2 วิธีรับมือกับความเครียด : "นิ่ง" และ "รู้"

Share

พระไพศาล วิสาโล,

แก้เครียด เว้นวรรคชีวิต ไม่คิด ไม่รับรู้ เป็นการแก้ชั่วคราว

    ทุกวันนี้ ผู้คนก็หันมาสนใจวิธีการบรรเทาความเครียด ด้วยการทำสมาธิภาวนากันมากขึ้น คนตระหนักว่าเครียดเพราะความคิด คิดถึงเรื่องงานเรื่องการ คิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว กับการเรียน กับการงาน กับรายได้ หรือว่ากับความสัมพันธ์ บางอย่างมันก็ยังไม่เกิดขึ้นแต่วิตกกังวลไปล่วงหน้าแล้ว อันนี้เรียกว่าเครียดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือยังไม่เกิดขึ้น เพราะใจไปอยู่กับอนาคต

    แต่ความวิตกกังวลบางอย่างที่ทำให้เครียดกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น กำลังปลุกปล้ำกับงานการที่มันยาก คิดไม่ออก ก็เครียด แต่ถ้าหากว่าไม่คิดถึงมัน มันก็ไม่เครียด หลายคนก็เลยหันมาสนใจการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ จิตไม่ไปคิดเรื่องงานเรื่องการ ไม่ไปคิดถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า หรือว่าไม่คิดถึงปัญหาในครอบครัว ปัญหาในความสัมพันธ์ พอไม่คิด ใจก็สงบ 

    ทำอย่างไรให้ใจไม่คิด ก็เอาใจไปอยู่กับลมหายใจ หรือว่ากำชับด้วยการบริกรรม อยู่กับลมหายใจไม่พอ ก็มีการนับ1,2 เป็นลำดับจนถึง 10 หรือไม่ก็ภาวนาพุทโธ บริกรรมพุทโธ ให้ใจมาอยู่กับคำบริกรรม หรือใช้คำบริกรรมเพื่อทำให้อยู่กับลมหายใจได้อย่างต่อเนื่อง พอใจแนบอยู่กับลมหายใจ มันก็เกิดความสงบเพราะว่าไม่มีความคิดเกิดขึ้น 

    หรือมิเช่นนั้นก็ไม่ต้องไปรับรู้กับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นได้ยินทางหูเห็นทางตาหรือทางโทรศัพท์มือถือ พอใจอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เป็นกลางๆเช่น ลมหายใจ หรือว่าท้องที่พองยุบ หรือว่ากายที่เคลื่อนไหวไปมา มันก็ไม่มีความคิดเกิดขึ้น พอไม่มีความคิดเกิดขึ้น ใจก็สงบ พอไม่รับรู้เรื่องอะไรที่เคยทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญใจ มันก็นิ่งได้

    อันนี้เป็นวิธีที่หลายคนใช้เพื่อบรรเทาความเครียด มันเป็นช่วงของการพักใจ หรือเว้นวรรคให้กับชีวิต ไม่ต้องไปคิดเรื่องงานเรื่องการ ไม่ต้องไปรับรู้ปัญหาต่างๆในครอบครัวหรือว่าโลกภายนอก พอใจสงบใจนิ่งมันก็เกิดความสบาย เกิดความผ่อนคลาย เกิดความสุข 

    แต่ว่าพอเปิดตาเมื่อไรหรือว่าพอเลิกทำสมาธิเมื่อไร จิตก็หันไปคิดไปปรุงเหมือนเดิม ไปคิดนึกเรื่องงานเรื่องการ คิดถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ก็กลายเป็นเครียดใหม่ หรือก็มีความหงุดหงิดขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่ทำสมาธิเพื่อผ่อนคลาย ความเครียดก็หายไปชั่วคราวในขณะที่ทำสมาธิ ความเครียดหายไปในขณะที่จิตมันนิ่ง

