หยุดเชื่อผิดๆ ว่า "ความพอเพียง" ทำให้คนเรายอมรับสภาพ ไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้า

Share

เข้าใจให้ถูก, พุทธทาส,

ความพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี ทำให้คนเรายอมรับสภาพ ไม่พัฒนาตนเอง และทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้าจริงหรือ?

อ.พุทธทาสได้ตอบคำถามข้อนี้ไว้ว่า

พุทธศาสนาไม่ได้สอนแต่เรื่อง “สันโดษ” เพียงอย่างเดียว เราจะต้องพิจารณาถึงธรรมะข้ออื่นๆ ด้วย [เช่น ความเพียร] คนส่วนมากยังเข้าใจผิดๆ ในเรื่องความหมายของคําว่า “สันโดษ” 

พระพุทธเจ้าไม่ได้วางธรรมะข้อนี้ไว้เพื่อให้คนทําอะไรน้อยที่สุด เพียงเพื่อการมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่เพื่อเป็นน้ำ “เครื่องหล่อเลี้ยงใจให้อิ่มเอิบ” ให้เกิดความคิดที่จะทําสิ่งอื่นๆต่อไปและทุกๆ ขั้นของการกระทํา

สันโดษ คือ ความพอใจในสิ่งที่ทําอยู่ มีอยู่ เป็นอยู่ ได้อยู่  [สันโดษไม่ได้แปลว่าอยู่คนเดียว]

คนเราที่มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ ไม่เป็นบ้าไป ก็เพราะมี “สันโดษ”  ถ้าไม่มีความพอใจบ้างก็จะรู้สึกกลุ้มอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคเส้นประสาท.

มีความยินดีเมื่อมีความพอใจ

“ถ้าเราทำอะไร..ที่มีอยู่รอบตัวเราทั้งหมดนี้ ให้เป็นที่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในแง่ใดแง่หนึ่ง มันก็สบาย มันก็ร่ำรวย ร่ำรวยเกินกว่าที่จะร่ำรวย

อย่างที่พระบาลี (พระไตรปิฎกภาษาบาลี)ว่า “สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ = สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง”...ความยินดีด้วยของที่มีอยู่นั้นเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

ไปที่บ้านที่เรือนซึ่งมีอะไรมาก ถ้าเรารู้สึกพอใจว่ามีอยู่ เป็นประโยชน์ มันก็เป็น “คนรวย”ทันที

ถ้าเห็นว่าทั้งหมดนี้ล้วนแต่น่ารำคาญ ไม่ชอบใจ ไม่รัก ไม่พอใจอะไรทั้งหมด ไปซื้อหามาแพงๆเมื่อวานนี้เอง วันนี้ก็ไม่พอใจแล้ว ทั้งบ้านทั้งเรือนไม่มีอะไรเป็นที่พอใจ มันคงจะเป็น“คนจน”ยิ่งกว่า “คนขอทาน”

แล้วมันจะเลยนั้นไปอีกคือ..มันจะเป็น “คนบ้า”

ฉะนั้น ขอให้สังเกตใจความของพุทธภาษิตข้อนี้ให้ดีๆว่า “สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ = ความยินดีด้วยของที่มีอยู่นั้นเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

ถ้ามีทรัพย์มาก แต่ไม่พอใจ ไม่ยินดี มันก็เท่ากับ“ไม่มี” จะมีทรัพย์สักร้อยล้าน พันล้าน ก็ไม่ให้เกิดความพอใจยินดีได้ มันก็เท่ากับ..ไม่มี

ขอให้เรารู้จักว่า ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ นั่นมันเป็นการหล่อเลี้ยงให้เรามีกำลังใจ มีความสุขสำหรับจะมีชีวิตอยู่ แล้วสำหรับจะทำให้ดียิ่งขึ้นไป ให้มากยิ่งขึ้นไป ส่วนที่ควรจะมีมากขึ้นไป..ก็ทำให้มากขึ้นไป เช่น ทรัพย์สมบัติ เงินทองข้าวของ ในส่วนที่จะทำให้ “ดียิ่งขึ้นไป” เช่น การมีธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ บรรลุธรรมะ ก็ควรจะให้สูงขึ้นไป ให้ยิ่งขึ้นไป โดยมีทุนสำรอง คือ “ความพอใจในส่วนที่เราทำได้แล้ว เท่าไร” ถ้าว่าเป็น “กุศล” หมายความว่าสิ่งที่เป็นกุศล พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้หยุดเสียเพียงเท่านั้น..แต่ให้สืบต่อการปฏิบัติ สูงขึ้นไปๆ จนกว่าจะถึงที่สุด


