พุทธทาสตอบ - ภาวนาแล้วกลัว จะแก้อย่างไร

Share

ปฏิบัติธรรม,

เคยมีผู้ถาม อ.พุทธทาสว่า ถ้าเกิดความกลัวขณะที่ภาวนาจะแก้ไขอย่างไร

ความกลัวเกิดจากความรู้สึกว่ามีตัวตน

อ.พุทธทาสอธิบายเรื่องความกลัวโดยทั่วๆ ไปว่า เป็นเรื่องธรรมชาติของคนทั่วไปที่มีความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" อยู่ตลอดเวลา จึงง่ายที่จะเกิดความกลัว เมื่อมีอะไรที่จะกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายแก่ตัวตน จึงต้องแก้โดยการลดความรู้สึกที่เป็นตัวตน (ตัวกู) ลง 

"ความรู้สึกที่เป็นความกลัวมันก็เกิดขึ้น นี่มันมีเหตุผลตามธรรมชาติ ไอ้ความกลัวโดยทั่ว ๆ ไป มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น จำเป็นต้องเกิดขึ้น ตามหลักเกณฑ์หรือเหตุผลแห่งธรรมชาติ ดังนั้น มันมีการแก้ไขให้ตัวตนมันน้อยลง ๆ ไอ้ความกลัวมันก็น้อยลง"

ลดความกลัวต้องเตรียมตัวให้พร้อม


สำหรับเรื่องความกลัวที่เกิดระหว่างภาวนา อ.พุทธทาสตอบไว้ว่า ขึ้นกับวิธีภาวนา สิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดความกลัว จึงมีวิธีการแก้ต่างๆ กัน อย่างหนึ่ง คือ ต้องมีการเตรียมตัวให้ถูกต้อง หรือ ฝึกให้เกิดความเคยชินกับสิ่งที่กลัวก่อนลงมือปฏิบัติจริง

"ความกลัวที่เกิดขึ้นในการเจริญภาวนา นี่มันก็ยังมีปัญหาว่า ภาวนาชนิดไหน เช่นภาวนาที่น่ากลัวมากและเกิดง่าย...การเจริญภาวนาเกี่ยวกับซากศพชนิดใดชนิดหนึ่ง หลาย ๆ ชนิดในป่าช้า นี่เป็นการเจริญภาวนาที่จะทำให้เกิดความรู้สึกกลัวได้มากทีเดียว แต่เขาก็มีระเบียบวิธีที่ดีมาก ทำให้ถูกต้องตามระเบียบของเขา ก็ ๆ จะกลัวน้อยหรือเป็นอันตรายน้อย

เตรียมตัวสำหรับจะไม่ให้กลัว ป้องกันความกลัว มีหลาย ๆ อย่าง ก็ต้องไปตั้งแต่กลางวัน ไปทำความคุ้นเคยกับซากศพนั้น ๆ ตั้งแต่กลางวัน แล้วก็นั่งในทิศทางที่ได้เปรียบข้างผู้ปฏิบัติ ก็จะไม่เกิดความกลัวหรืออาการน่ากลัวอะไรมาก แล้วก็มีสติที่ฝึกไว้เพียงพอ จึงมีการปฏิบัติที่เตรียมไปเพียงพอ มันก็ไม่ ๆ ๆ ติดปัญหาที่น่ากลัว นี้กรรมฐานประเภทที่มีอารมณ์ที่น่ากลัว ก็มีระเบียบของเขาอย่างหนึ่งนะ กรรมฐานภาวนาที่ไม่มีนิมิตที่น่ากลัว เช่นอย่างอานาปานสติเป็นต้น นี่มันก็ต่างกันมาก มันไม่ควรจะเกิดอาการของความกลัว

แต่ว่าถ้ามันเป็นเรื่องเบื้องต้นไปทั้งหมด ไอ้คนนั้นมันก็ยังจะกลัว แม้แต่ความเงียบ กลัวการนั่งอยู่คนเดียวในที่เงียบ นี้มันก็กลัว จะต้องมีวิธีต่อสู้ธรรมดา ๆ ให้เกิดความเคยชิน จนกระทั่งให้เกิดความแน่ใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่กลัวความเงียบ ไม่กลัวความมืด ไม่กลัวอะไรต่างๆ"

ภาพน่ากลัวที่มาหลอกหลอนตอนภาวนา

ระหว่างภาวนาแล้วเห็นภาพที่น่ากลัว อ.พุทธทาสแนะนำว่า บางคนมีธรรมชาติของจิตที่จะทำให้เกิดภาพเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดา ให้รับรู้ว่ามีภาพนั้นเกิดขึ้นแต่ไม่ต้องใส่ใจและให้หันไปจดจ่อกับการสร้างสมาธิแทน

