การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวงและมีความหมายกว้างกว่าที่เราทราบ

Share

พุทธทาส,

การให้มี 3 แบบ

วัตถุทานคือให้วัตถุปัจจัย กระทั่งถึงอวัยวะนี้เป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น อภัยทานนั้นคือให้ความไม่มีภัยมีเวร ไม่ใช่วัตถุ ธรรมทานหมายถึงแสงสว่างทางจิตใจ อาศัยในพุทธภาษิตที่ว่า สัพพทานัง ธัมทานัง ชินาติ การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง หมายความว่าจะเป็นการให้ทานชนิดไหนก็ตาม ในสามอย่างนี้ การให้ธรรมะเป็นทานเหนือกว่าทั้งนั้น

ธรรมทานแปลว่าให้ธรรมทาน ทีนี้คำว่าธรรมะในที่นี้มันมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน มีหลายชั้น มีหลายระดับ แต่รวมความแล้วต้องเป็นแสงสว่างในทางจิตใจด้วยกันทั้งนั้น จึงจะเรียกว่าธรรมทาน อาจจะแบ่งได้อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง ตามลักษณะของธรรมะที่ให้ไป

เพื่อความหมดจดสิ้นเชิงเกี่ยวกับเรื่องธรรมทานนี้ เราควรจะแยกให้เป็นหัวข้อ คือธรรมทานโดยตรงอย่างหนึ่ง ธรรมทานโดยพื้นฐานอย่างหนึ่ง ธรรมทานโดยอ้อมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันต่างกันแหละแต่ก็เกี่ยวข้องกัน

1. ธรรมทานโดยตรง 2 วิธี

ธรรมทานโดยตรงก็คือการให้ทานธรรมในลักษณะที่เป็นการเผยแผ่ธรรมหรือเผยแผ่พระพุทธศาสนา นี่เรียกว่าเป็นธรรมทานโดยตรงอย่างยิ่งตามความหมายของคำๆ นี้ แต่มันยังแบ่งได้เป็นว่า การเผยแผ่ศาสนาทั่วๆ ไป การเผยแผ่ศาสนานี้มันอย่างหนึ่งและอีกอย่างหนึ่งเป็นการให้แสงสว่างทางวิญญาณเฉพาะบุคคล ซึ่งจะรวมกันไม่ได้ เพราะว่าคนเรามันต่างกัน จะมาที่ปัญหาเฉพาะตัวมันก็ทำไม่ได้ มารวมๆ กันมันทำไม่ได้ก็เลยต้องทำเฉพาะบุคคลนั้น เป็นการพบ เป็นการให้แสงสว่างเฉพาะบุคคลนั้น

ทีนี้เราดูกันถึงตัวธรรมรวมๆ กันไปลักษณะจะเป็นทางพุทธศาสนานั้น ก็มีวิธีที่ทำได้มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสั่งสอน อย่างวิทยุอะไรทำนองนี้ การเผยแผ่ก็ทำได้โดยการเดินไปเพื่อสั่งสอนแยกกันไปคนละทิศคนละทาง อย่างพระพุทธเจ้าท่านทำ เมื่อมีพระสาวกที่บรรลุธรรมแล้ว 60 รูป ท่านก็ส่งไป ให้ไปกันคนละทางเพื่อไปประกาศแสงสว่างอันใหม่นี้ นี่เรียกว่าช่วยเทศน์สั่งสอน มาถึงสมัยนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะว่ามันมีเครื่องมือ มีกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือ การพิมพ์หนังสือเพื่อการที่ไม่ต้องไปโดยตัว ซึ่งทำได้มากกว่า กว้างขวางกว่า ในฐานะที่ทำในสิ่งที่ว่าการเผยแผ่ศาสนารวมๆ กันไป เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือวิเศษ เช่นวิทยุเป็นต้นซึ่งอาจจะใช้ได้ผลดีและรวดเร็วกว่า แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ใช้กันเพื่อการเผยแผ่ธรรมทาน กลับไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมข้าศึกของธรรมะเสียอีก มันก็เลยเกิดเป็นปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นทั้งโลก

