้าโรงเรียน แต่ก่อนมี ป.เตรียมก่อนจะ ป.1 ผมไม่ต้อง ป.เตรียมเลย เพราะอ่านออกเขียนได้แล้ว ก็ขึ้น ป.1 เลย...” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับพ่อซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการปลูกฝังอุปนิสัยรักการอ่าน และอธิบายถึงความหลงใหลในบทกวีที่เริ่มต้นมาแต่ครั้งเยาว์วัยว่า

    “อ่านบทกวีมาตั้งแต่เด็ก แล้วพออยู่มัธยมเริ่มวัยรุ่นก็เขียนกลอนจีบสาว กลอนความรัก อะไรเยอะแยะ ตั้งชมรมวรรณศิลป์ก็กิจกรรม กาพย์ กลอน ซึ่งส่วนใหญ่ก็กลอนความรักบ้าง อกหักบ้าง เป็นช่วงวัย ก็เขียนมาตลอด ทุกวันนี้ก็เขียนอยู่ ก็เลยทำให้รู้สึกว่า เป็นการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างหนึ่ง บทกวีเป็นที่รวม ผมให้นิยามว่า บทกวีคือเพชรพลอยแห่งถ้อยคำ อันเจียระไนจากผลึกของความคิด ใช้คำที่มีจำกัด แต่ถ่ายทอดความรู้สึกอันไม่จำกัดของเราให้ได้ บทกวีมันดีตรงนั้น” เนาวรัตน์ ในวัย 79 ปี สะท้อนความงดงามของบทกวีผ่านถ้อยคำที่กลั่นจากความรู้สึก ก่อนเล่าถึงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่สนุกสนานไปกับการทำกิจกรรม

     “ปีนั้นธรรมศาสตร์เป็นปีสุดท้ายที่คณะนิติศาสตร์ ไม่ต้องสอบเข้า ก็เลยมาสมัครเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนนั้นมีคำที่เราพูดกันว่า ถึงพื้นที่เราจะคับแคบแต่เรามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ผมก็ใช้เสรีภาพเต็มที่ คือไม่ค่อยได้เรียนเท่าไหร่ ทำกิจกรรม เป็นรุ่นแรกที่ร่วมก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ ร่วมก่อตั้งชุมนุมดนตรีไทยขึ้นในธรรมศาสตร์ เขาให้เรียน 8 ปี ผมก็เรียน 7 ปี เพราะทำกิจกรรมมาก” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ให้ข้อมูล



แรกพบพุทธทาส : “โชคดีที่ผมได้ผ่านประสบความทุกข์”

    ขณะที่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินไปตามกาล สิ่งที่เรียกว่า ‘ความทุกข์’ ก็พัดผ่านเข้ามาให้ เนาวรัตน์ ได้ทำความรู้จัก ก่อนจะนำพาเขาไปบนเส้นทางสายใหม่ที่มี ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำ “คนถ้าไม่ผ่านความทุกข์ที่เจ็บปวดที่ประสบจริงๆ จะเข้าใจเรื่องธรรมะเนี่ยยาก ผมเห็นว่าโชคดีที่ผมได้ผ่านประสบความทุกข์นั้น ความทุกข์ที่มากที่สุดในวัยอย่างนั้นจริงๆ...ความทุกข์อย่างสาหัสที่สุดก็คือ พ่อแม่แยกกัน ครอบครัวล่มสลายว่าอย่างนั้นเถอะ บ้านก็ไม่มีอยู่ เงินก็ไม่มีเรียน ข้าวก็ไม่มีกิน ต้องมาอาศัยวัด ตรงนี้จุดดี

    วัดของชาวเมืองกาญจนบุรีสมัยนั้น ก็คือวัดบวรนิเวศ เพราะตอนนั้นท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาส คือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ท่านมีชาติภูมิอยู่เมืองกาญจน์ ตอนนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ แล้วลูกศิษย์ของท่าน ก็เป็นเพื่อนนักเรียนจบ ม.๖ มาด้วยกัน ผมก็ไปอาศัยอยู่นั่น นั่นแหละที่ทำให้ผมรู้จักธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส และเจ้าคุณพระสาสนโสภณ หรือสมเด็จพระญาณสังวรฯ จากหนังสือ 2 เล่ม หนึ่งก็คืออานาปานสติ ของท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ หรือสมเด็จพระญาณสังวรฯ เล่มบางๆ มุ่งสู่การปฏิบัติโดยตรงเลย ผมปฏิบัติตามนั้นเลย



