การยอมรับความจริงใช่การยอมแพ้

Share

ปฏิบัติธรรม, เข้าใจให้ถูก, พระไพศาล วิสาโล,

การยอมรับไม่ได้แปลว่ายอมแพ้หรือไม่ทำอะไร
 
    การยอมรับนี่คือการยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก่อนที่เราจะทำอะไรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ หรือว่าการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี ต้องเริ่มต้นจากการที่เรายอมรับความจริงที่เกิดขึ้นก่อน ไม่ว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นภายนอกตัวเราหรือเกิดขึ้นในใจเรา
 
    ทีนี้พอเรายอมรับแล้วก็หมายความว่าเราไม่ผลักไส ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย มันก็ทำให้จิตมีความปลอดโปร่ง ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ก็หมายความว่าสามารถที่จะคิดอ่านอะไรได้แจ่มชัด ว่าควรจะทำ อะไรต่อไป
 
    คนเราจะทำอะไรมันก็ต้องมีสติ มีใจที่ปลอดโปร่ง ไม่ขุ่นมัว ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
 
    อย่างถ้าเกิดของหาย แล้วเราไม่ยอมรับมัน เราก็โวยวายตีโพยตีพาย หัวเสีย ซึ่งนอกจากจะทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้เราไม่สามารถที่จะคิดอ่านได้ชัดว่าควรจะทำอะไรต่อไป
      
    หรือเวลาเรา เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการยอมรับ เราโวยวายตีโพยตีพาย มันก็ซ้ำเติม ไม่ใช่แค่ป่วยกายอย่างเดียว ป่วยใจด้วย ทุกข์ใจด้วย แล้วบางทีก็ทำให้หมดอาลัยตายอยาก เสื้อผ้าหน้าผมไม่สนใจ สิ่งที่ควรจะทำเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ได้ทำ หรือบางทีก็ซ้ำเติมให้อาการย่ำแย่ลง
 
     อย่างคนที่หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ยิ่งทำให้อาการความเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าเรายอมรับมันได้ อาการหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตก็ไม่เกิดขึ้น แล้วก็มีสติที่จะคิด อ่านว่าควรจะทำอะไรต่อไป จะรักษาอย่างไร พูดอีกอย่างคือนอกจากจะไม่ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับตัวเราแล้ว ก็ยังทำให้เราสามารถที่จะแก้ปัญหา หรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง
 

ทำกิจและทำจิต

 
     ที่จริงถ้าจะอธิบายขยายความต่อไปก็คือ การยอมรับเป็นเรื่องการทำจิต พุทธศาสนาท่านสอน 2 อย่าง เวลาพูดถึงการทำ คือ 1.ทำจิต 2.ทำกิจ
 
    ทำจิต เช่น การยอมรับหรือการปล่อยวาง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ ทำอะไรเลย ถ้าหากว่ามันมีเหตุที่จะต้องทำ หรือมีโอกาสที่จะทำอะไรได้ คนไปเข้าใจว่ายอมรับหรือการปล่อยวางคือการปล่อยปละเลย ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่เขาถาม อย่างเช่น ถ้าเกิดว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นใน สังคม ถ้าเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็แปลว่าเรานิ่งดูดาย ไม่ทำอะไรหรือ
 
    อันนี้มันคนละเรื่อง การไม่ทำอะไรเลยคือการไม่ทำกิจ แต่สิ่งที่เราเน้นเป็นเบื้องต้นคือการรู้จักทำจิต เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น เราก็ต้องยอมรับมันก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะปฏิเสธมัน เพราะถ้าเราไม่ยอมรับ อาการที่มันเกิดขึ้นคือการปฏิเสธ แล้วพอสิ่งที่ปฏิเสธ สิ่งที่ผลักไส มันไม่เป็นไปดั่งใจ ก็เกิดความหดหู่เกิดความท้อแท้ ก็ทำให้นอกจากทำจิตไม่ถูกแล้ว ก็ยังทำให้เกิดการไม่ทำกิจด้วย
 