เรื่องเผยแผ่ธรรมะด้วยการเทศน์หรือการพูดจานี่มันเป็นการกระทำที่เรียกว่า พล่าพล่าแล้วก็ยังไม่ดีถึงที่สุดเท่ากับการทำให้ดู การแสดงให้ดูด้วยการกระทำอยู่เป็นหลักเป็นประจักษ์อยู่ที่เนื้อที่ตัวของบุคคลนั้น คือการประพฤติทำให้ดูอยู่เป็นประจำนั้นมันเป็นการให้ธรรมทานที่ดีกว่าและเข้าใจได้ง่ายกว่า

ในสมัยพุทธกาลก็มีปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่า คนเขาชอบการกระทำให้ดูจริงๆ มากกว่าการพูดด้วยปาก ท่านพระพุทธเจ้าและสาวกท่านประพฤติปฏิบัติอยู่กันแบบฉบับคนเห็น เลื่อมใส สนใจ ทนอยู่ไม่ได้ต้องไปซักถาม นี่เป็นเครื่องรับประกันในส่วนที่ว่า ไม่เพียงแต่พูด มันเป็นเรื่องที่ทำได้ และที่ทำได้นั่นแหละมันแสดงผลให้ปรากฏ เพราะฉะนั้นเราจึงได้อ่านพวกข้อความเช่นว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเมื่อยังไม่เข้ามาบวชในศาสนานี้ยังเป็นปริทายกลัทธิอื่นอยู่ เกิดมาสนใจในศาสนานี้เพราะเขาได้เห็นพระอัสสชิ มี เขาใช้คำรวมๆ ว่า อินทรีย์ น่าเลื่อมใส

คำว่า อินทรีย์ นี้มันบอกและหมายถึงอะไร มันหมายถึงทั้งหมด กิริยาท่าทาง หน้าตา แววตา อารมณ์ อะไรที่มันแสดงออกมาที่หน้าที่ตา แสดงว่าคนนี้เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนสะอาด เป็นคนบริสุทธิ์ เป็นคนมีความสุข เป็นคนไม่มีปัญหา เกี่ยวกับการเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นท่าทาง หน้าตาหรือ บุคลิกลักษณะอย่างนั้นก็เลยติดตามไปจนมีโอกาสเห็นขึ้นมา และคำทักกันที่คนส่วนใหญ่ ทักกันในเรื่องอินทรีย์ผ่องใสหรืออินทรีย์ไม่ผ่องใส นี่ก็เป็นผลของการปฏิบัติธรรมที่แสดง ที่เนื้อที่ตัว ไม่ได้พูดด้วยปาก คนจะสนใจมาก ไว้ใจมาก ปฏิบัติตาม

หมายความว่าให้ธรรมทานนั้นมันก็ต้องแยกเป็นสองอย่าง อย่างนี้ที่พูดให้ฟัง หรือเขียนให้อ่าน หรืออะไรก็ตามมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่สองก็คือว่าแสดงให้ดู ที่เนื้อที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่จิตใจ โดยไม่ต้องพูดก็ได้ หรือว่าจะพูดด้วยก็ได้ อย่างนี้เราเรียกว่า ธรรมทานโดยตรง ในประเภทให้ทานธรรมทั่วๆ ไปในลักษณะที่เป็นการเผยแผ่ศาสนา

