"ความทุกข์" มาจาก "ความอยาก"

Share

เข้าใจให้ถูก, พระไพศาล วิสาโล,

    ความทุกข์ของคนทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด วัยเด็กวัยหนุ่มสาววัยชรา ผู้หญิงผู้ชาย เศรษฐีวณิพก ใครก็ตามแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางด้านศาสนา ภาษา สีผิว เศรษฐานะ แต่เมื่อพูดถึงความทุกข์แล้ว ก็สรุปได้แค่สอง ไม่ค่อยพ้นไปจากนี้เท่าไหร่นั่นคือ ทุกข์เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่พอใจ แล้วก็ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก สิ่งที่พอใจ อันนี้เป็นสัจธรรมก็ว่าได้ที่พระพุทธเจ้าทรงสรุปไว้อย่างกระชับ

     บทสวดมนต์ทำวัตรเช้าทุกเช้า ถ้าเรารู้จักคำแปล เราก็จะพบกับ 2 ประโยคนี้อยู่เป็นประจำ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์

    ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เช่นอะไรบ้าง เช่น อากาศร้อนอากาศหนาว เสียงดัง  ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ความเจ็บป่วย ความแก่ชรา คำต่อว่าด่าทอ ความล้มเหลว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งโลกประสบทั้งนั้น แล้วก็ทุกข์กับเรื่องนี้ทั้งนั้น

     และไม่ใช่เพราะว่าประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ แต่ยังพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักที่พอใจเช่นอะไรบ้าง เสียเงินหรือว่าเสียยศ เสียตำแหน่ง เสียอำนาจหรือว่าสูญเสียคนรัก ไมว่าจะจากเป็นหรือจากตาย รวมถึง การสูญเสียกำลังวังชา สูญเสียความสามารถสมรรถนะ เช่นพอแก่ตัวลง ความจำก็เริ่มเสื่อม ไม่สามารถที่จะมีความสามารถเหมือนแต่ก่อน ซึ่งความสูญเสียที่ว่าหรือความพลัดพรากที่ว่า มันก็หนีไม่พ้น 4 - 5 เรื่องนี้

1.เรื่องทรัพย์

2.เรื่องร่างกาย

3.งานการรวมถึงการเรียน

4.ความสัมพันธ์หรือคนที่เราผูกพันด้วย

     ความทุกข์ของคนเรา 8 พันล้านคนในปัจจุบันของคนทั้งโลกแม้จะทุกข์ด้วยเหตุผลต่างๆนานาแต่สุดท้ายก็มีเหตุผล 2 ข้อนี้ ลองพิจารณา แต่ที่จริงแล้วมีอีกข้อหนึ่งที่เราสวดมนต์หรือสาธยายอยู่เป็นประจำ เหมือนกันนั่นคือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ นั่นก็คือเหตุแห่งทุกข์ประการที่ 3 ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นส่วนต่อเติมเสริมขยายของทุกข์ 2 ประการแรก

     ทุกข์ 2 ประการแรก ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจมันหมายถึงความเปลี่ยนแปลงในทางลบ พูดอย่างง่ายๆคือ อยู่ในความยึดติดลบ เมื่อเจอเหตุร้าย ความเจ็บป่วยความสูญเสียเงินทอง ทรัพย์เปลี่ยนแปลง คนรักตายจาก พวกนี้คือความเปลี่ยนแปลงในทางลบคือภาวะที่เราเรียกว่ามันไม่เหมือนเดิมและเป็นความไม่เหมือนเดิมที่เป็นลบ

