‘พุทธทาสภิกขุ’ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง กับ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช

Share

งานจดหมายเหตุ,

‘พุทธทาสภิกขุ’ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง กับ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑

 20180921 01

ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/O7DzaSGhNpw

อาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์ทางเครือญาติตระกูล ‘พานิช’ อันเป็นนามสกุลเดิมของ ‘พุทธทาสภิกขุ’ และในฐานะประธานกรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ทำให้โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่าจากบุคคลที่เคยใกล้ชิดหรือมีประสบการณ์ร่วมสมัยกับพุทธทาสภิกขุ กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จะต้องจัดลำดับให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ (ศ. นพ.) วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เป็นหนึ่งในผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญของโครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) แม้ว่าท่านจะออกตัวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในฐานะเครือญาติกับพุทธทาสภิกขุว่า “เราไม่ใกล้ชิดกันเลย”

ท่านพุทธทาสคือคนที่พยายามเข้าสู่เนื้อแท้ของทุกเรื่อง นั่นคือตัวอย่างที่สำคัญ แล้วก็ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า มันมีไอ้สิ่งปลอมปน impurity อยู่ในทุกที่อยู่ในทุกเรื่อง ท่านก็พยายามเอาไอ้นั่นออกเพื่อให้เห็นไอ้ตัวแก่นที่แท้จริง

ความทรงจำผ่านสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ

20181231 03

นายเสี้ยง พานิช

จากเหตุที่ นายเสี้ยง พานิช ปู่ของ ศ. นพ.วิจารณ์ มีศักดิ์เป็นอาของพุทธทาสภิกขุ ซึ่งมีนามเดิมว่า นายเงื่อม พานิช ทำให้ ศ. นพ.วิจารณ์ เรียกพุทธทาสภิกขุว่า “ลุงหลวง” ขณะที่พุทธทาสภิกขุเรียกหลานของท่านในชื่อจริงว่า “วิจารณ์”

“ตอนที่ผมจำความได้ เวลาที่ท่านพุทธทาสจะขึ้นมากรุงเทพฯ ท่านจะนั่งรถไฟมาพักที่ชุมพร แล้วก็ไปเยี่ยมปู่ผมไปคุยกัน แล้วก็ไปค้างที่วัดดอนทรายแก้ว ซึ่งท่านเจ้าคุณปกาสิตฯ (พระปกาสิตพุทธศาสน์ (บุญชวน เขมาภิรัต))1 เจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ณ ขณะนั้น) เป็นเจ้าอาวาสอยู่” ศ. นพ.วิจารณ์ เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับท่านพุทธทาสเมื่อครั้งยังเป็นเด็กต่อไปว่า “คือพ่อผมเนี่ยจะเอ่ยถึงท่านพุทธทาสเป็นระยะๆ...โอ้! พี่หลวง พ่อผมเขาเรียกพี่หลวง พี่หลวงตอนนี้ทำโรงมหรสพ อะไรอย่างนี้ ก็ได้ข่าว ซึ่งก็ไม่เคยไปเห็นหรอกก็พูดถึงไปอย่างนั้น”

20181231 02

แต่เอาเข้าจริงๆ กว่าที่ ศ. นพ.วิจารณ์ จะมีโอกาสเดินทางไปสวนโมกข์เป็นครั้งแรก ก็เมื่อเติบโตเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย “ผมไปสวนโมกข์ครั้งแรกเลย ก็สวนโมกข์ปัจจุบันนี้ ไปเมื่อแถวๆ ปี ๒๕๑๔ ตอนนั้นผมกลับมาจากเมืองนอก แล้วก็มาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ปี ๒๕๑๑ ผมกลับมาเป็นอาจารย์ ปี ๒๕๑๓ - ๒๕๑๔ เขาเตรียมขยายวิทยาเขตมหิดลไปที่ศาลายา ก็มีการพูดคุยกันว่า สร้างมหาวิทยาลัยวิทยาเขตใหม่ทั้งที มันต้องสร้างความเป็นมนุษย์ มันต้องไม่ใช่แค่ผลิตหมอ ผลิตวิศวะ คนพวกนั้นต้องเป็นมนุษย์ที่จิตใจสูง...เอ๊?...แล้วปรึกษาใครดี ท่านพุทธทาสแหละดีที่สุด เรายกขบวนไปกราบท่านแล้วก็ขอคำแนะนำจากท่านที่สวนโมกข์เลย นั่งรถไฟกันไป ลงรถไฟตีสี่ได้มั้ง นั่งรถไปตอนนั้นถนนหน้าวัดก็ยังไม่ค่อยเป็นถนน ไปถึงท่านนั่งอยู่ตรงเก้าอี้โยก สัปหงกอยู่ พวกเราก็ไปกราบท่าน” ศ. นพ.วิจารณ์ ย้อนความหลัง