สันโดษ ทำให้มีกำลังใจที่จะพัฒนา

ทีนี้ ก็จะมาถึงตัวปัญหา ที่มันเกิดขัดแย้งกันกับพวกชาวโลก หรือ “นักการเมือง” ที่เขาว่าสันโดษนี่มันทำให้ไม่พัฒนา ฉะนั้น อย่าสอนให้คนสันโดษ เพราะจะไม่พัฒนา อาตมาไปเถียงเขาว่า สันโดษนั่นแหละ!..จะทำให้พัฒนา คือ ยินดีตามที่มันได้มาแล้ว มีมาแล้ว มันก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำให้มากขึ้นไป ฉะนั้น ความสันโดษนั้นเป็นรากฐานของการพัฒนา ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะพัฒนาไปทำไม

เดี๋ยวนี้ มันได้ชิม ได้ดื่ม ได้กิน ผลที่ทำมาได้แล้ว แม้จะน้อยก็เถอะ มันหามาได้น้อยมันก็ดีใจมันก็พอใจ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นี้มันมีผลเป็นที่พอใจ เราควรจะหาให้มาก ทำให้มาก แต่ก็ #ไม่ลืมที่จะ #พอใจเท่าที่มันได้มาแล้ว #เพื่อให้มันอิ่มใจ เพื่อให้มันเป็นกำลังใจสำหรับจะพัฒนาต่อไป

ถ้ามองกันในแง่นี้ ความสันโดษไม่ได้เป็นอุปสรรคของการพัฒนา แต่จะพัฒนาสนุก พัฒนาสนุกเหมือนที่ได้ว่ามาแล้ว มันเป็นสุขไปพลาง ทำงานไปพลาง มันรวยไปพลาง หาเพิ่มไปพลาง มันจะพัฒนาสนุก ไม่ได้เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนา

สันโดษในการงาน

ยกตัวอย่างเรื่องสันโดษ เช่น การปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกเสร็จเราก็จะเกิดความพอใจ แม้ยังไม่ออกดอกออกผลให้เราได้ชื่นชมทันทีก็ตาม ถ้าเราไม่จําเป็นต้องหยุดพอใจอยู่เพียงแค่นั้น เราต้องการให้มีดอกมีผล เราก็ทําต่อไปได้ คือ ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน เพื่อให้ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตไปอีก และเราก็พอใจมันได้ทุกๆ ระยะจนถึงที่สุด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ - ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” คือ เป็นทรัพย์ทางใจ เมื่อมีความสันโดษก็รู้สึกว่าตัวของเรา “ร่ำรวยอยู่เสมอ ไม่จนเลย”

แม้ในการกวาดบ้านเราก็มีความพอใจได้ แม้ในขณะที่กวาด เมื่อกวาดเสร็จแล้วก็ยังรู้สึกพอใจและสบายใจ. แต่ถ้าไม่พอใจที่ต้องกวาดเพราะถูกบังคับหรืออะไรๆก็ตาม เมื่อกวาดเสร็จไปแล้วก็ไม่เกิดความสุขอยู่นั่นเอง ความอิ่มใจชนิดนี้เป็นรากฐานของสมาธิ ซึ่งสมาธิเป็นรากฐานให้เกิดปัญญา คิดทําสิ่งต่างๆให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความหวัง
.
“สันโดษ” ไม่ใช่ความพอใจในการที่ไม่ต้องทําอะไร

“สันโดษ” จะเป็นเครื่องทําให้มีความพอดีขึ้น สันโดษต้องให้มีอยู่ภายใต้การควบคุมของสติปัญญา ในการทํางานสิ่งใดคนนั้นจะต้องอิ่มใจในการกระทําของตนและผลของมัน แม้ว่าคนอื่นจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ถ้าเห็นว่าผลงานนั้นยังไม่เป็นที่เพียงพอก็ทําต่อไปอีก จะพอเมื่อไรอยู่ที่ผู้ทํา

พระพุทธเจ้าไม่ได้วางธรรมะข้อนี้ไว้เพื่อให้คนทําอะไรน้อยที่สุด เพียงเพื่อการมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่เพื่อเป็นน้ำ “เครื่องหล่อเลี้ยงใจให้อิ่มเอิบ” ให้เกิดความคิดที่จะทําสิ่งอื่นๆต่อไปและทุกๆ ขั้นของการกระทํา

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา 

ธรรมบรรยาย เรื่อง “สันโดษไม่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนา” จากหนังสือ ชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “หลักพระพุทธศาสนาที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่”

ตอบปัญหาแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี ส.จ.ม. ที่วัดปทุมคงคา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2503