เคยมีผู้ถาม อ.พุทธทาสว่า คนที่มาสวนโมกข์ไชยา ทั้งชาวไทยชาวต่างชาติ ส่วนมากเขามาทำไมกัน
ท่านตอบว่า
"(คนไทย)ส่วนใหญ่มาเพื่อทำบุญ ไม่ได้มาหาความรู้ ไม่ใช่มาเพื่อศึกษา มาเพื่อทำบุญ เช่นมาเลี้ยงพระ เป็นต้น ก็พอใจแล้วก็กลับไป อย่างนี้มากกว่าอย่างอื่น แต่ถ้าจะมาศึกษาก็ได้ ช่วยเหลือตามที่จะทำได้ เขารู้สิ่งที่เขาควรจะรู้ ตามที่เราสังเกตเห็นก็พูดธรรมะกัน เหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นส่วนน้อย สู้ชาวต่างประเทศไม่ได้ ชาวต่างประเทศมาจากที่ไกล ลงทุนมากเสียอะไรมาก ต้องการธรรมะโดยตรง แต่ประชาชนคนไทยที่อยู่ใกล้ๆนี้ เขาต้องการบุญกุศลมากกว่าที่จะรู้ รู้ธรรมะ ต่างกันอยู่อย่างนี้"
อ้างอิง http://sound.bia.or.th/catalogue.php?item_code=6525330822000
ท่านได้กล่าวว่า พุทธศาสนิกชนควรเลื่อนชั้น คือ มีความเข้าใจในพุทธศาสนามากขึ้น ไม่ใช่มีแต่พิธีกรรมหรือบริจาคทำบุญบำรุงศาสนากันอย่างเดียว
" เดี๋ยวนี้ทายกทายิกาทั้งหลายไม่ค่อยจะเลื่อนชั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ เพราะเข้าใจเสียว่าทำไปก็แล้วกัน สักว่าทำเท่านั้นไม่ต้องรู้ว่าทำทำไม ขอแต่ให้ได้ทำตามๆกันไปก็แล้วกัน นี่แหละเป็นเหตุให้งมงาย
ถ้าจะเปรียบก็เปรียบเหมือนกับว่าทายกทายิกาทั้งหลายเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน ฟังดูให้ดีๆ อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ว่าทายกทายิกาทั้งหลายทำบุญทำทานเหมือนกับเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน
นี้เป็นคำเปรียบ หมายความว่ามีคนๆ หนึ่งอุตส่าห์เลี้ยงไก่ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยหมดเปลือง พอไก่ไข่ออกมาหารู้ไม่ว่านั่นเป็นไข่ไก่และเป็นของดี ก็หาได้สนใจไม่ สนใจแต่จะเลี้ยงไก่ท่าเดียว ไก่จะไข่มาเท่าไรก็ไม่สนใจ ปล่อยทิ้งเรี่ยราด สุนัขมันก็กิน ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเลี้ยงทำไม ก็คงเลี้ยงอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต นี่เรียกว่าเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน
ศาสนานี่แหละเปรียบเหมือนกับไก่ ไก่เปรียบเหมือนกับศาสนา เราบำรุงศาสนาก็เหมือนกับเลี้ยงไก่ เราทำบุญให้ทาน บริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ เรี่ยวแรง เวลา บริจาคออกไปก็เหมือนกับเลี้ยงไก่ คือ บำรุงศาสนา บำรุงศาสนาเอาไว้แล้ว ถึงคราวที่จะได้รับประโยชน์จากศาสนาเป็นความรู้ที่ถูกต้องนี้เราไม่สนใจ
เราสนใจแต่จะทำบุญบำรุงศาสนาท่าเดียว ไม่ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลย นี่ก็เรียกว่าพอไก่ไข่ออกมาก็ไม่รู้จักและไม่สนใจก็ปล่อยให้สุนัขกิน สุนัขในที่นี้หมายถึงคนที่เขาไม่ได้เลี้ยง เขาไม่ได้เหน็ดเหนื่อย เขาไม่ได้ลำบากอะไรเลย เขายังได้รับประโยชน์อันนี้
อย่างเวลานี้จะเห็นได้ง่ายๆ ว่ามีชาวต่างประเทศ คนต่างประเทศกลับได้รับเนื้อแท้หรือความรู้แท้จริงของพุทธศาสนา ทั้งที่เขาไม่ได้เลี้ยงรักษาบำรุงหมดเปลืองเหมือนพวกเรา
พวกเราดีแต่เลี้ยงแต่รักษาให้ไก่ไข่ออกมาแล้วก็ไม่สนใจ แต่แล้วก็มีคนที่เขารู้จักและเขาสนใจได้รับประโยชน์อันนั้นโดยที่เขาไม่ต้องเลี้ยง ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องลำบากเลย ถ้าสมมติว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้จริงก็น่าเวทนา น่าสงสาร น่าเศร้าใจ
หวังว่าทายกทายิกาทั้งหลายจะได้ระมัดระวังให้ดี อย่าได้โง่เขลางมงายไปในลักษณะนี้ คือในลักษณะที่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกินนั่นเอง จงรู้จักว่าอะไรเป็นไข่ไก่ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
อ้างอิง http://sound.bia.or.th/catalogue.php?item_code=1945101126000
12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ เปลี่ยนพิธีกรรมไปสู่พิธีธรรม
ความพยายามในการการเติม "ไข่" หรือตัวเนื้อแท้พุทธศาสนาลงไปในทุกกิจกรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
ตัวอย่างเช่น กิจกรรม "ธรรมะในสวน ตักบาตรเดือนเกิด" ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกที่เราจัดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสวนโมกข์กรุงเทพ ในกิจกรรมนี้เราลดทอนรูปแบบให้เรียบง่าย เข้าร่วมง่าย ให้เวลากับเนื้อหาสาระแก่นธรรมให้มากที่สุด กิจกรรมนี้มีความพิเศษ ที่แตกต่างจากที่ทำกันในที่อื่นๆ คือ เป็นการตักบาตรสาธิตแบบสมัยพุทธกาล และผู้ร่วมกิจกรรมไม่ใช่เพียงแค่มาใส่บาตร ถวายอาหาร กราบพระและกลับบ้านเท่านั้น แต่ผู้มาเข้าร่วมจะได้ฟังธรรมของ อ.พุทธทาส ที่คัดสรรมาในแต่ละครั้ง ได้สวดมนต์แปลไทยเพื่อจะได้เรียนรู้ความหมายของบทสวดนั้นๆ แทนที่จะสวดเฉพาะบาลีโดยไม่เข้าใจเนื้อหา
ได้มีโอกาสเจริญสติ ทำสมาธิสั้นๆ เพื่อชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส ได้ฟังปรารภธรรมจากครูบาอาจารย์หลากหลาย ในเรื่องที่เหมาะกับโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในพุทธศาสนามากขึ้น
นี่คือสิ่งที่สวนโมกข์กรุงเทพตั้งใจทำมาตลอด 12 ปี โดยหวังว่าจะช่วยให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าใจเนื้อแท้ของพุทธศาสนาให้มากขึ้น และได้ประโยชน์มากขึ้น สมกับที่ทุกท่านได้ร่วมกันทะนุบำรุงพระศาสนา
"อย่าบ้าบุญนักเลย เอาความรู้ไปดับทุกข์บ้าง" - พุทธทาสภิกขุ