ช่องว่างระหว่างธรรมะของพุทธทาสภิกขุกับคนหนุ่มคนสาวร่วมสมัย

20180921 04

แม้ใครหลายคนจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความประทับใจเมื่อแรกพบพุทธทาสภิกขุ แต่สำหรับหลานอย่าง ศ. นพ.วิจารณ์ หนึ่งในชายหนุ่มปัญญาชนคนมีความรู้ กลับมีความทรงจำเมื่อครั้งแรกไปเยือนสวนโมกข์แตกต่างไป “คุยกันเนี่ยนะ ผมก็ขำตัวเองผมฟังไม่รู้เรื่อง จับได้เลาๆ ก็คือว่า ท่านก็จะพูดว่าการศึกษาเหมือนหมาหางด้วน มันมีแต่เพิ่มพูนกิเลส พูดง่ายๆ ก็คือว่า ลงท้ายที่ไปคุยกับท่านทุกคนก็ซี้ดซ้าดสนุกดีแต่ว่ากลับมาไม่ได้ทำอะไรเลย” ประธานกรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ บอกเล่าความทรงจำพร้อมเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนอธิบายต่อไปว่า

สร้างมหาวิทยาลัยวิทยาเขตใหม่ทั้งที มันต้องสร้างความเป็นมนุษย์ มันต้องไม่ใช่แค่ผลิตหมอ ผลิตวิศวะ คนพวกนั้นต้องเป็นมนุษย์ที่จิตใจสูง

“ผมมีความรู้สึกว่าวิธีการของท่านไม่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรได้ ซึ่งพอถึงตรงนี้ผมก็รู้ว่ามันเป็นความคิดของคนที่ยังเด็ก ยังไม่โต ยังเข้าใจอะไรต่ออะไรไม่ดี ก็ทำให้เข้าใจว่าเรื่องพวกนี้เราหาวิธีที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ไม่ง่าย เพราะเราอยู่ใน paradigm (กระบวนทัศน์) หรือว่า mindset (ชุดความคิด) อย่างหนึ่ง เรียนมหาวิทยาลัยมันก็ต้องออกไปเป็นหมอสิ มันต้องผ่าตัดเก่งสิ วิศวะก็ต้องอย่างนี้สิ แต่ไม่ได้คิดถึงมิติทางด้านจิตใจและความเป็นมนุษย์ แต่ตอนนี้เราจะเข้าใจ แต่ตอนนั้นเราจะไม่เข้าใจ” ศ. นพ.วิจารณ์ ให้ความเห็น

ความประทับใจผ่านตัวอักษร

แม้จะออกปากว่าพบกับท่านพุทธทาสน้อยครั้ง อีกทั้งความสัมพันธ์ก็ไม่ได้ใกล้ชิด แต่ก็มีแง่มุมที่ประธานกรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มองเห็นว่าเป็นความน่าประทับใจเกี่ยวกับท่านพุทธทาส “ความประทับใจไม่ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับตัวท่านโดยตรง ได้จากการอ่านหนังสือ จะมีคนเขียนเล่าเรื่องท่านทดลองอดอาหาร ทดลองฉันแต่ผลไม้ ทดลองไม่คุยกับใคร พวกอย่างนี้ผมอ่านแล้วผมชอบมาก แล้วก็ประทับใจ พอถึงตอนนี้จะอธิบายความประทับใจว่า อย่าลืมนะท่านเริ่มตั้งแต่อายุ ๒๐ ต้นๆ นะ คนอายุขนาดนั้นมันเด็กนะอย่าลืมนะ ตอนเป็นเรานี่ไม่ได้สติเลยนะ ๒๐ กว่าเนี่ย ท่านเนี่ยเรียนรู้จากการปฏิบัตินี่คือ KM (Knowledge Management : การจัดการความรู้) นะ เรียนรู้จากการปฏิบัติทดลองจริง ใครว่ายังไงไม่รู้เราลอง เพราะเราไม่เชื่อ จะเชื่อต่อเมื่อสัมผัสได้ด้วยตัวเอง อันนี้สุดยอด สุดยอดสำหรับผม”

20181231 05

แต่ถึงกระนั้นในฐานะนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานการจัดการความรู้แบบฆราวาส ศ. นพ.วิจารณ์ ยืนยันว่าสำหรับท่าน “ท่านพุทธทาสไม่ใช่ role model เรา...เรามองว่าท่านเป็นพระก็เป็นอีกแบบหนึ่งไม่ได้มีอะไร แต่ว่าเวลาอ่านหนังสือเมื่อตอนอายุมากขึ้นหน่อยจะชอบมาก”

