How to บริหารธุรกิจแบบพุทธ

Share

การเมือง สังคม เศรษฐกิจ, พุทธทาส,

หลักการของพุทธคือไม่มีความทุกข์ในทุกขั้นตอน

     ท่านทั้งหลายขอร้องให้บรรยายเรื่องการบริหารธุรกิจแบบพุทธ แปลว่าชาวพุทธหรือพุทธศาสนามีธุรกิจแบบอื่นซึ่งไม่เหมือนกับที่ท่านมี คือ จะมีสูงกว่ากันมากก็ได้ คือ มุ่งไปในทางจิตทางวิญญาณ ดังนั้นท่านทั้งหลายจะต้องปรับปรุงหรือว่าคัดเลือกเอาเอง ในเมื่อบรรยายไปตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา เราอยากจะมีแบบพุทธก็ถูกเพราะมันมีได้หลายแบบ เลือกได้หลายแบบ แต่วันนี้ก็จะพูดกันตามแบบพุทธ มันก็ต้องพูดโดยหลักที่เป็นหัวใจของพุทธ จะเข้ากันได้เพียงไรก็อยู่ที่การปรับปรุงของท่านทั้งหลายเอง

     หัวใจของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะนั้นคือเรื่องการดับทุกข์ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราพูดแต่เรื่องความดับทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ พูดเรื่องทุกข์ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ เพื่อจะดับเสียซึ่งความทุกข์ แล้วมันก็เกิดการดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ดังนั้นเรามีหลักมุ่งหมายตามนี้อยู่ว่า เราจะไม่มีความทุกข์ ทุกขั้นตอนแห่งการทำงาน คือ การบริหารจะไม่มีความทุกข์ทุกขั้นตอนแห่งการบริหาร เมื่อคิดจะทำก็ต้องไม่เป็นทุกข์ เมื่อเริ่มทำก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ กำลังทำก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ทำเสร็จแล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ได้ผลก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เก็บรักษาผลไว้ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ใช้ผลประโยชน์นั้นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์      เดี๋ยวนี้ดูว่ามันจะเป็นทุกข์ไปเสียทุกขั้นตอน เพราะความหวังมันมีมากเกินไป มันทำด้วยความหวัง ไม่ได้ทำด้วยสติปัญญา แต่ถ้าทำด้วยสติปัญญาตามหลักพุทธศาสนามันจะทุกข์น้อยลงกว่านั้นมาก แม้ในกรณีที่ผิด ผิด ผิดพลาด สูญหาย ขาดทุน ถูกโกงหรือวิบัติอะไรก็สุดแท้ มันก็ยังไม่เป็นทุกข์

ความทุกข์มีค่าเพราะทำให้ฉลาด 

     ถ้าถือตามหลักพุทธศาสนา ความผิดหวังหรือความทุกข์นั้นมันมีค่า มากพอๆ กันแหละ คือมันทำให้ฉลาด ในเมื่อความสมหวังนั้นมันทำให้เหลิง แต่ความผิดหวังนั้นมันทำให้ฉลาด ลักษณะอย่างนี้เรียกกันมาแต่โบราณว่ามีเพชรในหัวคางคก หัวคางคกที่ใครแสนจะเกลียดนั้น ดูให้ดีข้างในนั่นมีเพชร

     ในความทุกข์หรือความผิดหวัง ความขาดทุนอะไรก็ตามในนั้นมีเพชร คือจะทำให้พบหนทางที่จะแก้ไขไม่ให้เป็นอย่างนั้น มนุษย์เราฉลาด ๆ ขึ้นมาก็เพราะสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือความผิดหวังทั้งนั้นแหละ ต้องรับความผิดหวังให้ดี มันก็กลายเป็นได้ ไม่ใช่เสีย เพราะมันทำให้ฉลาดกว่าเดิม แล้วก็เอาความฉลาดนั่นแหละไปใช้ต่อไปในการสมหวังข้างหน้าโน้น ความสมหวังมีได้เพราะมีสติปัญญาสมบูรณ์เพราะถ้าหากบริหารกิจการงานด้วยความไม่เห็นแก่ตัว

ทำงานด้วยอุดมคติไม่เห็นแก่ "ตัว"

     ความเห็นแก่ตัวเป็นของมืด เป็นของทำให้เฉ ให้เขว ให้ เถลไถลออกไปนอกทางแห่งความถูกต้อง เพราะมันเห็นแก่ตัว มันไม่เห็นแก่ความถูกต้อง มันไม่เห็นแก่ผู้อื่น มันไม่สมดุล

     มีสติปัญญาหมายถึงมีอุดมคติ อุดมคตินั้นมันยิ่งกว่าสิ่งที่กินได้ มีคนพูดว่าอุดมคติกินไม่ได้ ฉันต้องการเงิน นี่มันยังไม่รู้อะไรเลย อุดมคตินั้นยิ่งกว่าสิ่งที่กินได้ เราต้องรู้จักมันไว้ว่าชีวิตนี้มันไม่ได้อยู่ด้วยสิ่งที่กินได้อย่างเดียว แต่มันอยู่ได้ด้วยความถูกต้องของสติปัญญา ถ้าเรามีอุดมคติว่าเราเกิดมาเพื่อแสดงความสามารถ เพื่อทำโลกนี้ให้งดงาม เพื่อทำความพอใจให้แก่ผู้อื่น อย่างนี้แล้วการทำงานจะไม่เห็นแก่ตัว การทำงานจะผิดพลาดได้ยากเพราะไม่เห็นแก่ตัว

     เราเกิดมาเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อทำความพอใจแก่ผู้อื่น เพื่อทำโลกนี้ให้งดงาม ไม่ใช่เกิดมาเพื่อกิน เพื่อเล่น เพื่อสนุกสนานอะไรของตัว นี่มันเป็นอย่างนี้ แม้ว่าจะมีการได้ประโยชน์ก็ถือว่าเป็น เอามาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้เราบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกหรือแก่เพื่อนมนุษย์ยิ่งๆขึ้นไป เราก็ไม่งกเงิน เราอาจจะงกงาน งกงานไม่เป็นไร ถ้างกเงินระวังให้ดี ถ้างกเงินจะเสียงาน ถ้างกงานจะได้เงิน ไปดูให้ดี ๆ ก็แล้วกัน

ธุรกิจแบบพุทธ – สร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น

     ทีนี้ก็จะมาพูดกันถึงคำว่าธุรกิจ ธุรกิจในความหมายทั่วไปมันก็คือการแสวงหาประโยชน์ทางวัตถุอย่างมีระบบ

      ธุรกิจชาวบ้านก็หาประโยชน์อย่างชาวบ้าน แต่ถ้าธุรกิจอย่างธรรมะอย่างศาสนามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันจะหาประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นและแก่ทุกฝ่าย จะทำอย่างนี้ได้ไหม บริหารธุรกิจนี้เพื่อตนเองด้วยเพื่อผู้อื่นด้วยและเพื่อทุกฝ่ายด้วยจะทำได้ไหม ถ้ามุ่งอย่างนี้ นั่นน่ะ มันจะมีธุรกิจแบบพุทธได้ ชาวโลกแสวงหาประโยชน์ทางวัตถุ ในเมื่อชาววัดหรือว่าผู้มีธรรมะแสวงหาประโยชน์ในทางจิตใจ

     เดี๋ยวนี้ในชาวบ้านน่ะ ให้หมู่ชาวบ้านและชาวโลกนั่นเขาไม่เห็นว่าการทำเพื่อกุศลสาธารณะเพื่อสันติภาพในโลกนี้เป็นธุรกิจ คิดดูที่ไหนในโลก ไม่เห็นว่าการทำประโยชน์สาธารณะหรือทำประโยชน์สันติภาพในโลกเพื่อส่วนรวมนั้นมันเป็นธุรกิจ ไม่มีใครเห็นว่าเป็นธุรกิจ ยังมีสิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ อยากจะให้ได้ยินคือคำว่า ชีวิตโวหาร โวหาระ น่ะช่วยจำให้ดี ๆ ชีวิตโวหาระเป็นคำที่มีอยู่ในบาลีในพระคัมภีร์ เป็นของเก่าแก่ก่อนพุทธกาล เป็น สนันตนธรรม มีมาแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ ก็เรียกว่า ชีวิตโวหาร โวหาระ แปลว่าการลงทุนค้าขายด้วยชีวิต

ทำชีวิตให้มีกำไร - ชีวิตโวหาร

     คำว่าโวหารหรือโวหาระนั่นมันแปลว่า การทำให้เกิดผลขึ้นมาให้มากกว่าธรรมดา ในภาษาไทย ในเมืองไทยคำว่าโวหาร โวหาร รู้จักแต่โวหารพูด โวหารพูด พูดให้เก่ง พูดให้เรียกว่ามีโวหาร แต่ภาษาบาลีเดิมไม่ใช่เช่นนั้น โวหาระแปลว่าการกระทำให้เกิดผลหรือเกิดกำไรคือการค้านั่นเอง เมื่อเรียกว่า ชีวิตโวหาร ก็หมายความว่าทำชีวิตให้เป็นการค้า จากการค้าด้วยชีวิตนั่นจะมีกำไรมหาศาล นี่มันเป็นธุรกิจในทางวิญญาณ ไม่ใช่ธุรกิจในทางวัตถุ
     ถ้าเห็นว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ชีวิตจะได้แล้วมันก็ไม่มองกันแต่ในทางวัตถุ ทางวัตถุนี้มันเป็นเปลือก ทางจิตใจนี้มันเป็นเนื้อใน ถ้าเราต้องการความสมบูรณ์ทั้งทางเปลือกและทางเนื้อในมันก็ต้องมีเรื่องทั้งกายและทางจิตใจซึ่งรวมกันแล้วเรียกว่าชีวิต 

    ชีวิตนี้ธรรมชาติให้มาเป็นเดิมพันหรือเป็นทุน ต้นทุน สำหรับเอามาผลิตผลให้มากขึ้นไปเองด้วยตนเอง ที่เรียกว่าการค้าขายนั่นแหละ ธรรมชาติให้มาเป็นเดิมพันเป็นต้นทุน ถ้าใครรู้จักใช้ถูกต้องมันจะเกิดกำไรมหาศาล ได้สิ่งที่เรียกว่าดีที่สุดที่มนุษย์จะทำได้ (คือการไม่มีทุกข์) มันก็กลายเป็นเรื่องของคนฉลาดคนมีปัญญา เป็นเรื่องของอริยชน หรือ พระอริยเจ้า ในการที่จะทำชีวิตให้ถึงขีดที่สูงสุดที่มนุษย์จะพึงได้นั่นน่ะ พูดตรง ๆ ตัดลัดทีเดียวยอดสุดก็คือความเป็นพระอรหันต์

