ชีวิตที่คล้ายกีฬา

Share

ปัญญานันทภิกขุ,

    คนเราที่เป็นทุกข์นั้นมันเป็นทุกข์ ๒ เรื่อง เป็นทุกข์เรื่องบวกกับเป็นทุกข์เรื่องลบ เป็นทุกข์เพราะเรื่องบวกก็คือ เรื่องจะเอาเข้ามา เป็นทุกข์เรื่องจะเอาเข้ามา แล้วเป็นทุกข์เรื่องจะผลักดันออกไป

    เราสังเกตที่ตัวเราเอง เวลาอยากได้นี่มันเป็นอย่างไร สบายใจไหม เย็นใจไหม สงบใจไหม แล้วเวลาเกิดไม่ชอบนี่ มันสบายใจไหม เย็นใจไหม สงบใจไหม ไม่มีความสงบ มีความเร่าร้อน ถูกมันเผาให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา

    เรียนธรรมะนี่ก็ต้องเรียนที่ตัวเอง ศึกษาจากตัวเอง ด้วยการสังเกตดูว่า เวลาเราอยากอะไรนี่ สภาพจิตใจเป็นอย่างไร มันร้อนหรือเย็น มันสงบหรือวุ่นวาย มันมืดหรือสว่าง ต้องสังเกต สังเกตดูที่ใจเรา อย่าไปดูที่อื่นแล้วมันยุ่ง ดูที่ใจก็จะเห็นสภาพของใจ เมื่อสิ่งอะไรมากระทบ เช่นว่า เราอยากได้อะไรนี่ เราดูว่า เออ มันเป็นยังไง จะรู้สึกว่าร้อน

    ไม่ต้องอะไรหรอก โยมนัดใครไว้สักคนหนึ่ง ว่าไปพบกันที่วัดชลประทาน ก่อน ๘ โมงนะ หรือก่อน ๙ โมง โยมก็มานั่งอยู่ที่ศาลาเล็ก หรือมานั่งตรงใดตรงหนึ่งที่คนนั้นเดินผ่านมาก็จะได้เห็น ต้องดูนาฬิกาบ่อยๆ ดูนาฬิกาบ่อยๆ ทำไมดูนาฬิกา เพราะนัดเวลาไว้ แล้วก็ดู ทุกครั้งที่ดูนาฬิกานะใจมันเย็นไหม สงบไหม เป็นสุขไหม คิดคิดดูเห็นว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเราคอยใครก็ตาม สภาพจิตเป็นอย่างนั้น

    หรือว่าเราอยากจะได้อะไร ใจมันก็แบบเดียวกัน มันร้อน สับสนวุ่นวายนั่งไม่ได้ ลุกขึ้นเดินกันไป เดินไปเดินมาให้วุ่นไปเลย มันเผาสิ่งนั้นเข้ามาเผาจิตใจจนเรานั่งไม่ได้ ต้องเดินไปเดินมา กระสับกระส่าย ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆเป็นเรื่องสำคัญที่เราอยากได้แรงๆ มันก็เผาแรงเหมือนกัน ไฟน้อยๆมันก็เผาน้อยๆ ไฟกองโตขึ้นมันก็เผามากขึ้น

    ถ้าไฟไหม้บ้านนี่ ร้อนจนอยู่ในบ้านไม่ได้ ต้องไปยืนอยู่ในสนาม ยืนดูเปลวไฟที่มันลุกโพลงๆ ร้องไห้ร้องห่ม บ้านของกู บ้านของกู ไฟไหม้หมดแล้ว นี่คือความร้อน

    ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ มีบ่อยๆ วันหนึ่งมันถูกเผากี่ครั้งกี่หน มันสบายไหม มันเย็นไหม คิดดู ถ้าเราคิดดูก็เห็นมันไม่ได้เรื่อง แล้วทำไมมันจึงเผา ก็เรามันจุดเผาตัวเราเอง ไม่มีใครมาเผาเรา เราเผาตัวเอง เผาด้วยอะไร เผาด้วยความอยากที่เกิดขึ้น ตัณหา เขาเรียกว่า ตัณหา แปลว่า ความอยาก อยากจะมีอยากจะเป็น อยากไม่มีไม่เป็น เผาทั้งนั้น อยากจะมีมันก็เผา อยากจะเป็นมันก็เผา อยากไม่มีไม่เป็นมันก็เผา แล้วเราก็ร้อน นั่งอยู่ในห้องปรับอากาศเย็นเจี๊ยบ แต่ว่าใจมันร้อน ไม่เย็น แม้อากาศจะเย็นแต่ใจมันไม่เย็น มันถูกเผา แล้วเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราถูกเผา ไม่รู้ว่าถูกเผาด้วยอะไร เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำไมจึงไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ได้ศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้ศึกษาก็เพราะว่า ยังไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ ว่าจะเป็นน้ำมาชโลมใจ ให้เย็นให้สงบให้สะอาดสว่าง เรายังไม่เห็นประโยชน์ แล้วเราก็สมัครที่จะนั่งอยู่ในกองไฟ ให้ไฟมันเผา เผาๆ รู้สึกว่ามันสนุกในการที่ถูกเผา

