ปฏิบัติธรรมไม่ต้องที่วัด...แต่ทุกๆ ที่

Share

พระไพศาล วิสาโล,

    หลายคนเวลามาวัดป่าสุคะโต ก็จะบอกคนที่บ้านหรือบอกเพื่อนๆ ว่าจะมาปฏิบัติธรรม หรือบางทีถ้ามีคนถามไปวัดทำอะไร ก็บอกไปปฏิบัติธรรม ที่จริงการปฏิบัติธรรมทำที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องมาวัดป่าสุคะโตจึงจะปฏิบัติธรรมได้ อยู่ที่บ้านก็ปฏิบัติธรรมได้ หรือที่ทำงานก็ปฏิบัติธรรมได้

    ปฏิบัติธรรมมันไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาเข้าคอร์ส ที่จัดโดยวัดหรือจัดโดยที่ไหน ขึ้นชื่อว่าการนำธรรมะไปปฏิบัติ ไม่ว่าธรรมะข้อใดก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมได้ทั้งสิ้น เช่น การให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อัน นี้ก็ปฏิบัติธรรม รวมทั้งการรักษากายวาจาไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร คือรักษาศีล 5 ก็เป็นปฏิบัติ แต่ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงปฏิบัติธรรม เราก็มักนึกถึงภาวนาหรือการฝึกจิต ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยนึกว่าทานและศีลก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน

     ที่จริงหลายคนก็คงจะรู้ว่าปฏิบัติธรรมมีความหมายกว้าง แต่เวลาจะพูดให้คนเข้าใจว่าจะมาเจริญสติปัฏฐาน เราก็ใช้คำว่าปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ แต่แม้ว่า “ปฏิบัติธรรม” เราจะมีความหมายเจาะจงไปถึงการภาวนา หรือว่าการบำเพ็ญทางจิต เราก็ต้องเข้าใจว่า มันไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การมาฝึกจิตให้มีธรรมเท่านั้น

     การปฏิบัติธรรมในระดับของของการภาวนา ความหมายหนึ่งก็คือการฝึกจิตให้มีธรรม เช่น ฝึกจิตให้มีสติ ฝึกจิตให้มีสมาธิ ฝึกจิตให้มีปัญญา ที่เรามาที่นี่ เราก็มาปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ คือมาฝึกจิตให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว แต่ว่าปฏิบัติธรรมมีอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่แค่การฝึกจิตให้มีธรรม อาจจะรวมไปถึงการใช้ธรรมเพื่อกำกับจิตหรือเพื่อรักษาจิตด้วย อันนี้สำคัญกว่า คือฝึกจิตให้มีสติ ส่วนฝึกจิตให้มีธรรมก็สำคัญแต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น สิ่งสำคัญกว่าก็คือการนำธรรมะไปกำกับจิตหรือไปรักษาจิต ธรรมะที่ว่านี้อาจจะได้แก่สติ สมาธิ ความรู้สึกตัว หรือว่าปัญญาก็ได้

     ปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องมาทำที่วัด ที่ไหนก็จำเป็นที่จะต้องนำธรรมะที่ฝึกมา ไปใช้ในการรักษาจิต รักษาจิตไม่ให้ทุกข์ แล้วก็กำกับจิตไม่ให้กิเลสมันครอบงำ กำกับพาเราเข้ารกเข้าพง หรือพาเราไปจมอยู่ในความทุกข์ เพราะว่าผิดศีลผิดธรรม และต้องเข้าใจปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ด้วย เพราะถ้าเข้าใจปฏิบัติธรรมแต่เพียงว่าฝึกจิตให้มีธรรม มันก็ต้องมาลงเอยกันที่มาวัด มาปฏิบัติธรรม หรือไปเข้าคอร์ส แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติธรรมหมายความถึง การเอาธรรมะมาใช้รักษาจิตหรือกำกับจิต มันก็หมายถึงว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่บนท้องถนน เราก็จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม เพราะว่าเวลาไปอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน หรืออยู่ที่โลกภายนอก เราจะเจอสิ่งกระทบหลายอย่าง กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องเจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ ไม่ถูกใจ อย่างที่ทางพระเรียกว่าอ นิฏฐารมณ์ หรือมิฉะนั้นก็เจอโลกธรรมฝ่ายลบซึ่งไม่มีใครชอบ โลกธรรมฝ่ายลบก็คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา แล้วก็เจอกับความทุกข์