ชีวิตโวหารมีหลายชั้น

ชีวิตโวหารนั้นมันมีหลายชั้น ที่เขามีกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็มีว่าสำเร็จตามที่ประสงค์ในการมีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ วาสนา มีทรัพย์สมบัติเป็นปึกแผ่นมั่นคงเหลือประมาณ สมัยโน้นเขาไม่มีธนาคารเขาไปฝังดินไว้สำรองในการใช้ แล้วก็มอบให้ลูกให้หลานเพื่อดำเนินกิจการต่อไป มีทั้งสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ผู้ประสบความสำเร็จเช่นนี้ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิตโวหารเหมือนกัน ผู้ประสบความสำเร็จชีวิตโวหารในรูปนี้เขาก็สบาย ปลดตัวออกจากโลกตามสมควร นุ่งผ้าขาว สวมเสื้อขาว ใส่รองเท้าขาว กั้นร่มขาว เที่ยวเดินอยู่ตามริมแม่น้ำลานหญ้าสบายระรื่นด้วยลมพัด นี่สำเร็จชีวิตโวหารแบบนี้ การค้าขายด้วยชีวิตของเขาแบบนี้เขาถือว่าสูงสุดแล้ว

     แต่พอมาถึงพระพุทธเจ้า ท่านไม่เอาอย่างนั้น มีสูงขึ้นไปกว่านั้น คือ จะต้องหมดความทุกข์ลำบากในเรื่องทางจิตใจด้วย จะต้องละสิ่งที่ควรละในทางจิตใจด้วย ไม่มีกิเลสที่เผาลนอย่างคนธรรมดานั่น เอาแต่พอสมควรแล้วมันเย็น มีความเย็น มีชีวิตเย็น เย็นกายเย็นใจไม่มีกิเลส ละสิ่งชั่วที่เกี่ยวกับบาปกรรมเลวร้ายทั้งหมดเสียได้ อย่างนี้จึงจะถือว่าสำเร็จ ชีวิตโวหารขั้นที่สูงขึ้นมากว่านั้น ทีนี้สูงขึ้นไปอีกก็บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์นี่สูงสุด

     ชีวิตโวหาร ลงทุนด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน ทำการค้าเพื่อผลกำไร มีได้อย่างนี้ก็ถือตามหลักในพระคัมภีร์ที่มีอยู่

     ที่นี้บริหารธุรกิจของคุณนี่ไม่รู้ว่าจะเอากันเท่าไร เอากันเพียงไร เอากันระดับไหน เพียงแต่จะได้ นุ่งผ้าขาว ห่มผ้าขาว สวมรองเท้าขาว กางร่มขาวเที่ยวเดินเล่นอยู่ตามริมแม่น้ำนี้จะไม่ได้กระมัง เพราะมันอยู่ในโลกที่มีกิเลสตัณหาอันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วยังเต็มไปด้วยอันธพาล ยังต้องสู้รบกับอันธพาลอย่างนี้ มันก็ไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าที่น่าพอใจ มีทรัพย์สมบัติพอตัวไม่ต้องมากมายเป็นมหาเศรษฐี ถ้าเป็นได้ก็ดี แล้วก็มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว เป็นที่เคารพนับถือไว้วางใจของเพื่อนมนุษย์ แล้วก็มีมิตรภาพที่แท้จริงที่มั่นคง

มิตรภาพในการทำธุรกิจและดำรงชีวิต

      คำว่ามิตรนี่ช่างประหลาดเหลือเกิน ในพระบาลีหรือว่าในวัฒนธรรมเก่าแก่ของอินเดีย เขาพูดว่าสันติสุขสันติภาพสำเร็จประโยชน์อันใหญ่หลวงได้ด้วยความเป็นมิตร ศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรย มีความหมายแห่งความเป็นมิตร จะเล่าเรื่องนิทาน ประกอบนิทานทางธรรมะที่มันมีอยู่ในพระคัมภีร์ ลูกเศรษฐีสี่คนออกไปดักขอเนื้อจากนายพรานที่ไปล่าเนื้อมาจากในป่าล่ะ สี่คนด้วยกัน ไอ้คนแรกมันขอจากนายพรานด้วยคำว่า เฮ้ย, พรานให้เนื้อกูบ้าง พรานมันก็ตัดชิ้นพังพืด พังพืดทั้งหลายให้ไปไอ้คนนี้ คนที่สองขอด้วยคำว่า พี่พรานให้เนื้อบ้าง เขาก็ตัดเนื้อชิ้นเนื้อให้เป็นเนื้อๆ ที่นี้คนที่หนึ่ง ขอด้วยคำพูดว่า พ่อพรานขอเนื้อบ้าง ก็ให้เนื้อหัวใจ คนสุดท้ายใช้คำว่า เพื่อนขอเนื้อบ้าง มันให้หมดเลย มันให้ทั้งหมดเลย ให้ทั้งเกวียนเลย ดูความหมายของคำว่าเพื่อนนี่ เขาหวังหรือเขายึดเป็นหลักยิ่งกว่าที่จะเป็นอะไรล่ะ เป็นนาย หรือเป็นไอ้ พี่หรือเป็นพ่อเสียอีก เพราะความเป็นเพื่อน เพราะมันมีความหมายใหญ่หลวงมาก ถ้ามันเป็นเพื่อนมันเป็นเพื่อนอย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งโลก เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ นี่มันเป็นคนสองคนเท่านั้นน่ะ สองสามคนเท่านั้น โลกเรานี้จะประสบสันติภาพได้ด้วยเพราะมีความเป็นเพื่อน ตามความหมายของทางศาสนาว่าเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย

     นี่ล่ะธุรกิจทางจิตทางวิญญาณสร้างสันติภาพกันทั้งโลก ธุรกิจทางวัตถุเพื่อประโยชน์ในวงแคบเฉพาะคนๆ ถ้าทำด้วยความเห็นแก่ตน ก็กลายเป็นสิ่งที่วิกฤต คือให้ผลร้าย ให้ความยุ่งยาก ให้ความลำบาก นั้นขอให้ทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ธุรกิจเพื่อตัวกู ธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจเพื่อโลก มันมีอยู่เป็นชั้นๆ ประโยชน์ก็มีทั้งเป็นชั้นๆ ประโยชน์ทางวัตถุ ประโยชน์ทางร่างกายด้านจิตใจวิญญาณเหล่านี้ มันก็มีอยู่เป็นชั้นๆ

บริหารด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ด้วยความหวัง

     พุทธศาสนามุ่งผลทางธุรกิจเพื่อกำจัดความทุกข์โดยสิ้นเชิง เหมือนกับที่กล่าวแล้วในพระพุทธภาษิตข้างต้น เราจะเอามาถือเป็นหลักได้ก็เพียงว่าเราจะไม่มีความทุกข์ในการบริหารทุกขั้นตอน ดังที่กล่าวมาแล้วว่าตอนคิดจะทำ ตอนเริ่มทำ ตอนกำลังทำ ตอนทำเสร็จ ตอนได้ผล ตอนเก็บรักษาไว้ ตอนใช้ให้เป็นประโยชน์นี่ ต้องไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันทำกันด้วยความหวัง บ้าตามก้นพวกฝรั่งที่ว่าทำอะไรด้วยความหวัง อย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาต้องทำด้วยสติปัญญาไม่ทำด้วยความหวัง ถ้าทำด้วยความหวัง พอเริ่มคิดจะทำก็เป็นทุกข์ด้วยความหวัง ความหวังก็กัดเอา ๆ ตลอดเวลา กำลังทำ ทำเสร็จแล้ว แม้ได้ผลมาแล้ว มันก็ยังกลัวอยู่นั่น ยังหวาดระแวงอยู่นั่นแหละ มีเงินฝากไว้ในธนาคาร แต่ของจริงมาสุมอยู่บนหัวด้วยความวิตกกังวลอยู่นั่นตลอดวันตลอดคืน มันทำด้วยความหวัง มันทำด้วยความอยาก มันทำด้วยกิเลสตัณหา ผลมันก็เป็นอย่างนั้น

     คุณจะกล้าหรือไม่กล้า ที่จะทำด้วยสติปัญญา ไม่ทำด้วยความหวัง บางคนพูดว่าถ้าไม่มีความหวังก็ทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็น Motive กระตุ้นให้ทำ นั้นมันหลับตาพูด สติปัญญาเป็น Motive ยิ่งกว่าความหวัง ถ้าจะทำแบบชาวพุทธต้องทำด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยความหวังเลย ขอให้เข้าใจอย่างนี้ มันก็ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ว่าไม่ได้เห็นแก่ตัว เห็นแก่ความถูกต้องและเห็นแก่เพื่อนมนุษย์

บริหารด้วยปัญญาและบริหารเพื่อโลก

     ทีนี้ก็มาพูดถึงคำว่าบริหารกันบ้าง บริหาร แปลว่า การให้ดำเนินไปได้แห่งกิจกรรมที่กระทำ ให้มันดำเนินไปได้แห่งกิจกรรมที่กระทำนั้นเรียกว่าการบริหาร

     ทำด้วยปัญญา อย่างมีปัญญา มีปัญญาเป็นเครื่องผลักดัน หรือจะเรียกว่าเชื้อเชิญให้ทำก็ได้ เพราะถ้าทำด้วยปัญญามันไม่กดขี่ มันไม่เผาลนอะไร ถ้าทำด้วยความหวังก็กดขี่เผาลน ถ้าทำด้วยปัญญามันมีสภาพเหมือนเชื้อเชิญพูดจาดีๆ อ่อนหวานให้ทำ แล้วมันไม่ร้อน มันเป็นเรื่องที่เย็น      ขอให้เพ่งในขั้นสูงไว้เสมอว่า ถ้าเกิดมาเพื่อตนมันก็เห็นแก่ตัว ถ้าเกิดมาเพื่อโลกก็เห็นแก่ผู้อื่นและเห็นแก่ความถูกต้อง เพื่อความถูกต้องและเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น อย่าเพื่อตัวกู ถ้าเพื่อกู เพื่อตัวกูมันจะหดเข้ามาแล้วมันจะมืด แล้วมันจะผิดไม่ทันรู้ จิตใจมันก็ไม่เบิกบาน ความเมตตากรุณามันก็ไม่ค่อยมี ความซื่อสัตย์ มัธยัสถ์อะไรมันก็ไม่ค่อยมี เรียกว่าการบริหารไอ้กิจกรรมแห่งชีวิตหรือชีวิตโวหารเป็นไปด้วยดีทุกขั้นตอนดังที่กล่าวแล้ว

     การบริหารนี่ถ้ามันเป็นชั้นต่ำมันก็เพื่อประโยชน์ตัวเอง ถ้ามันเป็นชั้นกลางหรือชั้นสูงก็ตามมันก็เพื่อสังคมหรือเพื่อโลก ถ้ามันเป็นคนมีใจกว้างมันก็มีธุรกิจจะดำเนินธุรกิจ บริหารธุรกิจเพื่อประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ทั้งโลกแต่ว่ามันก็โดยอ้อมเป็นธรรมดา โดยตรงมันก็ทำไม่ได้หรอก โดยอ้อม ทำดีทำถูกต้องทำเป็นตัวอย่างแห่งผู้มีคุณธรรม มีความสุขให้ดู คนทั้งโลกก็จะพากันเอาอย่างนี่

