ระวังเป็นเปตรเพราะนิยม “กินดีอยู่ดี”
เปรต วัดสุทัศน์ ภาพ

ระวังเป็นเปตรเพราะนิยม "กินดีอยู่ดี"

byภัทรดร ภิญโญพิชญ์
วันที่
Share

ในยุคปัจจุบัน คำว่า “กินดีอยู่ดี” มักถูกเข้าใจว่าเป็นการบริโภคอย่างเต็มที่ตามความต้องการและความสามารถของตนเอง บริโภคสิ่งที่ดีที่สุด หรูหรา และสะดวกสบายที่สุด  แต่พุทธทาสภิกขุได้ชี้ให้เห็นว่า ค่านิยม “กินดีอยู่ดี” นั้นมันไม่มีขอบเขตและจะนำไปสู่ความทุกข์ยากทั้งกายและใจ

มีคำกล่าวที่ อ.พุทธทาส ยกมาว่า

“ภูเขาจะกลายเป็นทองคำทั้งลูก ๆ ขึ้นมาสักสองลูกก็ไม่พอแก่ความต้องการของมนุษย์เพียงคนเดียว”

เคยสังเกตตัวเองไหมว่า “ความต้องการของเรามีที่สิ้นสุดหรือไม่?”

ลองย้อนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาที่เราเคย อยากได้บางสิ่งมากๆ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า “ถ้าได้สิ่งนี้ ฉันจะมีความสุข” เรารอคอย และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่เมื่อเราได้สิ่งนั้นแล้ว…ความสุขอยู่กับเรานานแค่ไหน? เรารู้สึกพอใจจริงๆ หรือเปล่า? หรือสุดท้ายเราก็กลับ อยากได้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก?

ถ้าเป็นเช่นนี้… เรากำลังติดอยู่ในวงจร 

“อยาก-ได้-สุขชั่วคราว-อยากใหม่” ใช่ไหม?

ถ้าใช่… แล้วเราจะมีวันพอใจจริงๆ ได้อย่างไร?

กินดีอยู่ดี
Photo: Chan Walrus

กินดีอยู่ดีสร้างทุกข์ให้เรา

พุทธทาสภิกขุเตือนว่าการบริโภคที่ไม่รู้จักพอจะทำให้มนุษย์ “หิวเหมือนเปรต” อยู่ตลอดเวลา

“หิวเป็นเปรตอยู่เรื่อย … ชีวิตของบุคคลประเภทนี้จะรู้สึกว่าหิว หรือต้องการ หรือตะกละอยู่ตลอดเวลา ได้เท่าไรไม่มีพอ กินเท่าไรไม่มีพอ ความอร่อยความอยากมันยังไม่หยุดได้หรอก มันก็ต้องทนทรมานราวกับว่าเป็นเปรต หรือตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา”

– เปรตในทางพุทธศาสนามักถูกพรรณาว่ามีปากเล็กเท่าเข็ม แต่ท้องใหญ่โต เปรียบเสมือน “ความอยากมาก แต่ไม่มีทางเติมเต็ม”

– เปรตเป็นสัญลักษณ์ของ “ความหิวที่ไม่มีที่สิ้นสุด” ซึ่งสะท้อนถึงมนุษย์ที่ถูกตัณหาครอบงำ

เปรียบเทียบมนุษย์กับเปรต

– มนุษย์ที่หมกมุ่นอยู่กับการบริโภค หรือค่านิยม “กินดีอยู่ดี” ตามกิเลสที่ไม่สิ้นสุด ก็ไม่ต่างจากเปรตที่ “หิวไม่รู้จบ”

– พฤติกรรมแบบนี้ทำให้คน รู้สึกไม่มีความสุขแม้จะได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะยังคงอยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ

การใช้ชีวิตแบบเปรต คือการตกนรกทั้งเป็น

– คนที่ใช้ชีวิตโดย ไม่รู้จักพอ จะต้องทนทุกข์กับ ความกังวล ความอิจฉา และความไม่สมหวัง

