เมื่อได้ยินคำว่า ‘พรหมจรรย์’ ก็อาจจะเกิดความรู้สึกแปลกใจ เพราะความหมายของคำว่าพรหมจรรย์ ในสมัยนี้มักจะมองกันแคบเสียแล้ว ถ้าจะป้องกันความรู้สึกอย่างนั้น ก็อาจจะเรียกตามบาลีเสียเลยว่า พฺรหฺมจริย และเรียกเป็นไทยว่า พรหมจริย แปลว่า จริยะที่เป็นพรหม หรือ จริยะอันประเสริฐ
ที่อาตมาพูดถึงชื่อเรียกพระพุทธศาสนาชื่อแรกว่า ‘ธรรมวินัย’ นั้น อาจจะถือว่าเป็นการมองพระพุทธศาสนาที่ตัวพระพุทธศาสนาเองล้วนๆ ว่า มีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ ธรรมกับวินัย ส่วนชื่อที่สอง คือ ‘พรหมจรรย์’ นี้ เป็นการมองพระพุทธศาสนาที่ความสัมพันธ์กับคน หรือการที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
พรหมจรรย์ที่บอกว่าเป็นชื่อเรียกมาแต่ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนานั้น ขอให้มองดูตั้งแต่คำตรัสเมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกออกประกาศศาสนา ที่เราได้ยินกันอยู่เสมอว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ เป็นต้น ใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวมนุษย์ทั้งหลาย จงแสดงธรรม จงประกาศพรหมจรรย์
จุดที่ไม่ควรมองข้ามไปเสีย คือ ประกาศพรหมจรรย์ ประกาศพรหมจริยะ หรือประกาศจริยะอันประเสริฐ นี้เป็นดำรัสในตอนเริ่มต้นประกาศพระศาสนา
ครั้นต่อมาถึงตอนท้ายจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสอีกว่า เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบใดที่พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนี้ยังไม่ อิทฺธํ ผีตํ เป็นต้น คือ ยังไม่แพร่หลายเป็นปึกแผ่นมั่นคง แล้วก็มีคำบรรยายต่อไปว่า ที่ว่าแพร่หลายมั่นคงเป็นปึกแผ่นนั้นอย่างไร หมายความว่า ถ้าบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่มีความรู้เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ยังไม่สามารถที่จะแสดงหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เมื่อใครมากล่าวจ้วงจาบก็ไม่สามารถแก้ไขกล่าวชี้แจงให้ถูกต้อง และประกาศให้เป็นที่รู้เข้าใจกันด้วยดี ถ้าหากว่าบริษัท ๔ ไม่ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ตาม ยังไม่สามารถทำกิจนี้แล้ว พระองค์ก็จะยังไม่ปรินิพพาน
ยิ่งกว่านั้น ยังทรงไขความต่อไปอีกว่า ในบริษัท ๔ นั้น ภิกษุ ภิกษุณี ก็มีทั้งที่เป็นเถระ เป็นมัชฌิมะ เป็นนวกะ คือ จะเป็นผู้ใหญ่ เป็นปานกลาง เป็นผู้ใหม่ก็ตาม ก็จะต้องมีความรู้ความสามารถทั่วทั้งหมด ทางฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ก็แบ่งอีก คือ อุบาสกและอุบาสิกาที่เป็นพรหมจารี กับอุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ครองเรือน แม้แต่อุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ครองเรือน ก็จะต้องมีความสามารถนี้ด้วย จึงจะได้ชื่อว่าพรหมจรรย์นี้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ท่านให้ถือว่าอันนี้เป็นหลักการสำหรับกำหนดว่า พระพุทธเจ้าพอจะปรินิพพานได้หรือยัง ที่ว่านี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์ (และการศึกษา) เป็นอันมาก นอกจากนี้ในระหว่างเวลาที่ประกาศพระศาสนาจนถึงปรินิพพาน ก็ยังมีพุทธพจน์กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ตรัสถึงความสำคัญของพรหมจรรย์อีกมาก