ทีนี้จะมาถึงชนิดที่ทำเฉพาะคนคือให้แสงสว่างทางวิญญาณเฉพาะคน แสงสว่างทางวิญญาณก็คือธรรมะนั่นเอง เป็นเรื่องที่ต้องทำเฉพาะคน พูดจากับคนมาซักไซร้ แก้ปัญหาเฉพาะอะไรเฉพาะคนไป เป็นเรื่องที่เนื่องด้วยความสามารถของบุคคลที่จะทำ เป็นพิเศษเป็นรายๆ ไป ไม่เหมือนกัน พูดสรุปสั้นๆ ก็คือว่า การทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งบรรลุธรรมะ ถึงขนาดที่ว่าบรรลุธรรมะ หมายความว่าอย่างน้อยก็บรรลุธรรมะขั้นต้นคือพระโสดาบัน หมายความว่ามีดวงตาเห็นธรรมถึงขนาดที่จะกลับเข้าไปผิดอีกไม่ได้ไม่มีการถอยหลัง เรียกว่าให้แสงสว่างทางวิญญาณเฉพาะตัว จะต้องมีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมเพียงพอก่อนจึงจะทำได้

เมื่อพูดถึงตอนนี้ก็อยากจะพูดถึงคำว่า มหรสพทางวิญญาณด้วยสักนิดนึง คือว่าการเผยแผ่ธรรมะ สั่งสอนธรรมะ เรียนธรรมะนั่นมันมีทั้งอย่างชนิดที่ว่าพูดง่ายๆว่า สนุก กับ ไม่สนุก ที่ว่าสนุก บางคนอาจจะเข้าใจ เห็นว่าเป็นเรื่องเล่น เล่นสนุก เพราะที่จริงก็มีในพระบาลี มีหลักในพระบาลี ฃทำนองนี้ ว่าต้องทำให้ผู้รับธรรมทานนั้นมีความกล้าหาญ มีความร่าเริง มีความบันเทิงด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ใช่วิธีที่พระพุทธเจ้าใช้ พูดได้ว่าไม่เป็นวิธีที่นิยมกันในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านทรงทำอย่างนั้น ท่านทรงแนะนำอย่างนั้น ว่าให้ประกาศธรรมนี่ให้ไพเราะเบื้องต้นท่ามกลางเบื้องปลาย ให้มีความไพเราะ ให้ผู้ฟังมีความอาจหาญ กล้าหาญ ที่จะเชื่อที่จะเข้าใจ และมีความร่าเริง พอใจ ใช้คำว่าอตตนา ผู้ฟังจะมีลักษณะเป็นอตตนา หรือพอใจอย่างยิ่ง รู้สึกสนุกสนานร่าเริง บันเทิงอย่างยิ่ง ลักษณะของการบันเทิงนี่ผมก็เรียกว่ามหรสพ

ถ้าตาม มหรสพก็แปลว่าเรื่องบันเทิง นี่เป็นเรื่องทางจิตใจแต่ใช้คำว่าทางวิญญาณ มหรสพทางวิญญาณ โดยเฉพาะที่นี่ เราอยากจะให้มีการเผยแผ่ธรรมะที่มีความบันเทิงปนกันไปในตัวด้วย ที่ได้จัดสถานที่ จัดอุปกรณ์อะไรต่างๆ ได้พยายามทำอยู่นี่ก็เพื่อให้มันมีความบันเทิงพร้อมกันไปกับการเข้าใจธรรมะนั้น หรือเรียนรู้ในธรรมะนั้น

ทำไมธรรมทานถึงเป็นทานสูงสุด

ทีนี้เราจะพูดกันถึงข้อที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า ให้ธรรมทานนี่ชนะทานทั้งปวง ข้อนี้ เป็นเพราะว่าถ้าหากว่าการให้ธรรมทานนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องถึงที่สุดตามความมุ่งหมายในพระพุทธศาสนาแล้ว มันไม่เพียงแต่เป็นแสงสว่างอย่างเดียว มันเป็นอมฤตธรรมหรืออมตธรรม ก็เลยเรียกว่าให้อมฤตธรรมเป็นทาน ให้นิพพานเป็นทาน นี่มันสูงสุดอยู่ที่ตรงนี้

ให้บุคคลพ้นความเกิด ความตาย นี่เรียกว่าอมฤตธรรม ถ้าบรรลุธรรมะนี้แล้วความรู้สึกในใจของบุคคลนั้นจะไม่เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นความทุกข์หรือปัญหาเกี่ยวกับความเกิดความตายอีกต่อไป อย่างนี้เราเรียกว่าอมฤตธรรม