บริหารงาน

     อย่างคำว่าบริหารนี่ อย่างแรกมันก็บริหารการงานนั่นเอง บริหารระบบงาน ให้มีความเป็นไปได้ของระบบงานซึ่งมันมีทั้งการป้องกันและการแก้ไขอุปสรรค งานนี้ต้องมีอุปสรรค ต้องผ่านอุปสรรค ต้องฝ่าอุปสรรค มันจึงจะถึงได้ เช่น เราต้องลงทุนด้วยเหงื่ออย่างนี้เป็นต้นก็มี แม้จะลงทุนด้วยเงินมันก็ยังมีอุปสรรค ต้องรู้จักป้องกันอุปสรรค มีสติปัญญาป้องกันอุปสรรคล่วงหน้าเนิ่นๆ นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็มีสติปัญญาจะแก้ไขเฉพาะหน้าหรือตลอดกาลได้อย่างดี เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าอุปสรรคนั้นต้องใช้ทั้งการป้องกันและการแก้ไข สติปัญญาไม่พอ มันก็ไม่มีความคิดจะป้องกันได้อย่างรอบคอบ มันก็น่าจะศึกษากันให้เพียงพอ มันจึงจะป้องกันได้โดยล่วงหน้า มาถึงเข้าก็แก้ไขอย่างเฉพาะหน้าไปทีก่อน หรือเฉพาะหรือตลอดกาลไปเลยเรียกว่าการแก้ไขที่ถูกต้อง

บริหารทุน ทั้งเงินและสติปัญญา

     ทีนี้ก็บริการเงินในที่นี้หมายถึงทุน คำว่าเงินน่ะหมายถึงทุน คำว่าทุนนั่นตรงกับความหมายที่สำคัญที่สุดอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาคือสิ่งที่เรียกว่าเหตุว่าปัจจัย สิ่งที่ทั้งหลายมันมีเหตุมีปัจจัยอย่างช่วยเหลือไม่ได้ สิ่งทั้งหลายมันอาศัยเหตุอาศัยปัจจัย มันจึงจะเกิดขึ้นและวิวัฒนาการ

     เงินหรือทุนเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นเพื่อความงอกงาม แต่ว่ายังมีส่วนประกอบอื่นๆซึ่งจะเรียกว่าเป็นทุนก็ได้ คือความสามารถหรือสมรรถนะของผู้ดำเนินงาน หรือของตัวเองนี้มันก็เป็นทุนชนิดหนึ่งเหมือนกัน มันเป็นทุนทางสติปัญญา ถ้าไม่มีทุนทางสติปัญญา ไอ้ทุนที่เป็นเงินเป็นทองมันก็เป็นไปไม่ได้ ขอให้มองเห็นว่าสติปัญญามันก็เป็นทุนอย่างยิ่งเป็นทุนเหลือประมาณ ที่จะทำให้ทุนที่เป็นวัตถุเป็นเงินเป็นของเป็นกำลังเป็นนี่ล่ะ สำเร็จประโยชน์ได้ด้วยดี เราจึงเรียกว่ามีทุนที่ถูกต้อง ทั้งทางฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ คือทั้งฝ่ายรูปธรรมและทั้งฝ่ายนามธรรม นี่ล่ะเป็นการบริหารทุน มันมีความถูกต้องในฝ่ายที่เป็นเหตุ ในฝ่ายที่เป็นปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามหลักพุทธศาสนาเรียกว่าตาม กฎอิทัปปัจจยตา มันจะนอกไปจากนั้นไม่ได้ ทุกอย่างมันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาของตัวมันเอง

     ที่มันจะวินาศฉิบหายขาดทุนมันก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายนั้น ที่มันจะมีกำไรดีมีประโยชน์ดี มันก็ตามกฎอิทัปปัจจยตาเป็นไปในฝ่ายนั้น เราต้องมีความรู้ เหตุปัจจัยหรือที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา ที่ว่าทำอย่างไรแล้วอะไรจะเกิดขึ้น กฎอิทัปปัจจยตาว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ กฎอิทัปปัจจยตาครอบงำจักรวาลทุก ๆ ฝุ่น ทุก ๆ ปรมาณูแห่งฝุ่น กระทั่งทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งเพื่อการบรรลุพระนิพพานมันต้องเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา

     ขอให้มีสติปัญญาเรื่องกฎเกณฑ์แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ให้มากๆ นี้จะเป็นทุนที่สำคัญยิ่งกว่าเงิน คนมีเงินเยอะแยะลงทุนไม่ได้ ต้องไปจ้างผู้จัดการที่มีสติปัญญามาช่วยจัดการ อย่าเห็นว่าเงินอย่างเดียวก็เป็นทุนที่พอแล้ว มันต้องมีความสติปัญญา การที่ใช้เงินหรือควบคุมเงินเหล่านั้นให้ถูกต้องทุกสตางค์ดีกว่า อย่าว่าทุกบาทเลย มันมากนัก