    แต่พอเราทำจิตให้ถูกต้อง เช่น เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เรารู้จักยอมรับมัน ถึงเวลาที่เราจะทำกิจ เราก็รู้ว่าควรจะทำอย่างไร เพราะว่าเรามีสติ เรามีใจที่ไม่ขุ่นมัว มันก็สามารถที่จะคิดอ่านทำอะไรได้
 
    คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแยกแยะระหว่างการทำจิตกับการทำกิจ มันเป็นคนละอันกัน การยอมรับที่พูดถึงก็คือการทำจิต พอเราทำจิตแล้วเราก็ดูว่าเราจะทำอะไรต่อไปได้หรือเปล่า บางอย่างมันก็ทำไม่ได้ เช่นคนรักตายจากไป  มันก็ต้องทำจิตยอมรับอย่างเดียวหรือปล่อยวาง ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้น แต่ถ้าเกิดว่าเจ็บปวดขึ้นมา อย่างน้อยเราก็สามารถทำกิจได้ เช่นการเยียวยารักษาตัวเอง แต่ก่อนที่จะทำกิจให้ถูกต้องได้ก็ทำจิตก่อน
 
    ทีนี้สำหรับเวลาเจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกต้อง อย่างที่บอกคือเราเริ่มต้นด้วยการยอมรับ ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องคิดอ่านว่าควรจะทำอะไร ถ้าหากว่ามันสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้มันดีขึ้นได้  เขาตั้งคำถามว่าคนที่สนใจเรื่องการเจริญสติจำนวนไม่น้อยเลยนิ่งดูดาย ไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้ก็มีเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม หรือว่าการเอารัดเอา เปรียบกัน ช่องว่าง หรือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น
 
    ถ้าเกิดว่าเมื่อเราเจริญสติแล้วเราเห็นปัญหา แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันก็ต้องมาดูว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเกียจคร้าน เป็นเพราะหวาดกลัว หรือว่าเป็นเพราะกลัวสูญเสียผลประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเจริญสติอย่างถูกต้อง มันต้องเห็นตรงนี้ เห็นตัวการที่อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้เราไม่ทำอะไรเลย เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เจริญสติอย่างถูกต้อง ต้องเห็นว่าตัวกิเลสที่มันอยู่เบื้องหลังการกระทำที่ทำให้เรานิ่งเฉยมัน คืออะไร ถ้ามองไม่เห็น แล้วปล่อยให้มันครอบงำจิต ก็แสดงว่าไม่ได้เจริญสติอย่างถูกต้อง
 
    ก็เหมือนกับที่มีคนพูดว่าโจรก็ต้องมีสติ พวกนักย่องเบามันก็ต้องมีสติ พวกมือปืนที่คอยซุ่มยิงคนก็ต้องมีสติ อันนี้ก็ถูก คนเหล่านี้ถ้าเขาไม่มีสติ ใจเขาวอกแวก เขาก็ทำการไม่สำเร็จ แต่ว่าสติที่เขามีมันไม่ใช่ สัมมาสติ เพราะมันเป็นมีสติที่เพียงแค่กำกับใจให้สงบ ให้แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังทำ แต่ไม่ใช่สติที่ทำให้เห็นตัวกิเลสที่อยู่เบื้องหลังการกระทำซึ่งผิดศีลผิดธรรม โจรทำการด้วยความโลภ หรือว่าผู้ร้ายที่ซุ่มยิง  คนก็ทำการด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียด หรืออาจจะด้วยความโลภเพราะว่าได้ค่าจ้าง ถ้าเขาไม่มีสติเห็นความโลภหรือกิเลสเหล่านี้ ก็แสดงว่าเป็นสติที่บกพร่อง หรือเป็นสติที่เรียกว่า มิจฉาสติ ไม่ใช่สัมมาสติ
 
     ฉะนั้นถ้าเจริญสติอย่างถูกต้อง แล้วคนที่มีสติจริงๆ เวลาเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง จริงอยู่ต้องยอมรับว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าขั้นต่อไปคือต้องลงมือทำ การยอมรับว่ามันมี เป็นความจริงที่เกิดขึ้น คือการทำจิต ส่วนการแก้ไขลงมือทำ คือการทำกิจ ต้องแยกกัน