รับปีใหม่ จะให้สุขสันต์ตลอดปี ต้องพร้อมใจสมานฉันท์ ทำถิ่นทำบ้านให้เป็นรมณีย์
คนไทยชาวพุทธทั่วๆ ไป จำกันได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ต้นมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แต่ถ้าถามว่าทำไมจึงเสด็จไปประทับอยู่และตรัสรู้ที่นั่น คงมีน้อยคนตอบได้จึงต้องเล่าทบทวนความจำกันให้แม่นและแน่นสักหน่อย
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้เสด็จไปทรงศึกษาทดลองปฏิบัติในสำนักอาจารย์ใหญ่สำคัญๆ สมัยนั้นจนจบความรู้ของอาจารย์แล้ว ทรงทราบว่ามิใช่ทางให้ถึงจุดหมายจึงเสด็จไปทรงค้นคว้าทดลองตามแนวทางของพระองค์เอง ครั้งนั้น พระองค์เสด็จไปหาสถานที่ถิ่นเหมาะ ทรงจาริกไปในมคธรัฐ จนมาถึงถิ่นที่เรียกว่าอุรุเวลาเสนานิคม ณ ที่นั้น ทรงพบถิ่นที่เหมาะ ดังที่ตรัสในวาระนั้นว่า
“รมณีโย วต ภูมิภาโค”
พื้นถิ่นนี้ เป็นที่รมณีย์หนอ มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบานทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใสเย็นชื่นใจ ชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบทั้งโคจรคามก็มีอยู่โดยรอบ เป็นสถานที่เหมาะจริงหนอที่จะบำเพ็ญเพียร สำหรับกุลบุตรผู้ต้องการทำความเพียร ที่อุรุเวลา ณ ถิ่นอันเป็นรมณีย์นี้ เจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์ได้ประทับบำเพ็ญเพียรทดลองค้นคว้าปฏิบัติอยู่นาน 6 ปี ในที่สุด ก็ได้ตรัสรู้ที่ต้นมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา จึงถือว่า ถิ่นรมณีย์ ที่อุรุเวลา ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานี้ เป็นที่ตั้งต้นของพระพุทธศาสนา
เรื่องราวในพุทธประวัติตอนนี้ ต้องเล่าย้ำให้ได้ยินกันบ่อยๆ ให้จำกันได้แม่นว่า “ถิ่นรมณีย์ เป็นที่ตั้งต้นของพระพุทธศาสนา” และก็ควรจำคำตรัสครั้งนั้นไว้ด้วย ที่ว่า “รมณีโย วต ภูมิภาโค” ถิ่นนี้เป็นที่รมณีย์หนอ
พระพุทธเจ้า ก่อนจะตรัสรู้ ทรงแสวงหาถิ่นรมณีย์เป็นสถานที่เหมาะที่จะทรงบำเพ็ญเพียร แสดงว่าในการศึกษาค้นคว้าปฏิบัติธรรม พึงถือเป็นสำคัญที่จะต้องให้ได้ถิ่นสถานที่เป็นรมณีย์
หลักข้อนี้ ชาวพุทธได้ถือเป็นคติสืบกันมาตั้งแต่พุทธกาลทีเดียวว่า ถิ่นที่จะเป็นวัด ต้องสร้างต้องจัดให้เป็นรมณีย์ แต่แล้วผ่านกาลยาวนาน กลายเป็นว่าได้ถือปฏิบัติกันมาแบบเคยชิน แล้วโดยไม่รู้ตัว ก็เลือนรางจางไปจากสำนึกจนแทบจะหายไป จึงควรต้องยกขึ้นมาย้ำเตือนกันให้มั่นให้แน่น ไม่เฉพาะวัดเท่านั้น คติการทำถิ่นให้เป็นรมณีย์นี้ พุทธิกชนชาวบ้านก็ต้องถือเป็นสำคัญที่จะต้องจัดทำดูแลรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยให้เป็นรมณีย์
มีเรื่องราวเล่าไว้ในคัมภีร์เป็นตำนานสำคัญ ที่ท่านสอนให้ถือเป็นแบบอย่างในการทำบุญขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้ชุมชนชาวหมู่บ้านอยู่กันดีมีความสุข และในเมืองไทย พระสงฆ์ก็นำมาเทศน์สอนชาวบ้านสืบกันมา เพิ่งจะ เลือนรางจางหายลืมกันไปเมื่อค่อนศตวรรษมานี้เอง เรื่องที่ว่านั้น มาในตำนานพระอินทร์ มักพ่วงมากับการเทศน์เรื่องวัตรบท 7 ของพระอินทร์ เป็นเรื่องของกลุ่มหนุ่มดาวดึงส์ ซึ่งมีน้ำใจสมานฉันท์พากันบำเพ็ญประโยชน์ ทำหมู่บ้านถิ่นที่อยู่อาศัยให้ อุดมสมบูรณ์ ทั้งธรรมชาติงดงามรื่นรมย์และถิ่นคนก็สะอาดเรียบร้อยสะดวกปลอดภัย เรียกว่าเป็นรมณีย์ ที่น่าชื่นชมภูมิใจของชุมชนคนในถิ่น เป็นการทำบุญพื้นฐานที่เป็นการทำให้คนมีความสุข เรื่องพระอินทร์ และเรื่องกลุ่มหนุ่ม ดาวดึงส์มีมฆมาณพเป็นหัวหน้า ที่ทำบุญด้วยการทำถิ่นให้เป็นรมณีย์นั้น คนไทยเคยรู้กันดีและมีความสำคัญในวัฒนธรรมไทย พอจะเห็นได้จากพระราชปุจฉาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ตรัสถามพระสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ซึ่งมีเรื่องพระอินทร์ และเรื่องมฆมาณพ ในพระราชปุจฉาครั้งต้นๆ แทบทุกครั้ง (พระราชปุจฉาที่ 2, 3, 5 และ 6)