บริหารคน

      ทีนี้ก็จะดูถึงการบริหารคน ทำคนให้เหมาะกับงาน ถ้าหาคนที่เหมาะกับงานไม่ได้ มันก็ต้องสร้างคนที่เหมาะกับงาน บริหารคนนี่ยากกว่าบริหารวัตถุหรือบริหารเงินเสียอีก เพราะว่าคนมันกลับกลอก โกหก หลอกลวงได้ ทุกคนมีกิเลส เป็นไปตามอำนาจของกิเลส จะไปเอาคนมีกิเลสมาเป็นคนทำงานนี่ละ มันก็ต้องต่อสู้กับกิเลสของเขา ต้องต่อสู้กับความโง่ของเขา ต่อสู้กับกิเลสของเขา ต่อสู้กับไอ้ความไม่ประสีประสาของเขา นี่มันลำบากเหลือเกินที่ต้องต่อสู้กับความโง่ คนโบราณเขาว่าไปสู้กับเสือดีกว่าไปสู้กับคนโง่ ยุ่งกับคนโง่นี่ ไปเถียงกับคนโง่ ไปเถียงกับเสือดีกว่า เสือกัดทีเดียวตาย แต่ทำกับคนโง่นี่มันไม่มีที่สิ้นสุด มันกัดไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นก็ต้องเตรียมตัวสำหรับที่จะเผชิญกับคนโง่ แม้เขาจะซื่อสัตย์และหวังดีแต่เขาเป็นคนโง่ คุณคิดดูเถอะ ซื่อสัตย์น่ะไม่พอ ต้องไม่โง่ด้วย แล้วก็เขาจะต้องเป็นคนไม่เห็นแก่ตัวนั่นแหละ

     เดี๋ยวนี้เรามีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น เจ้าของงานก็มีกิเลส ลูกจ้างก็มีกิเลส เราก็มีกิเลส คนใต้บังคับบัญชาก็มีกิเลส นั่นล่ะมันลำบากที่กิเลส นั้นกัดกันไม่ค่อยจะลง ผู้บริหารงานจึงต้องเป็นคนที่สามารถกว่าหรือมีความเป็นคนมากกว่าจึงจะบริหารผู้ที่มีความเป็นคนน้อยกว่านั้นได้ บริหารคนให้เหมาะกับงาน ถ้ามันไม่มีคนที่เหมาะกับงานเราต้องสร้างเขาให้เหมาะกับงาน มันจึงจะทำไปได้ เราจะต้องมอบหมายให้เขารับภาระตัดตอน เขาต้องฉลาดพอที่จะทำไม่ให้เสียหาย ถ้าเราจะใช้เขา เราต้องไว้ใจเขา ภาษิตจีนเขาว่าอย่างนี้ ถ้าจะใช้เขาจะจ้างเขา ต้องไว้ใจเขา ถ้าไม่ไว้ใจเขา ก็อย่าใช้เขา หรืออย่าจ้างเขา หมายความว่าต้องมอบงานให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ไว้วางใจได้ ยังจะต้องมีอุดมคติอย่างเดียวกันด้วย ถ้าลูกจ้างมีอุดมคติอย่าง นายจ้างอย่าง หัวหน้างานอย่าง ลูกน้องอย่าง อุดมคติมันไม่ตรงกัน มันก็เดินกันคนละทาง

     ทั้งลูกจ้าง ทั้งนายจ้าง ทั้งหัวหน้างานและคนงานมีอุดมคติตรงกันว่า เราทำเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวกูคนเดียว ถ้าทำเพื่อตัวกูคนเดียว เดี๋ยวมันก็ช่วยกันโกง ลูกจ้างหรือคนใต้บังคับบัญชาก็จะส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้โกง ๆ ๆ โกงกันใหญ่ แล้วมันจะเป็นอะไร มันจะ อะไรมันจะเกิดขึ้นล่ะ ขอให้ลองคิดดู ปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ สัมมาทิฐิ ถ้าจะบริหารกันเป็นการทั่วไปต้องมี สัมมาทิฐิ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความถูกต้องในความคิดความเห็น ความเข้าใจ ความรู้สึก ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ มีกันทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายผู้บังคับบัญชาหัวหน้างานและลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และต้องอาศัยหลักพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งตลอดเวลา สิ่งนั้นคือความไม่เห็นแก่ตัว หัวหน้าเห็นแก่ตัวลูกน้องก็แย่ ลูกน้องเห็นแก่ตัวหัวหน้าก็แย่ เห็นแก่ตัวทั้งสองฝ่ายมันก็ได้กัดกันเป็นแน่นอน ทั้งลูกน้องและทั้งหัวหน้า ถ้าไม่เห็นแก่ตัวนี้มันเป็นหลักพื้นฐานเป็นหลักสูงสุดในพระพุทธศาสนา ไม่เห็นแก่ตัวก็ไม่เกิดกิเลส ก็ไม่เกิดการขัดแย้งซึ่งเป็นสิ่งอุบาทว์ ความขัดแย้งในบาลีเรียกว่าอุบาทว์ หรือ อุปทฺทว มันก็มีแต่ความสงบราบรื่น มันจะเป็นไปได้ถึงสูงสุดคือเป็นพระอรหันต์โน้น ถ้าไม่เห็นแก่ตัว อยู่กันที่นี่ก็เป็นผาสุกเป็นสังคมที่ผาสุก

บริหารคนด้วยน้ำใจ

     เราจะต้องมีอุดมคติของความเป็นมนุษย์ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์เหมือน ด้วยกันๆ ดีกว่า การบริหารคนนี้มันยังมีสิ่งลึกลับอย่างหนึ่ง คือ เครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ เราไว้ใจเขา เรารักเขา เราหวังดีต่อเขา อย่างนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ คงจะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วจากหนังสือธรรมะทั่วๆไป เรื่อง สังคหวัตถุ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การพูดจาไพเราะ การบำเพ็ญประโยชน์ให้ และการทำตัวให้เป็นเกลอเป็นเพื่อนกันมากกว่าที่จะเป็นนายหรือผู้บังคับบัญชาที่ดุร้าย เรียกว่าความงดงามในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มันเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้เกิดความร่วมมือกันได้

