"ตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนผมบวชก็เคยได้ยินคำกล่าวทำนองคำพังเพยล้อเลียนว่า บวชลี้ บวชลอง บวชครองเวณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญเข้าสุก บวชสนุกตามเพื่อน เป็นคำกลอนที่คล้องจอง หกบวช ทางภาคอื่นจะมีหรือไม่ก็สุดแท้ แต่ว่าที่นี่มันมีแน่ ผมได้ยินมาตั้งแต่ก่อนผมบวช
บวชลี้ คือหนีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นเรื่องโลก ๆ หนีความลำบาก หนีไอ้ทหาร หรือว่าหนีไอ้ความบีบคั้นของบุคคลบางคน หรือว่าเขาจะเอาให้ตายนี้ก็หนีไปบวชเสีย นี่เรียกว่าบวชลี้ คือหลบลี้หนีภัยไปบวช
บวชลอง ก็หมายความว่ามันลองบวช นี่คิดดูให้ดี มันลองบวช มันไม่รู้ว่าบวชนี้เป็นอะไรมันก็ลองดู
บวชครองเวณี นั้นคือบวชตามประเพณี อายุครบบวชก็ต้องบวช มันก็บวชเข้าไปอย่างละเมอ ๆ เสียมากกว่าอย่างอื่น
บวชหนีสงสาร นี่ไม่ใช่ความหมายตามทางที่ถูกต้องตามหลักธรรม ที่จริงบวชหนีสงสารนะถูกต้องอยู่มาก แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้หมายความอย่างนั้น คือมันบวชหนีความลำบาก
คำว่า "สงสาร" ในที่นี้เป็นภาษาชาวบ้านหมายถึงลำบาก ทีนี้มันบวชเพื่อจะหนีความลำบากเหล่านั้น เช่น มันยากจน อยู่เป็นฆราวาสมันลำบาก มาบวชแล้วมันสะดวกสบาย มันก็หนีความลำบากนั้นแหละเรียกว่าหนีสงสาร และถึงแม้ว่าคำว่า "สงสาร" จะหมายถึงความทุกข์ทั่วๆ ไปตามความหมายคำว่า "สังสารวัฏ" ก็ยังไม่ถูกอยู่นั่นแหละ บวชหนีสงสารนี้ก็ไม่ถูกหรอก ไม่ถูกแท้ เพราะ #ความมุ่งหมายของการบวชที่ถูกต้องนั้นไม่ต้องการให้หนีทุกข์ ต้องการให้ชนะทุกข์
ฉะนั้นต้องพูดว่าบวชเพื่อเอาชนะสงสารน่ะจึงถูกต้อง บวชที่ดีที่แท้ต้องบวชเพื่อมีชนะแก่ วัฏฏสงสาร คือ หักหรือทำลายวัฏฏสงสารเสียได้ อย่างนี้ไม่ใช่หนีสงสาร หนีสงสารนั้นคือคนขลาด คนโง่ คนขี้แพ้