ใช้การงานอุปกรณ์ในการปฏิบัติธรรม

Share

การทำงาน, พระไพศาล วิสาโล,

     หลายคนมาที่นี่ก็เพราะความทุกข์มันผลัก มันพามา ถ้าไม่ทุกข์ก็คงไม่มาที่นี่ เพราะว่าที่นี่ไม่สะดวกสบายเท่ากับที่บ้าน แต่มาที่นี่แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะหายทุกข์นะ ต้องลงแรงด้วยการปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่หายทุกข์ แต่ปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่ปฏิบัติเล่นๆ ก็ต้องปฏิบัติจริงๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่กับตัวเอง อยู่กับการปฏิบัติที่มันซ้ำซาก ดูเหมือนจำเจ ต้องทำต่อเนื่องทั้งวัน ชนิดที่เรียกว่าสวนทางกับนิสัย ความเคยชินเดิมๆ  ที่นี่ก็มีแนวทางการปฏิบัติที่สามารถจะช่วยให้ไกลจากทุกข์หรือพ้นทุกข์ได้ นั่นก็คือการเจริญสติ แต่การเจริญสติสำหรับบางคนหรือว่าหลายคน ก็เพียงเพื่อให้หายจากความเครียด ให้จิตได้พบกับความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่จมอยู่ในความวิตกกังวล หรือว่าทำให้ใจเกิดสมาธิ   อันนี้เป็นความมุ่งหวังของคนจำนวนไม่น้อยที่มาที่นี่ และบางคนก็คาดหวังว่าที่นี่จะมีวิธีปฏิบัติที่นิ่งๆ เช่นหลับตาอยู่นิ่งๆ ไม่คิดว่าการภาวนาของที่นี่จะลืมตา แล้วก็เคลื่อนไหวไปมา ถ้าไม่เดินจงกรมก็ยกมือสร้างจังหวะ แถมไม่มีคำบริกรรม ไม่มีการบังคับจิตให้อยู่นิ่งๆ หรือว่าหยุดคิด ก็เลยสงสัยว่าแล้วมันจะช่วยให้หายเครียด ไกลจากความทุกข์ได้อย่างไร
 
 
     ที่จริงการเจริญสติจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราเริ่มต้นด้วยการมีสติรู้กาย เรียกว่าเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นนี่เห็นด้วยตาใน ไม่ใช่ตาเนื้อ และจากเห็นกายเคลื่อนไหวต่อไปก็รู้ใจคิดนึก ความคิดนึกที่ไม่ได้ตั้งใจคิดนี่แหละ ที่มันเป็นตัวการที่ทำให้ผู้คนมีความเครียด มีความทุกข์ มีความวิตกกังวล จมอยู่ในความเศร้า แม้เรื่องราวที่เจ็บปวดจะผ่านไปนานแล้ว หรือยังมาไม่ถึงด้วยซ้ำ แต่ว่ากังวลไปล่วงหน้า ก็เพราะความคิดนี่แหละ  ทีนี้พอมีสติรู้ทันความคิด มันช่วยทำให้ปลดเปลื้องใจออกจากความวิตกกังวล ความเครียด ความหนักอกหนักใจ หรือว่าอารมณ์ต่างๆ ที่เราสรรหามาทำร้ายตัวเอง ยิ่งถ้าเรามีสติเห็นความคิด ก็จะนำไปสู่การ ปล่อยการวางความคิด วางอารมณ์ต่างๆ อารมณ์นี่ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เราทุกข์นะ แม้จะเป็นอารมณ์อกุศล เช่น ความโกรธ ความเกลียด เกิดขึ้นแล้วมันยังไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์หรอก จนกว่าใจเราจะไป ยึดไปถือ หรือว่าเข้าไปเป็น เป็นผู้โกรธ เป็นผู้เกลียด เป็นผู้ทุกข์ แต่ถ้ามีสติโดยเฉพาะสัมมาสติ จะทำให้ใจนี่ปลดเปลื้องจากอารมณ์และความคิดเหล่านี้ได้
 
 
     สิ่งที่ตามมาคือความสงบ สงบไม่ใช่เพราะไม่คิด สงบไม่ใช่เพราะไม่โกรธ มันคิดและมีความโกรธแต่ว่าไม่เข้าไปยึด แทนที่จะหลงอยู่ในความทุกข์ก็กลับมาสู่รู้สึกตัว ใจก็โปร่งโล่ง ก็เกิดความสงบ แต่คราวนี้สงบแล้วมันไม่ใช่ว่าจบแค่นั้น ต้องทำต่อ เพราะการปฏิบัติเราไม่ได้มุ่งเพียงแค่ว่าให้จิตมันปลอดโปร่งจากความคิดและอารมณ์ที่มารบกวน แต่ว่าจะต้องลงลึกไปถึงกิเลส ตัณหา อุปาทาน
 
    สติช่วยทำให้เรารู้ทันกิเลสตัณหาอุปาทานที่มันเกาะกุมจิต หรือแฝงตัวอยู่เบื้องหลังความคิดนึกต่างๆ ถ้าเจริญสติแล้วใจแค่สงบ สบาย ผ่อนคลาย แต่ว่ากิเลสไม่ลด อุปาทานไม่เบาบาง นี่ก็ยังไม่ถูก เราต้อง ปฏิบัติจนกระทั่งเห็นกิเลส หรือความยึดมั่นในตัวกูของกู ที่มันฝังลึกอยู่ในใจ ที่นำไปสู่ความเห็นแก่ตัว แล้วก็นำไปสู่ความยึดติดถือมั่นต่างๆ และนำมาซึ่งความทุกข์
 
     ความสงบความผ่อนคลายที่เกิดขึ้นเป็นของชั่วคราว แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถที่จะล้วงลึกไปถึงกิเลส อัตตาที่มันอยู่ในส่วนลึก หรืออยู่เบื้องหลังความคิดและการกระทำ คำพูดของเรา มันก็จะยังมีทุกข์อยู่ เรื่อยไป ถูกต่อว่าด่าทอก็โกรธโมโห ยังดีหน่อยที่มีสติรู้ทันก็วางความโกรธลงได้ แต่พอสูญเสียทรัพย์ สูญเสียของรัก ก็เสียใจ เพราะว่ามีความยึดว่าเป็นของกู เจออะไรไม่ถูกใจ ไม่เป็นไปดั่งใจก็ทุกข์ ลูกไม่เชื่อ ฟัง ไม่ทำตาม พ่อก็ทุกข์ เพราะเข้าไปยึดว่าลูกของกู ไปยึดมั่นกับความปรารถนาความต้องการของกู จนกระทั่งไม่สนใจว่าลูกเขาจะคิดอย่างไร จะควบคุมบังคับบัญชาให้ลูกเป็นไปดั่งใจตน พอไม่เป็นไปดั่งใจก็ทุกข์ เสียใจ โกรธ
 
    สติมันก็ช่วยได้ ในความหมายที่มันทำให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ แต่มันต้องทำมากไปกว่านั้น คือทำให้เห็นความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู หรือกิเลสที่มันซ่อนอยู่เบื้องหลังความคิดและการกระทำของเรา ตรงนี้มันต้องอาศัยสติที่เรียกว่า "สัมมาสติ" เพราะสติธรรมดายังไม่พอ โจรผู้ร้ายก็มีสติเหมือนกันในการประกอบมิจฉาชีพ มันจะลักขโมยเข้าไปในบ้านเปิดตู้เซฟ หรือแม้แต่จะแฮกข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ พวกนี้ ต้องอาศัยสติ สมาธิ แต่ว่าสติมันไม่มากพอที่จะเห็นกิเลส โลภะ หรือตัณหาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว ที่ผลักดันให้ทำชั่ว ประกอบการทุจริตหรือเป็นมิจฉาชีพ
 
     การปฏิบัติของเราต้องไม่หยุดเพียงแค่ว่าใจสบาย หายเครียด ผ่อนคลาย เสร็จแล้วก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ยังทำอะไรเหมือนเดิม ยังมีทัศนคติต่างๆ เหมือนเดิม แบบนี้ก็จะเกิดความทุกข์ตามมา ระหว่างที่เราเจริญสติก็ให้เห็นลึกไปถึงกิเลส ตัณหา อุปาทาน หรือตัวอัตตาที่เป็นความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูของกู
 
     ทีนี้ถ้าเราจับหลักการปฏิบัติได้ ก็อย่าพอใจเพียงแค่ว่าปฏิบัติในรูปแบบ ตื่นเช้าขึ้นมานั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างจังหวะ แต่ให้การปฏิบัติของเรากลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน เอาไปใช้ให้การปฏิบัติมันแทรกซึมไปถึงการดำเนินชีวิตของเรา โดยเฉพาะเวลาทำงานทำการ เพราะว่าชีวิตคนเราส่วนใหญ่ตอนนี้มันก็หมดไปกับการทำงาน และงานที่ว่านี้ไม่ใช่หมายถึงงานประกอบอาชีพอย่างเดียว รวมไปถึงงานอย่างอื่น ที่อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม งานบุญ งานจิตอาสา งานด้านศาสนา หรือการช่วยเหลือสังคม
 
     ยิ่งทำงานพวกนี้ยิ่งจำเป็นต้องมีการขัดเกลาภายใน ต้องอาศัยการภาวนา หรือว่าการปฏิบัติธรรมเป็นพื้นฐาน เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะเปิดโอกาสให้พวกกิเลส ตัณหา อัตตา มันขึ้นมาครอบงำได้
 
    คนจำนวนไม่น้อยเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่ดีๆ มีคุณค่า มีเจตนาดี อยากจะทำเพื่อส่วนรวม ทำเพื่อพระศาสนา ทำเพื่อสังคม แต่ไปๆ มาๆ ลงเอยด้วยการทำเพื่อตัวเอง เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของตัว เพื่อหน้าตาของตัว แม้แต่ เป็นงานบุญงานกุศล ก็เป็นไปเพื่อหน้าตา เพื่อชื่อเสียงของตัว หรือบางทีก็ถึงกับหาประโยชน์ส่วนตัวจากงานดังกล่าว
 
     เรียกว่าจุดมุ่งหมายที่เคยเริ่มต้นด้วยดี มันกลายเป็นผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนออกจากจุดมุ่งหมายที่ดีงาม อันนี้ก็เพราะว่าไม่รู้ทันกิเลส ไม่รู้ทันตัณหา ก็เลยถูกลาภยศ ถูกอำนาจผลประโยชน์มันหลอกล่อ ทำให้ยึดติด แล้วก็เลยกลายเป็นว่าไม่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เพื่อตัวเอง  แต่ถ้าหากว่าเรามีการภาวนา มีการปฏิบัติธรรม ขัดเกลาตัวเอง มันก็จะไม่เปิดช่องให้การทำดีของเรามันกลายเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
 
    ขณะเดียวกันแม้ว่ามันจะเป็นการทำดี ไม่ได้ผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปจากจุดมุ่งหมายที่ดีงาม แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจกับการปฏิบัติธรรม มันก็อาจจะทำได้ไม่ต่อเนื่อง ไม่ยืนยาว เพราะเหนื่อย เพราะท้อ เพราะเครียด มีคนจำนวนไม่น้อย แม้ว่าจะมีจิตใจดี อุทิศตัวเพื่อส่วนรวม  เพื่อศาสนา แต่ว่าทำไปๆ ก็ท้อ เลิกกลางคัน บางคนก็เจ็บป่วยเพราะความเครียด บางคนท้อแท้ผิดหวัง จนบางทีซึมเศร้าไปเลย หรือหนักกว่านั้นคือทำร้ายตัวเอง อันนี้เพราะว่าความเครียด ความทุกข์มันรุมเร้า
 
     แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักการภาวนา ก็ช่วยทำให้ไม่จมอยู่ในความทุกข์ และสามารถที่จะทำสิ่งดีๆ ได้อย่างยั่งยืน การกระทำการภาวนามันช่วยอย่างไร มันช่วยทำให้เรารู้จักมีสติอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่ทำ คนเราถ้าใจอยู่กับปัจจุบัน มีสติอยู่กับงานที่ทำ ไม่ไปจดจ่อกังวลอยู่กับเป้าหมายซึ่งเป็นเรื่องอนาคต มันจะเครียดน้อย ความเครียดของคนส่วนใหญ่เวลาทำงาน มันเป็นเพราะใจมันไปจดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ เป้าหมายที่ต้องการ แล้วกลัวว่าจะไม่สำเร็จ หรือว่ากังวลว่าเมื่อไหร่มันจะเสร็จสักที เมื่อไหร่มันจะถึงสักที ก็เลยเครียด แต่ถ้าเอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน คือมีสติอยู่กับงานที่ทำ ความเครียดก็ลดลง
 
     ยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าเกิดมีสติเห็น รู้ทันความคิดรู้ทันอารมณ์ มีความเครียดเกิดขึ้นก็รู้จักวาง มีความโกรธ ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็ไม่พลัดหลงเข้าไปเป็น มันก็ไม่ถูกความเครียดรุมเร้า รู้จักปล่อยรู้จักวางได้ รวมทั้งเวลาพักผ่อนก็สามารถจะวางงานการลง มันจะนึกถึงงาน มันจะห่วงงานอย่างไรก็รู้ทัน ไม่ไปเผลอคิดปรุงต่อไปให้เครียด นี่เรียกว่าอาศัยสติในการรู้ทันความคิดและอารมณ์
 
     ถ้าเกิดว่าเราสามารถจะภาวนาไปถึงขั้นที่เรียกว่าไม่หลงยึดในสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกู เวลาถูกวิพากษ์วิจารณ์ คนที่ตัวกูเบาบางก็จะไม่ทุกข์ คนทำงานจำนวนมากทุกข์เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ บางทีเขาก็พูดด้วยความเข้าใจผิด แต่บางทีเขาก็วิจารณ์ถูก แต่คนเราถ้าหากว่าไม่รู้ทันอัตตา ก็จะเอาอัตตาเข้าไปรับ แล้วยิ่งคนที่ยึดมันสำคัญหมายในตัวกู มีอัตตามาก จะเป็นทุกข์มากเวลาถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคำวิพากษ์วิจารณ์ไปกระทบกับตัวกู
 
     แต่ถ้าภาวนาจนกระทั่งรู้เท่าทันเล่ห์กลของอัตตา หรือภาวนาจนกระทั่งอัตตามันเบาบาง ใครวิจารณ์อย่างไรก็ไม่ทุกข์ กลับหาประโยชน์จากคำวิจารณ์นั้น ให้เป็นประโยชน์กับงานกับการ ถึงเวลาที่งานมันล้มเหลวแม้ว่าจะไม่ปรารถนา แต่ว่าใจมันก็ไม่ทุกข์ คนเวลาทำงานเป็นเพราะความยึดมั่นว่างานของกูๆ บางทีไม่ใช่งานของกู แต่ว่างานนั้นกลายเป็นตัวกูขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้นพองานล้มเหลว ก็รู้สึกว่าตัวกูล้มเหลวด้วย เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธแค้นขัดเคือง
    
    มีคนเคยถามหลวงพ่อคำเขียนว่าท่านทำงานมาเยอะ ท่านคิดว่างานท่านสำเร็จไหม หลวงพ่อบอกว่างานของอาตมานี่ล้มเหลวทั้งนั้นเลย แต่งานล้มเหลว ตัวอาตมาไม่ล้มเหลว แล้วคนที่จะพูดอย่างนี้ได้ต้อง มีการปฏิบัติจนกระทั่งไม่ไปยึดว่างานเป็นกูเป็นของกู แม้ว่างานนั้นมันจะดีประเสริฐอย่างไร มีเจตนาที่ดีงามสูงส่งแค่ไหน แต่ถ้าไปยึดว่าเป็นงานของกู หรือยึดงานนั้นว่าเป็นตัวกู ถึงเวลาที่งานนั้นมันล้มเหลว ก็ จะเป็นทุกข์มาก เพราะว่ากูล้มเหลวไปด้วย แต่ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในงานนั้นว่าเป็นงานของกู งานล้มเหลวใจก็ไม่ทุกข์ มันทำให้มีกำลังที่จะทำงานต่อไป
 
     คนเรานี่ไม่ค่อยรู้ทันว่าความยึดมั่นในตัวกูของกู มันก่อทุกข์ให้กับเราแค่ไหน โดยเฉพาะเวลาทำงาน หรือเวลากับผู้คน อย่างพ่อแม่มีลูก ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้ทัน ไปยึดว่าลูกของกูๆ เพราะฉะนั้นก็ไปพยายาม บังคับบัญชาให้ลูกเป็นไปดั่งใจนึก เป็นไปดั่งใจปรารถนา เพราะว่าไปคิดว่าเป็นของกู แต่ลูกไม่ใช่ของกูอยู่แล้ว ก็ย่อมไม่เป็นไปดั่งใจปรารถนาของพ่อแม่ พอเป็นเช่นนั้นก็ทุกข์ ทุกข์เพราะยึดว่าลูกเป็นของกู หรือทุกข์เพราะอยากให้ลูกเป็นไปตามความปรารถนาของกู
 
     การที่ทำอย่างนั้น ถ้าไม่รู้ตัวก็จะคิดว่าทำเพื่อลูก แต่ที่จริงแล้วทำเพื่อตัวเอง เอาความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง คนที่ทำงานเพื่อส่วนรวม ถ้าไม่ระวังก็จะลงเอยแบบนั้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากลูกของกูไปเป็นงานของกู หรือว่าเป็นหน่วยงานของกู บางทีเป็นประเทศของกูไปเลย แล้วพอยึดว่าเป็นของกูแล้ว ธรรมดาก็ปรารถนาจะบงการให้มันเป็นไปดั่งใจตน การที่พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นไปดั่ง ปรารถนาของเรา ถ้ามองลึกๆ ก็คือการทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ ทำให้ทุกอย่างเป็นไปดั่งใจตน มันเป็นการเอาตนเป็นศูนย์กลาง ที่ให้ทุกอย่างหมุนรอบตัวเอง
 
    ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าเราภาวนาจนกระทั่งรู้ทันอำนาจของกิเลส อัตตา ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบครองใจ สามารถที่จะคลายความยึดมั่นในตัวกูของกูได้ ถึงเวลางานล้มเหลว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวตามไปด้วย แล้วถึงเวลาสำเร็จ ก็ไม่ได้เกิดความหลงใหลเพลิดเพลิน ปลาบปลื้มยินดี เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่เป็นเพราะเราคนเดียว มันเป็นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ มากมาย
 
     แล้วคนที่ภาวนามากๆ จะเห็นเลยว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย แม้แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น มันก็เพราะเหตุกับปัจจัยต่างๆ มากมาย มันจะเกิดสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า ยกผลงานให้เป็นของความว่าง หรือเวลาทำอะไร แม้จะทำด้วยความวิริยะอุตสาหะ แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในผลสำเร็จ สำเร็จก็ดีไป ไม่สำเร็จก็ไม่ทุกข์ เพราะรู้ว่ามันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา
 
    อย่างภาษิตจีนว่า ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นของฟ้า ถ้าพูดแบบพุทธก็คือว่า ความพยายามเป็นของมนุษย์ แต่ว่าความสำเร็จเป็นเรื่องเหตุปัจจัย
 
     ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าเรานำเอาการปฏิบัติธรรมมาใช้กับการทำงาน เราก็จะทำงานได้ด้วยใจที่ทุกข์น้อย แม้ว่าจะเพียรพยายามเต็มที่ก็ตาม มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส
 
     ขณะเดียวกันการภาวนายังมีประโยชน์อย่างหนึ่ง คือทำให้เราได้พบความสุขภายใน ความสงบ ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้เรามีกำลังในการทำงาน โดยที่ไม่ไปหลงใหลกับความสุขจากชื่อเสียง จากเงินทอง  จากลาภสักการะ คนที่ทำงานไปๆ แม้เจตนาดี แต่สุดท้ายไปติดในลาภสักการะ จนกระทั่งทำงานนั้นเพื่อตัวเองมากกว่าเพื่อส่วนรวม ก็เพราะว่าไม่สามารถจะเข้าถึงความสุขที่มันดีกว่าความสุขจากลาภสักการะ
 
     แต่ถ้าคนเราเข้าถึงความสุขที่สงบเย็นได้ มันก็จะเป็นอิสระจากลาภสักการะมากขึ้น สามารถจะมีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่าย ถึงแม้ว่าจะไม่มีคนยกย่องสรรเสริญ ก็ไม่ได้ทุกข์อะไร ยังมีความสุขอยู่กับความสงบภายใน มันก็จะทำให้มีกำลังในการทำงาน ที่จริงพูดอย่างนี้มันเหมือนกับว่าการภาวนามันเป็นสิ่งที่ต้องแยกออกไปจากการทำงาน
 
     แต่ที่จริงแล้วถ้าเราจับหลักการภาวนาหรือการปฏิบัติธรรมได้ เราก็สามารถใช้การงานนั้นเป็นอุปกรณ์ เป็นโอกาสในการปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นว่าจะต้องแยกตัวออกมาที่วัด มาเข้าคอร์ส มาเติมพลังแล้วกลับไปทำงาน ไม่จำเป็นว่าต้องปลีกตัวมาภาวนา ก่อนนอน หรือตื่นนอนก่อนที่จะออกไปทำงาน อันนั้นก็จำเป็น มีประโยชน์ แต่ว่าการทำงานโดยใช้งานนั้นเป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติธรรม มันก็ทำได้เหมือนกัน เพราะ ว่าถ้าเราทำงานด้วยการวางใจเป็น มันก็ช่วยลดกิเลส ช่วยลดความเห็นแก่ตัว
 
     เห็นความทุกข์ของผู้คนแล้ว ทำให้ความทุกข์ของเรากลายเรื่องเล็ก เห็นประโยชน์ของส่วนรวม มันก็ทำให้เราเอาตัวเองเป็นใหญ่น้อยลง ยอมลดราวาศอก หรือยอมลดความต้องการ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความอดกลั้นมากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าระเบิดออกไป มันจะเกิดความขัดแย้ง เกิดเรื่องวุ่นวาย การงานก็ล้มเหลว หรือว่าหมู่มิตรก็แตกแยก พอคิดถึงส่วนรวม ก็ทำให้รู้จักอดกลั้นต่อกับอารมณ์ แล้วยิ่งเจอ คำต่อว่าด่าทอ คำวิพากษ์วิจารณ์ ก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดในการลดอัตตา เจอความล้มเหลวก็ถือว่าดี ได้เรียนรู้ มันเป็นการภาวนาไปพร้อมๆ กันได้
 
     ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ ก็จะเป็นอย่างที่บางครั้งท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ยิ่งทำงาน กิเลสก็ยิ่งลดลง อัตตาก็เบาบางลง และประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม ไม่ว่าจะงานบุญ งานสังคม ก็เพิ่มพูนมากขึ้น
 

     เพราะฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็ให้เราเข้าใจให้ดีๆ ว่า มันไม่ใช่แค่การต้องมาปฏิบัติกันในวัด แต่จะต้องนำเอาไปปฏิบัติท่ามกลางการทำงาน ท่ามกลางการใช้ชีวิต แล้วก็ใช้งานการนั่นแหละเป็นเครื่องฝึกฝนขัดเกลาตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย.
 
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2566