การบริหารทั่วไป

     ข้อสุดท้ายบริหารทั่วไป บริหารด้วยวงกว้างบริหารทั่วไป เมื่อตะกี้เราพูดถึงบริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน อันสุดท้ายนี้เราจะเรียกว่าการบริหารทั่วไปคือมันรวบรวมทุกสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นอันเดียวกันได้ เรียกว่าทั่วไป จะต้องมีคุณธรรม ฉลาด สามารถกว่าธรรมดามาก ฉะนั้นหัวหน้าผู้นำต้องฉลาดกว่าลูกน้องมากมายหลายเท่านัก มีหมวดธรรมที่สำคัญที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ธรรมะของคนดี ของสัตบุรุษ ของผู้ที่จะมีแต่ดีไม่มีเสีย สัตบุรุษ

     ธรรมะของสัตบุรุษ หาอ่านได้จากหนังสือธรรมะทั่วไปเรียกว่า สัปปุริสธรรม - รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักความถูกต้องพอดี รู้จักบริษัทรู้จักบุคคล 

     รู้จักเหตุหรือสิ่งที่ฝ่ายเป็นฝ่ายเหตุ รู้จักผลคือสิ่งที่เป็นฝ่ายผลที่จะเกิดขึ้นว่ามันมีอย่างไรแล้วมันคาบเกี่ยวกันอย่างไร รู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร สามารถเท่าไร รู้จักกาล คือรู้จักเวลาที่ถูกต้องที่เหมาะสม ไม่ผิดกาล ไม่ผิดกาละ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตนเอง รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบริษัท คือความเป็นหมู่ความผูกพันกันเป็นหมู่ ธรรมะสำหรับการผูกพันกันเป็นหมู่ แล้วหมู่นั้น ๆ เขามีอะไรอย่างไร จะเข้าไปสัมพันธ์กับหมู่นั้น ๆ จะต้องทำตนอย่างไร จะต้องจัดการอย่างไร ถ้าเราก็หมู่หนึ่ง เขาก็หมู่หนึ่ง มันก็ต้องเข้ากันได้อย่างถูกต้อง แล้วก็รู้จักบุคคล ปัจเจกชนแต่ละคน เมื่อตะกี้ที่เรียกว่ารู้จักตน น่ะ คนๆเดียวคือตัวเอง ทีรู้จักผู้อื่นแต่ละคนๆเป็นอย่างไร รู้จักผู้อื่นที่รวมกันเป็นหมู่ๆนั้นเป็นอย่างไร รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบริษัท รู้จักบุคคล ย่อมจำง่ายกว่าอย่างนี้ ถ้ามีความรู้อย่างนี้เพียงพอแล้วนั่น น่ะ สามารถบริหารได้ทั้งหมด บริหารทั่วไป บริหารได้ทั้งหมดแหละ

บริหารแบบพุทธ- รู้ ตื่น เบิกบาน

     เอาล่ะทีนี้จะพูดคำสุดท้ายก็คือที่เรียกว่าแบบพุทธ คำว่าแบบพุทธนี่ต้องรู้จักความหมายของคำว่าพุทธ ในหลักทั่วไปง่าย ๆ ถือกันมาแต่เดิมแต่ไหนแต่ไรมาแล้วก็ว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ คือผู้ตื่น คือผู้เบิกบาน มันจะเป็นได้เพราะไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวจะเป็นผู้รู้ไม่ได้ ผู้ตื่นไม่ได้ ผู้เบิกบานไม่ได้ เห็นแก่ตัวมันคือโง่ มันคือไม่รู้ ไม่ตื่นจากหลับคืออวิชชา แล้วมันก็เบิกบานไปไม่ได้เพราะมันมีแต่อุปสรรคมีแต่ศัตรู

    พูดถึงผู้รู้ก่อน ผู้รู้ก็คือรู้สิ่งที่ควรรู้ คำว่ารู้นี่ รู้เพียงพอเต็มที่ในหน้าที่ที่ควรรู้ ไม่ต้องรู้ทั้งหมด รู้ทั้งหมดก็เป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เป็นความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอแก่หน้าที่การงานของตน อย่างนี้ต้องรู้ แล้วขอบอกว่าต้องมีสิ่งที่ควบคุมความรู้นะ เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกนี่บ้าบอที่สุด มีแต่ให้รู้ๆๆ ฉลาด ๆ ๆ แล้วไม่มีอะไรควบคุมความฉลาด มันก็เอาความฉลาดไปใช้เพื่อเห็นแก่ตัวสบายเลย มันเอาความรู้ความฉลาดใช้เพื่อเห็นแก่ตัว อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้หรอก คือไม่รู้ มีผลเท่ากับไม่รู้ เป็นผู้รู้ มันก็เพราะรู้ถูกต้องเรื่องนั้นจึงเป็นความรู้ที่ลืมหูลืมตาเป็นพุทธศาสตร์ ถ้ายังรู้อย่างหลับเป็นไสยศาสตร์ รู้อย่างหลับ รู้อย่างคนหลับ

     เดี๋ยวนี้ไสยศาสตร์มีมาก รู้อย่างหลับเป็นไสยศาสตร์ เป็นไสยศาสตร์นี้อย่าเอาเข้ามา แต่คนก็ยังขลาด ยังกลัว ยังเอาไสยศาสตร์เข้ามาทำพิธีบริหาร นิดหน่อยต้องทำพิธีรีตอง ต้องเชิญพระ ต้องทำบัตรเซ่นผี อย่างนี้มันยุ่งไปหมด นี้มันไสยศาสตร์ ก็ไว้สำหรับคนปัญญาอ่อน ไม่เป็นไร ถ้าปัญญาแก่แล้วไม่ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าไสยศาสตร์ อาศัยพุทธศาสตร์แล้วมันก็พอ