ทีนี้พูดถึงผลในลักษณะที่เหมือนกับการโฆษณาที่ดีเรียกว่า นิพพาน ให้นิพพานเป็นทาน นิพพานแปลว่าความเย็น หมดแห่งความร้อน ดับไม่เหลือแห่งความร้อน ทางตัวหนังสือเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเป็นความเย็นทางวิญญาณ ไม่ใช่เย็นทางวัตถุ เหมือนเอาน้ำมาอาบ เย็นทางวิญญาณไม่มีไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ ถึงจะเป็นความเย็นสูงสุด ให้ความเย็นเป็นทานได้แล้วก็เรียกว่า เป็นการถึงที่สุดของการให้ธรรมทาน นี่วัดกันดูผลสุดท้ายว่าเป็นการให้ อมฤตธรรมหรือว่าให้ นิพพานเป็นทาน ธรรมทานทุกๆ อย่าง ทุกๆ ชนิด ทุกแขนงก็ตาม มุ่งหมายปลายทางอย่างนี้ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ถึงปลายทางก็ต้องมุ่งหมายอย่างนี้ คือมุ่งหมายจะให้เขาได้รับอมฤตธรรมหรือนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นการชนะทานทั้งปวง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสและเราก็เห็นด้วย ทีนี้ก็มีผู้พยายามทำกันอย่างสุดความสามารถทั่วๆ ไป เพราะมองเห็นประโยชน์หรือคุณค่าของอมฤตธรรมหรือนิพพานนั่นเอง แบบนี้เรียกว่า พูดกันถึงธรรมทานโดยตรง

2. ธรรมทานโดยหลักพื้นฐาน

ทีนี้ประเภทถัดไปก็เป็นธรรมทานโดยหลักพื้นฐาน ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น ให้ความรู้ที่เรียกว่า หนังสือหนังหาในโรงเรียนอย่างที่ให้กันอยู่นี้ สูงขึ้นไปก็ให้ความรู้ในขั้นศิลปศาสตร์ ศิลปศาสตร์ก็เป็นอะไรที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า เทคโนโลยี คือความรู้ที่สำเร็จประโยชน์ในทุกแขนงที่มนุษย์ต้องการ ในทางที่มันลึกซึ้งหรือละเอียดสมบูรณ์ ที่เรียกว่าเป็นธรรมทานโดยหลักพื้นฐานยิ่งสมัยนี้ยิ่งจำเป็น คนต้องรู้หนังสือก่อน มันจึงจะสะดวกสำหรับการที่จะทำอะไรต่อไปเพื่อให้รู้ธรรมะ ที่ว่าหนังสือในที่นี้หมายถึงระบบที่ทำให้เด็กๆ มีความรู้ มีความฉลาดขั้นพื้นฐาน

รู้หนังสือก็หมายถึงความฉลาดขั้นพื้นฐาน ทีนี้เรื่องศิลปะศาสตร์นั้นมันจำเป็นขั้นหนึ่งว่าคนเรามันอยู่ได้ด้วยการประกอบอาชีพ มันก็เลยต้องมีความรู้ศิลปะอันใดอันหนึ่ง ซึ่งทำให้การเป็นอยู่และอาชีพนั้นสำเร็จไปได้ ก็ถือว่าเป็นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีอะไรจะกิน ซึ่งมีชีวิตอยู่แล้วมันก็จะมีโอกาสที่จะศึกษาธรรมะ รู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะต่อไปได้โดยสะดวก ถ้าพูดอย่างเอาเปรียบก็จะพูดว่า ตลอดเวลาที่เด็กๆ เขาเรียนหนังสือ เรียนศิลปศาสตร์อะไรเหล่านี้มันก็สอนธรรมะอยู่ในตัว สอนความผิดความถูก ความสุขความทุกข์อยู่ในตัว ที่เรียกว่ามีประสบการณ์มาก