     ตรงนี้แหละที่การปฏิบัติธรรมสำคัญมาก เพราะมันเป็นการเอาธรรมะมาใช้ในการรักษาจิต ในการกำกับใจ รักษาจิตไม่ให้ทุกข์ กำกับจิตไม่ให้กิเลสมันชักนำไป ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โดยเฉพาะเวลาเจอสิ่งที่ยั่วยุที่ชวนให้โกรธเกลียด หรือเย้ายวนให้มีความโลภหรือเกิดราคะ พวกนี้พอเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ รุ่มร้อน แล้วก็สามารถที่จะชักนำให้เราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นการหาทุกข์มาใส่ตัว หรือสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ

     ให้เราเข้าใจปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน เจออะไร เราก็ปฏิบัติธรรมได้ แล้วก็จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมด้วย เพราะถ้าเราไม่เอาธรรมะมาใช้ในการรักษาจิต กำกับใจ เราก็จะทุกข์ด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียด หรือว่าถูกความโกรธ ความเกลียด ความโลภ มันพาเราเข้ารกเข้าพงไป ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม ผิดศีลผิดธรรม

     การปฏิบัติธรรมในความหมายนี้สำคัญนะ แต่ว่าคนมักจะเข้าใจปฏิบัติธรรมแต่ในความหมายที่ว่าฝึกจิต ฝึกจิตให้มีสติ ฝึกจิตให้สงบ อันนั้นเป็นแค่การซ้อม การตระเตรียม เพื่อให้เราพร้อมในการไปเผชิญกับโลกภายนอก ได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ แล้วก็ไม่ไปสร้างทุกข์ให้กับใคร เพราะคนเราไม่เข้าใจปฏิบัติธรรมในความหมายที่ 2 คือการนำธรรมะไปใช้เพื่อรักษาจิตกำกับใจ จะคิดแต่เพียงว่า ปฏิบัติธรรมคือการฝึกจิตให้มีธรรม หรือฝึกจิตให้มีสติ ฝึกจิตให้สงบ ให้มีสมาธิ ก็เลยมักจะมี ปรากฏการณ์ประเภทว่า เวลาเข้าคอร์สก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง แต่เวลากลับไปบ้าน กลับไปที่ทำงานก็มีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง ตอนที่อยู่ในคอร์สก็อาจจะสงบ สำรวม แต่พอกลับไปบ้านก็เกิดอาการสติแตก เกิดอาการโกรธ ฉุนเฉียว หงุดหงิด

     อย่างเช่นบางคนตอนที่มาเข้าคอร์ส ก็มาฝึกจิตให้สงบ แต่พอออกจากคอร์สไป ก็ลืมไปว่ากลับไปบ้านก็ต้องปฏิบัติธรรม ก็คือใช้สติในการรักษาใจ ให้สงบ ให้เป็นปกติ เช่น เวลาเจอลูกคุยเสียงดัง ทำบ้านเลอะเทอะ หรือว่าทิ้งของไม่เป็นที่ ก็ต้องรู้จักรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่ใช่อาละวาด กราดเกรี้ยว หีืออว่าโวยวายใส่ลูกด้วยความโกรธ มันคนละอาการกับตอนที่เข้าคอร์สเลย

     ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะลืมไปว่าตอนที่เจอลูกคุยเสียงดัง วางของไม่เป็นที่ ทำบ้านเลอะเทอะ นั่นแหละคือเวลาที่สำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรม ก็คือรักษาใจ เอาธรรมะ เอาสติมารักษาใจ ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้โวยวาย เพราะความลืมตัว การแนะนำสั่งสอนก็ควรทำ แต่ก็ทำอย่างมีสติ ไม่ใช่ทำด้วยความโกรธ แต่คนจำนวนมากพอไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมมีความหมายเพียงแค่การฝึกจิต ไม่ได้รวมไปถึงการเอาธรรมะมาใช้ในการรักษาจิตเวลาเจอสิ่งกระทบ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ถูกใจ มันก็เลยมีพฤติกรรมที่เรียกว่าสวนทางกัน

     แล้วก็มีการพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาพ่อหรือแม่กลับมาจากคอร์ส กลับมาจากการปฏิบัติธรรมนี่ ลูกๆ ก็เตรียมงานเข้าได้เลย เพราะว่าเดี๋ยวแม่กลับมา พ่อกลับมา ก็จะบ่น ก็จะเทศน์ ก็จะว่า ตอนที่ไม่เข้าคอร์สนี่ไม่เท่าไหร่ แต่พอเข้าคอร์สกลับมานี่ อารมณ์จะหงุดหงิด จะหัวเสียมากเป็นพิเศษ เพราะอะไร เพราะเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ เจอสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง หรือเจอสิ่งที่มารบกวนความสงบ พอจิตไม่สงบก็เกิดความหงุดหงิด พอหงุดหงิด ไม่รู้ทันความหงุดหงิดนั้น ก็ระบายความโกรธใส่ลูก ใส่คนที่บ้าน

     อันนี้เขาลืมไปว่าปฏิบัติธรรมมันต้องทำตรงนี้ด้วย หรือทำที่นี่ด้วย ก็คือเวลาเจอสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็รู้จักวางใจได้ถูก รักษาใจให้ถูกต้อง รักษาใจให้เป็นปกติ ไม่ถูกความโกรธ ความขุ่นมัวครอบงำ และถ้าเราเข้าใจปฏิบัติธรรมว่า มันคือการเอาธรรมะมาใช้ในการรักษาจิต เราแล้วก็จะรู้หรือตระหนักว่าอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น แล้วก็จำเป็นด้วย เพราะว่าเวลาอยู่ในโลกภายนอก แม้แต่อยู่ที่บ้าน มันก็จะมีสิ่งไม่ถูกอกถูกใจเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

     แล้วที่จริงแม้จะมีสิ่งกระทบ ถ้าเรารู้จักวางใจให้เป็น โดยใช้ธรรมะที่ฝึกมา มันก็ไม่ทุกข์ เจออากาศร้อน เจอรถติด เจอคำต่อว่าด่าทอ ติฉินนินทา เจอคนกลั่นแกล้ง เจออุปสรรค มันไม่ใช่ว่าจะต้องทุกข์เสมอไป โดยเฉพาะถ้ารู้จักใช้ธรรมะ โดยเฉพาะสติมารักษาใจ มันก็ไม่ทุกข์ ไม่ใช่ว่าเจออนิฏฐารมณ์ เจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ แล้วคนเราจะทุกข์ มันไม่ทุกข์ง่ายๆ หรอก ถ้าหากว่าเอาธรรมะที่ฝึกไว้ มาใช้ในการรับมือกับสิ่งกระทบเหล่านั้น หรือที่ถูกก็คือเอาธรรมะมาใช้รับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบ

    เช่นพอมีคนต่อว่าด่าทอ ติฉินนินทา เกิดความไม่พอใจ ก็เห็นความไม่พอใจที่เกิดขึ้น รู้ทันมัน ไม่ปล่อยให้มันครอบงำ หรือลุกลามจนกลายเป็นความเกลียด เจอสิ่งเย้ายวน เห็นสินค้าอยากได้อยากซื้อ ทั้งที่ก็มีเยอะแล้ว มีความโลภ แต่ว่ามีสติรู้ทัน ก็ไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำใจ นี่คือปฏิบัติธรรม เวลารถติด แต่ว่ารักษาใจไม่ให้หงุดหงิด ไม่ให้อารมณ์เสีย นี่คือปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะมันคือการเอาธรรมะมาใช้ในการ  รักษาจิต แล้วถ้าเรารู้จักปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ เจออะไรมันก็จะไม่ทุกข์ง่ายๆ

     เพราะว่าความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเจออะไร สิ่งสำคัญกว่านั้นคือว่า ทำอย่างไรกับสิ่งที่เจอ เช่นเสียงดัง เสียงดังไม่ทำให้เราทุกข์ ถ้าเราไม่รู้สึกลบกับมัน คนมักจะคิดว่าที่ทุกข์เพราะเสียงดัง แต่ที่จริงไม่ใช่หรอก ที่ทุกข์เพราะเรารู้สึกลบกับมันต่างหาก
   
     อย่างมีโยมคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรม มาฝึกสติที่วัดแห่งหนึ่ง คืนแรกแกนอนไม่ค่อยหลับ แกบอกหลวงพ่อในเช้าวันรุ่งขึ้น นอนไม่ค่อยหลับเลย เพราะอะไร ห่านมันร้องเสียงดัง จนกระทั่งถึงตี 1 ตี 2 ตอนหลังนึกขึ้นมาได้ว่าในโทรศัพท์มือถือ มีอัดเทปคำบรรยายของครูบาอาจารย์หลายท่าน ก็เลยเอาหูฟังเสียบหู แล้วก็เปิดฟังคำบรรยายของครูบาอาจารย์ ปรากฏว่าหลับได้จนเช้าเลย

     อาจารย์ก็เลยถามว่า ตกลงที่นอนไม่หลับ เพราะเสียงดังหรือเพราะอะไรกันแน่ เพราะถ้าบอกว่าเสียงดังนี่ เสียงธรรมะของครูบาอาจารย์นี่ดังกว่าเยอะเลย เพราะว่าเอาหูฟังเสียบหู ทำไมฟังเสียงครูบาอาจารย์  ทั้งที่เสียงดังกว่าเสียงห่าน แต่ทำไมหลับ เสียงห่านเบากว่า ทำไมนอนไม่หลับ มันไม่ใช่เพราะความดังหรอก แต่เป็นเพราะความรู้สึกบวกหรือความลบต่อเสียงที่ได้ยิน เป็นเพราะรู้สึกลบกับเสียงห่าน เลย หงุดหงิดรำคาญ จึงนอนไม่หลับ แต่เพราะรู้สึกดีกับเสียงครูบาอาจารย์ เสียงธรรมะ มันก็เลยหลับ ไม่เกิดความหงุดหงิดรำคาญ   นี่เป็นตัวอย่าง สุขหรือทุกข์ในใจเรา มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเจออะไร แต่มันอยู่ที่ว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร หรือเราปฏิบัติกับมันอย่างไร เสียงดังแต่เรารู้สึกดีกับมัน เราก็ไม่หงุดหงิด เสียงเบา อาจจะเป็นเสียงไพเราะด้วยซ้ำ แต่เราไม่ชอบ รู้สึกลบกับมัน เราก็เกิดความหงุดหงิด เช่นเสียงริงโทนจากโทรศัพท์มือถือ บางทีก็เพราะ และเสียงอาจจะไม่ดังเท่าไหร่ แต่พอมันดังในศาลานี้ เราจะรู้สึกหงุดหงิดเลย ไม่ใช่เพราะความดังของมัน แต่เพราะเรารู้สึกลบกับมัน

     เวลามีใครทำอะไรไม่ถูกใจ แล้วเรารู้สึกไม่ชอบ รู้สึกหงุดหงิด มันไม่ใช่เพราะการกระทำของเขาหรอก แต่เป็นเพราะความรู้สึกในใจของเราต่อสิ่งนั้น หรือความคาดหวัง เราคาดหวังอยากให้เขาเป็นหรือทำอย่างอื่น แต่พอเขาไม่ได้ทำอย่างที่เราคาดหวัง เราก็เลยเกิดความไม่พอใจ แล้วไปโทษว่าเขาเป็นเหตุแห่งทุกข์ของเรา แต่ที่จริงไม่ใช่หรอก มันเป็นเพราะความยึดมั่นในความต้องการของเรา ยึดมั่นในความ  ปรารถนาของเรา พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ไม่เป็นไปอย่างที่เราปรารถนา เราก็เลยเกิดความขัดอกขัดใจ เกิดความเสียใจ เกิดความน้อยใจ เกิดความโกรธ

       และตรงนี้แหละ การปฏิบัติธรรมมันสำคัญ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมคือการเอาธรรมะมากำกับจิต มารักษาใจของเรา แทนที่จะไปมุ่งเปลี่ยนแปลงคนอื่น หรือจัดการสิ่งภายนอก เราเอาธรรมะมาจัดการกับใจของเรา หรือเอามาใช้ในการรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่มารักษาใจให้มีความรู้สึกเป็นบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรืออารมณ์ที่มากระทบ แต่มันอาจรวมไปถึงการรักษาใจให้เป็นกลางๆ หรือรู้สึกเป็นกลางๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้

     เสียงดังแต่ถ้าเรารู้สึกเป็นกลางๆ กับมัน ใจเราก็ไม่ทุกข์ หรือแม้กระทั่งคำติฉินนินทา แต่ถ้าเรามองว่ามันมีประโยชน์ มันเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจเรา เป็นเครื่องฝึกสติ ทำให้เรามีขันติ มีความอดทนมากขึ้น เรา ก็ไม่หงุดหงิด ไม่โวยวาย ตีโพยตีพาย เมื่อเจอเสียงเหล่านั้น นี่คือการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน   แต่แน่นอนการที่เราจะมีความสามารถอย่างนั้นได้ มันก็ต้องอาศัยการฝึกจิต นั่นคือเหตุผลที่เรามาปฏิบัติกัน ที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง เรามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการฝึกจิตให้มีธรรม เช่นฝึกจิตให้มีสติ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราไม่ฝึกจิตให้มีธรรมหรือฝึกจิตให้มีสติ เราก็ไม่มีสติ หรือเราก็ไม่สามารถจะใช้สติในการรักษาใจ เวลาเจอสิ่งที่มากระทบ หรือว่าเจอเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจได้ เช่น การสูญเสียคนรัก ของรัก หรือว่าความเจ็บความป่วย

     ให้เราตระหนักว่าเวลาเจอเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิต เป็นธรรมดาของโลก นั่นแหละคือโอกาสสำหรับการปฏิบัติ อย่าไปคิดว่าเราปฏิบัติธรรมเฉพาะเวลามาเข้าคอร์ส เวลามาอยู่วัด เพราะถ้าคิดแบบนี้ เวลาเราออกไปอยู่กับโลกภายนอก เราก็จะปล่อยใจให้ไหลไปตามอารมณ์ที่มากระทบ ดีใจ เสียใจ ขึ้นลง ปลาบปลื้ม ปิติ หรือว่าหงุดหงิดหัวเสีย  แล้วก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่อุตส่าห์มาวัด เพื่อมาเข้าคอร์ส มาปฏิบัติธรรม แต่เข้าใจปฏิบัติธรรมในความหมายของการฝึกจิต ให้เข้าใจว่านี่คือการซ้อม เหมือนนักกีฬา มันต้องซ้อม แต่การซ้อมกับลงสนามจริงมันคนละอย่าง

     เรามาที่นี่เพื่อมาซ้อม เพื่อมาสร้างเสริมทักษะ สร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับจิต เพื่อที่เราจะออกไปรับมือกับโลกภายนอก แล้วการมาฝึกสติที่นี่ มาฝึกให้เรารู้จักกับมือกับอารมณ์ที่ไม่ชอบ อันนี้สำคัญนะ  อารมณ์ที่ไม่ชอบ อารมณ์ที่เป็นลบ มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ อย่างที่บอกไว้แล้วว่า เราเจออะไรก็ไม่สำคัญ เท่ากับว่าเราทำกับมันอย่างไร ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นระหว่างเดินจงกรม ระหว่างสร้าง  จังหวะ ระหว่างการฝึกจิต มันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ถูกต้องกับสิ่งเหล่านี้

     แล้วการมาฝึกสติที่นี่ มาฝึกเพื่อให้เรารู้จักวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้อง ไม่ผลักไส ไม่กดข่มความคิดที่ฟุ้งซ่าน แม้จะเป็นความคิดเรี่ยราด ไม่ไปกดข่มความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น แต่เพียงแค่รู้ทันมัน เพียงแค่เราไม่ไปยึดติดถือมั่น ไม่ไปผลักไส กดข่มมัน เพราะถ้าเราทำอย่างนั้น นั่นแหละคือที่มาของความทุกข์ เพราะเรายิ่งกดข่มมัน เราก็ยิ่งหงุดหงิดที่ทำไม่สำเร็จ แล้วเราก็เครียด

     ความโกรธ ความขุ่นเคือง มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ถ้าเราเห็นมัน ถ้าเรารู้จักวางใจเป็นกลางกับอารมณ์เหล่านี้ หรือถ้าเราไม่ยึดติดถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้น มันก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้ แต่เพราะเราเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น เราจึงทุกข์ การฝึกสติก็คือการมาฝึกใจให้เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ให้เป็น เราห้ามมันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนกับเราห้ามเสียงดัง อากาศร้อน คำต่อว่าด่าทอ ไม่ให้เกิดขึ้นกับเรานี่ยาก แต่เราสามารถที่จะรับมือกับมัน รู้ทันมัน และไม่ปล่อยให้มันมาบีบคั้น หรือว่าย่ำยีจิตใจได้

     การที่เราจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภายนอก ภายใน ให้มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเรา มันเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เรารู้จักนำธรรมะมารักษาใจไม่ให้เป็นทุกข์ เพราะมัน เราทำได้  โดยเฉพาะเมื่อเรามีสติ มีปัญญา เราก็จะวางใจ หรือมีท่าทีที่ถูกต้องกับสิ่งเหล่านั้น มันมาแต่เราไม่ยึด มีแต่ไม่เอา เกิดขึ้นแต่รู้ทัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ใจก็เป็นปกติ สงบ สงบไม่ใช่เพราะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่สงบเพราะเราวางใจได้ถูกต้อง เพราะใช้สติมารักษาใจ

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2566