     ถ้ารู้จริงมันก็รู้ว่าต้องพึ่งตัวเองและพึ่งธรรมะ ไม่ใช่พึ่งผู้อื่น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนแม้แต่ให้พึ่งพระองค์นะ ท่านสอนให้พึ่งตนเองพึ่งธรรมะ แต่เรามันโง่เองไปหวังที่จะพึ่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าช่วย ไม่ช่วยตัวเอง ไม่ธรรมะช่วยตัวเอง ไม่ปฏิบัติธรรมะด้วยตัวเองแล้วเกิดที่พึ่งแก่ตัวเองเหมือนๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส อะไรๆก็จะพึ่งพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ให้มาช่วย อย่างนี้ไม่ใช่พุทธบริษัท ถ้าพุทธบริษัทต้องพึ่งตัวเองคือทำตัวเองให้มีธรรมะแล้วธรรมะมันช่วย ถึงจะพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ทำให้มีธรรมะแล้วธรรมะมันช่วย มันก็ยังเป็นการพึ่งตัวเอง เพราะปฏิบัติธรรมะด้วยตนเอง ต้องรู้จักความผิดด้วยตนเอง แก้ไขความผิดด้วยตนเอง รู้จักความถูกด้วยตนเอง ส่งเสริมความถูกด้วยตนเองจึงจะเรียกว่ามันพึ่งตนเอง

    ทีนี้ก็เป็นผู้ตื่น ตื่นจากหลับคือความไม่รู้หรืออวิชชา มันมีทั้งในแง่โลกแง่ธรรมะ แง่ต่ำแง่สูง มันมีอวิชชาด้วยกันทั้งนั้นแหละ ตื่นจากหลับด้วยอวิชชานั้นเสีย

    ผู้เบิกบาน ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ก็เพราะว่าเบิกบานนั้นน่ะ มันหมายความว่าพอใจอยู่ด้วยการแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ไม่หุบ ไม่เหี่ยว ไม่เศร้า ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย แม้ด้วยความผิดหวัง ผิดหวังก็ไม่ท้อถอย ยังเบิกบานอยู่ รับเอาความผิดหวังมาสร้างความฉลาดกันใหม่ ก็เบิกบาน ไม่มี ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหดหู่หดเหี่ยว ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่เห็นแก่ตัว มีเมตตากรุณา ไม่มีอคติ ชวนกันถือธรรมะเป็นหลัก อย่าเอาตัวกูเป็นหลัก ทั้งใคร คนใดก็ตาม ฝ่ายไหนก็ตาม อย่าเอาตัวกูเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลัก นี่ล่ะเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัวแต่เห็นแก่ธรรมะ มันก็จะสามารถบริหารลุล่วงไปได้ด้วยดี

สรุป

·        จงถือหลักอันนี้เป็นการบริหารธุรกิจใดๆ ชั้นไหนระดับไหนก็ด้วยความเป็นพุทธบริษัท พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่เห็นแก่ตัว

·        บริหารด้วยสติปัญญา ก็มีสติปัญญาเป็นบัณฑิต ดำเนินเป็นประโยชน์กิจด้วยปัญญา อย่าดำเนินด้วยกิเลสตัณหา ความหวังน่ะมันเป็นกิเลสตัณหา ตัณหาก็คือความหวัง

·        ความต้องการหรือวัตถุประสงค์นั้นมีได้ ตั้งความหวังไว้ถูกต้องแล้วหยุดความหวังเสีย ทำไปด้วยสติปัญญา อย่าให้ความหวังมันหวังกัดกร่อนหัวใจอยู่เรื่อย เอาสติปัญญาเป็นตัวประธาน อย่าให้กิเลสตัณหาหรือความหวังเป็นตัวประธาน

·        บริหารด้วยความไม่เห็นแก่ตัว เกิดมาเพื่อทำให้ผู้อื่นสบายใจ เราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ถ้าเขาให้เราอยู่คนเดียวในโลก ยกโลกทั้งหมดให้เราอยู่คนเดียว เราก็อยู่ไม่ได้

·        เกิดมาเพื่ออยู่ด้วยผู้อื่นต้องช่วยกันทำให้สบายใจ สร้างโลกนี้ให้งดงาม อยู่อย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน

·        ธุรกิจอย่างโลกๆ ก็อยู่ในโลกกันได้ ธุรกิจทางธรรมก็จะก้าวหน้าทางธรรมก็ได้ ธุรกิจเพื่ออยู่เหนือโลกเป็นพระอรหันต์ก็ได้

·        ชีวิตโวหาร ลงทุนค้าด้วยชีวิต อันนี้เรียกว่าบริหารกิจหรือธุระแห่งชีวิตด้วยความเป็นพุทธตามแบบพุทธ ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีตัวเป็นของตัว มีตัวเป็นของเพื่อนมนุษย์ทุกคน

วัตถุประสงค์หรืออุดมคติอันนี้มันสูงเกินไปไหม สูงเกินไปก็ตามใจ ไม่ต้องเอาก็ได้ แต่ถ้าตามหลักพุทธศาสนานี่คือพอดีถูกต้อง ถูกต้องตั้งแต่วัตถุประสงค์ ถูกต้องทั้งการกระทำ ถูกต้องทั้งผลแห่งการกระทำ ถ้ามากไปก็อย่าเอาเลย เห็นว่าเป็นไปได้ก็เอา ถ้าให้พูดตามแบบพุทธมันก็ต้องพูดอย่างนี้ พูดอย่างอื่นไม่ได้ พูดตามแบบพุทธอย่างนี้

เรียบเรียงจาก บรรยายแก่คณะนักศึกษา เอแบค ABAC การบริหารธุรกิจแบบพุทธ