ทีนี้พออายุมันมากเข้าพอตอนท้ายนั้นมันก็เข้าใจธรรมะได้ง่าย เพราะมีความฉลาดประสบการณ์ในเบื้องต้นมากหรือพอสมควร ถ้าไม่มีพื้นฐานเหล่านี้มันก็ยากเหมือนกันที่จะรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะทุกอย่างมันกำหนดอยู่ที่จิตใจที่มีความรู้สึกในสิ่งที่ตนได้ผ่านมาแล้วจริงๆ กันเสียก่อนทั้งนั้น เขาเรียกกันรวมๆ ว่า Spiritual Experience คือประสบการณ์ที่ได้ผ่านมามากในทางฝ่ายวิญญาณ ถ้ายิ่งมีมากคนนั้นยิ่งเข้าใจธรรมะได้ง่าย นี่เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะรับธรรมทานต่อไป

ทีนี้เราจะดูกันต่อไปอีกนิดหนึ่ง ก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การจัดหรือเตรียมบุคคล หรือคณะบุคคลไว้โดยเฉพาะเพื่อการเผยแผ่ธรรมะ ตัวอย่างเช่น ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมา ถ้ามันเป็นไปตามความมุ่งหมายที่ถูกต้อง มันก็เป็นการตระเตรียมบุคคลหรือคณะบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้เผยแผ่ธรรมะต่อไปในอนาคต ถ้าเขาดำเนินไปตามความมุ่งหมายนี่จริง นั่นก็เป็นธรรมทานพื้นฐาน ธรรมทานในหลักพื้นฐานที่เป็นเบื้องต้น ก็เป็นในเรื่องธรรมทานด้วยเหมือนกัน

ทีนี้เราก็ควรจะดูกันให้ดีๆ ที่จะช่วยกันให้สำเร็จประโยชน์ในเรื่องนี้ อย่างตั้งโรงเรียนสอนหนังสืออย่างนี้ที่จริงมันก็เป็นธรรมทานอยู่ในตัว แต่ว่าคนที่ตั้งโรงเรียนมักจะไม่เคยนึกว่ามันเป็นธรรมทาน เพราะนึกเป็นการค้าหรือการหาประโยชน์ไปเสียอย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้าหากทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจมันก็เป็นการกุศลอยู่ในตัว อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นอาชีพที่ได้บุญ อาจจะไม่มีคนเห็นด้วยก็ได้แต่ผมเห็นอย่างนั้น ผมก็เลยพูดไปอย่างนี้ แม้แต่การเปิดร้านขายหนังสือที่ดีที่มีประโยชน์โดยเฉพาะหนังสือทางธรรมะนี่มันก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ได้บุญ เพราะว่าครั้งหนึ่งเราเคยประสบความลำบากมากในการที่จะสั่งหนังสือเองโดยตรงจากต่างประเทศ เมื่อมีร้านหนังสือพวกนี้ขึ้นมาก็สบาย สะดวก ถ้าหาไม่เจอ สั่งก็ได้ ไปเลือกเอาก็ได้ มันสะดวกอย่างนี้

สำหรับผู้ที่จะทำงานในด้านนี้ ก็ถือว่าเขามีส่วนที่ได้บุญในฐานะช่วยธรรมทาน ฟังดูมันก็น่าหัวเราะ เปิดร้านขายหนังสือก็เป็นธรรมทาน ทีนี้เขาไม่คิดกันอย่างนั้น คิดกันแต่เรื่องการค้ากันล้วนๆ ไม่ได้คิดกันอย่างนี้ ไม่ได้คิดถึงครูบาอาจารย์ แม้แต่ร้านขายหนังสือก็เป็นผู้บำเพ็ญธรรมทาน ส่วนครูบาอาจารย์ การจัดโรงเรียนก็เป็นธรรมทานหมด โดยหลักพื้นฐานซึ่งจะขาดไม่ได้เพราะว่าอะไรๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีพื้นฐานมันอยู่ไม่ได้ อย่างเรานี่ ถ้าไม่มีแผ่นดินรับจะนั่งกันอยู่ยังไง มีความจำเป็นขนาดนี้

3. ธรรมทานโดยอ้อม

ทีนี้ประเภทที่ถัดไปคือ ธรรมทานโดยอ้อม ขอให้ดูดีๆ ถ้าดูไม่ดีจะมองเป็นวัตถุทานไปก็ได้

ธรรมทานโดยอ้อมนั้นหมายถึงเราสามารถทำวัตถุทานให้กลายเป็นธรรมทาน เพราะว่าการกระทำประเภทนี้มันเกี่ยวกับวัตถุ ที่มันใช้วัตถุเป็นหลัก ลองพิจารณาดู เช่น เราช่วยกันสร้างสถานที่ เหมือนที่เรากำลังทำกันอยู่ที่นี่หรือที่อื่น ช่วยสร้างสถานที่ให้เป็นวัตถุ แต่ว่าด้วยความมุ่งหมายว่าจะใช้เป็นสถานที่สำหรับเผยแผ่ธรรม ก็ต้องตั้งสมาคม ตั้งอะไรก็ตามขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการเผยแผ่ธรรม ทีนี้วัตถุที่บริจาคออกไปนั้นมันก็กลายเป็นธรรมทานโดยสงเคราะห์ในเรื่องธรรมทาน ถ้ากิจการนั้นมันดำเนินไปจนถึงความมุ่งหมาย เช่น สร้างศาลาสำหรับให้ฟังธรรมแล้วเอาไว้ให้สุนัขนอน อย่างนี้มันก็ไม่ได้

ศาลาที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงธรรมมันก็ต้องหมายความว่าต้องทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมตามความมุ่งหมายได้สำเร็จ ถึงแม้มันเป็นเพียงอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ไม้สอย เป็นวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอย จัดว่าเป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่ธรรม การจัด การทำ การให้วัตถุเหล่านี้ก็กลายเป็นธรรมทานไป สงเคราะห์นับเนื่องเป็นธรรมทานไป แม้แต่ว่าให้ความช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ ให้ความสะดวกในการที่จะให้ทานธรรม ก็สงเคราะห์เป็นธรรมทานไปหมด

มรรคทายกทายิกาก็มีส่วนที่จะให้ทานธรรมได้ โดยที่ไม่ต้องขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์เทศน์เอง หรือไม่ต้องเขียนหนังสือเผยแผ่เอง มรรคทายกทายิกาเหล่านั้นเขาให้ความสะดวก เขาช่วยเหลือที่จะให้การเผยแผ่ธรรมทานเป็นไปได้ ที่เห็นอยู่ง่ายๆ ก็คือการให้วัตถุจตุปัจจัยทั้งสี่แก่ภิกษุผู้สืบอายุพระศาสนา วัตถุปัจจัยทั้งสี่คือ จีวร เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แล้วก็ที่อยู่อาศัย ให้ยาแก้โรค อันนี้เป็นวัตถุทั้งนั้น เพราะถ้าก็ให้ไปในลักษณะที่สนับสนุนผู้ที่เผยแผ่ธรรมทานมันก็พลอยถูกสงเคราะห์เป็นธรรมทานไปด้วยโดยอ้อม นี่ใช้คำว่าโดยอ้อม

