ต้อนรับปีใหม่ในฐานะมนุษย์ที่มีความก้าวหน้า
ต้อนรับปีใหม่กันให้สมกับความเป็นวันปีใหม่และให้สมกับความเป็นมนุษย์ใหม่ คือ มีความก้าวหน้าในทางจิตใจ เป็นมนุษย์ที่มีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะเป็นได้ก็ด้วยการมีธรรมะให้มากขึ้นในปีใหม่
อาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้ว่า อย่าให้อายหัวเผือก หัวมัน
"ทุกอย่างจะต้องมีให้ดีให้มากกว่าปีเก่า อย่าให้ละอายหัวเผือกหัวมันที่อยู่ใต้ดิน หัวเผือกหัวมันอยู่ใต้ดิน พอถึงปี พอสิ้นปีมันก็สลาย เรียกว่า หยุดการเจริญ แล้วก็เป็นหัวที่จะเน่า พร้อมที่จะเน่า และทีนี้พอปีใหม่ก็งอกใหม่ เป็นหัวใหม่ จากไอ้ซากที่เหลืออยู่นั่นแหละ มันจะออกมาเป็นจำนวนมากกว่าเก่า ใหญ่กว่าเก่า ดีกว่าเก่ายิ่งขึ้นทุกที เรียกว่าทั้งโดยปริมาณ และโดยคุณภาพ ทีนี้มนุษย์มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่า มนุษย์เราปีหนึ่งๆ สิ้นลง หรือขึ้นปีใหม่นี้ มันมีมากกว่าเก่า ดีมากกว่าเก่า ทั้งโดยคุณภาพ หรือโดยปริมาณหรือเปล่า ถ้าไม่ได้อย่างนั้น มันก็เป็นที่น่าละอายแก่หัวเผือกหัวมันที่อยู่ใต้ดิน มีสภาพเสมือนหนึ่งโง่เง่าเต่าปูปลา"
"ใจความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า มีธรรมะมากกว่าปีเก่า มีความสุขมากกว่าปีเก่า นี่มันเป็นของคู่กัน ถ้ามันมีธรรมะมาก มันก็มีความสุขมาก เราจะต้องมีธรรมะ หรือความสุขให้มากกว่าปีเก่า ถึงจะเรียกว่ามีปีใหม่ขึ้นมา"
"หน้าที่ คือ ธรรมะ"
อาจารย์พุทธทาสกล่าวเสมอว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ ดังนั้น ถ้าใครอยากมีความสุขเพิ่มในปีใหม่นี้ ก็ให้ทำหน้าที่ที่มีอยู่ให้ถูกต้อง คนๆ นั้นก็จะมีธรรมะที่ถูกต้องและเขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้น
"มันมีสิ่งที่จะต้องทราบอย่างยิ่งในข้อนี้ก็คือว่า ธรรมะนั่นแหละมันหมายถึงหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องมากขึ้น จึงจะเป็นการดีกว่าปีเก่า หน้าที่นี้มีความสำคัญมาก แต่คนกลับเกลียด ไม่อยากจะทำหน้าที่ เพราะมันเหนื่อย แต่แล้วมันก็โง่มากถึงกับจะเรียกร้องสิทธิ จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ จะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ โดยไม่ต้องทำหน้าที่ นี่คือวิสัยแห่งคนโง่ คนอันธพาล คนเอาเปรียบ เรียกร้องสิทธิโดยไม่ทำหน้าที่ มันต้องทำหน้าที่ มันจึงจะมีความยุติธรรมในการที่จะเรียกร้องที่จะมีสิทธิอย่างนั้นอย่างนี้"
หน้าที่คือสิ่ง "สูงสุด" เพราะมันทำให้ชีวิต "รอด"
ทำไมหน้าที่จึงสำคัญมาก จนเป็นสิ่งสูงสุดที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เคารพ อ.พุทธทาส อธิบายไว้ว่า
"หน้าที่ คือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิตและเป็นสิ่งสูงสุด เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ให้รอดชีวิต มันเป็นตัวชีวิต มันต้องให้ชีวิตเจริญ...อยากจะพูดเปรียบเทียบให้ท่านทั้งหลายฟังง่าย ๆ ว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือพระพุทธเจ้ายังมีสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ"
"พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ด้วยพระองค์เอง ว่าตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทั้งในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี ทุกพระองค์ล้วนแต่เคารพธรรมะ ดังนั้นเราจงเคารพธรรมะเถิด อย่าอยู่อย่างไม่มีที่เคารพเลย ท่านยืนยันอย่างนี้แล้วว่า เคารพธรรมะ"
สำหรับพระพุทธเจ้า หน้าที่คือ การดับทุกข์และสอนผู้อื่นให้ดับทุกข์ หากไม่ทำหน้าที่นี้ก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า
"ธรรมะก็คือหน้าที่ในการดับทุกข์และหน้าที่ในการที่จะสอนผู้อื่นให้ดับทุกข์ได้ด้วย หากพระองค์ทรงเคารพหน้าที่ของพระองค์ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จึงเคารพธรรมะ คือ หน้าที่ (แม้จะแปลกันว่าธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็คือคำสอนเรื่องหน้าที่)
คำว่าธรรมะไม่ใช่คำใหม่ มีมาก่อสมัยพระพุทธเจ้า แปลว่า หน้าที่
คำว่า "ธรรมะ" คำพูดคำนี้มีพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดเขาหมายถึงหน้าที่ มนุษย์คนแรกได้สังเกตเห็นว่า โอ้มันมีสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ที่เราทำอยู่ ที่เรารอดอยู่ เพราะหน้าที่ ดังนั้นจึงเรียกสิ่งนี้ซึ่งเป็นคำพูดว่าหน้าที่ แต่มันเป็นคำพูดสมัยโน้น ในประเทศอินเดีย มันจึงมีเสียงออกมาว่าธรรมะๆ แปลว่าหน้าที่ ๆ ทุกคนก็ตื่นในสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ สนใจในสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ ค้นคว้าหาสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จนเกิดมีครูบาอาจารย์เต็มไปหมด สอนเรื่องหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นหลายคณะ เป็นหลายลัทธิ ล้วนแต่สอนเรื่องหน้าที่ๆ เรื่อยมา จนกระทั่งเกิดพระพุทธเจ้าสอนเรื่องหน้าที่อันสูงสุด คำว่าหน้าที่ คือ คำว่าธรรมะ
ธรรมะคือหน้าที่...ที่ช่วยให้อยู่รอดแบ่งเป็นสองระดับ
คำว่าธรรมะ นี้ตั้งต้นตั้งแต่ว่ารอดชีวิตอยู่ก็เป็นหน้าที่ ครั้นได้รอดชีวิตแล้ว อย่ามีความทุกข์ อย่ามีกิเลสเบียดเบียน นี่ก็เป็นหน้าที่ มันจึงมันเป็นหน้าที่อยู่สองระดับ ดูให้ดี
หน้าที่ควรรอดชีวิตนี้มีมากมายหลายสิบอย่าง ล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งนั้น ครั้นรอดชีวิตอยู่แล้วก็ต้องไม่มีความทุกข์ ต้องชนะความทุกข์ ชนะกิเลส ชนะความทุกข์ ถ้ารอดชีวิตแล้วมีแต่ความทุกข์ จะรอดไปทำไม ตายเสียยังดีกว่า รอดชีวิตอยู่แล้ว ต้องรอดจากความทุกข์ รอดจากความเบียดเบียนของกิเลส และความทุกข์ นี่เรียกความรอดชั้นที่สอง เป็นจุดสุดท้ายของชีวิต เป็นความรอดอันสุดท้าย เรียกว่า วิมุติ
หลุดรอดจากความตาย, เป็นอยู่ได้
ครั้นเป็นอยู่ได้, ก็หลุดรอดจากความทุกข์
มีอยู่สองรอดอย่างนี้
หน้าที่เพื่อความรอดนี้เรียกว่าธรรมะ