      “แล้วอีกเล่มหนึ่งก็คือ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ของท่านอาจารย์พุทธทาส เล่มนี้วิเศษมาก ทำให้ผมตื่นใหม่เลย เราอ่านหนังสือมา เราเรียนกฎหมายด้วยนี่ อ่านหนังสือต้องจับประเด็นได้ เข้าใจความหมายของคำของศัพท์ทั้งหมด ประโยคอะไรต่างๆ จับประเด็นได้ถูกต้อง ลำดับความได้ อ่านเล่มนี้ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมอ่านแบบนั้นเลย อ่านอย่างขีดเส้นใต้ทุกวรรค ทุกตอน คิดไปทบทวนไปก็เลยรู้สึกได้ตื่นตัวใหม่” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เล่าความประทับใจเมื่อแรกรู้จักพุทธทาสภิกขุผ่านตัวอักษร และกล่าวต่อไปว่า

     “ทีนี้อ่านหนังสืออาจารย์พุทธทาสหลายเล่มมากขึ้นก็เข้าใจมากขึ้นๆ ปรากฏว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่สนใจงานของท่านอาจารย์พุทธทาส คือเพื่อนผมที่อยู่กุฏิเดียวกัน ที่อยู่ในวัดบวรนิเวศนั่นแหละ นั่นก็เป็นคนที่แตกฉานในเรื่องนี้ด้วย เราก็ถกคุยกัน บางทีกลับมาเมืองกาญจน์ เดินคุยกันทั้งคืนรอบเมือง คุยเรื่องพุทธธรรมจากงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ทำความเข้าใจเรื่องพุทธธรรมในพุทธศาสนา จากการอ่าน จากการได้คุย จากการได้ประสบจริงๆ ได้ลองปฏิบัติสมาธิจริงๆ ทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าใจ เข้าใจแบบเข้าถึงนะ บางเรื่องแทบจะไม่ต้องพูดแต่มันเข้าใจ นั่นแหละ เลยทำให้ตัดสินใจว่า จบแล้วจะบวช รู้ว่าควรต้องบวชในพรรษาเพราะที่สวนโมกข์บอกว่าควรจะได้นักธรรม อย่างน้อยนักธรรมเอก ซึ่งตอนนั้นเราก็บวชพรรษาเดียว เราคิดว่าจะลองดู ก็สอบนักธรรมสนามหลวงได้นักธรรมตรี แล้วตอนนี้ที่ อยากจะไปพบท่านพุทธทาส” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อธิบาย



‘ปัญญา’ สู่สวนโมกข์

    หลังอุปสมบทที่ วัดทุ่งสมอ และจำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จังหวัดกาญจนบุรี จนกระทั่งออกพรรษา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในขณะเป็นภิกษุก็ตัดสินใจเดินทางสู่สวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยรถไฟ “พอลงรถไฟก็เช้ามืด มันยังไม่สว่าง ตีเท่าไหร่ไม่รู้ก็กางกลดอยู่หน้าสถานีนั่นแหละ เช้าก็ไปบิณฑบาตได้แต่ข้าวกับขนมเปี๊ยะมานะ (หัวเราะ) ก็ฉันข้าวกับขนมเปี๊ยะเช้านั้น ขณะกำลังนั่งฉัน...โอ้โห...หาบมาเลย ชาวบ้านหาบทั้งกับข้าว ทั้งอะไรมาเต็มหมดเลย ให้เห็นว่าอานิสงส์ของชีวิตบาตรเดียวมีจริง พอฉันเสร็จแล้วเราก็เดินจากสถานีรถไฟไชยาไปสวนโมกข์