การปรากฏของลายเซ็นในพินัยกรรมการจัดการศพ ‘พุทธทาสภิกขุ’

สำหรับบุคคลที่สนใจในชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ อาจทราบว่าในพินัยกรรมการจัดการศพของพุทธทาสภิกขุที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นอกจากจะมีการลงลายมือชื่อ พุทธทาส อินทปัญโญ ในฐานะผู้ทำพินัยกรรมแล้ว ยังปรากฏลายมือชื่อของ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ในฐานะหนึ่งในพยานที่รับรู้การจัดทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้ ศ. นพ.วิจารณ์ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมเพียงแต่ว่าเขาตามมาเท่านั้นเอง ผมก็ยังงงๆ ผมอยู่หาดใหญ่ตอนนั้น ผู้ใหญ่ที่สุดในตระกูลคือพี่สิริ (สิริ พานิช บุตรชายคนโตของคุณธรรมทาส พานิช) แต่ทีนี้ไม่รู้ว่าอีท่าไหนเขาก็ตามผม ผมก็งงๆ” แต่ถึงกระนั้นในท้ายที่สุดการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศพของพุทธทาสภิกขุก็ผ่านพ้นไปดังคำสั่งที่พุทธทาสภิกขุได้จัดเตรียมไว้ ในวันเยี่ยมสวนโมกข์ปีนั้น (ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐) ตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นวันฌาปนกิจศพของพุทธทาสภิกขุ และถือเป็นการแสดงสัจจธรรมของชีวิตให้เป็นที่ประจักษ์จากสรีระอันมอดไหม้

20180921 07

“ผมจำได้ผมเดินขึ้นเขา (เขาพุทธทอง สถานที่ฌาปนกิจศพของพุทธทาสภิกขุ) พร้อมกับท่านนายกฯ ชวน (ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น) โอ้...คนเยอะจริงๆ ก็ตรงกับที่ท่านพุทธทาสคาดการณ์ไว้ว่าต้องสั่งการไว้ให้ดี ไม่งั้นเดี๋ยวก็เละ ก็ดีทุกอย่างเป็นไปด้วยดี” ศ. นพ.วิจารณ์ บอกเล่าความทรงจำในวันฌาปนกิจศพพุทธทาสภิกขุ

พุทธทาสภิกขุ กับข้อกล่าวหาเรื่อง เดียรถีย์

แม้ด้านหนึ่งผลงานจำนวนมากจะทำให้พุทธทาสภิกขุ ได้รับการยอมรับในฐานะปราชญ์ทางพุทธศาสนา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่ายังมีคำถามและความไม่พอใจอีกมากมายที่ประดังกันเข้ามาให้เรื่องราวของพุทธทาสภิกขุยังคงหมุนเวียนเป็นที่น่าถกเถียงเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมไทย “ที่บอกว่าท่านได้รับการยอมรับทั่วไปหมดไม่จริงนะ ต้องไปดูให้ดีนะ ท่านนี่เกือบโดนจอมพลสฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี) จับเข้าคุก เหมือนกับพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) เพราะมีคนยุ จนกระทั่งจะทำหอจดหมายเหตุ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) ก็มีคนเขียนจดหมายไปด่า ว่าทำไมถึงไปให้เงินสร้างสถานที่เพื่อเชิดชูเดียรถีย์ เขาใช้คำนี้นะ ยังมีคำแรงกว่านั้นอีก แรงกว่าที่ผมพูดนี่เยอะ เต็มไปหมดเลย ศัตรูท่านไม่ได้น้อยเลย เพราะท่านแหวกแนวไง คนแหวกแนวไม่มีศัตรู เป็นไปไม่ได้ มีแต่คนเห็นด้วยเป็นไปไม่ได้ สอนตามที่บอกว่าอันนี้ไม่จริง แล้วคนอื่นเขาเชื่อ มันไม่เป็นศัตรูได้ไง เขาศรัทธาอันนี้อยู่ แล้วจู่ๆ ไปบอกว่าสิ่งที่เขาศรัทธาไม่จริง” ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าว

20181227 09

 

‘พุทธทาส’ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง?