เราจะต้องมีหน้าที่ให้ดีกว่า ให้มากกว่า ให้สมบูรณ์กว่าปีเก่า มันจึงจะเป็นปีใหม่ขึ้นไปเรื่อย ๆ
เป็นความรอดทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ
อะไรเป็นหน้าที่ ที่จะรอดชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ อย่างไม่ต้องทนทุกข์ ก็ทำไปสิ ธรรมชาติมันก็สอนมาให้เสร็จแล้ว
ให้รู้จักหาอาหารกิน
ให้รู้จักป้องกันอันตราย
ให้รู้จักหลบหลีกหนีภัย
ไม่อยากสูญพันธุ์ก็สืบพันธุ์
หรือทำทุกอย่างที่ทำให้มันรอดอยู่ได้
มันเป็นหน้าที่ ทำไปก็แล้วกัน
เมื่อทำหน้าที่นั่นแหละ คือ ปฏิบัติธรรมะ
เมื่อปฏิบัติหน้าที่นั่นแหละ คือ ปฏิบัติธรรมะ
อย่าเข้าใจผิดไปว่าต้องทำพิธีรีตอง
อย่างนั้น ที่นั่น ที่นี่ ที่วัดที่วา
มันทำหน้าที่ที่ไหน เมื่อไหร่ นั่นแหละ คือ ธรรมะที่นั่นเมื่อนั้น
ชาวนาทำนา ชาวสวนทำสวน พ่อค้าค้าขาย ข้าราชการทำราชการ กรรมกรทำกรรมกร ขอทานนั่งขอทาน นักโทษก็ทำงานตามหน้าที่ ทำหน้าที่ของตัวให้ถูกต้องนั่นแหละ คือ ปฏิบัติธรรมะ ซึ่งมันจะช่วยให้รอด ถ้าทำถูกต้องมันก็ช่วยให้รอดจริง
ทำหน้าที่แล้วพอใจจึงเป็นสุข
ทีนี้มันดีกว่านั้นอีก ก็คือว่าควรจะพอใจ เมื่อทำหน้าที่อย่างถูกต้อง พอใจว่าถูกต้อง แล้วก็เป็นสุขเพราะความพอใจ พอทำหน้าที่ก็เป็นสุขแล้วไม่ต้องรอต่อเมื่อหน้าที่สำเร็จ คนโง่มันทำงาน เพื่อได้เงินมาไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงแล้วว่ามีความสุข นี่ความโง่สุดยอดไปเอาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงมาเป็นความสุข ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความพอใจ เมื่อได้ทำหน้าที่ว่าถูกต้องแล้ว พอใจแล้วก็เป็นสุข เป็นความสุขที่แท้จริงที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของความสุขไม่หลอกลวงใคร ทำหน้าที่ด้วยความพอใจ ความพอใจก็เป็นสุข เราหาความสุขได้ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น เพราะว่าเราทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างท่านทั้งหลายฟังว่า ตื่นนอนขึ้นมาต้องล้างหน้า ต้องถูฟัน มีสติสัมปชัญญะ เอาการล้างหน้า การถูฟันนั่นแหละเป็นอารมณ์ของสมาธิ และทำให้ดีที่สุด จนพอใจ ๆๆ ตลอดเวลาที่ล้างหน้า และถูฟัน พอใจก็เป็นสุข เป็นสุข เป็นสุข ตลอดเวลาที่ล้างหน้า และถูฟัน แต่คนโง่ทั้งหลายทำไม่ได้ และไม่เคยคิดจะทำ เพราะจิตใจมันอยู่ที่อื่น มันไม่ได้มีสมาธิอยู่ที่ล้างหน้า และถูฟัน ถ้าเป็นพุทธบริษัทมีสติสัมปชัญญะ ล้างหน้าถูฟันด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นสมาธิ ถูกต้อง ๆ และพอใจ ๆ พอใจแล้วเป็นสุขเองแหละ มันฝืนไปไม่ได้หรอก ถ้าพอใจมันต้องเป็นสุข มันเป็นกฎของธรรมชาติ