    แต่พอจิตไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ หรือพอจิตมันขยับ มันก็ออกไปคิดนั่นคิดนี่ ไหลไปตามความคิด แล้วก็เครียดใหม่หงุดหงิดใหม่ บางทีหนักกว่าเดิมเพราะว่าติดสงบ พอทำสมาธิแล้วมันสงบ มันเป็นความสุข แล้วพอเคลิ้มคล้อยความสุขนั้น ในเวลาต่อมาพบว่าความสงบที่มันเหมือนน้ำชโลมใจ มันหายไปเสียแล้วเพราะไปรับรู้เรื่องอะไรต่างๆมากมายในที่ทำงาน ในบ้าน หรือว่าเพราะว่ามีความคิดเกิดขึ้น 

    ที่จริงแม้จะมีการรับรู้เรื่องอะไรต่างๆ หลังจากออกจากสมาธิ มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเครียดหรือหงุดหงิดเสมอไป หรือแม้กระทั่งเมื่อถอนจิตออกจากลมหายใจแล้วมันมีความคิดเกิดขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเครียด หงุดหงิดเสมอไป หากว่าเรามีความสามารถในการรู้ทันความคิด

รู้ทันความคิด คือ การแก้ที่ได้ผล

    เวลามีความคิดเกิดขึ้น แทนที่จิตจะไหลลอยไปตามความคิด หรือหลงเข้าไปตามความคิด มีสติรู้ทัน ใจก็ไม่ไหลเข้าไปในความคิด เรียกว่าปล่อยหรือวางความคิดลงด้วยซ้ำ มันก็สงบได้ มันก็คลายเครียดหรือหายจากความเครียดได้ 

    แต่ว่าหลายคนหรือคนส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงการคลายเครียดก็นึกถึงแต่ว่า การให้จิตมันแนบแน่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เป็นกลางๆ เช่น ลมหายใจ เพื่อว่ามันจะไม่ไปคิดอะไร พอไม่คิดก็ไม่เครียด พอคิดก็ไม่หงุดหงิด แต่พอคิดเมื่อไหร่ หรือพอจิตออกมาจากลมหายใจ กลับไปทำงานทำการ รับรู้เรื่องต่างๆมากมาย ก็มาเครียดใหม่ หงุดหงิดใหม่ 

    มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ ถ้าหากว่าเราฝึกให้จิตมีความสามารถในการรู้ทันความคิดได้ไว ความสามารถในการรู้ทันความคิด มันเป็นงานของสติ ทีนี้นอกจากว่า แทนที่เราจะเน้นเรื่องการฝึกจิตให้หยุดคิด เพื่อมันจะได้นิ่ง เพื่อมันจะได้สงบ แทนที่เราจะหลับตา น้อมจิตอยู่กับลมหายใจเพื่อที่มันไม่ต้องไปรับรู้อะไรข้างนอก สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วยเลยก็คือ การที่เราฝึก ให้จิตมีความสามารถในการรู้ได้ไว 

    รู้อะไร รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ฝึกจิตให้นิ่งได้ไว ถือว่าเป็นเรื่องดี เราก็ควรจะมีความสามารถในการทำสิ่งนี้ด้วย มันช่วยทำให้ผ่อนคลายจากความเครียด แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ ฝึกจิตให้นิ่งแล้วเราต้องฝึกจิตให้มีความรู้ได้ไวด้วย นิ่งได้เร็วแต่ในขณะเดียวกันก็รู้ได้ไว

สมดุล

    รู้ได้ไวคือ รู้ทันความคิดได้ไว รู้แล้วก็วาง ๆ อันนี้เป็นความสมดุลที่เราไม่ควรมองข้าม เคยพูดไปแล้วว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยความสมดุลหลายอย่าง หรือควรพัฒนาให้เกิดความสมดุลหลายอย่าง เช่น ความสมดุลระหว่างกายกับใจ สมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ สมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา 

    สมดุลระหว่างนิ่งกับรู้ ก็สำคัญ นิ่งได้ไว แต่ก็รู้ได้เร็ว แต่ว่าหลายคนไปคิดแต่ว่าการนิ่งเท่านั้นจะช่วยทำให้หายเครียดได้ แต่ที่จริงการรู้ได้ไวก็สำคัญ ช่วยทำให้ไม่หลงเข้าไปในความคิดจนกระทั่งเกิดความเครียดเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา หรือแม้กระทั่งพอมีความเครียดเกิดขึ้น ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็ยังไม่สายที่จะรู้ทันมัน หรือเห็นมัน 

    การเห็นหรือการรู้ทันความหงุดหงิดหรือความเครียด ก็สำคัญ ความเครียดมันเกิดขึ้น อันนั้นยังไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรารู้ทันหรือเห็นมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น 

    มีคราวหนึ่งหลวงพ่อสอบอารมณ์กับนักปฏิบัติคนหนึ่งที่มาอยู่ที่นี่ได้ 3-4 วันแล้ว ท่านถามว่า เป็นอย่างไร เธอก็ตอบว่าไม่ไหวเลยหลวงพ่อ วันนี้แย่จัง มันเครียด มันคิดมากเหลือเกิน หลวงพ่อได้ยินก็ท้วงว่ายังตอบไม่ถูกนะ ตอบใหม่ เธอก็คิดสักพักแล้วก็บอกว่า วันนี้หนูเห็นมันเครียด หลวงพ่อก็เลยบอกว่าอย่างนี้แหละดี นักปฏิบัติต้องดูอย่างนี้แหละ ดูอย่าเข้าไปเป็น 

    ความเครียดมันไม่ทำร้ายเรา ถ้าเราเห็นมัน เช่นเดียวกับความคิดหรืออารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอันตรายหรือเป็นภัยกับเราเมื่อมันเกิดขึ้น หลายคนเห็นว่าความคิดโดยเฉพาะความฟุ้งซ่านมันรบกวนเราจึงพยายามทุกวิถีทางที่ไม่ให้คิดจนฟุ้งซ่าน จนบังคับจิตไม่ให้คิด แต่ที่จริงแล้วเพียงแค่เรารู้ทันมันหรือเห็นมัน มันก็ไม่มีพิษไม่มีภัยหรือหมดพิษสง 

    ความเครียดก็เหมือนกัน แทนที่เราจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เครียด รวมทั้งการทำให้ใจหยุดคิดจะได้ไม่เครียดไม่หงุดหงิด อันนั้นก็ดีอยู่ แต่ว่าที่ควรทำควบคู่กันไปด้วยคือ การฝึกสติให้รู้ทันความคิดและเห็นความคิด เพราะพอได้รู้ทัน เห็นมัน ความเครียดก็จะทำอะไรเราไม่ได้ เห็นความเครียดแต่ไม่เป็นผู้เครียด อันนี้สำคัญมาก

    นอกเหนือจากวิธีอื่นที่พูดมา เช่น การยอมรับว่ามันเป็นธรรมดา หรือว่าเห็นว่ามันมีประโยชน์ มองแง่บวก รวมทั้งการฝึกจิตให้นิ่งแล้วนั้น แต่ที่สำคัญไม่น้อยคือ การที่มีสติรู้ทัน หรือเห็นมันได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเห็นความเครียดหรือว่ารู้ทันความคิดที่เป็นตัวการให้เกิดความเครียด ต้องฝึกตรงนี้บ่อยๆ หากรู้สึกว่าความเครียดมารุมเร้าจิตใจเรา 

    อย่างที่พูดว่าเจออะไรไม่สำคัญเท่ากับเจออย่างไร เจอความเครียดไม่สำคัญเท่ากับว่าเจอมันอย่างไร เจอมันด้วยอาการที่ยอมรับ หรือว่าเจอมันด้วยสติ ด้วยการรู้ทัน ด้วยการเห็น ไม่เข้าไปเป็น อันนี้สำคัญกว่า