คนไทยภูมิใจกันมาว่าบ้านเมืองนี้มีแผ่นดินมีธรรมชาติที่ อุดมสมบูรณ์ ดังที่มักอ้างคำเก่าเล่ากันมาว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ที่จริง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อันนั้นเป็นของที่ธรรมชาติมีไว้ให้ เราไม่ต้องทำอะไรมาก ได้แต่เก็บผลเอาประโยชน์ คนไทยควรจะภูมิใจได้แท้จริง ต่อเมื่อตัวเองได้เป็นผู้ทำเป็น ผู้สร้างสรรค์ด้วย นั่นคือ “ทำถิ่นไทยให้เป็นรมณีย์”
คำว่า ถิ่นเป็นรมณีย์นั้น มีความหมายรวมทั้งธรรมชาติก็ อุดมสมบูรณ์ และที่คนอยู่อาศัยก็เรียบร้อยรื่นรมย์ จึงจะสมที่จะเป็นความภูมิใจของคนไทยว่า เราได้ช่วยดูแลรักษาส่งเสริมธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ พร้อมกับทำที่กินที่อยู่ที่สังสรรค์ของคนให้เรียบร้อยงดงามไปด้วยพร้อมกัน เวลานี้ คำอ้างที่เคยภูมิใจกันมาว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั้น คนไทยทำท่าจะพูดไม่เต็มปาก เพราะชักจะไม่ค่อยสมจริง จึงถึงเวลาที่จะฟื้นการทำบุญด้วยการทำถิ่นทำชุมชนให้เป็นรมณีย์ แล้วคนก็จะได้เกื้อหนุนธรรมชาติให้ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ยั่งยืนต่อไป
เมื่อกี้ได้พูดถึงบางคนบางบ้าน มีฉันทะที่จะซ่อมแซมจัดแต่งบ้านให้มั่นคงแข็งแรงให้สดใสดูใหม่งดงาม รับการขึ้นปีใหม่ นั่นก็เข้าทางของการทำถิ่นให้เป็นรมณีย์ แต่ยังแคบได้แค่เป็นหน่วยย่อยๆ คราวนี้ถึงเวลาที่ควรจะขยายออกไป ให้ได้ฉันทะที่เป็นสมานฉันท์ เป็นการร่วมมือพร้อมใจกันของคนในหมู่บ้าน หรือทั้งชุมชน มาทำบุญรับปีใหม่ร่วมกัน ด้วยการทำถิ่นไทยให้เป็นรมณีย์
ในประเพณีของพระพุทธศาสนา ถือการมีถิ่นรมณีย์เป็นเรื่องสำคัญ มีหลักบอกไว้ในคัมภีร์ให้รู้จักองค์ประกอบ เรียกว่า สมบัติ 4 ของถิ่นรมณีย์ คือ
1. มีน้ำอุดม พร้อมร่มพฤกษา (ฉายูทกสมบัติ)
2. งามตาน่าเดิน ดูทัศนีย์ (ภูมิภาคสมบัติ)
3. ไม่มีคนร้าย ได้เสวนาคนดี (บุคคลสมบัติ)
4. มีทางไปไม่ลำบาก ให้ถึงโดยสวัสดี (คมนาคมนสมบัติ)
โดยเฉพาะที่สำคัญเป็นแกนขาดไม่ได้ คือ ข้อ 1 ที่ว่าพร้อมด้วยร่มไม้ และสายน้ำ คืออุดมด้วยพืชพันธุ์ต้นไม้ใหญ่น้อย มีแหล่งน้ำ บึง บ่อ สระ นที พร้อมบริบูรณ์
ปีหนึ่งๆ เมื่อใกล้จะถึงปีใหม่ ก็คือเป็นสัญญาณบอกคนในหมู่บ้าน ในชุมชน ให้สามัคคีกัน รวมฉันทะเป็นสมานฉันท์ ร่วมแรงร่วมใจ ทำถิ่นที่อาศัยให้ความเป็นรมณีย์ที่งามสะอาดรื่นรมย์สดใสฟื้นขึ้นมารับกันกับปีใหม่ ให้ทุกคนมีความสุขสมานขึ้นมาเป็นฐานแล้วจะสนุกสนานบันเทิงอะไรแถม ก็ว่ากันไปตามที่เหมาะที่ควร
รับปีใหม่อย่างที่ว่ามานี้ เป็นทั้งทำบุญ ได้ปฏิบัติธรรม เป็นมงคลแท้จริง และเป็นความสุขที่มั่นคงยั่งยืน สุขวันขึ้นปีใหม่แล้วจะสุขตลอดปี ก็มั่นใจ จะสุขตลอดไป ก็สมจริง
ตั้งเป็นหลักไว้เลยว่า : รักษาถิ่นให้เป็นรมณีย์ มีใจปราโมทย์สดชื่นแจ่มใส และให้ฉันทะมานำที่จะทำทุกอย่างให้งามให้ดี แล้วก็จะใหม่ตลอดปี มีความสุขตลอดไป
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)