ทีนี้จะไปไหน จะไปถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ สติสัมปชัญญะทำดีที่สุด มีความพอใจตลอดเวลา เป็นสุขตลอดเวลาที่นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะ คนโง่ทำไม่ได้ แต่พุทธบริษัทผู้มีปัญญาทำได้ มีสติสัมปชัญญะกระทำถูกต้อง และพอใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปหาอะไรที่ไหน เมื่อนั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ถูกต้อง และพอใจ และเป็นสุข เป็นสุขที่แท้จริงตลอดเวลา เพราะความรู้สึกว่า ถูกต้อง ๆ และพอใจ แม้จะไปอาบน้ำก็ตลอดเวลา จะไปรับประทานอาหารก็ตลอดเวลา เป็นสุขตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร แต่คนโง่ทำไม่ได้ จิตใจมันอยู่ที่อื่น มันรับประทานอาหารไปพลาง มันแช่งด่าใครไปพลาง ด่าแม่ครัวไปพลาง หรือทุกอย่างมันไม่มีความพอใจว่าถูกต้อง ตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร มันไม่มีความสุข แต่พุทธบริษัทต้องทำได้
พ้นทุกข์ได้อย่างไร
เราจะต้องรู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เป็นข้อแรก เรามีความทุกข์อยู่ในจิตใจอย่างไร ถ้าเราไม่มองเห็น เราก็ไม่มีปัญหา
ทีนี้ขอให้มองเห็นปัญหาว่าเรามีความทุกข์ทรมานใจ อย่างน้อยที่สุดเราก็อยู่ด้วยความกลัว อยู่ด้วยความกลัว กลัวความคุกคามของความแก่ชรา ของความเจ็บไข้ ของความตาย ความหมายของความแก่ชรา ความเจ็บไข้ ความตาย มันคุกคามจิตใจอยู่ตลอดเวลา อยู่ด้วยความกลัว นี่ก็เรียกว่าปัญหา หรือ ความทุกข์ ทำอย่างไรเราจึงจะสลัดไอ้ความรู้สึกอันนี้ออกไปเสียได้ นั่นแหละคือ หน้าที่ นั่นแหละคือ ธรรมะ ทำอย่างไร เราจึงจะไม่ปัญหาเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
เราจะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายได้อย่างไร ก็มีคนบอก มีคนกล่าวว่าธรรมะช่วยได้ พระศาสนาช่วยได้ พ้นเกิด พ้นแก่ พ้นเจ็บ พ้นตาย ไอ้คนได้ยินได้ฟังนั้นมันก็ยังโง่ต่อไปว่า เราจะไม่มีอาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่มันก็ยิ่งโง่หนักเข้าไปอีก เพราะว่า แม้แต่พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าก็มีอาการที่เรียกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตายทางร่างกาย มันจะพ้นจากอาการอย่างนั้นไปไม่ได้ แต่ว่าเราจะพ้นจากความคุกคามของอาการอย่างนั้นได้
อาการเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่มีความหมายที่จะมาคุกคามจิตใจเราให้เป็นทุกข์ นี่ก็อย่างหนึ่งแล้ว เป็นพื้นฐานทั่วไปทุกคนไม่ยกเว้นมากไปเพราะว่ามันทุกคนเกลียดกลัวความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
รากของความทุกข์คืออะไร
อาการที่ว่ามันเป็นทุกข์ เป็นความโศกเศร้า ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความเหือดแห้งแห่งจิตใจ เพราะว่าอะไร เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ มันไม่เป็นไปตามที่ตัวต้องการ นี่ทุกคนจะประสบปัญหานี้เสมอว่า ไม่พบกับความต้องการในที่ทุกสถาน ในที่ทุกแห่ง รู้สึกคล้าย ๆ มันพบแต่ความไม่เป็นไปตามต้องการ
แม้แต่เนื้อหนังร่างกายของเราเองมันก็ยังไม่เป็นไปตามต้องการ ลูกเมีย บุตร ภรรยา สามี ก็ยังไม่เป็นไปตามต้องการ ทรัพย์สมบัติของเราก็ยังไม่เป็นไปตามความต้องการ เราก็มีความต่อต้านกับสิ่งเหล่านี้ รู้สึกเป็นปัญหายุ่งยากลำบากอยู่ในจิตใจ เราจะจัดอย่างไร จะจัดจิตใจของเราอย่างไรจึงจะไม่มีปัญหา นี่ธรรมะมันทำให้อยู่เหนือปัญหาเหล่านี้ รู้จักสอนให้หยุดความต้องการอย่างโง่เขลา ไม่ต้องการอะไร ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเอามาเป็นตัวเรา หรือมาเป็นของเรา
ธรรมะ คือ หน้าที่ หน้าที่ คือ ธรรมะ จะต้องทำอย่างไร ก็ทำไปก็แล้วกัน ทำหน้าที่แล้วมันก็ขจัดปัญหาหรือความทุกข์เหล่านั้นออกไปได้
เมื่อพลัดพรากจากของรัก ก็เป็นทุกข์
เมื่อพบกับสิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์
ปรารถนาอันใดแล้วไม่ได้ ก็เป็นทุกข์
เราก็ไม่ปรารถนา เราก็มีความรู้สูงสุด เพราะมัน "เช่นนั้นเอง" จะไม่รักอะไร จะไม่เกลียดอะไร มันก็ไม่มีปัญหาเรื่องประสบของรัก หรือว่าประสบของไม่รัก หรือพลัดพรากจากของรัก เรามีวิธีทำจิตใจอยู่เหนือความทุกข์เหล่านี้
อย่าเอาของธรรมชาติมายึดมั่นเป็นของตน
ไปยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ตัวรู้สึกอยู่ว่าเป็นตัวตนเป็นของตน เอาร่างกายนี้เป็นของตน เป็นตัวตน เป็นของตน ก็มี เอาความรู้สึกคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่อย่าง ที่เรียกว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวตน เป็นของตนก็มี มันก็เป็นทุกข์สิ เพราะมันเป็นธรรมชาติ มันไม่เป็นตัวเป็นตนของใครได้ มันเป็นไปตามกระแสแห่งธรรมชาติของมันเอง
คนโง่มันก็อยากจะให้เอามาเป็นตัวตนของตน
- เวทนารู้สึกเป็นสุขขึ้นมา เอาความรู้สึกนั้นเป็นของตนก็ได้ หรือเอาสิ่งที่รู้สึกนั้นว่าเป็นตัวตนผู้รู้สึกก็ได้ เอาผู้รู้สึกเวทนาเป็นตัวตน เอาเวทนาเป็นของของตน อย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ มันเป็นคนโง่ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันเอามาเป็นตัวตนไม่ได้ มันเป็นของธรรมชาติ
- สัญญา ความสำคัญมั่นหมาย ว่านั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ จำนั่นจำนี่ไว้ได้ สำคัญมั่นหมายไว้ได้ ก็เอาเป็นของตน หรือว่าเอาจิตเมื่อทำหน้าที่สำคัญมั่นหมาย จำอะไรได้ว่าเป็นตัวตน อย่างนี้มันก็โง่เท่ากันแหละ เพราะว่ามันเป็นของตามธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้นเอง
- สังขาร การคิดนึก ก็คิดนึกได้ตามธรรมชาติของจิต ก็เอาจิต เอาผู้คิด หรือจิตมาเป็นตัวตน เอาความคิดเป็นของตน มันก็คือโง่ เพราะมันเป็นเหตุผลที่เป็นไปตามเหตุผล เป็นไปตามเหตุ เหตุปัจจัย เรียกว่ามันเป็นกลไก เป็น Mechanic ของธรรมชาติอย่างนั้นเอง มันมีสิ่งที่คิดได้ แล้วก็มีเป็นความคิดออกมา และมันก็เป็นของธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นของตน
- วิญญาณที่รู้สึกแจ้งจัด จะรู้จัก รู้จัก รู้ชัด รู้แจ้ง รู้จักทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็อย่างนั้นเอง อย่าเอามาเป็นตัวตน หรือเอามาเป็นของตน เอาตา หู ที่รู้สึก รู้จักได้เป็นตัวตน แล้วสิ่งที่รู้สึก รู้จักข้างนอกมาเป็นของตนนี่ก็คือคนโง่