– ความทุกข์นี้ไม่ต้องรอไปถึงนรก แต่เป็น “นรกทางจิตใจ” ที่เกิดขึ้นขณะยังมีชีวิต

หมายเหตุ พุทธทาสภิกขุอธิบายว่า “เปรต อสุรกาย เทวดา มนุษย์ พรหม หรือ เดรัจฉาน” ไม่ใช่แค่ภพภูมิหลังความตาย แต่คือ “ภพภูมิทางใจ” ที่มนุษย์สามารถเป็นได้ในขณะมีชีวิต ถ้าเราหลงอยู่ในกิเลส ตัณหา และอวิชชา

เปรต03
Photo: Maksim Goncharenok

คนที่หลงอยู่ในกระแสนี้จะรู้สึกว่าต้อง ทำงานหนักขึ้น หาเงินให้ได้มากขึ้น เพื่อรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตของตนเองเอาไว้ จนชีวิตขาดอิสรภาพและความสงบ

เมื่อมนุษย์ใช้มาตรฐานของ “กินดีอยู่ดี” เป็นตัวตัดสินคุณค่าของชีวิต ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะ เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ถ้าเห็นว่าคนอื่นกินดีกว่า อยู่ดีกว่า ก็เกิด ความอิจฉาและทุกข์ใจ ถ้าตัวเองกินดีอยู่ดีแล้ว แต่กลัวตกอันดับ หรือกลัวจะลำบากในอนาคต ก็เกิดความวิตกกังวล

กินดีอยู่ดีสร้างทุกข์ให้สังคม

ในระดับสังคม เมื่อคนเราต้องการมากขึ้น แต่โลกมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องแข่งขัน แย่งชิง และดิ้นรนไม่รู้จบ ก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และอิจฉาริษยา รวมถึงอาชญากรรมต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ เพราะความอยากกินดีอยู่ดี

กินอยู่อย่างพอดีนำมาซึ่งความสุข

อ.พุทธทาสชี้ให้เห็นว่า ความพอดีเป็นหลักในพระพุทธศาสนา ให้เป็นรู้จักพอดีในการเป็นอยู่

การใช้ชีวิต “กินอยู่อย่างพอดี” ไม่ใช่เพื่ออดกลั้นไปให้ตัวเองลำบาก แต่เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างสมดุล ไม่ตกเป็นทาสของความอยาก การบริโภคอย่างพอดีเป็นส่วนหนึ่งของทางสายกลาง ไม่มากเกินไปจนเป็นกามสุขัลลิกานุโยค (หมกมุ่นในความสุข) และไม่น้อยเกินไปจนเป็นอัตตกิลมถานุโยค (ทรมานตนเอง) สอนให้เรารู้จัก สมดุลในการใช้ทรัพยากรและความพอดีในชีวิต

กินอยู่แต่พอดี หมายถึง รู้ประมาณในการบริโภค คนที่กินอยู่แต่พอดีจะไม่มีภาระหนักเกินไป จิตใจปลอดโปร่ง และสามารถใช้เวลาและพลังชีวิตกับสิ่งที่มีค่าจริงๆ เช่น การเรียนรู้ การยกระดับจิตใจตัวเองการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อไม่ตกเป็นทาสของสิ่งของ ก็จะทำให้เรามีอิสรภาพมากขึ้น เมื่อใช้ชีวิตเรียบง่าย ก็ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินพอดีเพื่อหาเงินมาซื้อของฟุ่มเฟือย เมื่อเรารู้จักพอ ไม่ว่าใครจะมีมากกว่าเราก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเรารู้ว่าเรามีพอแล้ว

กินดีอยู่ดี ดอกไม้
Photo: Guillaume Hankenne

ชีวิตที่พอดี คือ ชีวิตที่ตื่นจากความหลงผิด ไม่ปล่อยให้ความอยากนำทางชีวิต ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่สิ่งของ แต่อยู่ที่อิสรภาพและความเบาสบายของชีวิต ซึ่งเป็นสุขจากภายใน หากเราสามารถนำแนวคิด “กินอยู่อย่างพอดี” มาใช้ในชีวิตจริง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังนำไปสู่ “ชีวิตที่เป็นสุขและสงบเยือกเย็น”

“ใครเขาจะมีการกินดีอยู่ดีตามแบบของกิเลสตัณหาก็ตาม เราก็มีการกินดีอยู่ดีตามแบบของชาวพุทธคือกินอยู่แต่พอดี” – พุทธทาสภิกขุ

ขอบคุณภาพ จิตรกรรมเปรตวัดสุทัศนเทพวราราม

Share

Related Articles