ทาสระบบประสาท

    คนเรานี้ทั่วๆไป เขาเรียกว่าเป็นทาสของ อายตนะ ของตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ หรือว่าพูดตามแบบใหม่ว่า เป็นทาสของระบบประสาท ระบบประสาทก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกนึกคิด ด้วยประการต่างๆแล้วมีความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับสิ่งนั้น อยากได้อยากเป็นในสิ่งเหล่านั้น ในขณะที่ได้มาก็ลืมอะไรหมด สนุกเพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ทั้งๆที่สิ่งนั้นมันเป็นยาพิษ เป็นเหตุให้เกิดความร้อนภายนอก ภายใน จิตใจกระวนกระวายอยู่กับสิ่งนั้น แต่เราเข้าใจว่านั้นแหละคือความสุขของเรา ความสุขที่เกิดจากการได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น คล้ายๆกับสุนัขตัวน้อยๆที่ฟันมันกำลังขึ้น มันก็ชอบแทะกระดูก กระดูกแท้ๆไม่มีอะไร เนื้อไม่มีสักนิด แต่มันก็กัดแล้วกัดอีก

    ที่กุฏิมีลูกหมาอยู่ ๓ ตัว แม่มันมาเกิดที่นั่นก็สงสาร เลี้ยงมันไว้มันก็ดี เรียบร้อย ไปไหนมาก็กระดิกหางต้อนรับ เคล้าแข้งเคล้าขา เหมือนจะพูดว่า หลวงพ่อมาแล้วๆ มันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าโยนกระดูกไปให้มันก็กัดกันแย่งกัน กัดกัน ถ้าเราให้ผ้าขี้ริ้ว หรือฟองน้ำ หรืออะไรโยนไปสักชิ้นหนึ่ง มันกัดกันใหญ่เลย ตัวนั้นก็จะเอา ตัวนี้ก็จะเอา ๓ ตัวแย่งกันเอา มันเป็นสุข มันหลงในความสุขนั้น มันสบาย ถ้าได้กัดสิ่งเหล่านั้นแล้วมันก็สบาย เพลิดเพลินสนุกสนาน

    ความสนุกสนานเพลิดเพลินนั่นแหละ มันเป็นสิ่งยั่วยุทำให้คนติด คนเราจึงติดสิ่งนั้นสิ่งนี้ พวกชอบเล่นไพ่ ถ้าได้ไปนั่งแจกไพ่กันแล้วมันสนุก เพลิดเพลินอยู่กับไพ่ ปวดท้องก็ไม่ไป ปวดเอวก็ไม่ลุกขึ้น นั่งอยู่นั่นแหละยังไม่จบเกมส์ ไปไม่ได้ เขาเรียกว่าหลงในความสนุกสนานเหล่านั้น

    คนดูหนัง ดูละคร ก็หลงในหนังในละคร ชอบเพลงก็สนุกในเรื่องเพลง เพลงตลับหนึ่งก็ไม่ใช่เล็กน้อย ๖๕, ๗๐ บาท วันนั้นไปแต่งงานพบเจ้าสาว ก็เลยถามว่าหนูทำงานอะไร ทำงานกับบริษัททำตลับเพลงขาย เป็นบริษัทใหญ่ ทำได้มากขายมาก ถามว่าขายตลับละเท่าไร ๖๐ บาท ๖๕ บาทถึง ๗๐ ถ้าเป็นเพลงของคนเก่งๆ เช่น เบิร์ด แมคอินไตย์ มันแพง ตลับหนึ่งตั้ง ๕, ๖๐, ๗๐ บาท แล้วให้คนร้องเท่าไร คนร้องก็ ๕ บาท ถ้านายเบิร์ดนี่ให้ ๖ บาท นายแซมนี่ก็ ๖ บาท คนร้องเก่งๆได้ ๖ บาท แล้วอัดเทปที่หนึ่งอัดเป็นหมื่นๆเทป หมื่นๆตลับ ถ้าหมื่นๆตลับตลับละ ๕ หมื่นก็ไม่ใช่น้อย พวกนี้ก็ร้องกันคอแหบคอแห้ง เวลาร้องมันก็สนุกอยู่ สนุกกับเพลงแล้วมันสนุกตรงที่ๆได้รับเงินมา ได้เงินมาเอาไปจ่ายก็สนุกกันต่อไปอีก เลยหลงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไปไหนไม่ได้ หลงติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น คนเรานี่มันติดอะไรๆบางอย่าง เรียกว่า หลงในสิ่งเหล่านั้นเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ก็เป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ยังไม่รู้สึกตัวว่าเป็นทาส ยังไม่เห็นทุกข์เห็นภัยในสิ่งเหล่านั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้นต่อไป ส่วนมากเราเป็นอย่างนั้น