ทีนี้เราก็มองกันต่อไปอีกถึงข้อที่ว่า ธรรมทาน อย่างพื้นฐานอย่างที่ว่ามาแล้วก็มีอยู่ ทีนี้การช่วยเหลือนักเรียน เด็กๆ เล็กๆ ที่มันขาดแคลนเสื้อผ้า อาหาร ให้มันได้มีอุปกรณ์เหล่านี้เรียนหนังสือสำเร็จในโรงเรียนมันก็กลายเป็นธรรมทานโดยอ้อม ไม่ควรถือว่าเป็นวัตถุทาน ถ้าเราให้เสื้อผ้า ข้าวปลาอาหารตามธรรมดาสามัญก็เป็นวัตถุทาน แต่ถ้าเพื่อสำเร็จประโยชน์ในการศึกษาในทางสว่างไสวทางวิญญาณจิตใจนี้แล้วมันก็กลายเป็นธรรมทาน ฉะนั้นผู้ที่ช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลนเป็นต้นนี้ควรจะนึกว่าเรากำลังให้ธรรมทาน ในฐานะที่สูงกว่าทานทั้งปวงกว่าทานอย่างอื่น ทั้งหมดอยู่ที่ความเข้าใจถูกต้องและมองเห็นว่ามันจะเป็นทานอะไรชนิดไหนขึ้นมา

ก็ขอให้นึกดูให้ดีว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมทานนั้น มันมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงแต่เราไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยจะสังเกต ไม่ใช่ว่าจะเป็นการนั่งบนธรรมาสน์แล้วพูดไป หรือพิมพ์หนังสือธรรมะแจกไป มันมีอย่างอื่นอีกมากแค่มองดูดีๆ สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องให้ความสะดวก หรือการช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งมันกลายเป็นธรรมทานไปหมดได้ไปหมดนี้

ทีนี้ก็วกมาพูดสถานที่นี้อีกชนิดหนึ่ง ว่าการที่จัดสถานที่นี้ในลักษณะเช่นนี้เพียงเท่านี้ก็เป็นธรรมทาน เขาจะรับได้หรือไม่ได้มันเป็นเรื่องของเขา แต่ว่าการจัดของเรามันลักษณะเป็นธรรมทาน การจัดพื้นดิน ต้นไม้ ก้อนหิน สิ่งต่างๆ ที่จัดอยู่ที่นี่อย่างนี้เพื่อเป็นธรรมทาน ชนิดสูงสุดเพื่อส่งเสริมความสว่างไสวทางวิญญาณ ตัวอย่างง่ายๆ ที่พูดถึงอยู่เสมอก็เช่นว่า ถ้าเขาเข้ามาในสถานที่นี้แล้วรู้สึกสบายใจเป็นสุข เขาก็หายเมื่อไประลึกถึงว่า ไอ้ความสุขนี่มันได้จากธรรมชาติอย่างนี้มากกว่าที่จะได้จากในโรงหนังโรงละคร อย่างนี้มันควรจะเป็นธรรมทาน

ทีนี้บางคนมันฉลาด มากไปกว่านั้น มันพูดว่า อ้าว, ไอ้ความสุขที่บอกไม่ถูกนี่ มันเกิดต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรหรือเป็นอะไร เราลืมไปกระทั่งว่าเรามีชีวิตอยู่ เราไม่ได้นึกถึง ไม่ได้เป็นอะไรมากถึงขนาดนี้ เวลาอย่างนั้นเรามีความสุขที่สุด บอกไม่ถูก บรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ นี่มันก็เป็นธรรมทาน เพราะว่าเราหายโง่อย่างลึกซึ้งหรือว่าฉลาดอย่างลึกซึ้ง ทีนี้เคยเห็นข้อเท็จจริงที่ว่าไอ้เรื่องธรรมทานนี่มีได้ทั่วทุกหัวระแหงในลักษณะต่างๆ กันอย่างนี้

ก็ขอให้ทบทวนดูดีๆ เรื่องทาน 3 ประเภท เรื่องผู้รับ คือต้องมีผู้รับ แล้วก็วัตถุทานอย่างหนึ่ง อภัยทานอย่างหนึ่ง ธรรมทานอย่างหนึ่ง ทั้งสามอย่างนั้นธรรมทานชนะทานทั้งปวง

เรียบเรียงจาก ทบทวนธรรมบรรยายภิกษุ ปี 2513 ครั้งที่ 4 เรื่อง ธรรมทาน

ฟังทั้งหมดได้ที่ ฐานข้อมูลเสียงบรรยายธรรม http://sound.bia.or.th/catalogue.php?item_code=2165130812040