    ศิลปินแห่งชาติ เล่าต่อไปว่า “ตอนนี้ทำให้เราเข้าใจอะไรขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ก็ไปถามท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ว่า ไม่ทราบว่ามาอยู่ที่นี่ มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่ต้องใช้ปัญญาระดับนักธรรมเอกใช่ไหม เหมือนจะอวดว่าผมได้แค่นักธรรมตรี แล้วก็ได้ปริญญาตรีด้วยอะไรทำนองนั้น เราเพียงถามท่านเท่านั้นว่าต้องใช้ปัญญาระดับไหน ท่านบอกปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ก็ใช้ได้แล้ว โห...แค่นี้พอเลย เราหยุดถามเลย เข้าใจเลยเพราะเราอ่านมาศึกษามา ปฏิบัติมาบ้าง ได้รู้ว่าคำถามที่เราถามเป็นคำถามโง่ๆ เป็นคำถามเพื่อจะอวดตัวเองมากกว่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น เป็นคำถามปรุงแต่ง ไม่ใช่คำถามที่ตัวเองต้องการจะรู้จริงๆ ต้องการที่จะแสดงภูมิมากกว่า ว่าเรารู้อย่างนี้ รู้แค่นี้ เทียบกับที่ท่านต้องการได้ไหม อะไรอย่างนี้ นี่คือลักษณะยโสโอหัง ตัวตนของเราน่ะ พอบอกปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ก็ใช้ได้แล้วก็พอเลย เข้าใจ ต่อแต่นั้นก็เลิกถาม ฟังลูกเดียว (หัวเราะ)”



 ‘จิตปกติ’ และการเกิดจากธรรม

    เมื่อจำพรรษาอยู่ในสวนโมกข์ระยะหนึ่ง ก็ถึงคราวที่ต้องลาสิกขาจากสมณเพศ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เล่าถึงความทรงจำในครานั้นว่า “จนกระทั่งจะเข้าอีกพรรษาหนึ่ง ผมบวชต่อไม่ได้เพราะต้องมาทำหน้าที่การงาน ก็ไปลาท่าน กลับไปจะต้องสึกเป็นฆราวาสธรรมดา อยากได้คติธรรมจากท่านไว้เตือนใจ ท่านก็พูดดีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมตื่นขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ท่านบอกว่า ทำจิตให้เป็นปกติ แค่นี้ ทำให้เราเข้าใจมาอีกขั้นหนึ่งเลย

    ครั้งแรกปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ ทำให้รู้แล้วว่าเราต้องมีสติกับปัญญา ในการศึกษาและปฏิบัติธรรม พอครั้งที่สองท่านบอกให้ทำจิตให้เป็นปกติ นี่เป็นการบรรลุธรรมเลย จิตของเรามักจะไม่ปกติ มักจะหวั่นไหวไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมหรือกิเลส ถ้าเราจิตเป็นปกติจิตว่างนั่นแหละ มันก็จะไม่มีทุกข์ ทุกข์แปลว่าทนอยู่ได้ยาก มันไม่ต้องทนมันเป็นปกติแล้วไง ถ้ามันทนอยู่เดี๋ยวมันก็ต้องแวบ เดี๋ยวมันก็ต้องอย่างนู้นอย่างนี้ นั่นคือทุกข์ อันนี้ทำให้เราเข้าใจตรงนี้ แต่ต้องให้มีสติตามดูมันนะ พอออกมา สึกมาทำอะไรต่างๆ ก็มีหลักธรรมนั้นไว้เตือนตัวเอง บางทีมันก็มาไม่ทัน เราก็ไปตามกระแสโลก แต่พยายามดึงมันกลับมาให้เป็นปกติให้ได้ทุกครั้งไป ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    “ผมว่าชีวิตผม มันเกิด 3 ครั้ง หนึ่งเกิดจากท้องพ่อท้องแม่เกิดจากพ่อแม่ สองเกิดจากธรรมะในพุทธศาสนาผ่านท่านอาจารย์พุทธทาสนี่แหละ สามคือเกิดจากเหตุการณ์การบ้านการเมือง วิทยาศาสตร์สังคมว่างั้นเถอะ ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรานี่ตื่นขึ้น 3 ครั้ง หนึ่งเป็นกาย สองทางจิต สามคือปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สามอย่างนี้ที่ผมคิดว่าผมเกิด” เนาวรัตน์ อธิบายเสี้ยวชีวิตที่ถูกปลุกให้ตื่นจากธรรมะของ ‘พุทธทาส’



