ความสุข หรือ ความสุก

Share

พุทธทาส,

    สิ่งควรปรารถนานั้นคือ นิรามิสสุข เป็นภาษาบาลี เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้เป็นประจำ เป็นหลักประจำ

    นิรามิสสุข แปลว่า สุขที่ไม่มีเหยื่อ

คนทั่วไปรู้จักแค่ความสุก

     เรารู้จักกันแต่สุขที่มีเหยื่อ เอารูปสวย ๆ เอาเสียงเพราะๆ  เอากลิ่นหอมๆ  เอาไอ้รสอร่อยๆ นี่มาเป็นเหยื่อนี่เข้ามาให้เสพ ให้เสวยแล้วก็รู้สึกว่าพอใจ แล้วก็เรียกมันว่าความสุข สุขชนิดนี้มีเหยื่อแล้วร้อนเป็นไฟ เลยแนะให้สะกดด้วยตัว ก

    ความสุกที่สะกดด้วยตัว ก คือสุกมีเหยื่อ ถ้านิรามิสสุข ก็สุขที่ไม่มีเหยื่อ คือเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป ให้จิตมันวิเวกจากสิ่งเหล่านี้ เกิดกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ขึ้นมา นี่คือความสุขชนิดที่ไม่มีเหยื่อ

    ชาวบ้านรู้จักและกินกันอยู่ เสพกันอยู่แต่ความสุขที่มีเหยื่อ ต้องเอาเหยื่อเข้ามา ต้องลงทุนด้วยเหงื่อไหลไคลย้อยหาเงินมาไปซื้อหามา ไปรวบรวมมา ไปเก็บสะสมไว้แล้วก็จะได้บริโภคสิ่งที่มีเหยื่อนั้นอย่างหลับหูหลับตาไม่มีเวลาสร่างไม่มีเวลาซา เพราะรู้กันอยู่แต่อย่างนั้น คือสุขที่มีเหยื่อ แต่เขาก็รู้สึกไปทำนองว่าเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าปรารถนา น่าพอใจ สุขที่มีเหยื่อสำหรับคนที่ไม่รู้อะไร แต่ถ้าคนที่เขารู้อะไรแล้ว เขาไปเห็นว่าสุขที่ไม่มีเหยื่อต่างหากที่ควรปรารถนา จึงพูดในที่นี้ว่าสิ่งควรปรารถนานั้นคือ นิรามิสสุข




     อย่าไปเข้าใจผิดต่อสิ่งนี้แล้วไปหาสุขที่มีเหยื่อ หลักธรรมะก็มีอยู่เป็นชั้นๆ คนหนึ่งพูดว่า ถ้าเห็นว่ามันใกล้ตายแล้วก็รีบทำบุญมันจะนำสุขมา นี้ก็ว่าถูก ที่พระพุทธเจ้าท่านว่าถ้าเห็นว่ามันใกล้จะตายแล้ว ให้รีบละสุขที่มีเหยื่อเสีย ให้คายเหยื่อเสีย อย่าไปมัวกินเหยื่ออยู่เลย

ที่มา ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์