นอกจากประเด็นเรื่องความทรงจำและความสัมพันธ์กับพุทธทาสภิกขุ หนึ่งในคำถามหรือการแลกเปลี่ยนกับอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) อย่าง ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช คงหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ซึ่งเป็นประเด็นที่ท่านคลุกคลี พูดถึง เขียนถึงอยู่บ่อยครั้ง จนน่าสนใจว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะประยุกต์เรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการความรู้และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’

ท่านพุทธทาสเปลี่ยนเยอะมาก แล้วก็ไม่ใช่เปลี่ยนครั้งเดียว เปลี่ยนหลายครั้ง คนเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามองจากการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ที่แท้คือการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

ศ. นพ.วิจารณ์ อธิบายภาพรวมเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในสังคมไทยว่า “ปัจจุบันเวลาผ่านมาซัก ๑๐ กว่าปี การจัดการความรู้ก็ถูกเอาไปเป็น KPI (Key Performance Indicator: ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน) เอาไปเป็น วัดว่าทำหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ใช้เป็นพิธีกรรม ใช้เพื่อให้ได้บรรลุคะแนนที่เขากำหนด จุดสำคัญคือ เรียนรู้จากการทำงาน เรียนจากการปฏิบัติ หลายครั้งคนปฏิบัติแต่ไม่เรียน เรียกว่าประสบการณ์เฉยๆ แต่จริงๆ แล้วสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกแล้วก็โยงไปสู่ทฤษฎีได้ ก็ทำให้คนเก่ง ทำให้คนมีความริเริ่มสร้างสรรค์ พวกนี้เป็นประโยชน์มาก

20180921 10

“คือต้องเข้าใจว่า KM เป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นไอ้ตัวสิ่งที่เรียกว่าผลสำเร็จไม่ใช่ KM เหมือนเรามีมีด ผลสำเร็จไม่ใช่เรามีมีด ผลสำเร็จแปลว่าเราไปแล่ได้ ไปสับ ไปฟันอะไรต่ออะไรทำให้เกิดผล...คนมักจะไปเอาตัว KM เป็นตัวเป้า ซึ่งอันนั้นจะผิด” อดีตผู้อำนวยการ สกว. อธิบาย

ขณะที่ในประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงกับการเรียนรู้เรื่องราวของ ‘พุทธทาส’ ศ. นพ.วิจารณ์ ให้ความเห็นว่าสามารถปรับใช้ได้เยอะมาก “แต่ต้องมีประเด็นของรายละเอียดก่อนว่า เปลี่ยนแปลงอะไร เงื่อนไขที่จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคืออะไร เพราะเราจะเห็นว่าท่านพุทธทาสเปลี่ยนเยอะมาก แล้วก็ไม่ใช่เปลี่ยนครั้งเดียว เปลี่ยนหลายครั้ง คนเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามองจากการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ที่แท้คือการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง หลายครั้งจะเปลี่ยนแปลง mindset (ชุดความคิด) ที่แรง เปลี่ยนแปลงความเชื่อ คุณค่า อันนี้แรงมาก

20190105 08

“ตัวอย่างของท่านพุทธทาสคือคนที่พยายามเข้าสู่เนื้อแท้ของทุกเรื่อง นั่นคือตัวอย่างที่สำคัญ แล้วก็ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า มันมีไอ้สิ่งปลอมปน impurity อยู่ในทุกที่อยู่ในทุกเรื่อง ท่านก็พยายามเอาไอ้นั่นออกเพื่อให้เห็นไอ้ตัวแก่นที่แท้จริง ผมว่าตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดของท่าน แต่เมื่อทำอย่างนั้นก็อย่างที่เห็นจะมีคนไม่เห็นด้วย แล้วก็คนที่เห็นด้วยก็เยอะ แล้วเขาก็จะศรัทธามากเพราะว่าไอ้คนที่จะทำอย่างนั้นได้มันก็มีไม่กี่คน” ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย

แม้ปัจจุบันผลงานการเขียน อีกทั้งคำบรรยายของพุทธทาสภิกขุ จะถูกเรียบเรียงผลิตซ้ำผ่านสื่อต่างๆ และได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ยังมีอีกหลายๆ เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’ ที่อาจตกหล่นอยู่กับ ‘ความทรงจำ’ ของหลากชีวิตที่แวะเวียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง บทสัมภาษณ์ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นเพียงหนึ่ง ‘ความทรงจำ’ ซึ่งโครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มุ่งหวังที่จะบันทึกและเผยแพร่ให้กับผู้สนใจได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะเส้นทางสาย ‘พุทธทาส’ ในฐานะความทรงจำทางสังคม ย่อมไม่ได้มีไว้สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่เราจะเริ่มต้นนับหนึ่งการเรียนรู้ ‘พุทธทาส’ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “เพราะการเรียนรู้ที่แท้คือการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง” (บางถ้อยคำจากบทสัมภาษณ์ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช)

 


1 พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรัต) น้องชายโดยธรรมของพุทธทาสภิกขุ, อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร, อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร