พระมหาฟูกิจ ชุติปัญโญ ได้โพสต์ใน facebook เล่าถึงประสบการณ์การบรรยายธรรมและตอบปัญหานักเรียนชั้น ม.3 ในเรื่องพิธีกรรม การกราบไหว้ บุญบาป
เปลือกหรือเนื้อ
“พระอาจารย์คะ หนูไม่ได้อะไรนะคะ ก็ในเมื่อพระพุทธศาสนามีแก่นคำสอนอยู่แล้ว ถ้าหนูคิดว่าควรจะลดพวกวัด หรืออะไรต่างๆ ลง นี่เป็นบาปมั้ยคะ?”
“เจริญพร ตอนหนูกินกล้วยนี่ กินเปลือกหรือกินผลกล้วย?’
”กินผลกล้วยค่ะ”
“เหรอ…แล้วก่อนจะกินกล้วย หนูต้องปอกก่อนมั้ย?”
เด็กสาวหน้าตาสะอาดสอ้าน พยักหน้าหงึก~
“ปอกทำไมล่ะ?”
“ก็เปลือกมันกินไม่ได้หนิคะ”
“อ๋อ…อย่างนั้นเปลือกก็ไม่มีประโยชน์เลยใช่มั้ย?”
เธอส่ายหน้า
ผู้เขียนบรรยายต่อ “เพราะจริงๆ แล้วเปลือกก็มีประโยชน์ มันมีไว้เพื่อรักษาผลกล้วยเอาไว้…เปลือกทุเรียน เปลือกขนุนก็เช่นกัน ลองคิดดูสิ ถ้าเปลือกอันไหนปอกยากๆ มันก็มักจะรักษาเนื้อในไว้ได้ดี และเนื้อในก็อร่อยด้วย”
“…เราจะกินเนื้อข้างใน ก็ต้องไม่สับสนไปกินเปลือก หรือกินแต่เปลือกแล้วทิ้งเนื้อ นี่ก็ไม่ใช่ หน้าที่เราคือการรู้ว่าอะไรคือเปลือก อะไรคือเนื้อ แล้วต้องรู้จักวิธีปอกด้วย”
“พระอาจารย์ยอมรับตามตรงเลยนะว่า ส่วนตัวไม่ได้ชอบการก่อสร้าง ประดับตกแต่ง หรือพิธีกรรมอะไรพวกนี้เท่าไหร่ แต่ก็เข้าใจได้ บางคนชอบทำ เพราะเขาว่ามันมีประโยชน์ ก็ถูกของเขา เราอย่าไปชวนทะเลาะ”
“…มันเป็นเรื่องที่เราต้องปอกให้เป็น ไม่หลงไปกินเปลือกเสียเอง แต่ก็ต้องค่อยๆ หาจังหวะพาให้เขาเข้าใจและระวังไม่ทิ้งเนื้อในออกไปด้วย”
การกราบ
...ยกตัวอย่างเช่น ‘การกราบ’ พระอาจารย์ไม่ได้ซีเรียสนะว่าพวกเราจะกราบพระอาจารย์หรือเปล่า ไม่บังคับ”
“…เพราะพระอาจารย์อ่านพระสูตรแล้วมาวิเคราะห์ พบว่าในสมัยพุทธกาล ตอนพระพุทธเจ้าแสดงธรรม มีคนเข้ามาฟังเยอะมาก บางคนเข้ามาแล้วกราบ บางคนแค่พนมมือ บางคนไม่กราบ นั่งพรวดเลย บางคนก็เดินผ่านไป ไม่เข้ามาฟังเลยก็มี”
“…ส่วนตอนกลับออกไป ก็มีหลากหลายแบบเช่นกัน เลยจินตนาการว่า บางคนที่ศรัทธามาแล้วยังศรัทธาอยู่ก็มี ฟังแล้วเปลี่ยนไปไม่ศรัทธาก็มี บางคนไม่ศรัทธาก่อนฟังแต่เปลี่ยนตอนหลังก็มี ไม่เปลี่ยนใจก็มี มันแตกต่างหลากหลายมาก นี่ขนาดยุคพระพุทธเจ้านะ”
“…แต่เราต้องถามว่า ‘การกราบ’ ให้อะไรเรา พระอาจารย์เพิ่งจะได้มากราบก็ตอนบวชเนี่ยแหละ กราบมาตลอด ๑๔ ปี แรกๆ ก็ทำตามๆ ไป”
“…แต่หลังๆ เริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นว่าการกราบนี่เป็นการฝึกตนเองให้ลดมานะ ละทิฏฐิ รู้จักกาลเทศะ อ่อนน้อมถ่อมตน”
“…แล้วตอนที่มีใครมากราบพระอาจารย์ พระอาจารย์อยากจะสอน อยากจะคุยกับเขามากกว่าคนที่ไม่กราบ มันดูเก้ๆ กังๆ ไม่รู้ว่าเขาเป็นยังไง ยอมรับเรามั้ย เลยนิ่งๆ ไว้ก่อนดีกว่า”
“…แล้วหนูคิดว่าบางคนกราบๆ ไปแบบไม่รู้ความหมาย มีมั้ย?”
เด็กน้อยพยักหน้า
“ใช่มั้ย…พระอาจารย์เลยคิดว่า การกราบก็ดี พิธีกรรมก็ดี วัดวาอารามก็ดี ไม่ใช่เนื้อหาสูงสุด ไม่ใช่แก่น แต่มันก็มีความหมาย พาให้เราเข้าถึงประโยชน์ที่สูงสุดที่อยู่ซ่อนในนั้น เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำความเข้าใจ หากเราอยากจะเข้าใจมัน”
“พระอาจารย์เชื่อมั่นว่า ศาสนาที่แท้ไม่ได้อยู่ในวัตถุสิ่งของ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ‘บุโรพุทโธ’ ที่เป็นพุทธศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเจดีย์ละลานตา จะต้องมีพระ มีชาวพุทธจำนวนมากตามกัน แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง? รู้มั้ย?“
เด็กน้อยส่ายหน้า
“…ตอนนี้ เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีพระอยู่อาศัยแล้ว ที่หนูว่าจะลดวัดต่างๆ ลงนี่ หนูคิดว่าจะเอาไปทำอะไรเหรอ?”
“คืออย่างเอาไปเป็น ‘สวนสาธารณะ’ อย่างเนี่ยน่ะค่ะ”
“ดีนะ…เข้าท่า พระอาจารย์ชอบ
คนอื่นจะได้มาใช้กันเยอะๆ มีต้นไม้ มีสัตว์ต่างๆ ด้วย ทุกคนจะได้สบายใจ”
เด็กน้อยตาวาว
“แต่เราสามารถทำให้วัดมีต้นไม้เยอะๆ ได้มั้ยล่ะ ทำวัดให้เหมือนสวนสาธารณะไง ไอเดียดีมั้ย?”
รอยยิ้มเด็กน้อยผุดขึ้น
“…ซึ่งถึงแม้พระอาจารย์ไม่อยากให้เราติดอยู่ที่วัตถุหรือรูปแบบพิธีกรรมขนาดไหน พระอาจารย์ก็เห็นประโยชน์ของมันอยู่นะ
หนูดูนั่นสิ !” ปลายนิ้วชี้ไปที่ ‘กล่องไม้แกะสลัก’
เด็กๆ ทั้งห้องหันหน้าไปมองเป็นตาเดียว
“…กล่องนี้อาจจะเป็นกล่องไม้ธรรมดาๆ ไม่มีค่าอะไร แต่พอแกะสลักปุ๊บ ดูมีค่าขึ้นมาทันทีเลย ดูแตกต่างจากกล่องอื่นๆ ช่างที่ทำก็ต้องมีฝีมือ มีเวลา ทุ่มเทเอาใจใส่กว่าจะเกิดผลงานเช่นนี้ขึ้น
“…ถ้ามีกล่องไม้หลายๆ กล่อง แล้วจะต้องเลือกเก็บไว้สักหนึ่งอัน กล่องนี้คงเป็นกล่องแรกๆ ที่ถูกเลือกไว้ก่อน
“…นี่เรียกว่า ‘คุณค่าของความสวยงาม’
พวกโบสถ์ เจดีย์ สถานที่สวยๆ งามๆ คนก็จะมาดูแลรักษาก่อน ทำความสะอาด เก็บรักษาการใช้งานที่จะเกิดขึ้นภายในอาคารเหล่านี้ พระอาจารย์เดาว่า แรกเริ่มเดิมทีธรรมเนียมนิยมในการสร้างวัดให้สวยงาม คงคิดกันแบบนี้”
บุญบาป
“อีกนิดนะ เรื่องบุญหรือบาป ชวนหนูทำความเข้าใจความหมายก่อน
บุญ แปลว่า การชำระใจให้สะอาด
บาป แปลว่า การทำให้จิตใจตกต่ำ เศร้าหมอง”
“การที่หนูอยากจะทำสวนสาธารณะ นี่บุญหรือบาป?”
“บุญค่ะ”
“ถ้าหนูรู้สึกรำคาญ อยากจะทุบวัดให้หมดๆ ไป นี่บุญหรือบาป?”
“บาปค่ะ”
“แล้วถ้าหนูกราบด้วยความเข้าใจ อยากจะฝึกตนเองให้อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมรับฟังธรรมะจากพระ นี่บุญหรือบาป?”
“บุญค่ะ”
“การที่หนูกราบแบบขอไปที หลงๆ ลืมๆ ทำตามเพื่อนๆ ไป นี่บุญหรือบาป?”
เด็กน้อยนิ่ง เหลือบตามองบน
“ยังไม่ชัดใช่มั้ย?”
“ค่ะ“
เธอพยักหน้าแรง
“งั้นพระอาจารย์ก็ฝากหนูสังเกต ‘ใจ’ ตัวเองนะ ว่ามันเป็นยังไง บุญหรือบาป สะอาดหรือตกต่ำ ไม่ใช่แค่การกราบ แต่เป็นทุกๆ การกระทำ คำพูด และความคิดเลย”
“นี่พระอาจารย์ พอจะตอบคำถามหนูได้กี่เปอร์เซ็นต์?”
“ร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ”
“เหรอ…โอเค ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำถาม”
เด็กๆ พากันกราบแล้วเดินออกจากศาลาไป
ผู้เขียนอาศัย ‘ตีเหล็กตอนร้อน’ พิจารณาทบทวนคำถามและคำตอบเมื่อสักครู่
คำถามของเด็กน้อยคนนี้ ไม่ใช่เด็กๆ เลย
คำถามเธอเป็น ‘ผู้ใหญ่’ มากกว่าผู้ใหญ่หลายคนที่เคยถามมาเสียอีก
มันทั้งคมคาย ละเอียดและมีชั้นเชิง
น้ำเสียงชัดเจน มั่นใจ เลือกแสดงออกอย่างกล้าหาญพร้อมเจือความสุภาพนอบน้อมอยู่ในที ถามได้ตรงประเด็น เกิดประโยชน์ สร้างรอยหยักในสมองให้ทั้งผู้ถูกถามและผู้ร่วมฟัง
ระหว่างฟัง เธอมองหน้าและคิดตาม มีปฏิกิริยาตอบสนอง ช่วยให้เกิดการร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นผู้ฟังที่ดีไม่ขัดจังหวะ และที่สำคัญรอยยิ้มและแววตาของเธอได้กระจายไปให้กำลังใจเพื่อนๆ ในห้องด้วย
เหตุการณ์นี้มันทำให้ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอม ภูมิใจที่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ ในวันนี้ เวลานี้ ได้ใช้ความรู้ที่สั่งสมมาอธิบายให้ใครสักคนฟัง
ดีใจจริงๆ ที่ยังมีเด็กจิตใจงดงาม รักธรรมชาติ และคิดทำประโยชน์สุขให้ผู้อื่นอยู่ แถมเธอยังรู้และสนใจใน “พุทธะ” ที่เป็นแก่นสารสาระที่แท้จริงอีกด้วย
“มันน่าภูมิใจจริงๆ ที่ได้รับรู้ว่าธรรมะกำลังเคลื่อนไปสู่คนรุ่นหลัง จริงมั้ยครับ?”
ผู้เขียนไม่ได้ถามใคร
ได้แต่หันไปมองรูปปั้นหินอ่อนลักษณะคล้ายคนที่ตั้งอยู่ข้างหลัง น้อมระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ ผู้เป็นบรมครู ไม่เสื่อมคลาย
อาศรมขันติสาร
บ้านไม้ที่เขาเรียกกุฏิ
๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๖
ที่มา Facebook Phramaha Fookij Jutipanyo