‘พุทธทาส’ ที่แท้

    นอกจากมรดกธรรมที่รับมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ ‘พุทธทาส’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมอยากจะพูดว่า ท่านดำเนินแนวของพุทธะ พระพุทธเจ้าจริงๆ คือไม่ใช่ว่ารู้แล้วก็เก็บความรู้ไว้ หรือว่าให้ความรู้เฉพาะคนที่สนใจ แต่ท่านพยายามอธิบาย นั่นก็คือลักษณะของพระพุทธองค์หลังจากที่ตรัสรู้แล้วก็คิดตั้งนานว่าจะเอาธรรมมาเผยแพร่อย่างไรดี ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสมีลักษณะนั้น พยายามที่จะเอาธรรมมาเผยแพร่ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจให้ได้รู้ ตรงนี้เป็นการทำหน้าที่พุทธทาสที่แท้จริง คนที่ไม่คุ้นชินก็จะหาว่าท่านนอกตำรา นอกพระไตรปิฎก ไม่ใช่เลย เป็นการถอดรหัสธรรมจากยากๆ ของพระไตรปิฎกมาสู่ยุคสมัยให้คนร่วมสมัยเข้าใจ เนื้อหาหลักธรรมเรื่องเดียวกัน เพียงแต่พูดให้เข้าใจเท่านั้นเอง เพราะว่าท่านเป็นพระที่พูดใหม่ ถ้าพูดภาษาโบราณก็เป็นอรรถกถาจารย์ เป็นอาจารย์ผู้นำอรรถเนื้อหาที่แท้จริงมาสู่คนร่วมสมัย...

     “ผมอยากจะพูดว่า งานธรรมโฆษณ์ของท่านอาจารย์พุทธทาสเนี่ย เป็นอีกปิฎกหนึ่งเลย น่าจะเป็นจตุปิฎกด้วยซ้ำไป ถ้ามีไตรปิฎกแล้วนะ นี่เป็นอีกปิฎกหนึ่ง คนอ่านไตรปิฎกแล้วต้องอ่านธรรมโฆษณ์ของท่านอาจารย์พุทธทาสด้วย เป็นปิฎกที่สี่ เป็นจตุปิฎก” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ให้ความเห็น และกล่าวถึงคุณูปการของพุทธทาสภิกขุที่มีต่อสังคมไทยว่า



    “สังคมไทยเรานี่ ควรจะต้องระลึกและยกย่องมหาบุรุษ ๓ คนของประเทศ หนึ่ง) ท่านพุทธทาส สอง) ท่านปรีดี พนมยงค์ สาม) คือ ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ผมผูกคำเพื่อให้จำง่ายว่า ศรีบูรพาเป็นผู้คืนอุดมทัศน์สู่วรรณกรรม ส่วนท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นผู้คืนพุทธธรรมสู่พุทธศาสน์ ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้คืนอำนาจสู่ประชาชน แล้วทั้ง ๓ ท่านก็พ้องวาระกัน รู้จักกัน วิสาสะกัน เข้าใจกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน งานทั้งสามทางตามความถนัดชำนาญของแต่ละท่านเป็นประโยชน์มาก ทางวรรณกรรมก็คือการเผยแพร่ความคิดสู่ประชาชนที่อ่าน ทางพุทธะก็มีท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นผู้จุดประกายของความคิดที่ถูกต้องทางธรรมะให้เจิดจรัสในยุคสมัย ท่านอาจารย์ปรีดี เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาสู่ประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเป็นมหาบุรุษร่วมยุคสมัย ที่นำความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่มาสู่สังคมไทย” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อธิบาย ก่อนกล่าวทิ้งท้ายถึงสภาวะของ ‘พุทธ’ และ ‘พุทธทาส’ ไว้อย่างน่าประทับใจว่า

    “พุทธะไม่ได้หมายถึงบุคคล พุทธทาสก็ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาวะอันหนึ่ง สภาวะของพุทธะ คือผู้รู้ ตื่น แล้วก็เบิกบานอยู่ด้วยธรรม สะอาด สว่าง สงบ...สะอาด สว่าง สงบนี่แหละ คือจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ”

    บทสนทนากับศิลปินแห่งชาติจบลงเคล้ารอยยิ้ม คำตอบเกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’ เริ่มต้นและสิ้นสุดที่สภาวะอันหนึ่ง...สภาวะที่นำทางให้เราย้อนกลับสู่ความปกติด้านใน ผ่านลมหายใจที่ทำให้สรรพชีวิตและมหาบุรุษเสมอกัน