"เรื่องภาพนิมิต ภาพที่จิตสร้างขึ้น ไมใช่ของจริง จิตสร้างเป็นภาพขึ้นมา จะเรียกว่าหลอกหลอนก็ได้ อาจจะสร้างเป็นภาพที่น่ากลัวขึ้นมาก็ได้ นักปฏิบัติที่เขานักเลง เขาก็ไม่กลัว เขาก็รู้ว่า มันอาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นภาพสร้าง ภาพหลอน ภาพมโนคติของจิต ซึ่งเมื่อถูกบีบบังคับอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น มันก็ดิ้นรน ซึ่งมันรับประกันไม่ได้ว่าจะไม่เกิด และจะไม่ต้องเกิดเหมือนกันทุกคน แต่บางคนมันก็ไม่เกิด แม้แต่พวกที่เกิด มันก็ไม่ต้องเหมือนกันทุกคน

ดังนั้น ถ้ามันเกิดภาพที่น่ากลัว เหมือนกับหลอกหลอน ก็รู้ว่ามันอย่างนั้นเอง คือเป็นเรื่องของจิต สร้างขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของจิตนั้น ๆ แล้วเราก็ไม่สนใจไอ้ความรู้สึกที่กลัว มาสนใจต่ออารมณ์ของสมาธิ หรือนิมิตของสมาธิให้มันหนักขึ้น ความรู้สึกที่กลัวหรือภาพที่กลัว มันก็หายไปเอง ก็ทุกอย่างมันแล้วแต่จิต ดังนั้น ถ้าคนเขารอบคอบ เป็นคนรอบคอบ ไม่ประมาท ไม่สะเพร่า ไม่ทำอะไรหวัดๆ จะไม่มีปัญหาอย่างนี้ มันทำตระเตรียมไปอย่างดี ดำเนินไปอย่างถูกต้อง จิตคอยแต่จะกำหนดหาความสงบ ไม่มีโอกาสให้เกิดไอ้ภาพหลอนที่เป็นของน่ากลัว"

ภาพสวยงามที่เกิดยามภาวนา

สำหรับบางคนเมื่อภาวนาแล้ว อาจมีนิมิตเห็นเป็นภาพสวยงาม เช่น สวรรค์ พระพุทธรูปที่สวยงาม อาจมีความชื่นชมยินดีและติดอยู่กับภาพเหล่านั้น เรื่องนี้ อ.พุทธทาสก็แนะให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ ไม่รู้ไม่ชี้ กับภาพเหล่านั้น หันไปภาวนาให้เกิดความสงบแทน

"อย่าไปรู้ไปชี้กับมันก็แล้วกัน ถ้าเกิดภาพหลอนน่าเกลียดน่ากลัว อย่างเป็นสัตว์ร้าย ก็อย่าไปรู้ไปชี้ ตอนภาพหลอนอย่างยั่วยวน ภาพของเพศตรงกันข้าม เป็นเรื่องทางเพศ ภาพทางเพศ อย่างลามกอนาจาร นี้ก็เหมือนกัน มันก็น่ากลัวเหมือนกันถ้ามาถี่ ๆ ก็อย่าไปรู้ไปชี้กับมัน เพ่งหาแต่ความสงบเรื่อยไป แม้เป็นภาพที่น่ารักน่าพอใจ ตรงกันข้าม ก็เหมือนกัน ไม่รู้ไม่ชี้กับมัน จะเป็น จะเห็นภาพสวรรค์ วิมาน นางฟ้า เทวดา พระพุทธรูปอันสวยงาม หรืออะไรก็ตาม ถ้ามันยังไม่ใช่ความสงบ แล้วก็ยังไม่ ๆ สนใจ ปล่อยให้มันหายไปเสีย"

คำว่า "ไม่รู้ไม่ชี้" มีความหมายว่า รับรู้แต่ไม่ไปทำอะไรกับมัน ไม่ผลักไส ไม่หนี ไม่เข้าหา เพียงแต่สังเกตเท่านั้น รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่นานภาพเหล่านั้นก็จะหายไป

"ภาพที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ มาเองโดยไม่ตั้งใจ แล้วมารบกวนให้ยุ่งไปหมด สำหรับให้รักก็มี ให้โกรธก็มี ให้เกลียดก็มี ให้กลัวก็มี อะไรก็แล้วแต่เถิด ไม่รู้ไม่ชี้ ส่ายหาแต่จุดที่สงบ ที่สงบเงียบสงัดลงไปๆ"

ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นคนขี้กลัว จิตใจอ่อนแอ

อ.พุทธทาสแนะว่า ต้องมีที่ปรึกษาที่รู้จริงคอยให้คำแนะนำ "คนที่จิตใจอ่อนแอหรือว่าคุ้มดีคุ้มร้ายอย่างนี้ จะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนเบื้องต้นที่เพียงพอว่าอย่างนั้นเถิด และก็มีอาจารย์ที่เรียกว่ากัลยาณมิตร คอยคุ้มครอง คอยให้คำตอบ คอยให้คำปรึกษาที่ ๆ เพียงพอ คือเป็นอาจารย์ที่จริง ที่ดีจริง ๆ ที่สำหรับ เหมาะสำหรับจะเป็นอาจารย์ได้จริง ๆ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้มันก็คือล้มเหลว"

ที่มา อบรมพระนวกะในพรรษา ปี 2523 ครั้ง 3 ถาม ตอบปัญหา