    ถ้าเราศึกษา ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า มองเห็นความจริงของชีวิต มองเห็นความสุขที่ถูกต้อง จิตมันก็ค่อยคลายไปจากสิ่งเหล่านั้น ไปแสวงหาสิ่งที่มันดีกว่านั้น ประเสริฐกว่านั้น แล้วก็ไม่ต้องลงทุนแสวงหา ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านั้น อันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ความเดือดร้อนใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความสงบในใจของเรา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง “สุขอื่น ยิ่งไปกว่าความสงบ ไม่มี”

    ความสงบนั้นมันเย็น ไม่ร้อนไม่ตื่นเต้น ไม่ขนลุกขนพอง มันเป็นความสุขที่เรียบๆง่ายๆ เป็นความสุขตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในใจของเรา พูดอย่างนี้คนที่มีชีวิตอยู่ในโลกที่กำลังเจริญในทางวัตถุมองไม่เห็น เขาไม่เห็นว่ามันจะเป็นสุขอย่างไร

    เขามองเห็นสุขที่ว่า ตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ได้ถูกได้ต้อง ได้เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เขาเรียกว่าชีวิตมีรสมีชาติ คล้ายๆกับกินอาหาร ถ้าเป็นอาหารจืด มันไม่ค่อยอร่อย ต้องเผ็ด เค็ม เปรี้ยว กินเข้าไปแล้วมัน ซูดซิ้ดๆ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล ทั้งน้ำมูกน้ำตาไหล อร่อยถึงใจ “แซ่บอีหลี” ภาษาภาคตะวันออกว่าแซ่บอีหลี เมืองเหนือก็ว่า “ม่วนแท้” เป็นงั้น

    เพราะสิ่งเหล่านั้นมันยั่วประสาท ทำให้เกิดความตื่นเต้น แล้วเราก็นึกว่านั่นแหละคือ สิ่งที่เราปรารถนา ก็ไปแสวงหาสิ่งเหล่านั้น กว่าจะได้มาก็ลำบาก ได้มาแล้วก็ต้องถนอมรักษากลัวมันจะหาย จะหมดสิ้นไปเป็นทุกข์ทั้งนั้น ได้พยายามจะหามา ได้มา รักษามันก็เป็นทุกข์ พอมันหายไปก็ทุกข์อีก ทำไมจึงเป็นทุกข์ เพราะเราไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจเรื่องทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ก็เลยเป็นทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจด้วยเรื่องเหล่านั้น แล้วก็สิ้นเปลืองในการแสวงหา

    คนที่เป็นสุขเพราะเสื้อผ้า ต้องไปซื้อแล้วซื้ออีก ซื้อเสื้อผ้าสีต่างๆ รูปต่างๆ แฟชั่นใหม่ๆ ซื้อมาใส่ พอได้ใส่แล้วก็สบายใจ เดินยิ้ม ยิ้มกริ่มๆอยู่ในใจ เห็นใครมองก็นึกของฉันสวย แล้วก็สบายใจ แต่ถ้าเห็นคนอื่นสวยกว่า ใจเหี่ยวใจแห้งสู้ชุดนั้นไม่ได้ อันนี้มันออกใหม่มันทันสมัยกว่า ไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องไปหาซื้อสักชุด แล้วมันเดือดร้อนตรงไม่มีสตางค์จะซื้อ พอไม่มีสตางค์จะซื้อก็กลุ้มใจเป็นทุกข์ ต้องไปกู้ไปยืมเขา ความอยากมันรุนแรงขึ้น เพื่อเอาหน้าเอาตา เอาเกียรติเอาชื่อเสียง ก็เป็นทุกข์อีก ต้องไปหามา ก็ตกเป็นทาสผู้ให้ยืม ต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ แต่ก็ต้องเอา เพราะว่าใจมันอยากได้ แล้วมันก็เป็นความสนุกสนาน เพลิดเพลินในสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน

    ถ้าเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ จิตใจก็ไหลไปตามอำนาจของสิ่งเหล่านั้น แล้วความเจริญในทางวัตถุนี่เขาสร้างขึ้นเพื่อจูงใจคน ให้หลงให้มัวเมาให้ติดในสิ่งเหล่านั้น จริงๆต้องประดิษฐ์ให้มันแปลกๆใหม่ๆเพื่อให้คนพอใจ เราก็เป็นทาสของความแปลกใหม่เหล่านั้น ก็ต้องไปซื้อไปหามา ซื้อเครื่องแต่งตัว ซื้อเครื่องประดับกาย ซื้อรถยนต์คันใหม่ รถยนต์เก่ามันก็มีแล้ว ๔ ล้อยังใช้ได้ เครื่องก็ยังดีอยู่ แต่ว่ามันล้าสมัยต้องเปลี่ยนใหม่ แล้วในรถยนต์ก็ต้องใส่อะไรให้มันรุงรัง ข้างหน้าข้างหลัง อัดเข้าไปจนเต็มรถเลย แล้วก็เบื่อ เบื่อแล้วก็ทิ้งไปเอาใหม่ ใส่ใหม่ต่อไป

    เหมือนเราใส่ฟืนเข้าในเตา ใส่ถ่านเข้าในเตา ใส่เข้าไปมันก็ไหม้ ถ้ายังไม่เดือดก็ใส่เข้าไปอีกเราต้องไปซื้อถ่านมาใช้มากๆ ถ้าเป็นหม้อไฟฟ้าไม่ต้องใส่ ไฟมันเดินมิเตอร์มันก็ขึ้น พอถึงวันสิ้นเดือนทำไมมันถึงมากอย่างนี้ เป็นทุกข์อีกเพราะจ่ายค่าไฟมาก ปัญหาทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะเราไม่มีน้ำอดน้ำทนต่อสิ่งเหล่านั้น จึงได้เกิดปัญหาขึ้นด้วยประการต่างๆ

ยินดียินร้าย

    อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง คือ อารมณ์ที่มากระทบที่เรียกว่ายินดียินร้าย มีอยู่ตลอดเวลา อะไรพึงใจพอใจก็ยินดี อะไรไม่ชอบใจพึงใจก็ยินร้าย พระท่านจึงสอนว่าให้ระวัง ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เพราะยินดีมันก็เป็นทุกข์ ยินร้ายมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน หรือพูดง่ายๆว่า ดีใจก็เป็นทุกข์ เสียใจก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ดีใจนั้นมันยังมองไม่เห็นทุกข์ เพราะยังดีใจอยู่ยังเพลิดเพลิน ยังสนุกสนาน แต่พอสิ่งนั้นจบลงก็เสียดาย ทำไมมันจบเร็วเกินไปมันน่าจะต่อไป เป็นทุกข์แล้วเสียใจ

    ถ้ายินร้ายถูกเผาทันที ยินดีเหมือนกับเหล้าหวาน ยินร้ายเหมือนกับเหล้าแรงๆ เหล้าหวานดื่มแล้วมันหวานชื่นใจ แต่พอดื่มไปๆชักจะตาลาย ชักจะตาลาย ชักจะมึนแล้วลุกขึ้นเดินก็โซซัดโซเซแล้ว ฤทธิ์เหล้าหวาน แต่เหล้าที่ไม่หวานนั้นร้อน พอดื่มเข้าไปนี่ร้อนซ่ากลืนลงไปในคอ มันร้อนเข้าไปถึงกระเพาะ มันเผาให้ร้อนเจ็บปวดทันที

    นี่อันนี้ยินดียินร้ายมันก็เป็นทุกข์ แต่ว่าเราไม่ได้พิจารณา มันเกิดแล้วก็ดับไปตามเรื่องตามราวของธรรมชาติ เราไม่ได้ศึกษาเรื่องยินดียินร้าย เรื่องสุขทุกข์ เรื่องสุข เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องมีเรื่องไม่มี เรื่องเป็นเรื่องไม่เป็นนี่เราไม่ได้ศึกษา ชีวิตมันจึงอยู่กันอย่างนั้น เพราะไม่ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจว่า มันอะไรกันแน่ มันเกิดขึ้นตั้งอยู่อย่างไร ให้อะไรแก่เรา เราไม่ได้ศึกษา เพราะไม่มีใครแนะแนวให้คิดให้ศึกษาในเรื่องอย่างนี้