การใช้คำว่าพรหมจรรย์ เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนานี้ ถ้าว่าให้ถูกแล้ว ก็เป็นชื่อเรียกในทางปฏิบัติหรือดำเนินชีวิต จริยะก็คือ การดำเนินชีวิต หรือการครองชีวิตนั่นเอง พรหม แปลว่า ประเสริฐ หมายความว่า ถ้าระบบการครองชีวิตที่ประเสิรฐนี้ยังไม่เป็นปึกแผ่นแพร่หลายมั่นคงแล้ว พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ชื่อว่าตั้งมั่น พระพุทธเจ้าก็จะยังไม่ปรินิพพาน
แม้แต่ในคราวที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำให้ทำสังคายนาตามความในปาสาทิกสูตรก็ดี เมื่อพระสารีบุตรกล่าวถึงการสังคายนาดังความในสังคีติสูตรก็ดี ก็ปรารภว่าที่ควรทำสังคยนานั้น ก็เพื่อให้พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนี้ ยังยืนมั่นคง จริฏฐฺิติกํ ดำรงอยู่ตลอดกาลยาวนาน เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ต้องย้ำว่าอย่างนี้เสมอไป ท่านไม่ใช้คำว่าพระพุทธศาสนาเลย เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาคำว่า พฺรหฺมจริย นี้ให้ชัดเจนว่าคืออะไรกัน เป็นอันว่าพรหมจรรย์เป็นคำสำคัญ เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติ เป็นระบบการครองชีวิตของชาวพุทธ เป็นสิ่งที่จะต้องให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังขึ้น จึงจะชื่อว่ามีความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
พระพุทธพจน์ในสังยุตตนิกายตรัสไว้ว่า อยเมว โข ภิกฺขุ อริโย อฏฐฺงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ นี้คือการแสดงความหมายของพรหมจรรย์ บอกให้รู้ว่าพรหมจรรย์คืออะไร แปลว่า “ภิกษุมรรค หรือ มรรคามีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐนี้แหละ ชื่อว่า พรหมจรรย์” ตกลงว่า พรหมจรรย์ ซึ่งเป็นระบบการครองชีวิตของชาวพุทธ ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ นี่เอง นี่คือความหมายที่แท้จริงของพรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยะ หรือจริยะอันประเสริฐ ชื่อเรียกของพระพุทธศาสนาว่าพรหมจรรย์นี้ ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เน้นภาคปฏิบัติ เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตที่แท้จริง แสดงว่าพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการมาสั่งสอนกันให้เรียนรู้ให้ฟังกันเข้าใจเท่านั้น แต่อยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติ การดำเนินชีวิตที่แท้จริง และนี่คือชื่อเรียกพระพุทธศาสนาอันหนึ่ง
เป็นอันว่าว่ามรรคนั่นเองเป็นพรหมจรรย์ หรือพรหมจริยะ คือเป็นระบบการดำเนินชีวิตของชาวพุทธ หรือการครองชีวิตอันประเสริฐ แต่มีปัญหาต่อไปว่า มรรคนั้นมีองค์ประกอบ ๘ ประการ มีสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้าย เรามักพูดกันถึงความสำคัญของมรรค ซึ่งทุกคนยอมรับว่ามรรคมีความสำคัญ แต่ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่น่าจะมองข้ามไปก็คือว่า ก่อนที่จะเข้าสู่มรรคนั้น เราจะเดินเข้าสู่มรรคได้อย่างไร ถ้าคนยังไม่ได้เริ่มต้น เราจะพาเข้าสู่การเริ่มต้น ให้เขารู้จักมรรค และให้มาเดินตามมรรคได้อย่างไร อันนี้น่าจะถือเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นเรื่องในทางปฏิบัติมากกว่า ถ้าเรามองข้ามปัญหานี้ เราจะมองข้ามหลักการของพระพุทธศาสนาไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามาสนใจถามปัญหาที่ว่าเมื่อกี้ เราจะมองเห็นหลักการของพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง หลักการที่ว่านี้ก็คือเรื่องปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