     ในขณะที่ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เช่น ปรารถนาโชคลาภแต่ไม่ได้ ปรารถนารางวัลแต่ไม่ได้ ปรารถนาคำชื่นชมสรรเสริญแต่ไม่ได้ อันนี้มองในแง่หนึ่งมันคือเท่าทุน ก็คือว่าสถานการณ์ยังคงเดิม ไม่ได้เสีย อะไรไปเลยเพียงแต่ไม่ได้แค่นั้นเอง ไม่ได้โชคไม่ได้ลาภ ไม่ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ อันนี้มองในแง่หนึ่ง มันก็น่าจะเป็นเหตุให้ทุกข์น้อยกว่า  ไม่เหมือนกับว่าติดลบ ปรารถนาไม่ได้สิ่งนั้นมองในแง่หนึ่งมันก็คือเท่าทุน แม้กระนั้นคนก็ยังมีความทุกข์ อยากได้โชคอยากได้ลาภแต่ไม่ได้รับ มันก็ทุกข์ อยากได้คำชื่นชมสรรเสริญ อยากได้รางวัล แต่ไม่ได้ มันก็ทุกข์ทั้งที่ไม่ได้เสียอะไรไปเลย เพียงแต่ไม่ได้อย่างที่อยาก แต่มองในแง่หนึ่งมันก็เป็นเหตุทุกข์ที่ประมาทหรือมองข้ามไม่ได้ แม้ว่าในหลายสถานการณ์เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเท่าทุน ไม่ขาดทุนไม่ติดลบ แต่ว่าความทุกข์ของคนเราในแต่ละวันๆ หนีไม่พ้นจากเรื่องนี้แหละ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น

     พูดง่ายๆ คืออยากอะไรแล้วไม่ได้อย่างที่อยาก หรือว่าได้ไม่สมอยาก อาจจะได้เหมือนกันแต่ว่าได้ไม่เต็มอยาก อยากได้ร้อยแต่ได้แค่สิบ อยากได้ล้านแต่ได้แค่พัน มันก็ทุกข์ ที่จริงไม่น่าทุกข์นะ เพราะว่าไม่ได้ขาดทุน ไม่ได้เสียอะไรเลย แต่ว่าได้น้อย แต่คนก็ทุกข์มาก มันเป็นสัจธรรมนะ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น อยากได้อะไรไม่ได้อย่างที่อยาก

     แล้วพูดถึงความอยากนี่ มันมีความอยากร้อยแปด ไม่ใช่แค่เรื่องโชคลาภ ไม่ใช่แค่รางวัล อยากจะอยู่จนแก่ อยากจะให้คนรักมีชีวิตรอดจากความเจ็บป่วย จนไปถึงว่าอยากให้เพื่อนที่นัดเอาไว้มาตรงเวลา อยากให้อาหารที่สั่งมันอร่อยเหมือนที่เคยกิน แต่ไม่ว่าจะอยากอะไร ถ้าไม่ได้อย่างที่อยาก มันก็ทุกข์ ที่น่าคิดก็คือว่า ความทุกข์มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่อยากนี่มันสำคัญแค่ไหน ไม่ใช่ว่าอยากในสิ่งที่สำคัญแล้วไม่ได้มันจะทุกข์มากกว่าอยากสิ่งที่ไม่สำคัญแล้วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะจริงๆ แล้วจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ หรือทุกข์มากหรือทุกข์น้อย มันไม่ได้อยู่ที่ว่าสิ่งที่อยากมันมากมันสำคัญหรือไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ว่าความอยากมันมากหรือน้อยแค่ไหน

    อยากได้สิ่งที่มันสำคัญแต่ว่าความอยากนั้นไม่มาก เช่น มีพ่อแม่ที่เจ็บป่วยอยู่ในระยะท้าย อยากจะให้ท่านมีชีวิตรอด แต่ว่าความอยากก็ไม่มาก เพราะเข้าใจความจริงของชีวิต เพราะเห็นว่าท่านก็อายุร้อยแล้ว ฉะนั้นถ้าเกิดได้ไม่สมอยาก คือท่านไม่รอด ท่านเสียชีวิต อาจจะทุกข์น้อยกว่าคนที่อยากได้สิ่งที่เล็กน้อย แต่ว่าความอยากนั้นมาก เช่น อยากจะให้คนมาตรงเวลา อยากจะให้นักเรียนอยู่ในระเบียบ ฟังครู  สอนด้วยความตั้งใจ ไม่พูดคุยกัน หรือว่าเจ้าอาวาสอยากจะให้พระในวัดฉันเงียบๆ ไม่พูดไม่คุยกัน สิ่งที่อยากนี่มันเล็กน้อย เมื่อเทียบกับว่าอยากให้คนที่รักมีชีวิตรอด แต่แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อย แต่ถ้าความอยากมันเยอะ มันก็ทุกข์มากกว่า ทุกข์มากกว่าคนที่อยากในเรื่องที่สำคัญ แต่ว่าความอยากมันไม่มาก ครูที่อยากจะให้นักเรียนตั้งใจฟัง ไม่พูดคุยกัน ไม่ก้มหน้าดูโทรศัพท์ ถ้าอยากมากๆ แล้วปรากฏว่าเด็กไม่ทำตามอย่างที่อย่างนี่ ครูโกรธเลยนะ โกรธอย่างรุนแรง บางทีเอาของที่อยู่ใกล้มือขว้างปาหัว หรือว่าเจ้าอาวาสอยากจะให้พระในวัดฉันเงียบๆไม่พูดไม่คุยกัน ที่จริงก็ไม่ใช่เป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร แต่ถ้ามีบางคนยังพูดคุยกัน แล้วความอยากของเจ้าอาวาสมีมาก นี่โกรธนะ จนลืมตัวอาจจะตะโกนด่า อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะความอยาก และทุกข์เกิดจากความอยาก ที่อยากมีมาก อันนี้เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยเท่าตระหนัก ไม่ค่อยตระหนักว่าความทุกข์มันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าสิ่งที่อยากมันใหญ่หรือเล็ก สำคัญหรือไม่สำคัญ แต่มันอยู่ที่ปริมาณความอยากในใจว่ามากหรือน้อย

    เวลาปรารถนาหรืออยากอะไรแล้วไม่ได้ เช่น อยากจะให้นักเรียนอยู่ในความสงบ ไม่พูดไม่คุยกัน แต่พอมีนักเรียนบางคนพูดคุย ทำให้ความสงบเสียไป ครูไม่ได้อย่างที่อยากก็โกรธ แล้วก็มักจะเข้าใจว่าความทุกข์หรือความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเด็กคนนั้น หรือเวลาเราต้องการความสงบในการปฏิบัติธรรม แล้วปรากฏว่ามันมีความไม่สงบ มีเสียงดังเกิดขึ้น มีคนพูดคุยกัน หลายคนก็จะโกรธ โกรธเสียงที่มันแทรกเข้ามา หรือโกรธคนที่พูดคุยกัน ที่มารบกวนความสงบ แล้วก็โทษว่าคนนั้นแหละเป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ต้องจัดการ อาจจะด่า อาจจะโวยวาย แต่ที่จริงแล้วเหตุแห่งทุกข์มันไม่ใช่คนเหล่านั้น ที่ทำให้เราไม่ได้อย่างที่อยาก แต่เป็นเพราะความอยากในใจของเราต่างหาก เพราะถ้าเราอยากมากแล้วไม่ได้อยาก มันก็ทุกข์ แล้วก็อาจจะระบายออกมาเป็น ความโกรธ พูดง่ายๆ คือว่าเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้อยู่ที่นอกตัว ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่ใจเรา อยู่ที่ความอยากนั่นเอง ทุกข์มากหรือทุกข์น้อย อยู่ที่อยากมากหรืออยากน้อย ถ้าอยากมากแล้วไม่ได้อยากที่อยาก แม้สิ่งนั้นมันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็อาจจะโกรธมาก

    มีนักปฏิบัติธรรมบางคนมาปรึกษาครูบาอาจารย์ บอกว่าอยากจะไปปฏิบัติให้มีความรู้สึกตัว ให้มีความสงบ แต่ไม่พบความสงบเลย ผิดหวังมาก ไม่ใช่แค่อยากสึกนะ อยากจะฆ่าตัวตาย โอ้ อะไรปานนั้นนะ แค่ ความไม่สงบ มันจะทำให้คนเราถึงกับฆ่าตัวตายหรือ ที่จริงมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่โต แต่พอมีความอยากมากๆ มันก็ยึด พอยึดมากๆ ไม่ได้อย่างที่อยาก แม้สิ่งที่อยากมันจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ใหญ่ต่ออะไร แต่ก็สามารถทำให้คนบางคนทุกข์กลัดกลุ้มใจ จนกระทั่งไม่อยากอยู่

    อันนี้ก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นหลายคนเลย เห็นใบหน้าตัวเองมีสิวนี่ ไม่อยากให้มีสิวเลย พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สิวมันหายไป แต่ว่าสิวก็ไม่หาย ความอยากจะให้สิวมันหาย อยากจะให้ใบหน้าเกลี้ยงเกลานี่มันรุนแรงมาก แต่ครั้นไม่ได้อย่างที่อยาก ใบหน้าไม่เกลี้ยงเกลา สิวไม่หาย ทุกข์มากเลยนะ อยากจะฆ่าตัวตายก็มี บางคนก็บอกว่าเป็นวิกฤตของชีวิตเลยทีเดียว

    ที่จริงเรื่องสิวเป็นเรื่องเล็กน้อย คนบางคนเป็นมะเร็ง แต่เขาไม่เห็นทุกข์ขนาดนั้นเลย ทำไมถึงทุกข์ บางคนมีสิวนี่ทุกข์กว่าคนที่เป็นมะเร็ง สิวมันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ไม่ใช่เป็นเรื่องความเป็นความตาย แต่สำหรับบางคนเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะอะไร เพราะความยึดความอยากนี่มันแรงกล้า ก็อย่างที่บอก สิ่งที่อยากมันจะสำคัญหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความทุกข์ของคนเราไม่ได้อยู่ที่ว่าสิ่งที่อยากมันใหญ่หรือเล็ก สำคัญหรือไม่สำคัญ แต่มันอยู่ขนาดของความอยากมากกว่า ถ้าอยากมากแล้วไม่ได้อย่างที่อยากก็ทุกข์ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยก็ตาม

     เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ ต้องกลับมาที่จัดการความอยากในใจเรา ไม่ใช่ไปมัวจัดการกับสิ่งต่างๆ หรือคนที่อยู่รอบตัวเรา ที่ทำให้เราไม่ได้อย่างที่อยาก เช่น อยากได้ความสงบ แต่เขามาทำลายความสงบ อยากให้วัดมีระเบียบ อยากให้โรงเรียนมีระเบียบ แต่ว่ามีบางคนส่งเสียงดัง ไม่ทำตามระเบียบ ก็ไปจัดการกับคนเหล่านั้นหรือสิ่งเหล่านั้น จนลืมมาจัดการที่ใจ ว่าเป็นเพราะเรายึดเราอยากมากเกินไปหรือเปล่า

     สิ่งที่ทำทำให้เกิดระเบียบขึ้นมันก็ดี เราเรียกว่าทำกิจ แต่ก็อย่าลืมทำจิตด้วย โดยเฉพาะถ้าหากไม่อยากทุกข์ ทีนี้เราจะจัดการกับความอยากอย่างไร อย่างน้อยก็ต้องรู้ทันก่อน มันมีความอยากเกิดขึ้นต้องรู้ทัน ไม่ใช่ปล่อยใจไปตามความอยาก แล้วไปจัดการกับสิ่งภายนอกให้ได้สมอยาก บางคนมีความอยากรวย แต่มันไม่รวยสักที ก็เลยไปสรรหาวิธีการ ไม่ใช่แค่เล่นหวย บางทีเล่นการพนัน เล่นการพนันหลายวิธี  ทั้งไพ่ทั้งโป ทั้งพนันออนไลน์ บางทียังได้ไม่สมอยากก็ทุจริตเสียเลย มัวไปจัดการกับสิ่งภายนอก จนลืมแก้ทุกข์ด้วยการจัดการที่ใจของตน

    คนส่วนใหญ่แก้ทุกข์ด้วยการพยายามไปทำให้สมอยาก แต่ลืมไปว่าความอยากของตัวเองนั่นแหละที่ทำให้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าความอยากลดลง แม้ไม่สมอยาก ไม่ได้อย่างที่อยาก มันก็ถูกน้อย แล้วเราต้องหมั่นรู้ทันความอยาก เห็นความอยากที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่มัวแต่ส่งจิตออกนอก ไปแก้ทุกข์ที่ข้างนอก แต่ต้องกลับมาแก้ทุกข์ที่ใจ แก้ทุกข์ที่การรู้ทันความอยาก

    แล้วก็สำคัญนะ รู้ทัน อันนี้มันก็มีอานุภาพเยอะ ไม่ใช่กดข่ม กดข่มความอยากก็ไม่ใช่ อันนี้เป็นอันตรายเหมือนกัน ทำนองเดียวกับการกดข่มความโกรธ มันก็ทำให้อัดอั้นตันใจ พร้อมจะระเบิดออกมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ความอยากก็เหมือนกัน กดเอาไว้นี่มันจะระเบิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ บางคนช่วงเข้าพรรษาตั้งใจจะถือศีล 5 ให้ครบ แต่ว่าตัวเองติดเหล้า ก็พยายามกดข่มความอยากเหล้า ไม่มีวิธีอื่นที่จะจัดการกับความอยาก  ก็ได้แต่กดข่มเอาไว้ แต่พอถึงวันออกพรรษานี่ ความอยากที่กดข่มไว้มันระเบิดออกมา แค่วันเดียวเท่านั้น กินเหล้าเมาเลย เมามายจนกระทั่งไม่เป็นผู้ไม่เป็นคนเลย ทั้งๆ ที่ช่วงเข้าพรรษานี่ไม่แตะเหล้าเลย แต่นั่นเป็นเพราะความกดข่มความยาก พอถึงเวลาที่จะปล่อยผี ผีแห่งความอยากมันก็ระเบิดออกมา กินเหล้าจนไม่เป็นผู้เป็นคน ไปทำร้ายเมียด้วยความเมามาย เมียก็ฮึดสู้ คว้าอาวุธอะไรที่อยู่ใกล้มือได้ก็เอามาป้องกันตัว ปรากฏว่าผัวนี่ตายเลย เพราะว่าต้องการทำร้ายเมียด้วยความเมามาย เมียก็ต้องต่อสู้ นี่เรียกว่าเก็บกด

     ความอยากนี่มันเก็บกดไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำตามความอยากไปตะพึดตะพือก็อันตราย หรือปล่อยให้ความอย่างมันเฟื่องฟูในใจ แล้วพอไม่สมอยากก็ทุกข์ คับแค้นใจ แต่จะดีกว่าถ้าเรารู้จักรู้เท่าทันมัน รู้เท่าทันมันแล้วก็ไม่ให้มันครองใจ

    พ่อแม่บางคนก็สอนลูก ลูกอยากได้ของเล่น อยากได้โทรศัพท์มือถือราคาแพง แม่ก็ไม่ได้ให้ง่ายๆ แต่บอกว่าให้มาดูความอยาก ไปที่ร้านดูของแล้วก็ดูความอยากไปด้วย ให้ทำสักอาทิตย์หนึ่ง เป็นเงื่อนไขเพื่อที่แม่จะให้เงินลูกไปซื้อของอย่างที่ต้องการ แต่ก็หักเงินจากลูกด้วยนะ ไม่ใช่ให้ไปเปล่าๆ ปรากฏว่าลูกไปดูของที่ร้านแล้วก็ดูความอยาก สังเกตความอยากของตัวเองไปได้สักแค่ 3 - 4 วัน ก็บอกแม่ว่าไม่เอาแล้ว ไม่อยากแล้ว

    ความอยากมันก็เช่นเดียวกับอารมณ์ต่างๆ มันไม่คงทนต่อการถูกรู้ถูกเห็น มันกลัว ถ้าเข้าไปรู้ไปเห็นมันด้วยสติ มันก็จะค่อยๆ ฝ่อลงไป แต่ส่วนใหญ่คนเราไม่ค่อยมีโอกาสที่จะมาดู หรือไม่สนใจที่จะดูความอยาก ปล่อยใจไปตามความอยากอย่างง่ายๆ มันก็เลยเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ต่อกิเลส ต่อความอยาก จนเสียผู้เสียคน จนเป็นหนี้เป็นสิน บางทีก็ติดการพนัน หรือว่าอาจจะหนักกว่านั้น

     ถ้าเราหัดรู้จักดูความอยาก เห็นมัน แล้วยิ่งถ้าเราเห็นโทษของความอยาก ว่าความอยากคือเหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัย ความไม่สมอยาก หรือเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่สมอยาก เช่นคนบางคนหรือสิ่งบางสิ่งที่ทำให้ ไม่สมอยาก ยังไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง เหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงคือความอยากนั่นแหละ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไปคิดว่าคนก็ดี สิ่งต่างๆ ก็ดีที่ ทำให้เราไม่สมอยาก คือตัวปัญหาที่ต้องจัดการ อันนั้นมันแก้ปัญหาผิดจุด อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักสมุทัยที่แท้

     สมุทัยที่แท้อยู่ที่ความอยากในใจ ซึ่งมันนำสู่ไปสู่ความยึด อยากกับยึดนี่มันเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วที่จริงถ้าเราไปดูนะ โยงเรื่องนี้มาถึงเรื่องเหตุแห่งทุกข์ 2 ประการที่กล่าวมานี่ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ จริงๆ แล้วมันจะมีความอยากเข้าไปผสมโรงด้วย อยากให้ไม่ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ อยากประสบกับสิ่งที่รักที่พอใจ

     ลำพังแค่ประสบการณ์สิ่งที่ไม่รักไม่พอใจมันก็ทุกข์แล้ว หรือพลัดพรากจากสิ่งที่ได้รักที่พอใจมันก็ทุกข์อยู่แล้ว แต่พอมีความอยากสำทับเข้าไป อยากไม่ให้สิ่งที่รักที่พอใจพลัดพรากไป สูญเสียไป หรืออยากให้ไม่ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ หรือไม่ประสบกับเรื่องในทางลบ ยิ่งทำให้ทุกข์มากขึ้น

     ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ มันหนีไม่พ้นนะคนเรา หรือพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ก็เป็นสิ่งที่คนเราหนีไม่พ้น แต่ถ้าเราไม่ให้ความอยากเข้ามาผสมโรงในสองสิ่งนี้ มันก็จะทุกข์น้อยลง ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เช่น ความเจ็บความป่วย ความแก่ คำต่อว่าด่าทอ มันก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว แต่ถ้าตั้งความมุ่งมั่นว่าฉันขอให้ได้เจอสิ่งเหล่านี้เลย พอเจอเข้ามันทุกข์กว่าเดิม หรือว่าขอให้ฉันได้พบกับสิ่งที่รักที่พอใจ แค่นี้พอไม่ได้ก็ทุกข์อยู่แล้ว แต่ถ้ามีความอยาก อยากให้ได้สิ่งที่รักที่พอใจ ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่

     เราอาจจะหนีไม่พ้นนะ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ หรือพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ หนีไม่พ้น แต่อย่างน้อยอย่าให้ความยากมันเข้าไปเจือปนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราอยากจะดำเนินชีวิตให้มีความ ทุกข์น้อยลง อย่างน้อยๆ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น หรือว่าความยึดความยากของเรา ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ก็อย่าให้มันครองจิตครองใจมาก มันมีได้ คนเราหนีไม่พ้นหรอก เพราะยังมีกิเลสอยู่ แต่ว่าก็ให้รู้ทัน  แล้วก็เตือนตนอยู่เสมอ ว่ามีความอยากเมื่อไหร่ มันก็มีความทุกข์เมื่อนั้น แล้วอยากมากก็ทุกข์มาก อยากน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ว่าสิ่งที่อยากจะเป็นอะไรก็ตาม

     เมื่อเรารู้เห็นโทษของความอยากแล้ว ก็จะได้จำกัดขอบเขตความอยาก ไม่ให้มันรุนแรงเกินไป หรืออย่างน้อยก็รู้ทัน แล้วก็เตือนตนด้วยนะว่ามันไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีใครที่ได้ทุกอย่างสมอยาก ฉะนั้นถ้าอยากสิ่งใดก็เตรียมใจทุกข์ไว้ได้เลย อันนี้ก็ช่วยเตือนสติให้กับคนเราได้.

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2566