จิตที่โดนเตะเหมือนฟุตบอล

    สภาพจิตใจก็เหมือนลูกฟุตบอลที่อยู่ในสนาม เราเคยดูฟุตบอลนัดสำคัญๆ นัดไม่สำคัญก็เหมือนกันฟุตบอลเหมือนกัน เตะไปก็เตะมา เตะไปเตะมา ถ้าลูกฟุตบอลมันพูดได้มันคงร้องก้องสนาม “แหมกูนี้แย่ มีแต่คนเตะกูทั้งนั้น เตะไปเตะมาตลอดเวลา” เราก็เหมือนฟุตบอล ถูกเตะด้วยอารมณ์ที่มากระทบ ถูกเตะให้กระเด็นไปนั้นกระดอนมานี้ ให้ดีใจให้เสียใจให้หัวเราะทั้งน้ำมูกน้ำตา

    นี่เป็นอยู่อย่างนี้ นี่คือชีวิตที่เป็นอยู่ตามปกติ เพราะว่าเราไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้เอาธรรมะเป็นกระจกส่องดูสิ่งเหล้านั้นเพื่อให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง เห็นอย่างชนิดคลุมเครือ เห็นแต่ผิวเผินข้างนอก แต่ไม่ได้มองซึ้งไปข้างในว่า อะไรมันเป็นอะไร เราไม่ได้มอง ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา จึงมองเห็นแต่เปลือกนอกผิวเผิน แล้วก็พอใจยินดีในสิ่งนั้น หรือไม่พอใจไม่ยินดีในสิ่งนั้น เรียกว่าเราถูกหลอก ถูกต้มอยู่ตลอดเวลา

    ตื่นเช้าขึ้นก็ถูกหลอกด้วยสีสันวรรณะต่างๆ ที่เขาปรุงเขาแต่งขึ้น โดยเราไม่ได้คิดให้มันลึกซึ้งละเอียด ก็ทำให้มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ สภาพจิตใจไม่คงที่ เพราะขึ้นไปสิ่งที่เราชอบ ลงไปกับสิ่งที่ไม่ชอบ ชีวิตขึ้นๆลงๆเต้นไปเต้นมาตามจังหวะของอารมณ์ที่มากระทบ แล้วมันสุขที่ตรงไหน มันสบายที่ตรงไหน ที่เราต้องวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนั้น ถูกเตะถูกถองอยู่อย่างนั้น เรานึกว่ามันสนุกดี มีชีวิตหลายแบบ เพลิดเพลิน เข้าใจอย่างนั้น นั่นคือความหลงชนิดหนึ่ง

    ความเข้าใจผิดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิต โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่านี้มีอยู่ สิ่งที่ประเสริฐกว่านี้มีอยู่ เราควรจะตัดสิ่งนี้ออกไป แล้วก็ก้าวออกไปข้างหน้า หรือเราควรจะออกจากมุมมืด ไปอยู่ในมุมที่สว่าง คล้ายนักมวยที่ถูกต้อนเข้ามุม พอต้อนเข้ามุมแล้วมันก็ป้อนหมัดเข้าไป ทั้งขวาทั้งซ้าย…...กรรมการก็เข้ามาห้าม ฝ่ายหนึ่งก็ชนะไป มันเป็นอย่างนั้นเอง

    เรานี่ถูกต้อนบ่อยๆ จนมุมบ่อยๆ แล้วก็มานั่งกลุ้มใจ นั่งเป็นทุกข์ เพราะไม่มีกรรมการห้าม ถูกชกหน้าบวม บวมทั้งนอกบวมทั้งใน เจ็บช้ำใจไปตามกัน มีอยู่อย่างนี้บ่อยๆ

     ยิ่งคนอยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ หนุ่มๆสาวๆมีความหลงใหลในเรื่องสิ่งต่างๆอยู่พอสมควร โดยไม่นึกว่าอะไรมันเป็นอะไร ไม่ได้นึกว่าสิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ไม่ถาวร ชอบอะไรก็ทุ่มตัวลงไปเลยชอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เกลียดอะไรก็เกลียด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน รุนแรง เขาเรียกว่าอารมณ์รุนแรง ความคิดรุนแรง ก็หนักหน่อย เวลาทุกข์ก็ทุกข์หนัก เวลายินดีก็เพลิดเพลินสนุกสนาน ไหลไปตามจังหวะเพลงแห่งอารมณ์ ทำให้เราตื่นเต้นไปตามเรื่อง แต่พอมีเรื่องเกิดขึ้น ใจเหี่ยวใจแห้ง เหมือนกับถูกชกเข้ามุม นับสิบก็ลุกขึ้นไม่ได้ เป็นทุกข์นอนทุกข์อยู่คนเดียว เอาน้ำตาไปรดหมอนอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำยังไง