ดูฟุตบอลให้สนุก...ไม่เป็นทุกข์ได้ไหม

Share

พระไพศาล วิสาโล,

คนทั่วไปมักเข้าใจไปว่าจะดูฟุตบอลให้สนุก ต้องเลือกข้างอย่างสุด ๆ หรือทุ่มตัวไปกับทีมใดทีมหนึ่งไปเลย (และถ้าจะให้ตื่นเต้นกว่านั้น ก็ต้องเติมรสชาติด้วยการลงขันพนันทีมนั้นด้วยจะได้ลุ้นกันให้สุดอารมณ์ไปเลย) คนที่ดูฟุตบอลแบบนี้ แทนที่จะสนุก กลับสะอื้นไห้หรือกลัดกลุ้มใจมากต่อมากแล้ว เพราะทีมที่ตัวเองเชียร์ถูกเขี่ยตกรอบ

ฟุตบอลนั้นดูได้ 2 แบบคือดูเพื่อลุ้น กับดูเพราะอยากรู้ ดูเพื่อลุ้นนั้น เรามีผลหรือคำตอบอยู่ในใจตั้งแต่ก่อนเล่นแล้วว่า อยากให้ทีมไหนชนะ แล้วเราก็คอยเข่นคอยบี้ทีมตรงข้ามอยู่ในใจ ขอให้ทีมนั้นมีอันเป็นไปเพื่อทีมของเราจะได้ชนะ ถ้าชนะก็ยิ้ม ถ้าแพ้ก็เศร้า มี 2 อย่าง

แต่ดูเพราะอยากรู้นั้น เราไม่มีคำตอบล่วงหน้า ผลออกมาอย่างไรก็สมหวังทั้งนั้น เพราะได้รู้สมอยาก อยากรู้อะไร?

บางคนดูเพราะอยากรู้อยากเห็นชั้นเชิงการต่อสู้และตั้งรับของทั้งสองทีม แน่ละลึก ๆ ใจอาจจะเชียร์บางทีม แต่ถ้าทีมตรงข้ามมีฝีไม้ลายมือดี มีทีมเวิร์คและแก้เกมได้เก่ง ก็สามารถทำให้เรายิ้มอย่างชื่นชมได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะยิ้มต่อเมื่อทีมนั้นถูกดาราคนโปรดของเราซัดลูกตุงตาข่ายไปแล้ว

บางครั้งสนามฟุตบอลก็เป็นเวทีอย่างดีสำหรับการศึกษาธรรมชาติของกลุ่มคนหรือยุทธศาสตร์ขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 13 บราซิลกับอังกฤษเป็นตัวแทนของยุทธศาสตร์ที่ตรงข้ามกัน บราซิลซึ่งมีเปเล่และแจร์ซินโฮเป็นทัพหน้า เน้นการรุก ขณะที่อังกฤษโดยการนำของบ๊อบบี้ มัวร์ได้ชื่อว่ามีกองหลังที่เข้มแข็งที่สุดในโลก บราซิลไม่ค่อยสนใจประตูที่เสียไป แต่มุ่งยิงประตูให้ได้มากที่สุด ส่วนอังกฤษเน้นการตั้งรับเพราะต้องการเสียประตูให้น้อยที่สุด

จะว่าไปการทำงานขององค์กรส่วนใหญ่ก็อยู่ในลักษณะดังกล่าว หลายองค์กรมองไปที่ความสำเร็จ ขณะที่บางองค์กรพะวงกับความล้มเหลว องค์กรประเภทแรกคิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ ส่วนองค์กรประเภทหลังคิดแต่จะปกป้องไม่ให้เกิดความล้มเหลว องค์กรประเภทแรกจะใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อขยายผลสำเร็จ โดยไม่ห่วงว่าจะสูญเสียอะไรไปบ้าง และเปิดโอกาสให้มีการทดลองวิธีใหม่ ๆ ขณะที่องค์กรประเภทหลังจะพยายามลดความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นจึงไม่ค่อยกล้าเสี่ยงและพยายามปิดช่องที่จะเกิดความผิดพลาด องค์กรประเภทแรกจึงเหมือนบราซิลที่กล้าได้กล้าเสีย ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัว ถือคติว่าถูกยิงเท่าไรไม่ว่า แต่ขอให้ยิงได้มากกว่าที่เสียไป ขณะที่องค์กรประเภทหลังไม่ต่างจากอังกฤษที่เน้นความสุขุมรอบคอบ และดังนั้นจึงไม่ชอบให้ใครแหวกแนว แต่นิยมคนที่อยู่ในแบบแผนหรือรักษาวินัย ถือคติว่ารักษาประตูไว้ก่อนแล้วค่อยหาทางยิงประตูทีหลัง

แม้บราซิลจะชนะอังกฤษเมื่อโคจรมาพบกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความเสมอไปว่ายุทธศาสตร์รุกจะเหนือกว่ายุทธศาสตร์รับเสมอไป แต่การศึกษาชั้นเชิงของทั้งสองทีมในแง่นี้ก็อาจช่วยให้เราเข้าใจองค์กรหรือผู้นำที่มีวิธีการทำงานต่างกัน เช่น เข้าใจว่าทำไมผู้นำบางคน(ในองค์กรหรือในบ้านเมืองเรา) ไม่ค่อยชอบริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะเขามองเห็นแต่ปัญหาหรือโอกาสที่จะล้มเหลว ขณะที่บางคนพร้อมจะแหวกกรอบเดิมเพราะมองเห็นโอกาสที่จะสำเร็จ

ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือโยงฟุตบอลให้มาสัมพันธ์กับชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีทีมใดที่ชนะตลอดกาล ความพ่ายแพ้เป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลและเกมกีฬา ชีวิตของเราก็เช่นกัน ไม่มีวันสมหวังหรือสำเร็จไปได้ตลอด ย่อมมีวันที่ต้องประสบกับความล้มเหลวบ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่เราล้มเหลวหรือทุกข์ระทมก็ขอให้ตระหนักว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คิดเช่นนี้แล้วก็ปล่อยให้เป็นอดีตไป แล้วเริ่มต้นกันใหม่

ในทำนองเดียวกัน ดูฟุตบอลแต่ละนัดก็ขอให้ตระหนักว่าแพ้ชนะเป็นส่วนหนึ่งของเกมกีฬา เพราะฉะนั้นถ้าหากทีมโปรดของเราแพ้ ก็อย่าเศร้าโศกเสียใจมาก ถึงจะเล่นกีฬาไม่เป็น เราก็ยังมีสิทธิเป็นนักกีฬาได้ เพราะนักกีฬาแท้จริงนั้นอยู่ที่หัวใจ คือรู้จักแพ้รู้จักชนะ ไม่ใช่คิดแต่จะชนะตะบัน จนไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

ถ้าดูฟุตบอลอย่างคนใฝ่รู้ชีวิต หรือมีนำใจนักกีฬาแล้ว เราจะดูฟุตบอลโลกได้อย่างสนุกโดยไม่คลุ้มคลั่งหรือหมดเนื้อหมดตัวไปกับความพ่ายแพ้ อย่าลืมว่าถึงบราซิลจะตกรอบ อังกฤษจะแพ้ เยอรมันจะชนะ นั่นเป็นธรรมดาของเกมกีฬา ข้อสำคัญเราอย่าแพ้ใจตัวเองก็แล้วกัน

ส่วนหนึ่งของบทความ ลุ้นบอลโลกอย่างไรไม่ให้แพ้ โดย พระไพศาล วิสาโล