ห้าอย่างที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวตน แล้วก็เป็นทุกข์ เรียกว่าเป็นที่ตั้งแห่งความโง่ของคนโง่ เพราะยึดถือเอามาเป็นตัวตนของตนทั้งที่มันเป็นไม่ได้ มันเป็นของธรรมชาติ นี่ถ้ารู้อย่างนี้เสียแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหนักอกหนักใจ สิ่งทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา จิตนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ นี้เรียกว่ามันรอดจากความทุกข์ มันรอดจากความทุกข์ ดังนั้นเราจะไม่ต้องปล่อยให้โง่ ไปเอาอะไรเป็นตัวตน เป็นของตน ไม่ให้ความคิดมันโง่เขลา ให้ว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น มีร่างกาย กับจิตใจตามธรรมชาติอยู่
ไหว้ตัวเองได้
เมื่อเคารพสิ่งที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เคารพ เราก็เลยมีความถูกต้อง มีความพอใจเป็นสุขตลอดเวลา พอค่ำลง ก่อนจะนอนมาใคร่ครวญดู วันนี้ทำอะไรบ้าง พบแต่ทุกอย่างถูกต้อง และพอใจ ทั้งวัน ทั้งวันเลยพอใจตัวเอง บูชาตัวเอง นับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นสวรรค์อันแท้จริง อยู่ที่นั่นเวลานั้น เป็นสวรรค์ที่แท้จริง อยู่เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไรเป็นสวรรค์เมื่อนั้น เกลียดน้ำหน้าตัวเองเมื่อไรเป็นนรกเมื่อนั้น ระวังอย่าให้มันมี ทำหน้าที่ถูกต้อง และพอใจไม่ต้องลงทุนอะไรอีก มันทำอยู่แล้ว มันทำอยู่แล้ว นี่มันทำอยู่แล้ว กินข้าว อาบน้ำ ล้างถ้วย ล้างจาน มันทำอยู่แล้ว ขอให้ถูกต้อง และพอใจ มีสติสัมปชัญญะ ทำด้วยจิตเป็นสมาธิในสิ่งนั้น ๆ เลย เงินก็เหลือไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร เพราะความสุขมันมีเสียแล้ว เมื่อกำลังทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และพอใจ เลยพูดได้ว่าถ้าเป็นความสุขที่แท้จริง เงินมันจะเหลือเยอะแยะไปหมด ถ้าเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวงแล้วก็ เงินไม่มีเหลือ
คนหนุ่มคนสาวเดี๋ยวนี้ทำงาน เพื่อเอาเงินไปซื้อความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แล้วก็บ่นว่ามีแต่ความทุกข์ ไม่มีความก้าวหน้าไม่มีความสุข มันก็โง่ มันก็ดีแล้ว มันก็สมน้ำหน้าแล้ว ดังนั้น จงรู้จักหาความสุขจากหน้าที่ที่กำลังกระทำอยู่ทุก ๆ หน้าที่การงานเถิด มีหน้าที่ให้มากกว่าปีเก่า ก็เป็นความสุขปีใหม่ พอใจมากกว่าปีเก่าก็เป็นความสุขของปีใหม่ แล้วก็มันมีความสุขของปีใหม่โดยแท้จริงขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนที่มีหน้าที่ของตน ทำอยู่อย่างไร จงทำเสียใหม่ให้ถูกต้อง และพอใจ แล้วก็เป็นสุขทุกหน้าที่การงาน ขอให้ท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จในการมีปีใหม่ ในการขึ้นปีใหม่ มีธรรมะมากกว่าปีเก่า มีความสุขมากกว่าปีเก่า มีความรู้สึกยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